ข่าว ข่าวโลกอิสลาม

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 4)

3) วิกฤติเยเมนและแผนปฏิบัติการพายุแกร่ง

ซาอุดีอารเบียได้ปฏิบัติการตามแผนพายุแกร่งเมื่อเดือนมีนาคม 2015 เพื่อกวาดล้างกบฏฮูซีย์หรืออันศอรุลลอฮฺ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาและภารกิจที่ใกล้เคียงกับฮิสบุลลอฮฺที่เลบานอน ซึ่งถึงแม้ทั้งสองกลุมนี้ลงท้ายด้วยนามของอัลลอฮฺ แต่ในความเป็นจริง พวกเขาคือศัตรูของอัลลอฮฺอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่สวามิภักดิ์ต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี ศอและห์ที่คอยสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่เคียงคู่กับกลุ่มกบฏฮูซีย์ ถึงแม้เวลาผ่านไปแล้ว 10 เดือน แต่สถานการณ์ยังไม่มีท่าทีที่จะจบง่ายๆตามแผนที่วางไว้ ทำให้ซาอุดีอารเบียต้องการพันธมิตรที่จริงใจที่สุดอย่างตุรกีเพื่อปิดเกมในเวลาที่รวดเร็ว หลังจากที่อิยิปต์ได้แสดงอาการไม่น่าไว้วางใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารตามที่คาดหวัง เพราะหากยืดเยื้อนานไปเท่าไหร่ ฝ่ายที่เพลี้ยงพล้ำและต้องตั้งรับคือซาอุดีอารเบีย อย่างไรก็ตาม ชัยชนะจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ศรัทธา และยามลำบาก เรามักแยกแยะระหว่างมิตรแท้และมิตรเทียมเสมอ

4) กองกำลังไอเอส

ถึงแม้สื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองมีส่วนสำคัญยิ่งในการโปรโมทไอเอสว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของโลกตะวันตก ตลอดจนโน้มน้าวให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่าไอเอสคือผลผลิตของแนวคิดสะละฟีย์วะฮาบีซึ่งมีซาอุดีอารเบียเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและตุรกีเป็นผู้สนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ความจริงอยู่ประการหนึ่งคือประเทศที่ถูกไอเอสคุกคามมากที่สุดในขณะนี้คือซาอุดีอารเบียและตุรกี หนำซ้ำทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้ ได้จับกุมสมาชิกไอเอสหลายร้อยคน แม้กระทั่งผู้นำสูงสุดของสองประเทศนี้ตลอดจนนักวิชาการระดับกิบาร์อุละมาอฺในซาอุดีอารเบีย ถูกกลุ่มไอเอสฟัตวา(ให้คำศาสนวินิจฉัย)ว่าตกศาสนา เป็นผู้กลับกลอก(มุนาฟิก)หรือฏอฆูต(ทรราช) หรือฉายาที่รุนแรงและดูหมิ่นมากมายก็ตาม

เหตุระเบิดพลีชีพและการถล่มเมืองสำคัญในตุรกีหรือตามแนวชายแดน ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของกลุ่มไอเอส มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นชาวยุโรป แต่เมื่อถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศของตน กลับถูกปล่อยตัวอย่างลอยนวล กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่สามารถปฏิบัติได้หากผู้ร้ายเป็นชาวยุโรปและก่อเหตุในตุรกี จนกระทั่งตุรกีงัดแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรทีส ขับไล่ไอเอสออกจากชายแดนซีเรียและอิรักอย่างได้ผล เป็นเหตุให้กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯต้องรีบแก้เกมด้วยการรีบบุกไอเอสที่เมืองโมซุลอย่างมีพิรุธ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ กองกำลังทั้ง 65 ประเทศไม่สามารถจัดการกับไอเอสได้เลย ล่าสุดแอร์โดกานออกมาเรียกร้องให้กองกำลังพันธมิตรพิสูจน์หลักฐานว่าอาวุธอันมากมายของไอเอส นั้น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไหนกันแน่ ซึ่งทำให้วอชิงตันและเตหะรานสะดุ้งเหยิงจนตั้งตัวแทบไม่ทัน

เช่นเดียวกันกับซาอุดีอารเบียที่ไอเอสมักบุกถล่มมัสยิดชีอะฮฺทางภาคตะวันออก ซึ่งนอกจากเป็นการวางเชื้อเพลิงให้เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อที่รุนแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชีอะฮฺในซาอุดีอารเบียกล่าวหารัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติและไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย แม้กระทั่งชาวสุนหนี่ในอืรัก ซีเรียหรืออิหร่านก็จะกลายเป็นเหยื่อการล้างแค้นของชีอะฮฺไปโดยปริยาย ซึ่งชีอะฮฺจะอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของไอเอสต่อชาวชีอะฮฺ

ไม่นับรวมที่แกนนำไอเอสข่มขู่รัฐบาลซาอุดีอารเบียและจะกวาดล้างราชวงศ์อาลซะอูด ที่พวกเขาตั้งฉายาว่าอาลสะลูล(ต้นตระกูลของแกนนำมุนาฟิกในสมัยนบี) โดยที่พวกเขาหารู้ไม่ว่า เตหะรานและลัทธิแห่งเปอร์เซีย ก็มีจุดยืนต่อซาอุดีอารเบียที่คล้ายคลึงกัน
อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งไอเอสและชีอะฮฺมียุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน ทั้งๆที่เป็นที่รู้กันทั่วว่า ทั้งสองคือคู่อริที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้มิใช่หรือ
นี่คือเหตุผลที่ทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียต้องประกาศสงครามอย่างจริงจังกับไอเอส

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

….ต่อ ภาค (5)…..