กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ให้การต้อนรับ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มฟน.

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เวลา 15.00 น. นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้การต้อนรับ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และคณะ ณ ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ฯ

โดยทั้งสองฝ่ายได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับสถานกงสุลใหญ่ฯ ทั้งนี้ กงสุลใหญ่ได้แสดงความขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่รับนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษจากศูนย์การเรียน กศน. ณ เมืองเจดดาห์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสถานกงสุลใหญ่ฯ จำนวน 2 คน เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฯ ในระดับอุดมศึกษา

ซึ่งอธิการบดีฯ ได้กล่าวชื่นชมสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่จัดโครงการด้านการศึกษาแก่บุตรหลานและเยาวชนไทยที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้เยาวชนไทยเหล่านี้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของทางมหาวิทยาลัยฯ ที่ต้องการยกระดับให้เยาวชนไทยมุสลิมได้มีการศึกษาที่สูงและในหลากหลายสาขาวิชามากยิ่งขึ้น

ที่มา : The Royal Thai Consulate-General in Jeddah

รัฐบาลตุรกีร่างกฏหมายให้ผู้ชายข่มขืนสตรี อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ผิดกฎหมายจริงหรือ?

การแพร่ข่าวลวงที่แฝงด้วยความอคติ อันตรายยิ่งกว่าไวรัสโคโรน่า (ไวรัสอู่ฮั่น)

จากกรณีเพจที่ใช้นามว่า CatDumb News ได้แพร่ข่าวที่อ้างจากสำนักข่าว The sun, Mirror,The Guardian,Independent และ Dailystar ซึ่งล้วนเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ ที่อคติต่อประชาชาติอิสลามและเป็นแหล่งที่มาของข่าวลวงที่ทำลายความน่าเชื่อถือและสร้างความปั่นป่วนในประเทศอิสลามโดยเฉพาะประเทศตุรกีมาโดยตลอด

โดยในครั้งนี้เพจ CatDumb News ซึ่งอ้างจากแหล่งข่าวดังกล่าวระบุว่า ตุรกีร่างกฏหมายใหม่ว่า “ผู้ชายสามารถหลีกเลี่ยงโทษข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ ถ้าหากว่าแต่งงานกับเหยื่อ “ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลที่ได้มีการคอมเม้นตท์ด่าทอประเทศตุรกีด้วยถ้อยคำรุนแรง หยาบคายและเต็มไปด้วยความอคติ

theustaz.com เห็นว่า การนำเสนอข่าวที่ไม่รอบด้านในลักษณะนี้ จะส่งผลร้ายต่อองค์ความรู้ของชาวไทยที่นอกจากทำลายภูมิปัญญาอันดีงามแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความอวิชชาและสะสมความเกลียดชังในสังคมอีกด้วย

theustaz.com จึงได้สัมภาษณ์อาจารย์อับดุลเอาวัล ศิดดีก Abdulevvel Siddiq ดีกรีปริญญาโทจาก Marmara University และเคยใช้ชีวิตในกรุงอิสตันบูลเกือบ 20 ปีเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ผลการสัมภาษณ์สรุปได้ดังนี้

1. การสมรสในประเทศตุรกีมี 2 ประเภทคือ 1) การสมรสที่มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฏหมายซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งคือการกำหนดอายุของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง 2) การสมรสโดยยึดจารีตประเพณี ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมอาหรับ แม้กระทั่งสังคมมลายูที่อนุญาตให้ลูกสาวแต่งงานได้ถึงแม้ยังไม่ถึงอายุ 18 ปีตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

2. ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คือการสมรสในประเภทที่ 2 ซึ่งรัฐบาลตุรกีพยายามจัดระเบียบใหม่ด้วยการร่างกฏหมายคุ้มครองเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกกระทำชำเราหรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้กระทำผิดสามารถแต่งงานกับผู้ถูกกระทำอย่างถูกต้องตามกฏหมายโดยคำพิจารณาของศาล ถึงแม้เด็กหญิงจะมีอายุต่ำกว่า 18 ปีก็ตาม ซึ่งในกฎหมายทั่วไปจะไม่เปิดช่องว่างนี้เลย

3. เมื่อทั้งคู่เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากเกิดการหย่าร้างภายหลัง ฝ่ายชายต้องรับผิดชอบอุปการะค่าเลี้ยงดูอดีตภรรยาของตนเอง จนกระทั่งนางเสียชีวิตหรือมีสามีคนใหม่ โดยอาศัยอำนาจการพิจารณาของศาลทั้งสิ้น

4. ในสังคมตุรกี มีหลายกรณีด้วยกันที่สามีถูกฟ้องร้องจนกระทั่งถูกศาลตัดสินให้เป็นคนล้มละลาย เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเลี้ยงดูอดีตภรรยาตนเอง

5. กฎหมายตุรกียังระบุอีกว่า ภรรยามีสิทธิ์ฟ้องร้องสามีได้ หากนางเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือถูกคุกคาม

6. การเปิดช่องว่างเรื่องอายุ ถือเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลตุรกีที่จะลดปัญหาเรื่องการชู้สาว ปัญหาท้องก่อนแต่ง แม้กระทั่งปัญหาโสเภณี ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเซคิวล่าร์ที่ต่อต้านการสมรสแต่กลับเพิกเฉยเรื่องการผิดประเวณี

7. สื่อตะวันตกไม่เคยเปิดโปงสตรีที่ถูกคุกคามทางเพศ จนกลายเป็นธุรกิจค้ากาม ธุรกิจค้ามนุษย์ที่มีอยู่เกลื่อนในสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมยุโรป แต่กลับใส่สีตีไข่ในข้อปลีกย่อยของกฎหมายประเทศตุรกี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นการคุ้มครอง และปกป้องสตรีต่างหาก

8. แม้กระทั่งกฎหมายไทยที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหน้า 129 เล่ม 136 ตอนที่ 69 ก ที่ระบุว่า “ให้ศาลพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแทนการลงโทษก็ได้ “ ถามว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนให้ผู้ชายข่มขืนหรือกระทำชำเราเด็กหญิงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้แหล่ะ ที่รัฐบาลตุรกีกำลังแก้ไขอยู่

9. ขอฝากไปยังสังคมไทยและประชาชนชาวไทย ควรมีสติในการเลือกบริโภคข่าวในลักษณะนี้ เพราะจะเป็นการปลูกฝังความอคติและความเกลียดชังด้วยข้อมูลบิดเบือนและไม่รอบด้าน

ลิ้งค์ข่าวลวง https://www.facebook.com/CatDumbNews/posts/2885206004855503

ไทย-ซาอุดิอาระเบีย : จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนามว่า ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน พร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าและยังถือเป็นการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี

ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลสะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย กับนายอาดิล บิน อะหมัด อัล-นูบีร รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป”

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะถือเป็นความก้าวหน้าในความพยายามของไทยมาช้านานที่ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย อะไรคือปัจจัยอันทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง เป็นคำถามที่ผมอยากลองอธิบายในบทความนี้ แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล “วงใน” ที่ผมยังไม่รู้และไม่เข้าใจอีกมาก แต่ก่อนที่จะตอบคำถามหลักของบทความ ขออนุญาตพาพวกเราย้อนกลับไปพิจารณาต้นตอปัญหาความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปีเสียก่อน


ย้อนรอยสัมพันธ์แตกร้าว : ไทย-ซาอุดิอาระเบีย

หากย้อนอดีตไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียคือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1989 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1990 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดิอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ยังคงไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว ในเดือนเดียวกัน นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา “อุ้ม” นายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

กรณีนี้ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย- ซาอุดิอาระเบียไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายซาอุดิอาระเบีย ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศอีกด้วย ตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร “บลูไดมอนด์” เม็ดใหญ่สุด หนักหนาสาหัสไปอีก เมื่อของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนเอาไปคืนให้ซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ทั้งหมดจึงเป็น เรื่องของ “เหตุซ้ำกรรมซัด” ที่สร้างความอึดอัดเจ็บแค้นต่อซาอุดิอาระเบียอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งกรณีฆาตกรรมนักการทูต กรณีเพชรซาอุฯ และกรณีการอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่”

หากถามว่ากรณีใดสำคัญที่สุดที่ทางการไทยต้องรีบคลี่คลายเป็นลำดับแรก เราคงต้องกลับมาพิจารณาถึงลักษณะต้นตอของแต่ละกรณีปัญหา

1.กรณีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะเกิดจากต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย อันเกิดจากการที่ซาอุดิอาระเบียได้เข้าสลายม็อบในช่วงพิธีฮัจญ์ เมื่อ ค.ศ. 1987 จนทำให้ชาวอิหร่าน (ผู้ก่อม็อบประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอล) ตายไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ

2. กรณีลักลอบขโมยเพชรซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้เกิดจากการกระทำผิดของปัจเจกบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในทางกลับกัน การที่เพชรซาอุถูกลักขโมยอย่างไม่ยากนัก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของระบบการรักษาความปลอดภัยของทางซาอุดิอาระเบียเองด้วย ฉะนั้น จึงต้องยอมรับสภาพและรับผิดชอบร่วมกัน แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ทำผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยจนได้ เมื่อทางซาอุดิอาระเบียจับได้ว่ารายการเพชรบางส่วนที่ส่งคืนเป็นของปลอม

3. คดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี่ กรณีนี้ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะแทนที่เราจะเชื่อมโยงการฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบียกับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย เรากลับเข้าใจว่าการตายของนักการทูตซาอุดิอาระเบียเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดิอาระเบีย จนนำไปสู่การ”อุ้ม” “อัลรูไวลี่” ไปกักขังไว้และบีบบังคับให้สารภาพผิด แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิตของนักธุรกิจซาอุดิอาระเบียรายนี้อย่างเป็นปริศนา ฉะนั้น กรณีอัลรูไวลี่จึงมีความสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เพราะการที่ไทยไม่สามารถจับคนฆ่าเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย และไม่สามารถนำเพชรของกลางที่ถูกขโมยมาให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมดนั้น ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย แต่การ “อุ้มฆ่า” อัลรูไวลี่ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรงที่ยากจะให้อภัยได้


ไทยกับการดำเนินคดีกรณี “อัล-รูไวลี่”

หากมองจากมุมของซาอุดิอาระเบียเอง คดีอัลรูไวลี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะประการแรก อัลรูไวลี่เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย พูดง่ายๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

ประการที่สองคือ ในธรรมเนียมปฏิบัติของระบบชนเผ่าอาหรับนั้น การถูกทำร้ายจนตายของสมาชิกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการชดใช้ด้วยชีวิต (หรืออาจเจรจาชดเชยเป็นสินไหม) ในอดีตความขัดแย้งส่วนตัวจนถึงระดับที่เอาชีวิตกันระหว่างสมาชิกของ 2 ชนเผ่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามนองเลือดที่ยื้อเยื้อเลยทีเดียว การตายหรือการหายตัวไปของอัลรูไวลี่จึงกลายเป็นกรณีที่สร้างความเจ็บแค้นต่อสมาชิกชนเผ่าคนอื่นๆ ที่เขาสังกัดอยู่

ประการสุดท้าย การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของอัลรูไวลี่ก่อให้เกิดประเด็นยุ่งยากทางหลักการศาสนาต่อครอบครัวของเขาทันที เพราะการไม่รู้แน่ชัดว่าเขาตายหรือยัง ทำให้การแบ่งมรดกให้หมู่เครือญาติไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนั้น หากภรรยาของเขาต้องการแต่งงานใหม่ เธอก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันจนกว่าจะถึงเวลาที่กรอบศาสนากำหนด ฉะนั้น นอกจากครอบครัวของอัลรูไวลี่จะต้องทุกข์ระทมกับการรอคอยข่าวความคืบหน้าของอัลรูไวลี่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายในเรื่องกฎหมายมรดกและครอบครัว

ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทย

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คดีอัลรูไวลี่ไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2010 (ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี บางฝ่ายมองไกลไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไทยจะได้รับจากการจัดส่งแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ จนดูเหมือนว่าความคืบหน้าในคดีอัลรูไวลี่จะ เป็นตัวชี้วัดผลประโยชน์ของไทยที่จะได้จากซาอุดิอาระเบียในอนาคต

แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี่ และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน

ความเป็นไปดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายขณะนั้น ต้องออกมาเตือนรัฐบาลถึงความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับซาอุดิอาระเบียว่าอาจจะเลวร้ายลงจนถึงขั้นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จากที่เคยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานาน ฉะนั้น การตัดสินใจกรณีการเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย อย่าลืมว่า ซาอุดิอาระเบียไม่ได้มีสถานะเหมือนกับประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศชั้นนำที่มีอิทธิพลเหนือประเทศมุสลิมอีกกว่า 50 ประเทศ

เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐ เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ตั้งของเมืองอันประเสริฐของชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2 แห่ง นั้นคือนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต รวมถึงมุสลิมในประเทศไทยด้วย


ปัจจัยอันนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์

ปลายเดือนมีนาคม 2014 หลังศาลยกฟ้องพลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม และพวกในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ทำให้หลายฝ่ายมองไม่เห็นอนาคตการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย

แต่เมื่อปลายปีเดียวกันนั้น เรากลับเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบียเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 (อันถือเป็นการมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซาอุดิอาระเบีย) พร้อมทั้งได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ว่ากันว่าก่อนที่จะมีการหารือกันดังกล่าว ได้มีความพยายามจากบางฝ่ายช่วยประสานผลักดันให้เกิดการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเองที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย หรือนักการทูตฝ่ายไทยเองที่ขอความร่วมมือจากมิตรประเทศที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมานานอย่างบาห์เรนให้ช่วยเป็น “สื่อกลาง” เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่มีการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เราจึงเห็นนายกรัฐมนตรีบาห์เรน เจ้าชายคอลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัล-คอลีฟะฮ์ นั่งสนทนาอยู่ด้วย อันเป็นการหารือกันแบบสามฝ่าย

การประสานผลักดันของคนกลางย่อมเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งอันทำให้เกิดการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมเชื่อว่าการกลับหลังหันของนโยบายต่างประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไทยเกิดจากสถานการณ์แวดล้อมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของซาอุดิอาระเบียเอง

หากยังจำกันได้ช่วงกลางปี 2015 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในซาอุดิอาระเบีย คือการปรับคณะรัฐมนตรี และการจัดลำดับการสืบสันติวงศ์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลของซาอุดิอาระเบียมักจะมีแต่ผู้อาวุโสระดับสูง

นอกจากจะแต่งตั้งคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด พระราชโอรสของกษัตริย์ เป็นรองมกุฎราชกุมารแล้ว ยังได้มีการแต่งตั้งคนนอกที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ แต่เป็นคนมีความสามารถอย่างนายอาดิล อัล-จูเบอีร์ เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตันของสหรัฐ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนเจ้าชายซาอุด อัล-ฟัยซ็อล ที่ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 40 ปี

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ย่อมทำให้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของประเทศเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับกรณีต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ซาอุดิอาระเบียจะได้รับหากฟื้นความสัมพันธ์กับไทยมากกว่า

ปัญหาทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียในช่วงที่ผ่านมาอันเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขาดดุลงบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องคิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็จะเปิดช่วงทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น

นโยบายนี้ย่อมต้องบีบให้ซาอุดิอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ แต่ครั้นจะหันไปร่วมมือกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศก็ล้วนมีปัญหาของตนเอง หลายประเทศต้องเผชิญภัยสงคราม บางประเทศเกิดภาวะรัฐล้มเหลว และมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศยากจน

ขณะที่มองไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่ระยะหลังสหรัฐฯเองที่ถือเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุดของซาอุดิอาระเบีย กลับออกกฎหมายเล่นงานซาอุดิอาระเบียในกรณีการก่อการร้าย 9/11

ในสภาพอย่างนี้ซาอุดิอาระเบียไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างพันธมิตรใหม่ และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งสหรัฐฯประเทศเดียวเหมือนในอดีต ประเทศไทยก็อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ซาอุดิอาระเบียมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพครับ


ทำไมควรเร่งฟื้นคืนสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบียมีรายละเอียดเนื้อหาอยู่มาก แต่หากจะสรุปตามที่มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงให้สัมภาษณ์ไว้แก่สำนักข่าวอัล-อาราบียะฮ์ เมื่อปลายเดือนเมษายน 2017 ก็คงได้ใจความหลักๆ ว่า

วิสัยทัศน์นี้เป็นการวางแผนอนาคต 15 ปีของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันให้ได้ภายในปี 2020 จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แปรรูปบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ARAMCO โดยเอาหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 5 ออกมาขาย พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธด้วยตนเอง เพิ่มสัดส่วนแรงงานหญิง ลดอัตราการว่างงาน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศนอกจากน้ำมัน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ประเทศนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก

นอกจากนั้นยังจะเพิ่มความสามารถของราชอาณาจักรในการรองรับมุสลิมจากทั่วโลกที่จะเข้ามาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ จากปีละประมาณ 8 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 15 ล้านคน ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคน ในปี 2030 อีกทั้งเจ้าชายซัลมานทรงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซาอุดีอาระเบียจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยือน แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กรอบค่านิยมและความเชื่อความศรัทธาของราชอาณาจักร

คาดกันว่าการจะบรรลุความสำเร็จตามที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้วางไว้ในวิสัยทัศน์ 2030 ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันจะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ สิ่งที่ตามมาคือความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดให้สำหรับนักลงทุนทั่วโลก ที่จะหลั่งไหลเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริงขึ้นมา

สำหรับประเทศไทย เราเคยส่งแรงงานเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียมากที่สุดเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จำนวนประมาณกว่า 2 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ก่อนที่แรงงานของเราจะลดจำนวนลงเหลือแค่หลักพันจากความสัมพันธ์ร้าวฉานอันเกี่ยวเนื่องกับคดี “เพชรซาอุฯ” การอุ้มฆ่านักการทูต-นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงปัญหาแรงงานล้นตลาดซาอุดีอาระเบียในยุคนั้น

แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตขณะนี้ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียจะยังไม่คืบหน้า แต่จากวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นโอกาสที่กระทรวงแรงงานต้องหาลู่ทางขยายตลาดแรงงานไทย เพราะซาอุดิอาระเบียกำลังมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งบริษัทลงทุนใหญ่ๆ ในซาอุดิอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐ ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ต่างก็เคยชื่นชอบแรงงานไทยมาก่อน

ขณะเดียวกันนโยบายเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวก็อาจเป็นช่องทางให้ไทยได้ฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาและความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่พอสมควร

ในอีกด้านหนึ่งการที่ไทยจะกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศนั้น เราต้องสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ หากดูสมการของความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางชณะนี้จะเห็นว่าประเทศ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และตุรกีเป็นตัวเล่นหลักในสมการนี้ แต่ประเทศไทยยังมีความสัมพัน์ที่ดีไม่ครบกับทุกประเทศ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียยังไม่ปรากฏเต็มรูปแบบ

ด้วยเหตุนี้ นโยบายหลักที่ประเทศไทยต้องสร้างขึ้นในตะวันออกกลางคือสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยต้องเป็นนโยบายที่การสานความสัมพันธ์กับประเทศหนึ่งแล้วไม่ให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่ง และวิธีที่ดีที่สุดคือฟื้นคืนสัมพันธ์ขั้นปรกติกับซาอุดิอาระเบีย (เหมือนที่เรามีกับอิหร่านและตุรกี) อันจะทำให้ไทยสามารถสร้างความสมดุลของสมการที่เป็นดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้ได้


เอกสารอ้างอิง

  • “ไทย-ซาอุฯ เล็งฟื้นสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี”. กรุงเทพธุรกิจ. 16 มกราคม 2563. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862383
  • ศราวุฒิ อารีย์. “ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่: ตัวชี้วัดสัมพันธภาพไทย-ซาอุดีฯ”. มติชนรายวัน. 21 กันยายน 2553. หน้า 6.
  • ศราวุฒิ อารีย์. “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 กับโอกาสของไทย”. คม ชัด ลึก. 13 พฤษภาคม 2559. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.komchadluek.net/news/politic/227548
  • อัคนี คคนัมพร. “สัมพันธ์ไทย – ซาอุดิฯ”. โลกวันนี้. 27 กันยายน 2553.
  • Saudi Vision 2030. สืบค้นออนไลน์จาก file:///D:/Users/7A41001/Downloads/Saudi_Vision2030_EN.pdf

ที่มา : www.msc.ias.chula.ac.th

บทความโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

สงครามกลางเมืองที่ลิเบีย

ทีวีอัลจาซีร่าหเผยแพร่ภาพ ชาวลิเบีย 150,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย ทั้งขาดน้ำและไฟฟ้าเนื่องจากการถล่มเมืองหลวงทรีโปลีของกองกำลังนายพลฮัฟตาร์ ในขณะที่เด็กนักเรียนจำนวนกว่า 90,000 คนไม่มีที่เรียนเนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งถูกถล่มเสียหายยับเยิน

กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ยังคงเดินหน้ายึดเมืองและถล่มพลเรือนอย่างบ้าคลั่งเพื่อโค่นล้มรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ

กองกำลังฮัฟตาร์ได้รับการสนับสนุนด้านการทหารและอาวุธจากรัฐบาลอียิปต์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย โดยมีสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปคอยให้ท้ายคุมเชิงอยู่เบื้องหลัง

ทีมข่าวต่างประเทศ

โลภไร้พรมแดน (บทความนี้เขียนและเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2007)

พี่น้องอ่านถูกต้องแล้วล่ะครับ โลภไร้พรมแดน หาใช่โลกไร้พรมแดนยุคไซเบอร์แต่อย่างใดไม่ เพราะที่จะพูด ณ ที่นี้คือความโลภอันไร้พรมแดนจริงๆ ขบวนการ “แชร์ลูกโซ่” กลับมาอีกแล้วครับท่าน …. มางวดนี้เรียกว่า “แชร์ข้าวสาร” คือค้าขายข้าวสารเป็นสินค้าหลัก เริ่มดังมาจากเชียงใหม่ แล้วมาเจ๊งระเนระนาดที่ภูเก็ต สงขลา แต่ก็นึกแปลกใจ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ยังเป็นที่นิยมและดูเหมือนกำลังระบาดอย่างหนักด้วย (น่าจะเป็นเหยื่องวดสุดท้ายสำหรับมื้อนี้)

นึกๆ แล้วก็แปลก ทั้งๆ ที่มุกเรื่องแชร์สินค้าต่างๆ (ทั้งโสม ของใช้ในครัว ยารักษาสารพัดโรค) เป็นมุกที่เก่ามาก มีการหยิบเอามาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหลายยุคหลายสมัย เจ๊งให้เห็นคาตาก็บ่อยครั้ง สิ้นเนื้อประดาตัวกันไปมิใช่น้อย แต่ไม่ยักค่อยมีใครหลาบจำ พอเปิดวงใหม่ก็เล่นกันใหม่อีกจนได้ ความอยากรวยแบบ กศน. หรือความโลภนี่แหละครับ ที่ทำให้คนบางคน แม้กระทั่งอุสต๊าซแถวบ้านเราหน้ามืดจนลืมหลักการอัลกุรอานและหะดีษไปเสียสนิท และก็ความโลภนี่เช่นเดียวกัน ที่ทำให้คนเราตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะสังคมมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ ที่คล้ายถูกมนต์สะกดให้อยู่ในวังวนแห่งการถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

พี่น้องลองย้อนพลิกแฟ้มของมหกรรมการถูกหลอกของสังคมมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ดูซิครับ (เอาแบบถล่มทลายทั่วทั้ง 3 จังหวัดน่ะครับ) เชื่อว่าผู้คนที่มีอายุขึ้นต้นด้วยเลข 4 (วัยแก่ตอนต้น) ยังจำกันได้ว่า กาลครั้งหนึ่ง ที่เมืองปัตตานีดารุสสลาม(หลัง มอ.ปัจจุบัน) มีผู้แอบอ้างว่ามีพละกำลังเหนือมนุษย์มนา ท้าประลองแข่งชักคะเย่อกับรถสิบล้อ ถึงขนาดว่านั่งอยู่บนลูกมะพร้าวก็ยังไม่กระดิกเลย ตามตำนานเล่าว่า คนเรือนแสนตีตั๋วเข้าชมการแสดงอภินิหารที่ผู้แสดงระดับโต๊ะวาลีในครั้งนี้ สุดท้าย พระเอกตายตอนจบครับ โต๊ะวาลีโดนจับในข้อหาหลอกลวง (ก็ช่วงที่เขานั่งสมาธิประกาศห้ามผู้คนเข้าใกล้บริเวณเต้นท์ทำพิธีที่ปิดมิดชิดก่อนแข่งจริง 7 วัน จริงๆแล้วพี่แกดันไปขุดตอม่อผูกเชือกยัน) แต่งานนี้ ทราบว่าโต๊ะครูในปอเนาะดังแห่งหนึ่งนับเงิน(ค่าตั๋ว) แทบไม่ทันเลยทีเดียว แค่ 2-3 คนถูกหลอกยังพอไหว แต่สังคมโดนต้มทั้ง 3 จังหวัด มันสะท้อนถึงอะไร

10 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันทางการเงินที่มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นภาษาอาหรับ ใช้ระบบเงินปันผลแก่สมาชิกในอัตราที่สูงมาก นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการธุรกิจที่ได้สร้างกระแสการตอบรับจากชาวบ้านอย่างล้นหลาม ระดับแกนนำก็เป็นคนที่น่าเชื่อถือทั้งนั้น สุดท้ายก็ล้มไม่เป็นท่า ทิ้งรอยแผล สร้างตราบาปหลอกหลอนสังคมมุสลิมตราบเท่าทุกวันนี้ หลังจากนั้น วงจรแห่งการหลอกลวงก็ยังเวียนว่ายในสังคมมุสลิม 3 จังหวัดอย่างไม่ขาดสาย ควบคู่กับเหยื่อรายเก่ารายใหม่คนแล้วคนเล่า อาทิ แก๊งแลกเงินอิหร่าน คาถาเสกเงิน การค้นหาเหล็กไหล(จนสมองเลอะ) ก็ยังหากินได้ตราบถึงทุกวันนี้

สดๆ ร้อนๆ 1 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านแถวบ้านเราหลายหมู่บ้านได้เหมารถมุ่งสู่ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะไปจับจองที่ดินราคาถูกที่ว่ากันว่า ไม่ได้รับการต่อสัมปทานจากรัฐบาลใหม่ ท้ายสุดก็ต้องรอเก้อ ที่ดินก็ยังเป็นของบริษัทเดิม เราแค่เสียค่าจองจริงๆ ออกข่าวหน้าหนึ่ง นสพ. อยู่ช่วงหนึ่งก็เงียบหายไปพร้อมๆกับน้ำตาตกในของนักล่าฝันทั้งหลาย (ทั้งๆ ที่น่าจะฉุกคิดว่า ถ้าราคาไร่ละ 300 บาท ตามราคาคุยจริง คงไม่ถึงมือเราแน่)

ที่เพิ่งเจ๊งไปหมาดๆ ชนิดที่ว่าเลียแผลยังไม่หายก็คือแชร์น้ำมันครับ รายนี้มาไฮเทคหน่อย ซึ่งแน่ล่ะ เหยื่อก็ต้องระดับไฮเทคเช่นเดียวกัน สมัครสมาชิกทางอินเตอร์เน็ท เพราะบริษัทอยู่ที่มาเลเซีย(ความจริงอาจอยู่ในเมืองไทยใครจะไปรู้) สิ้นเดือนก็สามารถเช็คยอดทางอินเตอร์เน็ทได้ แถมยังใช้ Pass Word ส่วนตัวเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูล ช่วงแรกๆ บรรดาสมาชิกต่างก็ลูบเคราลูบท้องจนพุงกาง (ก็กำไรวันละ 1 พันบาทต่อการลงทุน 4-5 หมื่นบาท) นานๆ เข้า อาการชักไม่ค่อยดี ทราบว่าบางรายใช้นิ้วจิ้ม Key Bord สั่นระรัว จิ้มยังไงเงินไม่ปรากฎ ฝันค้างยิ้มเจื่อนจนถึงปัจจุบัน

นี่ยังไม่รวมถึงหมอโต๊ะวาลีรักษาสารพัดโรค(หมอเทวดา) ที่มีวาลีอินโดฯ สิงอยู่เป็นช่วงๆเอย มหัศจรรย์คนเปลี่ยนสีเอย น้ำศักดิ์สิทธิ์ลัยละตุลก็อดรฺเอย หรือสมุนไพรวิเศษตามความฝันถึงขนาดตัดหญ้ากินแทนอาหารก็มีให้เห็นแล้ว

ที่กำลังระบาดหนักปัจจุบันคือการขุดหินดำที่หมู่บ้านหนึ่ง แถวจังหวัดปัตตานี ซึ่งถูกปรุงแต่งด้วยเรื่องราวแปลกพิศดารมากมาย (ระดับนักการตลาดยังต้องชิดซ้ายเลยครับ) เห็นว่าตามความฝันแล้วห้ามซื้อขายกัน แต่ลงเอยด้วยการเสียเงินทุกที (ซื้อไม่ได้แต่ให้เช่าแทน วิธีนี้เป็นลิขสิทธิ์ของคนอื่นเค้านะครับ) ล่าสุดทางจังหวัดปัตตานีเพิ่งประกาศว่าหลังจากตรวจสอบแล้ว เป็นเพียงแร่ถ่านไฟฉายกัน งานนี้พ่อค้าคนกลางรวยไม่รู้เรื่องเช่นเคย

ขณะนี้ข่าวเริ่มหนาหูถึงกรณีแชร์ฮัจญ์ 6 คือผู้ใดที่ประสงค์จะไปทำฮัจญ์ ก็สมัครได้ในราคา 7,500 บาท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องหาสมาชิกใหม่เพิ่ม 6 คน โดยที่แต่ละคน ต้องจ่ายค่าสมัคร 7,500 บาท เช่นเดียวกัน เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ตามระบบแชร์ลูกโซ่ทั่วไป ก็ได้แต่สงสารโต๊ะเยาะฮฺ พอถึงเวลาแล้วไม่แน่ใจว่าจะได้สิทธิไปทำฮัจญ์ สมดั่งความตั้งใจหรือปล่าว

มลายูมุสลิมน่าจะถูกโฉลกกับการถูกหลอกจนเป็นยี่ห้อประจำตัวแล้วกระมัง

แม้กระทั่งอุตส่าห์อพยพทิ้งบ้านเรือนไปขุดทองที่มหานครมักกะฮฺ ก็มิวายยังถูกหลอกซะน่วม กว่าจะละเมอตื่น ก็โดนยัดเข้าใส่ในเครื่องบินถูกตะเพิดกลับเมืองไทยชนิดไม่ทันตั้งตัวเป็นพันๆ คน (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ 20 ปีที่แล้วครับ)

ครั้นพอไปตั้งหลักไปเปิดร้านต้มยำกุ้งที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีข่าวถูกหลอกเล็ดรอดอยู่เป็นเนือง ทั้งเรื่องทำวีซ่า ต่ออายุพาสปอร์ต ถูกเรี่ยไรเงิน แม้กระทั่งการทำบัตรประชาชนเปลี่ยนสัญชาติ ที่แน่ๆ แชร์ลูกโซ่ไม่มีวันหายจากสังคมมุสลิม และที่น่าประหลาดใจคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จของแชร์ประเภทนี้นอกจากผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพแล้ว ยังมีบรรดาอุสต๊าซ โต๊ะครู บาบอ ซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือในสังคมรวมอยู่ด้วย ก็โลภไม่มีพรมแดนงัยครับ

ข่าวที่กรองแล้ว แจ้งว่า โต๊ะอิมามคนหนึ่ง ยอมลงทุนรณรงค์เชิญชวนสัปปุรุษให้เข้าสมาชิกแชร์อย่างว่าขณะอ่านคุตบะฮฺในวันศุกร์เลยทีเดียว

นึกไม่ถึงว่า แชร์ลูกโซ่ที่เต็มไปด้วยร้อยเล่ห์เพทุบาย มีกรรมวิธีที่แยบยลและชั้นเชิงอันแพรวพราว สามารถยืนตระหง่านอย่างสง่าผ่าเผยบนแท่นมิมบัรฺในมัสยิดกันแล้ว

สังคมมุสลิมในทุกระดับจำเป็นต้องทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้น สังคมเราขาดภูมิคุ้มกันและตีบตันทางปัญญาถึงระดับนี้เชียวหรือ ความโลภทำให้ผู้คนลืมหลักการไปหมดสิ้นและยอมถูกกัดในรูเดียวครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้จักเข็ดหลาบเลยหรือ นบีมูฮำมัดกล่าวความว่า “สุนัขจิ้งจอกที่กำลังหิวโซ 2 ตัว ที่ถูกปล่อยเข้าไปในฝูงแกะ ยังมีศักยภาพสร้างอันตรายน้อยกว่าบุคคลที่มีความโลภต่อทรัพย์สมบัติเสียอีก” (หะดีษรายงานโดยติรมิซีย์)

ทุกคนพึงสังวรณ์ว่า ไม่มีการทำธุรกิจใดๆ ในโลกนี้ ที่สามารถปันผลกำไรให้สมาชิกจำนวน 300% ภายในเวลาเพียง 50 วันหรอกครับ เว้นแต่ธุรกิจ 2 ประเภทเท่านั้นคือ
1) ธุรกิจที่ผิดทั้งกฎหมายและชะรีอะฮฺ
2) ธุรกิจถูกกฎหมายและถูกชะรีอะฮฺโดยผิวเผิน แต่แฝงด้วยกลยุทธ์การหลอกลวงและมอมเมาประชาชน

ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ ที่คนไม่รู้จักมักคุ้นกัน แต่ใจดีเชิญทำธุรกิจร่วมกันพร้อมเสนอผลกำไรมากมายมหาศาลเช่นนี้หรอกครับ

ตามทฤษฎีการหลอกลวงของชัยฏอน (ทั้งชัยฏอนญินและชัยฏอนมนุษย์) หากชีวิตมนุษย์มีจำนวน 100 ยก มันยอมลงทุนแกล้งแพ้เราตลอดทั้ง 99 ยก เพียงเพื่อแน่ใจว่าจะชนะแค่ยกเดียว

แต่ในกรณีแชร์ลูกโซ่ เราชนะแค่ยกเดียวครับ นอกนั้นชัยฏอนเหมาเรียบ

พี่น้องคงรู้จักการละเล่นพื้นเมืองชื่องูกินหางมั้ยครับ นั่นแหล่ะ ใช่เลย

มุอฺมินไม่สามารถเป็นคนไร้เดียงสา อ่อนต่อโลกและพอใจที่จะเป็นแค่เหยื่ออีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันกับเขาบ้าง เราไม่จำเป็นลงทุนเข้ารูแย้ตามแฟชั่นหรอก คำว่าจุดยืนอันมั่นคงและเที่ยงตรง สะกดเป็นมั้ย (ขอถามด้วยศักดิ์ศรีของมุอฺมินครับ)

โดยเฉพาะกับการหาเงินเลี้ยงชีพและครอบครัว ขึ้นชื่อว่าเงิน ใครๆก็ปฏิเสธยากครับ แต่อย่าลืมว่าเราจะถูก สตง.ของอัลลอฮฺสอบสวนเรื่องทรัพย์สมบัติ 2 กระทง คือแหล่งมาและแหล่งไป(รายได้และรายจ่าย) ถามว่าเงินกำไร 300% ภายในเวลาเพียง 50 วันนั้น เรามั่นใจแค่ไหนว่าเอามาจากไหน ด้วยวิธีการอะไร(ถึงเวลานั้น เราจะบีบน้ำตาขอคะแนนสงสารพร้อมให้เหตุผลว่าผิดโดยสุจริตไม่ได้อีกแล้วครับ)

แต่ที่แน่ๆ การทำนาบนหลังคน สร้างเสียงหัวเราะบนคราบน้ำตาของผู้อื่นนั้น ไม่ใช่เป็นวิถีมุสลิม เงินที่ได้จากธุรกิจประเภทนี้ไม่น่าจะเป็นริสกีที่มีความบะเราะกะฮฺแน่นอน หางงูที่เราสวาปามเข้าไป มันจะฟาดเข้าบนหน้าเรา ดุอาของคนที่ถูกอธรรมนั้น อัลลอฮฺจะตอบรับโดยไม่มีข้อแม้และปราศจากสิ่งสกัดกั้นนะครับ พี่น้องลองกวาดสายตาไปยังบรรดานายหน้าแชร์ประเภทนี้ทั้งหลาย จะมีสักคนไหมที่เสวยเงินอย่างมีความสุข และมีบั้นปลายชีวิตที่น่าเคารพยกย่อง

หะดีษกล่าวไว้ความว่า “ผู้สำเร็จที่แท้จริงคือผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่ออัลลอฮฺ ได้รับปัจจัยยังชีพที่พอเพียง และอัลลอฮฺทรงให้ความรู้สึกเพียงพอในสิ่งที่พระองค์ฮฺทรงประทานให้แก่เขา” (รายงานโดยมุสลิม)

ทุกคน(อุสต๊าซ บาบอและนักวิชาการทั้งหลาย) น่าจะทบทวนความทรงจำของหะดีษที่ได้หยิบยกมาข้างต้นมาขบคิดกัน เผื่อดวงตาจะเห็นสัจธรรมขึ้นมาได้บ้าง

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ
14/11/2007

ปล. บทความนี้เขียนและเผยแพร่เมื่อเกือบ 13 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเกิดกระบวนการแชร์ลูกโซ่ มากมายที่สลับซับซ้อนและแนบเนียนตามยุคสมัย แต่ยังไม่พ้นวงจรอุบาทว์แชร์ลูกโซ่อยู่ดี

ร้องเรียนมาตรฐานข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายู ถึง สทศ.

จดหมายเปิดผนึกถึง สทศ.

         เรื่อง ร้องเรียนมาตรฐานข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายู
         เรียน ประธานกรรมการ สทศ.

         ตามที่สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – สทศ. ได้ดำเนินการสอบ I-NET เพื่อทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา โดยออกข้อสอบทั้งภาษาไทยและภาษามลายูอักษรยาวี นั้น

ขอเรียนแจ้งว่า ในส่วนของข้อสอบภาษามลายูพบว่า มีข้อผิดพลาดนับไม่ถ้วนที่สะท้อนถึงความไม่มีมาตรฐานของคณะกรรมการออกข้อสอบทุกฝ่ายและความสะเพร่าของผู้เกี่ยวข้องทุกชุด

ผลของการไร้ซึ่งมาตรฐานนี้ นอกจากบ่งชี้ถึงความไม่จริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาทางอิสลามศึกษา ความไร้มาตรฐานของคณะทำงานของผู้ทดสอบมาตรฐานในทุกขั้นตอนการทำงานแล้ว ยังเป็นการดูถูกภูมิปัญญาและความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษามลายูอักษรยาวีอีกด้วย

จึงขอร้องเรียนมาตรฐานข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายูมายัง สทศ. และเสนอให้ สทศ. รับพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

  • ยุติการปฏิบัติงานของคณะกรรมการออกข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายูทุกชุด และแต่งตั้งบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทน
  • ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานของคณะกรรมการออกข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายูทุกชุด
  • ประสานหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการออกข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายู เพื่อสามารถปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของ สทศ. อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานต่อไป
ที่มา : www.niets.or.th

         theustaz.com ขอส่งกำลังใจและเชื่อมั่นต่อ สทศ. เป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านอิสลามศึกษาในภูมิภาคสมดังเจตนารมณ์ที่วางไว้ทุกประการ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
theustaz.com
21 มกราคม 2563

ที่มา : www.niets.or.th

เตือนมุสลิมระวังแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ อ้างมีทุนจากรัฐบาลซาอุฯทำฮัจญ์ฟรี

19 มกราคม 2563
เกิดกระแสที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ขณะนี้ว่า มีการประกาศเสนอทุนทำพิธีฮัจญ์ฟรีโดยทุนของประเทศซาอุดิอาระเบีย ผ่านกระทรวงกิจการศาสนาและศาสนสมบัติที่ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมลงทะเบียนสมัครผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮ์ในปีนี้

ข่าวที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอาหรับระบุว่า มีทุนฮัจญ์ฟรีโดยมอบทุนๆละ 2 คน ซึ่งกระทรวงกิจการศาสนาและศาสนสมบัติร่วมกับมักกะฮ์ชาแนลเป็นฝ่ายรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พักและค่าอาหารตลอดระยะเวลาทำพิธีฮัจญ์ โดยผู้สมัครจะต้องกรอกใบสมัครและตอบคำถามเป็นภาษาอาหรับตามที่ได้ระบุไว้

theustaz.com ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่อาวุโสสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ได้รับการยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด และเชื่อว่าน่าจะมีแก๊งค์มิจฉาชีพที่ตั้งใจหลอกลวงประชาชน จึงขอเตือนมายังพี่น้องมุสลิมอย่าได้หลงเชื่อกับข่าวในทำนองนี้ เพราะรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีการคัดเลือกและให้ทุนทำฮัจญ์ในนามรัฐบาลผ่านองค์กรและหน่วยงานที่เป็นทางการเท่านั้น

โดยทีมข่าวในประเทศ

กองกำลังฮัฟตาร์ยึดโรงกลั่นน้ำมันดิบทางตะวันออกลิเบีย

สำนักข่าวอานาโตเลียรายงานว่า กองกำลังนายพลฮัฟตาร์นับร้อยคน ได้เข้าบุกยึดโรงกลั่นน้ำมันดิบทางภาคตะวันออกของลิเบียและสั่งปิดดำเนินการ ด้านโฆษกฝ่ายกองกำลังฮัฟตาร์ได้แถลงชื่นชมและสนับสนุนการปฎิบัติการครั้งนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันลิเบีย เปิดเผยว่า ถือเป็นการสูญเสียรายได้ของประเทศครั้งยิ่งใหญ่

กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ยังประกาศว่าจะปฏิบัติการปิดล้อมโรงกลั่นน้ำมันดิบแหล่งอื่นทั่วประเทศ พร้อมอ้างสาเหตุ เพราะไม่อยากให้ตกเป็นสมบัติของรัฐบาล อีกทั้งยังอ้างว่าประชาชนต้องการให้ปิดโรงกลั่นน้ำมันดิบของประเทศ เราจึงจำเป็นปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและไม่ยอมให้ตกเป็นสมบัติของใครผู้ใด

ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงกลั่นน้ำมันลิเบียเปิดเผยว่า การปฎิบัติการของกองกำลังฮัฟตาร์ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลิตน้ำมันจำนวน 700,000 บาร์เรลต่อวันและถือเป็นตัดท่อทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อฐานะทางการเงินของประเทศ เพราะการส่งออกน้ำมันและก๊าซ ถือเป็นรายได้หลักของประเทศลิเบียเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น

การบุกยึดโรงกลั่นน้ำมันดิบของรัฐบาลโดยกองกำลังฮัฟตาร์ครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเจรจาหลายฝ่ายเพียง 1 วัน เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง โดยที่การเจรจาจะมีขึ้นที่กรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมันในวันที่ 19 มกราคม 2563 และถือเป็นหนึ่งในผลงานเถื่อนของกองกำลังฮัฟตาร์ที่ต่อต้านรัฐบาลสมานฉันท์ซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งสหรัฐอเมริกา อิยิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นชาติสำคัญที่คอยสนับสนุนด้านกองกำลัง วัตถุปัจจัยและงบประมาณให้แก่กองทัพฮัฟตาร์ จนสามารถสั่นคลอนรัฐบาลอันชอบธรรมของลิเบียขณะนี้

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม : https://bit.ly/372mSpU

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเยี่ยมมุฟตีซาอุดิอาระเบียและ รมว. ศาสนาซาอุดิอาระเบีย

อังคารที่ 14 มกราคม 2563 (20 ญุมาดั้ลเอาวัล ฮ.ศ.1441) รองศาสตราจารย์ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในฐานะคณะมนตรีสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League -MWL) เข้าเยี่ยมฯพณฯมุฟตี ชัยค์อับดุลอะซีส บินอับดุลลอฮ์ อาลิชัยค์ สมาชิกสภามนตรีก่อตั้งสันนิบาตมุสลิมโลก (Constituent Council) และผู้ชี้ขาดศาสนวินิจฉัย (Mufti) ที่สำนักงานใหญ่ดารุลอิฟตาอ์ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ในวันเดียวกัน รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้ไปเยี่ยมฯพณฯชัยค์ศอลิห์ อาละชัยค์ รัฐมนตรีประจำสำนักกิจการศาสนา ที่บ้านพัก ณ หมู่บ้านมูฮัมมะดียะฮ์ โดยมีชัยค์อับดุลอาซิส อัมมาร์ อดีตรมช. กระทรวงกิจการศาสนาและศาสนสมบัติร่วมให้การต้อนรับ

อิสราเอลขึ้นบัญชีให้ตุรกีเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอิสราเอล

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่อิสราเอลจัดให้ตุรกีเป็นประเทศที่คุกคามความมั่นคงของอิสราเอล ประจำปี 2020

หนังสือพิมพ์ Times of Israel ฉบับวันอังคาร 14 มกราคม 2563 รายงานข่าว ว่า เป็นครั้งแรกที่หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลได้ขึ้นบัญชีประเทศตุรกีเป็นประเทศคุกคามความมั่นคงของอิสราเอลอันเนื่องมาจากนโยบายของแอร์โดฆานที่สร้างความกังวลให้กับอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายงานของหน่วยข่าวกรองอิสราเอล ที่ส่งไปยังผู้บริหารประเทศทุกๆ ปี แต่กองทัพอิสราเอล ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับตุรกีในปี 2020 แม้ว่าการคุกคามของตุรกีที่มีอิสราเอลที่มากขึ้นทุกๆปี ทำให้ตุรกีกลายเป็นอันตรายที่ร้ายแรงที่สุดประการหนึ่งที่จำเป็นจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดในปีหน้า

หนังสือพิมพ์ Times of Israel ยังกล่าวอีกว่า การกระทำของตุรกีที่คุกคามภูมิภาคนี้คือ ปฏิบัติการต้นน้ำสันติภาพในทางตอนเหนือของซีเรีย และข้อตกลงตุรกีลิเบียเกี่ยวกับน่านน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก

หนังสือพิมพ์ยังได้กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้วว่า ท่าทีอย่างเป็นทางการของอิสราเอล คือ ข้อตกลงระหว่างตุรกี-ลิเบียจะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นี่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะต้องส่งเรือรบไปปะทะกับตุรกี

ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากที่ตุรกีได้เริ่มปฏิบัติการต้นน้ำสันติภาพในทางตอนเหนือของซีเรีย เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย PKK/PYD ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติได้กล่าวต่อสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีตุรกีสั่นคลอนความมั่นคงในภูมิภาคนี้โดยการกระทำความรุนแรง และสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่า อิสราเอลหวาดกลัวต่อบทบาทของตุรกีในภูมิภาคนี้ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนกรณีพิพาทเกี่ยวกับปาเลสไตน์ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นอิสราเอลยังพยายามขัดขวางการให้ความช่วยเหลือขององค์กรบรรเทาทุกข์ของตุรกีในเมืองอัลกุดส์อีกด้วย

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ของอิสราเอลฉบับหนึ่งได้รายงานว่า ตุรกีได้ให้ความช่วยเหลือต่อชาวปาเลสไตน์ในการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอัลกุดส์และเวสต์แบงก์ โดยการให้เอกสารโบราณของออตโตมันแก่ชาวปาเลสไตน์เพื่อใช้ยืนยันสิทธิ์กรรมสิทธิ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอล

ในวันนี้ ไม่ว่าตุรกี อาหรับ เปอร์เซีย จะแสดงบทไหน บทบอยคอตไม่คบอิสราเอล หรือบทต่อต้านอิสราเอล หรือไม่อย่างไร

แต่ท้ายที่สุด พยานหลักฐานเริ่มปรากฏว่าใครเป็นใคร แท้จริงแล้ว ฝ่ายใดเป็นพิษภัยต่อความมั่นคงอิสราเอล และฝ่ายใดเป็นอาหารเสริมยาบำรุงสำหรับอิสราเอล

โดย Ghazali Benmad