จะนะ ดินแดนแห่งอุละมาอฺ

จะนะในมุมองอาจารย์อนัส แสงอารีย์ นักวิชาการ/นักบรรยายธรรมชื่อดัง

“ในฐานะที่เป็นคนสงขลาที่ต้องเดินทางโดยใช้เส้นทางผ่านอำเภอจะนะอยู่บ่อยครั้งมากจนนับครั้งไม่ถ้วน นอกจากด่านตรวจที่ตลิ่งชันแล้ว ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นภาพคิดตา จนหลับตาแล้วยังเห็นภาพที่จำได้ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหน 

คงไม่ต้องกล่าวถึงหอนาฬิกากรงนกเขาชวาตรงวงเวียนเข้าตลาดจะนะอันเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของเมืองจะนะ “เมืองนกเขาชวา” ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ หรือในภูมิภาคอาเซียน

หากกางแผนที่ออกแล้วลากเส้นเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับจังหวัดสงขลา เมืองจะนะถือเป็นเมืองใหญ่ที่สุดระหว่างทาง คนที่เดินทางผ่านไปมาบนเส้นทางนี้จึงมักแวะ หยุดพักระหว่างทาง เพื่อเติมน้ำมันรถ รับประทานอาหารที่มีรสชาติเอร็ดอร่อยหลากหลาย และชอปปิ้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเมืองจะนะอยู่ไม่น้อย

ในด้านการประกอบอาชีพ การทำการเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของชาวจะนะมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการทำนา รวมทั้งการไร่ ทำสวน จากสวนส้มจุกอันลือชื่อในอดีต จนมาเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย เป็ดไก่ ตามวิถีของชาวบ้าน

ในอีกด้านหนึ่งของจะนะมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตำบลนาทับ และตำบลสะกอม ที่ชาวบ้านมีอาชีพประมง แปลรูปอาหารทะเล และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลาอีกด้วย

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะนะเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลายที่สุดของจังหวัดสงขลา

ในด้านการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาศาสนาอิสลาม ต้องกล่าวว่า จะนะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาศาสนาอิสลามมาช้านานถัดจากปัตตานีที่เป็นระเบียงของนครมักกะฮฺ จนกล่าวได้ว่า จะนะเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามแบบระบบปอเนาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดสงขลา และแห่งหนึ่งของภาคใต้เลยทีเดียว ดังที่เห็นได้จากจำนวนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีอยู่มากมายที่อำเภอจะนะในปัจจุบัน

ในด้านสังคม จะนะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขเป็นเวลาช้านาน ในส่วนของชาวไทยมุสลิมนั้น มีทั้งผู้ที่ใช้ภาษาไทยท้องถิ่นใต้ และที่ใช้ภาษามลายูปัตตานี ที่ทำให้มีความหลากหลายกลมกลืนทางวัฒนธรรมอีกด้วย

กล่าวได้ว่า ยากที่จะหาพื้นที่ใดในภาคใต้ของประเทศไทยที่จะเทียบได้กับความโดดเด่นของจะนะที่ได้กล่าวมาพอสังเขป เพียงพอที่จะเหตุผลในการอนุรักษ์ความโดดเด่นนั้นไว้ พร้อมกับการพัฒนาที่ไม่ลบล้างหรือทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมอันดีงามของเมืองจะนะ

คงไม่ต้องพูดถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะกำลังดังก้องโลกในเวลานี้ เพียงแค่โรงงานข้างทางสี่เลนที่ส่งกลิ่นเหม็นอบอวนเข้ารูจมูกของผู้ที่ขับรถไปมาบนเส้นทางนี้จนชาชิน จนหากใครสักคนถูกอุ้มปิดตาผ่านหน้าโรงงานนั้น ก็จะสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้กำลังผ่านหน้าโรงงานที่จะนะ เพราะได้กลิ่นเหม็น

ความมั่งคั่งร่ำรวยและผลประโยชน์ของการพัฒนาที่ผ่าน ๆ มาในบ้านเรา มักไม่ได้กลับมาสู่ชุมชนและชาวบ้านอย่างที่อ้าง ๆ กัน ทว่าผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุน และกลุ่มผู้มีอำนาจ ส่วนชาวบ้านก็ได้แค่สารพิษ หรืออย่างดีก็ได้ทำงานเป็นคนงานในโรงงาน ที่เป็นอีกหนึ่งเหตุสำคัญที่ทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา จริยธรรม และความมั่นคงของครอบครัว

ขออัลลอฮฺปกป้องและคุ้มครองเมืองจะนะ และชาวจะนะให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง

#นอกจากนี้อาจารย์อนัส เคยให้สติแก่ผู้คนก่อนเขียนบทความนี้ว่า “#ความเห็นแก่ตัวอย่างไม่รู้จักพอของใครสักคน ทำให้เขาสามารถละเมิดต่อสิทธิ ชีวิต และทรัพย์ของใครก็ได้ที่ไม่ใช่ของตนเอง ด้วยข้ออ้างที่ดูดีและสมเหตุสมผลและชอบธรรมเสมอ

“และเมื่อพวกเขาถูกบอกว่า พวกท่านอย่าได้สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินเลย พวกเขาจะกล่าวว่า เราเป็นเพียงแต่ผู้พัฒนาต่างหาก…พึงทราบเถิดว่า พวกเขาเหล่านั้นคือพวกสร้างความเสียหายต่างหากเล่า แต่ว่าพวกเขาไม่รู้ตัว” (ความหมายอัลกุรอานสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ ๑๑ และ ๑๒)


Cerdit : Facebook Shukur Dina

เกาะติดสถานการณ์ตุรกี [ตอนที่ 2]

ตุรกีเสมือนกองคารวานที่เดินรุดหน้าไปไกลลิบแล้ว ในขณะที่ฝูงสุนัขก็ยังเห่าหอน ณ ที่ประจำของมันโดยไม่ขยับเขยื้อน ตุรกีได้โลดแล่นนำพาประเทศสู่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทัดเทียมประเทศพัฒนา (กลุ่มประเทศ G-20) ซึ่งก่อนหน้านี้ ตุรกีถูกวางยากลายเป็นเจ้าชายนินทรานานเกือบร้อยปี แต่พอตื่นขึ้นมาก็พร้อมวิ่งไปข้างหน้าอย่างสุดความสามารถ ถึงเเม้จะมีกักระเบิดมากมายที่ถูกวางไว้ แต่ตุรกีก็สามารถฝ่าฟันวิกฤตให้เป็นโอกาสเสมอ

วิสัยทัศน์ 2023 ที่ถือเป็นปีแห่งการกำเนิดตุรกียุคใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม มีประชาชนคอยเป็นเจ้าของตรวจสอบและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ไม่หวังดีต่อชาติและศาสนาของประชาชน  มีรัฐบาลอันมั่นคงที่คอยทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการที่ดี มีระบอบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็งและเสถียรภาพ มีฐานเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองในทุก ๆ ด้าน และมีระบบสวัสดิการที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งอภิมหาโปรเจ็กที่ถือเป็นโครงการแห่งศตวรรษได้สำเร็จลุล่วงตามแผนอย่างต่อเนื่อง

บรรยากาศเข่นนี้ ทั้งสหรัฐฯและยุโรป ต่างคาดหวังกันว่า จะไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศโลกอิสลาม เพราะในสายตาพวกเขา ประชาชาติอิสลามคู่ควรกับบ้านเมืองที่ล่มสลายไปแล้ว มีชีวิตอย่างถาวรในศูนย์อพยพ ประทังชีวิตด้วยอาหารบริจาคหรือขุดคุ้ยตามกองขยะ พวกเขาจึงเหมาะสมกับอดีตอันปวดร้าว ปัจจุบันที่แสนลำบากและอนาคตอันมืดมนเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นในโลกอิสลาม ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้วที่ปาเลสไตน์ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย อาระกาน แอฟริกาและอื่น ๆ

สโลแกนของพวกเขาคือ เราจะทำให้โลกใบนี้เป็นซากปรักหักพังที่กองพะเนินเทินทึกที่หลอมละลาย แล้วเราจะประมูลขาย

โลกที่พวกเขาหมายถึง หาใช่อื่น นอกจากโลกอิสลาม ซีเรีย อิรัก เยเมน ลิเบีย คือหลักฐานที่พิสูจน์ได้

หากมีผู้นำคนไหนที่สามารถสร้างรัฐล้มเหลวและล่มจมพังพินาศในลักษณะนี้ ผู้นำคนนั้นจะต้องได้รับการปกป้องเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี บัชชาร์ที่สังหารประชาชนชาวซีเรียไปแล้วล้านกว่าคน ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยกว่าสิบล้านคน บ้านเมืองกลายเป็นทุ่งสังหารและซากปรักหักพัง แต่เราไม่เคยเห็นความพยายามอันจริงจังของชาติมหาอำนาจที่จะโค่นล้มผู้นำทรราชคนนี้เลย แม้กระทั่งนายทหารนอกราชการอย่างนายฮัฟตาร์ที่กลายเป็นอาชญากรสงครามและสังหารชาวลิเบียในสงครามกลางเมือง ก็ได้รับการอุ้มชูจากชาติตะวันตกและยังเป็นแคนดิเดทผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีลิเบียด้วยซ้ำ แม้แต่นายซีซีย์ที่เนรมิตชาติอียิปต์ให้เป็นนรกบนดิน ก็ยังอยู่ยงคงกระพัน มีอำนาจล้นฟ้าเหนือดินแดนพีรามิดจนถึงปัจจุบัน แถมยังมีผู้เปรียบเปรยยกย่องเป็นเสมือนนบีมูซาที่ปกป้องบนีอิสรออีลด้วยซ้ำ

นายฮัฟตาร์
นายซีซีย์
บัชชาร์

ในขณะที่ปธน. แอร์โดอานได้ก้าวมาบริหารประเทศตามวิถีประชาธิปไตย ที่แม้แต่ศัตรูทางการเมืองยังยอมรับ พร้อมพัฒนาประเทศด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก พวกเขาพร้อมใจกันสหบาทากล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ อาชญากรสงคราม บ้าอำนาจ และเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาคและจะต้องได้รับโทษหนักด้วยการโค่นล้มหรือสังหารสถานเดียว

ถึงแม้ปธน. แอร์โดอานและพรรค AKP จะนำความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แค่ไหนให้ชาวตุรกี แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะพึงพอใจให้ตราบใดที่ตุรกีไม่ยอมเป็นเด็กในคาถา คอยรับคำสั่งอยู่ในคอก เหมือนบทบาทของตุรกีในอดีต


โดย Mazlan Muhammad

เกาะติดสถานการณ์ตุรกี [ตอนที่ 1]

ตุรกีในวันนี้กำลังเผชิญหน้ากับสงครามที่ดุเดือดที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงครามเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ผ่านมา ตุรกียุคแอร์โดอาน เคยผ่านวิกฤตทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศมามากหลาย ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปี 2013 โดยผู้ชุมนุมกดดันรัฐบาลให้ลาออกเพราะไปตัดต้นไม้ที่เกซีปาร์ก ซึ่งบานปลายเป็นการประท้วงเนื่องจากรัฐบาลกำหนดเวลาการซื้อขายเหล้าสุราและจัดระเบียบหอพัก

คล้อยหลังอีกปีกว่า ๆ พวกเขาได้ปฏิบัติแผนล้มรัฐบาลแบบสายฟ้าแล๊บผ่านกระบวนการยุติธรรมและตำรวจด้วยการจับกุมบุคคลระดับรัฐมนตรีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นชนิดที่นายกรัฐมนตรีแทบไม่รู้ข่าวแม้แต่น้อย พวกเขายังใช้แผนทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาลด้วยการก่อจลาจลและความไม่สงบในประเทศโดยกลุ่มก่อการร้ายสากล เพื่อสร้างรัฐแห่งความหวาดกลัว จนกระทั่งในปี 2016พวกเขาได้ก่อรัฐประหารโดยใช้กองกำลังทหารและอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีเป้าหมายคิดบัญชีขั้นเด็ดขาดกับประธานาธิบดีแอร์โดอานและรัฐบาล AKP แม้กระทั่งเหตุไฟไหม้ล่าสุดในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ในเวลาไล่เลี่ยกันกว่า 100 จุด ที่มีหลายฝ่ายเชื่อว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมีมือมารที่ยอมเผาบ้านเมืองของตนเองเพื่อหวังผลทางการเมืองอันสกปรก

ทุกเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือของอีแอบที่คอยกดรีโมทจากภายนอกด้วยความร่วมมือของมือสกปรกจากภายในที่ยอมเป็นหุ่นเชิด โดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลแอร์โดอานที่มาจากการเลือกตั้งโดยวิถีประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาล AKP ตุรกีสามารถปลดหนี้ IMF จำนวน 23,000 ล้านUSD เมื่อปี 2013 เพิ่มกองทุนสำรองในธนาคารแห่งชาติจาก 27,000ล้านUSD เมื่อปี 2002 เป็น 130,000 ล้านUSD ในปี 2013 เพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากรจาก 3,000 USD : คน : ปี เป็น 11,000 USD :คน :ปี  มีการขยายตัวของภาคธุรกิจจาก 250,000 ล้าน USD เป็น  900,000 ล้าน USD

ปัจจุบันตุรกีมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของยุโรปและอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน

ก่อนปี 2003 ซึ่งเป็นยุคก่อนรัฐบาล AKP เงินลีร่าตุรกีมีค่า 1USD = 1,000,000  ในปี 2013 เงินลีร่ามีค่า 1USD= 1.34 TRY ก่อนที่ร่วงเป็นประวัติการณ์ เป็น 12-13 TRY : 1USD ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลยุคแอร์โดอานสามารถตัด 0 จากธนบัตรจำนวน 6 ตัวทีเดียว 

ถึงแม้ตุรกีจะประสบผลสำเร็จมากมายแค่ไหน แต่ชาติตะวันตกและรัฐพันลึกไม่มีวันที่จะพอใจ พวกเขาจึงใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มรัฐบาลแอร์โดอานให้ได้

ก่อนหน้านี้พวกเขาชื่นชมตุรกีไม่ขาดปาก แถมยังยกย่องตุรกีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาและมีใจกว้างต่อชนต่างศาสนิก ถึงขนาดเชิดชูตุรกีเป็นโมเดลของสานเสวนาระหว่างศาสนา แต่วันนี้พวกเขาโจมตีตุรกีและผู้นำตุรกีสารพัด แอร์โดอานจึงได้รับฉายามากมายอาทิ ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ยุคใหม่ จอมเผด็จการ ผู้นำกระหายเลือด เสพติดอำนาจ ฮิตเลอร์แห่งตุรกี ฯลฯทั้ง ๆ ที่แอร์โดอานได้นำพาตุรกีจากประเทศที่ถูกบังคับให้ปฏิเสธอิสลามบัดนี้ ตุรกีได้ทุ่มเทงบประมาณสร้างมหาวิทยาลัยจาก 70 แห่งเป็นเกือบ 200 แห่งทั่วประเทศ สร้างและซ่อมแซมมัสยิดใหญ่โตเกือบ 20,000 แห่งทั่วประเทศในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนมัสยิดอายาโซเฟียจากพิพิธภัณฑ์กลายเป็นมัสยิดวากัฟตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของสุลตานผู้พิชิตมูฮัมมัดอัลฟาติห์เมื่อปีค.ศ.1453

และมัสยิดเมดานตักซีมอันใหญ่โตที่ถูกสร้างขึ้นกลางหัวใจของลัทธิเซคิวล่าร์ เพื่อประกาศชัยชนะของอิสลามบนดินแดนคอลีฟะฮ์ 

ยังไม่รวมมัสยิดชามลีจา ที่เปิดบริการเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 110 ล้าน USD จุคนละหมาดในเวลาเดียวกันกว่า 60,000 คน  

เยาวชนรุ่นใหม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้ใกล้ชิดอันกุรอานและการละหมาดแทนด้วยการมอมเมาด้วยกิจกรรมอบายมุขและสิ่งเย้ายวนทั้งหลาย

ส่วนการพัฒนาด้านสังคม การศึกษาระบบสาธารณูปโภค การสาธารณสุขการคมนาคม กล่าวได้ว่าตุรกีกลายเป็นประเทศต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ที่แม้แต่ศัตรูยังต้องชื่นชม

ที่สำคัญ ตุรกียังยกระดับประเทศที่สามารถหายใจด้วยจมูกของตนเองตามแผนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ด้วยการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์อันทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ที่แม้แต่ประเทศมหาอำนาจยังต้องทึ่งตะลึง

อะไรที่ทำให้ชาติตะวันตกหมั่นไส้ตุรกี ถึงขนาดประธานาธิบดีไบเดน ได้ประกาศช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาว่า หนึ่งในนโยบายต่างประเทศของตนคือ โค่นล้มรัฐบาลแอร์โดอาน โดยไม่ใช่วิธีรัฐประหาร 

อะไรคือความหมายของคำว่า حرب الاستقلال الاقتصادي (สงครามเพื่อเอกราชทางเศรษฐกิจ) ที่ประธานาธิบดีแอร์โดอานกล่าวถึงล่าสุด

คิดตามภาค 2 ครับ


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 5]

การฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว นอกจากนักเรียนต้องฝึกฝนวิธีป้องกันตัวให้เก่งกาจแล้ว ผู้เรียนจะต้องได้รับการถ่ายทอดให้เรียนรู้จุดอันตรายบนร่างกายคู่ต่อสู้ ที่ถือเป็นจุดตายอีกด้วย เพราะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้คู่ต่อสู้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกและหมดทางสู้ไปโดยปริยาย

จุดเปราะบางหรือจุดตายที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของทุกประเทศ นอกจากระบบการเมืองการปกครอง อำนาจทางทหาร อำนาจอธิปไตยและสถาบันต่าง ๆในสังคมแล้ว ทรัพยากรบุคคลระดับมันสมอง (Think tank) ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศและสถาบันการเงินที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของประเทศ ถือเป็นจุดตายที่มีความเปราะบางที่สุด หาก 2 จุดนี้ถูกจู่โจมทำลาย ก็จะส่งผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนี่คือกลยุทธ์สำคัญของแผนปฏิบัติการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบต่อรัฐบาลเออร์โดกานในเช้าตรู่ของวันที่ 17 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา

มันคืออาการ After shock ลูกแรกที่โถมซัดพุ่งเข้าสู่รัฐบาลเออร์โดกานชนิดไม่ให้โอกาสตั้งตัวและหวังผลว่าสามารถต่อยจุดสลบให้รัฐบาลโดนน๊อกหลับยาวกลางอากาศไปเลย

หน่วยตำรวจลับที่รับคำสั่งตรงมาจากนครอิสตันบูล ได้สนธิกำลังเข้าไปจับกุมเจ้าหน้าที่ข้าราชการระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องจำนวน 66คน ในข้อหาคอร์รัปชั่น ยักยอกงบประมาณของรัฐ และทุจริตในหน้าที่ด้วยการให้ใบอนุญาตสัมปทานการก่อสร้างอย่างฉ้อฉล หนึ่งในจำนวนนี้คือนายกเทศมนตรีเมืองฟาติหฺ ประธานผู้จัดการธนาคาร Halk Bank ลูกชายรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล 3 คน ทั้งลูกชายรมว.กิจการภายใน(มหาดไทย) รวม.เศรษฐกิจและรมว.สิ่งแวดล้อม ถือเป็นข่าวฉาวส่งท้ายปี 2013 ที่สั่นสะเทือนบัลลังก์ของนายเออร์โดกานมากที่สุด นสพ.ตุรกีแทบทุกฉบับได้พาดข่าวหน้า 1 ติดต่อกันหลายวัน จนกระทั่ง ทั้ง 3 รัฐมนตรีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่มีลูกชายเข้าไปมีส่วนพัวพันและเปิดทางให้มีการสอบสวนมีความอิสระขึ้น

วิกฤติการเมืองรอบนี้ ส่งผลให้เงินลีร่าตุรกีดิ่งฮวบลงเป็นประวัติการณ์

และเช่นเคย ขาประจำอย่างนสพ.Today’s Zaman ได้ทีโหมโรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลนายกรัฐมนตรีต้องมีส่วนรู้เห็นและเป็นผู้เซ็นอนุมัติโครงการฉาวเหล่านั้น

ในวันที่18/12/2013 นายเออร์โดกานได้ออกแถลงข่าวเคียงคู่กับนายรัฐมนตรีฮังการีซึ่งเป็นแขกรัฐบาลว่า “เป็นแผนการที่มีการกดรีโหมตจากต่างประเทศ โดยมีมือจากข้างในเป็นผู้ปฏิบัติ” เขายืนยันว่า “เป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่มีกองกำลังนานาชาติที่แฝงตัวอยู่ในเงามืด คอยบงการอยู่”

เขากล่าวว่า ผู้ที่กล่าวว่าการกระทำนี้เป็นการสอบสวนทุจริต แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละทุจริตเสียเอง เขายืนกรานว่า การปราบปรามทุจริต ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลอยู่แล้ว และทิ้งท้ายด้วยคำพูดดุดันผสมขู่ว่า เขามีแฟ้มลับการทำงานของกลุ่มที่คอยจ้องเล่นงานรัฐบาลขณะนี้อยู่ในมือ ซึ่งหากเปิดเผยแล้ว ภูเขาสะเทือนแน่นอน 

ประชาชนตุรกีทุกคนรู้โดยไม่ต้องคิดว่า เออร์โดกานกำลังสื่อถึงใคร 

เพื่อตอบโต้ชนิดฟันต่อฟันกับแผนจู่โจมสายฟ้าแลบนี้ เออร์โดกานสั่งปลดนายตำรวจระดับอาวุโสหลายสิบคน รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลประจำอิสตันบูล พร้อมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของตนทราบก่อนจะดำเนินการสอบสวนใดๆ ก็ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการแผ่นดิน 

นายตำรวจชั้นสูงที่โดนปลดและโยกย้ายในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่สนิทชิดเชื้อกับกุเลนแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นายเออร์โดกาน ได้แถลงถึงการปรับครม.ทั้งหมด 10ตำแหน่ง หลังจากที่ได้มีการประชุมลับกับประธานาธิบดี อับดุลลอฮฺ กูล 

ผู้เขียนไม่ขอฟันธงว่า ในกรณีนี้ฝ่ายไหนถูกผิด คงต้องรอการตัดสินคดีในชั้นศาลต่อไป และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการปราบปรามทุจริต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเออร์โดกานที่ชูเรื่อง โปร่งใส ขาวสะอาดและปลอดทุจริต อยู่แล้ว 

ผลงานรัฐบาลตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถนำพาตุรกีที่ง่อยเปลี้ยและพิกลพิการจากมรดกบาปของระบอบคะมาลิสต์มาเป็นเด็กอ้วนท้วมแข็งแรงสมบูรณ์ขณะนี้ คือเครื่องหมายประกันคุณภาพที่แม้แต่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ยังต้องสงบปาก

แต่ที่ชวนสงสัยอย่างยิ่งยวดก็คือ แผนการจู่โจมของตำรวจมหานครอิสตันบูล บุกจับกุมผู้ต้องหาในอังการ่า ซึ่งเป็นเขตนอกพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเองแบบลับสุดยอด ชนิดที่แม้แต่คนระดับนายกรัฐมนตรีเอง ก็เพิ่งทราบข่าวจากข่าวโทรทัศน์เหมือนประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า แม้แต่นักแสดงระดับฮอลลิวูด ก็ไม่สามารถแสดงได้ 

ในประวัติศาสตร์การปราบปรามทุจริตระดับประเทศ ท่านผู้อ่านเคยทราบข่าวว่า มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศครั้งมโหฬารเหมือนที่เกิดขึ้นที่ตุรกีบ้างไหม มีการรักษาความลับสุดยอดชนิดที่ผู้นำสูงสุดไม่รับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น บ้างไหม

เพราะมันคือแผนอันเดียวกันที่เคยใช้อย่างสำเร็จลุล่วงแล้วที่อิยิปต์ในการโค่นประธานาธิบดีมุรซีย์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ ฝังกลบแนวคิดนิยมอิสลามที่ครอบคลุม ให้ดับมลายหายสิ้นจากโลกนี้ 

ทรัพยากรบุคคลระดับมันสมองและสถาบันการเงิน จึงเป็นเป้าหมายหลักของการจู่โจมในครั้งนี้ ที่อาจส่งทำให้ร่างกายของรัฐบาลอ่อนกำลังเป็นอย่างมาก

อย่างน้อย ก็สะบักสะบอม อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และมีผลอาจทำให้อภิมหาโครงการของรัฐบาลที่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้ต้องหยุดชะงักด้วยซ้ำ

และที่สำคัญคือสามารถสกัดกั้นการพุ่งทะยานของเครื่องบินที่มีกัปตันอย่างเออร์โดกาน มิให้โลดแล่นตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่จะมีขึ้นช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ และเลือกตั้งใหญ่ในปี 2015 ซึ่งเออร์โดกานต้องเว้นวรรคทางการเมือง และไม่สามารถลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้แล้วตามกฎหมายเลือกตั้งของตุรกี 

แต่กุเลนยังสามารถเล่นบทบาทรัฐบาลเงาได้อย่างสบาย ด้วยเครือข่ายอันมหึมาที่ได้แทรกซึมเข้าไปในทุกอณูพื้นที่ของระบบราชการ โดยเฉพาะวงการตำรวจและตุลาการ 

เออร์โดกานและกุเลนจึงเป็นสองสายธารที่ไม่สามารถรวมบรรจบกันได้ 

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 4]

ทั้งสองฝ่ายเลือกใช้คำว่า “พวกเขา” ตามมารยาททางการเมืองสไตล์ตุรกี และเลี่ยงที่จะระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน แต่สังคมตุรกีและผู้สังเกตุการณ์ต่างก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า “พวกเขา” ที่แต่ละฝ่ายหมายถึง คือใคร

มีเหตุการณ์หลายเรื่องที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่าย ยังรักษาระดับความขัดแย้งเป็นคลื่นใต้น้ำ ก่อนจะก่อตัวเป็นคลื่นสึนามิ ที่ถาโถมเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างบ้าคลั่งขณะนี้ ผู้อ่านลองศึกษาคลื่นใต้น้ำทั้ง 7 ลูกนี้ก่อนว่า มีวิวัฒนาการก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ได้อย่างไร

  • คลื่นลูกแรก คือเหตุการณ์สะเทือนโลกเมื่ออิสราเอลเปิดฉากโจมตีกองเรือลำเลียงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและวัสดุก่อสร้างไปยังฉนวนกาซ่าที่นำโดยกองเรือ Mavi Marmara ในวันที่ 31/05/2010เป็นเหตุให้ลูกเรือ 9 คน ซึ่งเป็นชาวตุรกีเสียชีวิต และอีกหลายร้อยคนบาดเจ็บ

ในขณะที่ทั่วโลกตื่นตะลึงกับก่อการร้ายนี้และพากันประณามประเทศอิสราเอล จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอลสั่นคลอนอย่างหนัก ถึงขั้นตุรกีประกาศขับไล่ทูตอิสราเอลประจำอังการ่า แต่กุเลนกลับให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อเมริกาว่า ตุรกีเป็นฝ่ายผิดที่ไม่ขออนุญาตจากผู้มีอำนาจก่อนเข้าฉนวนกาซ่าและตุรกีได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้ง ๆ ที่เมื่อวันที่ 22/3/2013 นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเบ็นจามิน เนทันยาฮู ได้ยกโทรศัพท์กล่าวขอโทษเป็นทางการต่อเออร์โดกาน โดยอ้างว่า เป็นความผิดพลาดทางภาคปฏิบัติ และมีความยินดียินดีชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่เราไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักกับรัฐบาลอิสราเอล

  • คลื่นลูกที่ 2 หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรม Mavi Marmara นายเออร์โดกานได้แต่งตั้งนาย Hakan Fidan ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจากเออร์โดกานมากที่สุด ให้เป็นผู้บัญชาการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนใหม่ และปลดคนเก่าที่เออร์โดกานจับได้ว่ามีส่วนพัวพันกับองค์กรสายลับ Mossad ของอิสราเอลและเป็นคนใกล้ชิดกุเลน เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ใกล้ชิดกับกุเลน ใช้ความพยายามกดดันให้เออร์โดกานปลด Fidan ออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเออร์โดกาน Fidan ยังคงรักษาเก้าอี้ของตนอย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งปัจจุบัน รอยปริร้าวระหว่างกุเลนและเออร์โดกานเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น
  • คลื่นลูกที่ 3 Hakan Fidan ได้ทำการเจรจาลับกับกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดที่เมืองออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการปูทางกระบวนการสานสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดที่มีปัญหาระดับชาติอันยาวนาน แต่แล้วการเจรจานี้ ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อแผนลับนี้ถูกเปิดโปงสู่สาธารณชนว่า Fidan กำลังจะขายชาติและปฏิบัติข้อราชการเกินอำนาจหน้าที่ ที่อาจทำให้ตุรกีอาจเสียดินแดน Fidan ถูกฟ้องร้องให้ดำเนินคดีในชั้นศาล จนกระทั่งเออร์โดกานต้องออกมาปกป้องและกล่าวว่า Fidan คือ ” ผู้กุมความลับของฉัน และทุกความเคลื่อนไหวของเขา เป็นไปตามคำบัญชาของฉันทุกประการ ” จนกระทั่ง Fidan หลุดคดีนี้ พร้อม ๆ กับการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวงการทหารและตำรวจ หลายคนถูกสั่งย้ายให้ไปประจำการตามส่วนภูมิภาค ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความสนิทสนมกับกุเลนแทบทั้งสิ้น 
  • คลื่นลูกที่ 4 การตัดสินคดีจำคุกเดี่ยวตลอดชีวิตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ. Ilkar Basbug ด้วยข้อหาก่อกบฏล้มล้างรัฐบาล และพัวพันกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่กุเลนกลับให้สัมภาษณ์ที่สหรัฐอเมริกาว่า “หากฉันมีอำนาจ ฉันจะปล่อยอิสรภาพ Basbug ทันที” พร้อมกล่าวหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังจับกุมนายทหารระดับสูงคนนี้ว่า เป็นกลุ่มมุนาฟิก (ผู้กลับกลอก)
  • คลื่นลูกที่ 5 การประท้วงที่จัตุรัสตักซีมเมื่อ 28/5/2013 ที่เริ่มต้นด้วยการประท้วงเรื่องต้นไม้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ลงเอยด้วยเรื่องเหล้า

อ่านเพิ่มเติม http://anuchamas.blogspot.com/2013/06/2.html

ซึ่งเหตุการณ์บานปลายไปทั่วตุรกีและหลายประเทศในยุโรป จนกระทั่งนายเออร์โดกานได้เรียกการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ว่า เป็นแผนการณ์สากลเพื่อล้มล้างรัฐบาล

ท่ามกลางวิกฤติประเทศเช่นนี้ สื่อต่าง ๆ ในสังกัดของกุเลน กลับโหมโรงวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการสลายผู้ชุมนุมประท้วงว่า ทำเกินกว่าเหตุ โดยไม่ยอมแตะต้องเบื้องหน้าเบื้องหลังของการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้เลย 

  • คลื่นลูกที่ 6 นโยบายจัดระเบียบหอพัก ที่รัฐบาลมุ่งมั่น ดำริจัดระเบียบใหม่ด้วยการผลักดันกฎหมายห้ามหนุ่มสาวเช่าหอพักอย่างอิสระ ยกเว้นต้องมีเอกสารยืนยันความสัมพันธ์ทางครอบครัวเสียก่อน แต่แผนการณ์นี้ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณชนตามสื่อต่าง ๆ ในสังกัดกุเลน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกำลังยุ่งเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านใหญ่โตในสังคมตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่พวกเขาเห็นว่า เป็นเรื่องส่วนตัว 
  • คลื่นลูกที่ 7 ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่กลายเป็นสึนามิ ซัดโถมนาวารัฐบาลตุรกีขณะนี้ คือนโยบายรัฐบาลที่จะปิดโรงเรียนกวดวิชา ที่เออร์โดกานเห็นว่า นอกจากผู้ปกครองต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว ซึ่งเงินส่วนนี้น่าจะเป็นรายได้ของรัฐบาลที่สามารถนำเป็นกองทุนพัฒนาการศึกษาของประเทศ แล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพทางการศึกษาไม่มีมาตรฐานอีกด้วย รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเรื่องการประกันคุณภาพทางการศึกษา เพราะไม่มีหลักสูตรใด ๆ ที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลเลย 

กลุ่มที่กระทบกับนโยบายนี้มากที่สุดคือกลุ่มของกุเลน เพราะเป็นที่ทราบดีว่า กุเลนมีโรงเรียนกวดวิชาในสังกัดหลายร้อยแห่งทั่วตุรกี ซึ่งนอกจากกุเลนใช้ช่องทางนี้ในการพัฒนาสังคมผ่านระบบการศึกษาแล้ว เขายังสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจการศึกษาควบคู่กันไปอย่างลงตัวอีกด้วย โรงเรียนในเครือข่ายเหล่านี้ถือเป็นช่องทางรายได้อันมหาศาลของกลุ่มเลยทีเดียว 

กุเลนจึงประเคนหมัดใส่รัฐบาลว่า “พวกเขาต้องการปิดทุกอย่าง แม้กระทั่งประตูสวรรค์ก็ตาม ปล่อยให้เราเปิดประตูสวรรค์อย่างเสรีกันเถอะ” “เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านอยู่ตรงกันข้ามกับฟิรเอาว์นและกอรูน ท่านจงมั่นใจเลยว่า ท่านเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง”

เออร์โดกานจึงสวนหมัดทันควันว่า ” พวกเขาพยายามกดดันให้เราทบทวนและยกเลิกนโยบายนี้ จงรู้ว่า เราไม่มีทางยกเลิกแน่นอน”

นี่คือคลื่น 7 ลูกที่ก่อตัวเป็นสึนามิที่กำลังโถมใส่นาวาของเออร์โดกานขณะนี้ 

และอาการ After shock ลูกแรกก็ตามมาติดๆ ในเช้าตรู่ของวันที่ 17ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา ที่ถือได้ว่า สั่นคลอนนาวาของรัฐบาลเออร์โดกานมากที่สุดในรอบ 11 ปี ของการเป็นผู้นำสูงสุดของตุรกี เลยทีเดียว

และอะไรคือสาเหตุที่นายเออร์โดกานกล้าฟันธงว่า “เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับเอกราชรอบ 2 “

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 3]

หลังจากแผนการณ์ทำหมันอิสลามสำเร็จในระดับหนึ่งที่อิยิปต์ ตุรกีคือตะปูตัวสุดท้ายที่จะต้องตอกปิดฝาโลง “แนวคิดใฝ่อิสลาม” เพื่อไม่ให้ออกมามีบทบาทในโลกอย่างอิสระเสรี 

รัฐบาลเออร์โดกานคือหน่อไม้ในกอไผ่ที่หนาทึบ การที่หน่อไม้นี้จะชูลำต้นเหนือดงกอได้ จำเป็นต้องผ่านการเสียดสีอุปสรรคขวากหนามที่คอยทิ่มแทงสกัดกั้นมิให้มันเติบโตมาเทียบบารมี แต่ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ หน่อไม้นี้กำลังชูลำต้นอย่างสูงสง่า ท่ามกลางความแค้นเคืองของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

แนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ แซคคิวล่าร์ ดุนยานิยม เผด็จการทหาร กลุ่มสุดโต่ง Ergenekon และกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ มากมายที่กลายเป็นดงไผ่ที่แน่นหนา คอยสะกัดกั้นทุกวิถีทางมิให้หน่อไม้แห่งอิสลามเติบโตในตุรกี

ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองตุรกี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นาย Adnan Menderas ชนะเลือกตั้งใหญ่และเป็นแกนนำบริหารประเทศระหว่างปี 1950 -1957 เขาคือผู้นำแซคคิวล่าร์ (ดุนยานิยม) คนหนึ่งที่เป็นทายาทอสูรที่ได้รับการสืบทอดจากระบอบคามาลิสต์ เพียงแต่ในสมัยที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล เขาได้ยกเลิกการอะซานจากภาษาตุรกีให้เป็นภาษาอาหรับ และอนุญาตให้เปิดสอนอัลกุรอานและโรงเรียนศาสนาอิสลามได้อย่างเสรี ด้วยเหตุผลมอบสิทธิส่วนบุคคล แต่สุดท้ายทหารต้องลุกขึ้นปฏิวัติครั้งแรกในปี 1960พร้อมตัดสินประหารชีวิตนาย Menderas และอดีตรัฐมนตรีอีก 3 คน ฐานบริหารประเทศผิดพลาดและขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของลัทธิคามาลิสต์อันศักดิ์สิทธิ์

หากกลุ่มนี้ สามารถก้าวเข้ามากุมบังเหียนตุรกีใหม่ (لا قدر الله ) นายเออร์โดกานและพรรคพวกจะไม่ถูกตัดสินประหารชีวิตแบบเจ็ดชั่วโคตรหรือ 

กลุ่มนี้ ได้กลายเป็นมือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) ที่คอยชักใยและสถาปนาเป็นเสมือนรัฐบาลเงาในตุรกี ที่คอยจู่โจมรัฐบาลเออร์โดกานยามเพลี่ยงพล้ำหรือเผลอเรอ พวกเขาไม่มีภารกิจอื่นใด ยกเว้นล้มล้างรัฐบาลที่มีอายุ 11 ขวบนี้ ถึงแม้จะต้องแลกด้วยทุกอย่าง แม้กระทั่งความล่มจมของประเทศก็ตาม (อัลลอฮุลมุสตะอาน)

กลุ่มญะมาอะฮฺ Khidmat ของกุเลน ก็เป็นหนึ่งในมือที่มองไม่เห็นที่คอยบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลเออร์โดกานเช่นกัน จนกระทั่งบัดนี้ กุเลน ได้อ่านดุอากุนูตนาซิละฮฺ ที่มีเนื้อหาให้อัลลอฮฺทำลายรัฐบาล 11 ขวบนี้ เขาดุอาว่า ขอให้อัลลอฮฺทรงทำให้จุดยืนของพวกรัฐบาลสั่นคลอน แตกกระจาย พังพินาศ และแตกแยกกันเอง ขอให้เรามีชัยชนะเหนือพวกเขา ซึ่งเป็นดุอาบทเดียวที่มุสลิมทั่วโลกอ่านเพื่อสาปแช่งศัตรูอิสลามอันร้ายกาจที่เข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมอย่างเหี้ยมโหดเลยทีเดียว

เราไม่เคยได้ยินกุเลนอ่านดุอานี้เพื่อสาปแช่งยิวที่สร้างวีรกรรมโฉดต่อพี่น้องฟิลัสฏีนตลอดระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งต่อผู้นำซีเรียอย่างบัชชาร์ที่ได้สร้างแม่น้ำเลือดที่ยาวที่สุดในโลกขณะนี้ เราก็ไม่เคยได้ยินว่ากุเลยเคยอ่านดุอาสาปแช่งผู้นำจอมกระหายเลือดคนนี้เลย กุเลนมีจุดยืนถ้อยทีถ้อยอาศัยและประนีประนอมกับทุกรัฐบาลตุรกีก่อนหน้าเออร์โดกานได้อย่างลงตัวที่สุด แม้กระทั่งสนับสนุนผู้นำทหารที่ปฏิวัติรัฐบาลของ Necmettin Erbakan ที่ถูกรัฐประหารในปี 1997 หลังจากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ถึง 1 ปี

กุเลนสามารถสร้างความปรองดองกับทุกกลุ่มพรรค ไม่ว่าจะมีแนวคิดที่ต่อต้านอิสลามมากมายแค่ไหน กุเลนก็ยังมีทัศนะว่าควรสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเหล่านี้เพื่อ “มีการแสดงออกที่งดงามในการสานเสวนากับผู้อื่น การวางตัวที่เหมาะสม และมีท่าทีที่ชัดเจนในการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยยึดหลักของความอดทน สันติภาพ และการมีความคิดที่เปิดกว้างเพื่อนำอิสลามไปสู่ผู้คนอย่างสมบูรณ์ “

แต่ทำไม เมื่อถึงเวลาหนึ่ง กุเลนได้ละทิ้งหลักการนี้เมื่อประกาศจุดแตกหักกับเออร์โดกาน และใช้คำพูดที่รุนแรงซึ่งขัดแย้งกับบุคลิกภาพของกุเลนตามที่โลกได้รู้จัก 

หลังจากที่นสพ.ของกลุ่มกุเลนฉบับหนึ่ง ได้เผยแพร่เอกสารลับที่ระบุว่าเออร์โดกานมีมาตรการให้เฝ้าระวังและสอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิทธิพลที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มหัวแถวนี้มีชื่อของกลุ่มกุเลนรวมอยู่ด้วย สัมพันธภาพระหว่างสองขั้วแนวคิดที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงคลื่นใต้น้ำ ได้ก่อตัวเป็นคลื่นบนผิวน้ำอย่างเต็มตัว 

กุเลนได้ลั่นกลอนรบด้วยการดุอาให้อัลลอฮฺเผาไหม้บ้านเรือนของพวกเขา จงทำลายพวกเขาให้สิ้นซาก และจงทำให้พวกเขาแตกแยกกันเอง ท่ามกลางเสียงร้องไห้ระงมของบรรดาสานุศิษย์ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักคิดซูฟี

ในขณะที่เออร์โดกาน ก็ตอบโต้อย่างดุเดือดว่า เราจะบุกเข้าไปในถ้ำของพวกเขา และกล่าวหาว่าพวกเขาได้ร่วมมือกับกองกำลังนานาชาติที่แฝงตัวอยู่ในมืดคอยบงการและชักใยอยู่เบื้องหลัง

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 2]

ในโลกอิสลามปัจจุบัน ตุรกีน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพในการท้าทายตะวันตก คำแถลงการณ์อันดุเด็ดเผ็ดร้อนของเออร์โดกานในเวทีโลกต่อกรณีสำคัญ ๆ ได้สร้างความอึดอัดใจของบรรดาชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โตวันโตคืน

จนกระทั่งในปี 2011 ตุรกีเคยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (8.8%) รองจากประเทศจีน (9.1%) ในปี 2013 ตุรกีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศสูงสุดเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และได้กำหนดยุทธศาสตร์ว่าภายในปี 2023 ตุรกีจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุดของโลก ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจแบบสาละวันเตี้ยลงทุกคืนวัน

ตลอดทศวรรษของการบริหารประเทศภายใต้การนำของพรรคยุติธรรมและพัฒนา ทำให้ตุรกีสามารถเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กในคาถาหรือทาสรับใช้ตะวันตก กลายเป็นเด็กแกร่ง และมีแนวโน้มที่สามารถเดินด้วยลำแข้นของตนเองได้ และหากปล่อยให้โตวันโตคืน เด็กน้อยที่มีอายุเพียง 11 ขวบคนนี้ (ตามระยะเวลาของการเป็นนายกรมต.ของ ERDOGAN ซึ่งมีความหมายว่า หนุ่มผู้กล้าหาญ – ER แปลว่า กล้าหาญเข้มแข็ง และ DOGAN แปลว่า เด็กหนุ่ม – ) จะกลายเป็นเด็กหนุ่มที่แข็งแกร่งและสร้างปัญหาแก่ตะวันตกก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการปฏิรูปสังคมที่รัฐบาลตุรกีกำลังปลดแอกจากระบอบคามาลิสต์อันศักดิ์สิทธิ์สู่คำสอนของอิสลามมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งสร้างความหวั่นวิตกของชาติมหาอำนาจมากขึ้น 

ตุรกี นอกจากสามารถสร้างประเทศที่มีเสถียรภาพทางสังคมเศรษฐกิจที่มั่นคงที่สุดแล้ว ยังเป็นประเทศเดียวในโลกอิสลามที่มุสลิมทั่วโลกฝากความหวังว่าจะกอบกู้ศักดิ์ศรีของประชาชาติมุสลิม ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยเจ้าของสวนชาวตะวันตก ที่ได้ว่าจ้างกากมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากประเทศมุสลิมด้วยกันเอง มีเชื้อชาติและสัญชาติเดียวกันกับพี่น้องมุสลิมเหมือนกัน แต่กลับสร้างความหายนะให้กับสวนแห่งนี้ ที่แม้แต่ศัตรูอิสลามก็ไม่สามารถสร้างความเสียหายได้มากเท่า

ชาติมหาอำนาจได้ประดิษฐ์วาทกรรมอันสวยหรูของประชาธิปไตยว่า “โดยประชาชน จากประชาชน เพื่อประชาชน”แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้นกล้าแห่งประชาธิปไตยงอกเงยในโลกอิสลามแล้ว วาทกรรมที่สวยหรูนี้จะถูกพลิกแพลงให้เป็น “โดยตะวันตก จากตะวันตก เพื่อตะวันตก” โดยทันที

ท่านผู้อ่านลองย้อนไปศึกษาการปฏิวัติที่แอลจีเรียในปี 1992 ซึ่งพรรค Inqaz (พรรคกู้ชีพ) ได้รับชัยชนะท่วมท้นถึง 80 % การล้มกระดานการเลือกตั้งที่ฟิลัสฏีนในปี 2006 ที่พรรคหะมาสลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกและได้รับชัยชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ และล่าสุดในวันที่ 3-7-2013 ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในประวัติศาสตร์อิยิปต์ท่าน ดร.มุรซีย์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศเพียงแค่ปีเดียว สุดท้ายก็ถูกพล.อ.ซีซีย์ยึดอำนาจและสถาปนารัฐเผด็จการกระหายเลือดที่ยังยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน

ทั้ง 3 กรณีนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ยืนยันถึงคุณค่าของคำว่าประชาธิปไตยในสายตาของตะวันตกได้เป็นอย่างดี

สิ่งดี ๆ ควรแก่การสนับสนุนยกย่อง ไม่ใช่หรือ

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ตะวันตก ผู้เป็นต้นแบบประชาธิปไตย ศรัทธาและเลื่อมใสประชาธิปไตย แต่กลับบ่มเพาะและเผยแพร่เชื้อเผด็จการในโลกอิสลาม


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 1]

มุฮัมมัดฟัตฮุลลอฮฺ กุเลน (เกิดปี ค.ศ. 1941) ถือเป็นนักคิดและผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีอิทธิพลทางความคิดสูงมากในตุรกีและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มจากมารดาในขณะอายุยังเล็ก ๆ เขาเริ่มทำงานด้านศาสนาในตำแหน่งอิมามประจำมัสยิดที่เมือง Adranah ขณะที่มีอายุเพียง 20 ปี เขาใช้ชีวิตเกือบ 2 ปีครึ่งในช่วงนี้ด้วยการเอี้ยะติก้าฟในมัสยิดแห่งนี้ และไม่ออกจากมัสยิดยกเว้นด้วยเหตุจำเป็นเท่านั้น เขาเคยเป็นครูสอนท่องจำอัลกุรอานที่เมือง Izmir ซึ่งเป็นมหานครทางตะวันตกของอานาโตเลียและเป็นเมืองอันดับ 3 ที่มีประชากรมากที่สุดในตุรกี เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในนามนักบรรยายศาสนาทั้งในมัสยิด และแม้กระทั่งในผับบาร์ เนื้อหาการบรรยายของเขาจะเน้นเรื่องคุณค่าและพื้นฐานสำคัญของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและการปฏิรูปสังคม

เขาสรุปว่า มีโรคร้าย 3 ชนิดที่กำลังรุมเร้าโลกมุสลิม นั่นคือ

ความเขลาไร้การศึกษา ความยากจน และความแตกแยก

เขาได้วางยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาความเขลาไร้การศึกษา ด้วยการทุ่มเทความพยายามในการเผยแพร่อิสลามด้วยแนวคิดที่บูรณาการระหว่างภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เขาสามารถจุดประกายและโน้มน้าวให้บรรดาเศรษฐีและนักธุรกิจมุสลิมที่มีอาคารใหญ่โตทั่วตุรกี หันไปสร้างตึกอาคารในสวนสวรรค์ควบคู่กับการสร้างตึกอาคารบนโลกดุนยา ด้วยการแปลงตึกอาคารเหล่านี้ให้เป็นสถานศึกษา และด้วยแนวคิดนี้กุเลนสามารถเปิดสถานศึกษาทั่วตุรกีตั้งแต่ระดับอนุบาลประถมจนถึงระดับอุดมศึกษามากกว่า 300 แห่ง และเปิดสาขาทางการศึกษาทั่วโลก เช่นมอร็อกโค เคนยา อูกันดา รัสเซียและประเทศแถบเอเชียกลาง ในปัจจุบัน เฉพาะในสหรัฐอเมริกา บรรดาลูกศิษย์ของเขาได้จัดตั้งโรงเรียนทุกระดับทั่วอเมริกาเกือบ 100 แห่งทีเดียว และอาศัยบรรดาสานุศิษย์ที่กระจัดกระจายไปทั่วบ้านทั่วเมืองตามสาขาอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการ นักการเมือง ทหารตำรวจ นักธุรกิจ นักกีฬาหรือแม้กระทั่งนักร้องนักแสดง ทำให้กุเลนกลายเป็นผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญและพยายามสถาปนาตนเองเป็นผู้นำเงาของตุรกี ซึ่งเจ้าตัวก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ตลอดเวลา ในช่วงปลายสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Mustafa Bulent Ecevit เขาได้ออกคำแถลงการณ์ในรายการโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปัจจุบัน แต่เขามักอ้างเหตุผลว่าเพื่อรักษาโรคประจำตัว

กุเลนจึงกลายเป็นปูชนียบุคคลทางการศึกษาระดับโลก และเป็นที่ยกย่องในตุรกีว่าเป็น “บิดาแห่งนักสังคมสงเคราะห์อิสลาม” (ซึ่งควบคู่กับนัจมุดดีน อัรบะกาน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ที่ได้รับฉายาว่า เป็นบิดาแห่งนักการเมืองอิสลาม) จนกระทั่งได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Foreign Policy และ Prospect Megazine จากประเทศอังกฤษให้เป็นบุคคลอันดับ 1 ใน 100 คนจากบรรดานักวิชาการทั่วโลกที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในปี 2008 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ได้ประสาทปริญญาระดับศาสตราเมธาจารย์ (Chair Professor) เพื่อเป็นเกียรติประวัติและยกย่องในคุณงามความดีของเขา

นอกจากเปิดสถานศึกษาในทุกระดับชั้นแล้ว กุเลนยังเปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์อีก 7 ช่อง สร้างโรงพิมพ์ 30 แห่ง ผลิตหนังสือ 100กว่าชื่อเรื่องต่อปี ผลิตวารสารทางวิชาการ 15 ชื่อเรื่อง ผลิตหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่าย 1 ล้านฉบับ และหลายสิบเว็บไซต์เพื่อเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่อิสลามและเป็นเวทีประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรอีกด้วย

ส่วนยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน กุเลนเปิดบริษัทและดำเนินธุรกิจมากมาย จัดตั้งองค์กรสาธารณกุศลมากมายที่ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ยากไร้ เขาสามารถจุดประกายคนหนุ่มสาวและนักธุรกิจให้มีจิตอาสาทำงานอย่างมุ่งมั่น หวังในความพึงพอใจของอัลลอฮฺมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์บนโลกดุนยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้บริการเฉพาะผู้คนในประเทศตุรกีเท่านั้น แต่หลายๆประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับความดีงามเหล่านี้ไปด้วย องค์กรของกุเลนหรือเป็นที่รู้จักในตุรกีว่า องค์กร Khidmat ถือเป็นองค์กรเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้        เหยื่อผู้ประสบภัยทางธรรมชาติทั่วโลก

หนึ่งในผลงานแห่งความสำเร็จของกุเลนด้านยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนคือการจัดตั้งธนาคารปราศจากดอกเบี้ยด้วยฐานเงินทุนจำนวน 125 ล้านดอลล่าร์ 

ส่วนยุทธศาสตร์การสร้างความสมัครสมานของผู้คนนั้น ฟัตฮุลลอฮฺ กูเลน ใช้การสานเสวนาระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นกลไกขับเคลื่อนโดยมีหน่วยงานเอกชนและนักธุรกิจชาวตุรกีให้การสนับสนุนโดยการจัดประชุม การพบปะพูดคุยถึงปัญหาที่มนุษยชาติประสบร่วมกัน มีการแสดงออกที่งดงามในการสานเสวนากับผู้อื่น การวางตัวที่เหมาะสม และมีท่าทีที่ชัดเจนในการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยยึดหลักของความอดทน สันติภาพ และการมีความคิดที่เปิดกว้างเพื่อนำอิสลามไปสู่ผู้คนอย่างสมบูรณ์

บนแนวคิดนี้ กุเลนได้รับการยกย่องจากตะวันตกว่าเป็น “ต้นแบบ” แห่งการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม เขาประณามความรุนแรงและมองว่าผู้นิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหาทางสังคมคือ กลุ่มที่ล้มละลายทางความคิด เขาเห็นว่าโลกยุคใหม่ควรเป็นยุคแห่งการเปิดกว้าง การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านการสานเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม เน้นการเคารพสิทธิของผู้อื่น เขามองว่าประชาธิปไตย สามารถแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดของเขาอาจเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกันข้ามกับแนวคิดของนัจมุดดีน อัรบะกาน เราะฮิมะฮุลลอฮฺที่มองว่าสหรัฐอเมริกาคือศัตรูของโลกอิสลาม เนื่องจากการครอบงำของไซออนิสต์สากล แต่กูเลนกลับมองว่าอเมริกาและยุโรปคือชาติมหาอำนาจที่เราต้องเชื่อมสัมพันธไมตรีและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

ท่านได้ทุ่มเทความพยายามในการจัดให้มีการสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ระหว่างกลุ่มตัวแทนที่ต่างอุดมการณ์ วัฒนธรรม ศาสนาจากชาติต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1999 ผลงานของท่านที่ชื่อว่า “The Necessity of Interfaith Dialogue” หรือ “ความจำเป็นของการสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างศาสนา” ได้รับการนำเสนอต่อสภาศาสนาโลก การยืนยันว่า การสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันเป็นสิ่งจำเป็น และผู้คนไม่ว่าจะมาจากชาติใดหรือระบการเมืองใดมีอะไรสิ่งที่เหมือนกันมากมายกว่าที่พวกเขาคิดไว้ ในปี ค.ศ. 1994 กูเลนได้ช่วยจัดตั้งมูลนิธินักหนังสือพิมพ์และนักเขียนขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในทุกระดับชั้นทุกสาขาในสังคม นอกจากนั้นกูเลนยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและให้การต้อนรับบุคคลสำคัญทั้งในตุรกีและทั่วโลก เช่น พระสันตปาปา จอห์น ปอลที่2 แห่งวาติกัน อาร์คิบิชอปแห่งนิวยอร์ค สังฆราซแห่งคริสตจักรออร์โธดอกซ์ตุรกี สังฆราซแห่งชุมชนอาเมเนียตุรกี หัวหน้าแรบไบของชมชนชาวยิวตุรกี ผู้นำคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็ได้มาพบท่านเป็นประจำ ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้คนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า กุเลนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเชคสะอี้ด อันนูรซีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ผู้มีฉายาบะดีอุซซะมาน (1877-1960) ชัยค์ซูฟี เชื้อสายกุรดี (เคิร์ด)และอาลิมผู้ยิ่งใหญ่ตลอดจนนักเคลื่อนไหวที่สำคัญของโลกอิสลาม เจ้าของวลีเด็ด 

اعوذ بالله من الشيطان الرجيم والسياسة

(ฉันขอความคุ้มครองจากมารร้่ายที่ได้รับการสาปแช่งและการเมือง)

บนพื้นฐานแนวคิดนี้ กุเลนจึงมีความถ่อมตนและพอเพียงในประเด็นการเมืองมาก บรรดาสานุศิษย์ของเขาถูกอบรมให้ความสำคัญกับการศึกษา การตัรบียะฮฺและสังคมสงเคราะห์ และไม่เปลืองตัวเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่จะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งจากทุกคนที่พร้อมให้การสนับสนุนและปกป้ององค์กร ด้วยเหตุนี้องค์กรของกุเลนจึงสามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีและเป็นผู้สนับสนุนหลักรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคแซคิวล่าร์ กลุ่มใฝ่สังคมนิยมหรือกลุ่มสาวกคามาลิสต์ (ผู้นิยมยกย่องมุสตาฟา คามาล อะตาร์เตอร์ก) กลุ่มของเขาจึงสามารถตั้งตนเป็นรัฐบาลเงาหรือสร้างมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ในทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเออร์โดกาน

กล่าวได้ว่า กลุ่มของกุเลนที่มีฐานเสียงทั่วตุรกีที่ครอบคลุมผู้คนทุกสาขาอาชีพ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เออร์โดกานก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัยติดต่อกัน และตลอดระยะเวลา 11 ปีภายใต้การนำของพรรคยุติธรรมและพัฒนา กลุ่มของกุเลนก็สยายปีกทำงานทางภาคประชาสังคมอย่างแข็งขัน จนหลายคนเชื่อว่า เออร์โดกานเป็นศิษย์เอกและเด็กในคาถาของกุเลนเลยทีเดียว 

แต่การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ วลีที่ว่า ไม่มีมิตรและศัตรูที่ถาวร ผลประโยชน์เท่านั้นที่นิรันดร ยังใช้ได้อยู่ตราบทุกวันนี้

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร และเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติตุรกีในปี 2014 และ 2015 อย่างไรบ้าง อะไรคือเบื้องหลังคดีคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาว อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบันอิสลามนี้ องค์กรของกุเลนจะสวมบทบาทพรรคนูรที่อิยิปต์หรือไม่ และอะไรที่ทำให้เออร์โดกานตอบโต้ด้วยคำพูดอันดุดันว่า ตุรกีกำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชของประเทศครั้งที่ 2 

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

บทบาทหน้าที่ของประชาชาติอิสลามต่อสถานการณ์ในตุรกีวันนี้

บทความโดย ยัสเซอร์ อับเดลอาซิซ

นักเขียนและนักวิจัยทางการเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การสนับสนุนการตัดสินใจ พรรควะสัต -พรรคกลุ่มอิสลาม ของอียิปต์

“ไม่แปลกที่ฝั่งตะวันตก อเมริกา และประเทศอื่น ๆ เกลียดเออร์โดกัน เพราะคนเหล่านี้ควบคุมตุรกีทั้งหมดราวกับว่าเป็นทรัพย์สินของพวกเขา ในอดีตเราต้องรอหลายๆวัน จนกว่าพวกเขาจะอนุญาตให้เราไปเยี่ยมเยียนประเทศของพวกเขา หรือแม้กระทั่งจะทำสิ่งใด ๆ ในการเปลี่ยนแปลงในตุรกี แต่เออร์โดกันมาพลิกหน้าประวัติศาสตร์ พวกเขารอหลายวันเพื่อให้เออร์โดกันรับสายและพวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ แม้กระทั่งการควบคุมสถานทูตของพวกเขาโดยปราศจากความรับรู้ของรัฐบาลตุรกีที่นำโดยเออร์โดกัน หลังจากที่เออร์โดกันกีดกันผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของพวกเขาทั้งในและนอกตุรกี   ตุรกียุคแอร์โดฆานในปัจจุบันทำให้พวกเขาหวาดกลัวและพวกเขาไม่มีทางที่จะควบคุมตุรกี  ตลอดจนความเหนือกว่าและความเป็นอิสระของตุรกีได้” 

ตันซู  เซลเลอร์ 

อดีตนายกรัฐมนตรีของตุรกี

● ความเป็นมาของเรื่อง

ในสุนทรพจน์ในระหว่างการเปิดโครงการบริการในรัฐเอสกิเชฮีร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี ประธานาธิบดีตุรกี เออร์โดกัน ได้จุดชนวนระเบิดที่ประเทศที่เล็กที่สุดในโลกก็ไม่คาดคิด นับประสาบรรดาผู้ที่คิดว่าตนเป็นใหญ่ที่สุด เออร์โดกัน กล่าวด้วยความมั่นใจและแน่วแน่ เอกอัครราชทูต  10 ประเทศไม่เป็นที่พึงปรารถนาในอาณาเขตของประเทศของเขา

“ในวันที่พวกเขาไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจตุรกี พวกเขาจะต้องจากไป” 

เออร์โดกันกล่าวเกี่ยวกับเอกอัครราชทูตทั้ง 10 คน

● ใครคือ ออสมัน คาวาลา ที่จุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดระหว่างตุรกีกับสิบประเทศ

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการกลับมาของออสมัน คาวาลา ที่ตุรกีเพื่อทำธุรกิจของพ่อหลังจากที่เขาเสียชีวิตหลังจากเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา ซึ่งเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ที่นั่น และคุ้นเคยกับจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายยิวที่มีส่วนร่วมในการโค่นล้มลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

ความสัมพันธ์ระหว่างคาวาลากับโซรอส กระตุ้นให้ฝ่ายหลังใช้ประโยชน์จากคาวาลาในโครงการเพื่อ “สนับสนุนประชาธิปไตย” ในลักษณะของยุโรปตะวันออก และตามแนวความคิดของโซรอส

คาวาลา ซึ่งมีต้นกำเนิดในกรีซโดยเฉพาะจากเมือง Kavala-คาวาลา ของกรีกก่อนที่ปู่ของเขาซึ่งเป็นพ่อค้ายาสูบได้อพยพไปตุรกีเพื่อตั้งถิ่นฐานที่นั่นและธุรกิจของครอบครัวก็เติบโตขึ้น ออสมัน คาวาลา ใช้เงินทุนเหล่านี้ในการต่อต้านรัฐบาลและมีส่วนร่วมในกรณีการประท้วงที่ Gazi Park ในปี 2013 และในการพยายามทำรัฐประหารโดยทหารซึ่งวางแผนโดยกุเลน 

ในแถลงการณ์ที่ลงนามโดยเอกอัครราชทูตอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศตุรกี พวกเขาเรียกร้องให้ปล่อยตัวออสมัน คาวาลา โดยถือว่าการจับกุมตัวว่าเป็นประเด็นที่เบียดบัง “การเคารพในระบอบประชาธิปไตย” ของตุรกี ซึ่งประธานาธิบดีตุรกีเห็นว่าเป็นการแทรกแซงในกิจการภายในของประเทศ เออร์โดกันร้องขอต่อกระทรวงการต่างประเทศให้ประกาศว่า สิบเอกอัครราชทูตไม่เป็นที่พึงประสงค์ในดินแดนตุรกี

● การเขียนกฎใหม่ของเกมส์

อดีตนายกรัฐมนตรีตันซู เซลเลอร์  บรรยายถึงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้ทูตทั้งสิบดำเนินการดังกล่าวว่า หลังจากการล่มสลายของออตโตมัน ประเทศเหล่านี้เคยจัดการกับตุรกีในลักษณะนี้ หลังจากการพ่ายแพ้ของจักรวรรดิออตโตมันในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเขาสามารถกำหนดอำนาจปกครองตุรกีตามข้อตกลงที่ความไม่เป็นธรรมตกอยู่กับผู้พ่ายแพ้ อันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหลังจากสงครามปลดปล่อยและการประกาศเป็นสาธารณรัฐหลังจากสิ้นสุดยุคออตโตมัน

ข้อตกลงเหล่านั้นกำหนดว่า ทะเลไม่ใช่ทะเลของตุรกี ทางเดินเรือหรือกองทัพก็ไม่ใช่กองทัพของตุรกี และทรัพย์สินก็ไม่ใช่เงินของตุรกี  นกหรือสัตว์ก็ผ่านไม่ได้ ยกเว้นต้อง “ประสานงาน” กับตะวันตก 

ในช่วงสงครามเย็นระหว่างตะวันตกที่นำโดยอเมริกาและตะวันออกนำโดยสหภาพโซเวียต หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สาธารณรัฐตุรกีกลายเป็นฐานทัพขั้นสูงสำหรับตะวันตกในการต่อสู้กับประเทศตะวันออก ฐานทัพดังกล่าวมีทหารต่างด้าวอาศัยอยู่ มีการสร้างค่ายทหาร ระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกล และสนามบินทหารตามความต้องการของพวกเขา ไม่ว่ารัฐบาลตุรกีจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แผ่นดินนี้คือดินแดนตะวันตก และการตัดสินใจคือการตัดสินใจของพวกเขา รัฐบาลตุรกีไม่มีส่วนในการตัดสินใจเหล่านี้ เว้นแต่พวกเขาจะแจ้งเรื่องนี้เพื่อทราบ เพื่อกู้หน้าให้รัฐบาล และยืนยันเอกราชปลอมๆที่ตะวันตกให้แก่ตุรกีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากพรรคเอเค เข้ามามีอำนาจในปี 2003 สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปและเงื่อนไขเปลี่ยนไป  สถานการณ์ที่โด่งดังที่สุดของประธานาธิบดีเออร์โดกัน   เกิดขึ้นที่ดาวอสฟอรั่ม เมื่อได้ออกจากการประชุมหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอลพูดถึง “สันติภาพ” โดยที่เออร์โดกันได้โจมตีอิสราเอลและหน่วยงานระหว่างประเทศที่ปกป้องผู้กระทำผิดแทนที่จะปกป้องเหยื่อ เป็นสัญญาณการเขียนกฎใหม่ของเกมส์ที่ตุรกีไม่มีการอยู่ใต้บังคับบัญชาของใครก็ตาม

ในช่วง 18 ปี ที่รัฐบาลพรรคเอเคปกครอง ตุรกีมีอำนาจมากมายที่เริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเอง โดยเพิ่มขีดความสามารถให้กับตุรกีในทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม การต่างประเทศ ด้วยการถือไพ่ที่ทำให้สามารถนั่งที่โต๊ะผู้ใหญ่ได้   การล้มผู้เล่นรายใหญ่ในพื้นที่ ทำให้ทุกคนวิ่งเข้าหาตุรกีเพื่อแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ หลังจากที่กลายเป็นนักแสดงที่ไม่มีใครเทียบได้ แต่ตะวันตกไม่เคยลืมแรงยโสของพวกเขาในการทำหน้าที่กดตะวันออกและแสดงความซาดิสม์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

● สงครามที่ไม่มีวันจบ

เนื่องจากนักการเมืองตะวันตกป่วยด้วยโรคซาดิสม์การยึดครอง ความเย่อหยิ่งในความเหนือกว่า  ต้องการให้ตุรกีซึ่งได้หลุดออกมาจากการตกอยู่ใต้การปกครองของพวกเขา จะต้องกลับมาสู่การเชื่อฟัง  แต่การณ์กลับไม่ง่ายเหมือนเก่า ในเมื่อใช้ผลประโยชน์หลอกล่อไม่สำเร็จ ก็ต้องใช้ไม้เรียว

“ตุรกีกลายเป็นพันธมิตรที่ไม่น่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง” เอริค เอเดลมาน ซึ่งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอังการาระหว่างปี 2003 – 2005 กล่าวในโทรเลขที่รายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศ ดังที่วิกิลีกส์รายงาน

นี่คือทัศนะของอเมริกาต่อรัฐบาลใหม่ของตุรกีในเวลานั้น สังเกตวันที่ของโทรเลข เวลานั้นพรรคเอเคยังไม่มีข้อได้เปรียบเหมือนที่มีในขณะนี้ แต่คนฉลาดสามารถอ่านสถานการณ์นี้ได้ตั้งแต่ต้น และรู้ว่าจะต้องอ่านสถานการณ์ใหม่ในการดำเนินกลยุทธ์ใหม่ต่อตุรกีภายใต้ปกครองของพรรคเอเค

ในบทความ (Presents of a coup in Turkey!)  เราพูดถึงการเล่นอย่างเปิดเผยและการข่มขู่ ของโดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า ให้ทำลายเศรษฐกิจของตุรกี บางทีด้วยความไร้เดียงสาทางการเมืองของทรัมป์ จึงได้เปิดเผยแผนดังกล่าว ที่ได้รับการดำเนินการและกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ในการโจมตีลีร่าของตุรกีโดยน้ำมือของตะวันตกและพี่น้องจากประเทศอ่าวอาหรับ

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวตะวันตกอย่าง Robin Brooks โรบิน บรู๊ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ Institute of International Finance (IIF) ผู้ซึ่งเห็นกรณีที่ลีร่าตุรกีตกอย่างรุนแรงในวันนี้ ในคำอธิบายของเขาว่า  การวิเคราะห์ในปัจจุบันทั้งหมดเกี่ยวกับลีร่าตุรกีคือ “การมุ่งเป้าไปที่การแพร่กระจายความตื่นตระหนก” 

โรบิน บรู๊ค กล่าวเพิ่มเติมว่า บางคนคาดว่า สถานการณ์ปัจจุบันจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีกำหนด และเตือนว่านักลงทุนไม่ควรให้ความสนใจกับการวิเคราะห์เหล่านี้ ซึ่งเขาอธิบายว่า “ไร้สาระ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Institute of International Finance เน้นว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดสถานะ “ทิ้งเงินท้องถิ่นไปใช้เงินต่างชาติ” อันเนื่องจากความสับสน เขาย้ำว่า ค่าเฉลี่ยการเคลื่อนที่ของเงินในช่วง 13 สัปดาห์ที่ผ่านมา การไหลออกของเงินฝากต่างประเทศเป็นแนวโค้ง หมายความว่า สถานการณ์ไม่มีอะไรมากไปกว่าพายุที่กำลังจะผ่านพ้นไป วิกฤตการณ์ที่ตุรกีได้เห็นในเดือนสิงหาคม 2018 นั้นยิ่งใหญ่กว่า แต่ก็ผ่านไปแล้ว

คำพูดของโรบิน บรู๊ค จบลงแล้ว แต่สงครามยังไม่จบ และมีการใช้ทุกวิถีทางไม่ว่าเศรษฐกิจหรือสังคม เพื่อทำให้ประชาชนต่อต้านกันเองหรือต่อต้านแขกชาวซีเรีย ตะวันตกซึ่งเคยชนะในร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าจะเป็นพันธมิตรก็ตาม

● หน้าที่และพร้อมในสงครามครั้งนี้

เนื่องจากสงครามนี้จะไม่จำกัดเฉพาะที่ตุรกีภายใต้พรรคเอเค เราทุกคนจึงมีหน้าที่ตามความจำเป็น หน้าที่  ทั้งในฐานะรัฐบาลตุรกี  หน้าที่ในฐานะชาวตุรกีและโดยเฉพาะชาวตุรกีเสรี  หน้าที่ในฐานะชาวอาหรับและชาวมุสลิม 

เนื่องจากตุรกีเป็นตัวอย่างของการพยายามหลุดพ้นจากการปกครองของตะวันตก เป็นแบบจำลองไม่ใช่ที่ตัวบุคคลหรือระบบ ความสำเร็จของแบบจำลองนี้จะสร้างแรงบันดาลใจ สู่การลอกเลียนแบบ และแม้กระทั่งการสร้างขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ที่ทุกประเทศที่แสวงหาการปลดปล่อยที่แท้จริงและไม่ใช่ของปลอม

ชาวตุรกี โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่เข้าใจคุณค่าของประเทศและตัวแทนของประเทศชาติ  ต้องยืนหยัดอยู่เบื้องหลังผู้นำของพวกเขา และพึงรู้ว่านี่คือสงครามเพื่อเอกราชที่แท้จริงสำหรับประเทศของพวกเขา  ดังนั้น ไม่มีใครควรบกพร่องในหน้าที่ที่มีต่อประเทศของเขา  พวกเขาควรแปลความรักที่แท้จริงเป็นการทำงานและความมุ่งมั่น  เพื่อความเป็นเอกราชที่แท้จริง

สำหรับประชาชาติอิสลาม อันหมายถึงประชาชน ไม่รวมถึงผู้นำเพราะเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนแล้ว ประชาชนแต่ละคนควรทำงานในบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อสนับสนุนความสำเร็จของประสบการณ์ของพรรคเอเคของตุรกี เพื่อปลดปล่อยจากอำนาจที่ครอบงำอยู่ 

ทุกคนควรตระหนักว่านี่เป็นสงครามครั้งใหญ่นี้เป็นไปเพื่ออิสรภาพของโลกมุสลิม การเมืองอาจบังคับให้คุณต้องประนีประนอมและเปลี่ยนจุดยืนที่คุณยืนอยู่ แต่จงจำไว้เสมอว่า เป้าหมายคือสิ่งที่คุณมุ่งหมาย และอย่าลืมกลยุทธ์และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่คุณมี จงลุกขึ้นเพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฉันขอเตือนตุรกี ทั้งผู้นำและประชาชน กับวาทะของจอห์น เอฟ. เคนเนดี  ที่ว่า: “จงให้อภัยแก่ศัตรูของคุณ แต่อย่าลืมชื่อของพวกเขา”

□ เผยแพร่ทางเว็บไซต์สำนักข่าว TR เมื่อ 26/10/2021


อ่านบทความต้นฉบับ

แปลโดย Ghazali Benmad

ตุรกีกับอัฟกานิสถาน

■ บทความโดย  ดร.ยาซีน  ออกเตย์  รองหัวหน้าพรรคเอเค พรรครัฐบาลตุรกี และอดีต สส.ของพรรค

อ่านต้นฉบับ

https://bit.ly/3Exdxre

อัฟกานิสถานมีบทบาทสำคัญในการเมืองโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองของศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากได้เห็นการยึดครองและสงครามมากมายทั้งในฐานะประเทศและภูมิศาสตร์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมุ่งเน้นไปที่ฉากตอลิบานและฉากของสงครามกลางเมืองที่กำลังดำเนินอยู่และภาพทั่วไปที่แสดงให้เห็นว่าอัฟกานิสถานเป็นเขตขัดแย้ง แต่ภูมิศาสตร์ที่ยากลำบากนี้ บรรดามหาอำนาจทั้งหมดพากันผ่านเข้ามาตามลำดับ แต่พวกเขาทั้งหมดจำต้องถอนตัวออกไป หลังจากได้รับบทเรียนที่จำเป็น

ประเด็นนี้คือสิ่งที่กำหนดชะตากรรมของสหภาพโซเวียตช่วงที่มีอายุได้เจ็ดสิบปี และช่วงสงครามเย็นที่ตามมา  ประเทศนี้ไม่สนใจว่าใครลงทุนในมันและลงทุนอะไร เช่นเดียวกับที่ไม่สนใจว่าพันธมิตรกับใครกับใคร เพราะท้ายที่สุดเป็นที่แน่นอนว่าทุกคนที่ทำสงครามที่นั่น  ล้วนพากันสร้างความหายนะให้แก่ตนเอง

แน่นอน ตุรกีไม่สามารถเพิกเฉยต่อภูมิศาสตร์ที่สำคัญนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากความสมดุลของโลกที่เกิดขึ้นจากที่นั่นมีผลที่ตุรกีรู้สึกได้

คำพูดที่ว่าสหรัฐฯ ถูกบังคับให้ถอนตัวจากอัฟกานิสถานหลังจากยี่สิบปีของการยึดครองอย่างเข้มงวดและความพยายามอย่างกว้างขวางในการควบคุมประเทศ หรือที่ว่า  กลุ่มตอลิบานบังคับให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกไป แม้ตอลิบานจะมีศักยภาพที่จำกัด คำพูดทั้งสองอธิบายและสรุปได้ตรงตามความเป็นจริง

ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า การสรุปสถานการณ์ในลักษณะนี้จะเป็นการเข้าข้างหรือเกลียดชังต่อฝ่ายใด ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มตอลิบาน แต่เป็นการสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับการกล่าวว่ากลุ่มตอลิบานประสบความสำเร็จด้วยคุณลักษณะหรือข้อได้เปรียบที่พวกเขามี เราต้องตระหนักถึงสิ่งนั้น

ด้วยเหตุนี้ เราพบว่าในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ถึงจุดสิ้นสุดของแบบจำลองในการวางรูปแบบ ไม่ว่าจะในด้านการเมือง สังคม หรือทางการทหาร ต่อหน้าการต่อต้านของกลุ่มตอลิบาน ที่ยืนกรานที่จะดำเนินต่อสู้ด้วยความอดทนเป็นระยะเวลานาน

ไม่ใช่เราที่พูดแบบนี้ แต่เจ้าหน้าที่ของอเมริกาเองที่ยอมรับว่า ตราบเท่าที่ประเทศของพวกเขายังคงอยู่ในอัฟกานิสถาน  จะติดหล่มอยู่ในหล่มมหึมาท่ามกลางความสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน สำหรับกลุ่มตอลิบาน พวกเขามีความสูญเสียเพียงเล็กน้อย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสถานการณ์ใหม่นี้ทำให้เราจำเป็นต้องทำความรู้จักกับกลุ่มตอลิบานให้มากขึ้นอีกหน่อย หากอัฟกานิสถานมีความสำคัญต่อเรา  แต่หากวิสัยทัศน์ของตุรกีไม่กว้างพอ ก็ไม่ต้องไปแยแสต่อภูมิศาสตร์ที่กำหนดเส้นทางของโลกในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา

มีอีกแง่มุมหนึ่งที่ต้องชี้ให้เห็นคือ เมื่อเราเรียกร้องให้สนับสนุนให้มองตาลีบันด้วยสายตาสื่อตะวันตกหรือสื่อต่อต้านอิสลามโดยทั่วไป ไม่ได้หมายความว่าเรามองว่าตอลิบานเป็นวีรบุรุษ สัญลักษณ์หรือคุณธรรมเหนือธรรมชาติ ความคิดแบบนี้ไม่ใช่ลักษณะของเรา แต่เป็นความคิดฝ่ายซ้าย ซึ่งฝันถึงความโกลาหลบนถนนทุกสายในตุรกี

แต่ถ้าหากว่าตุรกีมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและความเข้าใจที่ลึกซึ้ง  ที่ทำให้รู้ว่าใครคือกลุ่มตอลิบาน ธรรมชาติของกลุ่มคืออะไร และอะไรที่อัฟกานิสถานสามารถทำได้และอะไรที่ไม่สามารถ

แน่นอนว่ามีบางภาคส่วนที่ต่อต้านอิสลามมาก่อนและยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อกลุ่มตอลิบานก้าวมามีอำนาจ และพวกเขาปฏิเสธความจริงโดยปราศจากหลักความยุติธรรมแม้แต่น้อย  ถึงขนาดว่าหากพวกเขาพูดคำว่าตอลิบาน  พวกเขาจะคิดว่าลิ้นของพวกเขาจะไม่สะอาดเว้นแต่จะต้องสาปแช่งกลุ่มตอลิบานและแสดงปฏิกิริยาแสดงความเกลียดชังต่อพวกเขา

แต่ในทางกลับกัน พวกเขาไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับผู้ยึดครองอัฟกานิสถานเป็นเวลา   50  ปี และได้สังหารชาวอัฟกัน ซึ่งอาจจะมากกว่าที่กลุ่มตอลิบานสังหารถึง  50 เท่า  ประหนึ่งว่าอัฟกานิสถานสดใสและเงียบสงบก่อนที่กลุ่มตอลิบานจะเข้าควบคุม และเมื่อมันเข้าควบคุม ทุกสิ่งที่สวยงามก็จบลง ทั้งๆที่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการถอนตัวของประเทศที่ครอบครอง

ในทางกลับกัน สิ่งที่อัฟกานิสถานจะทำในระยะต่อไปยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับทุกคน ในบริบทนี้ ความกังวลที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการปฏิบัติของตอลิบานในอดีต จะถือว่าเป็นเรื่องไม่จริงไม่ได้  แต่จะต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม และกลั่นกรองขอบเขตการปฏิบัติของตอลิบานเกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม หรือความเข้าใจอิสลามของตอลิบาน และสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับสภาพสังคมและประเพณีในอัฟกานิสถานอย่างไร

สำหรับผู้ที่เปรียบเทียบระหว่างตุรกีกับอัฟกานิสถาน และนำแบบจำลองจากที่นี่ไปที่นั่น ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะรู้วิธีอ่านและเขียนหรือไม่

พวกเขาพากันขอบคุณต่อเซคคิวลาร์และ Kemalist เมื่อกล่าวถึงพัฒนาการในอัฟกานิสถาน ที่ซึ่งไม่มีตรรกะในข้อเสนอเลย แต่เป็นสภาวะของอารมณ์ล้วนๆ

และอีกอย่าง ข้าพเจ้าอยากจะพูดถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานที่นี่ อัตราการรู้หนังสือในอัฟกานิสถานมีเพียง 30% เท่านั้น และ 42% ของชาวอัฟกันมีอายุระหว่าง 0 ถึง 14 ปี ในขณะที่ 80% ของชาวอัฟกันอาศัยอยู่ในชนบท ซึ่งหมายความว่าอัตราการเป็นเมืองอยู่ที่ระดับเพียง 20% ดังนั้น ชนเผ่าจึงมีบทบาทสำคัญในชีวิตทางการเมืองและสังคมของอัฟกานิสถาน หากเราคำนึงถึงอัตราของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบท

หากเราไม่พูดถึงอัฟกานิสถาน แต่เป็นชนเผ่าแอฟริกัน เราจะเห็นเหตุการณ์ที่น่าตกใจอันเนื่องจากสภาพของสังคม แต่กลับไม่มีอิทธิพลต่อสื่อเหมือนกับสิ่งที่เกิดในอัฟกานิสถาน ตัวอย่างเช่นในรวันดา การตีความทางศาสนาแบบใดในสงครามกลางเมืองของรวันดา ที่ทำให้สามารถสังหารคนกว่าล้านคนอย่างโหดเหี้ยมภายในหนึ่งสัปดาห์  มีใครพูดถึงเรื่องนี้บ้างไหม?

การตีความศาสนาอิสลามไม่ได้เป็นสิ่งที่รับผิดชอบในสิ่งที่กลุ่มตอลิบานได้ทำ และไม่ได้เป็นสาเหตุของการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการต่อต้านอิสลามทั่วโลก และไม่ใช่หลักนิติศาสตร์อิสลามที่ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายของตอลิบานมากเท่ากับขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง “ปุชตุน” ที่มีประเพณีกำหนดบุรกา (ผ้าคลุมใบหน้าและร่างกายของผู้หญิง) กล่าวอีกนัยหนึ่ง กลุ่มตอลิบานเป็นผลผลิตของความเข้าใจดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากประเพณีท้องถิ่น

และอย่าลืมว่าต่างชาติที่ยึดครองอัฟกานิสถานมาเป็นเวลาราว 40 ปี และสงครามต่อต้านประเพณีนี้อาจทำให้อัฟกานิสถานปิดตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่บุรก้าเปลี่ยนจากสัญลักษณ์ดั้งเดิมไปเป็นปฏิกิริยาโกรธแค้นต่อการยึดครองที่ดำเนินมายาวนาน

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่าระยะห่างทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ระหว่างตุรกีและอัฟกานิสถานนั้นยาวนานมาก แต่การตีความทางการเมืองดูเหมือนจะลดระยะห่างเหล่านั้นไปในทางที่ต่างออกไป


สรุปโดย Ghazali Benmad