บทความ ฟัตวา

หุกมละหมาดวันศุกร์ออนไลน์

ฟัตวาเกี่ยวกับการละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่

● ประเด็นคำถาม

คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา ของสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ( International Union of Muslim Scholars )ได้รับคำถามว่า เกี่ยวกับข้อชี้ขาดว่าด้วยการละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ อันเนื่องจากอุปสรรคจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า

● คำฟัตวา

การละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ไม่เป็นที่อนุญาต เพราะขัดแย้งกับเงื่อนไขและองค์ประกอบของการละหมาดวันศุกร์ อีกทั้งสร้างความเสียหายในระยะยาว และขัดแย้งกับเป้าหมายของละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ ที่อนุญาตให้ปฏิบัติละหมาดซุหรี่ทดแทนได้ในยามจำเป็น โดยไม่ต้องฝืนทำในสิ่งที่เกินเลย โดยมีหลักฐานดังนี้

1.การละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดฟัรดู ที่อัลลอฮ์บัญญัติให้ละหมาดในเวลาซุฮรี่ของวันศุกร์

อัลลอฮ์กล่าวว่า

{يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ تَعْلَمُونَ} [الجمعة: 9]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านรู้” (อัลญุมุอะฮ์ : 9)

ا.
การละหมาดวันศุกร์มีเป้าหมายหลักๆ ด้านความศรัทธา ด้านสังคม ด้านความรู้ และด้านพฤติกรรม อีกทั้งส่งเสริมให้อาบน้ำและเร่งรีบไปละหมาด เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ มีเงื่อนไข มีวิธีการเฉพาะ การละหมาดวันศุกร์ใช้ไม่ได้หากไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข องค์ประกอบ ที่เกี่ยวกับเวลา สถานที่ จำนวน และวิธีการ ที่ประชาคมมุสลิมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ถูกกำหนดรูปแบบไว้แล้ว ไม่อนุญาตให้เพิ่มหรือลดได้ สิ่งใดที่อัลลอฮ์กำหนดเวลา หรือสถานที่ หรือวิธีการที่แน่นอนแล้ว จะต้องเคร่งครัดตามที่กำหนดเท่าที่สามารถ หากมีอุปสรรคก็ให้ละหมาดซุฮรี่แทน

อุปสรรคที่ทำให้งดเว้นการร่วมละหมาดวันศุกร์ เช่น ฝนตกหนัก ความกลัว โรคร้าย หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

อิบนุมาญะฮ์รายงานว่า ท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من سمع النداء فلم يُجبه فلا صلاة له إلا من عذر قالوا: يا رسول الله وما العذر؟ قال: خوف أو مرض

“ผู้ใดได้ยินเสียงอาซานแล้วไม่ตอบรับ ( หมายถึง ไม่ไปละหมาดที่มัสยิด) ก็จะไม่มีละหมาดสำหรับเขา เว้นแต่ผู้มีเหตุจำเป็น” พวกเขาถามว่า “เหตุจำเป็นคืออะไรครับ ?” ท่านนบี ศอลฯตอบว่า “ความกลัวหรือโรคร้าย”

ความกลัว ณ ที่นี้ มีความหมายกว้าง รวมถึงความกลัวโรคร้ายหรือโรคติดต่อ อาจเป็นเรื่องของบางคน หรือคนทั้งเมือง หรือทั้งโลก ดังเช่นการระบาดของโคโรน่าในวันนี้

นักฟิกฮ์ได้กล่าวถึงเหตุจำเป็นบางส่วนที่เป็นเหตุให้เว้นการเข้าร่วมละหมาด ได้แก่ “การถูกคุมขังในที่ใดที่หนึ่ง” ซึ่งรวมถึงการห้ามออกจากสถานที่ใดๆ ในพื้นที่ต่างๆ ในปัจจุบัน ที่ผู้คนถูกห้ามออกนอกสถานที่เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่า ยกเว้นกรณีจำเป็น และมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืน ในกรณีนี้ถือเป็นข้องดเว้นทางศาสนาที่ทำให้หน้าที่ไปละหมาดวันศุกร์ตกไป และไม่อนุญาตให้คิดรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนารูปแบบใหม่ขึ้นมาแทน

ในเมื่อศาสนาให้เหตุงดเว้นแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ตัดแปะผสมผสานพิธีกรรมทางศาสนา หรือทำเกินขอบเขต เช่น การตามอิหม่ามสมมติแทนอิหม่ามจริง ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ เพราะขัดแย้งกับแก่นของละหมาด ได้แก่ การรวมตัวกันด้านหลังของอิหม่ามในสถานที่เดียวกัน เพราะท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

“إنما جعل الإمام ليؤتم به. فإذا ركع فاركعوا. وإذا رفع فارفعوا. وإذا صلى جالسا، فصلوا جلوسا”. خرجه مالك في الموطأ مالك، رقم 447، ج2 ص186، والبخاري، في صحيحه

“อิหม่ามมีขึ้นเพื่อให้ถูกตาม เมื่อเขารุกั๊วะ ก็จงรุกั๊วะ เมื่อเขายกศีรษะ ก็จงยก เมื่อเขาละหมาดนั่งก็จงนั่ง” ( รายงานโดยอิหม่ามมาลิกและบุคอรีย์)

แนวการวินิจฉัยหะดีษนี้คือ การตามอิหม่ามในหลักการอิสลามหมายถึง การอยู่ในสถานที่เดียวกันกับอิหม่าม ดังที่ท่านนบี ศอลฯ และซอฮาบะฮ์ ได้ปฏิบัติ และความเห็นพ้องของนักฟิกฮ์จากมัซฮับหะนะฟี มาลิกี ชาฟิอี และฮัมบะลีย์

ดังหะดีษที่บ่งบอกว่า การตามอิหม่ามคือการไปมัสยิด ไม่ใช่การละหมาดที่บ้าน

ท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من اغتسل ثم أتى الجمعة، فصلى ما قدر له، ثم أنصت حتى يفرغ من خطبته، ثم يصلي معه، غفر له ما بينه وبين الجمعة الأخرى، وفضل ثلاثة أيام» صحيح مسلم

“ผู้ใดอาบน้ำแล้วมาละหมาดวันศุกร์ แล้วทำการละหมาดเท่าที่ทำได้ ต่อมาได้สงบนิ่งจนกระทั่งคุตบะฮ์เสร็จ แล้วละหมาดร่วมกับเขา เขาจะได้รับการอภัยโทษระหว่างวันนั้นถึงอีกวันศุกร์หนึ่ง และเพิ่มอีก 3 วัน” (หะดีษรายงานโดยมุสลิม)

หะดีษนี้บ่งบอกว่า กิจกรรมวันศุกร์ได้แก่ การอาบน้ำ การไปยังสถานที่ละหมาดวันศุกร์ ฟังคุตบะฮ์แล้วละหมาดพร้อมกับอิหม่าม

2. วิธีการละหมาดตามคำถาม จะนำไปสู่การทำลายละหมาดวันศุกร์และทำลายจุดประสงค์ของมัน เพราะวันศุกร์เป็นวันรวมตัวกันในสถานที่เดียวกัน ได้ทักทายทำความรู้จักและสอบถามความเป็นอยู่ของกันและกัน และร่วมมือช่วยเหลือกันในการทำความดี

นอกจากนี้ การละหมาดในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นประดิษฐกรรม-บิดอะฮ์- สำหรับการละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ ทำให้เงื่อนไข องค์ประกอบและเป้าหมายของการละหมาดสูญเสียไป ทั้งๆที่ศาสนาได้เปิดช่องให้ใช้ทางเลือกอื่นได้

3. การประดิษฐ์วิธีการละหมาดวันศุกร์ และคุตบะฮ์รูปแบบใหม่ นอกจากถือเป็นการขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ชัดเจนแล้ว ยังเป็นการทำให้เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์สูญเสียไป

ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้น ได้แก่ การเป็นองค์ประกอบหลักของประชาคมมุสลิม เป็นส่วนหนึ่งของระบอบของสังคมอิสลาม เป็นเครื่องมืออบรมให้ความรู้ ทำให้เข้าใจความเป็นสมาชิกของสังคม รวมภึงลดโอกาสความขัดแย้ง และจะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกและต่างศาสนิกมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น

4. คณะกรรมการฟัตวา ขอแนะนำให้มุสลิมทั้งชายหญิงยึดมั่นกับรูปแบบของพิธีกรรมทางศาสนาตามตัวบทและความเห็นพ้องของประชาชาติอิสลามเท่านั้น ส่วนในด้านกิจกรรมทางโลกให้ใช้การกิยาสและการอิจติฮาด และให้ยึดมั่นกับหลักการที่ชัดเจนและเป้าหมายของศาสนา พร้อมเรียกร้องให้นักวิชาการยึดมั่นกับการฟัตวาและวินิจฉัยแบบองค์คณะในกรณีใหม่ๆที่เกิดขึ้น เพื่อความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของสังคมสืบไป

والله أعلم، وصلى الله على سيدنا محمد وآله، وسلم .

والحمد لله رب العالمين.
คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

ศ.ดร.นูรุดดีน อัลคอดิมีย์ ประธานคณะกรรมการ
ดร.ฟัฎล์ มุร๊อด กรรมการและผู้ร่างคำฟัตวา
ศ.ดร.อะหมัด จาบุลลอฮ์ กรรมการ
ดร.ซุลตอน อัลฮาชิมีย์ กรรมการ
ดร.อะหมัด กาฟี กรรมการ
ชัยค์วานีส อัลมับรูก กรรมการ
ชัยค์ซาลิม อัลชัยคีย์ กรรมการ
ศ.ดร.อาลี ฆ๊อรเราะฮ์ดาฆีย์ เลขาธิการสหพันธ์
ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์

24 มีนาคม 2020

อ่านฟัตวาต้นฉบับ http://iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11154

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad