บทความ บทความวิชาการ

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 5]

การฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว นอกจากนักเรียนต้องฝึกฝนวิธีป้องกันตัวให้เก่งกาจแล้ว ผู้เรียนจะต้องได้รับการถ่ายทอดให้เรียนรู้จุดอันตรายบนร่างกายคู่ต่อสู้ ที่ถือเป็นจุดตายอีกด้วย เพราะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้คู่ต่อสู้อ่อนเปลี้ยเพลียแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกและหมดทางสู้ไปโดยปริยาย

จุดเปราะบางหรือจุดตายที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของทุกประเทศ นอกจากระบบการเมืองการปกครอง อำนาจทางทหาร อำนาจอธิปไตยและสถาบันต่าง ๆในสังคมแล้ว ทรัพยากรบุคคลระดับมันสมอง (Think tank) ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศและสถาบันการเงินที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของประเทศ ถือเป็นจุดตายที่มีความเปราะบางที่สุด หาก 2 จุดนี้ถูกจู่โจมทำลาย ก็จะส่งผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนี่คือกลยุทธ์สำคัญของแผนปฏิบัติการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบต่อรัฐบาลเออร์โดกานในเช้าตรู่ของวันที่ 17 ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา

มันคืออาการ After shock ลูกแรกที่โถมซัดพุ่งเข้าสู่รัฐบาลเออร์โดกานชนิดไม่ให้โอกาสตั้งตัวและหวังผลว่าสามารถต่อยจุดสลบให้รัฐบาลโดนน๊อกหลับยาวกลางอากาศไปเลย

หน่วยตำรวจลับที่รับคำสั่งตรงมาจากนครอิสตันบูล ได้สนธิกำลังเข้าไปจับกุมเจ้าหน้าที่ข้าราชการระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องจำนวน 66คน ในข้อหาคอร์รัปชั่น ยักยอกงบประมาณของรัฐ และทุจริตในหน้าที่ด้วยการให้ใบอนุญาตสัมปทานการก่อสร้างอย่างฉ้อฉล หนึ่งในจำนวนนี้คือนายกเทศมนตรีเมืองฟาติหฺ ประธานผู้จัดการธนาคาร Halk Bank ลูกชายรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล 3 คน ทั้งลูกชายรมว.กิจการภายใน(มหาดไทย) รวม.เศรษฐกิจและรมว.สิ่งแวดล้อม ถือเป็นข่าวฉาวส่งท้ายปี 2013 ที่สั่นสะเทือนบัลลังก์ของนายเออร์โดกานมากที่สุด นสพ.ตุรกีแทบทุกฉบับได้พาดข่าวหน้า 1 ติดต่อกันหลายวัน จนกระทั่ง ทั้ง 3 รัฐมนตรีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่มีลูกชายเข้าไปมีส่วนพัวพันและเปิดทางให้มีการสอบสวนมีความอิสระขึ้น

วิกฤติการเมืองรอบนี้ ส่งผลให้เงินลีร่าตุรกีดิ่งฮวบลงเป็นประวัติการณ์

และเช่นเคย ขาประจำอย่างนสพ.Today’s Zaman ได้ทีโหมโรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลนายกรัฐมนตรีต้องมีส่วนรู้เห็นและเป็นผู้เซ็นอนุมัติโครงการฉาวเหล่านั้น

ในวันที่18/12/2013 นายเออร์โดกานได้ออกแถลงข่าวเคียงคู่กับนายรัฐมนตรีฮังการีซึ่งเป็นแขกรัฐบาลว่า “เป็นแผนการที่มีการกดรีโหมตจากต่างประเทศ โดยมีมือจากข้างในเป็นผู้ปฏิบัติ” เขายืนยันว่า “เป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่มีกองกำลังนานาชาติที่แฝงตัวอยู่ในเงามืด คอยบงการอยู่”

เขากล่าวว่า ผู้ที่กล่าวว่าการกระทำนี้เป็นการสอบสวนทุจริต แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละทุจริตเสียเอง เขายืนกรานว่า การปราบปรามทุจริต ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลอยู่แล้ว และทิ้งท้ายด้วยคำพูดดุดันผสมขู่ว่า เขามีแฟ้มลับการทำงานของกลุ่มที่คอยจ้องเล่นงานรัฐบาลขณะนี้อยู่ในมือ ซึ่งหากเปิดเผยแล้ว ภูเขาสะเทือนแน่นอน 

ประชาชนตุรกีทุกคนรู้โดยไม่ต้องคิดว่า เออร์โดกานกำลังสื่อถึงใคร 

เพื่อตอบโต้ชนิดฟันต่อฟันกับแผนจู่โจมสายฟ้าแลบนี้ เออร์โดกานสั่งปลดนายตำรวจระดับอาวุโสหลายสิบคน รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลประจำอิสตันบูล พร้อมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของตนทราบก่อนจะดำเนินการสอบสวนใดๆ ก็ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการแผ่นดิน 

นายตำรวจชั้นสูงที่โดนปลดและโยกย้ายในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่สนิทชิดเชื้อกับกุเลนแทบทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นายเออร์โดกาน ได้แถลงถึงการปรับครม.ทั้งหมด 10ตำแหน่ง หลังจากที่ได้มีการประชุมลับกับประธานาธิบดี อับดุลลอฮฺ กูล 

ผู้เขียนไม่ขอฟันธงว่า ในกรณีนี้ฝ่ายไหนถูกผิด คงต้องรอการตัดสินคดีในชั้นศาลต่อไป และเห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีการปราบปรามทุจริต ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลเออร์โดกานที่ชูเรื่อง โปร่งใส ขาวสะอาดและปลอดทุจริต อยู่แล้ว 

ผลงานรัฐบาลตลอด 11 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถนำพาตุรกีที่ง่อยเปลี้ยและพิกลพิการจากมรดกบาปของระบอบคะมาลิสต์มาเป็นเด็กอ้วนท้วมแข็งแรงสมบูรณ์ขณะนี้ คือเครื่องหมายประกันคุณภาพที่แม้แต่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ยังต้องสงบปาก

แต่ที่ชวนสงสัยอย่างยิ่งยวดก็คือ แผนการจู่โจมของตำรวจมหานครอิสตันบูล บุกจับกุมผู้ต้องหาในอังการ่า ซึ่งเป็นเขตนอกพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเองแบบลับสุดยอด ชนิดที่แม้แต่คนระดับนายกรัฐมนตรีเอง ก็เพิ่งทราบข่าวจากข่าวโทรทัศน์เหมือนประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า แม้แต่นักแสดงระดับฮอลลิวูด ก็ไม่สามารถแสดงได้ 

ในประวัติศาสตร์การปราบปรามทุจริตระดับประเทศ ท่านผู้อ่านเคยทราบข่าวว่า มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศครั้งมโหฬารเหมือนที่เกิดขึ้นที่ตุรกีบ้างไหม มีการรักษาความลับสุดยอดชนิดที่ผู้นำสูงสุดไม่รับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น บ้างไหม

เพราะมันคือแผนอันเดียวกันที่เคยใช้อย่างสำเร็จลุล่วงแล้วที่อิยิปต์ในการโค่นประธานาธิบดีมุรซีย์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ ฝังกลบแนวคิดนิยมอิสลามที่ครอบคลุม ให้ดับมลายหายสิ้นจากโลกนี้ 

ทรัพยากรบุคคลระดับมันสมองและสถาบันการเงิน จึงเป็นเป้าหมายหลักของการจู่โจมในครั้งนี้ ที่อาจส่งทำให้ร่างกายของรัฐบาลอ่อนกำลังเป็นอย่างมาก

อย่างน้อย ก็สะบักสะบอม อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และมีผลอาจทำให้อภิมหาโครงการของรัฐบาลที่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้ต้องหยุดชะงักด้วยซ้ำ

และที่สำคัญคือสามารถสกัดกั้นการพุ่งทะยานของเครื่องบินที่มีกัปตันอย่างเออร์โดกาน มิให้โลดแล่นตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีที่จะมีขึ้นช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ และเลือกตั้งใหญ่ในปี 2015 ซึ่งเออร์โดกานต้องเว้นวรรคทางการเมือง และไม่สามารถลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้แล้วตามกฎหมายเลือกตั้งของตุรกี 

แต่กุเลนยังสามารถเล่นบทบาทรัฐบาลเงาได้อย่างสบาย ด้วยเครือข่ายอันมหึมาที่ได้แทรกซึมเข้าไปในทุกอณูพื้นที่ของระบบราชการ โดยเฉพาะวงการตำรวจและตุลาการ 

เออร์โดกานและกุเลนจึงเป็นสองสายธารที่ไม่สามารถรวมบรรจบกันได้ 

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad