บทความ ประวัติศาสตร์

การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453

วิพากษ์หนังสือ
فتح القسطنطينية 857 هـ/1453م
(การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453)
ผู้เขียน ดร.ฟัยศ็อล อับดุลลอฮฺ อัลกันดะรีย์
สำนักพิมพ์ มักตะบะฮฺ อัลฟะลาหฺ คูเวต

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนด้วยภาษาอาหรับ โดย ดร.ฟัยศ็อล อัลกันดะรีย์ อาจารย์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคูเวต หน้าปกด้านบนประกอบด้วยภาพวาดส่วนหัวของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง หรือมุหัมมัด อัลฟาติหฺตั้งอยู่ด้านขวาของพยางค์แรกของชื่อหนังสือที่ว่า “ฟัตหุ” ที่แปลว่า “การพิชิต” และตามด้วยพยางค์ที่สองที่ว่า “อัลกุสฏอนฏีนียะฮฺ” ที่แปลว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิล” ซึ่งเท่ากับเป็นการสื่อให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงเนื้อหาโดยรวมของหนังสือว่าสุลต่านมุหัมมัดที่สองคือผู้ที่พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างแท้จริง ส่วนด้านล่างเป็นภาพมัสยิดอะยาโซเฟียซึ่งตั้งอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงอิสตันบูลในปัจจุบัน อันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ เพราะสุลต่านมุหัมมัดได้ใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศสันติภาพแก่บรรดานักบวชคริสต์และชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลทุกคน ซึ่งนับว่าเป็นการบรรยายถึงสภาพของการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้อย่างรวบรัดและดีเยี่ยม เพียงลักษณะของปกนอกผู้อ่านก็สามารถจินตนาการและเข้าถึงเนื้อหาโดยรวมได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือปกแข็ง มีขนาด 18×25 ซม. เนื้อหามีจำนวน 216 หน้า ประกอบด้วย 2 ภาคไม่รวมบทนำ
ผู้เขียนได้ชี้แจงถึงแนวทางการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า จะใช้วิธีนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความพยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของชาวมุสลิมควบคู่กับการวิจารย์ต่อความพยายามแต่ละครั้ง นับตั้งแต่ความพยายามครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 699) จนกระทั่งความพยายามครั้งสุดท้ายที่สามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453)
เนื่อหาโดยสรุปของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย บทนำ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายอย่างรวบรัดถึงประวัติความเป็นมาของกรุงคอนสแตนติโนเปิลว่าเดิมทีเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก ก่อนที่จะถูกพิชิตลงและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูลจนกระทั่งปัจจุบัน และสาธยายถึงความสำคัญด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ลำบากยิ่งแก่การบุกโจมตี จนกลายเป็นที่หมายปองของบรรดามหาอำนาจและนักล่าอาณานิคม ถึงขนาดนาโปเลียนกล่าวย้ำว่า “คอนสแตนติโนเปิลเปรียบเสมือนกุญแจโลก ผู้ใดที่สามารถครอบครองมัน เขาก็จะสามารถครอบครองโลกทั้งผอง”

ภาคแรก ผู้เขียนได้แบ่งความพยายามในการพิชิตดังกล่าวออกเป็นสามช่วง คือ
ส่วนแรก เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอะมะวียะฮฺ ซึ่งได้มีการปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลจำนวนสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 668) ภายใต้การนำทัพของยะซีด บิน มุอาวิยะฮฺ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน ผู้เป็นบิดา มีเศาะหาบะฮฺหลายท่านที่ทำสงครามในครั้งนี้ อาทิ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส อับดุลลอฮฺ บิน ซุเบร หุเสน บิน อาลี และอบูอัยยูบ อัล-อันศอรีย์ ซึ่งต่อมาท่านได้เสียชีวิตลงที่นี่
การปิดล้อมดังกล่าวได้ยืดเยื้อกินเวลาถึงแปดปีเต็ม จนเป็นที่รู้จักกันในนามของสงครามแปดปี จนสุดท้ายกองทัพมุสลิมจำเป็นต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะหลังจากที่ต้องสูญเสียกำลังพลร่วม 30,000 คน
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิกปี ฮ.ศ. 99 (ค.ศ. 717) ภายใต้การนำทัพของมัสละมะฮฺ บิน อับดุลมะลิก โดยได้กรีฑาทัพด้วยจำนวนพลมากกว่า 120,000 นาย แต่หลังจากที่กองทัพมุสลิมได้ปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลเกือบครบหนึ่งปี สุดท้ายกองทัพมุสลิมก็ต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะ เนื่องจากการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของเคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก และมีคำสั่งจากเคาะลีฟะฮฺคนใหม่ (อุมัร บิน อับดุลอะซีซ) ให้ถอนทัพกลับ หลังจากที่พบว่ากองทัพมุสลิมต้องประสบกับโรคระบาดและได้สูญเสียกำลังพลจำนวนมาก

ผู้เขียนได้สรุปถึงสาเหตุและปัญหาที่ทำให้กองทัพมุสลิมที่นำโดยมัสละมะฮฺต้องพ่ายแพ้และถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะว่า
1. กำแพงที่หนาแน่นและแข็งแกร่งที่ปิดล้อมทุกด้านของกรุงคอนสแตนติโนเปิลอยู่ ทำให้กองทัพมุสลิมไม่สามารถที่จะทลวงเข้าไปได้
2. สภาพที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่รายล้อมด้วยทะเลทั้งสามด้านทำให้ยากต่อการโจมตี
3. อิทธิพลทางทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการทางการทหาร โดยเฉพาะทางทะเล เนื่องจากเป็นช่วงที่มีลมแรงจนไม่สามารถบังคับเรือให้แล่นตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกชุกจนกองทัพไม่สามารถรุกลั้มเข้าไปโจมตีเป้าหมายได้
4. กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้รับการสนับสนุนทางทหารจากประเทศในแถบยุโรป เช่น บัลแกเรีย ทำให้กองทัพของมัสละมะฮฺต้องสังเวยไปจำนวน 22,000 นาย
5. การเสียชีวิตของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก ทำให้กองทัพเสียขวัญและไม่มีกำลังใจที่จะทำสงครามอีกต่อไป

ส่วนที่สอง เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสองครั้งเช่นกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 165 (ค.ศ. 781) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ อัลมะฮฺดี ภายใต้การนำทัพของบุตรชายฮารูน อัรเราะชีด และการปิดล้อมสิ้นสุดด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึก โดยผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมจ่ายเงินจำนวน 70,000 หรือ 90,000 ดีนารต่อปีเพื่อแลกกับสันติภาพ
ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 190 (ค.ศ. 805) เป็นการยกทัพของฮารูน อัรเราะชีด ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และได้ทำการปิดล้อมเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนสุดท้ายผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมเจรจาและทำหนังสัญญาสงบศึกด้วยการจ่ายส่วยเป็นจำนวนเงิน 50,000 ดีนาร

และส่วนที่สาม เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพเพื่อพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสี่ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 798 (ค.ศ. 1396) ในสมัยการปกครองของสุลต่านบายะซีดที่หนึ่ง แต่กองทัพอุษมานียะฮฺปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ไม่นานก็ต้องถอยทัพกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับกองทัพครูเสดที่ยกทัพมาเพื่อช่วยเหลือกรุงคอนสแตนติโนเปิล
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 825 (ค.ศ. 1422) ในสมัยการปกครองของสุลต่านมุรอดที่สอง ชนวนของเหตุการณ์เกิดจากการที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเขียนหนังสือถึงสุลต่านมุรอดขอร้องไม่ให้โจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่สุลต่านปฏิเสธ ดังนั้นกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงมุสตอฟาผู้เป็นอาของสุลต่าน และมอบกองทหารพร้อมอาวุธจำนวนหนึ่งเพื่อให้ช่วงชิงบัลลังก์มาจากสุลต่านในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเสนอชื่อให้เป็นสุลต่านแทนมุรอด สุดท้ายสุลต่านมุรอดก็สามารถกำราบมุสตอฟาลงด้วยการกรีฑาทัพจำนวน 200,000 นาย
และครั้งที่สามเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง ซึ่งสามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453) โดยผู้เขียนได้เน้นรายละเอียดของความพยายามในครั้งสุดท้ายนี้ที่นำทัพโดยสุลต่านมุหัมมัดที่สอง เพื่อให้ได้ประจักษ์ถึงสาเหตุที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ หลังจากชาวมุสลิมได้ล้มเหลวมาแล้วถึงเจ็ดครั้ง
ก่อนที่จะก้าวไปยังภาคที่สอง ผู้เขียนได้ตบท้ายภาคแรกด้วยภาคผนวกที่ประกอบด้วย 6 ภาคผนวก ทั้งหมดเป็นสารที่สุลต่านมุหัมมัด อัล-ฟาติหฺส่งไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และสารตอบกลับเพื่อแสดงความยินดีกับสุลต่านมุหัมมัดจากเจ้าเมืองต่างๆ อันประกอบด้วย เจ้าเมืองแห่งอียิปต์ เจ้าเมืองแห่งมักกะฮฺ และเจ้าเมืองแห่งอิหร่าน

ส่วนภาคที่สอง ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาที่แปลมาจากบันทึกประจำวันของแพทย์ผ่าตัดชาวอิตาลีท่านหนึ่งมีชื่อว่า นิโคโล บัรบะโร (Nicolo Barbaro) ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในสมัยที่สุลต่านมุหัมมัดที่สองกำลังปิดล้อมและพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือยิ่ง ซึ่งได้จากผู้ที่เห็นเหตุการณ์และอยู่ในเหตุการณ์จริง และส่วนหนึ่งที่นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งของบันทึกบัรบาโรคือ รายชื่อต่างๆของผู้ที่ร่วมทำสงครามเพื่อปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิล และรายชื่อของเรือ พร้อมกับกัปตันเรือ
จุดเด่นที่เพิ่มคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้ ประการหนึ่งคือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ ผู้เขียนมักจะระบุเสมอว่าตรงกับปีใดของคริสต์ศักราช เช่นเดียวกับรายชื่อของเมืองต่างๆ และบุคคลที่ถูกกล่าวถึงผู้เขียนจะกำกับด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ที่สำคัญ ผู้เขียนยังอธิบายคำศัพท์บางคำไว้ที่เชิงอรรถด้วย รวมถึงรายละเอียดโดยย่อของบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึง ว่ามีชื่อเต็มว่าอย่างไร เกิดเมื่อไหร่ เสียชีวิตปีใด และมีตำแหน่งอะไรเป็นต้น ซึ่งน้อยมากที่เราจะพบหนังสือประวัติศาสตร์อิสลามที่ได้รับการกำกับอย่างนี้

ส่วนจุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มราศีและความขลังของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนจะสอดแทรกคำอธิบายด้วยภาพประกอบต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ เช่นแผนผังที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และกำแพงเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แผนผังยุทธวิธีการโจมตีและที่ตั้งของกองทหาร เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ และเพิ่มความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างดีเยี่ยม
และจุดเด่นที่ผู้วิพากษ์คิดว่าเป็นหน้าตาและมีความสำคัญที่สุดสำหรับงานเขียนประวัติศาสตร์คือการวิพากษ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนทำได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์ด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งที่มา หรือการจรรโลงข้อมูลเข้าด้วยกันในกรณีที่พบการบันทึกที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งเกี่ยวกับจำนวนของกองทัพมุสลิมที่นำทัพโดยมัสละมะฮฺว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่า “นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่ามีจำนวน 120,000 นาย ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า มีจำนวนถึง 180,000 นาย” แล้วผู้เขียนกล่าวสรุปว่า “ตามที่มีบันทึกในแหล่งอ้างอิงภาษาอาหรับ (หมายถึงหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม) เราสามารถกล่าวได้ว่า จำนวนกองทัพมุสลิมมีมากกว่า 120,000 นาย” เป็นต้น

ในส่วนของแหล่งอ้างอิง ก็ต้องขอชมเชยผู้เขียนที่ได้ผสมผสานระหว่างแหล่งอ้างอิงที่มาจากหนังสือภาษาอาหรับที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์มุสลิมกับแหล่งอ้างอิงภาษาอื่นๆที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นแหล่งอ้างอิงภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับแล้ว ทำให้เพิ่มคุณค่าและน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลมากยิ่งขึ้น

จุดเดียวที่ผู้วิพากษ์เห็นว่า เป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ การสร้างเชิงอรรถของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเลือกทำเชิงอรรถในส่วนท้ายหลังจากที่จบภาคไปแล้ว ทำให้เกิดความยุ่งยากและรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ที่เชิงอรรถ ซึ่งหนังสือทั่วไปมักจะเขียนเชิงอรรถไว้ด้านล่างของของแต่ละหน้าทันที ทำให้สะดวกต่อการติดตาม
ในการปิดท้ายของการวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ ผู้วิพากษ์ขอกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่งที่เรืองด้วยข้อมูลและแหล่งอ้างอิงที่หลากหลาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

วิพากษ์โดย Ibn Idris Al Yusof