บทความ ประวัติศาสตร์

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 5 ตอนจบ)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

******

● นีโออตโตมัน ออตโตมันใหม่ : ตุรกีจากรัฐกามาลิสต์ สู่การค้นหายุทธศาสตร์เชิงลึก

หลังจากหยุดข้องเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นระยะเวลายาวนาน อันเป็นผลมาจากนโยบายกามาลิสต์ ตุรกีได้ค่อยๆกลับมาเป็นนักแสดงหลักระดับภูมิภาคในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรีตุรกุต โอซาล ระหว่าง 1983-1989 และมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากที่พรรคยุติธรรมและพัฒนา -พรรคเอเค- เข้ามามีอำนาจ ช่วงต้นศตวรรษนี้

ในบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากพรรค AK เข้ารับตำแหน่ง เราสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น นโยบายต่างประเทศของตุรกีมีปัจจัยหลัก 4 ประการ 2 ประการเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 และอีก 2 ปัจจัย เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2 นี้

ปัจจัยที่ไม่มีข้อกังขาปัจจัยแรกคือ “วิสัยทัศน์นีโอออตโตมัน” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านนโยบายต่างประเทศของตุรกีในยุคพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา
ที่มองว่า ตะวันออกกลางเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงลึก” ตามคำพูดของอะหมัด ดาวูดอูฆโล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อเดียวกัน [23]

ปัจจัยที่สองคือ ความท้าทายของเคิร์ดที่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นเอกภาพทางภูมิศาสตร์ของตุรกี ตามหลักการก่อตั้งประเทศของกามาล อะตาเติร์ก แม้ว่าหลักการนี้จะขัดแย้งกับค่านิยมปรองดองของพรรคเอเคว่าด้วยหลักพหุเชื้อชาติของตุรกี สิ่งนี้บังคับให้นักการเมืองตุรกีปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลระหว่างแนวโน้มและสัญชาตญาณกามาลิสต์กับนโยบายนีโอออตโตมัน [24]

2 ปัจจัยสุดท้ายตามลำดับคือ การแพร่หลายของอาหรับสปริงและการค้นพบปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมหาศาลในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

หลายปีที่ผ่านมา ในระหว่างการพบปะกับ mukhtars (ผู้ปกครองท้องถิ่น) แอร์โดฆานพูดถึงสนธิสัญญาโลซานที่ 2 ในปี 1923 ว่า เป็นบาดแผลลึกในความทรงจำของประวัติศาสตร์ตุรกี และลดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของตุรกี โดยบังคับให้ตุรกีสละสิทธิ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด แอร์โดฆานกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“มีคนต้องการโน้มน้าวเราว่า สนธิสัญญาโลซานเป็นชัยชนะสำหรับตุรกีและชาวเติร์ก โดยที่พวกเขานำสนธิสัญญา Sèvres ปี 1920 มาขู่เข็ญเรา เพื่อให้เรายอมรับสนธิสัญญาโลซาน ปี 1923 พวกเขานำความตายมาขู่ให้เรายอมรับความพิการตลอดชีวิต”

จนถึงวันนี้ ตุรกียังไม่ลืมว่าสนธิสัญญาโลซานน์เป็นบทลงโทษในฐานะฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เฉกเช่นสนธิสัญญาแวร์ซายที่ใช้บังคับเยอรมนีหลังสงครามเดียวกัน และสัญญาดังกล่าวได้ทำลายเศรษฐกิจเยอรมันอย่างยับเยิน ตามคำเตือนของ จอร์จ กินซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ในหนังสือ “ผลทางเศรษฐกิจต่อสันติภาพ”

ภายใต้แรงกดดันของความขัดแย้งเรื่องก๊าซเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างตุรกีไซปรัสและกรีซ และหลังจากข้อตกลงที่จะกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่างรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติลิเบียและตุรกี ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับสนธิสัญญาโลซาน และหลังจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในซีเรีย อิรักและลิเบีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำถามเดียวกันกำลังถูกถาม ตุรกีกำลังดำเนินการในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยหันหลังให้กับข้อ จำกัดที่กำหนดผ่านสนธิสัญญาโลซานหรือไม่ ?

คำถามนี้ทำให้เกิดคำถามตามมา อะไรคือราคาที่ตุรกีและตะวันออกกลางจะต้องจ่าย ถ้าตุรกีทอดทิ้งสนธิสัญญาโลซานในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 2024 ตามที่มีการเผยแพร่กันมาเป็นเวลาหลายปีในแวดวงสื่อและชาวตุรกี ตั้งแต่แอร์โดฆานประณามสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ?

ทั้งนี้ การบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายของเยอรมนีนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 การละทิ้งสนธิสัญญาโลซานของตุรกี จะเป็นการโหมโรงสู่สงครามระดับภูมิภาคในตะวันออกกลางหรือไม่ ? สงครามที่อาจขยายไปถึงมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังค้นหาส่วนแบ่งในเค้กทรัพยากรในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งการถอนตัวออกอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้สร้างสุญญากาศทางอำนาจ ล่อตาล่อใจให้หลายๆฝ่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาค้นหาที่ทางของตนในภูมิภาคนี้

(จบตอนที่ 5 ตอนจบ )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127
อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…