แรงบันดาลใจ

عن أبي سعيد وأبي هريرة -رضي الله عنهما- مرفوعاً: «ما يُصيب المسلم من نَصب، ولا وصَب، ولا هَمِّ، ولا حَزن، ولا أَذى، ولا غَمِّ، حتى الشوكة يُشاكها إلا كفر الله بها من خطاياه». ( متفق عليه

ความว่า:  ไม่มีมุสลิมคนไหนที่ได้รับบททดสอบ ไม่ว่าความเหนื่อยล้า เป็นโรคประจำตัว ความวิตกกังวลในอนาคต ความเสียใจในอดีต ความเดือดร้อนและภาวะซึมเศร้าในปัจจุบัน แม้กระทั่งหนามที่ทิ่มแทง เว้นแต่อัลลอฮ์จะลบล้างความผิดพลาดของเขาบางส่วน

🔻🔻🔻🔻

คำอธิบาย

เป็นหะดีษที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้มุสลิมทุกคน ไม่ว่าเขาจะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากการงานใด ๆ ทั้งเรื่องดุนยาหรืออาคิเราะฮ์ หรืออาจเป็นโรคประจำตัวด้วยโรคอะไรสักอย่าง หรืออาจวิตกกังวลในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเขาหรือคนที่เขารัก หรือเขาอาจเสียใจในอดีตซึ่งยากที่จะลืมเลือน หรือความเดือดร้อนและความยากลำบากในชีวิต หรือตกในอาการซึมเศร้ากับปัญหาที่กำลังประสบในภาวะปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดเล็กน้อยเนื่องจากเหยียบหนาม ตะปูหรือเศษแก้ว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสาเหตุที่อัลลอฮ์จะลบล้างความผิดของเรา ซึ่งถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อบ่าวของพระองค์

การอดทนต่อความยากลำบากและความเดือดร้อนจึงมีผลบุญมหาศาล และเป็นสัญญาณหนึ่งที่แสดงว่าอัลลอฮ์ยังทรงรักเราอยู่ หากเรารู้จักพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส ท่านอิมามนะวะวีย์ได้บรรจุหะดีษนี้ในบทที่ว่าด้วยการอดทนในตำราของท่านริยาดุสศอลิฮีนเลยทีเดียว

ช่วงนี้จังหวัดภาคใต้เจอมรสุมถล่ม คลื่นลมแรง น้ำป่าไหลหลากสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ในขณะที่โอไมครอนก็ยังคงตามหลอกหลอนอย่างต่อเนื่อง

หะดีษข้างต้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนมีความอดทน อดกลั้น ยอมรับในคำตัดสินของพระองค์ มอบตนแด่พระองค์ พร้อมลุกขึ้นสู้ชีวิตอย่างเข้มแข็งและมีความหวังต่อไปครับ

จงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

อย่าทำวิกฤติกลายเป็นวิกฤติซ้ำ

และอย่าทำให้โอกาสหลุดลอยหายไปต่อหน้าต่อตา


โดย Mazlan Muhammad

ระมัดระวังการรับและเผยแพร่หะดีษนบี

ڤنتيڠڽ برسيكڤ هاتي٢ دالم منريما دان مڽمڤيكن حديث رسول الله ﷺ

 🔰🔰🔰

قَالَ رَسُولُ اللهِ ﷺ :  يَكُونُ فِي آخِرِ الزَّمَانِ دَجَّالُونَ كَذَّابُونَ، يَأْتُونَكُمْ مِنَ الْأَحَادِيثِ بِمَا لَمْ تَسْمَعُوا أَنْتُمْ، وَلَا آبَاؤُكُمْ، فَإِيَّاكُمْ وَإِيَّاهُمْ، لَا يُضِلُّونَكُمْ، وَلَا يَفْتِنُونَكُمْ  .

اكن مونچول داخير زمان ڤارا دَجَّال، ڤمبوهوڠ يڠ منداتڠكن كڤد كامو حديث٢ يڠ كامو سنديري تيدق ڤرنه مندڠرڽ، دمكين ڤول باڤق٢ كامو. جأوهكنله ديري كامو دري مريك دان اوڤاياكن اڬر مريك منجأوهي كامو. جاڠن سمڤي مريك مڽستكن كامو دان مڠڬلينچيركن كامو كدالم فتنة“  ﴿صحيح مسلم 7﴾

จงระมัดระวังในการรับและเผยแพร่หะดีษนบี

ในยุคสุดท้ายนั้น จะมีกลุ่มดัจญาลปรากฏตัวขึ้น พวกเขาเป็นจอมโกหก โดยจะนำหะดีษที่ท่านเองและบรรพบุรุษของท่านไม่เคยได้ยินมาก่อน จงอย่าเข้าใกล้พวกเขา และอย่าปล่อยให้พวกเขาเข้าใกล้พวกท่าน เพราะจะทำให้พวกท่านหลงผิดและจะผลักไสพวกท่านให้ตกในวังวนฟิตนะฮ์” (รายงานโดยมุสลิม)


โดย Ismail Rao

นึกว่าจริง ที่แท้ปลอม [4]

รอบนี้ขอแตะเรื่องรักชาติหน่อยครับ

สมัยเด็ก ๆ แอดจำได้ว่า มีนักบรรยายจากกทม. ที่รู้จักในนาม มนัส เมริกัน (ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกหรือไม่) เดินสายทั่วมัสยิดใน 3 จังหวัดแดนใต้ โดยที่ท่านมักยกประโยคอาหรับท่อนหนึ่งว่า

حب الوطن من الإيمان

ความว่า รักบ้านเกิดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา

เมื่อมีโอกาสเรียนในปอเนาะ และโรงเรียนสอนศาสนา ประโยคนี้ก็มีการกล่าวถึงเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการรักษ์บ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งมักจะท่องติดปาก และมั่นใจว่าประโยคดังกล่าวเป็นหะดีษนบี

ซึ่งในความเป็นจริง เป็นเพียงสำนวนอาหรับ พอๆกับ النظافة من الإيمان นั่นแหละ หาใช่เป็นหะดีษนบีแต่อย่างใด

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไปปฏิเสธความผูกพันกับบ้านเกิดนะครับ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ย่อมรักบ้านเกิดและมีอดีตอันงดงามกับมาตุภูมิอยู่แล้ว และไม่ใช่เป็นเรื่องผิดแต่อย่างใด แม้กระทั่งนบี ยามที่ท่านจะออกจากเมืองมักกะฮ์ในคราวอพยพไปยังมะดีนะฮ์ ท่านยังโอดครวญแสดงความรักต่อบ้านเกิดมักกะฮ์ เช่นเดียวกับเศาะฮาบะฮ์ชาวมูฮาญิรีน เมื่อได้ยินนบีจะไปทำอุมเราะห์ ต่างคนต่างดีใจที่ได้มีโอกาสกลับมาตุภูมิอีกครั้ง

ความรักต่อมาตุภูมิและถิ่นเกิดคือความรู้สึกปกติสามัญของผู้คน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

เพียงแต่จะเชื่อมโยงกับการศรัทธา และแอบอ้างนบีว่า เป็นผู้กล่าวประโยคดังกล่าว อันนี้แหละไม่ถูกต้องครับ เพราะประโยคดังกล่าวหาใช่เป็นหะดีษ ค้นหาในตำราหะดีษที่ได้รับการยอมรับร้อยวันพันปี ก็ไม่มีทางเจอะเจอ เพราะมันไม่ใช่หะดีษครับ

ขอฝากเป็นพิเศษแก่นักกำปงนิยม อำเภอนิยม จังหวัดนิยม ท้องถิ่นนิยม ชาตินิยมทั้งหลายแหล่ ว่าจะยกประโยคนี้เพื่อเป็นหลักฐานว่า การรักถิ่นเกิดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธาไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

ฝากไว้นะครับ เอ่ยถึงประโยคนี้ ห้ามบอกว่า นบีกล่าวหรือเป็นหะดีษนบีโดยเด็ดขาด

ปล. แอดมินรักและรู้สึกผูกพันกับบ้านเกิดเช่นกันครับ


โดย Mazlan Muhammad

นึกว่าจริง ที่แท้ปลอม [3]

วันนี้ขอนำเสนอ 2 สำนวนเลยครับ

สำนวนแรก

اطلبوا العلم ولو بالصين

ความว่า “จงศึกษาหาความรู้ แม้นจะต้องดั้นด้นไปยังประเทศจีนก็ตาม”

สำนวนที่สอง

اطلبوا العلم من المهد إلى اللحد

ความว่า “จงศึกษาหาความรู้ ตั้งแต่อยู่บนเปลจนถึงหลุมฝังศพ”

ประโยคสองสำนวนนี้ เชื่อว่าหลายคนท่องขึ้นใจตั้งแต่เด็ก แม้แอดฯเอง ก็เคยเขียนแปะสองประโยคนี้ที่ผนังแบแระ (ห้องแถวที่เป็นที่พักของนักเรียนปอเนาะ) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง  โดยเชื่อฝังใจว่าเป็นหะดีษนบี แถมยังแอบทึ่งที่ในสมัยนั้น นบีรู้จักประเทศจีนแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นบีจะรู้จักประเทศนี้หรือประเทศอื่น ๆ เพราะท่านมีวะห์ยู(วิวรณ์) คอยเกื้อหนุนอยู่แล้ว

แต่ปรากฏว่า ทั้งสองประโยคนี้ไม่ใช่หะดีษนะครับ จะไปบอกว่านบีกล่าวว่า/ หะดีษกล่าวว่า ไม่ได้เด็ดขาดนะครับ

รายละเอียดที่ยืนยันว่าทั้งสองประโยคนี้ไม่ใช่หะดีษ พี่น้องติดตามอ่านในคอมเม้นท์ได้ครับ

สำนวนที่สอง มีนักหะดีษบางท่านระบุเป็นหะดีษเหมือนกัน แต่เป็นหะดีษอ่อนมาก ๆ ที่ไม่อนุญาตอ้างถึงนบีได้ครับ บางอุละมาอฺหะดีษยืนยันชัดเจนว่าเป็นหะดีษปลอม

ส่วนสำนวนแรก ไม่มีในตำราหะดีษเลย เพราะเป็นเพียงคำพูดของคนอาหรับเท่านั้น

แล้วความหมายผิดไหม

ขอตอบว่า ความหมายถูกต้องมาก ๆ โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นคนมุ่งมั่น กระหายที่จะเรียนรู้ ชอบศึกษาเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ มีการศึกษาตลอดชีวิต และไม่เคยเพียงพอที่จะหาความรู้ เพราะความรู้คือทะเลที่ไม่มีชายฝั่ง

เราสามารถนำประโยคนี้ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนสร้างวัฒนธรรมสังคมแห่งการเรียนรู้ เพียงแต่ต้องระวังเป็นพิเศษว่า อย่าไปอ้างว่าเป็นหะดีษนบี และทุกครั้งที่กล่าวถึงประโยคนี้ ต้องทิ้งท้ายตลอดว่า ไม่ใช่เป็นหะดีษนบีแต่ประการใด  นักบรรยาย อิมาม คอเต็บ ครูสอนศาสนาและผู้คนทั่วไปพึงระวังให้ดี

อย่าดื้อดึงต่อหน้าสัจธรรม อย่าเป็นคนกร่างต่อหน้าความรู้

ปล.  ส่วนสำนวน ที่ว่า

طلب العلم فريضة على كل مسلم

ความว่า การหาความรู้ เป็นสิ่งที่ได้บัญญัติไว้เหนือมุสลิมทุกคน 

หะดีษนี้มีฐานะ حسن หรือ صحيح لغيره

แต่ขอให้ระวังว่า ให้เป็นสำนวนนี้เท่านั้นครับ อย่าไปเพิ่มท้ายว่า ومسلمة เด็ดขาดเชียว เพราะนบีไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใด ส่วนมุสลิมะฮ์ ก็อย่าไปน้อยใจอะไรเลยครับ เพราะคำว่า مسلم ครอบคลุมทั้งชายหญิงอยู่แล้ว


โดย Mazlan Muhammad

นึกว่าจริง ที่แท้คือปลอม [2]

ซีรีย์นี้ จะยกหะดีษที่แพร่หลายกันทั่วในสังคม บางทีฟังกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ฟังจากคุตบะฮ์ การบรรยาย หรือตามสื่อต่าง ๆ ฟังกันมานมนานจนไม่เคยเอะใจว่า ในความเป็นจริงมันคือหะดีษปลอม หะดีษเก๊ ไม่ใช่หะดีษ แต่เป็นสำนวนอาหรับที่มีการพูดกันติดปาก

ยิ่งหากเข้าไปในบริเวณมัสยิด ตาดีกา หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนศาสนาหรือปอเนาะ ก็จะมีป้ายนี้ติดอยู่ ทำให้ชาวมุสลิมบ้านเราจดจำสำนวนอาหรับประโยคนี้จนขึ้นใจ

ทั้ง ๆที่ สำนวนที่ว่า

النظافة من الإيمان

ความว่า “ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา”

ไม่ใช่หะดีษนะครับ จะไประบุว่า นบีกล่าวไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่มีในตำราหะดีษที่บันทึกว่านบีเคยกล่าวด้วยสำนวนนี้

แต่สำนวนของนบีซึ่งรายงานโดยมุสลิม เป็นหะดีษท่อนแรกในหะดีษที่ยาวตามที่ได้แนบมาคือ

الطهور شطر الإيمان

หมายถึง “ความสะอาดจากหะดัษ(เล็กหรือใหญ่ ซึ่งหมายถึงการมีน้ำละหมาด) คือส่วนหนึ่งของความศรัทธา

ส่วนสำนวน النظافة من الإيمان ก็สามารถพูดได้ เพราะเป็นนัยที่มาจากหะดีษที่ศอฮีห์ เพียงแต่ต้องระมัดระวัง อย่าไปอ้างว่าเป็นหะดีษนบี หรือเวลากล่าวถึง ก็จะให้ข้อสังเกตแก่ผู้ฟังว่า ไม่ใช่หะดีษแต่ประการใด

แต่ถ้าไปกล่าวว่า นบีกล่าวว่า / ตามหะดีษนบีว่า النظافة من الإيمان อันนี้ผิดถนัดครับ

หากกระทำโดยไม่รู้ ก็แล้วกันไป แต่ถ้ารู้แล้วยังดึงดัน แถไปแถมา อันนี้แหละที่น่าห่วง อย่าทระนงต่อหน้าสัจธรรม อย่าทำตัวกร่างต่อหน้าความรู้เลยครับ


โดย Mazlan Muhammad

นึกว่าจริง ที่แท้คือปลอม [1]

ซีรีย์นี้ จะยกหะดีษที่แพร่หลายกันทั่วในสังคม บางทีฟังกันมาตั้งแต่เด็กๆ ฟังจากคุตบะฮ์ การบรรยาย หรือตามสื่อต่างๆ ฟังกันมานมนานจนไม่เคยเอะใจว่า ในความเป็นจริงมันคือหะดีษปลอม หะดีษเก๊

ขอเริ่มด้วยหะดีษ ที่เรามักได้ยินตอนอิมามอ่านคุตบะฮ์นิกาห์ ความว่า

 “ ละหมาด 2 ร็อกอัตของผู้แต่งงานแล้ว ประเสริฐยิ่งกว่าการละหมาดจำนวน 70 ร็อกอัตของคนโสด “

ส่วนสำนวนหะดีษตามสายรายงานต่างๆ ได้แนบมาพร้อมนี้

พี่น้องอย่างเพิ่งเข้าใจผิดว่า อิสลามไม่ให้ความประเสริฐใดๆแก่คนที่แต่งงานนะครับ แต่ความประเสริฐตามนัยหะดีษเก๊ข้างต้น ไม่มีนะครับ จะอ่านให้คนฟังหรือใช้เป็นเนื้อหาบรรยายไม่ได้เด็ดขาด เว้นแต่เพื่อชี้แจงว่าเป็นหะดีษปลอมเท่านั้น ซึ่งทุกคนทราบดีว่า การเล่าหะดีษปลอม มีโทษหนักถึงขั้นนบีบอกว่า “จงเตรียมที่นั่งในนรก” เลยทีเดียว

หะดีษนี้ สมัยเรียนปอเนาะ อาจพูดได้เลยว่า เป็นหะดีษที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่โต๊ะปาเกทุกคน เพราะความหวังของวัยรุ่นมุสลิมทุกคน อยากละหมาด 2 ร็อกอัต แต่มีคุณภาพเหมือนหรือประเสริฐกว่า 70 ร็อกอัตกันทั้งน้าาาาานครับ

ปล. หะดีษนี้ปรากฏในตำราชีอะฮ์เยอะมากครับ


โดย Mazlan Muhammad

ช่องทางการบริจาคและการทำความดี

อัลกุรอานกล่าวว่า
الَّذِينَ يُنفِقُونَ أَمْوَالَهُم بِاللَّيْلِ وَالنَّهَارِ سِرًّا وَعَلَانِيَةً فَلَهُمْ أَجْرُهُمْ عِندَ رَبِّهِمْ وَلَا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلَا هُمْ يَحْزَنُونَ (البقرة /274)
ความว่า “บรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน ทั้งโดยปกปิด และเปิดเผยนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ”

อิบนุกะษีร رحمه الله ได้อรรถาธิบายอายะฮ์นี้ว่า นี่คือการชื่นชมจากอัลลอฮ์ที่มีต่อผู้บริจาคทรัพย์สินในหนทางของพระองค์ และแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ในทุกช่วงเวลา ทั้งกลางคืนและกลางวันและทุกช่วงสถานการณ์ ทั้งโดยปกปิดและเปิดเผย ถึงแม้จะเป็นการมอบปัจจัยยังชีพแก่ครอบครัว ก็ยังเข้าข่ายในความดีงามนี้ด้วย ตามปรากฏในหะดีษรายงานโดยบุคอรีและมุสลิม ที่เล่าถึงนบีฯไปเยี่ยมป่วยของสะอัด บินอะบีวักกอศ رضي الله عنه ในปีพิชิตเมือง มักกะฮ์ หรือในอีกสายรายงานระบุว่าในปี ฮัจญ์อำลา ซึ่งนบีฯ صلى الله عليه وسلم กล่าวแก่สะอัดว่า “เเท้จริงท่านจะไม่บริจาคทรัพย์สินใดๆ เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ เว้นแต่ท่านจะถูกยกระดับอีกหนึ่งระดับและหนึ่งความสูงส่ง ถึงแม้อาหารที่ท่านป้อนเข้าปากของภรรยาของท่านก็ตาม

ในอีกอายะฮ์หนึ่ง พระองค์กล่าวว่า
إِن تُبۡدُواْ ٱلصَّدَقَٰتِ فَنِعِمَّا هِيَۖ وَإِن تُخۡفُوهَا وَتُؤۡتُوهَا ٱلۡفُقَرَآءَ فَهُوَ خَيۡرٞ لَّكُمۡۚ وَيُكَفِّرُ عَنكُم مِّن سَيِّ‍َٔاتِكُمۡۗ وَٱللَّهُ بِمَا تَعۡمَلُونَ خَبِيرٞ
(البقرة/271)

ความว่า “หากพวกเจ้าเปิดเผยสิ่งที่ให้เป็นทาน มันก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่ และถ้าหากพวกเจ้าปกปิดมัน และให้มันแก่บรรดาผู้ยากจนแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่ดีแก่พวกเจ้ายิ่งกว่า และพระองค์จะทรงลบล้างออกจากพวกเจ้า ซึ่งบางส่วนจากบรรดาความผิดของพวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันอยู่”

อัลลอฮ์จึงเปิดช่องทางมากมายให้มนุษย์แข่งขันทำความดี ดังนั้น ใครไคร่บริจาคทรัพย์สินโดยเปิดเผย ก็สามารถกระทำได้ และใครไคร่บริจาคอย่างปกปิด ก็สามารถกระทำได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งดีกว่า เพราะผู้ตัดสินที่มีความยุติธรรมที่สุดคือผู้รอบรู้สิ่งที่หัวใจปกปิดและซ่อนเร้น นั่นคือพระองค์อัลลอฮ์เท่านั้น


อ้างจาก http://quran.ksu.edu.sa/tafseer/katheer/sura2-aya274.html

ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

‏المسلمون شركاء في ثلاث الماء والكلأ والنار ⁃ رواه الإمام أحمد وغيره وصححه الألباني وغيره وفي رواية الناس شركاء في ثلاث …….

ความว่า : มุสลิมพึงใช้ประโยชน์ร่วมกันใน 3 ประการ

  • 1) น้ำ
  • 2) ทุ่งหญ้า
  • 3) ไฟ ( อีกสายรายงานระบุ ผู้คนทั่วไปแทนคำว่ามุสลิม)

หะดีษนี้ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ใครคนหนึ่งครอบครองหรือรับประโยชน์ทั้ง 3 ประการนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ประชาชนทุกคนต้องได้รับประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน ในรูปแบบการบริหารร่วมหรือให้รัฐเป็นฝ่ายบริหารจัดการ แล้วจัดสรรให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งในรูปแบบการจัดสวัสดิการหรือการพัฒนาในมิติต่างๆ

น้ำ ณ ที่นี้ ครอบคลุมถึงแม่น้ำหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือเขื่อนที่สามารถใช้ประโยชน์อันมหาศาลจากการบริหารจัดการน้ำ

ส่วนทุ่งหญ้า ยังหมายรวมถึงผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทุ่งหญ้าและพืชพรรณนานาชนิดที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมต่อการสร้างความอยู่ดีมีสุขของสังคม เป็นหลักประกันสังคมและเป็นสวัสดิการของมนุษย์ ในทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง

ในขณะไฟ นอกจากสื่อถึงธาตุที่ก่อให้เกิดความร้อน แสงสว่างและเปลว แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานต่างๆ เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ถ่านหินหรือพลังงานทดแทนอื่นๆที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างไร้จำกัดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม คลื่นทะเล กระแสน้ำ หรือความร้อนจากใต้ผิวโลกและอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นพลังงาน เพื่ออุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์

ในอิสลามถือว่า ทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 3 ชนิดนี้ คือความโปรดปรานของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลที่พระองค์ต้องการสร้างหลักประกันให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หากรู้จักบริหารจัดการอย่างดี ที่คำนึงถึงการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐมีหน้าที่ดูแลจัดการทรัพยากรเหล่านี้ให้สามารถสร้างประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุดทั้งในเรื่องการให้สวัสดิการในรูปแบบต่างๆที่ประชาชนพึงได้จากผลประโยชน์อันมหาศาลนี้ รวมทั้งเป็นต้นทุนในการพัฒนาชีวิตในทุกมิติ โดยเฉพาะการศึกษา สุขภาวะและการสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน รัฐไม่สามารถให้สัมปทานแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มตนเท่านั้น

อิสลามถือว่า ความเสียหายและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ล้วนเป็นผลงานของน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น

อัลลอฮ์ตรัสว่า
ظَهَرَ الْفَسَادُ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ بِمَا كَسَبَتْ أَيْدِي النَّاسِ لِيُذِيقَهُم بَعْضَ الَّذِي عَمِلُوا لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ ( الروم/٤١)
ความว่า ความหายนะได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทะเล เนื่องจากน้ำมือของมนุษย์ เพื่อให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนของการกระทำของพวกเขา เผื่อว่าพวกเขาจะหันกลับสู่พระองค์


โดย Mazlan Muhammad

ผู้คนยุคใกล้วันกิยามะฮ์

لَيَأْتِيَنَّ علَى النَّاسِ زَمانٌ، لا يُبالِي المَرْءُ بما أخَذَ المالَ، أمِنْ حَلالٍ أمْ مِن حَرامٍ

الراوي : أبو هريرة | المحدث : البخاري | المصدر : صحيح البخاري ، الصفحة أو الرقم: 2083 | خلاصة حكم المحدث : [صحيح]

ความว่า : ช่วงเวลาหนึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อย่างแน่นอน ซึ่งคนๆหนึ่งจะไม่สนใจทรัพย์สินที่เขารับว่า จะมาจากสิ่งฮาลาล(อนุมัติ) หรือฮารอม (ไม่อนุมัติ)

อิสลามกำชับให้ทุกคนประกอบอาชีพสุจริต รายได้ทุกบาททุกสตางค์จะต้องมั่นใจว่ามาจากสิ่งฮาลาล(อนุมัติ) เท่านั้น การยึดมั่นดำเนินชีวิตในกรอบอิสลาม นอกจากเขาจะได้ผลบุญมากมายแล้ว ยังทำให้ชีวิตของเขา เต็มไปด้วยความสิริมงคลและได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์อีกด้วย

อิสลามสั่งห้ามรับสมบัติที่เคลือบแคลงสงสัย สกปรกหรือไม่เป็นที่อนุมัติ เช่นการพนัน ขโมย คดโกง ทุจริตคอร์รัปชั่น ให้สินบนและอื่นๆ เพราะมันเป็นเหตุของการบาดหมาง ทะเลาะเบาะแว้ง และการสาปแช่งของอัลลอฮ์

ในหะดีษข้างต้น นบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ที่ได้เปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของผู้คน โดยที่ผู้คนส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจศาสนาอย่างผิวเผิน ห่างไกลจากความรู้ที่ถูกต้อง จิตสำนึกที่สะอาดบริสุทธิ์ ได้ถูกทำลาย ผู้คนมุ่งแต่ฉวยโอกาสหาความร่ำรวยและความสุขสบาย โดยไม่สนใจว่าทรัพย์สินนั้นมาจากไหน ได้มาด้วยวิธีใด และมีความชอบธรรมหรือไม่ ในสมองของเขา ได้แต่คิดว่าจะกอบโกยหาทรัพย์สมบัติและรวบรวมเงินทองให้มากเท่าที่จะมากได้โดยไม่สนใจว่าจะดีชั่วอย่างไร

ปัจจุบัน เหตุการณ์ที่นบีฯได้กล่าวไว้ในอดีตเมื่อ 1000 กว่าปีที่แล้ว ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของความเป็นนบี และเป็นที่พิสูจน์ว่า ท่านพูดจริงเสมอ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นจริงในสังคมปัจจุบันอันน่าเจ็บปวด ที่ผู้คนมีความโลภ เห็นแก่ได้ ชอบสะสมความสุขสบายและเงินทองแม้เพียงน้อยนิด ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้ามและขัดกับหลักการศาสนาก็ตาม


โดยทีมงานวิชาการ

โควิด-19 จะหมดภายในเดือนพฤษภาคมจริงหรือ

เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียลที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศอาหรับและแพร่หลายไปยังทั่วโลกมุสลิมแม้กระทั่งในประเทศไทย

ประเด็นดังกล่าวคือภายในเดือนพฤษภาคมนี้ไวรัสโควิด-19 จะลดหายไป เนื่องจากการปรากฏของดาวลูกไก่ โดยอ้างจากหะดีษนบี 2 ต้น ได้แก่

‏١. ما طلع نجم الثريا صباحا قط وقوم بهم
عاهة إلا ورفعت عنهم أو خفت

ความว่า : จะไม่ปรากกฎดาวลูกไก่ในตอนเช้า ในช่วงที่กลุ่มชนกำลังประสบกับโรค เว้นแต่โรคนั้นจะถูกยกหรือจางหายไป

٢.إذا طلعت الثريا صباحا رفعت العاهة عن أهل البلد

ความว่า : เมื่อดาวลูกไก่ปรากฏในตอนเช้า โรคภัยก็จะถูกยกไปจากชาวเมือง

ท่ามกลางโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้มีคนนำหลักฐานนี้มาอ้างว่า นบีได้แจ้งข่าวดีว่า ไวรัสร้ายนี้กำลังจะหมดไป เมื่อดาวลูกไก่ปรากฏในตอนเช้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยในปีนี้จะอยู่ระหว่าง 12-25 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ในช่วงที่มุสลิมถือศีลอดในเดือนรอมฎอนพอดี

ความเชื่อในลักษณะนี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและขัดแย้งกับหลักการอิสลามอันเที่ยงตรง ด้วยเหตุผล 5 ประการ

1. อุละมาอฺหะดีษมีการวิพากษ์หะดีษดังกล่าวมากมายระหว่าง ฏออีฟ และมุงกัร โดยเฉพาะอิมามสุยูฏีย์ อะห์มัด ชากิรและชัยค์อัลบานี ซึ่งระบุว่าเป็นหะดีษฎออีฟ ส่วนชัยค์ชุอัยบ์ อัรนาอู้ฏระบุว่าเป็นหะดีษหะซัน

2. กรณีเป็นหะดีษหะซัน หะดีษดังกล่าวไม่ได้สื่อถึงโรคระบาดในกลุ่มคน แต่ العاهة ในที่นี้คือโรคพืชและผลไม้ต่างหาก บรรดานักอรรถาธิบายหะดีษได้อธิบายเป็นเสียงเดียวกันว่าความหมายที่แท้จริงของคำดังกล่าวคือโรคผลไม้ ซึ่งนบีห้ามซื้อขายผลไม้จนกว่าจะสุกงอมจริงๆ ไม่อนญาตซื้อขายผลไม้ในขณะที่ยังไม่สุกเพราะอาจเกิดโรคมากมายทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ซื้อผู้ขายได้ ซึ่งโดยปกติ โรคที่เกิดกับผลไม้นี้จะหมดไปเมื่อการปรากฏของดาวลูกไก่ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ ตอนเริ่มต้นฤดูร้อน จึงไม่สามารถมาเชื่อมโยงกับโรคระบาดในสังคมมนุษย์

3. ความเชื่อกับดวงดาว ทำให้ผู้คนเกิดอาการลังเลและไขว้เขว ที่อาจเลยเถิดในเรื่องความเชื่อถือต่อดวงดาวแทนที่จะยึดมั่นกับการกำหนดสภาวะการณ์ของอัลลอฮ์

4. ทำให้ผู้คนติดยึดกับการเสี่ยงทายที่เกี่ยวโยงกับดวงดาว อันเป็นที่ต้องห้ามในอิสลามและอาจนำไปสู่การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์

5. เป็นความเชื่อที่อาจทำให้ชาวต่างศาสนิกดูแคลนภูมิปัญญาของชาวมุสลิมและอาจดูถูกศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสนาแห่งความงมงาย ทั้งนี้เนื่องจากโรคระบาดจะไม่เกิดขึ้นหรือหายไปจากสังคมมนุษย์เนื่องจากการปรากฎของดวงดาวแต่อย่างใด

https://www.elbalad.news/4304958