มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 6)

ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

1) วิกฤติซีเรียและอิรักจะลุกลามและยืดเยื้อ
ซีเรียและอิรักได้กลายเป็นสมรภูมิสงครามโลกที่มีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรคอยเป็นพี่เลี้ยงให้อิหร่านบดขยี้ชาวอิรักต่อไป ในขณะที่รัสเซียก็คอยคุ้มกันให้อิหร่านรุกคืบแผ่นดินซีเรียตามอำเภอใจ ซึ่งหมายถึงกองทัพไซออคริสต์(ไซออนิสต์+คริสเตียน)ที่ผสมโรงกับกองทัพเปอร์เซียเป็นฝ่ายหนึ่ง เพื่อทำสงครามกับประเทศสุนหนี่ที่นำโดยซาอุดีอารเบียและตุรกีอีกฝ่ายหนึ่ง มันเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดของฝ่ายสุนหนี่ที่หากเพลี่ยงพล้ำหรือพ่ายแพ้ ทั้งอิรักและซีเรียจะถูกเฉือนแบ่งเป็นประเทศย่อยๆ หรือเป็นประเทศเดียวแต่มีเขตปกครองเฉพาะเขตตามเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วที่ปาเลสไตน์และเลบานอน

2) อิหร่านจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาค ที่ได้รับการคุ้มกันจากประเทศมหาอำนาจเพื่อจัดการกับประเทศสุนหนี่ในแถบตะวันออกกลาง การที่อิหร่านสามารถทำสงครามอย่างน้อยกับ 3 ประเทศ(อิรัก ซีเรียและเยเมน) ในเวลาเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าอิหร่านมีท่อน้ำเลี้ยงที่เข้มแข็งในระดับไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับประเทศสมาชิกถาวรความมั่นคงสหประชาชาติรวมเยอรมัน (5+1) เมื่อปี 2015 ที่ดูเหมือนว่าอิหร่านถูกวางข้อจำกัดอย่างเข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ พร้อมทั้งให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริง อิหร่านได้รับเงินคืนที่ถูกอายัดจำนวนมหาศาลถึง 150,000 ล้านดอลล่าร์เพื่อเป็นงบสำรองจ่ายในสงครามครั้งนี้ ในขณะเดียวกันซาอุดีอารเบียก็จะถูกตัดแขนตัดขาโดยกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่สหรัฐฯเพิ่งประกาศมา ซึ่งอาจทำให้ซาอุดีอารเบียถูกปล้นเงินต่อหน้าต่อตาหลายหมื่นล้านดอลล่าร์ทีเดียว

3) ตุรกีมีนโยบายเปิดประตูสู่โลกอาหรับมากขึ้น หลังจากที่ตุรกีได้ตัดเยื่อใยความสัมพันธ์กับโลกอาหรับมาเป็นเวลานานเกือบ 80 ปี (ตั้งแต่ 1923-2003) บัดนี้ถึงเวลาที่ตุรกีจะเข้าสู่อ้อมกอดของโลกอาหรับอีกครั้ง โดยซาอุดีอารเบียเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับเปิดประตูบานนี้ ตุรกีไม่จำเป็นต้องฝากความหวังให้กับยุโรปและโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอียู ที่ไม่เคยแสดงความจริงใจต่อตุรกีเลย ยกเว้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และใช้เป็นพาหนะขับขี่ที่ไม่ต่างกับลาโง่เท่านั้น

4) การบรรจบรวมกันของสองสายธาร
สำนักคิดสะละฟีย์ที่นำโดยซาอุดีอารเบีย และสำนักคิดอิควานที่นำโดยตุรกี ที่เคยเป็นฐานความเจริญของโลกอาหรับโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียในอดีตที่เคยอาศัยสองสายธารนี้คอยเป็นแหล่งน้ำที่นำพาความอุดมสมบูรณ์ของประเทศมาโดยตลอด บัดนี้สองสายธารดังกล่าว จะผนึกรวมเป็นแหล่งน้ำที่สร้างความรื่นรมย์แก่ชาวโลกอีกครั้ง ดังนั้น แนวคิดที่จะแยกระหว่างสองสายธารนี้ คือปรัชญาของคนสิ้นคิดหรือมองโลกในมิติเดียว ที่ไม่เพียงสร้างความอ่อนแอแก่ประชาชาติอิสลามเท่านั้น แต่คือการตัดแขนตัดขาที่เปิดโอกาสแก่ศัตรูเข้ามาปู้ยี้ปู้ยำเรือนร่างเดียวกันของอิสลามตามอำเภอใจอีกด้วย
” ท่านทั้งหลายจงอย่าขัดแย้งระหว่างกัน เพราะจะทำให้พวกท่านต้องประสบกับความพ่ายแพ้และอ่อนกำลัง” (อัลอันฟาล/46)

…….ต่อ…… (ตอนจบ)

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 5)

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

หลังจากรัสเซียได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงด้วยการปูพรมถล่มซีเรียทางอากาศ เพื่ออารักขากองทัพชีอะฮฺที่บดขยี้ชาวสุนหนี่ตามภาคพื้นดิน ตุรกีเริ่มมองภาพชัดว่าท้ายสุดแล้ว รัสเซียเข้าข้างอิหร่านในกรณีซีเรีย เช่นเดียวกับที่สหรัฐคอยเป็นกองหนุนทางอากาศเพื่อให้กองกำลังชีอะฮฺเข่นฆ่ามุสลิมสุนหนี่ที่อิรัก ชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯและรัสเซียต้องการให้ตุรกีเผชิญหน้ากรณีซีเรียและอิรักตามลำพัง เหมือนที่พวกเขาเคยโดดเดี่ยวตุรกีให้เผชิญหน้ากับกลุ่มก่อการร้ายที่คุกคามตุรกีมาโดยตลอด ดังนั้นตุรกีจึงต้องหันหน้าไปยังประเทศอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดีอารเบียเพื่อสร้างแนวร่วมในการปกป้องสันติภาพในภูมิภาค หาไม่แล้ว ตุรกีอาจเป็น “วัวขาว”รายใหม่ที่ฝูงสิงโตพร้อมเหล่าอสรพิษจะรุมขย้ำและแว้งกัดได้ทุกเมื่อ

การสร้างอำนาจต่อรองและการทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องการพึ่งพา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะตุรกีและรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาอย่างช้านานที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ซ่อนเงื่อนอยู่ กอรปด้วยรัสเซียที่ต้องใช้พื้นที่ตุรกีในการลำเลียงแก๊ซสู่ยุโรป ซึ่งอาจทำให้รัสเซียต้องเกรงใจตุรกีอยู่บ้าง สิ่งสำคัญหากซาอุดีอารเบียและตุรกีมองผลประโยชน์ของอิสลามและประชาขาติมุสลิมเป็นที่ตั้ง ทั้งสองประเทศนี้จะกลายสองขาที่คอยเป็นที่ยึดเหนี่ยวของโลกอิสลามต่อไป ถึงแม้มีผู้ไม่หวังดี จะแอบชิงชังก็ตาม

6) วิกฤติราคาน้ำมัน
ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้รัฐบาลซาอุดิอารเบียต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว สุขภาพ โครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คหรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ที่นอกจากต้องอาศัยการลงทุนมหาศาลแล้ว ความชำนาญของบุคลากรในแต่ละสาขา มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซาอุดีอารเบียน่าจะมีความพร้อมด้านการลงทุน ในขณะที่ตุรกีมีศักยภาพทางบุคลากร จึงน่าจะเป็นการร่วมมือที่ลงตัวที่สุด หากทั้งสองประเทศไม่มีวาระใดซ่อนเร้น นอกจากผลประโยชน์ของอิสลามและประชาชาติมุสลิมเท่านั้น

ณ ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศนี้มีอัตราการแลกเปลี่ยนทางการค้าสูงถึง 6 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี ประกอบด้วยมีบริษัทด้านการลงทุนจากซาอุดีอารเบียที่ทำธุรกิจในตุรกีจำนวน 480 บริษัท ยิ่งทำให้แนวโน้มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ นับวันก็ยิ่งเข้มแข็งและเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

ทั้ง 6 ประเด็นนี้ น่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและเพียงพอที่ทำให้ทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้จับมือผนึกกำลัง เพื่อต่อต้านพายุร้ายที่ซัดกระหน่ำประชาชาติอิสลามปัจจุบัน
หากท่านทั้งสองพร้อมอยู่เคียงข้างกับประชาชาติมุสลิม เชื่อว่า ประชาชาติมุสลิมก็พร้อมอยู่เคียงข้างท่านทั้งสองเช่นกัน

….ต่อ……
ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 4)

3) วิกฤติเยเมนและแผนปฏิบัติการพายุแกร่ง

ซาอุดีอารเบียได้ปฏิบัติการตามแผนพายุแกร่งเมื่อเดือนมีนาคม 2015 เพื่อกวาดล้างกบฏฮูซีย์หรืออันศอรุลลอฮฺ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาและภารกิจที่ใกล้เคียงกับฮิสบุลลอฮฺที่เลบานอน ซึ่งถึงแม้ทั้งสองกลุมนี้ลงท้ายด้วยนามของอัลลอฮฺ แต่ในความเป็นจริง พวกเขาคือศัตรูของอัลลอฮฺอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่สวามิภักดิ์ต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี ศอและห์ที่คอยสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่เคียงคู่กับกลุ่มกบฏฮูซีย์ ถึงแม้เวลาผ่านไปแล้ว 10 เดือน แต่สถานการณ์ยังไม่มีท่าทีที่จะจบง่ายๆตามแผนที่วางไว้ ทำให้ซาอุดีอารเบียต้องการพันธมิตรที่จริงใจที่สุดอย่างตุรกีเพื่อปิดเกมในเวลาที่รวดเร็ว หลังจากที่อิยิปต์ได้แสดงอาการไม่น่าไว้วางใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารตามที่คาดหวัง เพราะหากยืดเยื้อนานไปเท่าไหร่ ฝ่ายที่เพลี้ยงพล้ำและต้องตั้งรับคือซาอุดีอารเบีย อย่างไรก็ตาม ชัยชนะจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ศรัทธา และยามลำบาก เรามักแยกแยะระหว่างมิตรแท้และมิตรเทียมเสมอ

4) กองกำลังไอเอส

ถึงแม้สื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองมีส่วนสำคัญยิ่งในการโปรโมทไอเอสว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของโลกตะวันตก ตลอดจนโน้มน้าวให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่าไอเอสคือผลผลิตของแนวคิดสะละฟีย์วะฮาบีซึ่งมีซาอุดีอารเบียเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและตุรกีเป็นผู้สนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ความจริงอยู่ประการหนึ่งคือประเทศที่ถูกไอเอสคุกคามมากที่สุดในขณะนี้คือซาอุดีอารเบียและตุรกี หนำซ้ำทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้ ได้จับกุมสมาชิกไอเอสหลายร้อยคน แม้กระทั่งผู้นำสูงสุดของสองประเทศนี้ตลอดจนนักวิชาการระดับกิบาร์อุละมาอฺในซาอุดีอารเบีย ถูกกลุ่มไอเอสฟัตวา(ให้คำศาสนวินิจฉัย)ว่าตกศาสนา เป็นผู้กลับกลอก(มุนาฟิก)หรือฏอฆูต(ทรราช) หรือฉายาที่รุนแรงและดูหมิ่นมากมายก็ตาม

เหตุระเบิดพลีชีพและการถล่มเมืองสำคัญในตุรกีหรือตามแนวชายแดน ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของกลุ่มไอเอส มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นชาวยุโรป แต่เมื่อถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศของตน กลับถูกปล่อยตัวอย่างลอยนวล กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่สามารถปฏิบัติได้หากผู้ร้ายเป็นชาวยุโรปและก่อเหตุในตุรกี จนกระทั่งตุรกีงัดแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรทีส ขับไล่ไอเอสออกจากชายแดนซีเรียและอิรักอย่างได้ผล เป็นเหตุให้กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯต้องรีบแก้เกมด้วยการรีบบุกไอเอสที่เมืองโมซุลอย่างมีพิรุธ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ กองกำลังทั้ง 65 ประเทศไม่สามารถจัดการกับไอเอสได้เลย ล่าสุดแอร์โดกานออกมาเรียกร้องให้กองกำลังพันธมิตรพิสูจน์หลักฐานว่าอาวุธอันมากมายของไอเอส นั้น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไหนกันแน่ ซึ่งทำให้วอชิงตันและเตหะรานสะดุ้งเหยิงจนตั้งตัวแทบไม่ทัน

เช่นเดียวกันกับซาอุดีอารเบียที่ไอเอสมักบุกถล่มมัสยิดชีอะฮฺทางภาคตะวันออก ซึ่งนอกจากเป็นการวางเชื้อเพลิงให้เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อที่รุนแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชีอะฮฺในซาอุดีอารเบียกล่าวหารัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติและไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย แม้กระทั่งชาวสุนหนี่ในอืรัก ซีเรียหรืออิหร่านก็จะกลายเป็นเหยื่อการล้างแค้นของชีอะฮฺไปโดยปริยาย ซึ่งชีอะฮฺจะอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของไอเอสต่อชาวชีอะฮฺ

ไม่นับรวมที่แกนนำไอเอสข่มขู่รัฐบาลซาอุดีอารเบียและจะกวาดล้างราชวงศ์อาลซะอูด ที่พวกเขาตั้งฉายาว่าอาลสะลูล(ต้นตระกูลของแกนนำมุนาฟิกในสมัยนบี) โดยที่พวกเขาหารู้ไม่ว่า เตหะรานและลัทธิแห่งเปอร์เซีย ก็มีจุดยืนต่อซาอุดีอารเบียที่คล้ายคลึงกัน
อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งไอเอสและชีอะฮฺมียุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน ทั้งๆที่เป็นที่รู้กันทั่วว่า ทั้งสองคือคู่อริที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้มิใช่หรือ
นี่คือเหตุผลที่ทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียต้องประกาศสงครามอย่างจริงจังกับไอเอส

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

….ต่อ ภาค (5)…..

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 3)

2) วิกฤติซีเรียและแผนปฏิบัติการ”โลห์ยูเฟรทีส”

ตุรกีได้กระโจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิกฤติซีเรียและอิรัก หลังจากอดทนรอประเทศพันธมิตรเกือบ 65 ประเทศล้มเหลวในการปราบปรามกองกำลังไอเอสที่บริเวณตะเข็บชายแดนทั้งอิรักและซีเรีย เช่นเดียวกันกันกับการเติบโตของพรรคสหประชาธิปไตยเคิร์ด(ชื่อประชาธิปไตย แต่มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์)ที่อยู่ตามพรมแดนซีเรีย -ตุรกีที่มีความยาวกว่า 900 กม. ในขณะเดียวกันสหประชาชาติต่างก็ล้มเหลวที่จะใช้อำนาจโค่นล้มระบอบบัชชาร์ได้ ถึงแม้กองทัพอิหร่านและรัสเซีย อ้างว่าเข้ามาถล่มไอเอสในซีเรีย แต่ไอเอสก็มีศักยภาพพอที่จะคุกคามตุรกีร่วมกับพรรคสหประชาธิปไตยเคิร์ดตามแนวชายแดนตลอดเวลา ทำให้ตุรกีปฏิบัติการตามแผนโลห์ยูเฟรทีส ขับไล่สองกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ตามชายแดนซีเรียและอิรักนี้ ซึ่งทำให้ตุรกีสามารถขับไล่ทั้งสองกลุ่มนี้ในระยะเวลาอันรวดเร็วและประกาศเป็นเขตปลอดภัย โดยที่ประธานาธิบดีแอร์โดการได้ตั้งข้อสังเกตว่า กองกำลพันธมิตรที้ง 65 ประเทศไม่สามารถจัดการกับกองกำลังงไอเอสได้อย่างไร แต่น่าแปลก ที่ทั้งรัฐบาลซีเรีย อิรักและอิหร่าน หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาต่างก็มาตำหนิตุรกีที่พวกเขาอ้างอย่างหน้าตาเฉยว่า บุกรุกประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆที่ภารกิจดั้งเดิมของพวกเขาคือปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย

นโยบายของซาอุดีอารเบียและตุรกีมีความเห็นพ้องว่า วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาซีเรียได้คือ การทำให้บัชชาร์ต้องลงจากตำแหน่งสถานเดียวและเขาไม่มีสิทธิ์มีบทบาทกำหนดอนาคตของซีเรียได้ แต่หลังจากที่สหประชาชาติเสนอให้มีช่วงเว้นวรรคหลังยุคบัชชาร์เป็นเวลานาน 1ปีครึ่ง ทำให้ทั้งซาอุดีฯและตุรกีกังวลว่าช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นถ่ายโอนอำนาจให้แก่อิหร่านที่เข้ามาบดขยี้ชาวซีเรียตามภาคพื้นดินโดยการคุ้มภัยทางอากาศของฝูงบินรัสเซียหรือไม่ หรือประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเหมือนที่เกิดขึ้นที่อิรักมาแล้ว จะแตกต่างตรงที่อิรัก สหรัฐอเมริกาเป็นผู้คุ้มครองทางอากาศ และปล่อยให้กองทัพชีอะฮฺอิหร่านมาเข่นฆ่าชาวสุนหนี่อิรักตามภาคพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม ทั้งซาอุดีอารเบียและตุรกี ต้องผนึกกำลังต้านแผนร้ายนานาชาติครั้งนี้ ทั้งซีเรียและอิรักจะไม่ถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆตามแผนร้ายของพวกเขา ตราบใดที่ทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้ผนึกกำลังกัน (หลังจากความช่วยเหลือของอัลลอฮ)
แผนการของอัลลอฮฺแยบยลเสมอ

3) วิกฤติเยเมนและแผนปฏิบัติการพายุแกร่ง

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 2)



ทำไมซาอุดีอารเบียเเละตุรกีต้องจับมือกัน
ปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองประเทศต้องกระชับความร่วมมือกัน มีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญมีดังนี้

1) ภัยคุกคามอิหร่าน
หลังจากคำประกาศของโคมัยนีหลังปฏิวัติอิสลาม ในปี 1979 (ซึ่งความจริงคือปฏิวัติชีอะฮฺต่างหาก) อิหร่านได้ใช้กุศโลบายด้วยการชูสโลแกน “อเมริกาจงพินาศ” “อิสราเอลจงพินาศ” “อเมริกาคือซาตานที่ยิ่งใหญ่” พร้อมประกาศจะลบชื่ออิสราเอลออกจากแผนที่โลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี แทนที่จะเป็นไปตามที่ประกาศไว้ ปรากฎว่าโลกอิสลามโดยเฉพาะโลกอาหรัยต่างหากที่ถูกคุกคาม ถึงแม้สหรัฐอเมริกาได้ปูพรมถล่มอีรักเมื่อปี 2003 และโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม หุเซ็นได้สำเร็จ แต่สหรัฐอเมริกาก็ถวายอิรักให้อยู่ในความดูแลของอิหร่าน จนกระทั่งปัจจุบัน แบกแดดจึงมีฐานะเป็นรัฐๆหนึ่งของเตหะรานไปเสียแล้ว ในขณะที่ประเทศอาหรับได้แต่มองตาปริบๆ

นอกจากนี้อิหร่านได้ตกลงร่วมมือกับประเทศสมาชิกความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรวมทั้งเยอรมัน (5+1) ในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2015 ที่กรุงเจนิวา ที่ได้วางข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน พร้อมยินยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการมีระเบิดปรมาณูของอิหร่านนั้น ไม่อาจเป็นไปได้ ซึ่งผลตอบแทนที่อิหร่านได้รับคือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติที่มีต่ออิหร่านนั้นจะถูกยกเลิก รวมทั้งอิหร่านได้เงินคืนจำนวน 150,000 ล้านดอลล่าร์ที่ถูกอายัต ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลนี้สหประชาชาติได้วางกฎว่าให้อิหร่านใช้เพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเยียวยาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในประเทศ แต่ในความเป็นจริง เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมที่อิรักและซีเรียต่างหาก ในขณะเดียวกันสหรัฐเริ่มข่มขู่ซาอุดีอารเบียด้วยการออกกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่อนุญาตให้ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายและได้รับผลกระทบจากเหตุ 9/11 ฟ้องร้องต่างชาติโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียที่ชาวซาอุดีฯถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับวินาศกรรมครั้งนั้น ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่จงใจปล้นเงินซาอุดีอารเบียอย่างซึ่งหน้า

มันคือสัญญาณจากสหรัฐฯว่า ท้ายสุดแล้ว อิหร่านคือพันธมิตรที่แท้จริงของชาติตะวันตก และสหรัฐฯก็พร้อมเลือกข้างอิหร่านเมื่อทุกอย่างลงตัว พร้อมกับบอกให้ซาอุดีอารเบียรับรู้ว่า อันตรายที่แท้จริงกำลังคืบคลานมาอย่างช้าๆ

ในขณะที่ตุรกี พรมแดนที่ติดกับอิรักที่ยาวกว่า 350 กม. ทำให้ตุรกีต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงในอิรักชนิดไม่พลาดสายตา โดยเฉพาะปัญหาชาวเคิร์ดและไอเอสที่สร้างปัญหาให้ตุรกีมาโดยตลอด โดยที่ตุรกีเชื่อว่า นอกจากสหรัฐฯแล้ว รัฐบาลหุ่นเชิดอิหร่านที่กรุงแบกแดด ก็มีส่วนรู้เห็นกับการเติบโตของทั้งสองกลุ่มนี้

ภัยจากอิหร่านที่กำลังคุกคามทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียขณะนี้ ทำให้ประเทศสุนหนี่ทั้งสองประทศนี้ จำเป็นต้องจับมือร่วมกัน ก่อนที่จะสายเกินแก้

2) วิกฤติซีเรียและแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรตีส

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 1)

หลังจากการครองราชย์ของกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอารเบีย ความสัมพันธ์ระหว่างริยาดและอังการ่าที่ดูจืดชืดและเหือดแห้งก่อนหน้านี้ กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะในปี 2015 ที่ผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเยี่ยมเยียนพร้อมบรรลุข้อตกลงมากมาย

นอกเหนือจากมิติทางศาสนา ความศรัทธาและความเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์ ที้งสองประเทศสามารถประสานความร่วมมือผ่านสองมิติใหญ่ๆ ดังนี้

1) มิติความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
หลังการมีอำนาจของพรรคยุติธรรมและพัฒนาในปี 2003 ตุรกีได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศด้วยการเปิดประตูต้อนรับประเทศมุสลิมและอาหรับมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง การเดินทางเยี่ยมตุรกีของกษัตริย์อับดุลลอฮฺเมื่อเดือนสิงหาคม 2006 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี ที่ส่งผลให้เกิดการบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 6 ฉบับ ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ทั้งสองประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศตุรกีที่ได้กำหนดเป้าหมายรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2023 เป็น 2 ล้านล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ซาอุดีอารเบียมีนโยบายลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน และทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพสูงในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์หรือแม้กระทั่งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีอัตราการขยายตัวความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด จาก 1.5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2006 เพิ่มเป็น 5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2014 และ 6 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2015

2) มิติความร่วมมือทางการทหาร
ในปี 2015 ซาอุดีอารเบียและตุรกีได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการทหาร โดยซาอุดีอารเบียตกลงสนับสนุนงบประมาณแก่ตุรกี เพื่อโครงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในการผลิตขีปนาวุธ ยานเกราะ การเสริมศักยภาพกองกำลังทางเรือและเครื่องบินไร้พลขับ

ผลการเยี่ยมซาอุดีอารเบียของประธานาธิบดีแอร์โดกานเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ทำให้ซาอุดีอารเบียตกลงเซ็นสัญญาซื้อยานเกราะของตุรกีมูลค่ารวม 2.5 พันล้านดอลล่าร์ และอาจสูงถึง 10 พันล้านดอลล่าร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

อาดิล อัลญุเบร์ รมว.ต่างประเทศซาอุดีอารเบียได้ตอกย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกีไม่จำกัดเฉพาะด้านการทหารและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของทั้งสองประเทศต่อไป

….ต่อ …

ใครคือคอลีฟะฮ์ หัฟตาร์ ฉายาซีซีย์แห่งลิเบีย

– เกิดเมื่อปี 1943 ณ เมืองอัจดาเบีย ห่างจากเมืองเบนกาซี ลิเบียไปทางใต้ประมาณ 160 กม. ปัจจุบันอายุ 84 ปี
– เป็นหนึ่งในคณะปฏิวัติพร้อมกับกัดดาฟี ล้มล้างระบอบกษัตริย์อิดรีส สะนูซีย์เมื่อปี 1969 และเป็นนายพลคู่บารมีของกัดดาฟีนับแต่นั้นมา
– ปี 1987 นำทัพลิเบียทำสงครามกับประเทศชาด แต่พ่ายแพ้จนกระทั่งถูกจับเป็นเชลย ต่อมาได้รับการปล่อยตัวและลี้ภัยที่สหรัฐฯหลังจากที่เริ่มขัดแย้งกับกัดดาฟี และมีความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างกัดดาฟีหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
– ปี 2011กลับลีเบียอีกครั้งและเป็นหนึ่งในแกนนำกองทัพประชาชนที่ต่อสู้กับกองกำลังของกัดดาฟีจนได้รับชัยชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมในเวลาต่อมา ท่ามกลางลิเบียที่ได้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง
– ปี 2014 เริ่มปฏิบัติการทางการทหารเพื่อปราบปรามกองกำลังที่นิยมกลุ่มอิควาน ที่ก่อนหน้านี้ เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการจัดระเบียบสังคมลิเบียหลังชัยชนะการปฏิวัติประชาชน
– ปี 2015 ได้รับการแต่งตั้งจากสภาแห่งชาติให้เป็นเป็นผู้นำสูงสุดของลิเบีย ซึ่งเขากล่าวตลอดเวลาว่าไม่ได้มีความทะเยอทะยานทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการรักษาความปึกแผ่นภายในชาติเท่านั้น ท่ามกลางความสงสัยของฝ่ายๆต่างๆว่า เขาได้รับตำแหน่งนี้ด้วยวิธีใด
– หลังจากนั้นเขาเริ่มกวาดล้างกลุ่มที่เขาเรียกว่า “รัฐบาลที่ควบคุมโดยอิสลามิกชน” พร้อมประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับกลุ่มอิควานลิเบีย
– เป็นผู้ปูทางให้ไอเอสเข้ามามีบทบาทในลิเบียพร้อมทำการปราบปรามกองกำลังสภาชูรอมุญาฮิดีนลีเบีย จนกระทั่งสภาชูรอฯประกาศทำสงครามกับไอเอสและกองกำลังที่นำโดยจอมพลหัฟตาร์
– 14 กย. 2016 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพในตำแหน่งจอมพล
– 25 พ.ค.2017 ร่วมมือกับกองทัพอากาศอิยิปต์ถล่มที่มั่นของสภาชูรอมุญาฮิดีนที่ดัรนา ลิเบียโดยอ้างว่ากลุ่มนี้ได้ร่วมมือกับไอเอสปฏิบัติการสังหารหมู่ชาวกิบฏีย์ที่มันยา ทั้งๆที่สภาชูรอฯได้ทำสงครามกับไอเอสมาตั้งแต่ต้น และไอเอสได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นฝีมือของพวกตน
– 27 พ.ค. 2017 สภาชูรอมุญาฮิดีนลิเบียได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีเมืองดัรนา ลิเบียและประณามจอมพลหัฟตาร์ว่าเป็นคนขายชาติ ทรยศต่อชาติและอัลลอฮฺที่ได้ร่วมมือกับซีซีย์ปฏิบัติการแผนสกปรกนี้ ทั้งๆที่เมืองดัรนา ลิเบียอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุที่มันยา อิยิปต์ถึง 2,000 กม. และด้วยผลงานของสภาชุรอมุญาฮิดีนลีเบียต่างหากที่สามารถขับไล่กองกำลังไอเอสออกจากเมืองดัรนา بعد التوفيق من الله

นี่คือโฉมหน้าส่วนหนึ่งของจอมพลซีซีย์แห่งลิเบีย ผู้ปล้นชัยชนะการปฏิวัติประชาชนลิเบียจนกระทั่งล้มล้างระบอบกัดดาฟีได้สำเร็จ เหมือนนายซีซีย์แห่งอิยิปต์ที่ปล้นชัยชนะของชาวอิยิปต์ที่ได้ขับไล่มุบาร็อกสำเร็จเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมที่…
http://www.aljazeera.net/encyclopedia/icons/2014/10/15/خليفة-حفتر

มัสยิดอักศอคือมัสยิดโดมเหลือง หรือมัสยิดโดมเงิน

โปรดเข้าใจใหม่อีกครั้ง

เชื่อว่า บางคนปักใจเชื่อว่ามัสยิดอักศอคือมัสยิดโดมเหลือง บางคนปักใจเชื่อว่าคือมัสยิดโดมเงิน

#ความจริงผิดถนัดทั้งคู่

มสยิดโดมเหลืองหรือ مسجد الصخرة สร้างขึ้นสมัยคอลีฟะฮฺอับดุลมาลิกบินมัรวานปี ฮ.ศ.66-72 ในขณะที่มัสยิดโดมเงินหรือ المسجد القبلي สร้างสมัยคอลีฟะฮฺอุมัรปีฮ.ศ. 15 หรือ 16
ในสมัยนบี ทั้งสองมัสยิดนี้ยังไม่ถูกสร้าง
ถามว่า แล้วนบีฯนำละหมาดบรรดานบีที่มัสยิดอักศอ ณ จุดใด

คำตอบ
ในบริเวณเส้นสีแดงที่ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีเนื้อที่ 144,000 ตร.ม.หรือประมาณ 90 ไร่ ทุกอณูพื้นที่บริเวณนี้คือมัสยิดอักศอ ที่มีรอยเท้าของบรรดานบีเหยียบไว้ช่วงละหมาดตามหลังนบีในคืนอิสรอฺ มุสลิมที่เข้าไปในบริเวณนี้ ก็สามารถละหมาด تحية المسجد ได้เลย

#โปรดเข้าใจใหม่อีกครั้ง

#ดูคลิปนี้เพื่อความกระจ่างที่เพิ่มขึ้น

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

คุณูปการบนีอุมัยยะฮ์

บะนีอุมัยยะฮ์

ญิฮาดเเพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางด้วยคุณูปการของบะนีอุมัยยะฮ์ พวกเขาดูเหมือนไม่ทำภารกิจใดอื่นนอกจากญิฮาด (อัลฮาฟิศอิบนุกะษีร)

ข้าพเจ้าไม่เคยพบราชวงศ์ใดในประวัติศาสตร์ของประชาชาตินี้ ที่ได้สร้างผลงานอันโดดเด่นมากที่สุดแก่อิสลามและมุสลิมีนมากไปกว่าราชวงศ์อุมัยยะฮ์อีกแล้ว และไม่ใช่เป็นการพูดจาที่เกินไป หากพูดว่า ข้าพเจ้าไม่เคยรับทราบราชวงศ์ชั้นผู้ปกครองในโลกนี้ที่สร้างคุณูปการอย่างอเนกอนันต์แก่มนุษยชาติมากไปกว่าราชวงศ์อุมัยยะฮ์อีกแล้ว

หากศึกษาอย่างเป็นธรรม เราจะพบว่า ราชวงศ์แห่งกุเรชนี้ ได้ฝากผลงานที่ประเสริฐสุดตั้งแต่ยุคแรกของอิสลามด้วยซ้ำ

ท่านอุษมานบินอัฟฟาน ได้บริจาคทรัพย์สมบัติมากมายเพื่อสนับสนุนกิจการอิสลามในสมัยนบี และในสมัยท่านดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ ท่านเป็นผู้รวบรวมอัลกุรอานเป็นเล่มให้กับเรา จนเป็นที่รู้จักในนาม มุศหัฟอุษมานี ในขณะที่อุมมุลมุมินีนหะบีบะฮ์บินติอะบีสุฟยานได้ทุ่มเททุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องอิสลาม ท่านมุอาวิยะฮ์บินอะบีสุฟยาน เป็นผู้บันทึกอัลกุรอานที่ถูกถ่ายทอดจากอกของนบีโดยตรง ท่านอัมร์บินอาศคือผู้พิชิตปาเลสไตน์ อิยิปต์ ลิเบีย โอมาน ท่านอับดุลลอฮ์บินอัมร์บินอาศ เป็นบุคคลแรกๆที่บันทึกหะดีษนบีเพื่อให้เราท่องจดจำ ท่านอับดุลลอฮ์บินสะอีดบินอาศคือ 1 ใน 13 ชะฮีดสงครามบัดร์

อะบูสุฟยาน บินหัรบ์ได้มอบดวงตาทั้งสองดวงของท่านเพื่อปกป้องอิสลามและนบีแห่งอิสลาม ท่านยะซีด บินอะบีสุฟยาน คือผู้พิชิตเลบานอนและจอมทัพแห่งเมืองชาม ท่านยะซีด บินมุอาวียะฮ์เป็นบุคคลที่คอยดูแลลูกพี่ลูกน้องของท่านอย่าง มุฮัมมัดบินอะลีบินอะบีฏอลิบ อาลีบินหุเซ็น อับดุลลอฮ์บินญะฟัร หลังจากที่ชาวชีอะฮ์ได้ทรยศพ่อของพวกเขา

ในขณะที่คอลิดบินยะซีดอัลอุมะวีย์ คือผู้ค้นพบวิชาเคมี ท่านอุกบะฮ์บินนาฟิอฺอัลอุมะวีย์ คือผู้พิชิตแอฟริกาเหนือ ท่านอุมัร บินอับดุลอาซิสเจ้าของฉายาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมคนที่ 5 ก็มาจากตระกูลนี้ ชาวบะนีอุมัยะฮ์เป็นผู้ปิดบัญชีอาณาจักรเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ในสมรภูมิ นะฮาวันด์ ตลอดจนสามารถปลิดชีวิตไกเซอร์แห่งเปอร์เซีย อัมร์บินอาศอัลอุมะวีย์ คือผู้พิชิตอัลกุดส์ ในขณะที่สัญญาอุมัรที่เป็นข้อตกลงกับชาวคริสต์อัลกุดส์ก็ถูกบันทึกโดยลายมือของท่านมุอาวียะฮ์อัลอุมะวีย์ มัสยิดโดมทองสร้างขึ้นสมัยอับดุลมาลิกบินมัรวานเป็นเคาะลีฟะฮ์ อันดาลูเซียถูกพิชิตโดยราขวงศ์อุมะวีย์ ในขณะที่อาร์เมเนีบ อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจียก็ถูกพิชิตโดยเคาะลีฟะฮ์อุมะวีย์ ผู้ที่โอบล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลคนแรกคือ ยะซีด บินมุอาวียะฮ์ ทั้งตุรกี อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย อุซเบกิสถาน เตอร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน ล้วนแล้วแต่ถูกพิชิต และรับอิสลามยุคอุมะวียะฮ์ทั้งสิ้น

ราชวงศ์อุมัยยะฮ์เป็นผู้นำธงอิสลามสะบัดพลิ้วไปยังยุโรป ทั้งอันดาลูเซีย(สเปน) ฝรั่งเศสทางตอนใต้รับอิสลามยุคอุมัยยะฮ์ จนกระทั่งกองทัพอุมัยยะฮ์บุกประชิดกรุงปารีส ในยุคอับดุรเราะห์มาน อัดดาคิลซึ่งปกครองอันดาลูเซีย พระองค์ได้ส่งคณะผู้แทนไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ คณะผู้ใส่ชุดขาว” อิสลามยังขจรขจายไปยังซูดาน เอธิโอเปีย แอริเทรียรวมทั้งได้มีการริเริ่มใช้เหรียญสัญลักษณ์อิสลาม มีการสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ ริเริ่มใส่จุดตามอักขระอักษรของอัลกุรอานในยุคอับดุลมาลิกบินมัรวาน จนกระทั่งในยุคอัลวะลีดบินอับดุลมาลิก เสียงอะซานก้องกังวาลไปทั่วเทือกเขาหิมาลัยในประเทศจีน ทุ่งกว้างแห่งแอฟริกา อินเดีย ป้อมปราการกรุงคอนสแตนติโนเปิล ประชิดเมืองปารีส โปรตุเกส ทะเลดำ จอร์เจีย ไซปรัส ในทุกอณูพื้นที่บริเวณนี้ ธงสีขาวซึ่งมีข้อความ لا إله إلا الله محمد رسول الله ได้โบกสะบัดอย่างเกรียงไกรด้วยผลงานอันยิ่งใหญ่ของบะนีอุมัยยะฮ์

หากเรารับทราบข้อมูลอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ เราคงไม่แปลกใจว่าทำไมราชวงศ์นี้ถูกใส่ไคล้และถูกทำลายภาพพจน์จากอาชญากรประวัติศาสตร์อย่างรุนแรงจนไม่เหลือชิ้นดี ทั้งๆที่พวกเขาสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่แก่อิสลามและประชาชาติอิสลามเหลือคณานับ ยุคบะนีอุมัยยะฮ์เป็นยุคที่ริเริ่มรวบรวมหะดีษนบีออกมาเป็นเล่ม และนี่คือเป้าหมายสำคัญของบรรดาอาชญากรประวัติศาสตร์ เพราะหากพวกเขาประสบผลสำเร็จในการปลูกฝังและแพร่กระจายภาพลักษณ์เชิงลบหรือสร้างความเคลือบแคลงในศาสนาและอุปนิสัยของบรรดาผู้นำของบะนีอุมัยยะฮ์แล้ว พวกเขาก็สามารถทำลายความบริสุทธิ์ของอิสลามไปด้วย เข้าทำนองกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว

เป็นที่ทราบดีว่า นอกจากอัลกุรอานแล้วสายธารอันดับสองที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในอิสลามคืออัลหะดีษ พวกเขาพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของท่อที่คอยลำเลียงน้ำอันบริสุทธิ์นี้ ซึ่งเท่ากับว่า หะดีษที่อยู่ในมือของชาวมุสลิม จะไร้ค่าไปด้วย ซึ่งหมายถึงอิสลามที่เรายึดถือก็ไร้ค่า ท้ายสุดแล้ว เราท่านและมุสลิมทุกคน ก็จะไร้ค่าโดยปริยาย

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้านึกถึงผลงานของบนีอุมัยยะฮ์ น้ำตาก็จะไหลอาบแก้ม เราอธรรมต่อประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของพวกเขาได้อย่างไร เราทำลายความน่าเชื่อถือของบุรุษของประชาขาตินบี ผู้ได้รับการยกย่องว่า มีความประเสริฐเป็นลำดับ 3 รองจากท่านอะบูบักร์และอุมัรได้อย่างไร

เพราะเหตุใดที่บรรดาอาชญากรประวัติศาสตร์ประดิษฐ์ศัพท์ใหม่เรียกชาวมุสลิมว่า“สุฟยานี” แทนกับการใช้คำว่า ผู้ปฏิเสธหรือผู้กลับกลอก

น่าติดตามอย่างยิ่งยวดครับ
———————————
คัดสรุปจากหนังสือ
100 ผู้นำมุสลิมผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์
โดยญิฮาด ตุรบานี

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

6 เหตุผลที่สหรัฐฯแค้นเคืองตุรกีและพยายามโค่นแอร์โดอาน

1. รัฐประหารล้มเหลวปี 2016 ที่ตุรกี

เป็นที่รู้กันทั่วว่า กลุ่มกุเลนด้วยความร่วมมือกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่สหรัฐฯที่บัญชาการในฐานทัพอากาศ Incirlik ที่จบด้วยทหารระดับนายพลถูกจับกุมนับร้อย โดยเฉพาะนายทหารคนสำคัญของสหรัฐ 15 นายรวมทั้งสายลับในคราบนักบุญอย่างบาทหลวงแอนดรูว์ บรอนสันชาวอเมริกัน ที่ทางการตุรกีมีหลักฐานแน่นหนาว่ามีส่วนพัวพันกับปฏิวัติล้มเหลวครั้งนี้ รวมทั้งกุเลนที่พำนักในสหรัฐและได้รับการปกป้องดุจไข่ในหิน ถึงแม้ตุรกีจะหอบหลักฐานและกดดันสหรัฐฯให้ส่งตัวหัวหน้าก่อการร้ายในคราบฮาฟิศอัลกุรอานคนนี้ไปยังตุรกี ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ทุกอย่างล้มเหลว ทั้งๆที่ตุรกีส่งผู้ร้ายสัญชาติต่างๆทั้งสหรัฐฯและกลุ่มประเทศยุโรปจำนวนนับพันๆคน

รัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้ถือเป็นการลอกคราบสหรัฐฯและปอกเปลือกธาตุแท้ประชาธิปไตยฉบับสหรัฐฯได้อย่างล่อนจ้อนทีเดียว

2.การปราบปรามก่อการร้ายในภูมิภาค

แผนปฏิบัติการที่สำเร็จลุล่วงของโล่ห์ยูเฟรทีส และกิ่งมะกอก ที่ตุรกีใช้สิทธิ์อำนาจปกป้องความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศด้วยศักยภาพของตนเอง โดยไม่พึ่งพากองทัพพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯที่ดูเหมือนกับหมอเลี้ยงไข้ ที่ยิ่งปราบ ก็ยิ่งโตวันโตคืน โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายที่สร้างความปั่นป่วนบริเวณชายแดนอิรักและซีเรีย ซึ่งครอบคลุมทั้ง PKK ,IS หรือ PYD ทั้งๆที่ตุรกี ตะโกนสุดเสียงว่า ผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่แท้จริงคือสหรัฐฯและประเทศยุโรป และมีความพร้อมที่จะเชิญชวนนักข่าวทั่วโลก เพื่อเป็นสักขีพยานร่วมกันว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตุรกียึดได้จากเขตพื้นที่กลุ่มก่อร้ายดังกล่าว ผลิตจากประเทศไหนและใช้เส้นทางลำเลียงเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายอย่างไร

ปัจจุบัน ตุรกีได้สร้างอาณาเขตที่ปลอดภัยตามแนวชายแดนซีเรียและอิรัก พร้อมพัฒนาด้านสาธารณูปโภค การศึกษา สังคมและอื่นๆที่ทำให้ประชาขนใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้ง ทำให้สหรัฐฯหรือแม้กระทั่งนายบัชชาร์และรัฐบาลอิหร่านแสดงอาการไม่พอใจอย่างยิ่ง

3. ข้อตกลงการซื้อขายอาวุธที่ไม่ลงตัว

ตุรกีในฐานะสมาชิกนาโต้ได้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ร่วมลงขันโครงการผลิตฝูงบินรบสุดไฮเทค F-35 แลกกับการมีส่วนร่วมผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยีฝูงบินรบนี้ด้วย แต่เมื่อถึงเวลาส่งมอบตามสัดส่วนที่ตุรกีพึงได้จำนวน 100 ลำ สภาคองเกรสสหรัฐฯออกกฎหมายยับยั้งการขาย F-35 อย่างหน้าตาเฉย ทำให้ตุรกีจำเป็นต้องย้ายค่ายหันไปทำข้อตกลงซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซียแทน จากข้อตกลงนี้ ตุรกีสามารถส่งนักวิทยาศาสตร์ 300 คนร่วมผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยีกับรัสเซีย เพื่อสร้างความพร้อมผลิตในตุรกีต่อไป

การย้ายค่ายของตุรกี ซึ่งจะเริ่มต้นการส่งมอบในปี 2020 นี้ ทำให้ลุงแซมเคืองมาก ถึงขั้นออกมาข่มขู่ว่า ประเทศพันธมิตรทางยุทธศาสตร์และพันธมิตรหลักในนาโต้ ควรใส่ใจกับความเสี่ยงต่างๆจากการยอมอ่อนข้อทางยุทธศาสตร์แก่มอสโก พร้อมเตือนตุรกีว่า การจัดซื้อดังกล่าว อาจนำมาซึ่งมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งอังการ่าได้ตอบโต้ทันควันว่า ตุรกีมีความอิสระซื้ออาวุธเพื่อเสริมศักยภาพในการป้องกันประเทศจากที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ หากเป็นไปตามข้อตกลงของกฎหมายการซื้อขายระหว่างประเทศ

4. ตุรกีคือเด็กดื้อในสายตาสหรัฐฯ

ไม่เพียงเป็นเด็กดื้อเท่านั้น แต่ตุรกีดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่พยายามวัดรอยเท้าขาใหญ่ตลอดเวลา ปัจจุบันตุรกีมีฐานทัพ 6 แห่งทั่วโลก (กาตาร์ โซมาเลีย ไซปรัส อัฟกานิสถาน โมซุล(อิรักและเขตพื้นที่ปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรทีส) และเขตปฏิบัติการกิ่งมะกอกที่ซีเรีย ฐานทัพเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสกัดกั้นแผนร้ายไม่ให้ลุกลามใหญ่โตดังที่เกิดที่กาตาร์ หรือชายแดนตุรกี-อิรักและตุรกี-ซีเรีย

ตุรกียังท้าทายมหาอำนาจด้วยการส่งดาวเทียมเพื่อการสอดแนมและการป้องกันประเทศ หนำซ้ำยังเปิดตาให้ประชาคมโลกรับรู้ผ่านเวทีนานาชาติด้วยว่า โลกนี้ยิ่งใหญ่กว่า 5 ประเทศสมาชิกถาวรความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นไปไม่ได้ที่ชาวมุสลิมที่มีจำนวน 1/3 ของประชากรโลก แต่กลับไม่มีตัวแทนในสมาชิกถาวรความมั่นคงแห่งสหประชาขาติแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งที่ผ่านมา เรายังไม่ค่อยเห็นผู้นำอิสลามหรือขาติอาหรับคนไหนที่กล้าพูดประเด็นนี้ในเวทีนานาชาติ

ล่าสุดในที่ประชุมสภาเตอร์กเมื่อวันที่ 2/9/61 ที่ประเทศกีร์กิสถาน แอร์โดอานได้เรียกร้องให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทนสกุลดอลล่าร์ในการประชุมสุดยอดผู้นำ 7 ประเทศที่ใช้ภาษาเตอร์ก เพื่อประกาศสงครามดอลล่าร์&ลีร่าอย่างเต็มรูปแบบ

ยังไม่รวมโครงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ตุรกีประกาศจะผลิตอาวุธด้วยตนเองพร้อมส่งขายไปยังมิตรประเทศด้วยคุณภาพที่เหนือกว่า แต่ราคาถูกกว่าหลายเท่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายช่องทางทำมาหากินของพ่อค้าอาวุธระดับโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

5. การประมูลแห่งศตวรรษ

โครงการนี้มีเป้าหมายดังนี้
ก. ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับยิว และสานสัมพันธ์อย่างปกติระหว่างสองฝ่ายเหมือนไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งใดๆมาก่อน
ข. อพยพชาวปาเลสไตน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ ดินแดนนอกแผ่นดินปาเลสไตน์ ที่มีการตระเตรียมเรียบร้อยแล้ว และยุติการเรียกร้องกลับสู่บ้านเกิดของชาวปาเลสไตน์
ค. สถาปนาเมืองอัลกุดส์เป็นเมืองยิวตลอดกาล

เจ้าภาพหลักโครงการนี้คือสหรัฐฯ โดยเฉพาะยุคปธน. ทรัมป์ ที่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงให้ชาวโลกรับทราบอย่างชัดเจนว่า เมืองหลวงที่แท้จริงของสหรัฐฯคือเทลอาวีฟ หาใช่กรุงวอชิงตัน และเมืองหลวงของอิสราเอลที่แท้จริงคือกรุงวอชิงตัน หาใช่เทลอาวีฟ

ที่น่าไว้อาลัยที่สุดคือ จุดยืนของประเทศอิสลามและอาหรับบางประเทศที่คอยเป็นฝูงแกะ ยอมให้สหรัฐฯรีดนมจนแห้งเหือดเพื่อแลกกับการเป็นผู้นำประเทศ และหากนมไม่เพียงพอ ก็พร้อมถวายเลือด เนื้อและวิญญาณเพื่อประกันความปลอดภัยของตนเองและราชบัลลังค์ โดยหารู้ไม่ว่า บัดนี้หัวใจของเรือนร่างเดียวกันถูกบดขยี้อย่างหนัก ถึงแม้อวัยวะบางส่วนอาจสุขสบาย แต่ตราบใดหัวใจยังมีปัญหา เรือนร่างอยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน

ท่ามกลางบรรยากาศที่กลมกล่อมด้วยเสียงเพลงและเต้นระบำของประเทศสมาชิกประมูลแห่งศตวรรษ ก็มีเพียงหะมาส ซึ่งเป็นตัวแทนประชาสังคมภาคสนามที่ยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางการโอบล้อมของศัตรูผู้บุกรุกและรังสีแห่งความเกลียดชังจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี แม้กระทั่งพี่น้องร่วมศาสนาบางกลุ่มที่สบประมาสพวกเขาเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีหลักคิดที่บิดเบือน ในขณะตุรกได้เป็นตัวแทนของประชาชาติอิสลามบนเวทีโลกที่กล้าทวนกระแสคอยสกัดกั้นการรุกคืบของแผนร้ายนี้ ตุรกีภายใต้การนำของแอร์โดอานได้ชี้หน้านายเปเรสในที่ประชุมสุดยอดเศรษฐกิจโลกกรุงดาโวส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2009 พร้อมกล่าวว่าคุณคือฆาตกร ยังไม่รวมการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์อย่างมากมายและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเป็นหัวเรือใหญ่ต่อต้านคำประกาศทรัมป์กรณีอัลกุดส์เป็นเมืองหลวงยิว และย้ายสถานทูตสหรัฐจากเทลอาวีฟไปที่อัลกุดส์ ถึงแม้ สหรัฐฯใช้สิทธิยับยั้งหรือวีโต้ ในการออกเสียงพิจารณาร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ระบุให้การรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลถือเป็นโมฆะ ก็ตาม ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่สามารถออกข้อมติดังกล่าวได้ แม้ชาติสมาชิกที่เหลืออีก 14 ประเทศ ต่างออกเสียงสนับสนุนทั้งหมด

หลังจากนั้นไม่กี่วัน สหรัฐฯถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกในเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ด้วยการลงมติ 128 ชาติโหวตเป็นโมฆะกับการรับรองของสหรัฐฯที่ให้อัลกุดส์เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ขณะที่มีเพียง 9 ประเทศที่ออกเสียงโหวตให้กับสหรัฐฯและไม่ออกเสียงอีก 35 ชาติ

ทั้งหมดนี้คือการตบหน้าประเทศมหาอำนาจที่สอนให้ชาวโลก จดจำเป็นบทเรียนว่า อำนาจหาใช่ความถูกต้องเสมอไป วิถีอันธพาลไม่มีทางที่จะครองใจชาวโลกได้
การข่มขู่ไม่มีผลใดๆ นอกจากประเทศที่ยอมเป็นทาสบริวารเท่านั้น

และผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการถอดบทเรียนนี้คือตุรกี

พวกเขาย่อมแค้นเคืองตุรกีเป็นธรรมดา

6. ความสำเร็จของตุรกีในระดับประเทศ ภูมิภาคและบนเวทีโลก

ตุรกีเสมือนกองคารวานที่เดินรุดหน้าไปไกลลิบแล้ว ในขณะที่ฝูงสุนัขก็ยังเห่าหอน ณ ที่ประจำของมันโดยไม่ไปไหนเลย ตุรกีได้โลดแล่นนำพาประเทศสู่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทัดเทียมประเทศพัฒนา ตุรกีถูกวางยากลายเป็นเจ้าชายนินทรานานเกือบร้อยปี แต่พอตื่นขึ้นมาก็พร้อมวิ่งไปข้างหน้าอย่างสุดความสามารถ ถึงเเม้จะมีกักระเบิดมากมายที่ถูกวางไว้ แต่ตุรกีก็สามารถฝ่าฟันวิกฤตให้เป็นโอกาสเสมอ

วิสัยทัศน์ 2023 ที่ถือเป็นปีแห่งการกำเนิดตุรกียุคใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม มีประขาชนที่คอยเป็นเจ้าของตรวจสอบและสอดส่องพฤติกรรมของโจรร้าย มีรัฐบาลที่มั่นคงที่คอยทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการที่ดี มีระบอบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็งและเสถียรภาพ มีฐานเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองในทุกๆด้าน และมีระบบสวัสดิการที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งอภิมหาโปรเจ็กส์ที่ถือเป็นโครงการแห่งศตวรรษได้สำเร็จลุล่วงตามแผนอย่างต่อเนื่อง

บรรยากาศเข่นนี้ ทั้งสหรัฐฯและยุโรป ต่างคาดหวังกันว่า จะไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศโลกอิสลาม เพราะในสายตาพวกเขา ประชาชาติอิสลามคู่ควรกับบ้านเมืองที่ล่มสลายไปแล้ว มีชีวิตอย่างถาวรในศูนย์อพยพ ประทังชีวิตด้วยอาหารบริจาคหรือขุดคุ้ยตามกองขยะ พวกเขาจึงเหมาะสมกับอดีตที่ปวดร้าว ปัจจุบันที่แสนลำบากและอนาคตที่มืดมนเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นในโลกอิสลาม ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้วที่ปาเลสไตน์ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย อาระกัน แอฟริกาและอื่นๆ

สโลแกนของพวกเขาคือ เราจะทำให้โลกใบนี้เป็นซากปรักหักพังที่กองไว้พะเนินเทินทึกที่หลอมละลาย แล้วเราจะประมูลขาย

โลกที่พวกเขาหมายถึง หาใช่ที่อื่นนอกจากโลกอิสลาม

หากมีผู้นำคนไหนที่สามารถเนรมิตประเทศที่ล่มจมพังพินาศในลักษณะนี้ ผู้นำคนนั้นจะต้องได้รับการปกป้องเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี บัชชาร์ที่สังหารประชาชนชาวซีเรียไปแล้วล้านกว่าคน ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยกว่าสิบล้านคน บ้านเมืองกลายเป็นทุ่งสังหารและซากปรักหักพัง แต่เราไม่เคยเห็นความพยายามที่จริงจังของชาติมหาอำนาจที่จะโค่นล้มผู้นำทรราชคนนี้ ในขณะที่ปธน. แอร์โดอานได้ก้าวมาบริหารประเทศตามวิถีประชาธิปไตย ที่แม้แต่ศัตรูทางการเมืองยังยอมรับ พร้อมพัฒนาประเทศด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก พวกเขาก็พร้อมใจกันกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ อาชญากรสงคราม บ้าอำนาจ และเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาคและจะต้องได้รับโทษหนักด้วยการโค่นล้มสถานเดียว

ถึงแม้ปธน. แอร์โดอานจะนำความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ไม่มีวันที่จะสร้างความพึงพอใจให้ชาติมหาอำนาจ ตราบใดที่ไม่ยอมเป็นเด็กในคาถาเหมือนบทบาทของตุรกีที่เคยเป็นในอดีต

สรุป
อัลกุรอานได้เปิดโปงจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงของพวกเขาในกรณีนี้คือ
‎ولن ترضى عنك اليهود ولا النصارى حتى تتبع ملتهم (البقرة/120)

‎لَتَجِدَنَّ أَشَدَّ النَّاسِ عَدَاوَةً لِّلَّذِينَ آمَنُوا الْيَهُودَ وَالَّذِينَ أَشْرَكُوا ۖ (المائدة/83)

ปล. บทความอยู่ในระหว่างแก้ไขเพิ่มเติม

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ