ข่าว ข่าวโลกอิสลาม

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 6)

ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

1) วิกฤติซีเรียและอิรักจะลุกลามและยืดเยื้อ
ซีเรียและอิรักได้กลายเป็นสมรภูมิสงครามโลกที่มีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรคอยเป็นพี่เลี้ยงให้อิหร่านบดขยี้ชาวอิรักต่อไป ในขณะที่รัสเซียก็คอยคุ้มกันให้อิหร่านรุกคืบแผ่นดินซีเรียตามอำเภอใจ ซึ่งหมายถึงกองทัพไซออคริสต์(ไซออนิสต์+คริสเตียน)ที่ผสมโรงกับกองทัพเปอร์เซียเป็นฝ่ายหนึ่ง เพื่อทำสงครามกับประเทศสุนหนี่ที่นำโดยซาอุดีอารเบียและตุรกีอีกฝ่ายหนึ่ง มันเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดของฝ่ายสุนหนี่ที่หากเพลี่ยงพล้ำหรือพ่ายแพ้ ทั้งอิรักและซีเรียจะถูกเฉือนแบ่งเป็นประเทศย่อยๆ หรือเป็นประเทศเดียวแต่มีเขตปกครองเฉพาะเขตตามเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วที่ปาเลสไตน์และเลบานอน

2) อิหร่านจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาค ที่ได้รับการคุ้มกันจากประเทศมหาอำนาจเพื่อจัดการกับประเทศสุนหนี่ในแถบตะวันออกกลาง การที่อิหร่านสามารถทำสงครามอย่างน้อยกับ 3 ประเทศ(อิรัก ซีเรียและเยเมน) ในเวลาเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าอิหร่านมีท่อน้ำเลี้ยงที่เข้มแข็งในระดับไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับประเทศสมาชิกถาวรความมั่นคงสหประชาชาติรวมเยอรมัน (5+1) เมื่อปี 2015 ที่ดูเหมือนว่าอิหร่านถูกวางข้อจำกัดอย่างเข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ พร้อมทั้งให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริง อิหร่านได้รับเงินคืนที่ถูกอายัดจำนวนมหาศาลถึง 150,000 ล้านดอลล่าร์เพื่อเป็นงบสำรองจ่ายในสงครามครั้งนี้ ในขณะเดียวกันซาอุดีอารเบียก็จะถูกตัดแขนตัดขาโดยกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่สหรัฐฯเพิ่งประกาศมา ซึ่งอาจทำให้ซาอุดีอารเบียถูกปล้นเงินต่อหน้าต่อตาหลายหมื่นล้านดอลล่าร์ทีเดียว

3) ตุรกีมีนโยบายเปิดประตูสู่โลกอาหรับมากขึ้น หลังจากที่ตุรกีได้ตัดเยื่อใยความสัมพันธ์กับโลกอาหรับมาเป็นเวลานานเกือบ 80 ปี (ตั้งแต่ 1923-2003) บัดนี้ถึงเวลาที่ตุรกีจะเข้าสู่อ้อมกอดของโลกอาหรับอีกครั้ง โดยซาอุดีอารเบียเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับเปิดประตูบานนี้ ตุรกีไม่จำเป็นต้องฝากความหวังให้กับยุโรปและโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอียู ที่ไม่เคยแสดงความจริงใจต่อตุรกีเลย ยกเว้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และใช้เป็นพาหนะขับขี่ที่ไม่ต่างกับลาโง่เท่านั้น

4) การบรรจบรวมกันของสองสายธาร
สำนักคิดสะละฟีย์ที่นำโดยซาอุดีอารเบีย และสำนักคิดอิควานที่นำโดยตุรกี ที่เคยเป็นฐานความเจริญของโลกอาหรับโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียในอดีตที่เคยอาศัยสองสายธารนี้คอยเป็นแหล่งน้ำที่นำพาความอุดมสมบูรณ์ของประเทศมาโดยตลอด บัดนี้สองสายธารดังกล่าว จะผนึกรวมเป็นแหล่งน้ำที่สร้างความรื่นรมย์แก่ชาวโลกอีกครั้ง ดังนั้น แนวคิดที่จะแยกระหว่างสองสายธารนี้ คือปรัชญาของคนสิ้นคิดหรือมองโลกในมิติเดียว ที่ไม่เพียงสร้างความอ่อนแอแก่ประชาชาติอิสลามเท่านั้น แต่คือการตัดแขนตัดขาที่เปิดโอกาสแก่ศัตรูเข้ามาปู้ยี้ปู้ยำเรือนร่างเดียวกันของอิสลามตามอำเภอใจอีกด้วย
” ท่านทั้งหลายจงอย่าขัดแย้งระหว่างกัน เพราะจะทำให้พวกท่านต้องประสบกับความพ่ายแพ้และอ่อนกำลัง” (อัลอันฟาล/46)

…….ต่อ…… (ตอนจบ)