บทความ บทความวิชาการ

เกาะติดสถานการณ์ตุรกี [ตอนที่ 1]

ตุรกีในวันนี้กำลังเผชิญหน้ากับสงครามที่ดุเดือดที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสงครามเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ผ่านมา ตุรกียุคแอร์โดอาน เคยผ่านวิกฤตทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศมามากหลาย ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปี 2013 โดยผู้ชุมนุมกดดันรัฐบาลให้ลาออกเพราะไปตัดต้นไม้ที่เกซีปาร์ก ซึ่งบานปลายเป็นการประท้วงเนื่องจากรัฐบาลกำหนดเวลาการซื้อขายเหล้าสุราและจัดระเบียบหอพัก

คล้อยหลังอีกปีกว่า ๆ พวกเขาได้ปฏิบัติแผนล้มรัฐบาลแบบสายฟ้าแล๊บผ่านกระบวนการยุติธรรมและตำรวจด้วยการจับกุมบุคคลระดับรัฐมนตรีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นชนิดที่นายกรัฐมนตรีแทบไม่รู้ข่าวแม้แต่น้อย พวกเขายังใช้แผนทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาลด้วยการก่อจลาจลและความไม่สงบในประเทศโดยกลุ่มก่อการร้ายสากล เพื่อสร้างรัฐแห่งความหวาดกลัว จนกระทั่งในปี 2016พวกเขาได้ก่อรัฐประหารโดยใช้กองกำลังทหารและอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีเป้าหมายคิดบัญชีขั้นเด็ดขาดกับประธานาธิบดีแอร์โดอานและรัฐบาล AKP แม้กระทั่งเหตุไฟไหม้ล่าสุดในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ในเวลาไล่เลี่ยกันกว่า 100 จุด ที่มีหลายฝ่ายเชื่อว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมีมือมารที่ยอมเผาบ้านเมืองของตนเองเพื่อหวังผลทางการเมืองอันสกปรก

ทุกเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือของอีแอบที่คอยกดรีโมทจากภายนอกด้วยความร่วมมือของมือสกปรกจากภายในที่ยอมเป็นหุ่นเชิด โดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลแอร์โดอานที่มาจากการเลือกตั้งโดยวิถีประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาล AKP ตุรกีสามารถปลดหนี้ IMF จำนวน 23,000 ล้านUSD เมื่อปี 2013 เพิ่มกองทุนสำรองในธนาคารแห่งชาติจาก 27,000ล้านUSD เมื่อปี 2002 เป็น 130,000 ล้านUSD ในปี 2013 เพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากรจาก 3,000 USD : คน : ปี เป็น 11,000 USD :คน :ปี  มีการขยายตัวของภาคธุรกิจจาก 250,000 ล้าน USD เป็น  900,000 ล้าน USD

ปัจจุบันตุรกีมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของยุโรปและอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน

ก่อนปี 2003 ซึ่งเป็นยุคก่อนรัฐบาล AKP เงินลีร่าตุรกีมีค่า 1USD = 1,000,000  ในปี 2013 เงินลีร่ามีค่า 1USD= 1.34 TRY ก่อนที่ร่วงเป็นประวัติการณ์ เป็น 12-13 TRY : 1USD ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลยุคแอร์โดอานสามารถตัด 0 จากธนบัตรจำนวน 6 ตัวทีเดียว 

ถึงแม้ตุรกีจะประสบผลสำเร็จมากมายแค่ไหน แต่ชาติตะวันตกและรัฐพันลึกไม่มีวันที่จะพอใจ พวกเขาจึงใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มรัฐบาลแอร์โดอานให้ได้

ก่อนหน้านี้พวกเขาชื่นชมตุรกีไม่ขาดปาก แถมยังยกย่องตุรกีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาและมีใจกว้างต่อชนต่างศาสนิก ถึงขนาดเชิดชูตุรกีเป็นโมเดลของสานเสวนาระหว่างศาสนา แต่วันนี้พวกเขาโจมตีตุรกีและผู้นำตุรกีสารพัด แอร์โดอานจึงได้รับฉายามากมายอาทิ ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ยุคใหม่ จอมเผด็จการ ผู้นำกระหายเลือด เสพติดอำนาจ ฮิตเลอร์แห่งตุรกี ฯลฯทั้ง ๆ ที่แอร์โดอานได้นำพาตุรกีจากประเทศที่ถูกบังคับให้ปฏิเสธอิสลามบัดนี้ ตุรกีได้ทุ่มเทงบประมาณสร้างมหาวิทยาลัยจาก 70 แห่งเป็นเกือบ 200 แห่งทั่วประเทศ สร้างและซ่อมแซมมัสยิดใหญ่โตเกือบ 20,000 แห่งทั่วประเทศในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนมัสยิดอายาโซเฟียจากพิพิธภัณฑ์กลายเป็นมัสยิดวากัฟตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของสุลตานผู้พิชิตมูฮัมมัดอัลฟาติห์เมื่อปีค.ศ.1453

และมัสยิดเมดานตักซีมอันใหญ่โตที่ถูกสร้างขึ้นกลางหัวใจของลัทธิเซคิวล่าร์ เพื่อประกาศชัยชนะของอิสลามบนดินแดนคอลีฟะฮ์ 

ยังไม่รวมมัสยิดชามลีจา ที่เปิดบริการเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 110 ล้าน USD จุคนละหมาดในเวลาเดียวกันกว่า 60,000 คน  

เยาวชนรุ่นใหม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้ใกล้ชิดอันกุรอานและการละหมาดแทนด้วยการมอมเมาด้วยกิจกรรมอบายมุขและสิ่งเย้ายวนทั้งหลาย

ส่วนการพัฒนาด้านสังคม การศึกษาระบบสาธารณูปโภค การสาธารณสุขการคมนาคม กล่าวได้ว่าตุรกีกลายเป็นประเทศต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ที่แม้แต่ศัตรูยังต้องชื่นชม

ที่สำคัญ ตุรกียังยกระดับประเทศที่สามารถหายใจด้วยจมูกของตนเองตามแผนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ด้วยการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์อันทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ที่แม้แต่ประเทศมหาอำนาจยังต้องทึ่งตะลึง

อะไรที่ทำให้ชาติตะวันตกหมั่นไส้ตุรกี ถึงขนาดประธานาธิบดีไบเดน ได้ประกาศช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาว่า หนึ่งในนโยบายต่างประเทศของตนคือ โค่นล้มรัฐบาลแอร์โดอาน โดยไม่ใช่วิธีรัฐประหาร 

อะไรคือความหมายของคำว่า حرب الاستقلال الاقتصادي (สงครามเพื่อเอกราชทางเศรษฐกิจ) ที่ประธานาธิบดีแอร์โดอานกล่าวถึงล่าสุด

คิดตามภาค 2 ครับ


โดย Mazlan Muhammad