ตะกอนความคิด บทความ

ตะกอนความคิดรอมฎอน

ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น

หลายคนโพสต์รูปคนละหมาดที่มัสยิดหะรอมด้วยวิธีทิ้งระยะห่าง เพื่อสนับสนุนความคิดของตนว่า “แล้วทำไมบ้านเราทำเช่นนี้บ้างไม่ได้”

ผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้ครับ
1. เท่าที่ทราบมา มาตรการนี้ใช้เฉพาะมัสยิดหะรอมที่มักกะฮ์และมัสยิดนบีที่มะดีนะฮ์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับมัสยิดอัลอักศอที่บัยตุลมักดิส เพื่อธำรงไว้ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอิสลามเท่านั้น

2. การละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นเหตุในภาวะฉุกเฉินที่มีการพิจารณาในทุกแง่มุมอย่างละเอียดรอบคอบและมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน ทั้งการควบคุมจำนวนคน การตรวจสุขภาพ และจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้ละหมาด ตามหลักชะรีอะฮ์ที่กำหนดว่า “ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น”
الضرورة تقدر بقدرها

3.หากมาตรการยืนแถวโดยทิ้งระยะห่างได้ผลจริง ทางการน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปละหมาดในมัสยิดอีกนับหมื่นคน ซึ่งเชื่อว่า พื้นที่มัสยิดอันกว้างใหญ่ทั้ง 3 แห่งนี้ น่าจะเพียงพอรองรับผู้คนมากมายโดยใช้วิธีดังกล่าว

4. เท่าที่ทราบ ทางการซาอุฯหรือสำนักกิจการมัสยิดอัลอักศอ อนุญาตให้ละหมาดอย่างมีข้อจำกัดใน 3 มัสยิดนี้เท่านั้น และยังไม่เปิดกว้างให้ละหมาดในระดับประเทศหรือแม้กระทั่งในมัสยิดทั่วนครมักกะฮ์หรือนครมะดีนะฮ์ ทั้งๆที่มีมัสยิดใหญ่โตมากมายและมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง

5. เท่าที่ทราบ ยังไม่เห็นปฏิกิริยาของประชาชนชาวซาอุฯ หรือชาวบัยตุลมักดิส ที่ไม่พอใจกับมาตรการนี้ ยังไม่เห็นชาวมุสลิมที่อาศัยบริเวเณ 3 มัสยิดอันทรงเกียรตินี้ ออกชุมนุมหน้าประตูมัสยิดพร้อมกดดันรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาให้อนุญาตละหมาดในมัสยิดตามปกติหรือใช้วิธีทิ้งระยะห่างตามที่ได้ปฏิบัติมา

6. เข้าใจความหึงหวงของพี่น้องที่จะปกป้องรักษาอัตลักษณ์ของอิสลามให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป และความรู้สึกนี้ไม่มีใครถือลิขสิทธิ์เพียงเฉพาะตนหรือกลุ่มตนเท่านั้น เพียงแต่อย่าให้เป็นเพราะความหึงหวงต่อศาสนา ทำให้พี่น้องต้องแสดงอาการวู่วามโวยวาย ใช้คำพูดที่ทิ่มแทงความรู้สึกของคนอีกหลายคนโดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่และผู้นำหรือคนเห็นต่าง หากมีความจำเป็นที่จะต้องพูดหรือแนะนำ ก็ควรเลือกสรรคำพูดที่ดีๆ ดึงดูดผู้คนไม่ใช่ขับไล่ไสส่ง นึกถึงผลประโยชน์ในภาพรวม ไม่ใช่คำนึงถึงผลพลอยได้อันฉาบฉวย เพราะมารยาทอันงดงาม คือส่วนหนึ่งที่สำคัญของอัตลักษณ์ในอิสลามเช่นกัน สัจธรรมเป็นของอัลลอฮ์ ผู้รู้มีหน้าที่เผยแพร่และเชิญชวน แต่เขาไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามแม้กระทั่งนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติและจำเริญจงมีแด่ท่าน) ที่อัลลอฮ์กำชับเตือนให้ท่านทราบว่า “ ท่านไม่มีอำนาจใดๆที่จะบีบบังคับให้พวกเขาปฏิบัติตาม” (อัลฆอชิยะฮ์/22) เพราะหน้าที่ของท่านคือชี้แนะและเชิญชวน อัลลอฮ์เท่านั้นเป็นผู้คิดบัญชีและให้การตอบแทน

เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ