ทางนำ อัลหะดีษ

นึกว่าจริง ที่แท้ปลอม [3]

วันนี้ขอนำเสนอ 2 สำนวนเลยครับ

สำนวนแรก

اطلبوا العلم ولو بالصين

ความว่า “จงศึกษาหาความรู้ แม้นจะต้องดั้นด้นไปยังประเทศจีนก็ตาม”

สำนวนที่สอง

اطلبوا العلم من المهد إلى اللحد

ความว่า “จงศึกษาหาความรู้ ตั้งแต่อยู่บนเปลจนถึงหลุมฝังศพ”

ประโยคสองสำนวนนี้ เชื่อว่าหลายคนท่องขึ้นใจตั้งแต่เด็ก แม้แอดฯเอง ก็เคยเขียนแปะสองประโยคนี้ที่ผนังแบแระ (ห้องแถวที่เป็นที่พักของนักเรียนปอเนาะ) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง  โดยเชื่อฝังใจว่าเป็นหะดีษนบี แถมยังแอบทึ่งที่ในสมัยนั้น นบีรู้จักประเทศจีนแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นบีจะรู้จักประเทศนี้หรือประเทศอื่น ๆ เพราะท่านมีวะห์ยู(วิวรณ์) คอยเกื้อหนุนอยู่แล้ว

แต่ปรากฏว่า ทั้งสองประโยคนี้ไม่ใช่หะดีษนะครับ จะไปบอกว่านบีกล่าวว่า/ หะดีษกล่าวว่า ไม่ได้เด็ดขาดนะครับ

รายละเอียดที่ยืนยันว่าทั้งสองประโยคนี้ไม่ใช่หะดีษ พี่น้องติดตามอ่านในคอมเม้นท์ได้ครับ

สำนวนที่สอง มีนักหะดีษบางท่านระบุเป็นหะดีษเหมือนกัน แต่เป็นหะดีษอ่อนมาก ๆ ที่ไม่อนุญาตอ้างถึงนบีได้ครับ บางอุละมาอฺหะดีษยืนยันชัดเจนว่าเป็นหะดีษปลอม

ส่วนสำนวนแรก ไม่มีในตำราหะดีษเลย เพราะเป็นเพียงคำพูดของคนอาหรับเท่านั้น

แล้วความหมายผิดไหม

ขอตอบว่า ความหมายถูกต้องมาก ๆ โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นคนมุ่งมั่น กระหายที่จะเรียนรู้ ชอบศึกษาเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ มีการศึกษาตลอดชีวิต และไม่เคยเพียงพอที่จะหาความรู้ เพราะความรู้คือทะเลที่ไม่มีชายฝั่ง

เราสามารถนำประโยคนี้ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนสร้างวัฒนธรรมสังคมแห่งการเรียนรู้ เพียงแต่ต้องระวังเป็นพิเศษว่า อย่าไปอ้างว่าเป็นหะดีษนบี และทุกครั้งที่กล่าวถึงประโยคนี้ ต้องทิ้งท้ายตลอดว่า ไม่ใช่เป็นหะดีษนบีแต่ประการใด  นักบรรยาย อิมาม คอเต็บ ครูสอนศาสนาและผู้คนทั่วไปพึงระวังให้ดี

อย่าดื้อดึงต่อหน้าสัจธรรม อย่าเป็นคนกร่างต่อหน้าความรู้

ปล.  ส่วนสำนวน ที่ว่า

طلب العلم فريضة على كل مسلم

ความว่า การหาความรู้ เป็นสิ่งที่ได้บัญญัติไว้เหนือมุสลิมทุกคน 

หะดีษนี้มีฐานะ حسن หรือ صحيح لغيره

แต่ขอให้ระวังว่า ให้เป็นสำนวนนี้เท่านั้นครับ อย่าไปเพิ่มท้ายว่า ومسلمة เด็ดขาดเชียว เพราะนบีไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใด ส่วนมุสลิมะฮ์ ก็อย่าไปน้อยใจอะไรเลยครับ เพราะคำว่า مسلم ครอบคลุมทั้งชายหญิงอยู่แล้ว


โดย Mazlan Muhammad