บทความ บทความวิชาการ

ลุกมานสอนลูก : บทเรียนและแนวปฏิบัติ

ความหมายอัลกุรอานซูเราะฮฺ ลุกมาน โองการ 12-19

12. และโดยแน่นอน เราได้ให้ฮิกมะฮฺ แก่ลุกมานว่า จงขอบพระคุณต่ออัลลอฮฺ และผู้ใดขอบคุณแท้จริงเขาก็ขอบคุณตัวของเขาเอง และผู้ใดปฏิเสธแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงร่ำรวยและทรงได้รับการสรรเสริญ

13. และจงรำลึกเมื่อลุกมานได้กล่าวแก่บุตรของเขา โดยสั่งสอนเขาว่า “โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใดๆต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์โดยแน่นอน

14. และเราได้สั่งการมนุษย์เกี่ยวกับบิดามารดาของเขา โดยมีมารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอ่อนเพลียลงครั้งแล้วครั้งเล่า และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า และบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้นคือการกลับไปสู่

15. และถ้าเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าอย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดีและจงปฏิบัติตามทางของผู้ที่กลับไปสู่ข้า และยังเรานั้นคือทางกลับของพวกเจ้า ดังนั้น ข้าจะบอกแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้

16.โอ้ลูกเอ๋ย แท้จริง (หากว่าความผิดนั้น) มันจะหนักเท่าเมล็ดผักสักเมล็ดหนึ่ง มันจะซ่อนอยู่ในหิน หรืออยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายหรืออยู่ในแผ่นดิน อัลลอฮฺก็จะทรงนำมันออกมาแท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง

17. โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น มั่นคง

18. และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้าให้แก่ผู้คนอย่างยะโส และอย่าเดินไปตามแผ่นดินอย่างไร้มารยาท แท้จริง อัลลอฮฺ มิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด

19.และเจ้าจงก้าวเท้าของเจ้าพอประมาณและจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริง เสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง (ร้อง) ของลา

ลุกมานคือใคร ?

  • คือบุคคลที่อัลลอฮฺกล่าวถึงในอัลกุรอาน และเป็นชื่อซูเราะฮฺลำดับที่ 31
  • ลุกมานเป็นทาสชาวเอธิโอเปีย มีอาชีพเป็นช่างไม้ (ความเห็นของ Ibnu Abbas)
  • ลุกมานเป็นชาวซูดาน มีร่างกายที่แข็งแรง อัลลอฮฺทรงประทานฮิกมะฮฺ(วิทยปัญญา)แก่เขา แต่ไม่แต่งตั้งเขาให้เป็นนบี (ความเห็นของ Said bin Musayyab)
  • ลุกมานเป็นทาสที่ศอลิหฺ ไม่ใช่นบี มีริมฝีปากหนา เท้าใหญ่และเป็นผู้ตัดสินคดี (ผู้พิพากษา) ชาวบะนีอิสรออีล (ความเห็นของ Mujahid) ในสมัยนบีดาวูด
  • เจ้านายเคยสั่งใช้ให้ลุกมาน เชือดแพะตัวหนึ่งและให้เขาเก็บเนื้อที่ดีที่สุดจำนวน 2 ชิ้น ลุกมานจึงเก็บลิ้นและหัวใจ พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เจ้านายได้สั่งให้เขาเชือดแพะอีกตัวหนึ่งพร้อมสั่งให้เก็บเนื้อที่ไม่ดีที่สุดจำนวน 2 ชิ้น ลุกมานจึงเก็บลิ้นและหัวใจ เช่นเดียวกัน เมื่อเจ้านายถามเหตุผลของการกระทำดังกล่าว ลุกมานจึงตอบว่าไม่มีอวัยวะอื่นใดที่ประเสริฐสุดมากกว่าลิ้นและหัวใจ ถ้าหากทั้งสองอยู่ในสภาพดี และไม่มีอวัยวะอื่นใดที่ชั่วช้ามากกว่าลิ้นและหัวใจ หากทั้งสอง อยู่ในสภาพที่ชั่วร้าย

คุณสมบัติของลุกมานอัล-หะกีม

  • เป็นคนที่ศอลิห
  • อัลลอฮฺทรงประทานฮิกมะฮฺให้แก่เขา ซึ่งทำให้เขามีสติปัญญาอันเฉียบแหลม มีความรู้ที่ลุ่มลึก และมีคำพูดที่เต็มไปด้วยสาระและความหมาย
  • มีอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง เข้าใจในศาสนา
  • ฐานสำคัญของการอบรมลูก
1. ฐานแห่งอะกีดะฮฺ
2. ฐานแห่งอิบาดะฮฺ
3. ฐานแห่งคุณธรรมจริยธรรม

จากรากฐานทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ลุกมานได้สั่งเสียแก่ลูกให้ยึดมั่นคำสอน 10 ประการดังนี้

1) จงอย่าตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • พ่อแม่ต้องสั่งสอนและอบรมลูกให้มีอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง มอบความรักต่ออัลลอฮฺ รักท่านนบี วงศ์วานของท่านนบี และรักการอ่านอัลกุรอาน ดังหะดีษที่รายงานโดยอัต-เฏาะบะรอนี ความว่า “ท่านจงอบรมบรรดาลูกๆของท่านใน 3 ประการ คือให้มีความรักต่อนบีของพวกท่าน ให้มีความรักต่อวงศ์วานของนบี และให้มีความรักในการอ่านอัลกุรอาน”
  • การอะซานและอิกอมะฮฺแก่ทารกแรกเกิด
  • จงเปิดหูลูกน้อยของท่านด้วยคำกล่าวว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ)” (รายงานโดยอัล-หากิม)
  • การป้องกันกลลวงและภัยคุกคามจากชัยฏอนด้วยวิธีการดังนี้ :

* อ่านดุอาก่อนมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา
* ดุอาให้แก่ลูก
* อ่านซูเราะฮฺอิคลาศ อัลฟะลัก และอันนาส พร้อมเป่าทั่วร่างกายของลูก
* ระมัดระวังไม่ให้ลูกออกจากบ้านในเวลาค่ำคืนโดยเฉพาะช่วงพลบค่ำเพราะช่วงดังกล่าวญินมักกระจายเพ่นพ่านเป็นจำนวนมาก(ความหมายหะดีษรายงานโดยอัล-บุคอรี)
* หลีกเลี่ยงจากความเชื่อและประเพณีที่นำไปสู่ชิรกฺ อาทิ ความเชื่อในโชคลาง เวทมนต์ ไสยศาสตร์ หมอดู ประเพณีต่างๆที่นิยมปฏิบัติช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดที่ขัดกับอิสลาม ความเชื่อในการตั้งชื่อที่มีผลต่อสุขภาพเด็ก
* ไม่เชื่อในสิ่งปาฏิหาริย์ของนวนิยายอันไร้สาระ ความเชื่อในภูตผี ปีศาจ

2) จงทำความดีต่อพ่อแม่
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ลูกไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อได้เว้นแต่เขาเจอพ่อในสภาพที่เป็นทาส และเขาจ่ายค่าตัวของพ่อพร้อมทั้งปล่อยพ่อเป็นไท (หะดีษ)
  • ลูกต้องทำความดีต่อแม่มากกว่าพ่อถึง 3 เท่า (ความหมายจากหะดีษ)
  • เชื่อฟังพ่อแม่ตราบใดที่ท่านไม่สั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม
  • พ่อแม่ต้องให้ความยุติธรรมต่อบรรดาลูกๆแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นการจุมพิต การมอบของขวัญ การซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเป็นต้น พ่อแม่ไม่ควรเป็นต้นเหตุให้บรรดาลูกๆ ต้องเนรคุณและมีเรื่องบาดหมางระหว่างกันเนื่องจากความไม่ยุติธรรมและความลำเอียงของพ่อแม่
  • ห่างไกลจากการเป็นลูกเนรคุณ ที่มีสัญญานต่างๆ 33 ประการ ดังนี้

1. ทำให้พ่อแม่เสียใจหรือเสียน้ำตาเนื่องจากคำพูด การกระทำหรือพฤติกรรม
2. ตะคอก ทะเลาะวิวาทหรือขึ้นเสียงต่อหน้าพ่อแม่
3. กล่าวคำว่า “อุฟ” ดื้อหรือไม่ทำตามคำสั่งใช้ของพ่อแม่
4. หน้าบูดบึ้ง ขมวดคิ้ว แสดงไม่พอใจพ่อแม่
5. มองพ่อแม่ด้วยหางตา หรือมองด้วยสายตาแสดงความไม่พอใจ
6. สั่งใช้พ่อแม่ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เช่น ซักเสื้อผ้าของเรา หุงหาอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามท่านแก่ชรา แต่ถ้าหากทั้งสองยินดีให้ความช่วยเหลือด้วยความสมัครใจก็ไม่ถือว่าเนรคุณ แต่ลูกๆ ควรตอบแทนด้วยการขอบคุณและดุอาแก่ท่านทั้งสองตลอดเวลา
7. ตำหนิอาหารที่เตรียมโดยคุณแม่ การกระทำเช่นนี้ มีความผิด 2 ประการ ประการแรก ฝ่าฝืนสุนนะฮฺท่านนบี(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) เพราะท่าน นบีฯไม่เคยตำหนิอาหารเลย หากท่านชอบ ท่านก็จะทานอาหารนั้น หากท่านไม่ชอบ ท่านจะไม่ทานโดยไม่ตำหนิอะไรเลย ประการที่สอง แสดงกิริยามารยาทที่ไม่ดีต่อคุณแม่
8. ไม่ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น ซักเสื้อผ้า หุงอาหาร เลี้ยงดูน้องๆ เป็นต้น
9. ตัดคำพูดของพ่อแม่ กล่าวหาพ่อแม่ว่าพูดโกหกหรือโต้เถียงกับพ่อแม่
10. ไม่ปรึกษาหารือพ่อแม่ ไม่ขออนุญาตพ่อแม่ยามออกนอกบ้านหรือเที่ยวตามบ้านเพื่อน
11. ไม่ขออนุญาตยามเข้าห้องนอนพ่อแม่
12. ชอบเล่าเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจแก่พ่อแม่
13. ทำลายชื่อเสียงหรือนินทาพ่อแม่ลับหลัง
14. แช่งหรือด่าพ่อแม่ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ด่าพ่อแม่ทางตรงคือด่าพ่อแม่ต่อหน้าทั้งสอง ส่วนด่าพ่อแม่ทางอ้อมคือการที่เราด่าพ่อแม่เพื่อนของเราและเพื่อนคนนั้นก็ด่าพ่อแม่เรากลับ ดังนั้นคำด่าของเพื่อนเราเปรียบเสมือนเราด่าพ่อแม่โดยทางอ้อมเพราะเราเป็นต้นเหตุที่ทำให้เพื่อนด่าพ่อแม่เรา
15. นำพาสิ่งหะรอมเข้ามาในบ้าน เช่น เครื่องดนตรี ทำให้พ่อแม่พลอยรับความไม่ดีจากสิ่งหะรอมนั้นด้วย
16. กระทำสิ่งหะรอมต่อหน้าพ่อแม่ เช่น สูบบุหรี่ ฟังเพลง ไม่ละหมาด ไม่ลุกขึ้นเมื่อทั้งสองปลุกให้ตื่นละหมาด
17. ทำให้ชื่อเสียงพ่อแม่ด่างพร้อยเพราะการกระทำของเรา เช่น เมื่อลูกๆชอบลักเล็กขโมยน้อย ติดยาเสพติด เล่นการพนัน ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ทำให้พ่อแม่ต้องอับอายหรือเสียชื่อเสียงไปด้วย
18. ทำให้พ่อแม่ยากลำบาก บางครั้งพ่อแม่ต้องระเหเร่ร่อนตามหาลูกๆที่หนีออกจากบ้านหรือต้องขึ้นลงโรงพักเพื่อให้ประกันลูกๆที่กระทำผิดกฎหมายซึ่งสร้างความลำบากแก่พ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง ทำให้พ่อแม่เสียเวลาและเงินทองเพื่อเป็นธุระแก่ลูกรัก
19. ออกจากบ้านหรือเที่ยวบ้านเพื่อนเป็นเวลานาน ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง บางทีพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือจากลูกหรือประสบกับความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก แต่ลูกๆกำลังสนุกสนานกับเพื่อนๆที่สถานเริงรมย์หรืองานเลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ
20. ชอบให้พ่อแม่ทำโน่นทำนี่เป็นประจำ ให้ซื้อของเป็นประจำ และไม่รักษาสิ่งของที่พ่อแม่ซื้อ คะยั้นคะยอพ่อแม่ซื้อสิ่งของที่แพงๆทั้งที่พ่อแม่มีรายได้ที่ไม่เพียงพอ
21. รักภรรยาหรือสามีมากกว่าพ่อแม่ ทะเลาะกับพ่อแม่เนื่องจากภรรยาหรือสามีที่ไม่ดี อ่อนโยนต่อภรรยาหรือสามี แต่แข็งกร้าวต่อหน้าพ่อแม่
22. ปลีกตัวจากพ่อแม่ ไม่อาศัยอยู่พร้อมกันกับพ่อแม่โดยเฉพาะยามที่ทั้งสองแก่เฒ่า
23. ลูกบางคนรู้สึกอับอายหรือกระดากใจที่จะแนะนำพ่อแม่ให้คนอื่นรู้จัก บางครั้งก็ไม่ยอมรับเป็นพ่อแม่ของตนเองเนื่องจากต้องการปิดบังรากเหง้าของตนเอง
24. ตบตีหรือทำร้ายพ่อแม่
25. ให้พ่อแม่พำนักที่บ้านพักคนชราหรือสถานสงเคราะห์คนชราโดยที่ลูกๆไม่ยอมดูแลและปรนนิบัติพ่อแม่ เรามักได้ยินว่าพ่อแม่มีความสามารถเลี้ยงลูก 10 คนได้ แต่บางทีลูกทั้ง 10 คน ไม่สามารถดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ได้
26. ไม่ให้ความสำคัญต่อกิจการของพ่อแม่ ไม่แนะนำหรือตักเตือนพ่อแม่ยามที่ทั้งสองผิดพลาดหรือกระทำบาป
27. ตระหนี่ขี้เหนียวและไม่ยอมใช้จ่ายแก่พ่อแม่แต่ชอบแสดงตนเป็นคนใจกว้างยามเข้าสังคมกับเพื่อนๆ
28. ชอบทวงบุญคุณที่ได้กระทำต่อพ่อแม่ ทั้งๆที่พ่อแม่ไม่เคยทวงบุญคุณของตนเองที่ได้กระทำต่อลูกๆเลย
29. ขโมยทรัพย์สินเงินทองของพ่อแม่ หลอกใช้เงินของพ่อแม่
30. ชอบทำตัวงอแงจนเกินเหตุ ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ เช่น เวลาป่วยไข้ก็มักจะทำไม่สบายจนเกินเหตุ เป็นต้น
31. ทิ้งพ่อแม่อาศัยที่บ้านตามลำพัง โดยที่ตนเองอาศัยที่อื่นโดยไม่ขออนุญาตพ่อแม่ก่อน
32. ลูกบางคนตั้งภาวนาให้พ่อแม่ห่างไกลให้พ้นจากตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ป่วยเป็นโรคหรือแก่ชรา
33. ลูกบางคนยอมแม้กระทั่งต้องฆ่าพ่อแม่เนื่องจากความโกรธเคือง เมาหรือหวังมรดกของพ่อแม่

3) จงเจริญรอยตามกลุ่มผู้ศรัทธาและบรรดาผู้ได้รับทางนำ
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • คบเพื่อนที่ดี ห่างไกลจากเพื่อนที่ไม่ดี
  • บุคคลย่อมมีนิสัยและมีพฤติกรรมที่เหมือนกับเพื่อนผู้ใกล้ชิดของเขา ดังนั้นท่านจึงมองเพื่อนผู้ใกล้ชิดของเขา ท่านก็จะรู้นิสัยที่แท้จริงของบุคคลนั้น (หะดีษรายงานโดยอัต-ติรมีซีย์)
  • ระมัดระวังแนวคิด คำสอนหรือทฤษฎีที่คิดค้นโดยบรรดาผู้ปฏิเสธอัลลอฮฺ ไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของลูกๆ เช่นทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินที่เชื่อว่ามนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากลิง ทฤษฎีของซิกส์มัน ฟรอยด์ที่พยายามเกี่ยวโยงพฤติกรรมของมนุษย์กับเซ็กส์ ทฤษฎีแม็คคิววิลลี่ที่สอนให้มนุษย์ทำอะไรด้วยวิธีการใดก็ได้ ถ้าหากมีวัตถุประสงค์ที่ดี (ดังกรณีหวยบนดิน การเปิดบ่อนคาสิโนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการใช้วิชามารเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง เป็นต้น)
  • ศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางของผู้ที่อัลลอฮฺทรงประทานฮิดายัต เช่น บรรดานบี บรรดาเศาะฮาบะฮฺ บรรดาศอลิฮีน เป็นต้น “เศาะฮาบะฮฺของฉันเปรียบเสมือนดวงดาว ท่านจะพบกับทางนำตราบใดที่ท่านยึดมั่นปฏิบัติตามดาวดวงใดดวงหนึ่งในจำนวนดวงดาวเหล่านั้น” (รายงานโดยอัล-บัยฮะกีย์) อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า ใครก็ตามที่ต้องการเอาเยี่ยงอย่าง ก็จงปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างของบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีมูฮำมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)
  • ระมัดระวังและสอดส่องพฤติกรรมของลูกมิให้ตกเป็นเหยื่อของการลอกเลียนต้นแบบอันจอมปลอม อาทิ ดารานักแสดง นักร้อง นักกีฬาที่มีประวัติด่างพร้อย สื่อลามกอนาจาร สื่ออิเล็กโทรนิกส์ทั้งหลาย เว็บไซต์ แช็ตรูม มือถือ เป็นต้น พ่อแม่ต้องรู้เท่าทันโลกและรู้เท่าทันลูกด้วย

4) การซึมซับและปลูกฝังความรอบรู้ของอัลลอฮฺและการตรวจสอบของพระองค์  
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังในความรอบรู้ของอัลลอฮฺที่ครอบคลุมทั้งสิ่งที่เปิดเผยและซ่อนเร้น
  • ปลูกฝังในความสำคัญของอิคลาศ
  • ปลูกฝังการสอบสวนของอัลลอฮฺในทุกกิจการของมนุษย์
  • การตักเตือนลูกในเรื่อง การลักเล็กขโมยน้อย การไม่ยอมรับผิด การพูดจาโกหก การรังแกพี่น้องด้วยกัน
  • พ่อแม่ต้องหมั่นเล่าเรื่องแก่ลูกๆเกี่ยวกับความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺของบรรดาบรรพชนที่ทรงคุณธรรม(สะลัฟศอลิหฺ)

5) จงดำรงละหมาด
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • “ท่านทั้งหลายจงสั่งใช้ลูกๆของท่านให้ดำรงละหมาดเมื่อเขามีอายุครบ 7 ขวบ และจงเฆี่ยนตี (หากพวกเขาไม่ละหมาด) เมื่ออายุครบ 10 ขวบ และจงแยกเตียงนอน (ให้พวกเขานอนในห้องส่วนตัวต่างหาก)” (รายงานโดยฮากิม)
  • พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกในการดำรงละหมาด
  • การอบรมลูกๆให้มีความสัมพันธ์กับมัสยิดตลอดเวลา
  • การปลูกฝังให้ลูกๆรักษาละหมาดทั้งฟัรฎูและสุนัตต่างๆ โดยเฉพาะละหมาดก่อนหลังละหมาดฟัรฎู ละหมาดฎูฮา ละหมาดหลังเที่ยงคืน และละหมาดวิตรฺ

6) จงใช้กันให้กระทำความดีและจงห้ามปรามกันให้ละเว้น การทำความชั่ว
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังให้ลูกๆทำแต่ความดีและเผยแผ่ความดีสู่มวลมนุษย์
  • ช่วยเหลือสนับสนุนในกิจการความดีและการตักวา ไม่ช่วยเหลือสนับสนุนในกิจการที่นำไปสู่อบายมุขและการล่วงละเมิด
  • ปลูกฝังในมารยาทการเชิญชวนสู่ความดีและการห้ามปรามความชั่วร้าย
  • อิสลามส่งเสริมการทำความดีและมีมารยาทที่ประเสริฐต่อมนุษย์ และถือว่ามนุษย์คือพี่น้องที่มาจากบิดามารดาคนเดียวกัน
  • อิสลามส่งเสริมให้กระทำความดีต่อสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ สิงสาราสัตว์ สิ่งของสาธารณะ และถือว่าบุคคลที่ประเสริฐสุดคือบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์มากที่สุด
  • จงระวังการห้ามปรามและการยับยั้งความชั่วร้ายที่อาจก่อความชั่วร้ายหรือภัยที่รุนแรงกว่า

7) จงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • การอดทนมี 3 ประเภท คือ การอดทนต่อความทุกข์ยากที่ประสบ การอดทนเพื่อกระทำสิ่งฏออัต และการอดทนไม่กระทำสิ่งต้องห้ามหรืออบายมุข
  • อิบาดัตทุกประการมีผลตอบแทนที่อัลลอฮฺกำหนดไว้อย่างแน่นอน เว้นแต่การอดทน (ศอบัร) “แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยประมาณการไม่ได้” (ความหมายจากสูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร : 10)
  • ลักษณะการศอบัรฺที่ดี คือ การศอบัรฺในช่วงแรกที่ประสบความทุกข์ยาก

8) อย่าหยิ่งยะโส โอ้อวด และดูถูกคนอื่น
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังลูกๆให้รู้จักขอบคุณอัลลอฮฺในความดีที่ได้รับ เช่น เรียนเก่ง มีหน้าตาน่ารัก ความสุขสบายที่ได้รับ
  • ให้โอกาสลูกๆ คบเพื่อนในวัยเดียวกันอย่างสร้างสรรค์
  • ปลูกฝังการให้ทานและให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนอนาถา
  • การหยิ่งยะโส คือ การปฏิเสธความจริง และการดูถูกคนอื่น
  • “จะไม่มีสิทธิเข้าสวรรค์สำหรับผู้หยิ่งยะโสแม้เพียงน้อยนิดเท่าเมล็ดผักก็ตาม” (หะดีษรายงานโดยอบู ดาวูด)
  • การปลูกฝังนิสัยการอ่อนน้อมถ่อมตน
  • รู้จักตักเตือนลูกๆ อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามกาลเทศะ

9) จงก้าวเท้าพอประมาณ
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังมารยาทการเดินในอิสลาม
  • ปลูกฝังนิสัยพอประมาณ ความพอดี
  • ปลูกฝังให้ยึดมั่นแนวคิดสายกลาง ไม่สุดโต่ง สุดขอบ รู้จักเดินบนเส้นทางชีวิตด้วยความพอดี
  • ปลูกฝังนิสัยประหยัดอดออม ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ขี้เหนียว
  • สร้างความพร้อมแก่ลูกๆที่จะเผชิญหน้ากับชีวิตในอนาคตอันหลากหลาย อย่างเท่าทัน และมีสติ
  • อัลลอฮฺทรงปรานีแก่ผู้ที่รู้จักประมาณตนในศักยภาพของตนเอง

10) จงลดเสียงของเจ้า
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังมารยาทการพูดและการทักทาย
  • การลดเสียงขณะพูด เป็นส่วนหนึ่งของคุณลักษณะของผู้ถ่อมตน
  • ปลูกฝังในคำสอนของอิสลามที่ว่าด้วยการรักษาลิ้น
  • บุคคลย่อมไม่สามารถเป็นนักพูดที่ดี ตราบใดที่เขาไม่สามารถยกระดับการเป็นนักฟังที่ดี

ลูกคือ :

  • แก้วตาดวงใจ
  • บททดสอบ
  • ศัตรูผู้เป็นสุดที่รัก
  • ผู้ที่สามารถเพิ่มพูนความดีของพ่อแม่ยามที่ท่านทั้งสองเสียชีวิตแล้ว
  • ลูกทุกคนเกิดมาในสภาพบริสุทธ์ พ่อแม่ต่างหากที่เป็นผู้ทาสีให้เป็นยิว คริสเตียน หรือมาญูซี(ลัทธิบูชาไฟ)
  • พ่อแม่ควรรู้ว่า การอบรมสั่งสอนคือการให้ ดังนั้นบุคคลไม่สามารถที่จะให้ในสิ่งที่ตนไม่มี
  • ครอบครัวคุณภาพ สื่อคุณภาพ พื้นที่คุณภาพและการศึกษาคุณภาพ มีส่วนสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างลูกศอลิหฺ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่มอบภาระให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังกลอนอาหรับกล่าวไว้ความว่า “อาคารหลังหนึ่งจะไม่สามารถสร้างแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากคุณเป็นผู้สร้างเพียงผู้เดียว แต่คนอื่นพากันทุบทิ้งทำลาย”

เขียนโดย อ. มัสลัน มาหะมะ
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามยะลา