บทความ บทความวิชาการ

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 1]

มุฮัมมัดฟัตฮุลลอฮฺ กุเลน (เกิดปี ค.ศ. 1941) ถือเป็นนักคิดและผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีอิทธิพลทางความคิดสูงมากในตุรกีและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มจากมารดาในขณะอายุยังเล็ก ๆ เขาเริ่มทำงานด้านศาสนาในตำแหน่งอิมามประจำมัสยิดที่เมือง Adranah ขณะที่มีอายุเพียง 20 ปี เขาใช้ชีวิตเกือบ 2 ปีครึ่งในช่วงนี้ด้วยการเอี้ยะติก้าฟในมัสยิดแห่งนี้ และไม่ออกจากมัสยิดยกเว้นด้วยเหตุจำเป็นเท่านั้น เขาเคยเป็นครูสอนท่องจำอัลกุรอานที่เมือง Izmir ซึ่งเป็นมหานครทางตะวันตกของอานาโตเลียและเป็นเมืองอันดับ 3 ที่มีประชากรมากที่สุดในตุรกี เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในนามนักบรรยายศาสนาทั้งในมัสยิด และแม้กระทั่งในผับบาร์ เนื้อหาการบรรยายของเขาจะเน้นเรื่องคุณค่าและพื้นฐานสำคัญของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและการปฏิรูปสังคม

เขาสรุปว่า มีโรคร้าย 3 ชนิดที่กำลังรุมเร้าโลกมุสลิม นั่นคือ

ความเขลาไร้การศึกษา ความยากจน และความแตกแยก

เขาได้วางยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาความเขลาไร้การศึกษา ด้วยการทุ่มเทความพยายามในการเผยแพร่อิสลามด้วยแนวคิดที่บูรณาการระหว่างภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เขาสามารถจุดประกายและโน้มน้าวให้บรรดาเศรษฐีและนักธุรกิจมุสลิมที่มีอาคารใหญ่โตทั่วตุรกี หันไปสร้างตึกอาคารในสวนสวรรค์ควบคู่กับการสร้างตึกอาคารบนโลกดุนยา ด้วยการแปลงตึกอาคารเหล่านี้ให้เป็นสถานศึกษา และด้วยแนวคิดนี้กุเลนสามารถเปิดสถานศึกษาทั่วตุรกีตั้งแต่ระดับอนุบาลประถมจนถึงระดับอุดมศึกษามากกว่า 300 แห่ง และเปิดสาขาทางการศึกษาทั่วโลก เช่นมอร็อกโค เคนยา อูกันดา รัสเซียและประเทศแถบเอเชียกลาง ในปัจจุบัน เฉพาะในสหรัฐอเมริกา บรรดาลูกศิษย์ของเขาได้จัดตั้งโรงเรียนทุกระดับทั่วอเมริกาเกือบ 100 แห่งทีเดียว และอาศัยบรรดาสานุศิษย์ที่กระจัดกระจายไปทั่วบ้านทั่วเมืองตามสาขาอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการ นักการเมือง ทหารตำรวจ นักธุรกิจ นักกีฬาหรือแม้กระทั่งนักร้องนักแสดง ทำให้กุเลนกลายเป็นผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญและพยายามสถาปนาตนเองเป็นผู้นำเงาของตุรกี ซึ่งเจ้าตัวก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ตลอดเวลา ในช่วงปลายสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Mustafa Bulent Ecevit เขาได้ออกคำแถลงการณ์ในรายการโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปัจจุบัน แต่เขามักอ้างเหตุผลว่าเพื่อรักษาโรคประจำตัว

กุเลนจึงกลายเป็นปูชนียบุคคลทางการศึกษาระดับโลก และเป็นที่ยกย่องในตุรกีว่าเป็น “บิดาแห่งนักสังคมสงเคราะห์อิสลาม” (ซึ่งควบคู่กับนัจมุดดีน อัรบะกาน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ที่ได้รับฉายาว่า เป็นบิดาแห่งนักการเมืองอิสลาม) จนกระทั่งได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Foreign Policy และ Prospect Megazine จากประเทศอังกฤษให้เป็นบุคคลอันดับ 1 ใน 100 คนจากบรรดานักวิชาการทั่วโลกที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในปี 2008 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ได้ประสาทปริญญาระดับศาสตราเมธาจารย์ (Chair Professor) เพื่อเป็นเกียรติประวัติและยกย่องในคุณงามความดีของเขา

นอกจากเปิดสถานศึกษาในทุกระดับชั้นแล้ว กุเลนยังเปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์อีก 7 ช่อง สร้างโรงพิมพ์ 30 แห่ง ผลิตหนังสือ 100กว่าชื่อเรื่องต่อปี ผลิตวารสารทางวิชาการ 15 ชื่อเรื่อง ผลิตหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่าย 1 ล้านฉบับ และหลายสิบเว็บไซต์เพื่อเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่อิสลามและเป็นเวทีประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรอีกด้วย

ส่วนยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน กุเลนเปิดบริษัทและดำเนินธุรกิจมากมาย จัดตั้งองค์กรสาธารณกุศลมากมายที่ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ยากไร้ เขาสามารถจุดประกายคนหนุ่มสาวและนักธุรกิจให้มีจิตอาสาทำงานอย่างมุ่งมั่น หวังในความพึงพอใจของอัลลอฮฺมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์บนโลกดุนยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้บริการเฉพาะผู้คนในประเทศตุรกีเท่านั้น แต่หลายๆประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับความดีงามเหล่านี้ไปด้วย องค์กรของกุเลนหรือเป็นที่รู้จักในตุรกีว่า องค์กร Khidmat ถือเป็นองค์กรเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้        เหยื่อผู้ประสบภัยทางธรรมชาติทั่วโลก

หนึ่งในผลงานแห่งความสำเร็จของกุเลนด้านยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนคือการจัดตั้งธนาคารปราศจากดอกเบี้ยด้วยฐานเงินทุนจำนวน 125 ล้านดอลล่าร์ 

ส่วนยุทธศาสตร์การสร้างความสมัครสมานของผู้คนนั้น ฟัตฮุลลอฮฺ กูเลน ใช้การสานเสวนาระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นกลไกขับเคลื่อนโดยมีหน่วยงานเอกชนและนักธุรกิจชาวตุรกีให้การสนับสนุนโดยการจัดประชุม การพบปะพูดคุยถึงปัญหาที่มนุษยชาติประสบร่วมกัน มีการแสดงออกที่งดงามในการสานเสวนากับผู้อื่น การวางตัวที่เหมาะสม และมีท่าทีที่ชัดเจนในการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยยึดหลักของความอดทน สันติภาพ และการมีความคิดที่เปิดกว้างเพื่อนำอิสลามไปสู่ผู้คนอย่างสมบูรณ์

บนแนวคิดนี้ กุเลนได้รับการยกย่องจากตะวันตกว่าเป็น “ต้นแบบ” แห่งการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม เขาประณามความรุนแรงและมองว่าผู้นิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหาทางสังคมคือ กลุ่มที่ล้มละลายทางความคิด เขาเห็นว่าโลกยุคใหม่ควรเป็นยุคแห่งการเปิดกว้าง การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านการสานเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม เน้นการเคารพสิทธิของผู้อื่น เขามองว่าประชาธิปไตย สามารถแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดของเขาอาจเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกันข้ามกับแนวคิดของนัจมุดดีน อัรบะกาน เราะฮิมะฮุลลอฮฺที่มองว่าสหรัฐอเมริกาคือศัตรูของโลกอิสลาม เนื่องจากการครอบงำของไซออนิสต์สากล แต่กูเลนกลับมองว่าอเมริกาและยุโรปคือชาติมหาอำนาจที่เราต้องเชื่อมสัมพันธไมตรีและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

ท่านได้ทุ่มเทความพยายามในการจัดให้มีการสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ระหว่างกลุ่มตัวแทนที่ต่างอุดมการณ์ วัฒนธรรม ศาสนาจากชาติต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1999 ผลงานของท่านที่ชื่อว่า “The Necessity of Interfaith Dialogue” หรือ “ความจำเป็นของการสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างศาสนา” ได้รับการนำเสนอต่อสภาศาสนาโลก การยืนยันว่า การสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันเป็นสิ่งจำเป็น และผู้คนไม่ว่าจะมาจากชาติใดหรือระบการเมืองใดมีอะไรสิ่งที่เหมือนกันมากมายกว่าที่พวกเขาคิดไว้ ในปี ค.ศ. 1994 กูเลนได้ช่วยจัดตั้งมูลนิธินักหนังสือพิมพ์และนักเขียนขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในทุกระดับชั้นทุกสาขาในสังคม นอกจากนั้นกูเลนยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและให้การต้อนรับบุคคลสำคัญทั้งในตุรกีและทั่วโลก เช่น พระสันตปาปา จอห์น ปอลที่2 แห่งวาติกัน อาร์คิบิชอปแห่งนิวยอร์ค สังฆราซแห่งคริสตจักรออร์โธดอกซ์ตุรกี สังฆราซแห่งชุมชนอาเมเนียตุรกี หัวหน้าแรบไบของชมชนชาวยิวตุรกี ผู้นำคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็ได้มาพบท่านเป็นประจำ ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้คนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า กุเลนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเชคสะอี้ด อันนูรซีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ผู้มีฉายาบะดีอุซซะมาน (1877-1960) ชัยค์ซูฟี เชื้อสายกุรดี (เคิร์ด)และอาลิมผู้ยิ่งใหญ่ตลอดจนนักเคลื่อนไหวที่สำคัญของโลกอิสลาม เจ้าของวลีเด็ด 

اعوذ بالله من الشيطان الرجيم والسياسة

(ฉันขอความคุ้มครองจากมารร้่ายที่ได้รับการสาปแช่งและการเมือง)

บนพื้นฐานแนวคิดนี้ กุเลนจึงมีความถ่อมตนและพอเพียงในประเด็นการเมืองมาก บรรดาสานุศิษย์ของเขาถูกอบรมให้ความสำคัญกับการศึกษา การตัรบียะฮฺและสังคมสงเคราะห์ และไม่เปลืองตัวเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่จะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งจากทุกคนที่พร้อมให้การสนับสนุนและปกป้ององค์กร ด้วยเหตุนี้องค์กรของกุเลนจึงสามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีและเป็นผู้สนับสนุนหลักรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคแซคิวล่าร์ กลุ่มใฝ่สังคมนิยมหรือกลุ่มสาวกคามาลิสต์ (ผู้นิยมยกย่องมุสตาฟา คามาล อะตาร์เตอร์ก) กลุ่มของเขาจึงสามารถตั้งตนเป็นรัฐบาลเงาหรือสร้างมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ในทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเออร์โดกาน

กล่าวได้ว่า กลุ่มของกุเลนที่มีฐานเสียงทั่วตุรกีที่ครอบคลุมผู้คนทุกสาขาอาชีพ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เออร์โดกานก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัยติดต่อกัน และตลอดระยะเวลา 11 ปีภายใต้การนำของพรรคยุติธรรมและพัฒนา กลุ่มของกุเลนก็สยายปีกทำงานทางภาคประชาสังคมอย่างแข็งขัน จนหลายคนเชื่อว่า เออร์โดกานเป็นศิษย์เอกและเด็กในคาถาของกุเลนเลยทีเดียว 

แต่การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ วลีที่ว่า ไม่มีมิตรและศัตรูที่ถาวร ผลประโยชน์เท่านั้นที่นิรันดร ยังใช้ได้อยู่ตราบทุกวันนี้

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร และเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติตุรกีในปี 2014 และ 2015 อย่างไรบ้าง อะไรคือเบื้องหลังคดีคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาว อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบันอิสลามนี้ องค์กรของกุเลนจะสวมบทบาทพรรคนูรที่อิยิปต์หรือไม่ และอะไรที่ทำให้เออร์โดกานตอบโต้ด้วยคำพูดอันดุดันว่า ตุรกีกำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชของประเทศครั้งที่ 2 

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad