100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 4)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า


ในบริบทนี้ ไม่เพียงแต่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เท่านั้นที่กำหนดนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจต่อภูมิภาค
นี้ แต่ยังรวมถึงความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อความเป็นปึกแผ่นทางธรรมชาติที่รวบรวมชาวมุสลิมทั้งหมดจากจีน อินโดนีเซีย ตะวันออกไกล ถึงแอฟริกาตะวันตกให้เป็นหนึ่งเดียว

ฝ่ายนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับ “หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลาม” มากกว่า ความเป็น “อาหรับ” “อิหร่าน” หรือ “ตุรกี”

ดังนั้น ลัทธิล่าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส จึงพยายามพัฒนาวิชาความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับภูมิภาคภายใต้กรอบนโยบาย”ทำอิสลามให้เป็นลูกไก่ในกำมือ” ในตะวันออกกลาง แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การใช้การกดขี่และการบิดเบือนปลอมแปลงอิสลามให้เป็นศาสนาที่มีหน้าที่แคบๆ ในการรับใช้รัฐชาติหรือชาติพันธุ์เท่านั้น [17]

หลังจากการถอนตัวของอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสจากภูมิภาคตะวันออกกลาง สภาพสูญญากาศทางอำนาจสร้างความกังวลให้แก่ฝ่ายการเมืองและยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกลัวต่อสหภาพโซเวียต และกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคจะตกเป็นเป้าหมายสำหรับความทะเยอทะยานของรัสเซียในการแสวงหาน้ำอุ่น ตามทัศนะของอเมริกาการที่อังกฤษสันนิบาตจัดตั้งอาหรับในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940 ยังถือว่าไม่เพียงพอ และนั่นเป็นเหตุผลว่าในปี 1950 ทำไมอเมริกันจึงบีบให้ประเทศอาหรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศในระดับภูมิภาคที่จงรักภักดีต่อตะวันตก ดังที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดตั้งสนธิสัญญาแบกแดด ในปี 1955 ประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน ตุรกี ปากีสถาน และอังกฤษ [18]

ความกังวลของอเมริกันบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่มั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คำพูดนี้ใช้ไม่ได้กับอิหร่านและตุรกี เนื่องจากมีความชัดเจนของตัวตนทางการเมืองในทั้งสองประเทศ แต่เป็นคำที่ใช้ได้กับโลกอาหรับที่ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นกับประเทศตะวันตก แต่ก็ไร้ศักดิ์ศรีและการเคารพให้เกียรติ เฉกเช่นที่ตุรกีได้รับจากตะวันตก ในฐานะสมาชิกหลักในโครงสร้างทางทหารของนาโต้ [19]

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตุรกีและโลกอาหรับในระดับการเมืองและการทหาร เราพิจารณา 2 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก ตุรกีได้ผ่านการทดสอบการแบ่งประเทศ ตุรกีประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์ หลังจากที่เติร์กทำให้สนธิสัญญา Sever ล้มเหลว ซึ่งแตกต่างจากโลกอาหรับ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นหลายประเทศผ่านสนธิสัญญา Sykes-Picot

ประการที่สองคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอิสรภาพตุรกีซึ่ง Mustafa Kemal และกองทัพตุรกี ได้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพันธมิตร อันประกอบด้วยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษและกรีซ ในขณะที่กองทัพของประเทศอาหรับที่สำคัญที่สุดรวมกันในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไซออนิสม์ ในช่วงสงครามปี 1948 และระหว่างสงครามหกวัน ในปี 1967 ที่อิสราเอลสามารถเอาชนะประเทศอาหรับทั้งสาม คือ อียิปต์ ซีเรียและจอร์แดนและครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 3 ได้

ความอ่อนแอทางการเมืองและการทหารที่ชัดเจน เห็นได้จากการที่โครงสร้างของภูมิภาคนี้ยังคงสูญหายไปอย่างสมบูรณ์และไม่สามารถจัดตั้งสังคมที่เชื่อมโยงกันเป็นผลสำเร็จและเป็นจริงจนถึงวันนี้ [20]

● ค้นหารัฐศูนย์กลางของโลกอิสลาม ตามความเห็นของผู้เขียน “การปะทะทางอารยธรรม”

ในหนังสือดัง “The Clash of Civilizations -การปะทะทางอารยธรรม : การสร้างระเบียบสากล” ซามูเอล เฮนติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นำเสนอวิสัยทัศน์ของอนาคตทางภูมิศาสตร์ของโลกว่า ปัจจัยทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจะมีบทบาทสำคัญในรูปแบบกลุ่มประเทศนานาชาติใหม่ในศตวรรษที่ 21

เฮนติงตันเห็นว่า อารยธรรมที่สำคัญ วัฒนธรรมหรือศาสนาหลัก ล้วนมีรัฐหลัก เช่น จีนในอารยธรรม “ขงจื้อ” ที่ทอดยาวจาก ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และเวียดนาม

รัสเซียในอารยธรรมออร์โธดอกซ์ ตลอดไปจนเบลารุส กรีซ ยูเครน บัลแกเรีย เซอร์เบีย และไซปรัส

“ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ – คาทอลิกตะวันตก” มีอเมริกาเป็นรัฐหลัก

ในขณะที่โลกอิสลามขาดรัฐที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้งซึ่งอย่างที่ฮันติงตันกล่าวว่าเป็นความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ตามทัศนะของเฮนติงตัน


เฮนติงตัน นำเสนอชาติแกนนำ 6 ชาติ ที่พอมีโอกาสเป็น “ชาติผู้นำโลกมุสลิม” ได้แก่ อียิปต์ เนื่องจากจำนวนประชากร และความเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลางและมีอัลอัซฮัร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม อินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดเพราะมีประชากรมากที่สุด รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และอิหร่าน และตุรกี [21]

เฮนติงตันประเมินว่า อินโดนีเซียไม่เหมาะสมที่จะเป็นประเทศผู้นำตั้งอยู่ชายแดนโลกมุสลิมและห่างไกลจากศูนย์กลางในโลกอาหรับมากเกินไป ส่วนอียิปต์ไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจ ส่วนซาอุดิอาระเบียก็เพราะประชากรน้อยเกินไป อิหร่านก็มีความต่างทางแนวคิดทางศาสนากับประชาคมมุสลมส่วนใหญ่ ปากีสถานมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมืองไม่มั่นคง

สำหรับตุรกี เฮนติงตันประเมินว่าไม่พร้อมเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบอบเซคคิวลาร์ของอะตาเติร์กมีความเข้มงวดมาก ไม่เปิดโอกาสให้ตุรกีแสดงบทบาทนำโลกมุสลิมได้ ตามข้อเท็จจริงในปี 1996 ที่เขียนหนังสือนี้

ถึงกระนั้น เมื่อเอ่ยถึงตุรกี เทียบกับชาติต่างๆที่กล่าวมา เฮนติงตันกล่าวว่า “ตุรกีเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ ประชากร ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม จารีตทางทหาร และศักยภาพ ที่พร้อมจะเป็นแกนนำโลกมุสลิม” [ 22 ]

เฮนติงตันตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้น หากตุรกีหวนมานิยามตนเองใหม่ สักวันหนึ่งตุรกีเป็นไปได้ที่ตุรกีพร้อมที่จะทิ้งบทบาทที่ไร้อนาคตและอัปยศอดสู จากการพยายามร้องขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมตะวันตก และเริ่มบทบาทในประวัติศาสตร์ของตน ที่มีอิทธิพลมากกว่า มีศักดิ์ศรีมากกว่า ในฐานะแกนนำอิสลามและแกนนำในการต่อต้านตะวันตก

เฮนติงตันวางเงื่อนไขหลัก 2 ประการ ที่จะทำให้ตุรกีทำเช่นนั้นได้ ประการแรกคือการยกเลิกมรดกของอะตาเติร์กอย่างเบ็ดเสร็จดังที่รัสเซียทิ้งมรดกของเลนิน และประการที่สองคือการหาผู้นำระดับเดียวกับอะตาเติร์ก ที่รวมศาสนาและความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อสร้างตุรกีเป็นประเทศศูนย์กลางของโลกมุสลิม

(จบตอนที่ 4 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 3)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

ในบริบทนี้ สาธารณรัฐตุรกีจึงเกิดขึ้นในดินแดนที่เหลืออยู่ของจักรวรรดิออตโตมันหลังจากพ่ายแพ้ในสงคราม ในฐานะรัฐชาติที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนประชากรและบังคับอพยพชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่มุสลิมออกไป อัตลักษณ์ภายนอกของรัฐตุรกีในฐานะรัฐอิสลามนั้นแตกต่างอย่างมากกับอัตลักษณ์ภายในใหม่ ที่มุสตาฟา กามาล อะตาเติร์กต้องการให้ละทิ้งอัตลักษณ์ของอิสลาม ละทิ้งระบอบคอลีฟะฮ์ และบทบาทของศาสนาในชีวิตสาธารณะ ตลอดจนละทิ้งความขัดแย้งกับกองกำลังของระบอบอาณานิคม ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันในปี 1924 และเนรเทศสุลต่านออตโตมันและครอบครัวออกจากจากดินแดนตุรกี ทำให้เกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศใหม่ในตะวันออกกลางและสูญญากาศสำหรับความถูกต้องชอบธรรม อันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีทางเลือกบนซากปรักหักพังของออตโตมัน ดังที่ Ahmet Davutoglu ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขา [14]

ในบริบทนี้ มีการกล่าวถึง “ความเป็นไปไม่ได้” ในหลายโอกาส เริ่มต้นด้วยการกล่าวของ George Qurm เกี่ยวกับ “โครงสร้างที่เป็นไปไม่ได้” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนคำกล่าวของวาอิล หัลลาค ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาที่ American Columbia University, เกี่ยวกับ “รัฐที่เป็นไปไม่ได้” อันหมายความว่า รัฐอิสลามที่มีอำนาจในภูมิภาคนี้ในประวัติศาสตร์ ได้กลายเป็นแนวคิดทางการเมืองที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความย้อนแย้งกับธรรมชาติของความทันสมัยทางการเมือง ทางกฎหมายและทางสังคมในปัจจุบัน จนเกิดวิกฤติทางศีลธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง ด้วยเหตุนี้มีข้อมูลมากมายยืนยันถึงความเป็นไม่ได้ในระดับต่างๆ มีการกล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ทุกครั้งเมื่อมีการนำเสนอแนวทางที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อของสังคม เพื่อที่จะเปลี่ยนความเป็นจริงทางการเมืองที่เป็นเรื่องยากและสลับซับซ้อน ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสนธิสัญญาโลซานในภูมิภาคนี้ ผ่านการขับเคลื่อนไปสู่การเป็น “เวสต์ฟาเลีย” ในตะวันออกกลาง

● จุดอ่อนของโลก : สูญญากาศอำนาจในตะวันออกกลาง

หลังจากลงนามในสนธิสัญญาโลซานที่ 2 แล้ว ตุรกีใหม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์การป้องกันโดยอาศัยแนวคิดเรื่องความมั่นคงชายแดนสำหรับรัฐชาติที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แคบๆ และมีความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของค่ายตะวันตกที่เจริญแล้ว ไม่ใช่ผู้ที่จะมาแทนที่หรือมาคัดค้าน ในบริบทนี้สาธารณรัฐตุรกีได้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ภายใต้ร่มเงาด้านความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่ต้องการรับมือภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต ดังนั้นตุรกีจึงได้ผันตัวเองออกจากพื้นที่สำคัญดั้งเดิม และสูญเสียอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ในกลุ่มประชาคมมุสลิมที่กว้างไกล จากนั้นก็สูญเสียทางการเงินและภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจของตุรกีก็เพิ่มขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษที่ 7 เนื่องจากความเหินห่างและถูกกีดกันจากการอาศัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอาหรับ [15]

การแยกระหว่างตุรกีและโลกอาหรับ ได้ก่อให้เกิดภาวะวิกฤติในการกำหนดเอกลักษณ์ทางการเมืองของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ของโลกนับสิบล้านคน

หลังจากการแยกตัวระหว่างโลกตุรกี-ที่ทอดยาวมาจากตุรกิสถานในจีน ผ่านทางเหนือของอนุทวีปอินเดียในภาคตะวันออกตลอดเอเชียกลางจนถึงอนาโตเลีย บอลข่าน และคอเคซัส- กับโลกอาหรับ ทำให้การจำกัดความภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีพรมแดนชัดเจน และการอธิยายอัตลักษณ์ทางมานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการเมือง ทำได้ยาก เพราะมีหมอกที่หนาจัด เว้นแต่จะต้องกลับคืนสู่การอฑิบายคำจำกัดความของคำว่า “โลกอิสลาม”จึงจะสามารถเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นในภูมิภาค ที่เอกสารของนักล่าเมืองขึ้นชาวยุโรปเรียกว่า”ตะวันออกใกล้” หรือ”ตะวันออกกลาง” ตามคำนิยามทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในยุคของการบริหารของบุชผู้ลูก

การแยกจากกันระหว่างโลกตุรกีและโลกอาหรับนี้ ได้สร้างวิกฤตในการอธิบายเอกลักษณ์ทางการเมืองของผู้คนหลายสิบล้านคนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ของโลก ที่การยอมรับแนวคิดของรัฐชาติจะกีดกันพวกเขามิให้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ถูกกดทับในอดีตโดยลัทธิล่าอาณานิคม และระบอบเผด็จการที่มีอำนาจมากที่สุดในภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน

ศาสนาอิสลามที่นี่เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ของโลก ซึ่งศาสนาในภูมิภาคนี้มีสมรรถภาพสูงยิ่งในโลกในการก่อตัวของสังคมวิทยาทางการเมือง ในลักษณะที่ศาสนามีความโดดเด่นในด้านการมีอิทธิพลเหนือองค์ประกอบอื่น ๆ

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมภูมิศาสตร์และอารยธรรมของภูมิภาคนี้ในอดีต จึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับศาสนา นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ Fernan Broadwell ในหนังสือ “กฎแห่งอารยธรรม” ยอมรับคำว่า “อิสลาม” และ “โลกอิสลาม” ตลอดจนการถือว่าศาสนาเป็นพื้นฐานในการอ้างอิงถึงเอกลักษณ์ของสังคมในภูมิภาคนี้ ซึ่งแตกต่างจากการแบ่งภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ที่เขาเคยใช้ในการอธิบายสังคมอื่น ๆ [16]

( จบตอน 3 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 2)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

เดวิด ฟรอมกิ้น David Fromkin กล่าวว่า ยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตระหนักถึงการมีอยู่และความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในไม่ช้าผู้นำพันธมิตรก็ได้เริ่มวางแผนที่จะรวมประเทศในตะวันออกกลางเข้ากับประเทศของตน และได้ตระหนักว่าอำนาจของศาสนาอิสลามในภูมิภาคนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการเมืองในตะวันออกกลาง พวกเขาจึงสร้างคู่แข่งด้านความภักดี (เชื้อชาติ) เพื่อมาทดแทนสถานภาพดังกล่าวของศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตามจาก เดวิด ฟรอมกิ้น เห็นว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามของนักการเมืองยุโรปเหล่านี้มีน้อยอย่างยิ่ง เนื่องจากลักษณะเฉพาะของภูมิภาค – หลังจากล่มสลายของออตโตมันอันเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางศาสนาในประวัติศาสตร์ – คือ ไม่มีความรู้สึกถึงความชอบธรรม ไม่มีความศรัทธาหนึ่งเดียวที่นักการเมืองทุกคนมีส่วนร่วม และไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนของเกมส์ทางการเมือง [8]

เหตุผลหลักที่ศาสนาอิสลามมีจุดเด่นในบริบทนี้ ในฐานะปัจจัยสำคัญร่วมกันของอัตลักษณ์ผู้คนและภูมิภาค ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญตะวันตกในกิจการของโลกอิสลาม ได้แก่ อิทธิพลของศาสนาอิสลามต่ออำนาจรัฐและปัจเจกบุคคล และความสัมพันธ์ชนิดพิเศษในศาสนาอิสลาม ระหว่างศาสนากับการเมือง ความศรัทธาและอำนาจ ชนิดที่ไม่มีในศาสนาอื่นนอกศาสนาอิสลาม ดังที่เบอร์นาร์ด เลวิส นักบูรพาคดีคนดัง ได้กล่าวไว้ ว่าชาวมุสลิมยังคงมีความตระหนักอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นประชาคมมุสลิม (ที่เหนือกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์) แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จในมิติทางการเมือง ดังที่ Claude Kahn นักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ [9]


ในบริบทนี้ อังเดร มิเกล André Miquel หนึ่งในบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในการศึกษาอาหรับและอิสลาม นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่แบ่งแยกไม่ได้ และไม่สามารถแยกความเป็นคำสอนทางศาสนา ออกจากการใช้ชีวิตในสังคม เนื่องจากในสายตาของชาวมุสลิมไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชีวิตประจำวันกับจิตวิญญาณ มิเคลเชื่อว่าปัจจัยทางวัสดุและประวัติศาสตร์ ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อศาสนาอิสลามน้อยกว่าและตื้นกว่า เมื่อเทียบกับสังคมอื่น และศาสนาอิสลามในระดับวัฒนธรรม เป็นป้อมปราการที่มีอานุภาพอย่างมากในการเผชิญกับการคุกคามจากวัฒนธรรมต่างประเทศ และจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ภายใต้รัฐระบบของสังคม สถานที่และเวลาที่แตกต่าง ศาสนาอิสลามได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการชี้ชัดถึงหลักการที่มีความเสถียร อันทำให้สามารถกำหนดอัตลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักได้เสมอ [10]

● สนธิสัญญาโลซานน์นำไปสู่การสร้างวิกฤตการณ์เรื้อรังในความชอบธรรมของรัฐใหม่ การสังหารหมู่ และการบังคับให้ย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์

สนธิสัญญาโลซานก็เหมือนสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียในศตวรรษที่ 17 ที่จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในตะวันออกกลาง ตลอดจนกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับอาณาจักรในตุรกีและในโลกอาหรับ ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐคอลีฟะฮ์ที่สิ้นลมหายใจสุดท้ายในตะวันออกกลาง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐคอลีฟะฮ์ยังเป็นผู้เล่นหลักของความขัดแย้งในตะวันออกกลางปัจจุบัน และเป็นเป้าหมายของการต่อต้านในแต่ละปีเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในถนนของกรุงไคโร ชนบทของอเลปโป ดามัสกัส ตรอกซอกซอยเบรุต และริมฝั่งแม่น้ำไทกริส ยูเฟรติสและแม่น้ำจอร์แดน ที่สายตาของตะวันตกไม่ได้คาดคิดไปไกลถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยปัญหาเพื่อวางมาตรการแก้ไข [11]

ตรงกันข้ามกับรัฐชาติฆราวาส ที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา “เวสต์ฟาเลียน” ซึ่งไม่ได้มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ของพลเมือง โดยที่สนธิสัญญาดังกล่าวได้จัดระเบียบอำนาจปกครอง และความสัมพันธ์ทางสังคมในยุโรป เสนอทางออกสุดท้ายที่เป็นไปได้จริงในการรับมือกับปัญหาสงครามศาสนาและนิกาย ระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์และคาทอลิกที่คุกคามอนาคตของสังคมคริสเตียน

สนธิสัญญาโลซานซึ่งถูกบังคับใช้ในดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันอันมีหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ – เป็นตัวแทนของโครงสร้างทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมาก เมื่อเทียบกับสังคมยุโรปที่ร้าวฉานเพราะสงครามทางศาสนา – อันจะสร้างวิกฤตเรื้อรังในด้านความชอบธรรม การสังหารหมู่ การบังคับย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนในการแลกเปลี่ยนประชากรจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นความวิตกกังวลโดยรวมทั่วไป ตลอดจนการต่อสู้อย่างถาวรเพื่อหาอัตลักษณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความหลากหลายในทางเชื้อชาติและศาสนา ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ คนๆหนึ่งจะรู้สึกว่าอยู่ในดินแดนของตัวเอง ในเวลาเกียวกันเขาเป็นทั้งยิวและอาหรับ เพียงเพราะเขาพูดภาษาอาหรับ หรือเป็นทั้งคริสเตียนและออตโตมัน ในเวลาเดียวกัน เพราะเขาทั้งพูดภาษาอาหรับ กรีกหรือตุรกี [12]

● ผลลัพธ์หลักของข้อตกลงโลซานน์คือการแบ่งจักรวรรดิออตโตมันออกเป็น 2 ส่วนหลัก ตามภาษาหลัก : ภูมิภาคตุรกีทางเหนือและภูมิภาคอาหรับทางใต้

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกี ที่ขบวนการชาตินิยมที่แข็งแกร่งได้ก่อตัวขึ้น และได้หันมาร่วมเชิดชูมุสตาฟาเคมาล อาตาเติร์ก

ภูมิภาคอาหรับที่อ่อนแอ ถูกแบ่งออกเป็นรัฐและเขตปกครองตนเอง ตามที่อังกฤษ ฝรั่งเศสและตัวแทนท้องถิ่นของพวกเขาเสนอ

ด้วยวิธีนี้ อาณาจักรออตโตมันที่มีอิทธิพลควบคุมโครงสร้างทางการเมืองของตะวันออกกลางเกือบสี่ร้อยปี จึงได้หายไปจากแผนที่โลกดังที่ แมรี่ วิลสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวไว้ [13]

( จบตอน 2 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 1)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง ความขัดแย้งทางความเชื่อและทางชาติพันธุ์ สงครามตัวแทนที่บีบบังคับให้คนย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมากมายมหาศาล และการพลัดถิ่นของผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยหลายสิบล้านคน พื้นที่บ่อเกิดการแบ่งแยกดินแดนและการก่อจลาจลในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่เท่ากับประเทศเช่นอังกฤษ ที่เกิดขึ้นในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือและอิรักตะวันตก

รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ระเบิด การระเบิดพลีชีพ ที่ทำให้คนตายหลักสิบและหลักร้อยทุก ๆ สัปดาห์ และบางครั้งทุกวัน

การเดินขบวนประท้วง การวางเพลิงก่อความไม่สงบและการเผายางที่มีควันดำเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมท้องฟ้าของกรุงแบกแดดและเบรุต

นี่คือความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ หลังจาก 100 ปีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาและการตั้งถิ่นฐาน ที่นำไปสู่สนธิสัญญาโลซานน์ ครั้งที่ 2 ในปี 1923 ซึ่งรวมถึงข้อตกลง เซค-ปีโกต์ (Sykes-Picot) ระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ในการกำหนดพรมแดนทางการเมืองของตะวันออกกลางสมัยใหม่ที่เรารู้ในวันนี้

วันนี้ใกล้ครบรอบ 100 ปี ของสนธิสัญญาโลซาน ครั้งที่ 2 ซึ่งได้ทำลายจักรวรรดิออตโตมัน ในวันนี้องค์ประกอบของภูมิภาคตะวันออกกลางได้พังพินาศ ตะวันออกกลางได้กลับคืนสู่สภาพคล้ายกับช่วงสนธิสัญญาโลซานน์ ในขณะที่ตุรกีได้กลับคืนสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่ต้องถอนตัวออกไปภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาโลซาน พร้อมด้วยกองกำลังทหารในสนามรบ ผ่านทางการปฏิบัติการทางทหารหรือข้อตกลงว่าด้วยการใช้กำลังทหาร ดังที่กระทำในลิเบียเมื่อเร็ว ๆ นี้ตามข้อตกลงกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติในตริโปลี ที่นำโดยฟายิซ สัรรอจ

และก่อนหน้านั้นในซีเรียผ่านปฏิบัติการ “โล่ห์ยูเฟรติส” ในปี 2560 และ “กิ่งมะกอก” ในปี 2561 และ “ต้นน้ำสันติภาพ” ในปี 2562 ตามด้วยปฏิบัติการทางทหารในอิดลิบปัจจุบัน ตลอดจนปฏิบัติการก่อนหน้านี้ในปี 2015 ในพื้นที่บะชีเกาะฮ์ทางเหนือของโมซุล ในอิรัก

ความขัดแย้ง สงครามกลางเมืองและระดับภูมิภาค การลุกฮือและการปฏิวัติ อันนำการแทรกแซงต่างๆ ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค สะท้อนถึงความเปราะบางและความตึงเครียดของโครงสร้างในตะวันออกกลาง และแสดงให้เห็นถึงสูญญากาศเรื้อรังในเรื่องอำนาจ และการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่แข็งแกร่งที่สามารถปกป้องโครงสร้างจากการหลุดกร่อน

บทความนี้จะพิจารณาภูมิหลังของสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางร่วมสมัย บางทีเราอาจเข้าใจภูมิหลังเกี่ยวกับการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในภูมิภาคนี้อีกครั้งในประเทศอาหรับหลายๆ ประเทศ หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันเมื่อ 95 ปีก่อน

● จาก สนธิสัญญา“ Sever” ถึงสนธิสัญญาโลซาน

การสร้างรัฐชาติในตะวันออกกลางเกิดขึ้นหลังจาก มุศตอฟา กามาลอะตาเติร์ก ปฏิเสธสนธิสัญญา Sefer ซึ่งจัดทำโดยประเทศที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และบังคับใช้กับตุรกี หลังจากชนเชื้อชาติที่ไม่ใช่ตุรกีส่วนใหญ่ เช่น ชาวเคิร์ดได้รับเอกราช

อะตาเติร์กได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับกรีซและประเทศพันธมิตร จบลงด้วยการลงนามในข้อตกลงใหม่ที่ โรงแรม “Beaurivage Place” ในโลซาน ในภาคใต้ของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 1923 ระหว่างตุรกี อังกฤษและฝรั่งเศส แยกออกจากสนธิสัญญาโลซานครั้งแรก หรือข้อตกลง Oshi” ระหว่างอิตาลีและจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1912

สนธิสัญญาโลซานน์ 2 เป็นใบมรณภาพอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิออตโตมันในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ และใบแจ้งเกิดของสาธารณรัฐตุรกีร่วมสมัย ในปี พ. ศ. 2466 ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกการปกครองของคอลีฟะฮ์ในปี 2467

สนธิสัญญาโลซาน มี 143 ข้อ เกี่ยวข้องกับสถานภาพใหม่ของตุรกีในกฎหมายระหว่างประเทศ และจัดการความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรที่ชนะในสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ของตุรกีสมัยใหม่ พรมแดนกับกรีซและบัลแกเรีย การสละสิทธิ์ของตุรกีในเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิทางการเงิน และสิทธิในอธิปไตยในซีเรีย อิรัก อียิปต์ ซูดาน ลิเบียและไซปรัส นอกเหนือจากการจัดระบบควบคุมการใช้ช่องแคบตุรกีในยามสงครามและสันติภาพ

● สนธิสัญญาโลซานมีบทบาททางประวัติศาสตร์แบบเดียวกับบทบาทของสนธิสัญญา “เวสต์ฟาเลีย” ในปี 1648 [1]

หนึ่งในผลทางกฎหมายและการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของสนธิสัญญาโลซานคือการเกิดขึ้นของแนวคิดของรัฐชาติ บนพื้นฐานของแนวคิด “รัฐ-ประชาชน”

สนธิสัญญาโลซานน์ได้กำหนดพรมแดนภูมิรัฐศาสตร์สำหรับทั่วทั้งตะวันออกกลางในช่วงทศวรรษหลังการลงนามในสนธิสัญญานั้น [1]

ในบริบทนี้ตุรกีถือเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาดังกล่าว หลังจากรอดพ้นจากชะตากรรมการแบ่งแยกเขตแดนของกองกำลังที่กระทำโดยมหาอำนาจผ่านสนธิสัญญา Sevres ซึ่งตุรกียังคงเป็นประเทศเอกราชที่แท้จริงเพียงประเทศเดียวในหมู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “รัฐอิสระ” ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วยังคงเป็นเมืองขึ้น [2]

สนธิสัญญาโลซานน์กำหนดชะตากรรมของผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ ตามหลัก 2 สองประการ คือหลักกำหนดเขตแดนทางการเมืองของชาติ และหลักการของสัญชาติซึ่งเชื่อมโยงกับ “อัตลักษณ์” ของรัฐใหม่ที่สนธิสัญญาสร้างขึ้น หรือเป็นผลมาจากสัญญานี้

ในบริบทนี้ เลบานอนและซีเรียจึงอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส ปาเลสไตน์และภาคตะวันออกของจอร์แดน ภายใต้อาณัติของอังกฤษ และราชอาณาจักรฮาชิไมซ์แห่งแคว้นหิญาซ ซึ่งปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาถูกโค่นไป หลังจากอังกฤษอนุญาตให้อับดุลอาซิซ อัลซาอุด ยึดครองดินแดนหิญาซ [3]

● โครงสร้างที่เป็นไปไม่ได้ของตะวันออกกลาง : โลกอาหรับหรืออิสลาม?

ในหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการก่อตัวของแผนที่การเมืองของตะวันออกกลางสมัยใหม่ “Peace Beyond Peace” นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอเมริกัน David Fromkin กล่าวว่า การยึดครองของอังกฤษทุกหนทุกแห่งในโลกได้ทำลายโครงสร้างทางการเมืองของชนพื้นเมืองและแทนที่ด้วยโครงสร้างใหม่ ตามรูปแบบของยุโรป ตามกฎหมายของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์หรือทะเลทรายแอฟริกา ซึ่งไม่ได้แบ่งตามเผ่าชนอีกต่อไป แต่จะแบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ ตามลักษณะการปกครองในยุโรป อย่างไรก็ตามDavid Fromkin หยุดอยู่ที่ส่วนหนึ่งของโลก เพราะสงสัยว่าการยึดครองของยุโรปทำให้เกิดผลที่ลึกและยั่งยืนเหมือนในที่อื่น ๆ หรือไม่? [4]

Fromkin กล่าวว่า ตะวันออกกลางได้เป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้เพราะประเทศในยุโรปได้ก่อร่างขึ้นใหม่ หลังจากการปกครองของชาวออตโตมันในตะวันออกกลางที่พูดภาษาอาหรับ และทำลายโครงสร้างเดิมอย่างไม่อาจแก้ไขได้อีก และยุโรป หรือสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ยังได้กำหนดพรมแดนและแต่งตั้งผู้ปกครอง แบบที่พบได้ทั่วโลกในยุคอาณานิคม [5] ตามทัศนะของ Fromkin ในระหว่างช่วงเวลาระหว่าง 2457-2465 ได้มีการกำหนดข้อตกลงหลังสงคราม เพื่อยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลางในหมู่ผู้มีอำนาจในยุโรป แต่มันกลับส่งผลให้เกิดปัญหาตะวันออกกลาง ในหัวใจของตะวันออกกลางเอง

สิ่งที่แตกต่างของ “ปัญหาตะวันออก” ตามสิ่งที่ชาวยุโรปเรียกกันในช่วงก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน หรือปัญหาตะวันออกกลางที่เรารู้ในทุกวันนี้คือ มันแตกต่างจากความแตกต่างแบบดั้งเดิมที่เราพบในสถานที่อื่น ๆ ของโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและเขตแดน

แต่ ณ ที่นี้ ยังมีข้อเรียกร้องที่ยกมาจนถึงทุกวันนี้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิดำรงอยู่ของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเชื้อชาติยังคงแสวงหาสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง ดังนั้นตะวันออกกลางจึงยังคงเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงที่สุดในโลกเนื่องจากสงครามบ่อยครั้งเพื่อการดำรงอยู่และสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง . [6]

เบื้องหลังปัญหาทั้งหมดที่ตะวันออกกลางร่วมสมัยกำลังประสบอยู่ เช่น ปัญหาอนาคตทางการเมืองของชาวเคิร์ด หรือชะตากรรมทางการเมืองของชาวปาเลสไตน์ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงแสวงหาคำตอบ : ระบบการเมืองสมัยใหม่ในปัจจุบันนี้ที่ยุโรปโยกย้ายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง จากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หลังสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย จะสามารถดำรงอยู่ในตะวันออกกลางที่แตกต่างจากยุโรป รวมถึงลักษณะของการแบ่งดินแดนออกเป็นรัฐฆราวาสตามสัญชาติของคนในชาติ ซึ่งตรงกันข้ามของฐานรากต่างๆของจักรวรรดิออตโตมันที่กว้างไกลกินเนื้อที่ 3 ทวีป ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดชุมชนพหุเชื้อชาติ [7]

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ
https://midan.aljazeera.net/intellect/history/2020/2/20/%d9%85%d8%a6%d8%a9-%d8%b9%d8%a7%d9%85-%d9%85%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%aa%d9%8a%d9%87-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d9%8a%d8%a7%d8%b3%d9%8a?fbclid=iwar2cfyinwmstoyva1o2rl1t5qbblamx41afvlcrxhmomourfiasw09mzldo

สิทธิมนุษยชนในอิสลาม

          บทความนี้จะกล่าวถึงแนวคิดเบื้องต้นในอิสลามที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งถึงแม้อิสลามไม่ได้ร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ  แต่อิสลามได้ก้าวล้ำประชาคมโลกและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนที่ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึกและการศรัทธาพร้อมการประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่ออัลลอฮ์  และเป็นดัชนีชี้วัดของการเป็นมุสลิมที่ดี

แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

          สิทธิมนุษยชนได้กำเนิดเป็นทางการครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 13 (หลังจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามนานถึง 7 ศตวรรษ)  อันสืบเนื่องจากการปฏิรูปชนชั้นในยุโรป ต่อมาได้มีการวิวัฒนาการในสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการป้องกันการเหยียดผิว การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการป้องกันความอยุติธรรมในสังคม จนได้มีการยกย่องว่า ศตวรรษที่ 18 คือ ศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน

          องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ก่อตั้งครั้งแรกโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ.1945 และในปี ค.ศ.1948 ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลังจากประชาคมโลกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่สมัชชาสหประชาชาติได้ให้การรับรองและประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ซึ่งถือเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลของทุกปี  ประกอบด้วยข้อความ 30 ข้อ เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่

          ส่วนแรก เป็นคำปรารภที่กล่าวถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ที่ว่ามนุษย์มีสิทธิในตนเอง มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค ดังนั้นจึงห้ามเลือกปฏิบัติ และควรปฏิบัติต่อกันเสมือนเป็นพี่น้อง สิทธิมนุษยชนนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่จะสร้างหลักประกันแก่ทุกชีวิตด้วยการ เคารพหลักสิทธิเสรีภาพที่ปรากฏในปฏิญญานี้ เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานร่วมกันสำหรับการปฏิบัติของผู้คนในสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ อันเป็นพื้นฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

          ส่วนที่สอง กล่าวถึงสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political  Rights) ประกอบด้วย สิทธิในชีวิต เสรีภาพและความมั่นคง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก เสรีภาพสื่อมวลชน ในการชุมนุม การสมาคมรวมกลุ่ม และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเข้าถึงบริการสาธารณะ

         ส่วนที่สาม กล่าวถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Economic Social and Cultural Rights) สิทธิดังกล่าวได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และได้รับผลทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง สิทธิในการศึกษา สิทธิในด้านแรงงาน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ สิทธิในสวัสดิการสังคม การคุ้มครองแม่และเด็ก สิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางวัฒนธรรม ศิลป ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร

         ส่วนที่สี่ กล่าวถึงหน้าที่ของบุคคล สังคมและรัฐ โดยที่จะต้องดำเนินการสร้างหลักประกันให้มีการคุ้มครองปรากฏในปฏิญญานี้ ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ห้ามรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน และจำกัดสิทธิของบุคคล มิให้ใช้สิทธิมนุษยชนละเมิดสิทธิของผู้อื่น สังคมและโลก

สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

          ประเทศไทยได้เป็นภาคีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 199 และมาตรา 200 และ พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีคณะกรรมการ 11 ท่าน ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำการไกล่เกลี่ย เสนอมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ทั้งยังมีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎมายต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน

          ในปัจจุบันมีองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาชนในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำงานช่วยเหลือประชาชนทั้งการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ ทั้งในระดับนโยบายและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหาทางแก้ไขปัญหาเท่าที่สามารถกระทำได้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า ในสังคมไทยจะปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรายังต้องอาศัยพลังจากประชาชนเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเองและชุมชน จึงจะเป็นการสร้างความสงบสุขในสังคมได้

สิทธิมนุษยชนในอิสลาม

           อิสลามได้ให้เกียรติแก่มนุษย์ และยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์ คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาติญาณดั้งเดิม โดยที่อัลลอฮ์ ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

          อัลลอฮ์ได้กำหนดบทบัญญัติให้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ พระองค์ได้ประทานคัมภีร์เพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตและส่งศาสนทูตเพื่อเป็นแบบอย่างในการนำคำสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิติประจำวัน บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง 5 ประการ คือ การคุ้มครองศาสนา  การคุ้มครองชีวิต  การคุ้มครองสติปัญญา   การคุ้มครองพันธุ์กรรมหรือศักดิ์ศรี  และการคุ้มครองทรัพย์สิน

สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงมีคุณลักษณะเฉพาะที่พอสรุปได้ดังนี้

1) สิทธิมนุษยชนในอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักความเชื่อในอิสลาม มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่พึงมีต่อพระเจ้า ต่อตนเอง เพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อม

2) สิทธิมนุษยชนในอิสลามเป็นพรอันประเสริฐและความกรุณาของพระเจ้าที่มอบให้แก่มนุษย์ เป็นคำวิวรณ์จากพระเจ้าผ่านศาสนทูตแห่งพระองค์ สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเพื่อตอบสนองกระแสสังคม หรือเสียงสะท้อนของผู้ที่เสียเปรียบหรือได้เปรียบจากความขัดแย้งในสังคม

3)  สิทธิมนุษยชนในอิสลามมีขอบเขตครอบคลุมมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่กำหนดเส้นแบ่งด้านสัญชาติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือประเทศใดเป็นการเฉพาะ แต่มีเนื้อหาขอบเขตกว้างขวาง ตั้งแต่การศรัทธาในระดับจิตสำนึกไปจนถึงโครงสร้างทางสังคม และกำหนดนโยบายในระดับประเทศและนานาชาติที่ครอบคลุมมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย

4) สิทธิมนุษยชนในอิสลาม  คือ พฤติกรรมที่เป็นข้อเท็จจริงที่ซึมซับอยู่ในจิตสำนึกและพร้อมแสดงออกมาในภาคปฏิบัติซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับคำบัญชาของอัลลอฮ์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจกฏหมายหรือข้อตกลงทางสังคมบังคับใช้

          Dr.Ibrahim Madkur ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอาหรับ กรุงไคโรกล่าวว่า

          สิทธิมนุษยชนที่มีการละเมิดในทุกวันนี้  ทั้งๆที่เรามีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองไว้  ความจริงแล้วอิสลามได้วางกฏเกณฑ์และให้มวลมนุษย์ดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ 14 ศตวรรษแล้ว อิสลามได้วางรากฐานสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะมีการพูดถึงอย่างแพร่หลายใน ศตวรรษที่ 18 ที่ถือว่าเป็นศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำไป  อิสลามได้ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติทางศาสนา และสิ่งที่พึงปฏิบัติในโลกดุนยาพร้อมกับได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมจริยธรรมและจิตวิญญาณ

อัลกุรอาน คือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติ

          อัลกุรอาน  คือ ธรรมนูญสำหรับมนุษยชาติ  ประเด็นหลักที่บรรจุในอัลกุรอานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม  ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่น อัลกุรอานได้เรียกร้องมนุษย์ว่าيأيهاالناس  (โอ้ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย) โดยที่คำนี้จะถูกเรียกซ้ำในอัลกุรอาน ถึง 28 ครั้งในขณะที่คำว่าالناس (มนุษย์)ได้ถูกใช้ในอัลกุรอานถึง 280 ครั้ง  คำว่าإنسان (คำเอกพจน์ของมนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอาน 63 ครั้ง และคำว่า بني ادم (ลูกหลานอาดัม) ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานถึง 6 ครั้ง และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอัลกุรอานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด จะสังเกตได้จากโองการแรกที่ถูกประทานลงมายัง นะบีมุฮัมมัด  ที่ได้กล่าวซ้ำคำว่า إنسان (มนุษย์) ถึง 2 ครั้งทีเดียว ในขณะที่ซูเราะฮ์ลำดับสุดท้ายในอัลกุรอานคือ ซูเราะฮ์ อันนาส ซึ่งหมายถึงมนุษย์เช่นเดียวกัน

          นอกจากนี้เนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานเป็นการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าและต้นกำเนิดอันแท้จริงของตน  รับทราบคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย  เชิญชวนมนุษย์ให้มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอยู่บนโลกนี้  ชี้แนะให้รู้จักและยึดมั่นบนเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ  พร้อมทั้งให้รำลึกถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติโดยแท้จริง

             คุตบะฮ์วะดาอฺ (เทศนาธรรมอำลาของท่านศานทูต) คือ การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของมนุษยชาติ

          ในปีที่ 10 ฮศ. นะบีมุฮัมมัด พร้อมด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮ์กว่า 100,000 คนได้พร้อมกันประกอบพิธีหัจญ์  ณ ทุ่งอะเราะฟะฮ์ในวันที่เปี่ยมด้วยความศานติ นะบีมุฮัมมัดได้กล่าวคำสุนทรพจน์ที่ถือเป็นบทปัจฉิมนิเทศในอิสลาม  และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่สามารถรวบรวมพลโลกนับแสนที่หลากหลาย ด้านภาษา  สีผิว วงศ์ตระกูล เชื้อชาติและเผ่าพันธุ์  คลื่นมหาชนได้รวมตัว ณ สถานที่เดียวกัน  วันเวลาเดียวกัน  มีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์เดียวกัน  การปฏิบัติศาสนกิจที่พร้อมเพรียงกัน ด้วยการแต่งกายที่เหมือนกัน ภายใต้การนำโดยผู้นำสูงสุดคนเดียว  เนื้อหาหลักของ คุตบะฮ์วะดาอฺ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของอิสลามที่ครอบคลุมหลักพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ  ความรับผิดชอบในหน้าที่  การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล การใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข  หลักการยึดมั่นในอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิต  เลือด  ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของคุตบะฮ์  ความว่า 

โอ้มนุษย์ทั้งหลาย  แท้จริงเลือด  ทรัพย์สมบัติและศักดิ์ศรีของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด  จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน  เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้  เดือนนี้และสถานที่แห่งนี้

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ

รัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺ สรรสาระสันติภาพที่ยั่งยืน

          รัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺคือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นลายลักษณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีเชื่อว่า เป็นอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอิสลาม

          วัตถุประสงค์หลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ วางรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตที่สันติ สานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลายโดยเฉพาะชาวมุฮาญิรีน อันศ็อร ชาวยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชาชน ผู้นำและรัฐในการสร้างสังคมสันติภาพ ตลอดจนประกาศความเป็นรัฐเอกราชและความเป็นผู้นำสูงสุดของนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)

          นักบูรพาคดีชาวโรมาเนียชื่อ Constant Jeor Jeo ได้กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกอบด้วย 52 มาตรา ทุกมาตราเป็นความคิดที่สร้างสรรค์โดยนบีมุฮัมมัด  ในจำนวนนี้มี 25 มาตราที่พูดถึงชาวมุสลิมเป็นการเฉพาะ และอีก 27 มาตราได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชนต่างศาสนิกโดยเฉพาะยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยมีสาระสำคัญที่อนุญาตให้ชนต่างศาสนิกสามารถดำรงชีวิตกับสังคมมุสลิมอย่างอิสระ สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละชุมชนอย่างเสรี แต่ละชุมชนไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนหรือก่อความไม่สงบแก่ชุมชนอื่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในปีแรกของการฮิจเราะฮฺหรือปี 623 ค.ศ. แต่ทุกครั้งที่เมืองอัลมะดีนะฮฺถูกคุกคามจากศัตรูพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องลุกขึ้นปกป้องจากภัยคุกคามนี้”

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺสรุปได้ดังนี้

1. ประชาชาติมุสลิมอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าการติดยึดในเรื่องเผ่าพันธุ์และสีผิว

“แท้จริงพวกเขาคือประชาชาติเดียวกันที่แตกต่างจากชาวพลเมืองอื่น”

          นัยตามมาตรานี้ ทำให้ชาวมุสลิมถึงแม้จะมาจากเผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล เชื้อชาติและภาษาที่ต่างกัน แต่พวกเขามีความผูกพันกับสายใยอันเดียวกัน นั่นคือ อิสลาม และด้วยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด  ได้ทลายกำแพงความเป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม ภาษานิยมและชาตินิยมอย่างสิ้นซาก พร้อมสร้างชาติพันธุ์ใหม่คือชาติพันธุ์อิสลาม ทุกคนกลายเป็นประชาชาติเดียวกันคือประชาชาติอิสลาม

2. การสร้างหลักประกันสังคมร่วมกันระหว่างพลเมือง

          “แท้จริงศรัทธาชนไม่สามารถปล่อยให้ปัญหาของมุสลิมถูกแก้ไขตามลำพัง แต่เขาต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน แก้ปัญหาด้วยคุณธรรมโดยเฉพาะเรื่องการไถ่ตัวมุสลิมจากการถูกจองจำ”

         มาตรานี้ได้ส่งสัญญาณแก่มุสลิมทุกคนว่า พวกเขาคือพี่น้องกัน จำเป็นต้องเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน พวกเขาคือเรือนร่างอันเดียวกัน อวัยวะส่วนไหนเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นเจ็บปวดไปด้วย

3. การลงโทษผู้บิดพลิ้วสัญญา

          “ศรัทธาชนต้องลุกขึ้นต่อต้านโดยพร้อมเพรียงกันต่อทุกพฤติกรรมที่ส่อถึงการทรยศหักหลัง การสร้างศัตรูหรือสร้างความปั่นป่วนในสังคมมุสลิม ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อต้านกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ถึงแม้จะเป็นลูกหลานใครก็ตาม”

          อาศัยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด ได้สั่งประหารชีวิตยิวเผ่ากุร็อยเศาะฮฺกลุ่มหนึ่งหลังสงครามอัลอะหฺซาบ(สงครามพลพรรค) ซึ่งยิวกลุ่มนี้ได้เป็นไส้ศึกร่วมมือกับศัตรูในการโจมตีเมืองอัลมะดีนะฮฺ ถึงแม้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอัลมะดีนะฮฺก็ตาม

4. การให้เกียรติแก่ทุกคนที่มุสลิมประกันความปลอดภัย

         “แท้จริงอัลลอฮฺจะประกันความปลอดภัยแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดก็ได้รับสิทธินี้อย่างเสมอภาค ศรัทธาชนจะต้องร่วมมือประกันความปลอดภัยซึ่งกันและกัน”

         มุสลิมทุกคนสามารถประกันความปลอดภัยแก่ใครก็ได้ที่เขาต้องการไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม และทุกคนในสังคมต้องเคารพการประกันความปลอดภัยนี้ ถึงแม้ผู้ประกันจะมาจากประชาชนธรรมดาผู้ต่ำต้อยก็ตาม และแม้กระทั่งผู้ประกันจะเป็นผู้หญิงก็ตาม ดังหะดีษหนึ่งที่นบีมุฮัมมัด ได้กล่าวแก่อุมมุฮานิว่า

“แท้จริง ฉันจะประกันความปลอดภัย แก่ผู้ที่ท่านประกันความปลอดภัยแก่เขาโอ้ อุมมุฮานิ”

(อัลบุคอรีย์/6158 และมุสลิม/336)

5. การปกป้องประชาชนต่างศาสนิกและชนกลุ่มน้อย

“ผู้ใดก็ตามที่ตามเราจากชาวยิว พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาจะไม่ถูกอธรรมและไม่มีใครสามารถคุกคามพวกเขาได้”

          มาตรานี้เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า ชนต่างศาสนิกจะไม่ถูกคุกคามจากรัฐหรือสังคมมุสลิม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มุสลิมหรือรัฐอิสลามไม่สามารถเอาประเด็นศาสนาเพื่อทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ตราบใดที่เขาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข

6. หลักประกันความปลอดภัยในสังคมและประกันให้ค่าสินไหมทดแทน

          “ผู้ใดที่ฆ่าผู้ศรัทธาโดยปราศจากเหตุผลที่เป็นที่อนุญาต เขาจะถูกตัดสินด้วยการประหารชีวิต ยกเว้นทายาทที่ถูกฆ่ายินยอมรับค่าสินไหมทดแทน ศรัทธาชนทั้งหลายต้องลุกขึ้นประณามฆาตกรรมนี้ ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์กระทำการอื่นใด ยกเว้นลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น”

         มาตรานี้เป็นหลักสำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพที่สามารถลบล้างวัฒนธรรมแห่งการล้างแค้นที่บานปลายและไม่มีวันสิ้นสุดในสังคมญาฮีลียะฮฺในอดีต รัฐธรรมนูญยังได้ระบุว่า การลงโทษใดๆ สามารถกระทำได้แก่ผู้กระทำผิดเท่านั้น และบุคคลอื่นจะไม่ถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำผิดของสหายของเขา

7. แหล่งคำตัดสินสุดท้ายคือชะรีอะฮฺอิสลาม

“หากมีข้อพิพาทใดๆ ในระหว่างท่าน จงหันกลับไปสู่การตัดสินของอัลลอฮฺ  และมุฮัมมัด  ”

         มาตรานี้เป็นการประกาศว่า การตัดสินของอัลลอฮฺ  และเราะซูล  ถือเป็นที่สิ้นสุดและทุกคนต้องเชื่อฟังคำตัดสินนี้

8. เสรีภาพด้านการนับถือศาสนา

        ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่กลุ่มชนต่างๆ ในการนับถือศาสนาและสามารถปฏิบัติคำสอนศาสนาตามความเชื่อของแต่ละคน ดังที่ได้ระบุในมาตราหนึ่งว่า

“ยิวบะนีเอาว์ฟ เป็นประชาชาติหนึ่งร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธา ยิวมีศาสนาประจำของพวกเขา และมุสลิมีนก็มีศาสนาประจำของพวกเขาเช่นกัน”


9. การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อปกป้องรัฐถือเป็นหน้าที่ของทุกคน

“ชาวยิวมีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินพร้อมๆ กับผู้ศรัทธาตราบใดที่พวกเขาร่วมทำสงครามพร้อมกับชาวมุสลิม”

          เพราะอัลมะดีนะฮฺเป็นรัฐของคนทุกคน ดังนั้นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนและปกป้องรัฐจากภัยคุกคามอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม


10. ทุกเผ่าพันธุ์ได้รับอิสรภาพในการจัดการเรื่องเงินและรายได้ของตน

“ชาวยิวมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขา และชาวมุสลิมมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขาเช่นกัน”

          ในเมื่อแต่ละกลุ่มชนมีหน้าที่ใช้จ่ายเพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นแต่ละกลุ่มชนในสังคมต่างมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพของตนโดยที่รัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายและครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเพียงผู้เดียว


11. การปกป้องรัฐอัลมะดีนะฮฺจากภัยคุกคามเป็นสิ่งวาญิบสำหรับทุกคน

“ในระหว่างพวกเขา ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการต่อต้านผู้รุกรานพลเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

         มาตรการนี้ถือเป็นการมอบหมายหน้าที่ให้แก่ทุกคนที่เป็นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺในการปกป้องจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกที่สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล


12. การให้คำตักเตือน การทำความดีระหว่างมุสลิมด้วยกันและชนต่างศาสนิก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน

“ในระหว่างพวกเขาต้องดำรงไว้ซึ่งการตักเตือนและการทำความดี ไม่ใช่กระทำบาปทั้งหลาย”

         สถานะดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม คือ การให้คำตักเตือน เสนอแนะสิ่งดี ประกอบคุณงามความดีให้แก่กัน ไม่ใช่สร้างความบาดหมางระหว่างกัน


13. พลเมืองทุกคนสามารถทำสัญญากับฝ่ายใดก็ได้ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ

          มาตรานี้เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนแข่งขันทำความดี สรรค์สร้างสิ่งประโยชน์และพัฒนาสังคมอย่างเต็มความสามารถ และเพื่อให้สามารถดำเนินไปอย่างสำเร็จสูงสุด รัฐจึงให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายทำสัญญาสร้างความร่วมมือทำคุณประโยชน์ ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ


14. วาญิบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรม

“แท้จริงการยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรมเป็นสิ่งวาญิบ”

         ดังนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมและต้องปลดปล่อยอธรรมให้หมดไปจากสังคมมุสลิม ไม่ว่าผู้ถูกอธรรมจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม


15. การประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองทุกคน เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐ

          รัฐจะต้องประกันความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนาและเผ่าพันธุ์

          นี่คือสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับอัลมะดีนะฮฺที่สามารถสร้างสังคมปรองดองที่แท้จริง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรีและเกิดสันติสุขที่แท้จริง เพราะความหายนะและความปั่นป่วนในสังคม เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์พยายามใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตราบใดที่ไม่สามารถยับยั้งสกัดกั้นการบีบบังคับและการยกย่องบูชามนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนปฏิเสธการนับถือพระเจ้าอันจอมปลอม และตราบใดที่ไม่สามารถปลดปล่อยมนุษย์ให้มีความอิสระในการเลือกทางเดินชีวิตและความต้องการอันแท้จริงของตนเองแล้ว มนุษย์จะต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย

         ด้วยเหตุนี้ ภารกิจสำคัญของนบีมุฮัมมัด และผู้ที่เจริญรอยตามท่าน คือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการการเคารพบูชามนุษย์ด้วยกัน สู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺ  ผู้ทรงเอกะ ปล่อยอิสรภาพมวลมนุษย์จากห่วงโซ่อันคับแคบของโลกดุนยาสู่ความไพศาลของดุนยาและอาคิเราะฮฺ ทำให้มนุษยชาติหลุดพ้นจากกรงเล็บแห่งความอธรรมทางศาสนาสู่ความยุติธรรมของอัลอิสลาม


ส่วนหนึ่งในคุตบะฮ์ อีดิ้ลอัฏฮา 1433

โดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

มืด..ดำ..นำทาง

คงไม่มีใครอยากเจอเรื่องเศร้าๆ
แต่ความจริงคือ ชีวิตคนเราล้วนต้องเจอความเศร้ากันทั้งนั้น…

หากเราเรียกเรื่องเศร้าๆว่าเป็นมลทินสีหม่น สีดำคงจะเป็นตัวแทนความหมองนั้นได้ดีกว่าสีใด แต่สีดำก็คือสีดำ สีดำคืออีกหนึ่งสีธรรมชาติที่เราต้องเจอมันอยู่แทบทุกวี่วันบนโลกใบนี้ ท้องฟ้าตอนกลางคืนเป็นสีดำ มองรถบนถนนก็เจอล้อสีดำ แค่มองตัวเองยังเจอสีดำบนตาสีขาวนั่น สีดำจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์อย่างเราๆ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่า..“เราต้องเจอมันทุกวัน”

แต่สีดำก็คือสีดำ มันคือส่วนหนึ่งของสัจธรรมแห่งโลกที่มีสี
และตัวมันเองอาจไม่ได้อำมหิตอย่างที่บางคนเข้าใจหรือให้นิยาม…

หากเราจะเปรียบความเศร้าในชีวิตเป็นสีดำ การเจอเรื่องเศร้าๆเป็นหย่อมๆในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องปกติมาก เราจะหนีเพื่อไม่อยากเจอสีดำเลย คงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับการหนีเพื่อไม่อยากเจอเรื่องเศร้าๆในชีวิตเลย ก็คงยากที่จะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

สีดำ..ความเศร้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่ได้เลวร้ายในตัวมันเอง หากแต่เราปล่อยให้ตัวเอง “มองหา” สีดำไปเรื่อย อันนี้สิท่าจะไม่ดี การปล่อยให้ตัวเองจดจ้องแต่สีดำบ่อยเกินไป อาจทำให้โลกของเราดูมืดลง เราอาจเริ่มเห็นอะไรขุ่นมัวจนเริ่มหาจุดโฟกัสไม่เจอ จนเราเริ่มมองไม่เห็นอะไร..เริ่มไม่เห็นใคร แล้วในที่สุดเราก็เข้าใจไปเองว่าเราอยู่บนโลกใบมืดตัวคนเดียว

…ใครก็ได้เปิดไฟให้ที…

หากสีดำคือสีแห่งความมืด ความมืดมักทำให้เรามองไม่เห็นทางออกจนเริ่มกลัวและไม่กล้าเดินหน้า แสงสว่างจึงเป็นทางรอดเดียวที่จะพาเราออกมาจากความมืดได้ ใช่..แสงสว่าง..มนุษย์จะเห็นสีอื่นในชีวิตได้ก็ต่อเมื่อมีแสงสว่างเข้ามาช่วยปรับวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน

รู้มั้ย…
ความน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของสิ่งใกล้ตัวที่เราเรียกว่า “อัลกุรอาน” คืออะไร?
อัลกุรอานคือคัมภีร์แสงสว่างที่ถูกประทานจากฟากฟ้า
ใช่..จากฟากฟ้า from the sky..by The Lord of All Lights.

ถ้าเรานำแสงสว่างที่ส่องจ้าจากฟากฟ้ามาฉายให้ชีวิตที่มืดดำ
มันจะช่วยมลายความมืดมนได้มากแค่ไหนลองจินตนาการดู
“การเข้าหาอัลลอฮ..ผู้เป็นต้นแสงแห่งความสว่าง
จึงเป็นทางออกของความมืดมนที่ดีที่สุดแล้ว…จริงๆ”

หากวันนี้เรารู้สึกว่าตัวเองเผลอไปจ้องสีดำมากเกินพอดี
จนเริ่มเห็นอะไรหม่นมัว
ชีวิตเราต้องการ “แสงสว่าง” นั้นแล้วล่ะคนดี
คนที่เจอภาวะซึมเศร้า เขามักเล่าว่าโลกของตัวเองช่างมืดมน
หากวันนี้เราเริ่มรู้สึกว่าโลกของตัวเองเริ่มเป็นสีดำหมองมัว
ได้เวลากลับไปหาไออุ่นจาก “แสงสว่าง” นั้นแล้วล่ะคนดี
อัลกุรอ่าน คือแสงสว่างนั้น…
มันจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งทุกอย่างให้เธอเอง

May He lead you out of darkness with ‘The Light’.
ขอเป็นกำลังใจให้เธอนะ

เขียนโดย ครูฟาร์ Andalas Farr

บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

พี่น้องรู้จักบุคคลนี้ไหม
เคยได้ยินชื่อนี้กันบ้างหรือเปล่า

ท่านเป็นหมอนักพัฒนา
ผู้มีฉายาว่า เป็น
– บิดาแห่งชาวแอฟริกา
– หมอคนจน และ
– บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

ท่านเป็นชาวคูเวต เกิดเมื่อปี คศ.1947
จบคณะแพทย์ศาสตร์ด้านระบบทางเดินอาหารที่อิรัก แล้วไปศึกษาต่อที่เมืองลิเวอร์พูล และแคนาดา
เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารประจำที่กรุงลอนดอนและคูเวต
เป็นเลขาธิการสภามุสลิมแอฟริกา ปี 1981 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อองค์การนี้เป็น มูลนิธิอัลเอาวน์ อัลมุบาชิร (ให้ความช่วยเหลือสายตรง) และได้รับเลือกเป็นประธานมูลนิธิตั้งแต่นั้นมา
เริ่มเผยแผ่อิสลามในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี 1981 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 15 – 08 – 2013 ขณะที่มีอายุ 66 ปี

กว่า 30 ปี ที่อุทิศตนทำงานดะอฺวะฮฺในทวีปแอฟริกา ได้ผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ถูกจำคุกที่อิรัก 2 ครั้งจนเกือบถูกประหารชีวิต พลัดหลงในทะเลทรายแอฟริกา ถูกช่มขู่เอาชีวิต ติดในดงงูคิงคอบร้าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ใช้ชีวิตในดินแดนหฤโหดและทุรกันดารแอฟริกา ช่วงบั้นปลายชีวิตถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายทั้งหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และกระดูกพรุน แต่ก็ยังบากบั่นทำงานเผยแผ่อิสลามอย่างไม่ย่อท้อ และร้องไห้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงสภาพความเลวร้ายของพี่น้องร่วมโลกที่ประจักษ์ด้วยตาตนเองในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเสียงสะอื้นร่ำไห้ของลูกหลานชาวแอฟริกาที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม พร้อมตั้งคำถามว่า โอ้ชาวอาหรับ ทำไมท่านเพิ่งมาถึงตอนนี้ ท่านต้องรับผิดชอบต่อพ่อแม่ของฉันที่เสียชีวิตในสภาพที่เป็นกาฟิรด้วย ท่านให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้าว่า คำถามนี้ยังก้องกังวาลอยู่ในโสตประสาทของท่านตลอดเวลา

บุรุษผู้นี้ได้สร้างผลงานมากมาย ที่กล่าวกันว่าแม้กระทั่งรัฐบาลคูเวต ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่า ผลงานส่วนหนึ่งของท่านได้แก่
– ทำให้ชาวแอฟริกากว่า 11 ล้านคนรับอิสลาม
– สร้างมัสยิดทั่วแอฟริกาประมาณ 5,700 แห่ง
– ดูแลเด็กกำพร้า 15,000 ชีวิต
– ขุดบ่อบาดาล 9,500 แห่ง
– สร้างโรงเรียน 860 โรง
– สร้างมหาวิทยาลัย 4 แห่ง
– สร้างศูนย์กิจการอิสลาม 204 แห่ง
– สร้างโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ 124 แห่ง
– สร้างโรงเรียนอัลกุรอาน 840 แห่ง
– ให้ทุนการศึกษา 95,000 คน
– พิมพ์และเผยแพร่อัลกุรอานจำนวน 6 ล้านเล่ม
– จัดโครงการอิฟฏอร์เดือนเราะมะฎอน ครอบคลุม 40 ประเทศ มีมุสลิมเข้าร่วมแต่ละปี 2 ล้านคน
– ได้รับรางวัลระดับโลกอิสลามมากมายอาทิ รางวัลกษัตริย์ไฟศ็อลด้านบริการอิสลามและมุสลิมปี 1996 รางวัลสาธารณกุศลแห่งรัฐซาร์จ่าห์ปี 2010 รางวัลงานสาธารณกุศลจากมูลนิธิกาตาร์ปี 2010 ฯลฯ

ท่านมีชื่อว่า
Abdulrahman Al Sumait
عبد الرحمن السميط
พี่น้องครับ
เมื่อสตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิต โลกทั้งใบคล้ายตกในอาการภวังค์ สื่อทั่วโลกกระพือข่าวนานเป็นเดือน กลายเป็น talk of the world สรรเสริญอัจฉริยบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล

แต่เมื่อบุคคลผู้อุทิศตนทำงานเพื่อความสูงส่งของอิสลามได้จากโลกนี้ไป ชาวโลกพร้อมใจกันไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใครรับรู้คุณูปการของเขาถึงแม้ในแวดวงผู้คร่ำหวอดทำงานในวงการเผยแผ่อิสลามก็ตาม
ไม่มีเสียงชื่นชม แม้เพียงบทดุอา

ตราบใดที่ตายในสภาพกาฟิร
ถึงแม้จะทิ้งผลงานมากมายล้นฟ้าเต็มแผ่นดิน
ก็ไม่มีคุณค่าใดๆ ณ อัลลอฮ และพระองค์จะทำให้การงานเหล่านั้นเป็นผุยผงที่ปลิวว่อน

แต่สำหรับมุอฺมินแล้ว
อะมัลญาริยะฮฺที่เขาได้ทำไว้
คือกุศลทานอันไหลริน
ที่คอยสะสมเพิ่มพูนความดีงามของเขาอย่างไม่ขาดสาย
ความดีงามเล็กน้อยเท่าเมล็ดอินทผาลัม
อัลลอฮฺจะทำให้มันงอกเงยใหญ่โตเท่าภูเขาอุหุด

แล้วหากสร้างคุณูปการมากล้นทั่วทั้งทวีป
อัลลอฮฺจะเพิ่มพูนผลบุญมากมายแค่ไหน

บนโลกนี้ บุรุษผู้นี้อาจเป็นคนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและชื่นชมท่านมากนัก
แต่ในสวรรค์ ท่านคงอยู่เคียงข้างนบีมูฮัมมัด บรรดานบี ชาวศิดดีกีน ชาวชุฮะดาอฺและศอลิฮีน

ท่านใช้ชีวิตบนโลกนี้เพียง 65 ปีก็จริง
แต่ในความเป็นจริง ท่านมีชีวิตที่ยั่งยืนยาวนาน ซึ่งอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรอบรู้
ส่วนหนึ่งของคำพูดของท่าน

“ฉันจะโยนทิ้งไม้เท้านี้ที่ฉันใช้ในการเดินทางทันที หากมีใครสักคนประกันให้ฉันว่า ฉันจะได้เข้าสวรรค์แน่นอน ตราบใดที่ไม่มีใครมาประกันให้ฉันในเรื่องนี้ ฉันไม่มีวันทอดทิ้งงานนี้เป็นอันขาด จนกว่าชีวิตนี้จะหาไม่ แท้จริงการตรวจสอบของอัลลอฮฺช่างลำบากยากเย็นยิ่งนัก”

เรื่องนี้ขอเพียงแค่กระตุ้นต่อมให้เราสำนึกว่า
แล้วเราได้ฝากผลงานเพื่ออิสลามและสังคมมุสลิมไว้มากน้อยเพียงใด

اللهم كثر من امثاله

اللهم اغفر له وارحمه وعافه واعف عنه واجعل اعماله في ميزان حسناته يوم القيامة وادخله الجنة مع النبيين والصديقين والشهداء والصالحين وحسن اولئك رفيقا

สังคมมุสลิมกับการแต่งงานหนีวาลี

ในทางทฤษฎี
ผู้รู้ชีอะฮ์สนับสนุนให้คนเอาวามแต่งงานมุตอะฮ์ (แต่งงานชั่วคราว)
แถมยังอ้างความประเสริฐและผลบุญอันมหาศาลของการแต่งงานชนิดนี้
แต่ในทางปฏิบัติ
เชื่อว่า ผู้รู้ชีอะฮ์คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกเมียของตัวเอง
หากยกประเด็นนี้มา อาจมีเคืองจนเป็นเรื่องบานปลายก็ได้

ในหลักนิติศาสตร์อิสลามว่าด้วยการแต่งงาน
ก็มีเรื่องหนึ่ง ที่เป็นประเด็นเห็นต่างในหลักวิชาการ
คือการแต่งงานหนีวาลี (แต่งงานโดยฝายหญิงไม่จำเป็นขออนุญาตจากผู้ปกครอง) ซึ่งมีรายละเอียดและเงื่อนไขตามหลักวิชาการมากมาย ซึ่งจะไม่พูดถึง ณ ที่นี่

การแต่งงานชนิดพิเศษนี้ เป็นเรื่องที่ควบคู่กับสังคมมุสลิมภาคใต้มายาวนาน
และเป็นแหล่งที่หญิงชายจากประเทศเพื่อนบ้านมาฟอกตัวเองเป็นว่าเล่น จนกระทั่ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในแต่ละครั้ง เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เฉือดเฉือน หักเหลี่ยม ที่บางครั้งเกิดความวุ่นวายมาโดยตลอด

แม้กระทั่งหนุ่มสาว 3 จว. ภาคใต้บางคู่บางคน ที่ไปร่ำเรียนหรือทำงานในเมืองกรุง ก็มักใช้วิธีฟอกตัวเองในลักษณะนี้อยู่เป็นเนือง (คือหญิงแต่งงานโดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน) เพราะมีผู้รู้หรืออ้างว่ารู้ คอยจัดการ ชี้โพรงให้

ผู้ชายมักจะอ้างหลักการนี้ในการฟอกตัวเอง
โดยเฉพาะบาบอที่ทำพิธีแต่งงานลูกสาวคนอื่นโดยวิธีนี้

ถามว่า
หากเกิดขึ้นกับลูกสาวของตนเอง
จะรับได้หรือไม่

หลังจากคู่นี้แต่งงาน มีลูกมีหลานแล้ว
เขาจะประสานรอยร้าวในครอบครัวได้อย่างไร

ลูกสาวที่เคยทำให้พ่อต้องขายหน้า เสียใจ จะวางตนอย่างไร และจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะสมานรอยแผลนี้

หลักชะรีอะฮ์ที่สร้างผลกระทบเชิงลบ ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ร้อนฉ่า ปฐมเหตุของความโกรธเคืองและบาดหมาง สร้างความอับอายแก่ผู้เกี่ยวข้อง สัญญาณลูกอกตัญญู สร้างมลทินชีวิต ไม่น่าจะเป็นหลักปฏิบัติที่ฮาลาล และไม่น่าจะเป็นแนวปฏิบัติของผู้ที่มีความยำเกรง

หะดีษจากอับดุลลอฮ์บินอัมร์ กล่าวว่า
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم قال رضا الله في رضا الوالد وسخط الله في سخط الوالد / رواه ابن حبان بسند صحيح

ความว่า : ความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ที่มีต่อคนที่เป็นลูก) อยู่ที่ความพึงพอใจของบิดาของเขา และความโกรธเคืองของอัลลอฮ์(ที่มีต่อคนที่เป็นลูก) อยู่ที่ความโกรธเคืองของบิดาของเขา

เราจะอธิบายหะดีษนี้ให้แก่ลูกสาวที่แต่งงานหนีวาลีได้อย่างไร

หลักชะรีอะฮ์มีความถูกต้องเสมอ แต่ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ต่างหากที่อาจไม่คู่ควรกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงในอิสลาม

หากชะรีอะฮ์อนุญาตและส่งเสริมการแต่งงานประเภทนี้ ถามว่า ตั้งแต่ยุคอิมามชาฟิอีย์ลงมา มีผู้รู้(อุละมาอฺ) ท่านใดบ้างที่เคยผ่านการแต่งงานประเภทนี้ พอมีประวัติเล่าขานกันบ้างไหม

พูดเรื่องนี้ทีไร
นึกถึงการแต่งงานมุตอะฮ์ของชีอะฮ์ทันทีครับ

คนนอกทำได้
แต่คนในมีเคือง

ปล.
ผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับหลักวิชาการว่าด้วยการแต่งงานโดยไม่มีวาลี ภายใต้เงื่อนไขและรายละเอียดมากมาย เนื่องจากมีช่องว่างและประเด็นศึกษามากมายในตำราฟิกฮ์ แต่ที่อดนึกไม่ได้คือ หัวใจของผู้เป็นพ่อแม่ ต่างหากครับ

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

Hakikat manusia – สัจธรรมชีวิต

มนุษย์ลืมตาดูโลกในสภาพที่ไม่มีอะไรติดตัว
และจะกลับไปหาพระองค์ในสภาพที่ไม่มีอะไรติดตัวเช่นกัน
นอกจากผลแห่งการกระทำ บาปบุญ ชั่วดี
ที่จะนำพาเราสู่การทรมานในไฟนรก
หรือสุขสันต์ในสวนสวรรค์อันนิรันดร์

Saat manusia
Lahir di dunia
Putra raja
Atau anak si kedana
Semuanya sama belaka
Miskin kaya
Hamba atau raja
Adalah insan biasa

Saat kita
Meninggal dunia
Kita juga
Dalam hal yang sama
Di kubur yang gelap gelita
Tiada kenalan, tiada harta jua takhta
Yang ada amalan cuma

Penentu kita dimulia
Atau dihina
Bahagia di dalam Syurga
Atau sengsara di Neraka
Semuanya adalah pilihan kita
Tepuk dada
Tanya agama


Nukilan : Ibnu Desa
11 Februari 2020
Wisma Mara