อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019
ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ อ. ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019 ที่จัดขึ้นที่ KL Convention Centre ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีผู้นำสูงสุด 3 ประเทศ นอกจากประเทศเจ้าภาพมาเลเซียคือ กาตาร์ ตุรกี และอิหร่าน เข้าร่วมถกปัญหาและร่วมมือแก้ไขวิกฤติโลกอิสลามในปัจจุบัน อีกทั้งสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

ในการประชุมครั้งนี้มีนักวิชาการ นักคิดทั่วโลกเกือบ 500 คนจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม ในโอกาสนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้มีโอกาสพบปะและทักทายผู้นำประเทศตุรกี นายรอยับ ตอยยิบแอร์โดอาน และตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกด้วย

เอื้อเฟื้อรูปภาพโดย Muslim Bin Ismail Lutfi
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ทิศทางใหม่ของโลกอิสลามที่ไม่ขึ้นกับแรงกดดันของมหาอำนาจ

“การจัดตั้งตลาดร่วม” และ “จัดตั้งสกุลเงินเดียวกัน” มิติด้านเศรษฐกิจร้อนฉ่า ที่จะมีการนำเข้าพิจารณาในการประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 พรุ่งนี้

การประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-21 ธันวาคมนี้ ภายใต้แนวคิด THE ROLE OF DEVELOPMENT IN ACHIEVING NATIONAL SOVEREIGNTY “บทบาทของการพัฒนาต่อการมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง”


นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกของการบำบัดรักษาโรคร้ายที่เกาะกินโลกมุสลิม พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนเพื่อให้สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมที่วางไว้

วาระหลักของการประชุมครั้งนี้ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับกรณีการลี้ภัยของมุสลิมทั่วโลกอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองหรือความตกต่ำทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น จะมีการพิจารณาเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลกมุสลิม รวมถึงอัตลักษณ์ประจำชาติต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรม และอิสลามโมโฟเบียที่กำลัง เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงและอื่นๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีเพื่อเผยแพร่หลักคำสอนอิสลามที่แท้จริงแก่สังคมโลก ตลอดจนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดตกขอบและอิสลามโมโฟเบีย

แนวคิดของการประชุมครั้งนี้ ต้องการที่จะประมวลเจตนารมณ์ ทรัพยากรและเศรษฐกิจความมั่งคั่ง เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางของประเทศต่างๆ อันจะทำให้มีอิสรภาพและมีอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายด้วยตนเองอย่างแท้จริง ไม่ขึ้นอยู่กับการกดดันหรือการบีบบังคับของประเทศมหาอำนาจใดๆ

การประชุมระดับประมุขสูงสุดของประเทศมุสลิมเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ตลอดจนการนำเสนอผลการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโลกมุสลิมที่มีความพร้อมเป็นอย่างสูง ทำให้จะต้องมีการคิดอย่างจริงจังเพื่อการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและทรัพยากรของประเทศมุสลิมในการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ ความมั่นคงทางการเมือง และเสรีภาพด้านนโยบายการเมืองและความมั่นคงตามความประสงค์

รวมถึงจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศมุสลิม 5 ประเทศ อันประกอบด้วยตุรกี กาตาร์ อินโดนีเซีย ปากีสถานและมาเลเซีย ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างชัดเจนในระยะหลังนี้ ตลอดจนการแสวงหาตลาด และการให้ความสะดวกต่อกัน การกำหนดสถานที่และตลาดเสรี ในลักษณะเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียนและ ตลาดร่วมของ สหภาพยุโร

5 ประเทศหลักดังกล่าวมีเป้าหมายและความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและจัดทำโครงการทางเศรษฐกิจร่วมกัน

เพราะประเทศดังกล่าว นี้มีทรัพยากรบุคคลมหาศาล มีประสบการณ์ทางเทคนิคชั้นสูงที่เพียงพอ รวมถึงลักษณะพิเศษอื่นๆที่มีอยู่ในประเทศเหล่านี้ เช่นการเป็นศูนย์รวมของโลกธุรกิจ เป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมระดับโลกซึ่งเชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกโลก กลุ่มประเทศตอนเหนือและโลกตอนใต้ ตลอดจนมีความพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างสูง มีโครงการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จและมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

ซึ่งเป้าหมายระยะแรกของกลุ่มประเทศดังกล่าว ได้แก่ การจัดตั้งตลาดร่วม และการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในระดับที่สามารถสร้างโรงงาน สร้างเมือง สร้างท่าเรือและเรือใหญ่ได้

นอกจากนั้น การจัดตั้งสกุลเงินเดียว สำหรับกลุ่มประเทศมุสลิม ยังเป็นหัวข้อหลักที่คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการวิจัยด้านการเงิน จะนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากการที่หลายๆประเทศต้องการที่จะสลัดพ้นจากอิทธิพลการครอบงำของดอลลาร์อเมริกา

หัวข้อที่ทางเศรษฐกิจที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวดเหล่านี้ รวมถึงหัวข้ออื่นๆ จะเป็นวาระของการพิจารณาของกลุ่ม 5 ประเทศดังกล่าวและประเทศอื่นที่อาจจะเข้าร่วมภายหลัง เพื่อความสำเร็จในการจัดตั้งตลาดสำหรับโลกมุสลิมที่มีปัจจัยความสำเร็จอย่างครบถ้วนแล้ว หากมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะดำเนินการ

อ้างอิง https://www.turkpress.co/node/67035
เขียนโดย Ghazali Benmad

เกาะติดกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019

ก้าวแรกของการบำบัดรักษาโรคร้ายที่กำลังเกาะกินโลกอิสลาม

นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวว่า เราขอประกาศว่ามุสลิมทั้งมวลเป็นพี่น้องกัน ถึงกระนั้นมุสลิมประเทศต่างๆ กลับตกอยู่ภายใต้สงครามภายในที่ไม่มีวันสิ้นสุด สงครามระหว่างกลุ่มที่แตกต่าง ตลอดจนสงครามกับประเทศมุสลิมเพื่อนบ้าน บางครั้งถึงกับขอให้ศาสนิกอื่นมาทำสงครามกับพี่น้องมุสลิม

หนังสือพิมพ์ New Straits Times ของมาเลเซียรายงานรายงานว่า กัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 การประชุมในครั้งนี้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-21 ธันวาคม 2019 เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างโลกมุสลิมสู่มิติใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของโลกมุสลิม

นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวในสารถึงผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ผ่านเว็บไซต์การประชุม klsummit.my ถึงสิ่งท้าทายและอุปสรรคที่โลกมุสลิมกำลังเผชิญ

สิ่งท้าทายส่วนหนึ่งได้แก่การใช้อำนาจเกินขอบเขต การคอรัปชั่น และถูกตราหน้าว่าเป็นดินแดนแห่งการก่อการร้าย

นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้กล่าวว่า เป็นเวลานานมาแล้วที่ประเทศมุสลิมได้รับความเดือดร้อนถูกเชื่อมโยงกับการปกครองที่เลวร้ายและการคอรัปชั่นที่แพร่หลาย ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะเชื้อกลุ่มก่อการร้าย

ต่อกรณีการก่อการร้าย นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า เราร้องตะโกนว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า ประเทศของเราเป็นแหล่งเพาะเชื้อกลุ่มก่อการร้าย เพราะเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผลและต่อต้านอิสลาม เรารู้ดีว่านี้เป็นความจริง แต่เพราะความอ่อนแอของเราและความแตกแยกของเรา ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกเชื่อว่าเป็นความจริง และยังกล่าวว่า หากว่าสถานการณ์เช่นนั้นยังคงปกคลุมประเทศของเรา ซึ่งในที่สุดจะทำให้มุสลิมกลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ตามชายหาดของประเทศที่ปกครองโดยศาสนาอื่น โดยที่ชะตากรรมของพี่น้องเราขึ้นอยู่กับความสงสารของพวกเขาเหล่านั้น”

ด้วยความเป็นมาเช่นนี้ จึงเกิดเป็นกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ขึ้น โดยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ของมุสลิมและโลกอิสลาม

ตราบใดที่เรายังจำได้ถึงความยิ่งใหญ่และความเข้มแข็งของอารยธรรมอิสลาม ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ และเราต้องการที่จะให้หวนกลับคืนมา ซึ่งสิ่งนี้เป็นเพียงความฝันหากเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อการนั้น

Summit Kuala Lumpur ซึ่งมีบรรดาผู้นำและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมุสลิมมากมายมารวมตัวกัน โดยมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะชี้ชัดถึงปัญหาที่โลกมุสลิมกำลังประสบ รวมถึงแนวทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความคิดยิ่งใหญ่อันจะปรากฏขึ้นในที่ประชุม Summit Kuala Lumpur แต่ความคิดที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำและรัฐบาลในโลกมุสลิม ความคิดดังกล่าวก็เป็นเพียงทฤษฎี

ข้าพเจ้าจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมประชุมซัมมิทกัวลาลัมเปอร์นี้ จะร่วมกันเปลี่ยนข้อมติต่างๆ สู่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ผู้นำของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย กษัตริย์ตะมีมแห่งกาตาร์ ประธานาธิบดีแอร์โดฆานแห่งตุรกี นายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่านแห่งปากีสถาน และประธานาธิบดีอิหร่าน ตลอดจนผู้เข้าร่วมจาก 50 ประเทศ จำนวน 400 กว่าคนได้ยืนยันที่จะเข้าร่วม

โดยที่จะมีกิจกรรมให้ผู้นำมุสลิม นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่

อ้างอิง : shorturl.at/kpK09
เขียนโดย Ghazali Benmad

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

เกรวูฟเอาคืน เตรียมออกข้อมติ “อเมริกาฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุอินเดียแดง” ตอบโต้วุฒิสภาอเมริกาที่รับรองว่า ออตโตมานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาเมเนียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ 2 ประเทศ อเมริกาจะต้องไม่มีมติที่ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันแก้ไขได้อีก และตุรกีจะตอบโต้อเมริกาอย่างเท่าเทียมกัน

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานของตุรกี ได้กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ทีวีตุรกีช่องหนึ่งเกี่ยวกับข้อมติของวุฒิสภาอเมริกาที่รับรองการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียอันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงว่า “เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ไม่มีน้ำหนัก”

ประธานาธิบดีตุรกียังชี้ให้เห็นว่า การจับขั้วทางการเมืองภายในของอเมริกามีผลทางลบต่อตุรกี และยังกล่าวว่า มีบางฝ่ายในอเมริกาต้องการให้เรื่องของตุรกีกดดันประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีตุรกียังย้ำว่า มติของวุฒิสภาอเมริกาไม่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของความเป็นพันธมิตรระหว่างตุรกีและอเมริกา และยังขัดแย้งกับข้อตกลงของทั้งสองประเทศที่ทำขึ้นในวันที่ 17 ต.ค. 2019 เกี่ยวกับกรณีซีเรีย

ประธานาธิบดีตุรกีย้ำว่า เราจะไม่นิ่งเฉยในกรณีที่อเมริกาออกมาตรการลงโทษตุรกี

นอกจากนั้น ประธานาธิบดีตุรกียังกล่าวว่า มีโอกาสที่รัฐสภาตุรกีจะออกข้อมติตอบโต้ข้อมติของวุฒิสภาเมริกา โดยอาจออกข้อมติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อินเดียแดงในอเมริกา โดยกล่าวว่า ทำไมเราจะกล่าวถึงกรณีอินเดียแดงในอเมริกาไม่ได้ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอินเดียแดงในอเมริกาเป็นความอัปยศที่ประทับอยู่บนหน้าผากของสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีตุรกียังคิดมาตรการตอบโต้อเมริกาในกรณีออกมาตรการลงโทษตุรกีว่า เราจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะปิดฐานทัพอินซิลีก Incirlik ในจังหวัดอะดานา และคูเรจิก Kurecik ในจังหวัดมาลาตียะห์ หากมีความจำเป็นและถึงเวลาอันเหมาะสม

ทั้งนี้ ฐานทัพอินซิลีก เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกาในการทำสงครามกับกลุ่มไอสิสในซีเรีย ส่วนคูเรจิก เป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของนาโต้

ประธานาธิบดีตุรกีย้ำว่าคำสั่งปิดฐานทัพทั้งสองดังกล่าวอยู่ในอำนาจอธิปไตยของตุรกีแต่เพียงผู้เดียว

และนอกจากนั้น ยังเตือนอเมริกาไม่ให้ออกมาตรการลงโทษต่อตุรกี อันจะทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปจนไม่อาจแก้ไขได้อีก

พร้อมกับเรียกร้องสภาคองเกรสของอเมริกาให้ดำเนินการอย่างมีสติ ให้สอดคล้องให้เหมาะสมกับการเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศทั้งสอง

และกล่าวว่าตุรกีหวังว่ารัฐบาลอเมริกาจะดำเนินการตามความจำเป็น อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ดำเนินการใดๆที่เป็นโทษต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง

ประธานาธิบดีตุรกียังกล่าวว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ของอเมริกาไม่พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับอาร์เมเนียให้ครบถ้วนสมบูรณ์เสียก่อน

ประธานาธิบดีตุรกีย้ำว่า ตุรกีมีเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทางทหารมากกว่า 1 ล้านชิ้น และพร้อมที่จะให้นักประวัติศาสตร์และนักกฎหมายเข้าไปพิจารณาข้อเท็จจริง

พร้อมกันนั้นประธานาธิบดีตุรกีเรียกร้องอเมริกากับฝรั่งเศส ให้เปิดเอกสารประวัติศาสตร์ของตนเองเพื่อตัดสินเกี่ยวกับการใส่ความเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย

ประธานาธิบดีตุรกียังย้ำว่านักประวัติศาสตร์และนักกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมถึงนักการเมือง ที่มีคุณสมบัติ เพียงพอที่จะกล่าวถึงการใส่ความดังกล่าวและทำการศึกษาข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ วุฒิสภาเมริกาได้รับรองข้อมติ เหตุการณ์ในปี 1915 ว่า ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย

แม้ว่าข้อมติดังกล่าวไม่ถือเป็นกฎหมายแต่กระแสสังคมตุรกีทั่วไป ต่างประนามข้อมติดังกล่าว กลุ่มพรรคการเมืองต่างๆในรัฐสภาตุรกีเห็นว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และเป็นการเล่นเกมส์การเมืองสกปรก

หลังจากที่ประธานาธิบดีตุรกีขู่ปิดฐานทัพอินซิลีกและโคราจิก เพนตากอนก็ออกมาให้ความเห็น กระทรวงกลาโหมอเมริกาได้กล่าวว่า ได้ทุ่มเทความพยายามเพื่อจะรักษาความสัมพันธ์กับตุรกี และกล่าวว่า ทหารอเมริกาที่อยู่ในฐานทัพ 2 ดังกล่าว เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของรัฐบาลตุรกี

และว่า การคงอยู่ของทหารอเมริกาในตุรกีเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของเรา ที่จะร่วมมือและปกป้องรักษาพัธมิตรของเราในนาโต้และพันธมิตรยุทธศาสตร์ของเรา

เขียนโดย Ghazali Benmad

ประธานาธิบดีแอร์โดอาน เป็นประธานเปิดมัสยิด Cambridge ประเทศอังกฤษ

ประธานาธิบดีแอร์โดอาน เป็นประธานเปิดมัสยิด Cambridge ประเทศอังกฤษเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา มัสยิดแห่งนี้ เป็นหนึ่งในมัสยิดที่สวยงามแห่งหนึ่งในยุโรป ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในยุโรปที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมก่อสร้างโดยบุคคลสำคัญเช่น ยูซุฟอิสลาม นายอิบราเฮมกาเลน โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีปัจจุบัน นายอับดุลฮากิม มุร็อด ตำแหน่งนักวิจัยด้านศาสนวิทยา ชาวอังกฤษที่รับอิสลาม ซึ่งมีชื่อเดิมว่า Timothy John Winter และบุคคลสำคัญอื่นๆรวมทั้งองค์กรสาธารณกุศลในประเทศตุรกีและกาตาร์

เป็นมัสยิดที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอ่างเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้า 30 – 40%

เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2008 ด้วยข้อเสนอของนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัย Cambridge เนื่องจากมัสยิดเดิมที่เป็นแค่ห้องเช่าเล็กๆไม่เพียงพอกับจำนวนคนละหมาดที่เพิ่มขึ้น นายอับดุลฮากีมมุร็อด ซึ่งก่อนหน้านี้นับถือเอทิสต์ได้ระดมเงินซื้อที่ดินและออกแบบสร้างมัสยิดโดยมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาควากัฟ

ในช่วงพิธีเปิด ประธานาธิบดีแอร์โดอานได้กล่าวคำนำและดูอาด้วยภาษาอาหรับ ที่เราแทบไม่มีโอกาสรับฟังจากผู้นำมุสลิมยุคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำจากประเทศอาหรับ

จุดไฮไลท์ของงานนี้ อยู่ที่การประกาศตนรับอิสลามของนาย Pedro Carvalho อดีตที่ปรึกษาของยูซุฟ อิสลาม สมัยที่ยังเป็นราชาเพลงร๊อคพูดโด่งดังในอดีตนาม Cat Stevens

Cambridge คือเมืองที่เป็นหัวใจของศูนย์เทคโนโลยีชั้นสูงระดับโลก และเป็นส่วนสำคัญของเขตอุตสาหกรรมความรู้ Oxford – Cambridge Arc

อังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร คือ อดีตมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมที่ปกครองดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชียในหลากหลายพื้นที่ จนเป็นที่ขนานนามว่าเป็นจักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพราะไม่ว่าดวงอาทิตย์จะส่องแสงไปที่ใด จะมีดินแดนของจักรวรรดิอยู่ที่นั่น

ขณะนี้ แสงสว่างแห่งอิสลามกำลังปกคลุมและส่องแสงประเทศนี้อีกครา

หากมัสยิดคือสัญลักษณ์แห่งก่อการร้าย แล้วอังกฤษยอมอนุมัติสร้างสัญลักษณ์แห่งก่อการร้ายได้อย่างไร

หากมุสลิมคือก่อการร้าย ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษและยุโรป มีส่วนรู้เห็นให้ผู้ก่อการร้ายโตวันโตคืนในประเทศของตนได้อย่างไร

เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ตุรกีสยายแสนยานุภาพ

รัฐบาลไซปรัสเหนือมีมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้ตุรกีใช้สนามบินทหารเป็นลานเครื่องบินไร้พลขับ

ทั้งนี้ ตุรกีได้ดำเนินการปกป้องน่านน้ำของตน ตามที่ได้ตกลงกับลิเบีย และได้ประกาศ โครงการท่อส่งแก้สไปยังยุโรปของบริษัทร่วมอิสราเอล อียิปต์ ไซปรัสและกรีซ ไม่อาจผ่านน่านน้ำของตุรกีได้ตลอดจนห้ามทุกฝ่ายเข้ามาในเขตน่านน้ำดังกล่าว ยกเว้นตุรกีอนุญาต

ไซปรัสออกมาคัดค้านในทันที กล่าวหาตุรกีว่าเจตนาบ่อนทำลายความมั่นคงในภูมิภาคนี้

เขียนโดย Ghazali Benmad

ที่มา http://www.turkpress.co/node/67030?fbclid=IwAR0c8kCFlr029eQceC1k9r3MsZkpQRtgA65H8Ly2mOYh-e10d6Zv_9YKHuA

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 7)

ข้อจำกัดของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกีจะดูราบรื่นไปด้วยดี แต่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่อาจทำให้ความสัมพันธ์นี้ต้องสะดุด ส่วนหนึ่งได้แก่

1) การไม่ลงรอยกันระหว่างตุรกีและอิยิปต์

ตุรกีได้วางเงื่อนไขสำคัญทีาจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอิยิปต์คือการปล่อยตัวประธานาธิบดีมุรซีย์และพรรคพวกที่ถูกจับหลังซีซีย์ยึดอำนาจ ที่ซาอุดีอารเบียก็มีส่วนสนับสนุนการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่หลังจากการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ซัลมาน ความสัมพันธ์ระหว่างริยาดกับไคโรก็เย็นชาถึงขั้นตึงเครียด โดยเฉพาะหลังจากที่ซีซีย์ได้ทรยซต่อกษัตริย์ซัลมานกรณีสนับสนุนซีเรียที่ใช้สิทธิ์วิโต้ยับยั้งข้อเสนอของฝรั่งเศสที่ให้ซีเรียเป็นเขตห้ามบิน นอกจากนี้ซีซีย์ยังกลับลำไม่คืนเกาะทีรานและซานาฟีร์ (Tiran and Sanafir Islands) ให้แก่ซาอุดีอารเบีย หลังจากซึซีย์รับเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลจากซาอุฯเพื่อพัฒนาประเทศตามข้อตกลง หนำซ้ำอิยิปต์มีความเย็นชาและแสดงอาการเกรงใจอิหร่านอย่างออกหน้ากรณีพายุแกร่งที่ซาอุดีอารเบียปราบกบฏฮูซีย์ที่เยเมน

ทั้งซาอุดีอารเบียและตุรกี ควรมีจุดยืนที่ชัดเจนกรณีอิยิปต์ ซึ่งอาจทำให้ความตั้งใจของตุรกีในการช่วยเหลือ มุรซีย์และพรรคพวกเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น ล่าสุดศาลอิยิปต์ได้ตัดสินมุรซีย์จากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตแล้ว และในอนาคตอันใกล้อาจกดดันให้ซีซีย์ต้องลงจากอำนาจก็ได้

2) กบฏเคิร์ด
กบฏชาวเคิร์ดถือเป็นหนามยอกอกของตุรกีที่ยาวนาน ในขณะที่ซาอุดีฯมีแนวคิดที่จะรวบรวมชาวเคิร์ดให้สามารถรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายตุรกีที่ถือเป็นข้อห้ามที่รุนแรงทีเดียว ดังนั้นริยาดควรแสดงท่าทีในเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มกบฏเคิร์ดที่ส่วนใหญ่จะฝักใฝ่แนวคิดสังคมนิยมแนวสตาลินที่ขัดแย้งกับหลักการอืสลามอย่างสิ้นเชิง

3) กลุ่มอิควานมุสลิมีน
ทั้งๆที่กลุ่มอิควานเป็นหนึ่งในฐานสำคัญต่อการพัฒนาซาอุดีอารเบียในอดีต โดยเฉพาะด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่อิควานได้รับคือรัฐบาลซาอุดีอารเบียจัดให้อิควานเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา แต่หลังจากที่กษัตริย์ซัลมานขึ้นครองราชย์ ฟ้าอันสดใสได้มาเยือนอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากเชคอับเกาะเราะฎอวีย์ ผู้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มอิควาน ถูกเชิญเป็นอาคันตุกะของกษัตริย์ซัลมานที่มักกะฮฺเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมาและก่อนหน้านี้เชคอัลเกาะเราะฎอวีย์ก็ได้รัยเชิญจากสถานทูตซาอุดีอารเบียประจำกรุงกาตาร์ในวันชาติซาอุดีอารเบียล่าสุด คือสัญญาณอันดีว่าเมฆหมอกแห่งความเลวร้าย คงพัดผ่านไปตามกาลเวลา
ทั้งซาอุดีอารเบียและตุรกีต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนกรณีกลุ่มอิควาน และอย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ต้องเหินห่างเพราะกระแสการโหมโรงของผู้ไม่หวังดีที่มุ่งหวังให้ชาวโลกตื่นตระหนกกับกระแสอิสลาโมโฟเบียนั่นเอง

สรุป
ท่ามกลางความระส่ำระสายของโลกอิสลามที่ถูกลมพายุแห่งไซออคริสต์+ชีอะฮฺโหมกระหน่ำขณะนี้ จนทำให้ประเทศอย่างอิรัก เลบานอน ซีเรียและเยเมนที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของประชาชาติอิสลามในอดีตต้องเสียหายยับเยิน ส่วนอิยิปต์ก็ได้กลายเป็นลาเชื่องที่ผู้ไม่หวังดีขับขี่เพื่อบดขยี้อิสลามมาโดยตลอด จะเหลือเพียงซาอุดีอารเบียและตุรกี ที่ยังคงเป็นอวัยวะที่ยังปกติที่สุดที่สามารถปกป้องเรือนร่างของอิสลามขณะนี้ ทั้งสองอวัยวะนี้อาจไม่ใช่ส่วนที่เข้มแข็งและสมบูรณ์ที่สุด แต่น่าจะมีศักยภาพสูงสุดขณะนี้ที่คอยเป็นสองกำแพงแกร่งปกป้องประชาชาติอิสลาม ทั้งสอง จำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่าด่วนตัดออกจากเรือนร่างเลย แนวคิดใดๆ ที่พยายามตัดแยกสองอวัยวะนี้ให้ออกจากกัน คือแนวคิดของคนสิ้นคิด ที่ไม่ก่อมรรคผลใดๆยกเว้นต่อผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามและประชาชาติมุสลิมเท่านั้น
والله الموفق والهادي إلى سواء السبيل
والله أعلم
ปล. บทความทั้ง 7 ตอนนี้อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมในโอกาสต่อไปครับ

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 6)

ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

1) วิกฤติซีเรียและอิรักจะลุกลามและยืดเยื้อ
ซีเรียและอิรักได้กลายเป็นสมรภูมิสงครามโลกที่มีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรคอยเป็นพี่เลี้ยงให้อิหร่านบดขยี้ชาวอิรักต่อไป ในขณะที่รัสเซียก็คอยคุ้มกันให้อิหร่านรุกคืบแผ่นดินซีเรียตามอำเภอใจ ซึ่งหมายถึงกองทัพไซออคริสต์(ไซออนิสต์+คริสเตียน)ที่ผสมโรงกับกองทัพเปอร์เซียเป็นฝ่ายหนึ่ง เพื่อทำสงครามกับประเทศสุนหนี่ที่นำโดยซาอุดีอารเบียและตุรกีอีกฝ่ายหนึ่ง มันเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดของฝ่ายสุนหนี่ที่หากเพลี่ยงพล้ำหรือพ่ายแพ้ ทั้งอิรักและซีเรียจะถูกเฉือนแบ่งเป็นประเทศย่อยๆ หรือเป็นประเทศเดียวแต่มีเขตปกครองเฉพาะเขตตามเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วที่ปาเลสไตน์และเลบานอน

2) อิหร่านจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาค ที่ได้รับการคุ้มกันจากประเทศมหาอำนาจเพื่อจัดการกับประเทศสุนหนี่ในแถบตะวันออกกลาง การที่อิหร่านสามารถทำสงครามอย่างน้อยกับ 3 ประเทศ(อิรัก ซีเรียและเยเมน) ในเวลาเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าอิหร่านมีท่อน้ำเลี้ยงที่เข้มแข็งในระดับไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับประเทศสมาชิกถาวรความมั่นคงสหประชาชาติรวมเยอรมัน (5+1) เมื่อปี 2015 ที่ดูเหมือนว่าอิหร่านถูกวางข้อจำกัดอย่างเข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ พร้อมทั้งให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริง อิหร่านได้รับเงินคืนที่ถูกอายัดจำนวนมหาศาลถึง 150,000 ล้านดอลล่าร์เพื่อเป็นงบสำรองจ่ายในสงครามครั้งนี้ ในขณะเดียวกันซาอุดีอารเบียก็จะถูกตัดแขนตัดขาโดยกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่สหรัฐฯเพิ่งประกาศมา ซึ่งอาจทำให้ซาอุดีอารเบียถูกปล้นเงินต่อหน้าต่อตาหลายหมื่นล้านดอลล่าร์ทีเดียว

3) ตุรกีมีนโยบายเปิดประตูสู่โลกอาหรับมากขึ้น หลังจากที่ตุรกีได้ตัดเยื่อใยความสัมพันธ์กับโลกอาหรับมาเป็นเวลานานเกือบ 80 ปี (ตั้งแต่ 1923-2003) บัดนี้ถึงเวลาที่ตุรกีจะเข้าสู่อ้อมกอดของโลกอาหรับอีกครั้ง โดยซาอุดีอารเบียเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับเปิดประตูบานนี้ ตุรกีไม่จำเป็นต้องฝากความหวังให้กับยุโรปและโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอียู ที่ไม่เคยแสดงความจริงใจต่อตุรกีเลย ยกเว้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และใช้เป็นพาหนะขับขี่ที่ไม่ต่างกับลาโง่เท่านั้น

4) การบรรจบรวมกันของสองสายธาร
สำนักคิดสะละฟีย์ที่นำโดยซาอุดีอารเบีย และสำนักคิดอิควานที่นำโดยตุรกี ที่เคยเป็นฐานความเจริญของโลกอาหรับโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียในอดีตที่เคยอาศัยสองสายธารนี้คอยเป็นแหล่งน้ำที่นำพาความอุดมสมบูรณ์ของประเทศมาโดยตลอด บัดนี้สองสายธารดังกล่าว จะผนึกรวมเป็นแหล่งน้ำที่สร้างความรื่นรมย์แก่ชาวโลกอีกครั้ง ดังนั้น แนวคิดที่จะแยกระหว่างสองสายธารนี้ คือปรัชญาของคนสิ้นคิดหรือมองโลกในมิติเดียว ที่ไม่เพียงสร้างความอ่อนแอแก่ประชาชาติอิสลามเท่านั้น แต่คือการตัดแขนตัดขาที่เปิดโอกาสแก่ศัตรูเข้ามาปู้ยี้ปู้ยำเรือนร่างเดียวกันของอิสลามตามอำเภอใจอีกด้วย
” ท่านทั้งหลายจงอย่าขัดแย้งระหว่างกัน เพราะจะทำให้พวกท่านต้องประสบกับความพ่ายแพ้และอ่อนกำลัง” (อัลอันฟาล/46)

…….ต่อ…… (ตอนจบ)

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 5)

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

หลังจากรัสเซียได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงด้วยการปูพรมถล่มซีเรียทางอากาศ เพื่ออารักขากองทัพชีอะฮฺที่บดขยี้ชาวสุนหนี่ตามภาคพื้นดิน ตุรกีเริ่มมองภาพชัดว่าท้ายสุดแล้ว รัสเซียเข้าข้างอิหร่านในกรณีซีเรีย เช่นเดียวกับที่สหรัฐคอยเป็นกองหนุนทางอากาศเพื่อให้กองกำลังชีอะฮฺเข่นฆ่ามุสลิมสุนหนี่ที่อิรัก ชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯและรัสเซียต้องการให้ตุรกีเผชิญหน้ากรณีซีเรียและอิรักตามลำพัง เหมือนที่พวกเขาเคยโดดเดี่ยวตุรกีให้เผชิญหน้ากับกลุ่มก่อการร้ายที่คุกคามตุรกีมาโดยตลอด ดังนั้นตุรกีจึงต้องหันหน้าไปยังประเทศอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดีอารเบียเพื่อสร้างแนวร่วมในการปกป้องสันติภาพในภูมิภาค หาไม่แล้ว ตุรกีอาจเป็น “วัวขาว”รายใหม่ที่ฝูงสิงโตพร้อมเหล่าอสรพิษจะรุมขย้ำและแว้งกัดได้ทุกเมื่อ

การสร้างอำนาจต่อรองและการทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องการพึ่งพา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะตุรกีและรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาอย่างช้านานที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ซ่อนเงื่อนอยู่ กอรปด้วยรัสเซียที่ต้องใช้พื้นที่ตุรกีในการลำเลียงแก๊ซสู่ยุโรป ซึ่งอาจทำให้รัสเซียต้องเกรงใจตุรกีอยู่บ้าง สิ่งสำคัญหากซาอุดีอารเบียและตุรกีมองผลประโยชน์ของอิสลามและประชาขาติมุสลิมเป็นที่ตั้ง ทั้งสองประเทศนี้จะกลายสองขาที่คอยเป็นที่ยึดเหนี่ยวของโลกอิสลามต่อไป ถึงแม้มีผู้ไม่หวังดี จะแอบชิงชังก็ตาม

6) วิกฤติราคาน้ำมัน
ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้รัฐบาลซาอุดิอารเบียต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว สุขภาพ โครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คหรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ที่นอกจากต้องอาศัยการลงทุนมหาศาลแล้ว ความชำนาญของบุคลากรในแต่ละสาขา มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซาอุดีอารเบียน่าจะมีความพร้อมด้านการลงทุน ในขณะที่ตุรกีมีศักยภาพทางบุคลากร จึงน่าจะเป็นการร่วมมือที่ลงตัวที่สุด หากทั้งสองประเทศไม่มีวาระใดซ่อนเร้น นอกจากผลประโยชน์ของอิสลามและประชาชาติมุสลิมเท่านั้น

ณ ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศนี้มีอัตราการแลกเปลี่ยนทางการค้าสูงถึง 6 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี ประกอบด้วยมีบริษัทด้านการลงทุนจากซาอุดีอารเบียที่ทำธุรกิจในตุรกีจำนวน 480 บริษัท ยิ่งทำให้แนวโน้มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ นับวันก็ยิ่งเข้มแข็งและเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

ทั้ง 6 ประเด็นนี้ น่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและเพียงพอที่ทำให้ทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้จับมือผนึกกำลัง เพื่อต่อต้านพายุร้ายที่ซัดกระหน่ำประชาชาติอิสลามปัจจุบัน
หากท่านทั้งสองพร้อมอยู่เคียงข้างกับประชาชาติมุสลิม เชื่อว่า ประชาชาติมุสลิมก็พร้อมอยู่เคียงข้างท่านทั้งสองเช่นกัน

….ต่อ……
ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 4)

3) วิกฤติเยเมนและแผนปฏิบัติการพายุแกร่ง

ซาอุดีอารเบียได้ปฏิบัติการตามแผนพายุแกร่งเมื่อเดือนมีนาคม 2015 เพื่อกวาดล้างกบฏฮูซีย์หรืออันศอรุลลอฮฺ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาและภารกิจที่ใกล้เคียงกับฮิสบุลลอฮฺที่เลบานอน ซึ่งถึงแม้ทั้งสองกลุมนี้ลงท้ายด้วยนามของอัลลอฮฺ แต่ในความเป็นจริง พวกเขาคือศัตรูของอัลลอฮฺอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่สวามิภักดิ์ต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี ศอและห์ที่คอยสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่เคียงคู่กับกลุ่มกบฏฮูซีย์ ถึงแม้เวลาผ่านไปแล้ว 10 เดือน แต่สถานการณ์ยังไม่มีท่าทีที่จะจบง่ายๆตามแผนที่วางไว้ ทำให้ซาอุดีอารเบียต้องการพันธมิตรที่จริงใจที่สุดอย่างตุรกีเพื่อปิดเกมในเวลาที่รวดเร็ว หลังจากที่อิยิปต์ได้แสดงอาการไม่น่าไว้วางใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารตามที่คาดหวัง เพราะหากยืดเยื้อนานไปเท่าไหร่ ฝ่ายที่เพลี้ยงพล้ำและต้องตั้งรับคือซาอุดีอารเบีย อย่างไรก็ตาม ชัยชนะจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ศรัทธา และยามลำบาก เรามักแยกแยะระหว่างมิตรแท้และมิตรเทียมเสมอ

4) กองกำลังไอเอส

ถึงแม้สื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองมีส่วนสำคัญยิ่งในการโปรโมทไอเอสว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของโลกตะวันตก ตลอดจนโน้มน้าวให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่าไอเอสคือผลผลิตของแนวคิดสะละฟีย์วะฮาบีซึ่งมีซาอุดีอารเบียเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและตุรกีเป็นผู้สนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ความจริงอยู่ประการหนึ่งคือประเทศที่ถูกไอเอสคุกคามมากที่สุดในขณะนี้คือซาอุดีอารเบียและตุรกี หนำซ้ำทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้ ได้จับกุมสมาชิกไอเอสหลายร้อยคน แม้กระทั่งผู้นำสูงสุดของสองประเทศนี้ตลอดจนนักวิชาการระดับกิบาร์อุละมาอฺในซาอุดีอารเบีย ถูกกลุ่มไอเอสฟัตวา(ให้คำศาสนวินิจฉัย)ว่าตกศาสนา เป็นผู้กลับกลอก(มุนาฟิก)หรือฏอฆูต(ทรราช) หรือฉายาที่รุนแรงและดูหมิ่นมากมายก็ตาม

เหตุระเบิดพลีชีพและการถล่มเมืองสำคัญในตุรกีหรือตามแนวชายแดน ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของกลุ่มไอเอส มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นชาวยุโรป แต่เมื่อถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศของตน กลับถูกปล่อยตัวอย่างลอยนวล กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่สามารถปฏิบัติได้หากผู้ร้ายเป็นชาวยุโรปและก่อเหตุในตุรกี จนกระทั่งตุรกีงัดแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรทีส ขับไล่ไอเอสออกจากชายแดนซีเรียและอิรักอย่างได้ผล เป็นเหตุให้กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯต้องรีบแก้เกมด้วยการรีบบุกไอเอสที่เมืองโมซุลอย่างมีพิรุธ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ กองกำลังทั้ง 65 ประเทศไม่สามารถจัดการกับไอเอสได้เลย ล่าสุดแอร์โดกานออกมาเรียกร้องให้กองกำลังพันธมิตรพิสูจน์หลักฐานว่าอาวุธอันมากมายของไอเอส นั้น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไหนกันแน่ ซึ่งทำให้วอชิงตันและเตหะรานสะดุ้งเหยิงจนตั้งตัวแทบไม่ทัน

เช่นเดียวกันกับซาอุดีอารเบียที่ไอเอสมักบุกถล่มมัสยิดชีอะฮฺทางภาคตะวันออก ซึ่งนอกจากเป็นการวางเชื้อเพลิงให้เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อที่รุนแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชีอะฮฺในซาอุดีอารเบียกล่าวหารัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติและไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย แม้กระทั่งชาวสุนหนี่ในอืรัก ซีเรียหรืออิหร่านก็จะกลายเป็นเหยื่อการล้างแค้นของชีอะฮฺไปโดยปริยาย ซึ่งชีอะฮฺจะอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของไอเอสต่อชาวชีอะฮฺ

ไม่นับรวมที่แกนนำไอเอสข่มขู่รัฐบาลซาอุดีอารเบียและจะกวาดล้างราชวงศ์อาลซะอูด ที่พวกเขาตั้งฉายาว่าอาลสะลูล(ต้นตระกูลของแกนนำมุนาฟิกในสมัยนบี) โดยที่พวกเขาหารู้ไม่ว่า เตหะรานและลัทธิแห่งเปอร์เซีย ก็มีจุดยืนต่อซาอุดีอารเบียที่คล้ายคลึงกัน
อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งไอเอสและชีอะฮฺมียุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน ทั้งๆที่เป็นที่รู้กันทั่วว่า ทั้งสองคือคู่อริที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้มิใช่หรือ
นี่คือเหตุผลที่ทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียต้องประกาศสงครามอย่างจริงจังกับไอเอส

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

….ต่อ ภาค (5)…..