ข่าว ข่าวโลกอิสลาม

ตุรกี เส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุค (ตอนจบ)

นายกรมต.ออร์โดกาน ถือเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดไม่เพียงในตุรกีเท่านั้น แต่ภาวะผู้นำของเขายังเจิดจรัสไปทั่วโลกอิสลาม จุดยืนและคำพูดของเขาในเวทีโลกที่พูดถึงปัญหาโลกอิสลาม โดยเฉพาะปัญหาฟิลัสฏีนและซีเรีย ชวนให้เรานึกถึงการหวนกลับมาของผู้นำที่โลกมุสลิมกำลังรอคอยนานนับศตวรรษ การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งใหญ่ 3 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา โดยล่าสุดในปี 2011 เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 50.2 ทิ้งพรรคคู่แข่งอย่างพรรคชาตินิยมอะตาร์เตอร์กขาดลอยซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 25.9 เป็นสิ่งการันตีว่าเขาสมารถครองใจประชาชนแค่ไหน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกสำหรับความสำเร็จอันน่าทึ่งของตุรกีตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรกของบทความนี้

มีกลุ่มเดียวที่หวั่นวิตกและมองการเดินหน้าของตุรกีด้วยสายตาชิงชังคือกลุ่มอำนาจเก่าและเหล่าสาวกอะตาร์เตอร์กที่พวกเขาเห็นว่า เป็นการคืบคลานเข้าครอบงำของศาสนาอิสลามและพากันเรียกว่าเป็นสงครามวัฒนธรรมเลยทีเดียว

และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2013 ที่ผ่านมา กระแสความไม่พอใจที่สั่งสมมายาวนานถูกระบายตามท้องถนนสายต่างๆ ณ กรุงอิสตันบูล และได้ขยายออกไปยังหลายเมือง โดยการประท้วงได้บานปลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นรัฐบาลใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม ในขณะที่ออร์โดกานประณามผู้ประท้วงว่าเป็น พวกหัวรุนแรงบ้าคลั่ง

พวกเขาชูประเด็นคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่จะตัดต้นไม้เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าที่สวนสาธารณะเกซี ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวหาได้ยากบริเวณขอบจตุรัสตักซีม พร้อมทั้งกดดันให้นายกรมต.ออร์โดกานลาออกจากตำแหน่ง

ถือเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดที่สุดและน่าเป็นชนิดเดียวในโลกนี้กระมัง ที่แทนที่ประชาชนระดับรากหญ้าจะประท้วงรัฐบาลเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น การว่างงาน หรือเศรษฐกิจตกต่ำที่กระทบถึงปัญหาปากท้องประชาชนเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศในยุโรปก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งการลุกฮือของประชาชนในวิกฤติอาหรับสปริงที่ผ่านมาและกำลังดุเดือดเลือดพล่านในซีเรียปัจจุบัน แต่ที่ตุรกีประชาชนลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลเรื่องต้นไม้เล็กใหญ่ที่จะถูกตัดประมาณ 600 ต้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้เตรียมแผนที่จะขุดต้นไม้ใหญ่เพื่อไปปลูก ณ สถานที่อื่นแทน นายออร์โดกานยังให้สัมภาษณ์ว่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตบนถนนการเมืองตั้งแต่เป็นนายกเทศมนตรี กรุงอิสตันบูล จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล 3 สมัยติดต่อกัน เขาได้มีส่วนรณรงค์ปลูกต้นไม้ทั่วตุรกีกว่า 200 ล้านต้น

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ประเด็นการประท้วงคัดค้านทำลายสวนสาธารณะที่เป็นชนวนความรุนแรงนี้เป็นแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น ส่วนฐานที่ถูกสั่งสมมายาวนานที่เป็นสาเหตุของการประท้วงที่แท้จริงคือ การรุกคืบในการนำอิสลามมาปฏิบัติใช้ในการบริหารปกครองประเทศ พร้อมทั้งสลัดทิ้งปรัชญาโลกาวิสัยที่เป็นมรดกบาปยุคอะตาร์เตอร์ก พวกเขากล่าวหานายออร์โดกานว่าบริหารประเทศแบบหนักมือเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และที่สำคัญ กำลังสวนทางกับลัทธิอะตาร์เตอร์กที่พวกเขาภักดี

ส่วนหนึ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นการรุกรานวิถีชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัวได้แก่
1. ข้อเสนอของรมว.สาธารณสุข ที่ให้แก้ไขกฎหมายเดิมที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้หลังจากตั้งท้อง 10 เดือน เป็น 4-6 เดือนในกฎหมายฉบับใหม่ นายออร์โดกานยังให้สัมภาษณ์อีกว่า การทำแท้งถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สาวกอะตาร์เตอร์กเป็นอย่างยิ่ง
2. การกลับมาของหิญาบในกลุ่มมุสลิมะฮฺ โดยมีสตรีหมายเลข 1 ของตุรกีเป็นต้นแบบ จนกระทั่งกลายเป็นกระแสการตอบรับอย่างล้นหลามในตุรกี จนกระทั่งมุสลิมะฮฺตุรกีหันมาใส่หิญาบจำนวนร้อยละ 65 สร้างความแค้นเคืองแก่สาวกอะตาร์เตอร์กที่ต่อสู้ปราบปรามหิญาบอย่างหนักหน่วงในอดีต พวกเขากล่าวว่าเป็นการเข้าคลองสู่ยุคมืดอีกครั้ง และพากันล้อเลียนการใส่หิญาบ ขนาดใส่หิญาบบนศีรษะนายออร์โดกานติดโปสเตอร์เผยแพร่ทั่วตุรกี พวกเขาถือว่าหิญาบคือสัญลักษณ์ของความคร่ำครึทางศาสนาเลยทีเดียว
3. การออกกฎหมายที่ห้ามหนุ่มสาวพลอดรักในที่สาธารณะ ซึ่งพวกเขาถือว่าออร์โดกานเป็นผู้นำเผด็จการและยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวมากเกินไป
4. ถือเป็นไฮไลท์และสาเหตุหลักของการประท้วงภาคพิศดารในครั้งนี้ นั่นคือรัฐบาลตุรกีเพิ่งออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ และจำกัดเวลาบริการระหว่าง 4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดตรวจระดับแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานยนต์ตลอดจนกำหนดระยะห่างระหว่างสถานศึกษาและมัสยิดกับร้านขายเหล้าอีกด้วย

นี่คือวาระซ่อนเร้นของการประท้วงอันงงงวยของตุรกีในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ให้ทัศนะว่า ระยะหลังๆ นี้จะสังเกตผู้ประท้วงส่วนใหญ่ชูขวดเหล้าเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงแทน ทำให้หลายฝ่ายฟันธงว่าการประท้วงในตุรกีได้เปลี่ยนจุดยืนจากการพิทักษ์ต้นไม้กลายเป็นอนุรักษ์เหล้าแทน

5. ความจริงแล้ว สวนสาธารณะเกซี ที่ขอบจัตุรัสตักซีมคือแหล่งโลกีย์และสถานเริงรมย์ขนาดใหญ่ที่สุดในอิสตันบูล ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของตึกกระทรวงกลาโหมยุคอุษมานียะฮฺอันใหญ่โตรโหฐานที่ถูกทำลายโดยทายาทอสูรอะตาร์เตอร์ก รัฐบาลยุคออร์โดกานมีแนวคิดกวาดล้างแหล่งอบายมุขแห่งนี้ด้วยการเสนอโครงการยักษ์สร้างตึกกระทรวงกลาโหมย้อนยุคอุษมานียะฮฺอีกครั้ง พร้อมกับสร้างมัสยิดตามสถาปัตยกรรมตุรกีอันเลื่องลือ หาใช่สร้างอาคารสรรพสินค้าตามเป็นข่าวแต่อย่างใด นายออร์โดกานได้ยืนกรานว่า จะสร้างมัสยิดบริเวณนี้ให้ได้ เสียงอะซานจะดังกึกก้อง ณ สถานแห่งนี้ ถึงแม้คนบางกลุ่มจะไม่พอใจก็ตาม

นอกจากนี้ออร์โดกานยังตัดสินใจตั้งชื่อสะพานใหม่ที่สร้างเสร็จเหนือช่องแคบบอสฟอรัสด้วยนามของเคาะลีฟะฮฺผู้ก่อตั้งอาณาจักรอุษมานียะฮฺอีกด้วย

ทำให้อีกกลุ่มมองอย่างหวาดระแวงว่าออร์โดแกนกำลังเชื่อมโยงตุรกีกับความยิ่งใหญ่ในอดีตยุคอุษมานียะฮฺหรือไม่อย่างไร

จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวแทบไม่สามารถนำเป็นเงื่อนไขในการประท้วงรัฐบาลเลย ตุรกีได้ข้ามโพ้นวิกฤติต่างๆที่โลกปัจจุบันกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าวิกฤติผู้นำ วิกฤติสังคมเศรษฐกิจและการเมือง นายออร์โดกานให้สัมภาษณ์ว่า หากการรับใช้ประชาชนและพัฒนาประเทศถึงระดับนี้ยังเป็นเผด็จการ ก็ไม่รู้จะสรรหาคำพูดไหนมาอธิบายกันแล้ว เขายังประณามผู้ประท้วงว่าเป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตย ตุรกีเคยอยู่ในช่วงเผด็จการอะตาร์เตอร์กที่ไม่เพียงแต่ห้ามมีการชุมนุมประท้วงเท่านั้น แม้แต่คิดต่างกับรัฐบาลเงียบๆเพียงคนเดียวก็อาจถูกยัดเข้าไปในคุกตะรางโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้

ออร์โดกานเสนอให้มีการประชามติเพื่อหยุดการประท้วง แต่ฝ่ายชุมนุมไม่ยอม เพราะพวกเขารู้ดีว่าผลจะออกมาเช่นไร ล่าสุดออร์โดกานได้เขียนในทวิตเตอร์ส่วนตัวทั้งภาษาอาหรับและตุรกี เชิญชวนให้ประชาชนชาวตุรกีถือศีลอดในวันพฤหัสบดีที่ 20 มิ.ย 2013 เพื่อร่วมขอดุอาให้อัลลอฮฺปกป้องตุรกีจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีพร้อมทั้งรักษาอำนาจของเขาเพื่อพัฒนาตุรกีต่อไป

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นี่คืออาการดิ้นเฮือกสุดท้ายของสาวกลัทธิแซคิวล่าร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ เป็นภาวะจนตรอกของกลุ่มผู้เสียอำนาจที่จะต้องดิ้นสุดฤทธิ์ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ตนเองและพรรคพวก กลุ่มนี้ไม่เคยสนใจอะไรนอกจากสนองอารมณ์ใฝ่ต่ำและท้าทายอำนาจของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล นับประสาอะไรที่จะไปอาลัยอาวรณ์กับต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น ทั้งๆ ที่ซีเรียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเรือนเคียง ถูกกลุ่มอมนุษย์รุมทำร้ายทั้งเด็ก สตรี คนชราและชีวิตบริสุทธิ์ต้องสังเวยไปนับแสนๆ คน บ้านเรือนถูกทำลายย่อยยับ แต่ก็ไม่สามารถกระตุกต่อมความรู้สึกของพวกเขาแม้แต่น้อย

ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ตำรวจตุรกีเข้าจับกุมชีอะฮฺกลุ่มหนึ่งที่กำลังปลุกระดมผู้คนให้ประท้วงรัฐบาลที่เมืองหลวงอังการ่า นี่คือสัญญาณแห่งความสลับซับซ้อนที่ตุรกีจะต้องรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน

ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองตุรกี ขอให้นายกรมต.ออร์โดกานและคณะรัฐบาลชุดนี้มีกำลังใจอันแน่วแน่ ยืนหยัดเผชิญหน้ากับสิ่งภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกด้วยความสุขุม คัมภีรภาพ มีขันติและเชื่อมั่นในความช่วยเหลือของอัลลอฮฺพร้อมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนตุรกีและประชาชาติมุสลิมให้เป็นประชาชาติตัวอย่างที่ถูกบังเกิดมายังมนุษยชาติทั้งมวล

“สูเจ้าอย่าได้ท้อและระทม เพราะสูเจ้าคือประชาชาติที่สูงส่ง หากสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”
(อาละอิมรอน/139)
“แท้จริงชัยฏอนนั้น เพียงขู่ได้เฉพาะบรรดาผู้ที่เป็นสาวกของมันเท่านั้น ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา (อาละอิมรอน/175)
โชคดีตุรกี โชคดีออร์โดกาน โชคดีประชาชาติมุสลิม
จบ

ข้อมูลอ้างอิง
– สัมภาษณ์นายอับดุลเอาวัล สิดดีก นศ.ไทย่ทีกำลังศึกษาที่ Marmara University , Istambul fb: abdulevvel Siddiq
– http://www.salahsoltan.com/DoctorNews/975/Default.aspx
– http://www.almokhtsar.com/node/146963
http://www.news.islamstory.com
– http://www.bangkokbiznews.com/