ประเทศยุโรปที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮ์

ประเทศยุโรปที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮ์

1. บัลเกเรีย 545 ปี

2. มอนเตเนโกร 539 ปี

3. โครเอเชีย 539 ปี

4. โคโซโว 539 ปี

5. บอสเนีย เฮิร์เซโกวินา 539 ปี

6. มาซิโดเนีย 490 ปี

7. โรมาเนีย 490 ปี

8. มอลโดวา 490 ปี

9. เซอร์เบีย 400 ปี

10. กรีก 400 ปี

11. จอร์เจีย 400 ปี

12. ยูเครน 308 ปี

13. ไซปรัสใต้ 293 ปี

14. ไซปรัสเหนือ 293 ปี

15. ดินแดนรัสเซียทางตอนใต้ 291 ปี

16. สโลวิเนีย 250 ปี

17. ฮังการี 160 ปี

18. อาเซอร์ไบจาน 25 ปี

19. อาร์เมเนีย 20 ปี

20. สโลวาเกีย 20 ปี


อ้างอิง :

แปลโดย Mazlan Muhammad

การสังหารหมู่อำเภอชาเตียน ที่มาของชะฮีด 1,600 ชีวิต

.

นับแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนเกือบสิ้นศตวรรษที่ 20 นับเป็นกลียุคของแผ่นดินจีน ด้วยปัญหานานัปการที่รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอภายในราชสำนัก ภัยคุกคามจากต่างชาติ อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ตลอดจนการแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ในหมู่ผู้มีอำนาจ ยังความระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่มณฑลยูนนาน หรือ หยวินหนาน (云南) ที่อยู่ชิดติดพรมแดนอุษาคเนย์

.

แม้เมื่อจีนรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 เคราะห์กรรมของพี่น้องชาวจีนก็ยังไม่หมดสิ้นเพียงเท่านั้น เนื่องจากการขึ้นสู่อำนาจของ “แก๊ง 4 คน” ซึ่งมีแนวคิดซ้ายตกขอบในปี ค.ศ.1966 ทำให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมโค่นล้างวัฒนธรรมประเพณีเก่าอยู่นานนับสิบปี มีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของคนเหล่านี้อย่างเหลือคณานับ

.

มีอยู่หนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติ คือการสังหารหมู่ที่อำเภอชาเตียนในปี ค.ศ.1975

.

.

ชาเตียน (沙甸) เป็นอำเภอหนึ่งในมณฑลยูนนาน ขึ้นกับเมืองเก้อจิ้ว (个旧) จังหวัดหงเหอ (红河) ประชาชนเกือบทั้งหมดเป็นชนชาติหุย คือมุสลิมที่มีเชื้อสายและวัฒนธรรมแบบจีนตามนิยามของรัฐบาลจีนแดง

.

ในยุคที่ “แก๊ง 4 คน” เรืองอำนาจ ศาสนาทั้งหมดถูกตราหน้าในฐานะยาเสพติดที่มอมเมาประชาชน ถ่วงรั้งความก้าวหน้าของชาติ รัฐจึงใช้อำนาจในการกำจัดศาสนา บีบคั้นให้ผู้คนสมาทานความเชื่อแบบลัทธิเหมาแทน

.

อำเภอชาเตียนได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากนโยบายดังกล่าว มัสยิดทุกแห่งถูกสั่งปิด ประชาชนไม่มีสิทธิ์ละหมาด อัลกุรอานถูกเผาทิ้ง มิหนำซ้ำชาวหุยจำนวนมากยังถูกบีบบังคับให้กินเนื้อหมู มีรายงานว่ามัสยิดแห่งหนึ่งถูกใช้เป็นโรงเชือดหมู กระดูกหมูที่ถูกเชือดแล้วก็โยนทิ้งลงบ่อน้ำที่ใช้สำหรับอาบน้ำละหมาด

.

นั่นเป็นพฤติกรรมที่ชาวอำเภอชาเตียนยากจะยอมรับ ในปี ค.ศ.1974 ชาวหุยในชาเตียนและพื้นที่ข้างเคียงรวม 1,000 คนจึงขึ้นรถไฟไปปักกิ่งเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหายังคงยืดเยื้อต่อไป

.

ปลายปีเดียวกัน ชาวหุยมากกว่า 800 คนเดินทางไปยังนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาในรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้น พวกเขาได้จัดตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อคุ้มกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย

.

ท่าทีที่แข็งกร้าวของกองกำลังชาวหุยสร้างความหวาดระแวงแก่รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง คำเรียกร้องเหล่านั้นไม่เพียงได้รับการเมินเฉยแทนคำตอบ หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมองว่านั่นคือการแข็งข้อต่อระบอบการปกครอง

.

กรกฎาคม ค.ศ.1975 ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก ประธานเหมา เจ๋อตง ลงนามมอบฉันทะให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ให้เข้าปราบปรามกองกำลังชาวหุย

.

กองทัพนายทหารที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีนับ 10,000 นาย ยกพลเข้าล้อมอำเภอชาเตียนอย่างแน่นหนาก่อนเช้ามืดวันที่ 29 กรกฎาคม ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านที่มีอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐ

.

หนึ่งสัปดาห์แห่งการต่อสู้ผ่านไปพร้อมกับคราบเลือดและเขม่าปืนที่เพิ่มร่องรอยมากขึ้นทุกขณะ PLA ใช้ทั้งปืน ปืนใหญ่วิถีโค้ง เครื่องพ่นไฟ และระเบิดทางอากาศในการโจมตี เป็นเหตุให้ชาวหุยนับร้อย ๆ คนล้มตาย บ้านเรือนกว่า 4,400 หลังถูกทำลาย ความเสียหายลามไปสู่อำเภอข้างเคียงด้วย

.

รัฐบาลระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 130 คน ในขณะที่บรรดาอิหม่ามหรือผู้นำชาวหุยในชาเตียนประมาณผู้เสียชีวิตไว้ที่ 1,600 คน เป็นเด็ก 300 คน ซึ่งนั่นเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของผู้คนทั้งหมดในอำเภอที่มีอยู่ในเวลานั้น

.

.

ครั้นเมื่อประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปีถัดมา แก๊ง 4 คนก็พลอยหมดอำนาจ ทั้ง 4 ถูกจับกุมและพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนคนใหม่เร่งดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายและออกแถลงขอโทษพี่น้องหุยในอำเภอชาเตียนอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 พร้อมทั้งประณามเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นว่า “เป็นการกระทำที่เลวร้ายและรุนแรงที่สุดในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม”

.

ตั้งแต่นั้นมา ชาเตียนก็ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐ กองทัพหน่วยที่เคยทำลายได้รับคำสั่งให้กลับมาสร้างเมืองนี้ใหม่ พร้อม ๆ กับที่เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นเปิดประเทศ รัฐบาลได้เอื้อให้ธุรกิจของอำเภอชาเตียนเข้าถึงตลาดมาเลเซียและชาติตะวันออกกลางได้ง่ายดาย ทั้งยังส่งนักเรียนนักศึกษาชาวหุยไปเล่าเรียนภาษาและศาสนาในต่างแดนเป็นจำนวนมาก

.

ส่วนผู้ที่จากไปในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 1975 คนรุ่นหลังและผู้รอดชีวิตได้ยกย่องพวกเขาเป็น “ชะฮีด” หรือผู้พลีชีพเพื่อยืนหยัดความศรัทธาต่ออิสลาม รัฐบาลจีนยุคใหม่สร้างอนุสรณ์สถานเป็นเสาสูง จารึกข้อความฟาติฮะห์ (บทแรกในอัลกุรอาน) เอาไว้เพื่อรำลึกถึงเหล่าชะฮีด ที่ภาษาจีนเรียกทับศัพท์ว่า ชาซีเต๋อ (沙希德)

.

ปัจจุบัน ชาเตียนมีชื่อเสียงในฐานะเมืองท่องเที่ยวเชิงฮาลาล สิ่งปลูกสร้างหลังใหญ่สุดของที่นี่คือ มัสยิดกลางชาเตียน (沙甸大清真寺) อันโดดเด่นเป็นสง่าด้วยยอดโดมสีเขียวและหออะซาน 4 มุมซึ่งประยุกต์มาจากมัสยิดอันนะบะวีย์ซึ่งเป็นที่ฝังศพศาสดามุฮัมมัดในนครมะดีนะฮ์ มีความจุมากถึง 10,000 คน เป็นมัสยิดที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน

.

อย่างไรก็ดี อดีตที่เคยเกิดขึ้นก็ไม่มีวันลบเลือนได้หมด มัสยิดกลางอันงดงามหลังนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า เป็นอนุสรณ์สถานแห่งการไถ่บาปที่ถือกำเนิดขึ้นบนรอยเลือดและคราบน้ำตาของชาวชาเตียนเอง


เครดิตภาพ @Zhu Yi Qing
เครดิตภาพ @Zhu Yi Qing

เครดิตข้อมูล : Pattadon Kijchainukul

https://www.facebook.com/pattadon.kijchainukul/posts/pfbid025wN6u4hNpoz4wYTgBJNNzt592huFPEKLbMfD1heD4Era39cSwMW4aSzjgaPM9iCBl

คุณรู้จักซอมบี้ดีแค่ไหน

ในความเข้าใจของคนทั่วไปบนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งประชาชาติมุสลิม ซอมบี้ (Zombie) คือสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วฟื้นใหม่พร้อมความดุร้าย ซอมบี้คือตัวแสดงในสื่อบันเทิงแนวสยองขวัญและจินตนิมิต คำนี้มาจากนิทานพื้นบ้านชาวเฮติที่ว่าซอมบี้เป็นศพคนตายที่กลับมามีชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ ส่วนใหญ่มาจากเวทมนตร์ การพรรณนาถึงซอมบี้ในสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ แต่มักใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่นการแผ่รังสี โรคทางจิต ไวรัส อุบัติเหตุทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

คำว่า “zombie” ในภาษาอังกฤษ บันทึกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1819 ในประวัติศาสตร์ของประเทศบราซิล ซึ่งคือที่มาของเรื่องราวที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชาชาติมุสลิม

ความจริงซอมบี้คือวีรบุรุษมุสลิมที่สถาปนาอาณาจักรอิสลามที่บราซิล มีชื่อเดิมว่า JanJa Zombie ผู้สถาปนารัฐอิสลามที่บราซิล หลังจากที่กองทัพโปรตุเกสได้ยึดครองบราซิลและประเทศอิสลามชายฝั่งแอฟริกาภาคตะวันตกในช่วงปีค.ศ. 1539 กองทัพนักล่าอาณานิคมได้ทำให้ชาวแอฟริกันกลายเป็นทาสรับใช้และปล้นสะดมทรัพยากรกลับสู่ประเทศของตน

ท่ามกลางการกดขี่ทารุณและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมที่สุด มีวีรบุรุษมุสลิมชาวแอฟริกันคนหนึ่งนามว่า JanJa Zombie ในปีค.ศ. 1775 ได้ลุกขึ้นเชิญชวนผู้คนสู่สัจธรรมแห่งอิสลามและความเชื่อที่ถูกต้อง พร้อมประกาศให้ผู้คนลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออิสรภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เมื่อมีผู้คนจำนวนมากให้การสนับสนุนเขาจึงประกาศสถาปนารัฐอิสลามที่บราซิลโดยมีเมือง “มีราส” เป็นเมืองหลวง หลังจากนั้นรัฐอิสลามนี้ได้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะที่บรรดานักล่าได้รุมขย้ำและสวาปาม จนกระทั่งรัฐอิสลามล่มสลายและ JanJa Zombie ได้เสียชีวิตในฐานะชะฮีด หลังจากนั้นองค์การทารุณกรรมและปล้นสะดมนานาชาติในนามมิชชันนารี ก็ได้บังคับขู่เข็ญให้พลเมืองเปลี่ยนนับถือศาสนาใหม่

หลังจากที่พวกเขาพบศพของนายซอมบี้ พวกเขาได้กระทำการอย่างป่าเถื่อนด้วยการตัดศีรษะ มือ เท้าและลากศพประจานไปทั่วเมือง เช่นเดียวกันกับศพมุสลิมอื่นๆ เพื่อสร้างความหวาดผวาและสยองขวัญแก่ผู้คนที่พบเห็น การทารุณกรรมในลักษณะนี้ยังคงต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี จนกระทั่งประวัติศาสตร์ของนายซอมบี้ค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำ

นักล่าอาณานิคมได้ปฏิบัติแผนชั่วด้วยการเผยแพร่ประวัติศาสตร์เชิงลบแก่มุสลิมแอฟริกา โดยเฉพาะวีรบุรุษอย่าง JanJa Zombie ด้วยการผลิตหนังและสารคดีสยองขวัญและภาพยนตร์การ์ตูนสำหรับเด็กๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำลายและบิดเบือนประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิม โดยให้โลกจดจำแต่ความป่าเถื่อนและภาพแห่งความโหดร้ายสยดสยองของชาวมุสลิมเท่านั้น

พวกเขาไม่ได้ฆ่ามนุษย์เพียงอย่างเดียวแต่ได้สังหารมนุษยธรรมไปด้วย

พวกเขาไม่ได้เป็นอาชญากรสงคราม แต่เป็นอาชญากรทางประวัติศาสตร์ที่อำมหิตที่สุด

เที่ยวระรานราวีไปทั่วโลก แล้วสถาปนาตัวเองเป็นผู้ดี พร้อมๆกับสร้างประวัติศาสตร์ให้ชาติอื่นเป็นตัวแทนแห่งความโหดร้ายแทน

หากชาติตะวันตกจดจำเรื่องราวของซอมบี้คือผีดิบที่ดุร้ายน่ากลัว ก็พอเข้าใจได้

แต่กับประชาชาติมุสลิมแท้ๆ เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร


สรุปจากหนังสือ

วีรบุรุษอิสลาม 100 คนที่เปลี่ยนโลก

หน้า 291-292

โดย Jihad Al-Turbani

สรุปโดย Mazlan Muhammad

ส่งคืนอะมานะฮ์ 100 ปี

เรื่องราวดี ๆ  ความงดงามของมุสลิมที่สื่อโลกมองข้าม…ชาวปาเลสไตน์มอบคืนธนบัตรออตโตมัน มูลค่าราว ๆ 9 แสนบาท  ของนายทหารตุรกีที่เก็บไว้กว่า 100 ปี ให้กับรัฐบาลตุรกี

อัลจาซีร่า  -หลังจากเวลาผ่านไป 105 ปี หรือมากกว่านั้น ของฝากที่เก็บรักษาไว้อย่างดีกลับคืนสู่บ้านเกิด และยุติเรื่องราวที่สืบทอดกันมาของตระกูลอัลอะลูล  ในเมืองนับลูส  กาซ่า ปาเลสไตน์  จากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ในวันพฤหัสบดี มีพิธีทหารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์และรัฐบาลตุรกี และการรวมตัวครั้งใหญ่ของทายาทตระกูลอัลอะลูล ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ในเมืองนับลูส  เขตเวสแบงก์  โดยตระกูลอัลอะลูลได้มอบของฝากร้อยปีของนายทหารตุรกีให้กับอะหมัด  เดมิเรอ เอกอัครราชทูตตุรกีประจำปาเลสไตน์  เป็นของฝากที่นายทหารตุรกีฝากไว้ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ทายาทของปู่ทวดอุมัร  อัลอะลูล เล่าที่มาของเรื่องราวที่เล่าให้กับนักข่าวอัลจาซีร่า ว่าพ่อแม่ของเขาเล่าว่า มุตีดีบ อะลูล  น้องชายของฮัจญีอุมัรเป็นทหารเกณฑ์ในกองทัพออตโตมันในเวลานั้น  แนะนำตามคำขอของนายทหารตุรกีให้ฝากเงิน 152 ลีราออตโตมันกับอุมัร พี่ชายของเขา พ่อค้าที่เป็นที่รู้จักซึ่งมีผู้ฝากเงินจำนวนมากไว้ในคลังของเขาในขณะนั้น และบอกว่าจะกลับมารับหลังจากที่กลับมาจากสงคราม แต่สุดท้ายก็หายไปโดยไม่ทราบข่าวคราว รวมถึงน้องชายของฮัจญีอุมัรด้วย

เรื่องราวของฝากดังกล่าว เปิดเผยเมื่อหลายปีก่อน เมื่อคณะนักท่องเที่ยวชาวตุรกีเข้าเยี่ยมชมโรงงานโม่แป้งที่ครอบครัวอัล-อะลูลเป็นเจ้าของในเมืองเก่าของนับลุส ในเวลานั้น ฮัจญีรอฆิบ อัลอะลูล  เปิดเผยต่อคณะเกี่ยวกับของฝาก และจากนั้นก็เริ่มติดต่อกับทางการปาเลสไตน์เพื่อหาช่องทางการสื่อสารกับตุรกี

ในตู้เซฟเหล็กที่แข็งแรงภายในโรงงานของครอบครัวที่อายุมากกว่า 120 ปี ถูกเก็บรักษาไว้ และกุญแจของตู้นิรภัยนั้นถูกเก็บไว้ในตู้นิรภัยอีกอันหนึ่งซึ่งทนทานไม่น้อยกว่ากัน ในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของครอบครัวในสิ่งที่ได้รับของฝากซึ่งเป็นที่ทราบในเรื่องความซื่อสัตย์ในการรักษาของฝากของประชาชนในเมืองจนถึงต้นศตวรรษที่แล้วครั้งเมื่อยังไม่มีธนาคารปฏิบัติการ

จนถึงวันนี้ ผ้าที่นายทหารห่อเงินธนบัตรประเภท  5, 1 และครึ่งลีร่า  ยังคงไม่ถูกแตะต้องและถูกนำออกมาเพียงไม่กี่ครั้งเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น

ทายาทตระกูลอะลูลกล่าวว่า หากจะส่งคืนไปให้ครอบครัวนายทหารตุรกีที่บ้านเกิดก็ไม่รู้จัก  ของฝากที่เจ้าของฝากไว้โดยไม่กลับมาเอา  เขาสูญหายไปพร้อมมุตี อะลูล  น้องชายฮัจญีอุมัร ซึ่งไม่มีข่าวคราวใด ๆ นอกจากจากชาวนับลูสคนหนึ่งผู้เห็นเขาเป็นคนสุดท้าย บอกว่า กำลังถูกหามร่วมกับคนอื่น ๆ ขณะได้รับบาดเจ็บในสมรภูมิเกลิโปลี  

ทั้งนี้  ปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1516 หลังจากยุทธการที่มาร์จ ดาบิก ซึ่งออตโตมานเติร์กเอาชนะมัมลุกส์เติร์ก และในปี ค.ศ. 1917 การปกครองของชาวออตโตมานเหนือปาเลสไตน์สิ้นสุดลง และอังกฤษเข้ายึดครองในเวลาต่อมา

ขณะที่ของฝากถูกส่งมอบให้กับตุรกีที่สำนักงานใหญ่ของผู้ว่าการเมืองนับลูส  อัลจาซีราเน็ตได้พบกับอะหมัด  ดีมิเร เอกอัครราชทูตตุรกี ซึ่งเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งและความลึกของความสัมพันธ์ระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวตุรกี

เอกอัครราชทูตตุรกี กล่าวกับอัลจาซีร่าว่า  ตระกูลอัลอะลูลดูแลของฝากด้วยความทุ่มเทและจริงใจ  และหลังจาก 105 ปี ก็จะกลับคืนสู่ผู้มีสิทธิ  และเราใช้สิ่งนี้เพื่อบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเราและเราจะถ่ายทอดเรื่องราวนั้นไปยังประเทศตุรกีของเรา

เกี่ยวกับอนาคตของของฝากนี้ เอกอัครราชทูตตุรกี อธิบายว่า ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลปาเลสไตน์และครอบครัวอัลอะลูล พวกเขาจะย้ายของฝากนี้ไปที่สำนักงานใหญ่ของสถานกงสุลตุรกีในกรุงเยรูซาเล็ม เนื่องจากเป็นดินแดนตุรกี  เพื่อตัดสินใจในภายหลังว่าจะนำไปที่ไหน

จารึกบนธนบัตรคือ “รัฐออตโตมันอาลียาห์” และคำภาษาตุรกีในตัวอักษรอาหรับ สำนักข่าวอนาโตเลียของตุรกีอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญชาวตุรกีว่ามูลค่าของเงินนั้นในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 30,000ดอลลาร์สหรัฐ 

ในพิธีมอบ  เอกอัครราชทูตตุรกีกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างพิธีมอบ โดยอิสมาอีล อัลอะลูล ตัวแทนตระกูลอัลอะลูลส่งมอบของฝากให้กับทหารปาเลสไตน์ แล้วมอบต่อให้กับผู้บัญชาการ และส่งมอบให้กับพลตรีอิบรอฮีม รอมาดอน  ผู้ว่าการเมืองนับลูส ซึ่งต่อมาได้ส่งมอบให้กับเอกอัครราชทูตตุรกีท่ามกลางสื่อจำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเครื่องบ่งชี้ถึง “ความซื่อสัตย์อย่างลึกซึ้ง” ของครอบครัวอัลอะลูลโดยเฉพาะและชาวปาเลสไตน์โดยทั่วไป ตามคำกล่าวของผู้ว่าการนับลูสที่บอกกับอัลจาซีรา และว่า ประวัติศาสตร์ความซื่อสัตย์ของชาวปาเลสไตน์มีรากหยั่งลึกเหมือนดังรากมะกอก


โดย Ghazali Benmad

2 พฤศจิกายน รำลึกลีลาการต้มตุ๋นแห่งศตวรรษกับเหยื่อไก่อ่อนแห่งศตวรรษ ปฏิญญาบัลโฟร์ Balfour Declaration

ตุลาคม 1924 อังกฤษบีบให้ชารีฟหุสเซ็น ลงจากตำแหน่งสุลต่านแห่งหิจาซ และมอบอำนาจให้ชะรีฟอาลี บุตรชาย แล้วเนรเทศไปอยู่เกาะไซปรัส ภายใต้การควบคุม จนกระทั่งเสียชีวิต

เป็นจุดจบของประมุขแห่งมักกะฮ์ผู้มีความใฝฝันทะเยอทะยานที่จะรวบรวมดินแดนอาหรับเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ปกครองของตนเอง   อันเป็นการสิ้นสุด ‘การปฏิวัติอาหรับ’ ในแคว้นหิจาซ ต่อต้านอาณาจักรออตโตมัน

● เกมส์ปั่นหัวครั้งนี้มีความเป็นมาอย่างไร

อังกฤษปั่นหัวชะรีฟหุสเซ็น ผ่านแมคมาฮอน ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำอียิปต์ หลังจากทราบมาว่า เขาต้องการเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นหิจาซ และแยกตัวออกจากออตโตมัน

อังกฤษสนับสนุนการณ์ครั้งนี้ทุกอย่าง  ทั้งคน  เงินทองและสรรพาวุธ

ในขณะที่แมกมาฮอน ส่งสาส์นติดต่อกับชะรีฟหุสเซ็น สนับสนุนการสถาปนาสหรัฐอาหรับ

ในวันที่  30 สิงหาคม 1915  แมกมาฮอนส่งสาส์นไปยังชารีฟหุสเซ็น  ระบุ  พร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นคอลีฟะฮ์และนำระบอบคอลีฟะฮกลับคืนสู่หิจาซ  

แมคมาฮอนกล่าวในสาส์นนั้นว่า

“บริเตนใหญ่ยินดีกับการฟื้นคืนคอลีฟะฮ์อิสลามให้อยู่ในมือของชาวอาหรับที่แท้จริงจากสายสกุลศาสนทูตผู้ทรงเกียรติ”

 แต่กลับส่งหนังสือส่วนตัวไปยังเจ้าหน้าที่อังกฤษว่า

“ฉันไม่เคยถือว่าเรื่องการเกิดรัฐอาหรับเอกราชในอนาคตที่มีความเข้มแข็งเป็นเรื่องจริงจัง เพราะเงื่อนไขในคาบสมุทรไม่เปิดช่องให้เป็นเช่นนั้น  เรื่องทำนองนี้ไม่เกิดขึ้นกับโลกอาหรับมานานแล้วและจะไม่เกิดขึ้นอีก

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือพยายามดึงดูดให้ชาวอาหรับมาถูกทาง แยกพวกเขาออกจากศัตรู และนำพวกเขามาอยู่เคียงข้างเรา  ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของคำพูด และเพื่อให้สำเร็จ เราต้องใช้คำพูดที่โน้มน้าวใจ”

ลอร์เรนซ์ อาระเบีย  กล่าวพรรณนาถึงสถานการณ์ในปี  1916  ว่า

“มีประโยชน์กับเรา เพราะมันเป็นไปตามเป้าหมายปัจจุบันของเราในการทำลายความเป็นกลุ่มก้อนของอิสลาม ตลอดจนการปราบและโค่นล้มจักรวรรดิออตโตมัน  และเพราะชารีฟฮุสเซนมุ่งสู่ชัยชนะ พวกเติร์กจะไม่สามารถทำร้ายเราได้อีก  

ชาวอาหรับมีความมั่นคงน้อยกว่าพวกเติร์ก ถ้าเราจัดการอย่างระมัดระวัง พวกเขาก็จะอยู่ในสถานะ

แตกแยกทางการเมือง  เป็นความบาดหมาง [คู่แข่ง] ที่ไม่สามารถหลอมรวมกันได้”

● ตำนานจอมต้มตุ๋นปะทะไก่อ่อน

ในขณะที่อังกฤษตกลงกับชารีฟ หุสเซ็น ที่เข้าร่วมขบวนการโค่นออตโตมันว่า จะมอบดินแดนอาหรับเพื่อจัดตั้งสหภาพอาหรับ แต่แอบทำสัตยาบันลับๆ ข้อตกลงเซคส์-ปิโกต์ Sykes-Picot Agreement  วันที่ 16 พฤษภาคม 1916 แบ่งดินแดนปกครองกันเอง ไม่ได้ให้กับชารีฟหุสเซ็นตามสัญญาลวงๆ

ข้อตกลง Sykes-Picot ได้รับการลงนามระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเกี่ยวกับการแบ่งสรรประเทศอาหรับในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในปี 1916 ถึงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของปีนั้น  ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างกระทรวงต่างประเทศของทั้งสามประเทศ ( ฝรั่งเศส อังกฤษ  และซาแห่งร์รัสเซีย)

ข้อตกลงไตรภาคีที่เรียกว่า Sykes-Picot Agreement เพื่อกำหนดขอบเขตอิทธิพลของแต่ละประเทศดังต่อไปนี้

– ฝรั่งเศสยึดครองซีเรียตะวันตก   เลบานอนและรัฐอาดานา

– อังกฤษยึดครองอิรักทางตอนใต้และตอนกลาง  รวมถึงเมืองแบกแดด   ท่าเรือเอเคอร์และไฮฟาในปาเลสไตน์

– รัสเซียยึดครองดินแดนอาร์เมเนียในตุรกี และเคอร์ดิสถานตอนเหนือ

– สิทธิของรัสเซียในการปกป้องผลประโยชน์ของนิกายออร์โธดอกซ์ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์

– พื้นที่ที่อยู่ระหว่างดินแดนที่ฝรั่งเศสได้รับและพื้นที่ที่อังกฤษได้รับ จะเป็นสหภาพรัฐอาหรับหรือสหรัฐอาหรับ

อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้ยังแบ่งออกเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส อิทธิพลของฝรั่งเศสครอบคลุมถึงลิแวนต์ตะวันออกและโมซุล

ในขณะที่อิทธิพลของอังกฤษแผ่ขยายไปถึงทรานส์จอร์แดนและทางตอนเหนือของรัฐแบกแดดจนถึงชายแดนอิหร่าน

– ดินแดนส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ  อันได้แก่ดินแดนของปาเลสไตน์

– ท่าเรือ Iskenderun กลายเป็นอิสระ

ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการเปิดเผยเมื่อคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจในรัสเซียในปี 1917 ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับตระกูลชารีฟ หุสเซ็น และชาวอาหรับที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อตกลงดังกล่าวและทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษกระอักกระอ่วน  และปฏิเสธอย่างด้านๆว่า ไม่เป็นความจริง 

ในปี 1917 พวกบอลเชวิคได้เผยแพร่เอกสารลับที่พวกเขาพบที่สำนักงานใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในเมืองหลวงเปโตรกราด รวมทั้งเอกสารข้อตกลงเซคส์-ปิโกต์ Sykes-Picot Agreement ซึ่งถูกอธิบายโดยวิงเกต ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ในจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1918 ว่า:

 “กษัตริย์แห่งฮิญาซได้ส่งโทรเลขที่รุนแรงไปยังตัวแทนของเขา แนะนำให้เขาดำเนินการสืบสวนข้อตกลงแองโกล-ฝรั่งเศสและขอบเขตของข้อตกลง

ให้บอกไปว่ากษัตริย์ไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงไซคส์-ปิโกต์  ฉันแนะนำให้บอกตัวแทนว่า  ที่พวกบอลเชวิคที่พบในกระทรวงการต่างประเทศเปโตรกราด เป็นบันทึกการเจรจาฉบับเก่าและข้อตกลงชั่วคราว  ไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นทางการระหว่างอังกฤษฝรั่งเศสและรัสเซีย” 

ชารีฟหุสเซ็นเชื่อในเหตุผลของอังกฤษ และด้วยความไร้เดียงสา ยังแสดงความยินดีกับพวกเขาที่ควบคุมกรุงเยรูซาเล็มโดยกล่าวว่า: “ข่าวนี้ทำให้มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง” โดยเข้าใจไปว่าเมืองอัลกุดส์จะตกอยู่ในขอบเขตอาณาจักรของตน

หลังจากนั้น ก็ร่วมกระบวนการโค่นออตโตมันต่อไป

ภูมิภาคนี้ถูกแบ่งออกตามข้อตกลง  ฝรั่งเศสจึงได้ครอบครองส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเลแวนต์  และส่วนใหญ่ของอานาโตเลียตอนใต้และภูมิภาคโมซุลในอิรัก

ในขณะที่อังกฤษขยายพื้นที่ควบคุมจากเลแวนต์ทางใต้ ขยายไปทางตะวันออก รวมถึงแบกแดด บาสรา และพื้นที่ทั้งหมดระหว่างอ่าวเปอร์เซียและภูมิภาคภายใต้ปกครองของฝรั่งเศส

นอกจากนี้ยังตัดสินใจที่จะจัดการพื้นที่ซึ่งต่อมาได้รับการตัดแยกจากทางใต้ของซีเรีย คือดินแดน “ปาเลสไตน์” ให้อยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ ตามที่จะตกลงกันในการปรึกษาหารือระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส (ต่อมาตามปฏิญญาบัลโฟร์ ได้ตกลงส่งมอบให้กับชาวยิว  ให้ชาวไซออนิสต์สร้างรัฐอิสราเอล)

อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าอังกฤษจะได้รับท่าเรือไฮฟาและเอเคอร์   โดยมีเงื่อนไขว่าฝรั่งเศสจะมีอิสระในการใช้ท่าเรือไฮฟา  และฝรั่งเศสได้ตอบแทนอังกฤษโดยการให้ใช้ท่าเรือIskenderun ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตน

ชัดเจนแจ่มชัดถึงขนาดนี้ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ตำนานจอมต้มตุ๋นกับไก่อ่อน ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง 

พิสูจน์ว่า  แท้จริงแล้ว เหตุผลของเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ความไร้เดียงสาไม่ทันเกมส์ มากไปกว่าความโลภหลงไหลในโลกดุนยา ไม่สนใจหลักการถูกผิด…


ที่มา: 

– Al Jazeera

– Meem  Magazine

โดย Ghazali Benmad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิรน์และแนวโน้มในอนาคต[ตอนที่ 7]

Taliban และ IS-Khurasan

สองสายธารที่บรรจบได้ยาก

หลังจากการประกาศรัฐอิสลามที่อิรักและซีเรียในปี 2014  Taliban ปากีสถานก็ได้ประกาศให้คำสัตยาบันต่อผู้นำ IS ขณะนั้นคือ นายอะบูบักร์ อัลบัฆดาดีย์ ตามด้วยสมาชิกTalibanจากอัฟกานิสถานบางคนที่แปรพักตร์สนับสนุน IS

ต้นปี 2015 IS ได้ประกาศจัดตั้งรัฐอิสลามคูรอซาน (Islamic State -Khurosan IS-Kh) ซึ่งเป็นชื่อเก่าในอดีตที่ครอบคลุมอัฟกานิสถานปากีสถาน อิหร่านและประเทศในเอเชียกลางในปัจจุบันโดยใช้พื้นที่ในอำเภอแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน คือ Nangarhar เป็นศูนย์ปฏิบัติการ มีกองกำลังหลายพันคน

ปฏิบัติการสำคัญ

IS-Kh ได้ออกแถลงการณ์เป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้งที่เกิดขึ้นที่อัฟกานิสถานและปากีสถานรวมทั้งการเชือดสังหารชาวบ้านในมัสยิด โรงพยาบาลและที่สถานะอื่น ๆ

ในปี 2019 IS-Kh ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีชาวชีอะฮ์ในงานมงคลสมรสที่กรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ราย

เช่นเดียวกันกับเหตุโจมตีในปี 2020 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ที่มีชาวชีอะฮ์อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ การระเบิดครั้งนี้ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิต 16 ราย

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่ม

ถึงแม้จะเป็นสองกลุ่มสุนหนี่ที่มาจากกลุ่มติดอาวุธเช่นกัน แต่ทั้งสองมีความแตกต่างทั้งแนวคิด ปรัชญา ยุทธศาสตร์และเป้าหมายโดยเฉพาะการตอบโต้ระหว่างสองฝ่าย ที่หลายครั้งเกิดการปะทะด้วยอาวุธ โดยฝ่าย IS-Kh ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าTalibanเป็นกลุ่มที่ได้ตกศาสนา ( ชาวมุรตัดดีน) รายละเอียดความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มนี้ ได้นำเสนอแล้วในตอนที่ 3 ของบทความ

Talibanจึงเป็นก้างขวางคอที่สกัดยุทธศาสตร์การรุกคืบของ IS ที่คูรอซาน ต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อิรักและซีเรีย ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเข้าไปยึดครองได้อย่างง่ายดายในช่วงแรก ถึงแม้ในรอบต่อมา ถูกกองกำลังบัชชาร์ยึดคืนก็ตาม

ในปี 2019 กองกำลังรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ปฏิบัติติการร่วมกับสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความปราชัยในจังหวัด Nangarhar เมืองทางภาคตะวันออกของประเทศ

ตามรายงานของสหรัฐอเมริการะบุว่า IS-Kh ได้ปฎิบัติการตามเครือข่ายที่นอนหลับ ซึ่งแฝงอยู่ในกรุงคาบูล เพื่อปฏิบัติการโจมตีและก่อการร้ายในพื้นที่

ปฏิกิริยา IS-Kh ต่อ Talibanรีเทิร์น

IS-Kh ได้กล่าวประณาม Talibanอย่างรุนแรง ที่ Talibanได้ร่วมลงมือลงนามกับวอชิงตันที่จัดขึ้น ณ กรุงโดฮาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยทั้งสองได้ตกลงเรื่องการถอนทัพของสหรัฐอเมริกาและต่างชาติให้ออกจากอัฟกานิสถาน IS-Kh กล่าวหา Talibanว่าเปลี่ยนจุดยืนและขายอุดมการณ์

หลังเหตุการณ์ช๊อคโลก Talibanรีเทิร์น เมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรอิสลามทั่วโลกและผู้นำประเทศอิสลามบางประเทศได้มองในแง่บวกและชื่นชมต่อชัยชนะครั้งนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับ IS ที่สงวนท่าทีและเงียบเฉย แม้กระทั่งกล่าวแสดงความยินดี

ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม- สิงหาคมปีนี้ ISได้ปฏิบัติการโจมตีมาแล้ว 216 ครั้ง เทียบกับ 34 ครั้งในช่วงดังกล่าว เมื่อปีที่ผ่านมา

นิตยสารฝรั่งเศสฉบับหนึ่งกล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งปฏิบัติการที่สร้างสีสันแห่งใหม่ของ IS มันไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการถอนกำลังของกองทัพสาหรัฐอเมริกา แต่การรีเทิร์นของ Talibanต่างหากที่ทำให้ IS-Kh ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

“การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของกองกำลังอัฟกันที่ผ่านมา ทำให้เราต้องหวนกลับนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อิรักเมื่อปี 2011 ผมเกรงว่าจะเป็นหนังที่ถูกฉายซ้ำที่อัฟกานิสถาน พร้อมๆ กับการพัฒนาการอย่างมีนัยของ IS และ Al-Qaeda”

Colin Clark ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางชาวสหรัฐอเมริกา กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2021 เกิดเหตุระเบิดพลีชีพที่บริเวณใกล้สนามบินกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน พร้อมคำแถลงการณ์จาก IS-Kh ที่แสดงความรับผิดชอบเช่นเคย

#งานหินสุดๆของ Talibanได้เริ่มขึ้นแล้ว

#เมฆดำทมึนเหนือท้องฟ้าอัฟกานิสถานเริ่มก่อตัวอีกครั้ง

#ร่วมดุอาให้ชาวอัฟกัน


ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.aljazeera.net/news/2021/8/26/%D8%B7%D8%A7%D9%84%D8%A8%D8%A7%D9%86-%D9%88%D8%AA%D9%86%D8%B8%D9%8A%D9%85-%D8%A7%D9%84%D8%AF%D9%88%D9%84%D8%A9-%D8%A8%D8%A3%D9%81%D8%BA%D8%A7%D9%86%D8%B3%D8%AA%D8%A7%D9%86-%D9%85%D8%A7-%D8%B3%D8%B1

โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่6]

หลังจาก ฏอลิบานเข้ายึดครองอัฟกานิสถานและยึดเมืองหลวงคาบูล ที่ลงเอยด้วยการหลบหนีของอดีตประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา  เส้นทางใหม่ของกลุ่มนี้ได้เริ่มขึ้น โดยเปลี่ยนสถานภาพจากกลุ่มติดอาวุธเป็นกลุ่มที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเข้ายึดบังเหียนอำนาจในอัฟกานิสถาน ที่ถูกทำลายล้างด้วยสงครามและอุดมด้วยความแตกแยกภายใน

ซึ่งแน่นอนว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างกลุ่มที่วันวาน ยังเป็นกลุ่มต่อสู้ติดอาวุธที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงและเน้นสงครามภาคสนาม แต่มาวันนี้คือขบวนการที่ต้องสวมหมวกในนามรัฐบาล ซึ่งประชาชนและประชาคมโลกต่างเฝ้ารอดูผลงานทางการบริหารจัดการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในทุกด้านของการพัฒนา

เห็นได้ชัดว่าในขั้นตอนนี้ กลุ่ม ฏอลิบานจะต้องเผชิญกับความรับผิดชอบและความท้าทายมากมายที่ต้องใช้ความตระหนักรู้ ความเข้าใจและความแน่วแน่ในการจัดการกับความเป็นจริง

โมลา อับดุลกานี บาราดาร์ รองหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมืองของฏอลิบาน ได้พูดถึงข้อเท็จจริงนี้ เมื่อเขากล่าวในสุนทรพจน์ หลังจากฏอลิบานยึดเมืองคาบูล “จากวันนี้ การทดสอบที่แท้จริงของกลุ่มได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว”

ความท้าทายหลักที่ ฏอลิบานต้องเผชิญ หลังจากเข้าควบคุมอัฟกานิสถานในสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถสรุปได้ในประเด็นต่อไปนี้ :

1- ความสมานฉันท์แห่งชาติ

ทันทีหลังจากเข้ายึดครองกรุงคาบูล ฏอลิบานได้เริ่มโครงการสร้างความปรองดองระดับชาติและทำความเข้าใจกับฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายต่อต้าน ด้วยการประกาศนิรโทษกรรม เพื่อสร้างรัฐที่เข้มแข็ง ขจัดความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมืองและความขัดแย้ง พร้อมนำประเทศสู่เสถียรภาพทางการเมือง

การสร้างอัฟกานิสถานใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีความมั่นคง เสถียรภาพก็ไม่อาจบรรลุได้

ความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เป็นสมการที่มีความสลับซับซ้อนที่สุดที่รอ ฏอลิบานแก้ให้ลงตัวอย่างรอบคอบและเต็มด้วยวิทยปัญญา

รัฐบาล ฏอลิบานต้องตื่นรู้ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นล้ม หาใช่ลำพังแค่ขวานอันคมกริบ แต่คือด้ามที่ทำมาจากกิ่งไม้ต่างหาก  ธนูที่สามารถยิงนกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือปีกธนูที่ทำจากขนนกนั่นเอง

สิ่งที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นล้ม หาใช่ลำพังแค่ขวานอันคมกริบ แต่คือด้ามที่ทำมาจากกิ่งไม้ต่างหาก ธนูที่สามารถยิงนกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือปีกธนูที่ทำจากขนนกนั่นเอง”  

2- วาระแห่งความปลอดภัย

การรักษาความปลอดภัย คือวาระเร่งด่วนที่จะต้องให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงคาบูล เมืองหลวง เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพลเมืองอัฟกัน ที่พวกเขาถูกปฏิเสธมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสำเร็จของ ฏอลิบานในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่ความสำเร็จอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การรวมตัวของชาวอัฟกันและเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชน

ถือเป็นการบ้านสุดหินของรัฐบาล ฏอลิบานโดยเฉพาะการกลับมาของ IS-KP ( Islamic State Khorasan Province) และกลุ่มชีอะฮ์ที่ปักหลักอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ

3- การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

การจัดตั้งรัฐบาลที่บริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำลังเพลิดเพลินกับชัยชนะและเป็นตัวแทนของสังคมอัฟกัน ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์และนิกายความเชื่อ จะต้องไม่ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม ฏอลิบานเท่านั้น

รัฐบาล ฏอลิบานต้องตระหนักรู้ถึงความต้องการร่วมสมัยของประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งวัฒนธรรม การศึกษาและธรรมเนียมประเพณี และการยอมรับของสังคมระหว่างประเทศ ที่เน้นเรื่องสิทธิและการเปิดกว้างในสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่ง ฏอลิบานต้องรักษาน้ำหนักให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการจากทั้งสองฝ่ายอย่างจริงใจและจริงจัง

          4.      รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ฏอลิบานควรร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อสร้างหลักประกันรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และปิดประตูความแตกแยกในสังคม ที่อบอวลด้วยภาวะสงครามที่ยืดเยื้อนานกว่า 40 ปี พร้อมๆกับการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ การเตรียมพร้อมในการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากโลกอาหรับและอิสลาม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

          5.      การเปลี่ยนแปลงของสังคมอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

อัฟกานิสถานในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  มีสถิติที่ไม่เป็นทางการระบุว่า วัยหนุ่มสาวชาวอัฟกันมีอัตราสูงถึง 60 %ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีเกือบ 40 ล้านคน กลุ่มนี้มีชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์อันหลากหลายที่ต่างจากอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง กลุ่มนี้อาจไม่สามารถบีบบังคับด้วยกองกำลังทางทหาร แต่ต้องปล่อยให้เป็นการตัดสินใจอันอิสระของพวกเขาต่างหาก

เหตุการณ์ในวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่หนุ่มสาวชาวอัฟกันลุกฮือประท้วงที่กรุงคาบูล ไม่เห็นด้วยที่ กลุ่ม ฏอลิบาน ยกธงสัญลักษณ์ของกลุ่มตนเอง โดยไม่ใช้ธงประจำชาติ ก็น่าจะเป็นสัญญาณอันตราย ที่กลุ่ม ฏอลิบาน ต้องรีบกลับไปทบทวน

6.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สิ่งที่ท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาล ฏอลิบาน ยุค 2.0 นี้ คือ การสร้างความยอมรับบนเวทีนานาชาติทั้งในระดับประเทศและองค์กรสากล รัฐบาล ฏอลิบานต้องกำหนดนโยบายที่นานาชาติไม่สามารถสร้างเงื่อนไขที่จะโดดเดี่ยวกลุ่ม ฏอลิบาน เหมือน 20 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง  3 ประเทศเท่านั้นคือปากีสถาน ซาอุดิอาระเบียและยูเออี ที่ให้การรับรอง

นายกรัฐมนตรีอังกฤษนายบอริส จอห์นสัน ได้กล่าวในรัฐสภาเพื่อถกเหตุการณ์อัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “เราจะตัดสินที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด”

น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาล ฏอลิบาน รับทราบถึงท่าทีของชาติตะวันตกที่มีต่อ ฏอลิบาน ยุค 2.0 อย่างไร

          7.      บทบาทสื่อและการแสดงออกทางความคิดเห็น

ปัจจุบันมีช่องโทรทัศน์ดาวเทียมและสื่อท้องถิ่นกว่า 100 ช่อง วิทยุชุมชนกว่า 150 สถานี หนังสือพิมพ์และนิตยสารนับสิบกว่าฉบับ และสื่อออนไลน์ต่างๆมากมายที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วอัฟกานิสถาน ยังไม่รวมโทรศัพท์มือถือที่ชาวอัฟกันใช้นับสิบล้านเครื่อง ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมอัฟกันยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นผลพวงของกระแสยุคโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ต่างจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่รัฐบาล ฏอลิบานอนุญาตเปิดสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียว คือช่องทางการของรัฐบาล  ปิดสื่อวิทยุแห่งอัฟกานิสถานและเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยุเสียงแห่งชะรีอะฮ์ ห้ามสตรีมีบทบาทในทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะบทบาทด้านสื่อสารมวลชนทุกประเภท แต่ปัจจุบัน บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อนับหมื่นคนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสตรี

          8.      ยาเสพติด

 รายงานฉบับหนึ่งที่ชวนขนลุกของสังคมอัฟกันคือ อัฟกานิสถานมีรายได้จากการปลูกยาเสพติดชนิดต่างๆ สูงถึง 3,000 ล้านดอลล่าร์ ตามรายงานระบุว่าอัฟกานิสถานสามารถผลิตเฮโรอีนจำนวน 6,700 ตันต่อปี (ข้อมูล 2006) คิดเป็น 92% ของการผลิตเฮโรอีนทั่วโลก

นี่คือฝันร้ายของชาวอัฟกันที่เป็นสิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาล ฏอลิบาน ที่สื่อต่างชาติได้โฆษณาชวนเชื่อให้ชาวโลกเคลิ้มอย่างหัวปักหัวปำว่า เบื้องหลังของ ฏอลิบานคือธุรกิจค้ายาเสพติด ทั้งๆที่สมัย ฏอลิบานปกครองอัฟกานิสถานยุคแรก ถือเป็นยุคที่ธุรกิจการค้ายาเสพติดซบเซามากที่สุดในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานทีเดียว

โดยหารู้ไม่ว่า ปรากฏการณ์อันน่ากลัวชวนขนลุกเรื่องธุรกิจยาเสพติด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีความคึกคักและบูมสุดขีดช่วง 20 ปี หลังจากรัฐบาล ฏอลิบาน ยุค 1.0 ล่มสลาย และสหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอัฟกานิสถานแทน

          9.      ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความยากจน

อีกรายงานหนึ่งที่ชวนขนลุกไม่แพ้กันคือสถิติปัญหาว่างงานสูงถึง 40% (ข้อมูลปี 2005) และประชาชนอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน 53% (ข้อมูลปี 2003) เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ มีอัตราว่างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.5%  ในขณะที่คนจนมีจำนวน ทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล 2019)

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การแก้ปัญหาการว่างงานและความยากจน การอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานทั้งการศึกษา การสาธารณสุข ไฟฟ้า น้ำ ถือเป็นความท้าทายที่หนักอึ้งของรัฐบาลฏอลิบาน

ภูเขาหิมะทั้ง 9 ลูกนี้ รัฐบาล ฏอลิบานจะข้ามผ่านพร้อมชาวอัฟกันจำนวน 40 ล้านคนได้อย่างไร คงต้องดูกันยาวๆต่อไปครับ

ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งคนที่ให้กำลังใจ หวังดี และดุอาให้ฟ้าหลังฝนของอัฟกานิสถานที่มีแต่ความงดงามและปลอดโปร่งตราบนานเท่านาน


โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่5]

7 เหตุผลที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้อย่างง่ายดาย

หลังจากการสู้รบนานเกือบ 20 ปี สูญเสียชีวิตทหารและพลเมืองอเมริกันกว่า 6,000 คน และสังเวยชีวิตชาวอัฟกันกว่า 100,000 ชีวิต ผลาญงบประมาณของสหรัฐฯ ไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคจะคาดการณ์อยู่แล้วว่า วันนี้จะต้องมาถึงในที่สุด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ โดยแทบไร้แรงต้านทานจากรัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถาน ที่ว่ากันมามีจำนวน 3 แสนนาย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า 7 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้รวดเร็วและง่ายดายมีดังนี้

1.ความผิดพลาดด้านข่าวกรอง

การที่ฏอลิบานสามารถยึดเมืองหลวงและทำเนียบประธานาธิบดีได้อย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองทหารสหรัฐฯ ล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์  ฏอลิบานจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ วางแผน และเดินหน้าการโจมตีครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนเริ่มการ “การจู่โจมครั้งสุดท้าย” ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลและกองทัพอัฟกันน่าจะสามารถยื้อได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี

รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คนหนึ่งคิดว่า กรุงคาบูลน่าจะถูกยึดในอีก 90 วัน มีกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี 3 แสนนายพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่แล้วมันเป็นแค่ความจริงในเอกสารการรายงาน ส่วนในภาคสนาม กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม

2.ความไม่มีใจคิดสู้ของทหารรัฐบาล

กลุ่ม ฏอลิบานแทบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเพื่อการยึดครองเมืองหลวงของจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมาเลย แต่เป็นการเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้เสียมากกว่า นอกเหนือจากการลอบสังหารบรรดาแกนนำของรัฐบาล กว่า2-3 ปีที่ผ่านมา ฏอลิบานสามารถควบคุมพื้นที่ประมาณ 50 % ของประเทศได้ด้วยการยึดพื้นที่ชนบทต่างๆ และเมื่อเคลื่อนกำลังเข้าสู่เมืองใหญ่ ทหารอัฟกันจำนวนมากก็ปล่อยให้พวกเขาผ่านไป เพราะคิดว่า รัฐบาลในคาบูลคงไม่ส่งกำลังช่วยเหลือพวกเขา

พวก ฏอลิบานจะแทรกซึมเข้าสู่เขตเมืองก่อน เจรจา โน้มน้าวและข่มขู่บรรดาผู้บังคับบัญชาทหารให้ยอมแพ้ มิเช่นนั้นจะสูญเสียครอบครัว เมื่อบวกกับความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่แล้วและคำขาดของไบเดนที่จะถอนกำลังทั้งหมดภายในวันที่ 11 กันยายน พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้จนตัวตายอย่างไร้ประโยชน์

3.อุบายปิดล้อมทางทหารและจูงใจประชาชน

ฏอลิบานโอบล้อมกรุงคาบูลและตัดเส้นทางเสบียงที่จำเป็นสำหรับกองทัพอัฟกัน พร้อมกันนั้น ก็สั่งสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คิดค้นยุทวิถีใหม่ๆ  พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียแบบเดียวกับที่ใช้ปืนไรเฟิลซุ่มยิง โดยสร้างแรงกดดันต่อเหล่าหัวหน้าชนเผ่าท้องถิ่น  รวมทั้งใช้ข้อความเรียบง่าย แต่เห็นผลเพื่อข่มขู่ชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ภายใต้แผน “สงครามจิตวิทยา”

พวกเขาหยิบยื่นทางเลือกในการตัดสินใจให้กับเหล่าผู้บังคับบัญชาท้องถิ่น และชักชวนประชาชนเข้าสู่พื้นที่ยึดครองและจัดสรรบริการสังคมบางส่วนให้กับผู้อยู่อาศัย พวกเขาใช้ทั้งการอ้อนวอน ให้ทางเลือก และข่มขู่ประชาชนให้สนับสนุน หรือไม่ก็ “อย่าต่อต้านพวกเขา”

4.การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและกองทัพ

กองทัพอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นแทบทุกส่วน ถึงแม้มีการต่อสู้กันอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาก็จะแพ้อยู่ดี เพราะว่าพวกเขาไม่รู้เลยว่าสามารถสั่งการและควบคุมใครได้บ้าง ไม่รู้ว่ามีทหารที่ใช้งานได้ในมือกี่คน  ยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดถูกแยกส่วน ถูกขโมย และลักลอบขาย ทหารจำนวนมากไม่ได้รับค่าจ้าง อาหาร และสวัสดิการอย่างเหมาะสมจากส่วนกลาง แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ยังขาดแคลน

ยิ่งไปกว่านั้น หลายหน่วยเลือกขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับ ฏอลิบาน มีกรณีการหนีทัพจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรายงานหรือบันทึก ทำให้จำนวนทหารที่แท้จริงน้อยกว่าตัวเลขของทางการ

5.คนอเมริกันไม่เคยเข้าใจ ‘อัฟกานิสถาน’ เลย

“ไม่เคยมีรัฐบาลกลางในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่แรกแล้ว ความคิดที่ว่าเราสามารถตั้งรัฐบาลได้นั้นเป็นความคิดที่โง่มาก …การตกตะลึงในความเร็วของการยึดอำนาจของ ฏอลิบานยิ่งแสดงให้เห็นว่า แทบไม่มีชาวอเมริกันคนไหน จากบนสุดถึงล่างสุด เข้าใจอัฟกานิสถานเลย” อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ และทหารผ่านศึกอัฟกานิสถานคนหนึ่ง กล่าว

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนเผ่า ภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่วอชิงตันกับพันธมิตรนาโตกำลังพยายามเปลี่ยนมันให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์บนค่านิยมแบบตะวันตก โดยเข้าใจเองว่า ยึดคาบูลได้ ก็ยึดอัฟกานิสถานทั้งประเทศได้ ซึ่งผิดถนัด

“มีความเข้าใจผิดโดยรากฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ชาวอัฟกันต้องการ” แซกชี ซึ่งเคยฝึกกองกำลังอิรักเมื่อปี 2004 กล่าว “เราคิดเอาเองว่า พวกเขาต้องการสิ่งที่พวกเรามี เสรีประชาธิปไตย ค่านิยมแบบยิว–คริสต์ และคิดว่า พวกเขาแค่ต้องการเวลาปรับตัว แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

ความเป็นพันธมิตรทางชนเผ่าในอัฟกานิสถานสำคัญมากกว่าความเป็นชาติ   และความภักดีมักขึ้นอยู่กับเงินและอำนาจ และความเข้มแข็งส่วนหนึ่งของ ฏอลิบาน คือพวกเขาเป็น ‘ปาทาน’ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

“ที่เราทำก็แค่ยกหางชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์แบบมั่วซั้วขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความสามารถที่จะรวมประเทศนี้เป็นหนึ่งได้เลย”

6. รัฐบาลที่อ่อนแอและไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ความสิ้นหวังของประชาชนต่อคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยยืนยันจะพัฒนาประเทศด้วยงบประมาณหมื่นๆล้านโดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ความยากจนและช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภค ที่แทบค้นหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังไม่ได้ งบประมาณอันมหาศาลก็ถูกจัดสรรและผลาญโดยองค์กรสากลที่รัฐบาลกลางแทบไม่มีส่วนใดๆเกี่ยวข้องเลย แต่ประชาชนตาดำๆ ก็ยังต้องดิ้นรนหาน้ำ อาหาร ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยและยารักษาเหมือนเดิม

7. การสนับสนุนจากภายนอก

โดยเฉพาะปากีสถานทั้งเป็นทางการและไม่ทางการ เพราะตามที่ทราบกันว่า  พรมแดนทางทิศตะวันออกและทางตอนใต้ที่ติดกันระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานซึ่งยาว 2,430 กม. บวกกับประวัติศาสตร์อันยาวนานที่หลอมรวม 2 ประเทศนี้ให้เป็นหนึ่ง ที่ถึงแม้จะถูกแบ่งเส้นตามพรมแดนของลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ แต่ในความรู้สึกของประชาชนก็ยังไม่สามารถแบ่งกั้นได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเผ่าพันธุ์ที่มีความเข้มข้นเหนือความเป็นรัฐชาติของประชาชนในบริเวณนี้ ถึงแม้รัฐบาลปากีสถานจะเอาใจรัฐบาลอัฟกานิสถานและสหรัฐอเมริกาด้วยการให้ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและข่าวกรอง แต่ก็เป็นไปได้แค่บนโต๊ะเจรจาหรือภาคปฏิบัติในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เรื่องราวจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าซีรีย์แอร์ทูรูล

โดยผู้เขียนไม่แตะต้องปัจจัยที่ 8 ซึ่งคือปฐมปัจจัยของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ก็ล้วนเป็นผลพวงของปัจจัยนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือแผนการแห่งการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงกระชากอำนาจจากผู้ใดที่พระองค์ทรงต้องการ ทรงยกย่องให้เกียรติกับผู้ใดที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงย่ำยีและลดเกียรติให้กับผู้ใดที่พระองค์ทรงพอใจ ซึ่งล้วนมีวิทยปัญญา(หิกมะฮ์) อันมากมายสำหรับมนุษย์เรืองปัญญา

credit

มีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ทางไลน์ในประเด็น 5 ข้อแรก

https://www.cnbc.com/…/how-afghanistan-fell-to-the…


โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่4]

เหตุการณ์ความโกลาหลที่สนามบินกรุงคาบูล

“อย่างกับในหนัง คนแน่นสนามบินคาบูล หวังขึ้นเครื่องบินหนีหลัง ฏอลิบาน ยึดประเทศ”(Sanook)

“นาทีสลด คลิปเหตุการณ์ชาวอัฟกันหนีร่วงมาจากเครื่องบิน”(Spring News)

“ชาวอัฟกันดับแล้ว 12 รายจากเหตุวุ่นวายที่สนามบินคาบูล”(TNN)

“คลิปชาวอัฟกันวิ่งตามเครื่องบิน บางคนโดดเกาะเครื่อง หวังออกจากประเทศ”

นี่คือบางส่วนของการพาดหัวข้อข่าวทั่วโลกหลังจาก ฏอลิบาน ยึดกรุงคาบูลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งชวนให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่า ฏอลิบาน มีความอำมหิตโหดเหี้ยมถึงขั้นที่ประชาชนหวาดผวาหนีตายกันอย่างอลหม่านยิ่งกว่าหนังสยองขวัญ

ลืมไปว่า เหตุการณ์นี้คือบทสรุปและผลพวงของ 20 ปีที่มหาอำนาจบุกยึดและปกครองอัฟกานิสถาน พร้อมๆกับสัญญาอันสวยหรูว่า จะพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปากสูดดมบรรยากาศสันติภาพและสันติสุขที่ยั่งยืน

ลืมไปว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงคาบูลโดยการแตกฮือของประชาชนจำนวนไม่กี่พันคน เมื่อเทียบกับชาวอัฟกันทั้งประเทศเกือบ 40 ล้านคน

ลืมไปว่า รัฐบาล ฏอลิบาน ประกาศนิรโทษกรรมทั่วประเทศ ไม่มีการล้างแค้น ไม่มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด และจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีข่าวว่า ฏอลิบาน เข้าไปจับกุมทรมาน หรือสังหารฝ่ายตรงกันข้ามแม้แต่คนเดียว ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสภาพเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่หลังถล่มประเทศนาน 40 วันจนแหลกลาญ ก็ไล่ล่าจับกุมคู่อริ แม้กระทั่งจะหนีกบดานเข้าไปในรูหนู แถมยังจับไปทรมานในคุกเถื่อนกวนตานาโม สัญลักษณ์แห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งรุนแรงที่สุดของลัทธิล่าอาณานิคม ที่บริษัทเอ็นจีโอทำได้แค่ถ่ายทำสารคดี เพื่อแสดงความมีน้ำใจของชาติที่ไร้มนุษยธรรม

ความจริงเราสามารถแยกกลุ่มที่สร้างความโกลาหลที่สนามบินกรุงคาบูลออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

1.กลุ่มที่หวาดผวากับ ฏอลิบาน จริง เพราะได้สร้างวีรกรรมมากมาย ด้วยการเป็นสุนัขรับใช้ของชาติผู้บุกรุกตั้งแต่แรก ยอมแลกกับเนื้อก้อนเล็กๆที่ถูกโยนให้เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ จึงเกิดอาการร้อนท้อง เพราะทานปูนไปเยอะ แต่ก็เป็นระดับปลาซิวปลาสร้อยเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น เพราะระดับบิ๊กๆ จริงๆ ก็ถูกขนย้ายอย่างปลอดภัยพร้อมสุนัขตัวจริงไปแล้ว

2.กลุ่มฉวยโอกาสที่พร้อมอพยพออกนอกประเทศทุกยามเมื่ออยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มนี้ไม่เกี่ยวกับฝ่ายสนับสนุนหรือเห็นต่างกับ ฏอลิบาน แต่อย่างใด เป็นกลุ่มที่อยู่ใน 40% ของจำนวนประชากรที่ว่างงานทั้งประเทศ และจำนวน 53% ที่ตกอยู่ในกลุ่มประชาชนที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน เป็นผลพวงของประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามยืดเยื้อยาวนาน 40 ปีซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีครอบครัวและยังไม่รู้ชะตากรรมชีวิตของตัวเองในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาหวังใช้ชีวิตที่ดีกว่าด้วยการหนีตายเอาดาบหน้า ถึงแม้จะต้องเสี่ยงตายมากมายแค่ไหน พวกเขาพร้อมเผชิญหน้า เพื่อหนีจากวงจรอุบาทว์ของชีวิตที่มืดมนในประเทศของตนเอง

ชาวอัฟกัน จึงเป็นชาวอพยพที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วทวีปจำนวนอันดับต้นๆของโลกด้วยประการฉะนี้แล

เรื่องนี้ใครไม่ประสบด้วยตนเอง ไม่มีวันเข้าใจได้ ไม่เห็นโลงศพ ไม่มีวันหลั่งน้ำตา

3.กลุ่ม”ปาทานมุง” ที่เป็นธรรมเนียมของชาวปาทานที่มีความเข้มข้นยิ่งกว่า”ไทยมุง” หลายเท่า และบางกระแสข่าว ระบุว่ามาจากกลุ่มสนับสนุน ฏอลิบาน ที่ต้องการสกัดการอพยพคนครั้งนี้ด้วยซ้ำ

แต่สื่อกระแสหลักกลับไปชี้นำที่กลุ่มแรกเพียงกลุ่มเดียว พยายามซูมกลุ่มนี้ให้เป็นที่น่าสนใจและตัดภาพกลุ่ม 2 และ 3 ออกจากจอ โดยเฉพาะหลังข่าวการเสียชีวิตของบุคคลระดับนักฟุตบอลทีมชาติที่ร่วงตกจากเครื่องบินเสียชีวิตอย่างสุดอนาถ ทำให้กลุ่ม 2 และ 3 ถูกลืมและไม่ได้รับความสนใจไปโดยปริยาย

วงกลมมี 360 องศา การภูมิใจที่จะอยู่ ณ องศาแรกที่พบเจอ คือธรรมเนียมของคนสิ้นคิดและด้อยอารยธรรมครับ


โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฎอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่ 3]

ฏอลิบาน & ไอเอส ความเหมือนที่ต่างกันราวฟ้ากับก้นเหว

หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่างฏอลิบานและไอเอส มีเพียงสิ่งเดียวที่เป็นที่จดจำในมโนคติของพวกเขาคือก่อการร้าย สุดโต่ง ลิดรอนสิทธิสตรี กระหายเลือด หรือทัศนคติเชิงลบต่างๆ ตามที่ได้ถูกเล่าขานกันมา ซึ่งอาจมีส่วนจริงส่วนเท็จปะปนกันไป

ความจริง ทั้งสองกลุ่มนี้มีความเหมือนที่ต่างกันมากมาย สรุปได้ดังนี้

ทั้งสองอาจมีจุดเหมือนตรงที่เป็นผลของปฏิกิริยาโต้กลับของประชาขาติมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธการใช้อำนาจเผด็จการและอธรรมของชาติตะวันตก ที่สถาปนาตนเองเป็นตำรวจโลกภายใต้การจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) พร้อมด้วยต้องการสานเจตนารมณ์สร้างรัฐในอุดมคติให้สามารถนำหลัก   ชะรีอะฮ์อิสลามมาปฏิบัติใช้ในการบริหารและการปกครอง ซึ่งมีรายละเอียดสลับซับซ้อนที่จะไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

แต่ทั้งสองมีจุดต่างกันมากมาย ที่นำไปสู่การแยกทางเดินชนิดทางใครทางมันทีเดียว

#ฏอลิบานคือใคร

ในภาษาบัชตุน ฏอลิบานหมายถึงกลุ่มนักศึกษาศาสนา ต่อมาได้พัฒนาการเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามและกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งโดยมุลลา โอมาร์ ในปี 1994 ที่เมืองกันดาฮาร์ อดีตเมืองหลวงอัฟกานิสถาน ติดพรมแดนปากีสถานทางภาคใต้ของประเทศ ฏอลิบานสามารถปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอัฟกานิสถานและเมืองหลวงกรุงคาบูลในฐานะ “รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน” ในปี 1996 แต่ได้รับการรับรองทางการทูตจาก 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ประเทศปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนกระทั่งกองทัพสหรัฐอเมริกายกทัพถล่มอัฟกานิสถานในปี 2001  พร้อมประกาศยุคอวสานของฏอลิบาน

ผู้นำฏอลิบาน ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากรากฐานนิยม”เดียวบัน” (Deobandi fundamentalism) ที่มีอุละมาอฺนามอุโฆษอย่าง อะบูหะซัน อันนัดวีย์ และเชคหะบีบุรเราะห์มาน อัลอะอฺศอมีย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสถาบันศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในชมพูทวีปแห่งนี้  สมาชิกหลายคนปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “พัชตุนวาลี” (Pashtunwali) มีสมัชชาใหญ่ ( General Assambly) ที่ตัดสินเรื่องสำคัญของบรรดาเผ่าต่างๆ ที่เรียกว่า Loya Jirga (ที่ประชุมใหญ่แห่งเผ่า) ขบวนการฏอลีบานส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากสมาชิกชาวปาทาน (Pashtun) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมี Moulawi Hibatullah Akhundzada (60 ปี) เป็นอะมีร

ด้วยพื้นเพทางสังคมนี้ ฏอลิบานจึงมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากไอเอส สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. ด้านสำนักคิด ปรัชญาและแนวทางขัดเกลาจิตใจ

กลุ่มฏอลิบานยึดอะกีดะฮ์แนวมาตูริดียะฮ์ที่ใกล้เคียงกับแนวอะชาอิเราะฮ์ ซึ่งแพร่หลายในอัฟกานิสถาน อินเดีย จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน ตุรกี อิหร่านและประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นมัซฮับอะกีดะฮ์ทางการยุคอาณาจักรอุษมานียะฮ์ ส่วนสำนักคิดด้านฟิกฮ์ก็ยึดมั่นตามสำนักหะนะฟี และถือเป็นแม่บทในการตีความหลักศาสนบัญญัติ ที่ผสมผสานกับความเคร่งครัดในจารีตประเพณีของชาวปัชตุน ในขณะที่แนวทางด้านศูฟีย์ ฏอลิบานยึดถือแนวตะรีกัตศูฟีนักชะบันดีย์เป็นหลัก ซึ่งจะสวนทางกับแนวทัศนะของกลุ่มไอเอสที่ยึดมั่นกับแนวสะลัฟสายแป๊บซี่ ที่มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแนวนี้มาโดยตลอด

2.ด้านความสัมพันธ์ในชุมชน

ฏอลิบานเป็นกลุ่มชนที่รวมตัวจากเผ่าพันธุ์เดียวกันคือบัชตุน ( ปาทาน) มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและเผ่าพันธุ์อย่างแนบแน่น พวกเขาจึงไม่มีระบบ “การส่งออกและการนำเข้า” ของประชาชน เพื่ออพยพผู้คนที่สมัครใจพำนักในดินแดนญิฮาดตามแนวทางของกลุ่มไอเอส ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีปัญหาด้านการซึมตัวเข้าไปในชุมชนเพราะทั้งแกนนำและสมาชิกต่างก็เป็นคนกันเอง ซึ่งเป็นลูกหลานในชุมชนอยู่แล้ว มีความรู้จักมักคุ้นกันดี ซึ่งต่างจากกลุ่มไอเอสที่มีการอพยพคนต่างถิ่นเข้ามาสร้างอิทธิพลในชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดกระแสต้านคนนอกหรืออาจสร้างปัญหากระทบกระทั่งและความหวาดระแวงกับคนในพื้นที่ ดังที่เกิดขึ้นในซีเรียและอิรัก

3. ด้านโครงสร้างการบริหาร

กลุ่มฏอลิบานไม่มีระบบโครงสร้างการบริหารที่สลับซับซ้อน มีเพียงระบบการเชื่อฟังผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับการสืบทอดและเป็นที่ยอมรับในเผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งต่างจากระบบบริหารของไอเอสที่เน้นโครงสร้างองค์กรระบบพีระมิด ที่ค่อนข้างลึกลับ ที่แม้แต่สมาชิกที่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันเอง ก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีชื่อจริงอะไร เป็นใคร มาจากไหน

4. ด้านการกำหนดสนามการต่อสู้

กลุ่มฏอลิบานได้กำหนดสนามการต่อสู้(ญิฮาด)ในสนามที่จำกัด นั่นคือในดินแดนอัฟกานิสถานเท่านั้น พวกเขากำหนดยุทธศาสตร์ญิฮาดอย่างชัดเจนว่า ต้องการขับไล่กองกำลังต่างชาติและสร้างรัฐในอุดมคติตามหลักชะรีอะฮ์อิสลามในบริเวณพื้นที่ของประเทศของตนเอง ซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของไอเอสที่ขยายวงการญิฮาดไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างไร้พรมแดน แถมยังกล่าวหากลุ่มฏอลิบานว่า เป็นกลุ่มที่เรียกร้องและคลั่งไคล้ชาตินิยม เหมือนสาวกชาตินิยมทั่วไปในโลกนี้ ที่หนักไปกว่านั้น ไอเอสได้ตัดสินว่ากลุ่มฏอลิบานเป็นกลุ่มนอกรีต ตกศาสนาหรือมุรตัดด้วยซ้ำ

5. ด้านการสถาปนาตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์

ผู้นำฏอลิบานไม่เคยประกาศตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์มุสลิมีน และไม่เคยประกาศให้ประชาชาติมุสลิมโดยเฉพาะผู้นำอิสลามทั่วโลกให้การบัยอะฮ์ พร้อมลงดาบว่าผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะเป็นคนตกศาสนา(ตกมุรตัด) และจะประกาศสงครามทันที เหมือนผู้นำไอเอสที่ได้ประกาศที่โมซุล อิรักเมื่อปี 2013 ซึ่งหลังจากสถาปนาตัวเองเป็นเคาะลีฟะฮ์มุสลิมีนแล้ว ก็ส่งสารไปยังผู้นำประเทศอิสลามให้สัตยาบันและสวามิภักดิ์ต่อตนเอง ผู้ใดฝ่าฝืนก็จะถูกตัดสินเป็นคนนอกรีต ตกมุรตัดทันที

6. จุดยืนต่อกลุ่มหรือองค์กรอิสลามทั่วโลก

ฏอลิบานมีท่าทีเป็นมิตรกับองค์กรอิสลามทั่วโลก หลังจากฏอลิบานยุค1.0 มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อองค์กรอิสลามโดยเฉพาะกลุ่มอิควานมุสลิมีน ซึ่งฏอลิบานมองว่า อันตรายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์และเป็นศัตรูที่แยกระหว่างอิสลามและการปฎิเสธทีเดียว แต่ฏอลิบานยุค 2.0 ในปัจจุบัน ทัศนะเชิงลบในลักษณะนี้ได้หมดไปแล้ว แกนนำฏอลิบานได้เยี่ยมเยียนเชคดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ และอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ ผู้นำหะมาสเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตามด้วยถ้อยแถลงของทั้งสองฝ่ายที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและความเป็นพี่น้องในอิสลาม ซึ่งต่างจากกลุ่มไอเอสที่ยังมีจุดยืนอันแข็งกร้าวและดุดันอย่างเสมอต้นเสมอปลายต่อองค์กรมุสลิมทั่วโลก ยกเว้นกลุ่มที่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขา

7. ด้านกระแสการตอบรับของประชาขาติอิสลาม

โลกอิสลามมีจุดยืนที่ค่อนข้างเป็นบวกต่อการกลับมาของฏอลิบาน นักวิชาการและอุละมาอฺทั้งในนามบุคคล องค์กร ต่างออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อชัยชนะครั้งนี้ โดยเฉพาะ การที่พวกเขาสามารถขับไล่กองกำลังต่างชาติที่ปล้นทรัพยากรธรรมชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอัฟกานิสถานกว่า 20 ปี พร้อมคาดหวังให้ฏอลิบานสามารถนำพาอัฟกานิสถานไปตลอดรอดฝั่ง ตลอดจนสร้างสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ที่กลายเป็นสนามรบมายาวนานเกือบ 40 ปี

ผิดกับไอเอสที่บรรดาอุละมาอฺทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งทั้งที่อิรักและซีเรีย ต่างออกแถลงการณ์ปฏิเสธทั้งแนวทาง และแนวปฏิบัติของกลุ่มนี้ในวันแรกของการประกาศรัฐอิสลามด้วยซ้ำ พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงที่มาและการปรากฏตัวอย่างน่าอัศจรรย์และแปลกประหลาดของกลุ่มนี้

8. การปรับตัวในท่าทีและการยึดมั่นในหลักการ

การปรากฏตัวของฏอลิบานยุค2.0 นี้ มาพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนท่าที ที่ถือว่าน่าจะเป็นการถอดบทเรียนของความผิดพลาดในอดีตได้อย่างชาญฉลาด มีความยืดหยุ่นและใจกว้างที่มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน 3 ประการ ได้แก่ 1) ต้องการสันติภาพและความปรองดองของชาติเป็นหลัก ด้วยการประกาศนิรโทษกรรม ไม่มีการล้างแค้นใดๆ และพร้อมเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อความสมานฉันท์ แม้กระทั่งท่าทีต่อกลุ่มชีอะฮ์ทางภาคเหนือของประเทศที่ฏอลิบานมีความผ่อนปรนมากขึ้น  2) ต้องการสร้างรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่มีความยืดหยุ่น ไม่ติดยึดกับทัศนะทางศาสนาที่คับแคบ และพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าภายในกรอบของหลักการอิสลาม 3) ต้องการการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ด้วยการอ้าแขนตอบรับการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีที่มีต่อจีน รัสเซีย ตุรกี หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา 

ตรงกันข้ามกับไอเอสที่ยังสถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและคำชี้ขาดสุดท้ายของความถูกต้องอย่างไม่มีวันแปรเปลี่ยน

ท่ามกลางความดีใจของประชาชาติมุสลิมต่อชัยชนะเหนือความคาดหมายของกลุ่มฏอลิบานครั้งนี้ สิ่งที่ยังเป็นความกังวลของผู้เขียนคือ ฏอลิบานจะไปอย่างไรต่อ อะไรคือขวากหนามที่พวกเขาต้องเผชิญ พวกเขาจะรับมือกับชาติที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ (Multiethnic States)ด้วยวิธีไหน พวกเขาจะปรับตัวในสังคมดิจิตอลได้อย่างไร เพราะในชีวิตจริงการได้ครอบครองเจ้าสาวในดวงใจถือเป็นสิ่งที่บุรุษทุกคนเฝ้าฝันอยู่แล้ว แต่ตัวชี้วัดความสำเร็จของชีวิตการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ ไม่ใช่วัดกันที่บรรยากาศดื่มด่ำช่วงฮันนี่มูนเท่านั้น แต่ความท้าทายในชีวิตคู่ที่พร้อมเผชิญหน้ากับพายุที่โหมกระหน่ำและถนนที่อุดมด้วยขวากหนามต่างหาก คือตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา สอนให้เรารู้ว่า ประชาชาติอิสลามมีสิทธิ์แค่สนุกสนานรื่นเริงในวันจัดพิธีแต่งงานและดื่มด่ำกับความสุขช่วงฮันนี่มูนในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้น คู่บ่าวสาวก็จะถูกปองร้ายจนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา


โดย Mazlan Muhammad