ตู้ปันสุข 3 จังหวัดชายแดนใต้ | บันทึกรอมฎอน 1441 (4)

เท่าที่ทราบ รอมฏอนปีนี้ น่าจะเป็นรอมฎอนแรกที่มีการริเริ่มจัด “ตู้ปันสุข” ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้สโลแกน “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมี ใส่ตู้แบ่งปัน”

ขอขอบคุณองค์กรและบุคคลที่ริเริ่มจัดโครงการที่มีประโยชน์ยิ่งนี้ โดยเฉพาะทีมงาน IAC เครือข่ายองค์กรมุสลิมสู้ภัยโควิด-19 ถือเป็นการริเริ่มความดีงามในอิสลาม ที่สามารถเกิดผลบุญให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง และเป็นการสะสมผลบุญรวมกับคนที่ทำเป็นแบบอย่างหลังจากนั้นอีกด้วย ตามนัยหะดีษที่รายงานโดยมุสลิม/1017

ขอสนับสนุนกิจกรรม ”แชร์ลูกโซ่” ชนิดนี้ และอยากเชิญชวนให้แต่ละชุมชนนำไปปฏิบัติต่อโดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง เท่าที่มีความสามารถและสถานการณ์เอื้ออำนวย

ถือเป็นหนึ่งในโมเดล “ชุมชนช่วยชุมชน” Kampong bantu Kampong ที่แสนธรรมดาแต่ด้วยพลังใจอันแสนยิ่งใหญ่มาก

ทั้งผู้ยื่นมือให้และผู้ยื่นมือรับ ต่างก็ต้องมีพื้นฐานจิตสำนึกที่สำคัญมากๆไม่แพ้กันคือ “ความรู้สึกอยากแบ่งปัน”

جزاكم الله خيرا وندعوه سبحانه وتعالى أن يكتب هذه الأعمال في سجلات حسناتكم يوم القيامة

เอื้อเฟื้อภาพ Sukree Semmard


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

การเอี้ยะติก้าฟ ช่วง10 วันสุดท้าย | บันทึกรอมฎอน 1441 (3)

จำได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วทุกครั้งที่รอมฎอนมาถึง หนึ่งในเรื่องที่เป็นที่โจษจันของพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดคือ การเอี้ยะติก้าฟ ช่วง10 วันสุดท้าย

ชาวบ้านบอกว่าเป็นเรื่องแปลกพิสดาร มีบ้านอยู่ดีๆ แต่มานอนที่มัสยิด แถมอาจจะสร้างสิ่งสกปรกให้มัสยิดอีกด้วย บางหมู่บ้านเล่นแรงถึงขนาดประกาศเป็นเขตพื้นที่ปลอดเอี้ยะติก้าฟไปเลย ประมาณว่า สมัยนั้นทั่ว 3 จังหวัด มีมัสยิดที่จัดเอี้ยะติก้าฟไม่เกิน 10 แห่ง และทำกันอย่างมีข้อจำกัดพร้อมด้วยแรงกดดันมากมาย

ชาวบ้านทั่วไป เข้าใจว่า เอี้ยะติก้าฟ 10 วันสุดท้ายรอมฎอน เป็นการปฏิบัติตนของผู้รู้หรือคนระดับโต๊ะวาลีเท่านั้น ทำให้มีคนทำสุนนะฮ์นี้ในกลุ่มคนที่จำกัดมากๆ

ปัจจุบันเท่าที่ทราบ กระแสมองลบการเอี้ยะก้าฟ 10 วันสุดท้ายรอมฎอนเป็นเรื่องเก่าที่ถูกฝังในตำนานไปแล้ว ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูสุนนะฮ์นี้อย่างขมักเขม้น หากไม่ใช่เพราะวิกฤตโควิด-19 ช่วงนี้ทั้งวิทยุชุมชน ทีวีช่องดำ หรือการไลฟ์สดตามโชเชียล คงมีการพูดถึงและรณรงค์เรื่องการเอี้ยะติก้าฟ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา แม้กระทั่งหน่วยงานด้านความมั่นคง คงมีการตระเตรียมความพร้อมเพื่อจัดเอี้ยะติก้าฟอย่างถ้วนหน้า

ไม่มีใครยกประเด็นการฟื้นฟูสุนนะฮ์นี้ ว่าเป็นงานเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ต้องฟื้นฟูสุนนะฮ์นบีให้คงอยู่ควบคู่กับสังคมมุสลิมอยู่แล้ว

การละหมาดอีดบริเวณลานกว้างก็เช่นกัน

ไม่มีใครหรือกลุ่มไหน ที่จะสงวนสิทธิ์การปฎิบัติใช้สุนนะฮ์นี้ไว้แต่เพียงผู้เดียวหรอกครับ
และคนที่ยังไม่เคยปฏิบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องกระดากใจใดๆที่จะต้องทำ เพราะการฟื้นฟูสุนนะฮ์นบี เป็นหน้าที่ของทุกคนอยู่แล้ว

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้คนทุกหมู่เหล่าต้องร่วมมือร่วมใจกันแสดงความสวามิภักดิ์และนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยการปฎิบัติตามสุนนะฮ์นบีโดยพร้อมเพรียงกัน

ไม่มีใครได้หน้าและเสียหน้ากรณีปฏิบัติตามสุนนะฮ์นบีหรอก

บางคน การปฏิบัติตามสุนนะฮ์ รู้สึกขมยิ่งกว่าอมบอระเพ็ด
แต่สำหรับบางคน มันคือความหวานฉ่ำยิ่งกว่าน้ำตาลโตนด

ขอให้เราเป็นบางคนในกลุ่มที่สองนี้ครับ


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

เช้าวันศุกร์ที่ 15 | บันทึกรอมฎอน 1441 (2)

บันทึก เช้าวันศุกร์ที่ 15 รอมฎอน 1441(2)

มีพี่น้องจากเทศบาลนครยะลาแจ้งว่า เช้านี้ที่ตลาดเสรี เงียบเหงาผิดปกติ สอบถามได้ความว่าแม่ค้าไม่กล้าออกจากบ้าน

พี่น้องจากเทศบาลปัตตานี บอกว่า เช้านี้ผิดสังเกตมากๆ ไม่มีผู้คนออกมาจ่ายตลาดเหมือนวันปกติ

ส่วนที่นราธิวาสไม่มีข้อมูล

แสดงว่า คำเตือนของบาบอที่ย้ำว่า ถึงแม้เป็นหะดีษปลอม แต่เพื่อความปลอดภัย อย่าออกจากบ้านก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ยังมีคนเชื่อจริง

แสดงว่า หะดีษปลอมที่รายงานโดยบาบอ มีคนเชื่อจริง

แสดงว่า สังคมยังตกเป็นเหยื่อการแพร่ระบาดของหะดีษปลอม

เพื่อเป็นการปกป้องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรามีหน่วยงานทางราชการ องค์กรศาสนา ออกแถลงการณ์มาตรการต่างๆฉบับแล้วฉบับเล่า

แต่การแพร่ระบาดของหะดีษปลอม
เรากลับไม่มีหน่วยงานไหน คอยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นหะดีษปลอม
บาบอก็ยังใช้เป็นทุนในการเผยแพร่ จนชาวบ้านหลงเชื่อระนาว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในโลกนี้
แต่การแพร่ระบาดของหะดีษปลอม จะส่งผลต่อชีวิตเราในวันอาคิเราะฮ์ และถูกตั้งข้อหาว่า เราโกหกใส่นบี อ้างว่านบีสอนนบีกล่าว ทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นคำสอนของนบีด้วยประการทั้งปวง


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ฝันที่อยากให้เป็นจริง | บันทึกรอมฎอน 1441 (1)

ฝันที่อยากให้เป็นจริง

รายอฟิฏรีย์ปีนี้ เป็นไปได้ไหมว่าสำนักจุฬาราชมนตรี ออกแถลงการณ์ฉบับ ที่ 6 รณรงค์ให้พี่น้องร่วมละหมาดที่ลานกว้างทั่วประเทศ ด้วยเหตุผล

1. การละหมาดอีดที่ลานกว้างคือทางออกและแบบอย่างของนบีและชาวสะลัฟที่ปฏิบัติกันมากว่า 1,400 ปีมาแล้ว

2. แก้ปัญหาการแออัดในมัสยิด ที่มีพื้นที่จำกัดที่จะจัดแถวแบบทิ้งระยะห่าง 1.5 -2 ม. ตามเงื่อนไขของจุฬาราชมนตรี แค่อีดปกติ คนก็ล้นมัสยิดอยู่แล้ว

3. สามารถปฏิบัติตามสุนนะฮ์ด้วยการละหมาดอีดที่ลานกว้าง และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของจุฬาฯ (ทูอินวัน)

4. แม้สังคมส่วนใหญ่อาจลำบากใจที่จะปฏิบัติตามสุนนะฮ์กรณีละหมาดอีดที่ลานกว้าง แต่อาจสบายใจที่จะละหมาดอีดที่ลานกว้างเนื่องจากโควิด-19 ก็ได้

5. สังคมมุสลิมใน 3 จังหวัดเคยจัดละหมาดฮายัตระดับจังหวัดใหญ่โตมาแล้วหลายครั้ง คิดว่าหากจัดละหมาดอีด คงไม่มีปัญหาอะไร ที่สำคัญสามารถฟื้นฟูสุนนะฮ์นบีในสถานการณ์วิกฤตนี้

สถานการณ์ ข้อจำกัด ความสะดวก ความปลอดภัยและความพร้อม เอื้อที่สุดแล้วครับ
เพียงแต่สภาพอากาศคอยเป็นใจให้ก็แล้วกัน


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453

วิพากษ์หนังสือ
فتح القسطنطينية 857 هـ/1453م
(การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453)
ผู้เขียน ดร.ฟัยศ็อล อับดุลลอฮฺ อัลกันดะรีย์
สำนักพิมพ์ มักตะบะฮฺ อัลฟะลาหฺ คูเวต

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนด้วยภาษาอาหรับ โดย ดร.ฟัยศ็อล อัลกันดะรีย์ อาจารย์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคูเวต หน้าปกด้านบนประกอบด้วยภาพวาดส่วนหัวของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง หรือมุหัมมัด อัลฟาติหฺตั้งอยู่ด้านขวาของพยางค์แรกของชื่อหนังสือที่ว่า “ฟัตหุ” ที่แปลว่า “การพิชิต” และตามด้วยพยางค์ที่สองที่ว่า “อัลกุสฏอนฏีนียะฮฺ” ที่แปลว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิล” ซึ่งเท่ากับเป็นการสื่อให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงเนื้อหาโดยรวมของหนังสือว่าสุลต่านมุหัมมัดที่สองคือผู้ที่พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างแท้จริง ส่วนด้านล่างเป็นภาพมัสยิดอะยาโซเฟียซึ่งตั้งอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงอิสตันบูลในปัจจุบัน อันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ เพราะสุลต่านมุหัมมัดได้ใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศสันติภาพแก่บรรดานักบวชคริสต์และชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลทุกคน ซึ่งนับว่าเป็นการบรรยายถึงสภาพของการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้อย่างรวบรัดและดีเยี่ยม เพียงลักษณะของปกนอกผู้อ่านก็สามารถจินตนาการและเข้าถึงเนื้อหาโดยรวมได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือปกแข็ง มีขนาด 18×25 ซม. เนื้อหามีจำนวน 216 หน้า ประกอบด้วย 2 ภาคไม่รวมบทนำ
ผู้เขียนได้ชี้แจงถึงแนวทางการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า จะใช้วิธีนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความพยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของชาวมุสลิมควบคู่กับการวิจารย์ต่อความพยายามแต่ละครั้ง นับตั้งแต่ความพยายามครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 699) จนกระทั่งความพยายามครั้งสุดท้ายที่สามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453)
เนื่อหาโดยสรุปของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย บทนำ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายอย่างรวบรัดถึงประวัติความเป็นมาของกรุงคอนสแตนติโนเปิลว่าเดิมทีเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก ก่อนที่จะถูกพิชิตลงและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูลจนกระทั่งปัจจุบัน และสาธยายถึงความสำคัญด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ลำบากยิ่งแก่การบุกโจมตี จนกลายเป็นที่หมายปองของบรรดามหาอำนาจและนักล่าอาณานิคม ถึงขนาดนาโปเลียนกล่าวย้ำว่า “คอนสแตนติโนเปิลเปรียบเสมือนกุญแจโลก ผู้ใดที่สามารถครอบครองมัน เขาก็จะสามารถครอบครองโลกทั้งผอง”

ภาคแรก ผู้เขียนได้แบ่งความพยายามในการพิชิตดังกล่าวออกเป็นสามช่วง คือ
ส่วนแรก เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอะมะวียะฮฺ ซึ่งได้มีการปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลจำนวนสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 668) ภายใต้การนำทัพของยะซีด บิน มุอาวิยะฮฺ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน ผู้เป็นบิดา มีเศาะหาบะฮฺหลายท่านที่ทำสงครามในครั้งนี้ อาทิ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส อับดุลลอฮฺ บิน ซุเบร หุเสน บิน อาลี และอบูอัยยูบ อัล-อันศอรีย์ ซึ่งต่อมาท่านได้เสียชีวิตลงที่นี่
การปิดล้อมดังกล่าวได้ยืดเยื้อกินเวลาถึงแปดปีเต็ม จนเป็นที่รู้จักกันในนามของสงครามแปดปี จนสุดท้ายกองทัพมุสลิมจำเป็นต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะหลังจากที่ต้องสูญเสียกำลังพลร่วม 30,000 คน
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิกปี ฮ.ศ. 99 (ค.ศ. 717) ภายใต้การนำทัพของมัสละมะฮฺ บิน อับดุลมะลิก โดยได้กรีฑาทัพด้วยจำนวนพลมากกว่า 120,000 นาย แต่หลังจากที่กองทัพมุสลิมได้ปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลเกือบครบหนึ่งปี สุดท้ายกองทัพมุสลิมก็ต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะ เนื่องจากการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของเคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก และมีคำสั่งจากเคาะลีฟะฮฺคนใหม่ (อุมัร บิน อับดุลอะซีซ) ให้ถอนทัพกลับ หลังจากที่พบว่ากองทัพมุสลิมต้องประสบกับโรคระบาดและได้สูญเสียกำลังพลจำนวนมาก

ผู้เขียนได้สรุปถึงสาเหตุและปัญหาที่ทำให้กองทัพมุสลิมที่นำโดยมัสละมะฮฺต้องพ่ายแพ้และถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะว่า
1. กำแพงที่หนาแน่นและแข็งแกร่งที่ปิดล้อมทุกด้านของกรุงคอนสแตนติโนเปิลอยู่ ทำให้กองทัพมุสลิมไม่สามารถที่จะทลวงเข้าไปได้
2. สภาพที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่รายล้อมด้วยทะเลทั้งสามด้านทำให้ยากต่อการโจมตี
3. อิทธิพลทางทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการทางการทหาร โดยเฉพาะทางทะเล เนื่องจากเป็นช่วงที่มีลมแรงจนไม่สามารถบังคับเรือให้แล่นตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกชุกจนกองทัพไม่สามารถรุกลั้มเข้าไปโจมตีเป้าหมายได้
4. กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้รับการสนับสนุนทางทหารจากประเทศในแถบยุโรป เช่น บัลแกเรีย ทำให้กองทัพของมัสละมะฮฺต้องสังเวยไปจำนวน 22,000 นาย
5. การเสียชีวิตของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก ทำให้กองทัพเสียขวัญและไม่มีกำลังใจที่จะทำสงครามอีกต่อไป

ส่วนที่สอง เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสองครั้งเช่นกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 165 (ค.ศ. 781) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ อัลมะฮฺดี ภายใต้การนำทัพของบุตรชายฮารูน อัรเราะชีด และการปิดล้อมสิ้นสุดด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึก โดยผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมจ่ายเงินจำนวน 70,000 หรือ 90,000 ดีนารต่อปีเพื่อแลกกับสันติภาพ
ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 190 (ค.ศ. 805) เป็นการยกทัพของฮารูน อัรเราะชีด ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และได้ทำการปิดล้อมเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนสุดท้ายผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมเจรจาและทำหนังสัญญาสงบศึกด้วยการจ่ายส่วยเป็นจำนวนเงิน 50,000 ดีนาร

และส่วนที่สาม เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพเพื่อพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสี่ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 798 (ค.ศ. 1396) ในสมัยการปกครองของสุลต่านบายะซีดที่หนึ่ง แต่กองทัพอุษมานียะฮฺปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ไม่นานก็ต้องถอยทัพกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับกองทัพครูเสดที่ยกทัพมาเพื่อช่วยเหลือกรุงคอนสแตนติโนเปิล
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 825 (ค.ศ. 1422) ในสมัยการปกครองของสุลต่านมุรอดที่สอง ชนวนของเหตุการณ์เกิดจากการที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเขียนหนังสือถึงสุลต่านมุรอดขอร้องไม่ให้โจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่สุลต่านปฏิเสธ ดังนั้นกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงมุสตอฟาผู้เป็นอาของสุลต่าน และมอบกองทหารพร้อมอาวุธจำนวนหนึ่งเพื่อให้ช่วงชิงบัลลังก์มาจากสุลต่านในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเสนอชื่อให้เป็นสุลต่านแทนมุรอด สุดท้ายสุลต่านมุรอดก็สามารถกำราบมุสตอฟาลงด้วยการกรีฑาทัพจำนวน 200,000 นาย
และครั้งที่สามเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง ซึ่งสามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453) โดยผู้เขียนได้เน้นรายละเอียดของความพยายามในครั้งสุดท้ายนี้ที่นำทัพโดยสุลต่านมุหัมมัดที่สอง เพื่อให้ได้ประจักษ์ถึงสาเหตุที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ หลังจากชาวมุสลิมได้ล้มเหลวมาแล้วถึงเจ็ดครั้ง
ก่อนที่จะก้าวไปยังภาคที่สอง ผู้เขียนได้ตบท้ายภาคแรกด้วยภาคผนวกที่ประกอบด้วย 6 ภาคผนวก ทั้งหมดเป็นสารที่สุลต่านมุหัมมัด อัล-ฟาติหฺส่งไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และสารตอบกลับเพื่อแสดงความยินดีกับสุลต่านมุหัมมัดจากเจ้าเมืองต่างๆ อันประกอบด้วย เจ้าเมืองแห่งอียิปต์ เจ้าเมืองแห่งมักกะฮฺ และเจ้าเมืองแห่งอิหร่าน

ส่วนภาคที่สอง ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาที่แปลมาจากบันทึกประจำวันของแพทย์ผ่าตัดชาวอิตาลีท่านหนึ่งมีชื่อว่า นิโคโล บัรบะโร (Nicolo Barbaro) ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในสมัยที่สุลต่านมุหัมมัดที่สองกำลังปิดล้อมและพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือยิ่ง ซึ่งได้จากผู้ที่เห็นเหตุการณ์และอยู่ในเหตุการณ์จริง และส่วนหนึ่งที่นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งของบันทึกบัรบาโรคือ รายชื่อต่างๆของผู้ที่ร่วมทำสงครามเพื่อปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิล และรายชื่อของเรือ พร้อมกับกัปตันเรือ
จุดเด่นที่เพิ่มคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้ ประการหนึ่งคือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ ผู้เขียนมักจะระบุเสมอว่าตรงกับปีใดของคริสต์ศักราช เช่นเดียวกับรายชื่อของเมืองต่างๆ และบุคคลที่ถูกกล่าวถึงผู้เขียนจะกำกับด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ที่สำคัญ ผู้เขียนยังอธิบายคำศัพท์บางคำไว้ที่เชิงอรรถด้วย รวมถึงรายละเอียดโดยย่อของบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึง ว่ามีชื่อเต็มว่าอย่างไร เกิดเมื่อไหร่ เสียชีวิตปีใด และมีตำแหน่งอะไรเป็นต้น ซึ่งน้อยมากที่เราจะพบหนังสือประวัติศาสตร์อิสลามที่ได้รับการกำกับอย่างนี้

ส่วนจุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มราศีและความขลังของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนจะสอดแทรกคำอธิบายด้วยภาพประกอบต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ เช่นแผนผังที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และกำแพงเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แผนผังยุทธวิธีการโจมตีและที่ตั้งของกองทหาร เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ และเพิ่มความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างดีเยี่ยม
และจุดเด่นที่ผู้วิพากษ์คิดว่าเป็นหน้าตาและมีความสำคัญที่สุดสำหรับงานเขียนประวัติศาสตร์คือการวิพากษ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนทำได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์ด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งที่มา หรือการจรรโลงข้อมูลเข้าด้วยกันในกรณีที่พบการบันทึกที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งเกี่ยวกับจำนวนของกองทัพมุสลิมที่นำทัพโดยมัสละมะฮฺว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่า “นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่ามีจำนวน 120,000 นาย ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า มีจำนวนถึง 180,000 นาย” แล้วผู้เขียนกล่าวสรุปว่า “ตามที่มีบันทึกในแหล่งอ้างอิงภาษาอาหรับ (หมายถึงหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม) เราสามารถกล่าวได้ว่า จำนวนกองทัพมุสลิมมีมากกว่า 120,000 นาย” เป็นต้น

ในส่วนของแหล่งอ้างอิง ก็ต้องขอชมเชยผู้เขียนที่ได้ผสมผสานระหว่างแหล่งอ้างอิงที่มาจากหนังสือภาษาอาหรับที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์มุสลิมกับแหล่งอ้างอิงภาษาอื่นๆที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นแหล่งอ้างอิงภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับแล้ว ทำให้เพิ่มคุณค่าและน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลมากยิ่งขึ้น

จุดเดียวที่ผู้วิพากษ์เห็นว่า เป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ การสร้างเชิงอรรถของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเลือกทำเชิงอรรถในส่วนท้ายหลังจากที่จบภาคไปแล้ว ทำให้เกิดความยุ่งยากและรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ที่เชิงอรรถ ซึ่งหนังสือทั่วไปมักจะเขียนเชิงอรรถไว้ด้านล่างของของแต่ละหน้าทันที ทำให้สะดวกต่อการติดตาม
ในการปิดท้ายของการวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ ผู้วิพากษ์ขอกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่งที่เรืองด้วยข้อมูลและแหล่งอ้างอิงที่หลากหลาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

วิพากษ์โดย Ibn Idris Al Yusof

ฟัตวาสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ว่าด้วยการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดช่วง COVID-19

● ฟัตวาสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS – International Union for Muslim Scholars) ว่าด้วยการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดอันเนื่องจากไวรัสโคโรน่า

بسم الله الرحمن الرحيم

ฟัตวาเลขที่ 15
วันที่ 15 รอมฎอน 1441 / 08 พฤษภาคม 2020

ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดอันเนื่องจากโคโรน่า

الحمد لله، والصلاة والسلام على رسول الله،

การละหมาดญามาอะฮ์เป็นเครื่องหมายของอิสลาม เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีเป้าหมายชัดเจน เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความประเสริฐและการเจริญรอยตามท่านนบี ศอลฯ มีหลักการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายและการเป็นเครื่องหมายอิสลามได้อย่างงดงามสมบูรณ์ที่สุด ตามที่ท่านนบี ศอลฯ ได้สอนและได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างถึงการตามอิหม่าม ด้วยการเข้าแถวแนบชิด เท้าชิดและหัวใจที่สมัครสมานไม่ห่างเหินกัน

หากเกิดข้อบกพร่องในลักษณะดังกล่าว อันเนื่องจากเหตุผลต่างๆ เช่น มีฝากั้น หรือการกลัวโรคระบาด มีหลักการดังนี้

1. ยืนยันว่าศูนย์ฟิกฮ์และศูนย์ฟัตวาต่างๆ เห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้งดเว้นการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโคโรน่า เนื่องจากบทบัญญัติอิสลามวางอยู่บนหลักสะดวก ไม่สร้างภาระ ไม่เป็นภัยต่อบุคคลและสังคม ตามหลักฐานในฟัตวาก่อน

2. การประเมินถึงภัยอันตรายอันจะเกิดเนื่องจากการชุมนุมในสถานที่ใดๆ เป็นอำนาจของฝ่ายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการของฝ่ายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องดังกล่าวโดยเคร่งครัด

การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวถือเป็นสิ่งวาญิบ เพราะการละเมิดฝ่าฝืนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ซึ่งอัลลอฮ์ห้ามการฆ่าตัวเอง โดยกล่าวว่า

وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا : النساء:29

และพวกท่านอย่าได้ฆ่าตัวเอง แท้จริงอัลลอฮเมตตาต่อพวกท่าน [ อันนิสาอ์ : 29 ]

3. การเข้าแถวละหมาดโดยแนบชิดเป็นหลักการอิสลามที่ท่านนบี ศอลฯ กำหนด ดังหะดีษจำนวนมาก

ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ข้อกำหนดเรื่องวิธีการเข้าแถวละหมาดเป็นสุนัต ไม่ใช่วาญิบ และเห็นพ้องกันว่า การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเรื่องการเข้าแถว ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็ไม่ทำให้เสียละหมาด

4. การละหมาดโดยการยืนเข้าแถวห่างๆ ถือว่าเป็นการละหมาดที่ใช้ได้

รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ตามอายุ และสุขภาพของผู้ละหมาด ตลอดจนมาตรการฆ่าเชื้อก่อนเข้ามัสยิด หรือการฆ่าเชื้อทำความสะอาดสถานที่

ดังนั้น ไม่มีความผิดใดๆ จากการละหมาดที่ยืนห่างๆกัน ตามระยะที่ประกันความปลอดภัยได้

เพราะว่านักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า การยืนห่างๆ ในละหมาดจะเป็นความผิดในระดับมักรูฮก็ต่อเมื่ออยู่สภาวะปกติเท่านั้น แต่ในกรณีจำเป็นสุดวิสัย ความผิดดังกล่าวก็ตกไป ตามหลักที่ว่าความผิดในระดับมักรูฮ์ตกไปเมื่ออยู่สภาวะไม่ปกติแม้เพียงเล็กน้อย

การฝ่าฝืนมาตรการด้านสาธารณสุขที่ห้ามชุมนุมเพื่อการละหมาดดังกล่าว ด้วยการไม่ปฏิบัติตาม ไม่ให้ความร่วมมือ ถือเป็นการกระทำที่เป็นบาป ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับผิดชอบโดยสมบูรณ์ต่อความเสียหายอันเกิดขึ้นเนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรการเหล่านั้น เพราะศูนย์ฟิกฮ์และศูนย์ฟัตวาต่างๆ ถือว่าเป็นการทำบาปจากการทำให้ตนเองและสังคมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคร้าย

والله أعلم ، وصلى الله على سيدنا محمد وآله وسلم .

والحمد لله رب العالمين.

คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

ศ.ดร.นูรุดดีน อัลคอดิมีย์ ประธานคณะกรรมการ
ดร.ฟัฎล์ มุร๊อด กรรมการและผู้ร่างคำฟัตวา
ศ.ดร.อะหมัด จาบุลลอฮ์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.ซุลตอน อัลฮาชิมีย์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.อะหมัด กาฟี กรรมการ
ชัยค์วานีส อัลมับรูก กรรมการ
ชัยค์ซาลิม อัลชัยคีย์ กรรมการ
ศ.ดร.ซอและห์ ซังกีย์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.มุฮัมมัด รอยิส กรรมการ
ศ.ดร.อาลี ฆ๊อรเราะฮ์ดาฆีย์ เลขาธิการสหพันธ์
ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์

■ อ่านฟัตวาต้นฉบับ
http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11517

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

การละหมาดตารอเวียะห์ตามการถ่ายทอดสด ข้อบ่งชี้และแนวโน้ม ( ตอนที่ 1)

บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)
เผยแพร่เมื่อ 25 เมษายน 2563

การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 บังคับให้นักฟิกฮ์และนักอิจติฮาด-วินิจฉัย- ต้องทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์และวินิจฉัยต่อกรณีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในบางกรณีก็เห็นพ้องกัน แต่บางกรณีก็เห็นต่างกัน และสิ่งที่พวกเขาพ้องกันมีมากกว่าที่เห็นต่าง ประเด็นสำคัญที่สุดที่เห็นต่างกัน ได้แก่ประเด็นการละหมาดตารอเวียะห์ตามการถ่ายทอดสด แม้ว่าบรรดาศูนย์ฟิกฮ์ทั้งหมด เท่าที่ทราบ ล้วนฟัตวาห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ก็มีนักฟิกฮ์และนักอิจติฮาดที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งฟัตวาว่า อนุญาต ซึ่งไม่มีใครกังขาในความเคร่งครัดศาสนา ความรู้และความหวังดีต่อศาสนาของพวกเขาเหล่านั้น ตลอดจนความปรารถนาดีของพวกเขาที่ต้องการให้ผู้คนผูกพันอยู่กับละหมาดญามาอะฮ์และมัสยิด

บรรดานักอิจติฮาดล้วนได้รับผลบุญ เราจึงไม่ควรอึดอัดกับความเห็นที่แตกต่างออกไป และควรที่จะสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอิจติฮาด ไม่ว่าผลของการอิจญ์ติฮาดจะออกมาประหลาดพิศดารแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ตั้งอยู่บนฐานทางวิชาการที่ถูกต้อง และหากจำเป็นเราก็มีหน้าที่วิพากษ์ โต้แย้งด้วยความเป็นกลางตามหลักวิชาการ

นี่คือกระบวนการอิจญ์ติฮาดที่นำมาซึ่งความรู้ใหม่ที่พึงประสงค์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง

วัตถุประสงค์ของบทความนี้มิใช่เพื่อสนับสนุน ยกย่องหรือโจมตีทัศนะใดๆ เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงดัชนีและแนวโน้มที่เป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์วินิจฉัยกรณีใหม่ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

●● ประการแรก : ข้อบ่งชี้
● 1. วิธีการให้เหตุผลที่สับสนและการขัดกันของหลักฐาน
สิ่งแรกที่สังเกตเห็นคือ บรรดานักฟิกฮ์ฝ่ายที่เห็นว่าอนุญาตให้ละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อถ่ายทอดสด คือความไม่ชัดเจนและขัดกันของการให้เหตุผล
เช่น การรวมกันระหว่างการอ้างหลักการ “อะไรที่ไม่มีคำสั่งห้ามถือว่าอนุญาต ” (อิบาหะฮ์อัศลียะฮ์) และหลักกรณีสุดวิสัย(ฎอรูเราะฮ์) ซึ่ง 2 หลักการนี้ไม่สามารถรวมกันได้

ทั้งนี้ ฝ่ายที่เห็นว่าการละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อถ่ายทอดสดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ได้อ้างอิงความเห็นจากตำรามัซฮับมาลิกที่อนุญาตให้ตามอิหม่ามที่ห่างออกไปเป็นระยะไกลอันเป็นกรณีปกติในมัซฮับมาลิก ไม่ใช่กรณีสุดวิสัยเช่นในสถานการณ์โควิด-19 การจำกัดให้ใช้เฉพาะในสถานการณ์สุดวิสัยจึงเป็นการปรับใช้และการให้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับกรณี

นอกจากนั้น การอ้างว่าสุดวิสัยก็ไม่ถูกต้อง เพราะมีวิธีการอื่นทดแทนได้ นั่นคือการละหมาดที่บ้าน

หากการละหมาดตารอเวียะห์ตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสด สามารถกระทำได้ ทำไมไม่อนุญาตในกรณีละหมาดวันศุกร์ ทั้งๆที่จำเป็นมากกว่า เพราะเป็นวาญิบ ในขณะที่ละหมาดตารอเวียะห์เป็นอิบาดะฮ์ภาคนาฟิล (ส่งเสริมตามความสมัครใจ)

การขัดกันของการให้เหตุผลอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การอนุญาตให้ตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสดในการละหมาดภาคนาฟิล แต่ห้ามปฏิบัติในการละหมาดภาคฟัรฎูผ่านการถ่ายทอดสด ทั้งๆที่หลักฐานที่อ้างถึงไม่ได้แยกระหว่างละหมาดทั้งสองประเภทดังกล่าว

ซึ่งบรรดาปราชญ์ไม่ได้แยกแยะเงื่อนไขการตามอิหม่ามในการละหมาดทั้งสองประเภท หะดีษกำหนดวิธีการตามอิหม่ามก็ไม่ได้แยกแยะ

ความต่างระหว่างละหมาดทั้งสองประเภท ล้วนเป็นกรณีที่ตัวบททางศาสนาระบุไว้เท่านั้น เช่น หะดีษอนุญาตละหมาดภาคนาฟิลบนพาหนะ

การขัดกันของหลักฐานประการที่ 3 คือ มีบางท่านกำหนดว่า ให้ตามได้เฉพาะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน อันเป็นการกำหนดที่ปราศจากหลักฐานอ้างอิง เพราะเหตุผลที่ฝ่ายนี้อ้างคือ “การได้ยินและการเห็นที่ชัดเจน” ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่จำกัดเฉพาะการตามอิหม่ามในหมู่บ้านเท่านั้น เพราะเหตุผลดังกล่าวยังสามารถตามอิหม่ามมัสยิดหะรอมที่แม้เวลาจะคลาดเคลื่อนกันก็ได้ เพราะหลักฐานที่อ้างไม่มีระบุถึงเรื่องของเวลาแต่ประการใด

● 2. นักวิชาการด้านฟิกฮ์ทำให้การฝ่าฝืนหลักการจัดลำดับความสำคัญในหมู่ประชาชาติอิสลามยิ่งหยั่งลึกมากขึ้น

นักวิชาการและนักเผยแผ่ศาสนา มักพูดถึงวิกฤติของศาสตร์ว่าด้วยการขาดการจัดลำดับความสำคัญ และถือเป็นเหตุผลข้อหนึ่งของการถดถอยทางอารยธรรมในสังคมมุสลิม

จากปรากฏการณ์ปัญหาที่กำลังพูดถึง นักวิชาการและนักฟิกฮ์กลับทำให้ปัญหานี้บานปลายมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โดยหลักการพื้นฐานแล้ว การละหมาดตารอเวียะห์ให้กระทำที่บ้าน ความสนใจที่มากเกินไปจากนักวิชาการในการพยายามที่จะคิดค้นรูปแบบใหม่เชิงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการละหมาดในรูปแบบญามาอะฮ์ในมัสยิด จะเป็นการส่งเสริมมโนทัศน์ผิดๆของสังคมเกี่ยวกับละหมาดภาคนาฟิลที่ควรกระทำที่บ้านมากกว่า รวมถึงจารีตการให้ความสำคัญกับละหมาดนาฟิล เช่น ละหมาดตารอเวียะห์หรือละหมาดอีด มากกว่าละหมาดภาคฟัรดู

ในสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะถือเป็นโอกาสเหมาะอย่างยิ่งที่จะให้สังคมเคยชินกับการละหมาดภาคนาฟิลที่บ้านตามหลักการเดิม

● 3.ค่านิยมการอิจติฮาด (วินิจฉัย) ส่วนบุคคล เหนือกว่าค่านิยมการอิจติฮาดแบบองค์คณะและสถาบัน

การอิจติฮาดแบบองค์คณะที่ตั้งอยู่บนการปรึกษาหารือและการโต้แย้งเป็นแนวทางฟัตวาในยุคซอฮาบะฮ์และตาบิอีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังแนวปฏิบัติของท่านอบูบักร เมื่อมีกรณีเกิดขึ้น ท่านก็จะพิจารณาจากอัลกุรอาน หากไม่มีก็จะพิจารณาจากซุนนะฮ์ หากไม่มีก็จะถามผู้คนว่ามีใครทราบไหมว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) เคยตัดสินว่าอย่างไร หากมีคนบอก ก็จะตัดสินตามนั้น หากไม่มีก็จะปรึกษาหารือกับบรรดาผู้นำซอฮาบะฮ์ หากพวกเขามีความเห็นเช่นไรก็จะตัดสินตามนั้น

ซึ่งนอกจากท่านอบูบักรแล้ว ท่านอุมัรและบรรดาซอฮาบะฮ์อาวุโสก็ใช้แนวทางดังกล่าวเช่นกัน

การฟัตวาแบบองค์คณะตามรูปแบบของซอฮาบะฮ์เหล่านั้น จึงเป็นแนวทางที่นักวิชาการร่วมสมัยเห็นพ้องกัน และมีการเรียกร้องให้ประยุกต์ใช้ในสถาบันฟัตวาร่วมสมัย สถาบันฟัตวาที่ใช้การฟัตวาแบบองค์คณะจึงเกิดขึ้นมากมายทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

ไม่แปลกเลย ที่ความซับซ้อนและเชื่อมโยงของกรณีใหม่ๆในปัจจุบันจะเหมาะสมกับการวินิจฉัยแบบองค์คณะมากกว่าการวินิจฉัยคนเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น โลกปัจจุบันไม่ยอมรับระบบการทำงานแบบข้ามาคนเดียวในการศึกษาวิจัย แต่มักจะใช้ระบบการทำงานเป็นทีม

ซึ่งจากจุดนี้จะเห็นว่า บรรดาสถาบันด้านฟิกฮ์ ไม่รีรอที่จะออกมาแถลงปฏิเสธการละหมาดตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ เช่น สภายุโรปเพื่อการวิจัยและฟัตวา ,ศูนย์ฟิกฮ์นานาชาติขององค์กรโอไอซี , สภานักฟิกฮ์แห่งอเมริกา, สภากิบารอุลามาอ์ ซาอุดิอาระเบีย ,สภาอิสลามสูงสุด ตุรกี, สภาวิจัยอิสลาม -มัจมะ บุหูษอิสลามียะฮ์- อียิปต์ และสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

แต่ถึงกระนั้น ก็มีนักฟิกฮ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งบางท่านเป็นสมาชิกสภาต่างๆดังกล่าว ออกมาแสดงทัศนะแตกต่างจากทัศนะขององค์กรเหล่านั้น

ข้าพเจ้าเห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรมการนิยมวินิจฉัยคนเดียวมากกว่าการวินิจฉัยแบบองค์คณะ ซึ่งจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในหลักอิจมาอ์ที่ปรากฏอยู่ในตำราวิชาการอิสลามในอดีตว่าเป็นจริงหรือไม่

● 4. ทำให้สังคมสับสนแทนที่จะให้ทางออก
นักฟิกฮ์และมุฟตียุคหลังๆ เน้นการชี้แนะให้ผู้ขอคำฟัตวาพ้นจากความลังเลสับสน วิธีการฟัตวาจะไม่ฟัตวาโดยการนำหลายๆทัศนะมาชี้แจงที่อาจมีการให้น้ำหนักแก่ทัศนะใดๆ แล้วปล่อยให้ผู้ขอคำฟัตวาตัดสินใจเลือกเอง แต่จะใช้วิธีฟัตวาเฉพาะทัศนะที่มุฟตีเลือกแล้ว พร้อมระบุหลักฐานที่มา อันเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับยุคของเราที่ไม่นิยมการอ่านที่ยืดยาวและข้อมูลไม่มากพอ

แต่ในกรณีละหมาดตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสด ผู้ให้คำฟัตวากลับทำให้สังคมยิ่งสับสน

มีบางท่านฟัตวาว่า ให้ละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อออนไลน์ได้ แต่จงต้องเป็นอิหม่ามที่อยู่ใกล้ๆ เช่นในหมู่บ้านเท่านั้น

แต่ก็มีบางท่านออกมาฟัตวาว่า ตามอิหม่ามที่อยู่ไกลๆ แค่ไหนก็ได้

การฟัตวาที่สร้างความขัดแย้งกันเช่นนี้ ล้วนสร้างรอยราคีให้แก่ความบริสุทธิ์แห่งเดือนรอมฎอน ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก ดังเช่นความขัดแย้งทุกๆปีในช่วงเดือนรอมฎอน ในเรื่องวิธีการกำหนดวันเริ่มต้นรอมฎอน

ทั้งนี้ จารีตเกี่ยวกับการฟัตวาในสังคมบรรพชนยุคสะลัฟ อุลามาอ์หลบเลี่ยงที่จะให้คำฟัตวา แต่โบ้ยให้ไปถามผู้อื่น

แต่ในยุคสะลัฟรุ่นหลัง ต่างแย่งชิงกันออกมาให้คำฟัตวา และไม่เพียงพอกับฟัตวาของผู้อื่น

สมมติว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุคซอฮาบะฮ์ และบรรดาอิหม่ามทั้งสี่ แน่นอนที่สุดปฏิกิริยาของพวกเขาต่อสถานการณ์นี้คือการนิ่งเงียบและเพียงพอกับคำฟัตวาที่มีผู้ฟัตวาไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำฟัตวาแบบองค์คณะ มิใช่ความเห็นส่วนตัวของใครๆ

ในสังคมบรรพชนยุคสะลัฟ ประเพณี “ฉันไม่ทราบ” แพร่หลายไปทั่วสังคมผู้รู้นักวิชาการ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะความถ่อมตนและความกลัวต่ออัลลอฮ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลของฟัตวา

แต่ในวันนี้ ค่านิยม ประเพณีแตกต่างออกไป ทุกคนต่างออกมาบอกว่า “ฉันรู้” ต่างไม่ยอมรับที่จะถูกมองว่า “ไม่มีความรู้”

ลองพิจารณาสถานการณ์นี้ยุคสะลัฟและสมมติว่ามีเหตุการณ์คำถามประเด็นนี้ในวันนั้น

อับดุรเราะห์มาน บินอะบีไลลา กล่าวว่า “ฉันทันเจอกับชาวอันศอรซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์ของท่านศาสนทูต (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) จำนวน 120 ท่าน ไม่มีผู้ใดบอกหะดีษหนึ่ง ยกเว้นอยากให้ผู้อื่นบอกแทน ไม่มีผู้ใดให้คำฟัตวาเมื่อถูกถาม เว้นแต่อยากให้ผู้อื่นให้คำฟัตวาแทน”

อัลบัยฮะกีย์รายงานว่า อบูคอลดะฮ์ กล่าวกับรอบิอะฮ์ ว่า “โอ้รอบิอะฮ์ ฉันเห็นท่านให้คำฟัตวาแก่ผู้คน เมื่อมีคนมาถามท่าน สิ่งที่ท่านพึงตระหนัก มิใช่การทำให้เขาหายจากข้อกรณีที่สงสัย แต่พึงตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้ท่านหลุดพ้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำถามนั้นๆ”

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ข้าพเจ้ารู้จักอุลามาอ์ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและหลักการทางฟิกฮ์อย่างถ่องแท้จำนวนมากที่ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้โดยสิ้นเชิง พวกเขาเพียงพอกับคำฟัตวาที่ออกมาแล้ว หากคนเหล่านี้ออกมาพูด แน่นอนจะมีแต่เสียงชื่นชม พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ มีหลักการและคำอธิบายที่ชัดเจนแจ่มแจ้งและลึกล้ำอย่างที่สุด

ในหมู่นักวิชาการเหล่านั้น ข้าพเจ้าเห็นการประยุกต์ใช้จรรยาบรรณบรรพชนชาวสะลัฟที่ระมัดระวังและรู้ซึ้งถึงสถานภาพอันสูงส่งของการฟัตวาและการพูดในนามอัลลอฮ์
(จบตอนที่ 1 )

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

อ่านบทความต้นฉบับ https://blogs.aljazeera.net/blogs/2020/4/25/%D8%B5%D9%84%D8%A7%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D8%AA%D8%B1%D8%A7%D9%88%D9%8A%D8%AD-%D8%AE%D9%84%D9%81-%D8%A7%D9%84%D8%A8%D8%AB-%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%A8%D8%A7%D8%B4%D8%B1-%D8%A7%D9%84%D8%AF%D9%84%D8%A7%D9%84%D8%A7%D8%AA-%D9%88%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%A2%D9%84%D8%A7%D8%AA

ตะกอนความคิดรอมฎอน

ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น

หลายคนโพสต์รูปคนละหมาดที่มัสยิดหะรอมด้วยวิธีทิ้งระยะห่าง เพื่อสนับสนุนความคิดของตนว่า “แล้วทำไมบ้านเราทำเช่นนี้บ้างไม่ได้”

ผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้ครับ
1. เท่าที่ทราบมา มาตรการนี้ใช้เฉพาะมัสยิดหะรอมที่มักกะฮ์และมัสยิดนบีที่มะดีนะฮ์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับมัสยิดอัลอักศอที่บัยตุลมักดิส เพื่อธำรงไว้ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอิสลามเท่านั้น

2. การละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นเหตุในภาวะฉุกเฉินที่มีการพิจารณาในทุกแง่มุมอย่างละเอียดรอบคอบและมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน ทั้งการควบคุมจำนวนคน การตรวจสุขภาพ และจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้ละหมาด ตามหลักชะรีอะฮ์ที่กำหนดว่า “ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น”
الضرورة تقدر بقدرها

3.หากมาตรการยืนแถวโดยทิ้งระยะห่างได้ผลจริง ทางการน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปละหมาดในมัสยิดอีกนับหมื่นคน ซึ่งเชื่อว่า พื้นที่มัสยิดอันกว้างใหญ่ทั้ง 3 แห่งนี้ น่าจะเพียงพอรองรับผู้คนมากมายโดยใช้วิธีดังกล่าว

4. เท่าที่ทราบ ทางการซาอุฯหรือสำนักกิจการมัสยิดอัลอักศอ อนุญาตให้ละหมาดอย่างมีข้อจำกัดใน 3 มัสยิดนี้เท่านั้น และยังไม่เปิดกว้างให้ละหมาดในระดับประเทศหรือแม้กระทั่งในมัสยิดทั่วนครมักกะฮ์หรือนครมะดีนะฮ์ ทั้งๆที่มีมัสยิดใหญ่โตมากมายและมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง

5. เท่าที่ทราบ ยังไม่เห็นปฏิกิริยาของประชาชนชาวซาอุฯ หรือชาวบัยตุลมักดิส ที่ไม่พอใจกับมาตรการนี้ ยังไม่เห็นชาวมุสลิมที่อาศัยบริเวเณ 3 มัสยิดอันทรงเกียรตินี้ ออกชุมนุมหน้าประตูมัสยิดพร้อมกดดันรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาให้อนุญาตละหมาดในมัสยิดตามปกติหรือใช้วิธีทิ้งระยะห่างตามที่ได้ปฏิบัติมา

6. เข้าใจความหึงหวงของพี่น้องที่จะปกป้องรักษาอัตลักษณ์ของอิสลามให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป และความรู้สึกนี้ไม่มีใครถือลิขสิทธิ์เพียงเฉพาะตนหรือกลุ่มตนเท่านั้น เพียงแต่อย่าให้เป็นเพราะความหึงหวงต่อศาสนา ทำให้พี่น้องต้องแสดงอาการวู่วามโวยวาย ใช้คำพูดที่ทิ่มแทงความรู้สึกของคนอีกหลายคนโดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่และผู้นำหรือคนเห็นต่าง หากมีความจำเป็นที่จะต้องพูดหรือแนะนำ ก็ควรเลือกสรรคำพูดที่ดีๆ ดึงดูดผู้คนไม่ใช่ขับไล่ไสส่ง นึกถึงผลประโยชน์ในภาพรวม ไม่ใช่คำนึงถึงผลพลอยได้อันฉาบฉวย เพราะมารยาทอันงดงาม คือส่วนหนึ่งที่สำคัญของอัตลักษณ์ในอิสลามเช่นกัน สัจธรรมเป็นของอัลลอฮ์ ผู้รู้มีหน้าที่เผยแพร่และเชิญชวน แต่เขาไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามแม้กระทั่งนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติและจำเริญจงมีแด่ท่าน) ที่อัลลอฮ์กำชับเตือนให้ท่านทราบว่า “ ท่านไม่มีอำนาจใดๆที่จะบีบบังคับให้พวกเขาปฏิบัติตาม” (อัลฆอชิยะฮ์/22) เพราะหน้าที่ของท่านคือชี้แนะและเชิญชวน อัลลอฮ์เท่านั้นเป็นผู้คิดบัญชีและให้การตอบแทน

เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

อีหม่านอ่อน : โรคระบาดอันดับหนึ่ง

สมรภูมิที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่สมรภูมิที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกัน แต่เป็นการรบกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของเขาเองหรือที่รู้จักกันโดยมุสลิมทั่วไปว่า “ฮาวา นัฟซู” ประกอบไปด้วยความปรารถนา กิเลส ตัณหาต่างๆ การต่อสู้ครั้งนี้สำคัญใหญ่หลวง เพราะต้องเดิมพันกันด้วยสถานะชีวิตของคนๆนั้นเลยทีเดียว ดังนั้นจึงมีผู้เรียกสมรภูมิครั้งนี้ว่า “ญิฮาด อักบัร” หรือญิฮาดใหญ่
ญิฮาด อักบัร เป็นการต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่ภายในตัวมนุษย์เอง ด้วยลักษณะของศัตรูที่ซ่อนเร้นและอยู่ใกล้ชิดอย่างที่สุด เป็นผลให้การต่อสู้มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของมนุษย์
ความเข้าใจเบื้องต้นต่อกระบวนการต่อสู้กับ “ฮาวา นัฟซู” ในอิสลามก็คือ มันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆให้หมดไป แต่ต้องการเข้าไปควมคุมมันไว้และสั่งการมันได้ จึงไม่แปลกที่กระบวนการต่อสู้ไม่ได้มุ่งไปที่ “การทำลาย” แต่มุ่งไปที่ “การสยบและควบคุม”

เครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะจัดการตัวตนภายในก็คือ “หัวใจ” เพราะหัวใจคือ “ศูนย์รวม” ในการกำหนดทิศทาง เจตนารมณ์ต่างๆ หัวใจในที่นี้ไม่ใช่หัวใจที่เรารู้จักกันทางกายภาพ แต่มันหมายถึงหน่วยหลักในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หัวใจจำเป็นต้องได้รับ “พลัง” ที่อัดฉีดเข้าไปภายใน นั่นคือพลังที่เราเรียกว่า “อีหม่าน” หรือ “ศรัทธา”
อีหม่านจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างหัวใจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หัวใจเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตัวตนภายในได้ อีหม่านที่มีอยู่เพียงในระดับความคิดนั้น ไม่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของคนๆหนึ่งได้ อีหม่านจะต้องซึมซับเข้าสู่หัวใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่อีหม่านไม่ผ่านเข้าไปสู่หัวใจก็จะเกิดภาวะ “อีหม่านอ่อน” ขึ้น หรือเราจะเรียกได้ว่าเป็นโรคอีหม่านอ่อนหรือ โรคหัวใจแข็งกระด้าง

ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((إنَّ اْلإِيْمَانَ لَيَخْلُقُ فِيْ جَوْفِ أَحَدِكُمْ كَمَا يَخْلُقُ الْثَوْبُ فَأَسْأَلُوْا اللهَ أَنْ يُجَدِّدَ اْلإِيْمَانَ فِيْ قُلُوْبِكُمْ))
แท้จริงอีหม่านในหัวใจของพวกท่านคนหนึ่งคนใดจะทรุดโทรม เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเสื่อมสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงขอต่ออัลลอฮฺ เพื่อให้พระองค์ทำให้อีหม่านมีสภาพใหม่อยู่ในหัวใจของพวกท่าน [1]

((مَا مِنَ الْقُلُوْبِ قَلْبٌ إِلاَّ وَلَهُ سَحَابَةٌ كَسَحَابِةِ الْقَمَرِ ، بَيْنَا الْقَمَرُ مُضِيءٌ إِذْ عَلَتْهُ سَحَابَةٌ فَأَظْلَمَ ، إِذْ تَجَلَّتْ عَنْهُ فَأَضَا))
ไม่มีหัวใจดวงใด เว้นเสียแต่จะมีเมฆ(ที่จะมาบดบังมัน) เช่นเดียวกับเมฆ(ที่บดบัง)ดวงจันทร์ ขณะที่มันส่องแสงนั้น เมื่อมีเมฆมาบดบังมันๆก็จะมืดมิด เมื่อเมฆจากไป มันก็จะส่องสว่างอีกครา [2]
หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านอ่อนและกรอบความคิดในการบำบัดมันคือต้องรู้ว่าอีหม่าน(ความศรัทธา)ในทัศนะของอิสลามนั้นสามารถ “เพิ่ม” หรือ “ลด” ได้ สิ่งนี้เป็นหลักการมูลฐานในหลักยึดมั่นของ “อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ” อันเป็นกระแสหลักของประชาชาติอิสลามส่วนใหญ่ที่ยอมรับกัน

อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ นั้นถือว่าอีหม่านคือสิ่งที่กล่าวออกมาด้วยวาจา ยึดมั่นด้วยหัวใจ และมีการกระทำผ่านหลักปฏิบัติอิสลามต่างๆ อีหม่านสามารถ “เพิ่ม” ได้ด้วยการฏออะฮฺ(เชื่อฟังปฏิบัติตามหลักการอิสลาม)และ “ลด” ลงได้จากการฝ่าฝืน(หลักการอิสลาม) ดังมีหลักฐานที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัล กุรอานไว้หลายที่ ดังตัวอย่างเช่น

((لِيَزْدَادُوا إِيمَانًا مَعَ إِيمَانِهِمْ))
เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับการศรัทธาของพวกเขา[3]

มีข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้จากคำกล่าวของชาวสลัฟบางคนที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การให้ความสนใจต่ออีหม่านว่ามันลดไปได้อย่างไร? และส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง (ก็คือ) การที่เขารู้ว่าตอนนี้มันเพิ่มหรือลด?ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การรู้ถึงการล่อลวงของชัยฏอนเมื่อมันมายังเขา”

ต่อไปเราจะมาศึกษาอาการ สาเหตุ และนำไปสู่การบำบัดรักษาจนหายขาด อินชาอัลลอฮฺ

1. วิเคราะห์อาการอีหม่านอ่อน
อาการอีหม่านปรากฏทั้งภายในและภายนอก ปรากฏทั้งส่วนบุคคลและส่งผลร้ายต่อสังคม ผลกระทบของอีหม่านอ่อนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน(พร้อมตัวอย่าง) ดังต่อไปนี้

ด้านที่หนึ่ง : วิเคราะห์อาการจากพฤติกรรมทั่วไป
1. กระทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่างๆ
2. ทำอิบาดะฮฺอย่างลวกๆ
3. เกียจคร้านในการทำความดีทั้งหลาย
4. มองไม่เห็นค่าของความดีเล็กๆน้อยๆ และไม่เห็นอันตรายของความผิดเล็กน้อย
5. เอาแต่พูด แต่ไม่ค่อยกระทำ

ด้านที่สอง : วิเคราะห์อาการจากความรู้สึกภายใน
6. ยึดความรู้สึกตนเป็นใหญ่
7. หัวใจแข็งกระด้าง
8. อ่านอัล กุรอานอย่างไร้ความรู้สึก
9. รำลึกถึงอัลลอฮฺ แต่รู้สึกเฉย ๆ
10. คับแค้นใจ อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้า
11. ไม่รู้สึกโกรธ เมื่อมีการละเมิดในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม
12. กลัวทุกข์ภัยและปัญหาต่างๆที่ต้องประสบ

ด้านที่สาม: วิเคราะห์อาการจากความกระหายใคร่อยากต่าง ๆ
13. รักในชื่อเสียงและความโด่งดัง ตัวอย่างเช่น
13.1 กระหายตำแหน่งผู้นำ แข่งขันกันแสวงหาอำนาจ
13.2 เผด็จการในวงสนทนา คือชอบพูดข้างเดียว ไม่ชอบฟังคนอื่นพูด
13.3 ชอบให้ผู้คนยกย่อง ไม่พอใจหากไม่ได้รับคำเยินยอ
14. ตระหนี่ถี่เหนียว และมีความโลภ
15. หมกมุ่นกับโลกนี้
16. ใช้ชีวิตอย่างสำราญ

ด้านที่สี่: วิเคราะห์อาการจากความสัมพันธ์ทางสังคม
17. ไม่สนใจในกิจการของมุสลิม
18. มีความสุขกับความทุกข์ของพี่น้อง
19. ชอบทะเลาะถกเถียงกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ไม่สำคัญ
20. ชอบแบ่งเป็นฝักฝ่าย จนเกิดความแตกแยกระหว่างพี่น้องมุสลิม
21. ขาดสำนึกในการทำงานอิสลาม
เราสังเกตจากทั้ง 4 ด้าน จะพบว่าอีหม่านอ่อนไม่ได้เป็นเรื่อง “อ่อนๆ” แต่เป็นเรื่อง “หนักหนา” เพราะไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้เข้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมอีกด้วย

2. สาเหตุหลัก
อีหม่านอ่อนมี “เหตุ” มาจากหลายด้าน ด้านหลัก ๆ ของมัน ประกอบไปด้วย
หนึ่ง – สัมผัส , สอง – ห่างไกล , สาม – หมกมุ่น ดังต่อไปนี้

หนึ่ง – สัมผัส
1. สัมผัสอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป เช่น อยู่ในวงคอนเสริต์คาราบาว หรือนั่งดูมิวสิควิดีโอวง Girly Berry

สอง – ห่างไกล
1. ห่าง ไกลจากผู้คนแห่งอีหม่าน คือการไม่คบหากับคนดี ๆ
2. ห่างไกลจากการแสวงหาความรู้ เช่น ปี ๆ หนึ่งแทบจะไม่เคยฟังบรรยายธรรมเลย แม้แต่วันศุกร์ ก็ไปตอนเขากำลังจะละหมาดแล้ว

สาม – หมกมุ่น
1. หมกมุ่นอายุของชีวิต คือ คิดว่าตัวเองจะมีอายุอยู่ยืนนาน วางแผนจะหาแต่ความสุขในดุนยา ไม่คิดจะตายในเร็ว ๆ นี้
2. หมกมุ่นอยู่กับโลกนี้ เช่น ทรัพย์สิน การหาเงินทอง การแข่งขันกันเรื่องลูกหลาน
3. หมกมุ่นอยู่กับเพศตรงข้าม เช่น เรื่องการมีแฟน การหมดเวลาไปกับการสร้างเสน่ห์แก่เพศตรงข้าม

3. วิธีบำบัดขั้นพื้นฐาน
การบำบัดพื้นฐาน ต้องเข้าไปแก้ไข “เหตุ” หลัก ๆ ของมันทั้งสามด้าน ดังนั้นการบำบัดพื้นฐานก็ประกอบไปด้วย 3 ด้านเช่นกัน คือ
หนึ่ง – แยกทาง , สอง – ใกล้ชิด, สาม – รำลึก
แยกทาง 1. แยกทางกับสิ่งแวดล้อมที่บาป คือตัดขาดกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ต้อง “ฏอลาก”(หย่า) เอาแบบหย่า 3 เลยยิ่งดี
ใกล้ชิด
1. ใกล้ชิดกับผู้คนแห่งอีหม่าน คือหันมาคบหาสมาคมกับคนดี ๆ เข้าร่วมกลุ่มคนทำงานอิสลามด้วยยิ่งดีใหญ่
2. ใกล้ชิดกับความรู้อิสลาม เช่น หาที่เรียนอิสลามเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามที่องค์กรต่าง ๆจัดขึ้น
รำลึก
1. รำลึกถึงความตาย เช่น เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมกุบูรฺ เป็นต้น
2. รำลึกถึงความต่ำต้อยของโลกนี้ คือการครุ่นคิดถึงชีวิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่แน่นอนของโลกนี้
3. รำลึกถึงวันสิ้นโลก และชีวิตหลังความตาย(คำแนะนำ ศึกษาง่าย ๆ จากความหมายอัล-กุรอานในยูซอัมมา)
การบำบัดทั้งสามด้านนี้เป็นการ “แยกทาง” กับพื้นที่ที่ทำให้ติดเชื้ออีหม่านอ่อน แล้วนำตัวเองไป “ใกล้ชิด” หรืออยู่อาศัยในเขตปลอดเชื้อ และจัดระบอบความคิดใหม่ ด้วยการ “รำลึก” สิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยขจัดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ พร้อม ๆ กับนำไปสู่การบำบัดที่ยั่งยืนต่อไป

4. วิธีบำบัดรักษาระยะยาว
การบำบัดรักษาระยะยาว คือการเสริมสร้างอีหม่านให้แข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัย “กระบวนการ” ที่เอาจริงเอาจัง ในที่นี่ขอแนะนำการการฝึกอบรมที่เข้มข้นใน 3 เรื่องต่อไปนี้

4.1 ให้หัวใจเข้าหาอัล-กุรอาน
ท่านอิบนุ กอยยิม ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับนำหัวใจกลับสู่อัล-กุรอานเอาไว้ว่า
“มีพื้นฐาน 2 ข้อ(ในการรักษาอาการอีหม่านอ่อน)ที่ขาดเสียมิได้ หนึ่งก็คือให้ท่านเคลื่อนหัวใจของท่านจากที่พำนักในโลกนี้ และให้มันไปสถิตอยู่ในที่พำนักแห่งโลกหน้า หลังจากนั้นให้นำหัวใจของท่านทั้งหมดจดจ่ออยู่กับความหมายอัล กุรอานและความกระจ่างในนั้น เพ่งพินิจและสร้างความเข้าใจในความมุ่งหมายของมัน ว่ามันถูกประทานมาเพื่อเป้าหมายอันใด นำตัวท่านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุก ๆ อายะฮฺ แล้วกำหนดมันให้เป็นยาเพื่อบำบัดหัวใจของท่าน เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกนำไปเป็นยาบำบัดหัวใจของท่านแล้ว หัวใจของท่านก็จะปราศจากโรคร้าย ด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ “

การบำบัดของอัล-กุรอานนั้น ต้องนำหัวใจไปอยู่กับความหมายที่ลึกซึ้งของมัน ท่านนบีเคยใคร่ครวญความหมายในอัล กุรอาน โดยท่านได้อ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะที่กำลังยืนขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน(ละหมาดกิยามุล ลัยลฺ)
ท่านอบูบักรเป็นผู้ชายที่นุ่มนวล มีจิตใจที่อ่อนโยน เมื่อท่านนำผู้คนละหมาด และอ่านดำรัสของอัลลอฮฺจากอัล กุรอาน ท่านไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการร้องไห้ได้
แน่นอนที่สุด บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีนั้น อ่านอัล กุรอาน เพ่งพิจารณาเนื้อหาในนั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา …

อัล กุรอานนั้น เป็นยาบำบัดที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ดังที่อัลลอฮฺได้ยืนยันไว้ว่า
((وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ))
และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัล กุรอานลงมาซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา[4]

4.2 ให้หัวใจผูกพันกับอัลลอฮฺ
ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้กล่าวว่า “ในหัวใจที่แข็งกระด้าง ไม่สามารถทำให้อ่อนโยนได้อีก เว้นแต่ด้วยการซิกรฺ ฉะนั้น บ่าวคนหนึ่งที่ต้องการเยียวยาอาการหัวใจแข็งกระด้างก็ให้ใช้การซิกรฺเถิด

ชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านฮะซัน อัล บัศรียฺว่า ‘โอ้ อบูสะอีด ฉันมาร้องทุกข์กับท่านเรื่องหัวใจที่แข็งกระด้างของฉัน’ ท่านตอบว่า ‘จงทำให้มันอ่อนด้วยการซิกรฺเถิด’ เพราะว่าหัวใจที่ยิ่งเพิกเฉยเท่าไร ก็ยิ่งแข็งกระด้างมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อมีการซิกรฺ หัวใจดวงนั้นก็อ่อนโยน เสมือนกับการเทตะกั่วลงไปในไฟ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ทำให้หัวใจอ่อนโยนเท่ากับการซิกรฺ และการซิกรฺนั้นเป็นการบำบัดและเป็นยารักษาหัวใจ การเพิกเฉยต่อมันเป็นโรค ยาและการรักษามันก็คือการซิกรฺ
ท่านมะฮูลได้กล่าวว่า ‘ซิกรฺ – การรำลึกถึงอัลลอฮฺ – นั้นเป็นการเยียวยา ส่วนการรำลึกถึงผู้คนนั้นเป็นโรค'” (อ้างจากอัล วาบิล อัศ เศาะยิบ และเราะฟิอฺ อัล กะลิม อัฏ ฏอยยิบ 142)

ชาวสลัฟบางคนได้กล่าวว่า “เมื่อซิกรฺสามารถเข้าไปฝังรากอยู่ในหัวใจแล้ว ถ้าชัยฏอนเข้ามาเมื่อใดเขาก็สามารถเอาชนะมันได้ ดังที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำให้ชัยฏอนที่เข้าใกล้เขาพ่ายแพ้ไป จากนั้นบรรดาชัยฏอนทั้งหลายต่างก็มารวมตัวกันรอบๆรอบตัวชัยฏอนตนนั้น พวกมันกล่าวว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับเขา?’ มีเสียงกล่าวขึ้นมาว่า ‘มันได้รับอันตรายจากมนุษย์!'” (คัดจากมะดาริจญฺ อัส ซาลิกีน 2/424)

ซิกรฺมีคุณประโยชน์มากมาย ดังปรากฏทั้งในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ รวมทั้งคำแนะนำมากมายของเหล่าอุละมาอ์ชั้นนำของโลกมุสลิม กล่าวได้ว่า ไม่มีคนใดที่ต้องการความสุขแห่งชีวิต ไม่มีใครต้องการหัวใจที่นิ่งสงบ โดยปราศจากการซิกรฺได้
อัลลอฮฺได้ยืนยันถึง หัวใจที่ “มุฏมะอินนะฮฺ”(สุขสงบ) ก็ด้วยการ “ซิกรฺ” เท่านั้น
((أَلاَ بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ))
พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ [5]

4.3 เติมเต็มเวลาด้วยความดี
พฤติกรรมของผู้ที่มีอีหม่านที่สมบูรณ์นั้น คือการบูรณาการชีวิตทั้งหมดสู่ระบอบอิสลาม ดังนั้น ผู้ที่มีอีหม่านจึงนำความดีจากคำสอนอิสลามเติมเต็มลงสู่เวลาอย่างไม่มีช่องว่าง

การเติมเต็มดังกล่าวจึงต้องมีหลักการและศิลปะ ซึ่งอิสลามได้วางเรื่องนี้ไว้ 6 ประการ

1) เร่งรีบ – การทำความดี ไม่ควร “ตั้งท่า”มาก[6] และไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((‏التُّؤَدَةُ ‏ ‏فِي كُلِّ شَيْءٍ إِلَّا فِي عَمَلِ الْآخِرَةِ))
การไม่ผลีผลามอยู่ในทุกสิ่ง ยกเว้นในการงานเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ(ให้รีบเร่งในการทำความดี)[7]

2) เกาะติด – ทำต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม
มีรายงานว่า
((‏ سُئِلَ النَّبِيُّ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏أَيُّ الْأَعْمَالِ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ قَالَ ‏ ‏أَدْوَمُهَا وَإِنْ قَلَّ))
เมื่อท่านนบีฯ ถูกถามว่า “การงานใดที่อัลลอฮฺรักมากที่สุด?” ท่านตอบว่า “สิ่งที่กระทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม”[8]

3) ทุ่มเท – ทำอย่างสุดกำลังกาย กำลังใจ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการทุ่มเทของบรรดาวะลียฺ(บ่าวที่พระองค์รัก)ในการกระทำอิบาดะฮฺไว้หลายๆที่ เช่น
((‏ كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ))
พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)[9]

4) ผ่อนคลาย – ต้องเรียนรู้ศิลปะการผ่อนกำลังจะทำให้รู้สึกดีและไม่อ่อนล้า
ท่านนบีฯ กล่าวว่า
((‏ إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ وَلَنْ ‏ ‏يُشَادَّ ‏ ‏الدِّينَ أَحَدٌ إِلَّا ‏ ‏غَلَبَهُ ‏فَسَدِّدُوا ‏ ‏وَقَارِبُوا))
แท้จริง ศาสนานั้นง่ายดาย จะไม่มีใครสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนักหน่วงได้โดยไม่ลดหย่อน เว้นแต่ศาสนาจะชนะเขา(เขาไม่สามารถจะทำได้) ดังนั้นจงแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง และจงอยู่ในทางสายกลาง[10]

5) ชดเชย – หากพลาดไป ต้องหาทางชดเชย เพื่อไม่ให้เสียนิสัย
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((‏ مَنْ نَامَ عَنْ ‏ ‏حِزْبِهِ ‏أَوْ عَنْ شَيْءٍ مِنْهُ فَقَرَأَهُ فِيمَا بَيْنَ صَلَاةِ الْفَجْرِ وَصَلَاةِ الظُّهْرِ كُتِبَ لَهُ كَأَنَّمَا قَرَأَهُ مِنْ اللَّيْلِ))
ใครก็ตามที่นอนหลับไป โดยลืมบางส่วนของอัล กุรอานที่เคยอ่านตอนกลางคืนหรือส่วนหนึ่งจากอัล กุรอาน ต่อจากนั้นเขาได้อ่านมันระหว่างละหมาดฟัจญฺ(ศุบฮฺ) และละหมาดซุฮรฺ ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขา เสมือนกับที่เขาได้อ่านมันในยามค่ำคืน[11]

6) หวังการตอบรับ – จิตมุ่งตรงสู่อัลลอฮฺ, ไม่โอหัง, หวั่นเกรงว่าอัลลอฮฺจะไม่รับ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
((‏ سَأَلْتُ رَسُولَ اللَّهِ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏عَنْ هَذِهِ الْآيَةِ وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوْا وَقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ ‏قَالَتْ ‏‏عَائِشَةُ‏ ‏أَهُمْ الَّذِينَ يَشْرَبُونَ الْخَمْرَ وَيَسْرِقُونَ قَالَ لاَ يَا بِنْتَ ‏‏الصِّدِّيقِ ‏وَلَكِنَّهُمْ ‏ ‏الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا يُقْبَلَ مِنْهُمْ أُولَئِكَ الَّذِينَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ))
ฉันได้ถามท่านเราะซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับอายะฮฺที่ว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรง(อัล กุรอาน23:60) โดยถามว่า ‘พวกเขาคือผู้ที่ดื่มสุราและลักขโมยหรือ?’ ท่านเราะซูลตอบว่า ‘ไม่ โอ้บุตรสาวของ อัศ ศิดดีกฺ แต่ว่าพวกเขาถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ว่าพวกเขากลัวว่าการงานพวกเขาจะไม่ถูกรับ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย(อัล กุรอาน23:61)[12]
หวังว่า คำแนะนำที่กล่าวมาทั้งหมดพอจะเป็นแนวทางให้พวกเรานำไปสู่การบำบัดรักษาโรค “อีหม่านอ่อน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

ที่มา : https://message2muslim.blogspot.com/2010/05/blog-post_6714.html

เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19 จะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?

#เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19
#เราจะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?

คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าพวกเขาควรจะจัดครอบครัวและเพื่อนบ้านของพวกเขาบางคนร่วมกันละหมาดวันศุกร์แบบเล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาอันเนื่องจากการปิดลงของมัสยิด บางคนถามอีกว่าพวกเขาสามารถฟังไลฟ์สดคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) จากมัสยิด แล้วละหมาดวันศุกร์ตามจากบ้านของตัวเองได้หรือไม่?

ฟัตวา (คำวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาศาสนา) ที่ผู้มีอำนาจและผู้มีความรู้ให้นั่นคือ ทั้งสองแบบนั้นไม่เป็นที่อนุญาตอย่างแน่นอน และครอบครัวหรือปัจเจกบุคคลที่อยู่บ้านจะต้องละหมาดซุฮ์รี 4 เราะกะอะฮ์แทนละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ตามเหตุผลดังต่อไปนี้:

1. โดยทั่วไปแล้วการละหมาดวันศุกร์จะปฏิบัติกันที่มัสยิดกลางของชุมชน (หรือที่เรียกว่ามัสญิด อัล-ญามิอฺ) เฉพาะในชุมชนที่ไม่มีมัสญิดเท่านั้นที่สามารถกระทำได้อันเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องไปละหมาดในพื้นที่อื่น ๆ ถ้ามัสยิดปิดด้วยเหตุผลซึ่งชอบธรรมตามหลักการ เราไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดวันศุกร์วงย่อย ๆ นับร้อยทดแทนกันได้

2. เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์คือการรวมตัวคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ตามความเหมาะสม นั่นคือเหตุผลที่เรียกว่า ‘ญุมอะฮ์’ (วันศุกร์) จากภาษาอาหรับที่หมายถึง ‘การชุมนุม’ (ญัมอฺ) ซึ่งเรื่องนี้ลำพังเพียงแค่ครอบครัวเดียวก็ไม่สามารถกระทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของญุมอะฮ์ได้

3. บรรดาผู้รู้เห็นพ้องกันว่าผู้คนที่ได้รับการยกเว้นจากละหมาดวันศุกร์ (เช่น คนป่วย คนเดินทาง หรือคนที่ถูกระงับด้วยเหตุผลจำเป็นบางประการ) ว่าจะต้องทำการละหมาดซุฮ์รีแทน แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนการละหมาดวันศุกร์ปกติมาเป็นการละหมาดวันศุกร์วงเล็ก ๆ ตามสถานะและสถานที่ของพวกเขา

4. สำหรับกรณีของโควิด-19 วัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยมิให้มีการรวมตัวละหมาดวันศุกร์นั้นก็เพื่อที่จะลดจำนวนการรวมตัวของมวลชนลง ซึ่งจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หากผู้คนเริ่มเชิญชวนให้มีการจัดละหมาดวันศุกร์เล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาเองโดยมีเพื่อนบ้านทยอยกันมาร่วม เหตุผลโดยรวมของการหยุดชั่วคราวครั้งนี้ก็เพื่อที่ต้องการจัดระยะห่างทางสังคม ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงสามารถละหมาดซุฮ์รีร่วมกันเป็นญะมาอะฮ์แทนได้ เนื่องจากพวกเขาอาศัยร่วมกันอยู่แล้ว หากแต่การเชิญชวนครอบครัวอื่นมาร่วมละหมาดวันศุกร์นั่นมิอาจตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยนี้แต่อย่างใด

5. สำหรับการติดตามคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) แบบไลฟ์สด ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ผู้คนฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายในช่วงเวลาใดก็ได้ตามที่ตนสะดวก … มันย่อมเป็นการดีเสมอที่จะคอยตักเตือนตนเองด้วยคำแนะนำทางจิตวิญญาณผ่านการฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายศาสนาต่าง ๆ ซึ่งการฟังคุฏบะฮ์แบบออนไลน์นั้นมิได้ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวกันแต่อย่างใด ขณะที่การละหมาดนั้นเราไม่สามารถกระทำการละหมาดทางไกลได้ หากเรายืนอยู่ห่างจากอิหม่าม (ผู้นำละหมาด) เป็นระยะหลายกิโลเมตร … ด้วยกับความรู้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามีถือว่าไม่มีทรรศนะที่ขัดแย้ง (คิลาฟ) กันในประเด็นนี้

สุดท้ายนี้ เราทุกคนล้วนโหยหาการละหมาดวันศุกร์ด้วยหัวใจที่โศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ดังที่ทราบกันดีจากข้อมูลที่ได้รับจากหะดีษของท่านนบีว่า เราจะยังคงได้รับผลบุญของการงานใดก็ตามที่เป็นการงานที่ดีแม้ว่าเราจะถูกยับยั้งไม่ให้กระทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉะนั้นเราจะต้องให้กำลังใจตนเองด้วยกับความจริงที่ว่า ผู้ที่ร่วมละหมาดวันศุกร์เป็นประจำและมุ่งหวังที่จะกระทำมันอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะได้รับผลบุญของการละหมาดแม้จะมีอุปสรรคมาขวางกั้นมิให้พวกเขาสามารถรวมตัวกันละหมาดวันศุกร์ก็ตาม

อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

| ชัยค์ ยาสิร กอฎีย์

Reference: http://tiny.cc/bknwlz

Cr.Book Station