บทความ ฟัตวา

ละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ใช้ได้หรือไม่

สภายุโรปเพื่อการฟัตวาและวิจัย ( The European Council for Fatwa and Research ) ได้ออกคำฟัตวาในคราวประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 1-4 ชะอฺบาน 1441 ( 25-28/3/2020) กรณีละหมาดวันศุกร์ และละหมาดญะมาอะฮ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่าเป็นสิ่งที่อิสลามอนุญาตหรือไม่อย่างไร

ประเด็นคำถาม
การละหมาดวันศุกร์ผ่านระบบทางไกล โดยให้อิมามอ่านคุตบะฮ์ในมัสยิดตามปกติ โดยมีคนฟัง 1-2 คน ส่วนที่เหลือพวกเขาจะฟังที่บ้านของตนเอง จากนั้นก็ละหมาดวันศุกร์โดยตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ ถามว่าการละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นที่อนุมัติหรือไม่อย่างไร

คำชี้แจง

การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านโดยลำพังตามวิทยุ โทรทัศน์ ไลฟ์สดผ่านระบบออนไลน์ ไม่เป็นที่อนุญาต และถือว่าการละหมาดดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่สามารถทดแทนการละหมาดซุฮรีได้ ถือเป็นทัศนะที่เป็นข้อยุติขององค์กรและสำนักฟัตวาในปัจจุบัน และเป็นทัศนะของนักกฏหมายอิสลามโดยส่วนใหญ่ ที่ได้ออกทัศนะก่อนหน้านี้หลายสิบปีมาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากละหมาดวันศุกร์เป็นอิบาดะฮ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องทำตามแบบอย่างโดยเคร่งครัด ซึ่งมีรูปแบบตามศาสนากำหนดที่ชัดเจน โดยไม่สามารถเพิ่มเติม แก้ไขใดๆ ทั้งนี้ท่านนบีฯได้ทำเป็นแบบอย่างและได้ทิ้งร่องรอยทั้งคำพูด การกระทำที่ชัดเจน ตั้งแต่ศุกร์แรกที่ถูกบัญญัติ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตและได้มีการถ่ายทอดแบบอย่างดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงยุคปัจจุบัน โดยไม่มีการเพิ่มเติมแก้ไขใดๆ ในขณะที่การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามรูปแบบดังกล่าว ขัดแย้งกับต้นแบบของอิสลามการอุตริกรรมในลักษณะนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนบีและทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ ทัศนะนี้มีหลักฐานอันชัดเจนดังนี้

1. อัลลอฮ์กล่าวความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้” (อัลญุมุอะฮ์/9)
นักกฏหมายอิสลามได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์ ถือเป็นสิ่งวาญิบ และการละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เช่นเดียวกับหะดีษมากมายที่ส่งเสริมให้เดินทางไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ตั้งแต่เช้า โดยมีผลบุญลดหลั่นกันไป ประเด็นคือ หากละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ เราจะปฏิบัติสัญลักษณ์หนึ่งของวันศุกร์นี้ได้อย่างไร

2. การละหมาดวันศุกร์คือการละหมาดแทนที่ซุฮริ เพราะซุฮรีเป็นฟัรฎูดั้งเดิมซึ่งถูกบัญญัติไว้ในคืนอิสรออฺ ก่อนการบัญญัติละหมาดวันศุกร์ ดังนั้น เมื่อการละหมาดแทนไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ต้องกลับสู่สภาวะดั้งเดิมคือละหมาดซุฮรี

3. การละหมาดวันศุกร์ออนไลน์ที่บ้านถือเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของอิสลามและอาจนำไปสู่การยกเลิกละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮ์โดยปริยาย เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะหากฟัตวาว่า การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแบบออนไลน์ เป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้นการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในแต่ละวัน ก็เป็นที่อนุญาตเช่นกัน ทำให้บทบาทของมัสยิดเลือนหายไปในอนาคตผู้คนอาจสร้างมัสยิดอาคารเล็กๆที่จุแค่คนละหมาดเพียง 2-3 คนเท่านั้น เพราะแต่ละคนสามารถละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ได้

4. นักกฎหมายอิสลามได้กำหนดเงื่อนไขการละหมาดตามอิมาม คือการรวมตัวกันระหว่างอิมามและมะมูมในสถานที่เดียวกัน มะมูมสามารถรับรู้หรือมองเห็นความเคลื่อนไหวของอิมามได้ หากไม่มีเงื่อนไขนี้ การละหมาดเป็นโมฆะ อีกประการหนึ่งระหว่างอิมามกับมะมูมไม่มีสิ่งกีดขวางที่มีขนาดใหญ่ เช่นฝาผนัง แม่น้ำที่เรือเเล่นผ่านได้ หรือสิ่งกีดขวางที่มะมูมไม่สามารถเข้าถึงอิมามได้ยามต้องการ ซึ่งการละหมาดตามอิมามแบบออนไลน์นี้ไม่สามารถทำได้ในลักษณะนี้ จึงทำให้การละหมาดนี้เป็นโมฆะ

5. ในกรณีที่เราเห็นด้วยกับทัศนะที่อนุญาตละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เราสามารถอนุมานใช้หลักคิดในการสนับสนุนทัศนะนี้จากสองกรณีเท่านั้นคือ
1) กรณีภาวะฉุกเฉินและการได้รับการยกเว้น
2) กรณีอ้างบทบัญญัติดั้งเดิม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ถือเป็นโมฆะเพราะในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะการได้รับการยกเว้น เราไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะบทบัญญัติได้เสนอทางออกแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบว่าละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดแทนที่ซุฮรี ดังนั้นเมื่อมันไม่สามารถทำได้หรือมีเหตุสุดวิสัยที่จำเป็นต้องยกเลิก ก็ให้กลับสู่ภาวะดั้งเดิมนั่นคือละหมาดซุฮรี

ส่วนการอ้างบทบัญญัติดั้งเดิมนั้น อาจทำให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์วิกฤตนี้คลี่คลาย ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่นักกฏหมายอิสลามกล่าวถึง

สรุป การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เป็นการละหมาดที่โมฆะ ในบทบัญญัติอิสลาม ไม่สามารถใช้แทนละหมาดซุฮรีได้ และการละหมาดญะมาอะฮ์ในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นสิ่งโมฆะยิ่งกว่า

ดูเพิ่มเติม
https://www.e-cfr.org/%d8%a7%d9%84%d8%a8%d9%8a%d8%a7%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%ae%d8%aa%d8%a7%d9%85%d9%8a-%d9%84%d9%84%d8%af%d9%88%d8%b1%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%b7%d8%a7%d8%b1%d8%a6%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%ab%d9%84%d8%a7%d8%ab/?fbclid=IwAR0g5x85DsHCgdcT50xOrWb6XS8XgmBkLn-yL8mFLgRvkDcazq9TRKiQIro