ทางนำ อัลหะดีษ

ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

‏المسلمون شركاء في ثلاث الماء والكلأ والنار ⁃ رواه الإمام أحمد وغيره وصححه الألباني وغيره وفي رواية الناس شركاء في ثلاث …….

ความว่า : มุสลิมพึงใช้ประโยชน์ร่วมกันใน 3 ประการ

  • 1) น้ำ
  • 2) ทุ่งหญ้า
  • 3) ไฟ ( อีกสายรายงานระบุ ผู้คนทั่วไปแทนคำว่ามุสลิม)

หะดีษนี้ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ใครคนหนึ่งครอบครองหรือรับประโยชน์ทั้ง 3 ประการนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ประชาชนทุกคนต้องได้รับประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน ในรูปแบบการบริหารร่วมหรือให้รัฐเป็นฝ่ายบริหารจัดการ แล้วจัดสรรให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งในรูปแบบการจัดสวัสดิการหรือการพัฒนาในมิติต่างๆ

น้ำ ณ ที่นี้ ครอบคลุมถึงแม่น้ำหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือเขื่อนที่สามารถใช้ประโยชน์อันมหาศาลจากการบริหารจัดการน้ำ

ส่วนทุ่งหญ้า ยังหมายรวมถึงผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทุ่งหญ้าและพืชพรรณนานาชนิดที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมต่อการสร้างความอยู่ดีมีสุขของสังคม เป็นหลักประกันสังคมและเป็นสวัสดิการของมนุษย์ ในทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง

ในขณะไฟ นอกจากสื่อถึงธาตุที่ก่อให้เกิดความร้อน แสงสว่างและเปลว แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของพลังงานต่างๆ เช่นน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ถ่านหินหรือพลังงานทดแทนอื่นๆที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างไร้จำกัดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม คลื่นทะเล กระแสน้ำ หรือความร้อนจากใต้ผิวโลกและอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นพลังงาน เพื่ออุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์

ในอิสลามถือว่า ทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 3 ชนิดนี้ คือความโปรดปรานของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลที่พระองค์ต้องการสร้างหลักประกันให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หากรู้จักบริหารจัดการอย่างดี ที่คำนึงถึงการกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐมีหน้าที่ดูแลจัดการทรัพยากรเหล่านี้ให้สามารถสร้างประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุดทั้งในเรื่องการให้สวัสดิการในรูปแบบต่างๆที่ประชาชนพึงได้จากผลประโยชน์อันมหาศาลนี้ รวมทั้งเป็นต้นทุนในการพัฒนาชีวิตในทุกมิติ โดยเฉพาะการศึกษา สุขภาวะและการสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน รัฐไม่สามารถให้สัมปทานแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มตนเท่านั้น

อิสลามถือว่า ความเสียหายและความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ล้วนเป็นผลงานของน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น

อัลลอฮ์ตรัสว่า
ظَهَرَ الْفَسَادُ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ بِمَا كَسَبَتْ أَيْدِي النَّاسِ لِيُذِيقَهُم بَعْضَ الَّذِي عَمِلُوا لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ ( الروم/٤١)
ความว่า ความหายนะได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทะเล เนื่องจากน้ำมือของมนุษย์ เพื่อให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนของการกระทำของพวกเขา เผื่อว่าพวกเขาจะหันกลับสู่พระองค์


โดย Mazlan Muhammad