บทความ บทความวิชาการ

จะนะ ดินแดนแห่งอุละมาอฺ

จะนะในมุมองอาจารย์อนัส แสงอารีย์ นักวิชาการ/นักบรรยายธรรมชื่อดัง

“ในฐานะที่เป็นคนสงขลาที่ต้องเดินทางโดยใช้เส้นทางผ่านอำเภอจะนะอยู่บ่อยครั้งมากจนนับครั้งไม่ถ้วน นอกจากด่านตรวจที่ตลิ่งชันแล้ว ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นภาพคิดตา จนหลับตาแล้วยังเห็นภาพที่จำได้ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหน 

คงไม่ต้องกล่าวถึงหอนาฬิกากรงนกเขาชวาตรงวงเวียนเข้าตลาดจะนะอันเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของเมืองจะนะ “เมืองนกเขาชวา” ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ หรือในภูมิภาคอาเซียน

หากกางแผนที่ออกแล้วลากเส้นเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับจังหวัดสงขลา เมืองจะนะถือเป็นเมืองใหญ่ที่สุดระหว่างทาง คนที่เดินทางผ่านไปมาบนเส้นทางนี้จึงมักแวะ หยุดพักระหว่างทาง เพื่อเติมน้ำมันรถ รับประทานอาหารที่มีรสชาติเอร็ดอร่อยหลากหลาย และชอปปิ้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของเมืองจะนะอยู่ไม่น้อย

ในด้านการประกอบอาชีพ การทำการเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของชาวจะนะมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการทำนา รวมทั้งการไร่ ทำสวน จากสวนส้มจุกอันลือชื่อในอดีต จนมาเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย เป็ดไก่ ตามวิถีของชาวบ้าน

ในอีกด้านหนึ่งของจะนะมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตำบลนาทับ และตำบลสะกอม ที่ชาวบ้านมีอาชีพประมง แปลรูปอาหารทะเล และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสงขลาอีกด้วย

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะนะเป็นเมืองที่มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลายที่สุดของจังหวัดสงขลา

ในด้านการศึกษาโดยเฉพาะการศึกษาศาสนาอิสลาม ต้องกล่าวว่า จะนะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาศาสนาอิสลามมาช้านานถัดจากปัตตานีที่เป็นระเบียงของนครมักกะฮฺ จนกล่าวได้ว่า จะนะเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลามแบบระบบปอเนาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดสงขลา และแห่งหนึ่งของภาคใต้เลยทีเดียว ดังที่เห็นได้จากจำนวนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีอยู่มากมายที่อำเภอจะนะในปัจจุบัน

ในด้านสังคม จะนะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขเป็นเวลาช้านาน ในส่วนของชาวไทยมุสลิมนั้น มีทั้งผู้ที่ใช้ภาษาไทยท้องถิ่นใต้ และที่ใช้ภาษามลายูปัตตานี ที่ทำให้มีความหลากหลายกลมกลืนทางวัฒนธรรมอีกด้วย

กล่าวได้ว่า ยากที่จะหาพื้นที่ใดในภาคใต้ของประเทศไทยที่จะเทียบได้กับความโดดเด่นของจะนะที่ได้กล่าวมาพอสังเขป เพียงพอที่จะเหตุผลในการอนุรักษ์ความโดดเด่นนั้นไว้ พร้อมกับการพัฒนาที่ไม่ลบล้างหรือทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมอันดีงามของเมืองจะนะ

คงไม่ต้องพูดถึงนิคมอุตสาหกรรมจะนะกำลังดังก้องโลกในเวลานี้ เพียงแค่โรงงานข้างทางสี่เลนที่ส่งกลิ่นเหม็นอบอวนเข้ารูจมูกของผู้ที่ขับรถไปมาบนเส้นทางนี้จนชาชิน จนหากใครสักคนถูกอุ้มปิดตาผ่านหน้าโรงงานนั้น ก็จะสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้กำลังผ่านหน้าโรงงานที่จะนะ เพราะได้กลิ่นเหม็น

ความมั่งคั่งร่ำรวยและผลประโยชน์ของการพัฒนาที่ผ่าน ๆ มาในบ้านเรา มักไม่ได้กลับมาสู่ชุมชนและชาวบ้านอย่างที่อ้าง ๆ กัน ทว่าผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุน และกลุ่มผู้มีอำนาจ ส่วนชาวบ้านก็ได้แค่สารพิษ หรืออย่างดีก็ได้ทำงานเป็นคนงานในโรงงาน ที่เป็นอีกหนึ่งเหตุสำคัญที่ทำลายวิถีชีวิตด้านศาสนา จริยธรรม และความมั่นคงของครอบครัว

ขออัลลอฮฺปกป้องและคุ้มครองเมืองจะนะ และชาวจะนะให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง

#นอกจากนี้อาจารย์อนัส เคยให้สติแก่ผู้คนก่อนเขียนบทความนี้ว่า “#ความเห็นแก่ตัวอย่างไม่รู้จักพอของใครสักคน ทำให้เขาสามารถละเมิดต่อสิทธิ ชีวิต และทรัพย์ของใครก็ได้ที่ไม่ใช่ของตนเอง ด้วยข้ออ้างที่ดูดีและสมเหตุสมผลและชอบธรรมเสมอ

“และเมื่อพวกเขาถูกบอกว่า พวกท่านอย่าได้สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินเลย พวกเขาจะกล่าวว่า เราเป็นเพียงแต่ผู้พัฒนาต่างหาก…พึงทราบเถิดว่า พวกเขาเหล่านั้นคือพวกสร้างความเสียหายต่างหากเล่า แต่ว่าพวกเขาไม่รู้ตัว” (ความหมายอัลกุรอานสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ ๑๑ และ ๑๒)


Cerdit : Facebook Shukur Dina