บทความ บทความวิชาการ

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 3]

หลังจากแผนการณ์ทำหมันอิสลามสำเร็จในระดับหนึ่งที่อิยิปต์ ตุรกีคือตะปูตัวสุดท้ายที่จะต้องตอกปิดฝาโลง “แนวคิดใฝ่อิสลาม” เพื่อไม่ให้ออกมามีบทบาทในโลกอย่างอิสระเสรี 

รัฐบาลเออร์โดกานคือหน่อไม้ในกอไผ่ที่หนาทึบ การที่หน่อไม้นี้จะชูลำต้นเหนือดงกอได้ จำเป็นต้องผ่านการเสียดสีอุปสรรคขวากหนามที่คอยทิ่มแทงสกัดกั้นมิให้มันเติบโตมาเทียบบารมี แต่ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ หน่อไม้นี้กำลังชูลำต้นอย่างสูงสง่า ท่ามกลางความแค้นเคืองของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

แนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ แซคคิวล่าร์ ดุนยานิยม เผด็จการทหาร กลุ่มสุดโต่ง Ergenekon และกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ มากมายที่กลายเป็นดงไผ่ที่แน่นหนา คอยสะกัดกั้นทุกวิถีทางมิให้หน่อไม้แห่งอิสลามเติบโตในตุรกี

ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองตุรกี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นาย Adnan Menderas ชนะเลือกตั้งใหญ่และเป็นแกนนำบริหารประเทศระหว่างปี 1950 -1957 เขาคือผู้นำแซคคิวล่าร์ (ดุนยานิยม) คนหนึ่งที่เป็นทายาทอสูรที่ได้รับการสืบทอดจากระบอบคามาลิสต์ เพียงแต่ในสมัยที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล เขาได้ยกเลิกการอะซานจากภาษาตุรกีให้เป็นภาษาอาหรับ และอนุญาตให้เปิดสอนอัลกุรอานและโรงเรียนศาสนาอิสลามได้อย่างเสรี ด้วยเหตุผลมอบสิทธิส่วนบุคคล แต่สุดท้ายทหารต้องลุกขึ้นปฏิวัติครั้งแรกในปี 1960พร้อมตัดสินประหารชีวิตนาย Menderas และอดีตรัฐมนตรีอีก 3 คน ฐานบริหารประเทศผิดพลาดและขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของลัทธิคามาลิสต์อันศักดิ์สิทธิ์

หากกลุ่มนี้ สามารถก้าวเข้ามากุมบังเหียนตุรกีใหม่ (لا قدر الله ) นายเออร์โดกานและพรรคพวกจะไม่ถูกตัดสินประหารชีวิตแบบเจ็ดชั่วโคตรหรือ 

กลุ่มนี้ ได้กลายเป็นมือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) ที่คอยชักใยและสถาปนาเป็นเสมือนรัฐบาลเงาในตุรกี ที่คอยจู่โจมรัฐบาลเออร์โดกานยามเพลี่ยงพล้ำหรือเผลอเรอ พวกเขาไม่มีภารกิจอื่นใด ยกเว้นล้มล้างรัฐบาลที่มีอายุ 11 ขวบนี้ ถึงแม้จะต้องแลกด้วยทุกอย่าง แม้กระทั่งความล่มจมของประเทศก็ตาม (อัลลอฮุลมุสตะอาน)

กลุ่มญะมาอะฮฺ Khidmat ของกุเลน ก็เป็นหนึ่งในมือที่มองไม่เห็นที่คอยบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลเออร์โดกานเช่นกัน จนกระทั่งบัดนี้ กุเลน ได้อ่านดุอากุนูตนาซิละฮฺ ที่มีเนื้อหาให้อัลลอฮฺทำลายรัฐบาล 11 ขวบนี้ เขาดุอาว่า ขอให้อัลลอฮฺทรงทำให้จุดยืนของพวกรัฐบาลสั่นคลอน แตกกระจาย พังพินาศ และแตกแยกกันเอง ขอให้เรามีชัยชนะเหนือพวกเขา ซึ่งเป็นดุอาบทเดียวที่มุสลิมทั่วโลกอ่านเพื่อสาปแช่งศัตรูอิสลามอันร้ายกาจที่เข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมอย่างเหี้ยมโหดเลยทีเดียว

เราไม่เคยได้ยินกุเลนอ่านดุอานี้เพื่อสาปแช่งยิวที่สร้างวีรกรรมโฉดต่อพี่น้องฟิลัสฏีนตลอดระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งต่อผู้นำซีเรียอย่างบัชชาร์ที่ได้สร้างแม่น้ำเลือดที่ยาวที่สุดในโลกขณะนี้ เราก็ไม่เคยได้ยินว่ากุเลยเคยอ่านดุอาสาปแช่งผู้นำจอมกระหายเลือดคนนี้เลย กุเลนมีจุดยืนถ้อยทีถ้อยอาศัยและประนีประนอมกับทุกรัฐบาลตุรกีก่อนหน้าเออร์โดกานได้อย่างลงตัวที่สุด แม้กระทั่งสนับสนุนผู้นำทหารที่ปฏิวัติรัฐบาลของ Necmettin Erbakan ที่ถูกรัฐประหารในปี 1997 หลังจากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ถึง 1 ปี

กุเลนสามารถสร้างความปรองดองกับทุกกลุ่มพรรค ไม่ว่าจะมีแนวคิดที่ต่อต้านอิสลามมากมายแค่ไหน กุเลนก็ยังมีทัศนะว่าควรสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเหล่านี้เพื่อ “มีการแสดงออกที่งดงามในการสานเสวนากับผู้อื่น การวางตัวที่เหมาะสม และมีท่าทีที่ชัดเจนในการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยยึดหลักของความอดทน สันติภาพ และการมีความคิดที่เปิดกว้างเพื่อนำอิสลามไปสู่ผู้คนอย่างสมบูรณ์ “

แต่ทำไม เมื่อถึงเวลาหนึ่ง กุเลนได้ละทิ้งหลักการนี้เมื่อประกาศจุดแตกหักกับเออร์โดกาน และใช้คำพูดที่รุนแรงซึ่งขัดแย้งกับบุคลิกภาพของกุเลนตามที่โลกได้รู้จัก 

หลังจากที่นสพ.ของกลุ่มกุเลนฉบับหนึ่ง ได้เผยแพร่เอกสารลับที่ระบุว่าเออร์โดกานมีมาตรการให้เฝ้าระวังและสอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิทธิพลที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มหัวแถวนี้มีชื่อของกลุ่มกุเลนรวมอยู่ด้วย สัมพันธภาพระหว่างสองขั้วแนวคิดที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงคลื่นใต้น้ำ ได้ก่อตัวเป็นคลื่นบนผิวน้ำอย่างเต็มตัว 

กุเลนได้ลั่นกลอนรบด้วยการดุอาให้อัลลอฮฺเผาไหม้บ้านเรือนของพวกเขา จงทำลายพวกเขาให้สิ้นซาก และจงทำให้พวกเขาแตกแยกกันเอง ท่ามกลางเสียงร้องไห้ระงมของบรรดาสานุศิษย์ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักคิดซูฟี

ในขณะที่เออร์โดกาน ก็ตอบโต้อย่างดุเดือดว่า เราจะบุกเข้าไปในถ้ำของพวกเขา และกล่าวหาว่าพวกเขาได้ร่วมมือกับกองกำลังนานาชาติที่แฝงตัวอยู่ในมืดคอยบงการและชักใยอยู่เบื้องหลัง

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad