ตะกอนความคิด บทความ

การเอี้ยะติก้าฟ ช่วง10 วันสุดท้าย | บันทึกรอมฎอน 1441 (3)

จำได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วทุกครั้งที่รอมฎอนมาถึง หนึ่งในเรื่องที่เป็นที่โจษจันของพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดคือ การเอี้ยะติก้าฟ ช่วง10 วันสุดท้าย

ชาวบ้านบอกว่าเป็นเรื่องแปลกพิสดาร มีบ้านอยู่ดีๆ แต่มานอนที่มัสยิด แถมอาจจะสร้างสิ่งสกปรกให้มัสยิดอีกด้วย บางหมู่บ้านเล่นแรงถึงขนาดประกาศเป็นเขตพื้นที่ปลอดเอี้ยะติก้าฟไปเลย ประมาณว่า สมัยนั้นทั่ว 3 จังหวัด มีมัสยิดที่จัดเอี้ยะติก้าฟไม่เกิน 10 แห่ง และทำกันอย่างมีข้อจำกัดพร้อมด้วยแรงกดดันมากมาย

ชาวบ้านทั่วไป เข้าใจว่า เอี้ยะติก้าฟ 10 วันสุดท้ายรอมฎอน เป็นการปฏิบัติตนของผู้รู้หรือคนระดับโต๊ะวาลีเท่านั้น ทำให้มีคนทำสุนนะฮ์นี้ในกลุ่มคนที่จำกัดมากๆ

ปัจจุบันเท่าที่ทราบ กระแสมองลบการเอี้ยะก้าฟ 10 วันสุดท้ายรอมฎอนเป็นเรื่องเก่าที่ถูกฝังในตำนานไปแล้ว ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูสุนนะฮ์นี้อย่างขมักเขม้น หากไม่ใช่เพราะวิกฤตโควิด-19 ช่วงนี้ทั้งวิทยุชุมชน ทีวีช่องดำ หรือการไลฟ์สดตามโชเชียล คงมีการพูดถึงและรณรงค์เรื่องการเอี้ยะติก้าฟ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา แม้กระทั่งหน่วยงานด้านความมั่นคง คงมีการตระเตรียมความพร้อมเพื่อจัดเอี้ยะติก้าฟอย่างถ้วนหน้า

ไม่มีใครยกประเด็นการฟื้นฟูสุนนะฮ์นี้ ว่าเป็นงานเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ต้องฟื้นฟูสุนนะฮ์นบีให้คงอยู่ควบคู่กับสังคมมุสลิมอยู่แล้ว

การละหมาดอีดบริเวณลานกว้างก็เช่นกัน

ไม่มีใครหรือกลุ่มไหน ที่จะสงวนสิทธิ์การปฎิบัติใช้สุนนะฮ์นี้ไว้แต่เพียงผู้เดียวหรอกครับ
และคนที่ยังไม่เคยปฏิบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องกระดากใจใดๆที่จะต้องทำ เพราะการฟื้นฟูสุนนะฮ์นบี เป็นหน้าที่ของทุกคนอยู่แล้ว

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้คนทุกหมู่เหล่าต้องร่วมมือร่วมใจกันแสดงความสวามิภักดิ์และนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยการปฎิบัติตามสุนนะฮ์นบีโดยพร้อมเพรียงกัน

ไม่มีใครได้หน้าและเสียหน้ากรณีปฏิบัติตามสุนนะฮ์นบีหรอก

บางคน การปฏิบัติตามสุนนะฮ์ รู้สึกขมยิ่งกว่าอมบอระเพ็ด
แต่สำหรับบางคน มันคือความหวานฉ่ำยิ่งกว่าน้ำตาลโตนด

ขอให้เราเป็นบางคนในกลุ่มที่สองนี้ครับ


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ