ฟัตวาสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ว่าด้วยการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดช่วง COVID-19

● ฟัตวาสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS – International Union for Muslim Scholars) ว่าด้วยการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดอันเนื่องจากไวรัสโคโรน่า

بسم الله الرحمن الرحيم

ฟัตวาเลขที่ 15
วันที่ 15 รอมฎอน 1441 / 08 พฤษภาคม 2020

ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดอันเนื่องจากโคโรน่า

الحمد لله، والصلاة والسلام على رسول الله،

การละหมาดญามาอะฮ์เป็นเครื่องหมายของอิสลาม เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีเป้าหมายชัดเจน เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความประเสริฐและการเจริญรอยตามท่านนบี ศอลฯ มีหลักการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายและการเป็นเครื่องหมายอิสลามได้อย่างงดงามสมบูรณ์ที่สุด ตามที่ท่านนบี ศอลฯ ได้สอนและได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างถึงการตามอิหม่าม ด้วยการเข้าแถวแนบชิด เท้าชิดและหัวใจที่สมัครสมานไม่ห่างเหินกัน

หากเกิดข้อบกพร่องในลักษณะดังกล่าว อันเนื่องจากเหตุผลต่างๆ เช่น มีฝากั้น หรือการกลัวโรคระบาด มีหลักการดังนี้

1. ยืนยันว่าศูนย์ฟิกฮ์และศูนย์ฟัตวาต่างๆ เห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้งดเว้นการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโคโรน่า เนื่องจากบทบัญญัติอิสลามวางอยู่บนหลักสะดวก ไม่สร้างภาระ ไม่เป็นภัยต่อบุคคลและสังคม ตามหลักฐานในฟัตวาก่อน

2. การประเมินถึงภัยอันตรายอันจะเกิดเนื่องจากการชุมนุมในสถานที่ใดๆ เป็นอำนาจของฝ่ายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการของฝ่ายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องดังกล่าวโดยเคร่งครัด

การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวถือเป็นสิ่งวาญิบ เพราะการละเมิดฝ่าฝืนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ซึ่งอัลลอฮ์ห้ามการฆ่าตัวเอง โดยกล่าวว่า

وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا : النساء:29

และพวกท่านอย่าได้ฆ่าตัวเอง แท้จริงอัลลอฮเมตตาต่อพวกท่าน [ อันนิสาอ์ : 29 ]

3. การเข้าแถวละหมาดโดยแนบชิดเป็นหลักการอิสลามที่ท่านนบี ศอลฯ กำหนด ดังหะดีษจำนวนมาก

ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ข้อกำหนดเรื่องวิธีการเข้าแถวละหมาดเป็นสุนัต ไม่ใช่วาญิบ และเห็นพ้องกันว่า การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเรื่องการเข้าแถว ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็ไม่ทำให้เสียละหมาด

4. การละหมาดโดยการยืนเข้าแถวห่างๆ ถือว่าเป็นการละหมาดที่ใช้ได้

รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ตามอายุ และสุขภาพของผู้ละหมาด ตลอดจนมาตรการฆ่าเชื้อก่อนเข้ามัสยิด หรือการฆ่าเชื้อทำความสะอาดสถานที่

ดังนั้น ไม่มีความผิดใดๆ จากการละหมาดที่ยืนห่างๆกัน ตามระยะที่ประกันความปลอดภัยได้

เพราะว่านักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า การยืนห่างๆ ในละหมาดจะเป็นความผิดในระดับมักรูฮก็ต่อเมื่ออยู่สภาวะปกติเท่านั้น แต่ในกรณีจำเป็นสุดวิสัย ความผิดดังกล่าวก็ตกไป ตามหลักที่ว่าความผิดในระดับมักรูฮ์ตกไปเมื่ออยู่สภาวะไม่ปกติแม้เพียงเล็กน้อย

การฝ่าฝืนมาตรการด้านสาธารณสุขที่ห้ามชุมนุมเพื่อการละหมาดดังกล่าว ด้วยการไม่ปฏิบัติตาม ไม่ให้ความร่วมมือ ถือเป็นการกระทำที่เป็นบาป ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับผิดชอบโดยสมบูรณ์ต่อความเสียหายอันเกิดขึ้นเนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรการเหล่านั้น เพราะศูนย์ฟิกฮ์และศูนย์ฟัตวาต่างๆ ถือว่าเป็นการทำบาปจากการทำให้ตนเองและสังคมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคร้าย

والله أعلم ، وصلى الله على سيدنا محمد وآله وسلم .

والحمد لله رب العالمين.

คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

ศ.ดร.นูรุดดีน อัลคอดิมีย์ ประธานคณะกรรมการ
ดร.ฟัฎล์ มุร๊อด กรรมการและผู้ร่างคำฟัตวา
ศ.ดร.อะหมัด จาบุลลอฮ์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.ซุลตอน อัลฮาชิมีย์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.อะหมัด กาฟี กรรมการ
ชัยค์วานีส อัลมับรูก กรรมการ
ชัยค์ซาลิม อัลชัยคีย์ กรรมการ
ศ.ดร.ซอและห์ ซังกีย์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.มุฮัมมัด รอยิส กรรมการ
ศ.ดร.อาลี ฆ๊อรเราะฮ์ดาฆีย์ เลขาธิการสหพันธ์
ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์

■ อ่านฟัตวาต้นฉบับ
http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11517

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

หุกมละหมาดวันศุกร์ออนไลน์

ฟัตวาเกี่ยวกับการละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่

● ประเด็นคำถาม

คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา ของสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ( International Union of Muslim Scholars )ได้รับคำถามว่า เกี่ยวกับข้อชี้ขาดว่าด้วยการละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ อันเนื่องจากอุปสรรคจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า

● คำฟัตวา

การละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ไม่เป็นที่อนุญาต เพราะขัดแย้งกับเงื่อนไขและองค์ประกอบของการละหมาดวันศุกร์ อีกทั้งสร้างความเสียหายในระยะยาว และขัดแย้งกับเป้าหมายของละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ ที่อนุญาตให้ปฏิบัติละหมาดซุหรี่ทดแทนได้ในยามจำเป็น โดยไม่ต้องฝืนทำในสิ่งที่เกินเลย โดยมีหลักฐานดังนี้

1.การละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดฟัรดู ที่อัลลอฮ์บัญญัติให้ละหมาดในเวลาซุฮรี่ของวันศุกร์

อัลลอฮ์กล่าวว่า

{يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ تَعْلَمُونَ} [الجمعة: 9]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านรู้” (อัลญุมุอะฮ์ : 9)

ا.
การละหมาดวันศุกร์มีเป้าหมายหลักๆ ด้านความศรัทธา ด้านสังคม ด้านความรู้ และด้านพฤติกรรม อีกทั้งส่งเสริมให้อาบน้ำและเร่งรีบไปละหมาด เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ มีเงื่อนไข มีวิธีการเฉพาะ การละหมาดวันศุกร์ใช้ไม่ได้หากไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข องค์ประกอบ ที่เกี่ยวกับเวลา สถานที่ จำนวน และวิธีการ ที่ประชาคมมุสลิมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ถูกกำหนดรูปแบบไว้แล้ว ไม่อนุญาตให้เพิ่มหรือลดได้ สิ่งใดที่อัลลอฮ์กำหนดเวลา หรือสถานที่ หรือวิธีการที่แน่นอนแล้ว จะต้องเคร่งครัดตามที่กำหนดเท่าที่สามารถ หากมีอุปสรรคก็ให้ละหมาดซุฮรี่แทน

อุปสรรคที่ทำให้งดเว้นการร่วมละหมาดวันศุกร์ เช่น ฝนตกหนัก ความกลัว โรคร้าย หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

อิบนุมาญะฮ์รายงานว่า ท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من سمع النداء فلم يُجبه فلا صلاة له إلا من عذر قالوا: يا رسول الله وما العذر؟ قال: خوف أو مرض

“ผู้ใดได้ยินเสียงอาซานแล้วไม่ตอบรับ ( หมายถึง ไม่ไปละหมาดที่มัสยิด) ก็จะไม่มีละหมาดสำหรับเขา เว้นแต่ผู้มีเหตุจำเป็น” พวกเขาถามว่า “เหตุจำเป็นคืออะไรครับ ?” ท่านนบี ศอลฯตอบว่า “ความกลัวหรือโรคร้าย”

ความกลัว ณ ที่นี้ มีความหมายกว้าง รวมถึงความกลัวโรคร้ายหรือโรคติดต่อ อาจเป็นเรื่องของบางคน หรือคนทั้งเมือง หรือทั้งโลก ดังเช่นการระบาดของโคโรน่าในวันนี้

นักฟิกฮ์ได้กล่าวถึงเหตุจำเป็นบางส่วนที่เป็นเหตุให้เว้นการเข้าร่วมละหมาด ได้แก่ “การถูกคุมขังในที่ใดที่หนึ่ง” ซึ่งรวมถึงการห้ามออกจากสถานที่ใดๆ ในพื้นที่ต่างๆ ในปัจจุบัน ที่ผู้คนถูกห้ามออกนอกสถานที่เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่า ยกเว้นกรณีจำเป็น และมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืน ในกรณีนี้ถือเป็นข้องดเว้นทางศาสนาที่ทำให้หน้าที่ไปละหมาดวันศุกร์ตกไป และไม่อนุญาตให้คิดรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนารูปแบบใหม่ขึ้นมาแทน

ในเมื่อศาสนาให้เหตุงดเว้นแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ตัดแปะผสมผสานพิธีกรรมทางศาสนา หรือทำเกินขอบเขต เช่น การตามอิหม่ามสมมติแทนอิหม่ามจริง ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ เพราะขัดแย้งกับแก่นของละหมาด ได้แก่ การรวมตัวกันด้านหลังของอิหม่ามในสถานที่เดียวกัน เพราะท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

“إنما جعل الإمام ليؤتم به. فإذا ركع فاركعوا. وإذا رفع فارفعوا. وإذا صلى جالسا، فصلوا جلوسا”. خرجه مالك في الموطأ مالك، رقم 447، ج2 ص186، والبخاري، في صحيحه

“อิหม่ามมีขึ้นเพื่อให้ถูกตาม เมื่อเขารุกั๊วะ ก็จงรุกั๊วะ เมื่อเขายกศีรษะ ก็จงยก เมื่อเขาละหมาดนั่งก็จงนั่ง” ( รายงานโดยอิหม่ามมาลิกและบุคอรีย์)

แนวการวินิจฉัยหะดีษนี้คือ การตามอิหม่ามในหลักการอิสลามหมายถึง การอยู่ในสถานที่เดียวกันกับอิหม่าม ดังที่ท่านนบี ศอลฯ และซอฮาบะฮ์ ได้ปฏิบัติ และความเห็นพ้องของนักฟิกฮ์จากมัซฮับหะนะฟี มาลิกี ชาฟิอี และฮัมบะลีย์

ดังหะดีษที่บ่งบอกว่า การตามอิหม่ามคือการไปมัสยิด ไม่ใช่การละหมาดที่บ้าน

ท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من اغتسل ثم أتى الجمعة، فصلى ما قدر له، ثم أنصت حتى يفرغ من خطبته، ثم يصلي معه، غفر له ما بينه وبين الجمعة الأخرى، وفضل ثلاثة أيام» صحيح مسلم

“ผู้ใดอาบน้ำแล้วมาละหมาดวันศุกร์ แล้วทำการละหมาดเท่าที่ทำได้ ต่อมาได้สงบนิ่งจนกระทั่งคุตบะฮ์เสร็จ แล้วละหมาดร่วมกับเขา เขาจะได้รับการอภัยโทษระหว่างวันนั้นถึงอีกวันศุกร์หนึ่ง และเพิ่มอีก 3 วัน” (หะดีษรายงานโดยมุสลิม)

หะดีษนี้บ่งบอกว่า กิจกรรมวันศุกร์ได้แก่ การอาบน้ำ การไปยังสถานที่ละหมาดวันศุกร์ ฟังคุตบะฮ์แล้วละหมาดพร้อมกับอิหม่าม

2. วิธีการละหมาดตามคำถาม จะนำไปสู่การทำลายละหมาดวันศุกร์และทำลายจุดประสงค์ของมัน เพราะวันศุกร์เป็นวันรวมตัวกันในสถานที่เดียวกัน ได้ทักทายทำความรู้จักและสอบถามความเป็นอยู่ของกันและกัน และร่วมมือช่วยเหลือกันในการทำความดี

นอกจากนี้ การละหมาดในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นประดิษฐกรรม-บิดอะฮ์- สำหรับการละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ ทำให้เงื่อนไข องค์ประกอบและเป้าหมายของการละหมาดสูญเสียไป ทั้งๆที่ศาสนาได้เปิดช่องให้ใช้ทางเลือกอื่นได้

3. การประดิษฐ์วิธีการละหมาดวันศุกร์ และคุตบะฮ์รูปแบบใหม่ นอกจากถือเป็นการขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ชัดเจนแล้ว ยังเป็นการทำให้เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์สูญเสียไป

ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้น ได้แก่ การเป็นองค์ประกอบหลักของประชาคมมุสลิม เป็นส่วนหนึ่งของระบอบของสังคมอิสลาม เป็นเครื่องมืออบรมให้ความรู้ ทำให้เข้าใจความเป็นสมาชิกของสังคม รวมภึงลดโอกาสความขัดแย้ง และจะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกและต่างศาสนิกมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น

4. คณะกรรมการฟัตวา ขอแนะนำให้มุสลิมทั้งชายหญิงยึดมั่นกับรูปแบบของพิธีกรรมทางศาสนาตามตัวบทและความเห็นพ้องของประชาชาติอิสลามเท่านั้น ส่วนในด้านกิจกรรมทางโลกให้ใช้การกิยาสและการอิจติฮาด และให้ยึดมั่นกับหลักการที่ชัดเจนและเป้าหมายของศาสนา พร้อมเรียกร้องให้นักวิชาการยึดมั่นกับการฟัตวาและวินิจฉัยแบบองค์คณะในกรณีใหม่ๆที่เกิดขึ้น เพื่อความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของสังคมสืบไป

والله أعلم، وصلى الله على سيدنا محمد وآله، وسلم .

والحمد لله رب العالمين.
คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

ศ.ดร.นูรุดดีน อัลคอดิมีย์ ประธานคณะกรรมการ
ดร.ฟัฎล์ มุร๊อด กรรมการและผู้ร่างคำฟัตวา
ศ.ดร.อะหมัด จาบุลลอฮ์ กรรมการ
ดร.ซุลตอน อัลฮาชิมีย์ กรรมการ
ดร.อะหมัด กาฟี กรรมการ
ชัยค์วานีส อัลมับรูก กรรมการ
ชัยค์ซาลิม อัลชัยคีย์ กรรมการ
ศ.ดร.อาลี ฆ๊อรเราะฮ์ดาฆีย์ เลขาธิการสหพันธ์
ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์

24 มีนาคม 2020

อ่านฟัตวาต้นฉบับ http://iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11154

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ฟัตวาว่าด้วยการงดถือศีลอดรอมฎอนกับภูมิต้านทานและไวรัสโคโรน่า และการละหมาดตารอเวียะห์

โดย ศ.ดร.อาลี กอเราะฮ์ดาฆี
เลขาธิการสหพันธ์นักวิชาการอิสลามนานาชาติ
(Internation Union of Muslim Scholars-IUMS)

○○○○○○○

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์ พระเจ้าแห่งสากลโลก พรและความสงบสุขจงมีแด่ท่านศาสนทูตผู้เป็นความเมตตาต่อโลก และแด่วงศ์วาน และซอฮาบะฮ์ ตลอดจนผู้เจริญรอยตามคำสอนของท่านไปจนกระทั่งวันแห่งการตอบแทน

ประชาชาติอิสลามมีมติเห็นพ้องกันว่าการถือศีลอดรอมฎอนเป็นเสาหลักหนึ่งของศาสนาอิสลาม เป็นหลักการภาคบังคับที่อัลลอฮ์และรอซูลได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

อัลลอฮ์กล่าวว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกท่าน เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกท่านเพื่อว่าพวกท่านจะได้ยำเกรง”

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ ۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ

“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้นและสิ่งที่จำแนก ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกท่านเห็นเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น”

ตัวบทดังกล่าวได้ยกเว้นบุคคล 3 ประเภท จากการถือศีลอด คือ

● ประเภทที่ 1 บุคคลที่ไม่มีความสามารถที่จะถือศีลอดได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น คนชรา

● ประเภทที่ 2 ผู้ป่วย
นักวิชาการได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วย” ที่อนุโลมให้งดถือศีลอดดังนี้

○ อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวในหนังสือ “อัลมัจมุอ์” (6/261) ว่า

” وهذا ما لحقه مشقة ظاهرة بالصوم، أي مشقة يشق احتمالها، وأما المرض اليسير الذي لا يلحق به مشقة ظاهرة لم يجز له الفطر بلا خلاف عندنا “

“คือผู้ที่การถือศีลอดทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่เขาอย่างชัดเจน หมายถึง จนไม่อาจทนได้ ส่วนผู้ป่วยเล็กน้อย ในมัซฮับของเราถือว่าไม่อนุญาตให้ละศีลอดโดยไม่มีผู้เห็นต่าง”

○ อิบนุกุดามะฮ์ กล่าวในหนังสือ “อัลมุฆนีย์” (4/403) ว่า

” أجمع أهل العلم على إباحة الفطر للمريض في الجملة”

“ในภาพรวม นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้ผู้ป่วยงดถือศีลอดได้”

และกล่าวต่อว่า

” والمرض المبيح للفطر هو الشديد الذي يزيد بالصوم، ويُخشى تباطؤ برئه…”.

“การป่วยที่อนุญาตให้งดถือศีลอด ได้แก่ การป่วยขั้นรุนแรงที่อาจหนักขึ้นเพราะการถือศีลอด และกลัวว่าจะหายช้าลง”

นักวิชาการยังเห็นพ้องกันว่าผู้ป่วยจะต้องถือศีลอดชดใช้แทนการงดถือศีลอดดังกล่าว

อัลลอฮ์กล่าวว่า

فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ عَلَىٰ سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ ۚ

“และในหมู่พวกท่าน หากมีผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือชดใช้ในวันอื่น”

รวมถึงหญิงมีประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตร ที่ไม่อนุญาตให้ถือศีลอด แต่ต้องถือศีลอดชดเช่นกัน

● ประเภทที่ 3 คนเดินทาง
นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้คนเดินทางงดถือศีลอดได้ แต่มีความเห็นต่างในเรื่องจำนวนวันเดินทาง

■ โคโรน่ากับการถือศีลอด

ด้วยเหตุดังกล่าว โคโรนา (โควิด 19) เป็นโรคที่ร้ายแรงและอันตราย คนผู้ใดติดเชื้อนี้ก็จะได้สิทธิต่างๆ ตามที่ศาสนากำหนดไว้สำหรับผู้ป่วย

● 1. การถือศีลอดกับผลต่อภูมิต้านทาน

การถือศีลอดจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง และทำให้ผู้ถือศีลอดมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ ?

ข้าพเจ้าได้ยินด้วยตัวเองในการประชุมกับสภายุโรปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2020 โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้า 4 คน เข้าร่วมประชุม

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันจะไม่ถูกทำลายจากการถือศีลอด หากทว่า บรรดาแพทย์และนักโภชนาการจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิจัยของ ดร.มุอิซซุลอิสลาม อิซวัต ฟาริส ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการบำบัดและอายุรกรรมทั่วไป ที่มีการตีพิมพ์บทสรุป เมื่อ 7 ชะบาน 1441 กล่าวว่า ในการวิจัยล่าสุดของตนเอง เกี่ยวกับผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อการแสดงออกของยีนต่อสารพันธุกรรมจำนวนหนึ่งที่ควบคุมกระบวนการในการป้องกันการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบในผู้ใหญ่ เกือบ 60 คน ผลการศึกษาพบว่าการถือศีลอดสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนในยีนเหล่านั้น ได้สูงมากถึง 90.5 % ผลการศึกษานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยืนยันว่าการถือศีลอดสามารถ
ป้องกันสภาวะความเครียดจากการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและลดประสิทธิภาพลง”

ในการวิจัยเพื่อทดสอบผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคและทำให้เกิดวัณโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนในการลดโอกาสการติดเชื้อจากเชื้อโรคดังกล่าว และเพิ่มความต้านทานของร่างกายโดยการเพิ่มจำนวนเซลล์ phagocytic และงานวิจัยอื่นที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในการฟื้นฟูเซลล์ที่เสียหาย

โดยสรุปแล้ว งานวิจัยต่างๆ ล้วนยืนยันถึงความสมบูรณ์ของดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
وَأَن تَصُومُوا خَيْرٌ لَّكُمْ
“การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่าน”

การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่านในชีวิตโลกนี้ และในด้านสุขภาพ ตลอดจนเป็นการดีสำหรับชีวิตโลกหน้า

ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่อนุญาตให้มุสลิมทิ้งเสาหลักของศาสนาอิสลามนี้ นอกจากด้วยเหตุผลที่ชอบธรรมที่อัลลอฮ์อนุญาต

แม้ว่าจะมีงานวิจัยยืนยันเช่นนี้ แต่ถ้าหากว่าแพทย์หลายๆคน ได้วินิจฉัยทางการแพทย์ว่า คนใดคนหนึ่งถือศีลอดแล้วมีโอกาสมากกว่า 50 % ที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ก็อนุญาตให้งดถือศีลอดได้ พร้อมตั้งเจตนาที่จะชดใช้หลังผ่านพ้นเหตุอนุโลม

หลักการนี้นักกฎหมายอิสลามในอดีตได้กล่าวไว้แล้ว โดยที่กลุ่มนักกฎหมายอิสลามมัซฮับหะนะฟีย์เห็นว่า ทัศนะที่ถูกต้องเห็นว่า เมื่อคนๆหนึ่งมั่นใจว่าหากเขาถือศีลอดจะเจ็บป่วย อนุญาตให้เขางดถือศีลอดได้ พร้อมกับต้องถือศีลอดชดใช้ ทั้งนี้ ความมั่นใจดังกล่าว พิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือความเห็นของแพทย์ ( หาชียะฮ์อิบนุอาบิดีน : 2/116 )

ในขณะที่นักวิชาการมัซฮับมาลิกเห็นต่าง โดยเห็นว่า หากคนๆหนึ่งกลัวว่าจะเจ็บป่วย จากการถือศีลอด ไม่อนุญาตให้งดถือศีลอด ตามทัศนะหลักของมัซฮับมาลิก ( หนังสือหาชียะฮ์ดุซูกีย์ : 1/153)

○ สรุป
ไม่อนุญาตให้ละศีลอดเพียงเพราะกลัวว่าจะเป็นโรคจากไวรัสโคโรน่า ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยว่าคนๆนั้น มีโอกาสติดเชื้อจริง หากถือศีลอด กรณีนี้เท่านั้นจึงงดถือศีลอดได้

● 2. การละหมาดตารอเวียะห์

ในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มัสยิดล้วนถูกงดใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากการละหมาดตารอเวียะห์มีสถานภาพเป็นละหมาดสุนัต ที่ท่านนบี ศอลฯ ละหมาดที่มัสยิดแล้วต่อมาก็ได้ปฏิบัติที่บ้าน ดังนั้น มุสลิมจึงมีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้ที่บ้าน โดยการปฏิบัติดังนี้

– ให้อิหม่ามหรือมุอัซซินอะซาน ละหมาดอีชา และละหมาดตารอเวียะห์ที่มัสยิดแต่เพียงคนเดียว ตามวิธีการที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด
– ให้แต่ละครอบครัวละหมาดอีชาและละหมาดตารอเวียะห์ที่บ้านตามจำนวนและระยะห่างตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ที่อ่านอัลกุรอานได้ดีที่สุดเป็นอิหม่าม และอาจอ่านจากเล่มอัลกุรอานก็ได้

อัลลอฮ์เท่านั้นที่รู้แจ้งในความถูกต้อง
18 ชะบาน 1441 / 11 เมษายน 2563

อ่านฟัตวาต้นฉบับ
http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11334

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ใช้ได้หรือไม่

สภายุโรปเพื่อการฟัตวาและวิจัย ( The European Council for Fatwa and Research ) ได้ออกคำฟัตวาในคราวประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 1-4 ชะอฺบาน 1441 ( 25-28/3/2020) กรณีละหมาดวันศุกร์ และละหมาดญะมาอะฮ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่าเป็นสิ่งที่อิสลามอนุญาตหรือไม่อย่างไร

ประเด็นคำถาม
การละหมาดวันศุกร์ผ่านระบบทางไกล โดยให้อิมามอ่านคุตบะฮ์ในมัสยิดตามปกติ โดยมีคนฟัง 1-2 คน ส่วนที่เหลือพวกเขาจะฟังที่บ้านของตนเอง จากนั้นก็ละหมาดวันศุกร์โดยตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ ถามว่าการละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นที่อนุมัติหรือไม่อย่างไร

คำชี้แจง

การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านโดยลำพังตามวิทยุ โทรทัศน์ ไลฟ์สดผ่านระบบออนไลน์ ไม่เป็นที่อนุญาต และถือว่าการละหมาดดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่สามารถทดแทนการละหมาดซุฮรีได้ ถือเป็นทัศนะที่เป็นข้อยุติขององค์กรและสำนักฟัตวาในปัจจุบัน และเป็นทัศนะของนักกฏหมายอิสลามโดยส่วนใหญ่ ที่ได้ออกทัศนะก่อนหน้านี้หลายสิบปีมาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากละหมาดวันศุกร์เป็นอิบาดะฮ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องทำตามแบบอย่างโดยเคร่งครัด ซึ่งมีรูปแบบตามศาสนากำหนดที่ชัดเจน โดยไม่สามารถเพิ่มเติม แก้ไขใดๆ ทั้งนี้ท่านนบีฯได้ทำเป็นแบบอย่างและได้ทิ้งร่องรอยทั้งคำพูด การกระทำที่ชัดเจน ตั้งแต่ศุกร์แรกที่ถูกบัญญัติ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตและได้มีการถ่ายทอดแบบอย่างดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงยุคปัจจุบัน โดยไม่มีการเพิ่มเติมแก้ไขใดๆ ในขณะที่การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามรูปแบบดังกล่าว ขัดแย้งกับต้นแบบของอิสลามการอุตริกรรมในลักษณะนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนบีและทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ ทัศนะนี้มีหลักฐานอันชัดเจนดังนี้

1. อัลลอฮ์กล่าวความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้” (อัลญุมุอะฮ์/9)
นักกฏหมายอิสลามได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์ ถือเป็นสิ่งวาญิบ และการละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เช่นเดียวกับหะดีษมากมายที่ส่งเสริมให้เดินทางไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ตั้งแต่เช้า โดยมีผลบุญลดหลั่นกันไป ประเด็นคือ หากละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ เราจะปฏิบัติสัญลักษณ์หนึ่งของวันศุกร์นี้ได้อย่างไร

2. การละหมาดวันศุกร์คือการละหมาดแทนที่ซุฮริ เพราะซุฮรีเป็นฟัรฎูดั้งเดิมซึ่งถูกบัญญัติไว้ในคืนอิสรออฺ ก่อนการบัญญัติละหมาดวันศุกร์ ดังนั้น เมื่อการละหมาดแทนไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ต้องกลับสู่สภาวะดั้งเดิมคือละหมาดซุฮรี

3. การละหมาดวันศุกร์ออนไลน์ที่บ้านถือเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของอิสลามและอาจนำไปสู่การยกเลิกละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮ์โดยปริยาย เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะหากฟัตวาว่า การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแบบออนไลน์ เป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้นการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในแต่ละวัน ก็เป็นที่อนุญาตเช่นกัน ทำให้บทบาทของมัสยิดเลือนหายไปในอนาคตผู้คนอาจสร้างมัสยิดอาคารเล็กๆที่จุแค่คนละหมาดเพียง 2-3 คนเท่านั้น เพราะแต่ละคนสามารถละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ได้

4. นักกฎหมายอิสลามได้กำหนดเงื่อนไขการละหมาดตามอิมาม คือการรวมตัวกันระหว่างอิมามและมะมูมในสถานที่เดียวกัน มะมูมสามารถรับรู้หรือมองเห็นความเคลื่อนไหวของอิมามได้ หากไม่มีเงื่อนไขนี้ การละหมาดเป็นโมฆะ อีกประการหนึ่งระหว่างอิมามกับมะมูมไม่มีสิ่งกีดขวางที่มีขนาดใหญ่ เช่นฝาผนัง แม่น้ำที่เรือเเล่นผ่านได้ หรือสิ่งกีดขวางที่มะมูมไม่สามารถเข้าถึงอิมามได้ยามต้องการ ซึ่งการละหมาดตามอิมามแบบออนไลน์นี้ไม่สามารถทำได้ในลักษณะนี้ จึงทำให้การละหมาดนี้เป็นโมฆะ

5. ในกรณีที่เราเห็นด้วยกับทัศนะที่อนุญาตละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เราสามารถอนุมานใช้หลักคิดในการสนับสนุนทัศนะนี้จากสองกรณีเท่านั้นคือ
1) กรณีภาวะฉุกเฉินและการได้รับการยกเว้น
2) กรณีอ้างบทบัญญัติดั้งเดิม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ถือเป็นโมฆะเพราะในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะการได้รับการยกเว้น เราไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะบทบัญญัติได้เสนอทางออกแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบว่าละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดแทนที่ซุฮรี ดังนั้นเมื่อมันไม่สามารถทำได้หรือมีเหตุสุดวิสัยที่จำเป็นต้องยกเลิก ก็ให้กลับสู่ภาวะดั้งเดิมนั่นคือละหมาดซุฮรี

ส่วนการอ้างบทบัญญัติดั้งเดิมนั้น อาจทำให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์วิกฤตนี้คลี่คลาย ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่นักกฏหมายอิสลามกล่าวถึง

สรุป การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เป็นการละหมาดที่โมฆะ ในบทบัญญัติอิสลาม ไม่สามารถใช้แทนละหมาดซุฮรีได้ และการละหมาดญะมาอะฮ์ในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นสิ่งโมฆะยิ่งกว่า

ดูเพิ่มเติม
https://www.e-cfr.org/%d8%a7%d9%84%d8%a8%d9%8a%d8%a7%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%ae%d8%aa%d8%a7%d9%85%d9%8a-%d9%84%d9%84%d8%af%d9%88%d8%b1%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%b7%d8%a7%d8%b1%d8%a6%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%ab%d9%84%d8%a7%d8%ab/?fbclid=IwAR0g5x85DsHCgdcT50xOrWb6XS8XgmBkLn-yL8mFLgRvkDcazq9TRKiQIro