เราไม่ทิ้งกัน

นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและเลขานุการสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ได้เขียนในไลน์ส่วนตัวว่า เมื่อบ่ายวันศุกร์ ที่​ 14 ตุลาคม​ 2565​ เวลา​ 13:30 น.​ ณ​ สนามบินหาดใหญ่ และ สนามบินสุวรรณภูมิ​ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ได้ออกเดินทางไป​ จ.อุดรธานี​ เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ที่​ จ.หนองบัวลำภู​ และในการเดินทางครั้งนี้ได้จัดการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยสัญจรในภาคอีสานพร้อมกันด้วย

เด็กที่เสียชีวิต 26 รายส่วนใหญ่ถูกฟันที่หัวและตามลำตัว ส่วนที่เหลือเป็นผู้ใหญ่ ถูกกระสุนและถูกรถชนและเหยียบ

“คนไทยทุกคน​ ทุกภูมิภาค​ ล้วนเป็นพี่น้องกัน​ ยามสุขเราก็ดีใจด้วยกัน

ยามทุกข์เราเสียใจอย่างสุดซึ้ง เราไม่ทิ้งกัน” พร้อมนี้ ได้มอบเงินเยียวยาแก่ครอบครัวผู้สูญเสียรายละ 10,000 บาททั้ง 46 ราย รวมเงินทั้งสิ้น 460,000 บาท นายซอลาฮุดดีนกล่าวทิ้งท้าย


Credit : ซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ

มฟน. จัดพิธีมอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จัดพิธีมอบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ณ ห้องชมัยมรุเชฐ ชั้น 3 สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพมหานคร  ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในการสร้างความปรองดองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

..

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 1 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 โดยสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2508 และเริ่มต้นรับราชการประจำศูนย์การทหารราบเป็นหน่วยงานแรก หลังเข้ารับราชการทหารได้สอบผ่านหลักสูตรอบรมสำคัญๆ หลายหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรจู่โจม รุ่นที่ 11 ศูนย์การทหารราบ หลักสูตรชั้นนายร้อยเหล่าทหารราบ หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศจู่โจม หลักสูตรชั้นนายพันเหล่าทหารราบจากสหรัฐอเมริกา หลักสูตรเสนาธิการทหารบก รุ่นที่  52 หลักสูตรเสนาธิการทหารบกจากสหรัฐอเมริกา หลักสูตรการบริหารทรัพยากรกระทรวงกลาโหมจากสหรัฐอเมริกา และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตามลำดับ ตลอดอายุการรับราชการทหารได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆหลายตำแหน่ง ได้แก่  ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในที่สุด ระหว่าง พ.ศ. 2545 – 2546 และในปี พ.ศ. 2546 ได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตโดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 จวบจนปัจจุบัน 

..

นอกจากนี้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังได้รับรางวัล “คนดีของแผ่นดิน” จากมูลนิธิรัฐบุรุษ พ.ศ. 2543 ด้วยเป็นคนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผืนป่าและเป็นผู้นิยมการเดินป่า จึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นกรรมการ“โครงการสายใจไทยสู่ใจใต้” ริเริ่มโครงการครอบครัวอุปถัมภ์นำเยาวชนมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอยู่กับครอบครัวมุสลิมในต่างพื้นที่เป็นระยะเวลา 20 วัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีและประสบการณ์ชีวิต

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 24 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้วางยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยเน้นการพัฒนาคนและครอบครัวให้พึ่งพาตนเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และได้เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อพบปะและรับฟังเสียงของประชาชนและผู้นำในพื้นที่หลายครั้ง เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต บริหารกิจการกองทัพและชาติบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม ถือมั่นในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ฝักใฝ่ไม่เลือกข้างในการปฏิบัติงาน บุคลิกภาพสุขุม ใฝ่สันติ ดำรงไว้ซึ่งคุณสมบัติการเป็นผู้นำที่ดี นำพาชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆมาได้ด้วยดี ทั้งวิกฤตการเมือง ภัยคุกคามจากยาเสพติด และการกัดกร่อนจากภัยก่อการร้าย เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ สภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้รับปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป


CR : FB Zakariya Hama

พิธีประสาทปริญญา ครั้งที่ 17 มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

(วันอาทิตย์ ที่ 4 กันยายน 2565) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาครั้งที่ 17 โดยมีรศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี รองอธิการบดี คณะผู้บริหาร คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้ บัณฑิตและผู้ปกครองร่วมให้การต้อนรับ

นายกสภามหาวิทยาลัยกล่าวคำโอวาทแก่บัณฑิตความตอนหนึ่งว่า “บรรดาการสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เป็นวันแห่งการชุมนุมยินดีความสำเร็จของท่านทั้งหลายที่ได้ใช้ความพยายามในการบ่มเพาะความรู้และหล่อหลอมตนเองตามแนวทางการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่มุ่งเน้น “การสร้างชีวิตก่อนอาชีพ” การศึกษาที่พัฒนาและเติมเต็มชีวิตตามเจตนารมณ์ของผู้ทรงสร้างมนุษย์และผู้ส่งสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้สู่ทางนำแห่งความสำเร็จของพระองค์นั่นคือ “อัลกุรอาน”

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา กล่าวรายงานผลการดำเนินการตามภารกิจหลักของสถาบันว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เปิดสอนในระดับปริญญาเอก 2 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 5 หลักสูตร ระดับประกาศษนียบัตรบัณฑิต 1 หลักสูตรและระดับปริญญาตรี 21 หลักสูตร รวมทั้งสิ้น 29 หลักสูตร  โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาครั้งนี้ทั้งสิ้น  1,831 คน

พิธีประสาทปริญญาครั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคารให้แก่ Tan Sri Dr. Mohd Daud Bakar ประธานที่ปรึกษาชะรีอะฮ์ ธนาคารแห่งชาติมาเลเซีย ผู้ก่อตั้ง Amanie Advisors อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติแห่งมาเลเซีย (IIUM) มอบโล่ Alim Rabbani (ผู้ทรงภูมิความรู้ดีเด่น) ให้แก่ Dr. Salim Seqaf Al-Jufri รองประธานสภาชะรีอะฮ์แห่งชาติ – สภาอุลามาอฺอินโดนีเซีย (Dewan Syariah Nasional -Majelis Ulama Indonesia ) มอบโล่ Tokoh Berjasa (ผู้สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมดีเด่น ให้แก่ กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลามประเทศกาตาร์ และอุสต้าซอับดุลลอฮ์ อาเก็ม ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยอันดามันอานาโตเลียน ผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมศาสน์วิทยาจังหวัดสตูล

الحمد لله الذي بنعمته تتم الصالحات

تهانينا وتبريكاتنا للخريجين


โดย Mazlan Muhammad

‘ซัลมาน รุชดี’ นักเขียนชื่อดัง ถูกมือมีดจ้วงแทงกลางเวทีที่นิวยอร์ก

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 ส.ค. 2565) ตามเวลาในสหรัฐฯ รุชดีมีกำหนดขึ้นบรรยายที่เทศกาลวรรณกรรมของสถาบันชูโทกัว (Chautauqua Institution) ในขณะที่กำลังจะเริ่มพูดนั้น ชายผู้ก่อเหตุก็บุกทำร้าย ผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่า เขาถูกแทงถึง 10-15 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 20 วินาที ในส่วนลำตัวและคอ

หลังจากนั้น รุชดีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในรัฐเพนซิลเวเนียด้วยเฮลิคอปเตอร์ ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์พบตับและเส้นประสาทในแขนเสียหาย ขณะที่ผู้สัมภาษณ์บนเวที ราลฟ์ เฮนรี รีส ซึ่งถูกทำร้ายในเหตุการณ์เดียวกัน ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และออกจากโรงพยาบาลแล้ว

ซัลมาน รุชดี วัย 75 ปีชาวอังกฤษ เชื้อสายอินเดีย ได้สร้างความโกรธแค้นในโลกมุสลิมด้วยงานเขียนของเขา เคยถูกขู่ฆ่าหลายครั้งหลังจากที่ตีพิมพ์นวนิยายที่ชื่อ ‘The Satanic Verses’ หรือ ‘โองการปีศาจ’ เมื่อปี 2531 ซึ่งมีเนื้อหาที่มุสลิมบางส่วนมองว่าเป็นการลบหลู่ศาสนาจนไม่อาจยอมรับได้

ทำให้ อยาตุลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านในขณะนั้น สั่งแบนหนังสือ และออก ‘ฟัตวา’ หรือคำวินิจฉัย ให้สังหารรุชดี พร้อมกับตั้งค่าหัวเป็นจำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ซัลมาน รุชดีได้รับการอารักขาแน่นหนาจากรัฐบาลอังกฤษ เขาไม่ค่อยปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน ยกเว้นในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา หลังจากอิหร่านประกาศยกเลิกคำฟัตวามรณะดังกล่าว

ทั้งนี้ นายซัลมาน รุชดี พลเมืองสัญชาติอเมริกัน-อังกฤษ เกิดมาในครอบครัวมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดศาสนาในอินเดีย และประกาศตัวเป็นผู้ไม่มีศาสนา และกลายเป็นแกนนำผู้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะงานเขียนของเขาที่มีเจตนาจาบจ้วงศาสนาอิสลามตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา

อ้างอิง

https://www.aljazeera.net/news/2022/8/12/%D8%B4%D8%A7%D9%87%D8%AF-%D8%B3%D9%84%D9%85%D8%A7%D9%86-%D8%B1%D8%B4%D8%AF%D9%8A-%D9%8A%D8%AA%D8%B9%D8%B1%D8%B6-%D9%84%D9%84%D8%B7%D8%B9%D9%86-%D8%AE%D9%84%D8%A7%D9%84


โดย Mazlan Muhammad

อาลัยฮีโร่ที่ไม่มี “รางวัลโนเบล”

สรรสาระวันหยุด : อาลัยฮีโร่ที่ไม่มี “รางวัลโนเบล” ทีมนักเตรียมสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกี

เมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ตุรกีกล่าวคำอำลาเมาลานา อิดรีสเซงเกน Maulana Idris Zengin นักกวีและนักเขียนวรรณกรรมเด็กที่   เสียชีวิต ในวัย 56 ปี ขณะเข้ารับการรักษาในจังหวัด Kahramanmaraş (ทางใต้) เพื่อผ่าตัดหัวใจและเปลี่ยนตำแหน่งของหลอดเลือดทั้ง 4 เส้น  แม้ว่าแพทย์จะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ก็ตาม และผู้ติดตามงานเขียนของเขาหลายพันคนเข้าร่วมพิธีศพที่มัสยิดสุลต่านอัยยูบ อันเก่าแก่ในอิสตันบูล

เมาลานา อิดรีสเซงเกน นักเขียนวรรณกรรมเด็กที่โดดเด่นคนหนึ่งในไม่กี่คนที่เติบโตขึ้นมาในตุรกีในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา  เกิดในปี 1966 ในเขต Andreen ของ Kahramanmaraş  เป็นผู้แต่งหนังสือสำหรับเด็กมากกว่า 70 เล่ม และหนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย อาหรับ อูรดู และฮังการี  และงานเขียนบางส่วนของเขาได้กลายเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่ฉายทางช่องทีวี

สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในเยอรมนีดูแลการแปลหนังสือที่เขาเขียนในชุด “Stranger Men” เป็น 9 ภาษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกเป็นหนังสือ

เมาลานา อิดรีสเซงเกน ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็ก ที่มอบให้โดย Gokyuzo Publishing House ในปี 1987 จากหนังสือกวีนิพนธ์เรื่อง “My Childhood in the Colours of Birds” รวมถึงรางวัลวรรณกรรมสำหรับเด็กจากสหภาพนักเขียนชาวตุรกีในปี 1998 จากผลงานเขียนหนังสือ “ร้านสยองขวัญ” รวมถึงรางวัลระดับนานาชาติที่นำเสนอโดยนิตยสาร “ภาษาตุรกีของฉัน” ที่ตีพิมพ์ในโคโซโว / พริซเรนในปี 2008 ที่เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีส่วนสนับสนุนภาษาตุรกี

เมาลานา อิดรีสเซงเกน ยังได้รับรางวัล “นักเขียนวรรณกรรมเด็กที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด” ในปี 2011 จากมูลนิธิ Berikim Foundation for Education และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาและจัดพิมพ์หนังสือเด็ก ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของมุสตาฟา รูฮิ ชีริน หนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมเด็กที่มีชื่อเสียงที่สุดในตุรกี

งานเขียนของเซงเกนได้รับการศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกรุงไคโร  เบอร์ลิน  อิสตันบูล ชานัคคาเล และเออร์ซูรุมในตุรกี

เมาลานา อิดรีสเซงเกน ได้เข้าร่วมในการประชุมและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวรรณกรรมสำหรับเด็กในหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงแฟรงก์เฟิร์ต ดามัสกัส โคโลญ บูดาเปสต์  พริสตินา   ลอนดอน และปักกิ่ง และยังทำงานเป็นที่ปรึกษาและผู้แต่งสารคดีหลายเรื่อง และเป็นหนึ่งในผู้เตรียมสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีเออร์โดกันของตุรกี

เมาลานา อิดรีสเซงเกน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูเยาวชนคนรุ่นใหม่และการปกป้องสิทธิของพวกเขา แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของผู้ใหญ่  และยังได้ออกนิตยสารสำหรับเด็กชื่อ “Cheto” พร้อมหนังสือนิทาน 

นิตยสารดังกล่าวมีการตีพิมพ์บทความ บทกวี เรื่องราว ความทรงจำ และภาพวาดของเยาวชนในระดับมัธยมต้น  มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย โดยมีสโลแกนว่า “หากคุณมีปัญญา ก็อย่าอวดดีเลย”

อิดรีสเซงเกนเชื่อว่าจิตใจของเด็กและคนหนุ่มสาวควรถูกหล่อหลอมผ่านเรื่องราว เกมการละเล่น และแอนิเมชั่นที่สะท้อนถึงค่านิยมเฉพาะในภูมิภาคของเรา

เด็ก ๆ ของตุรกี ตลอดจนผู้ใหญ่ที่คงมีหัวใจอยู่ในวัยเด็กต่างเสียใจกับการสูญเสียอิดรีสเซงเกน ผู้มีจิตวิญญาณที่สงบ  จริงใจและสวยงาม

อิดรีสเซงเกนขึ้นครองบัลลังก์แห่งหัวใจนับพันๆดวง ด้วยบทกวีและเรื่องเล่าของเขา และมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อวรรณกรรมสำหรับเด็กในโลกนี้ จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายและจากโลกนี้ไป

เราสามารถสรุปบุคลิกของอิดรีสเซงเกนได้ในลักษณะเหล่านี้ : สงบ เศร้า  ใจกว้าง ร่าเริง มีสติสัมปชัญญะ ขี้อาย ฉลาด หน่อมแน้ม กังวล ล้อเล่น ใจดี และสง่างาม…

ผู้มีบุคลิกที่สวยงามมากมายเช่นเมาลานา อิดรีสเซงเกนซึ่งตะวันออกอำลาสู่ปรโลก วีรบุรุษตะวันออกที่โลกไม่รู้จักเหล่านี้ทุ่มเทความพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อสร้างผลงานในโลกนี้ แต่น่าเสียดายที่พวกเขาจากเราไว้อย่างเงียบ ๆ โดยปราศจากการได้รับสถานะที่เหมาะสมในระดับโลก

นักเขียนชาวตะวันตกคนหนึ่งบอกว่า: “ถ้าเมาลานา อิดรีสเซงเกน เป็นนักเขียนชาวตะวันตก เขาได้รับรางวัลโนเบลสำหรับนิทานมหัศจรรย์เหล่านี้ตั้งนานแล้ว”

เช่นเดียวกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งตะวันออกจำนวนมาก น่าเสียดายที่ เมาลานา อิดรีสเซงเกน อพยพไปพำนักยังโลกของความเป็นอมตะ  โดยไม่ได้รับรางวัลใดๆ ในระดับโลก แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงเป็นวีรบุรุษในสายตาของผู้คนมากมายตลอดไป


Credit: Ghazali Benmad

โลกมุสลิม 20 ประเทศและองค์กร ประนามโฆษกพรรคบีเจพี พรรครัฐบาลอินเดีย

โลกมุสลิมและองค์กรอิสลามระหว่างประเทศ 20 ประเทศและองค์กร ร่วมกันประนามโฆษกพรรคบีเจพี พรรครัฐบาลอินเดีย และขอให้อินเดียจัดการกับผู้กระทำการดังกล่าว

ประเทศที่แถลงประนามในนามรัฐบาล ประกอบด้วย คูเวต กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย  สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต  บาห์เรน  โอมาน   ปากีสถาน  มาเลเซีย   อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย  จอร์แดน  มัลดีฟส์  อิรัก  และลิเบีย

โดยมี 4 ประเทศที่เรียกทูตอินเดียหรือตัวแทนสูงสุดของอินเดียเข้าพบเพื่อประท้วงและประนาม ได้แก่  คูเวต  กาตาร์  อินโดนีเซียและมาเลเซีย

ส่วนตุรกีออกแถลงการประนามโดยพรรคเอเค พรรครัฐบาลของตุรกี  ในขณะที่อียิปต์ออกแถลงการณ์ประนามโดยสถาบันอัซฮัร และสำนักมุฟตีย์แห่งอียิปต์

ส่วนระดับองค์กรระหว่างประเทศที่แถลงประนามได้แก่องค์กรความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี)  องค์กรความร่วมมืออ่าวอาหรับ(จีซีซี)  และฟอรัมเยาวชนโอไอซี (OIC Youth Forum)

ไม่นับรวมองค์กรนักวิชาการอิสลามที่ต่างออกมาประนามกันมากมาย

พรรคเอเคของตุรกีประณามคำหยามหมิ่นนาบีมุฮัมมัด ของโฆษกพรรคบีเจพี พรรครัฐบาลอินเดีย

เมื่อ 7 มิถุนายน อุมัร ซีลิก โฆษกพรรคยุติธรรมและการพัฒนาของตุรกี (พรรค AK) ประณามการหมิ่นหยามต่อท่านศาสดามุฮัมหมัด  ศอลฯ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่พรรคดังกล่าวได้ถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่แล้ว พร้อมขอให้รัฐบาลอินเดีย “ดำเนินมาตรการ ที่จำเป็น” เพื่อต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของกระแสอิสลามโมโฟเบียใน ประเทศ

อุมัร ซีลิก กล่าวในแถลงการณ์ว่า: “เราขอประณามอย่างรุนแรงคำกล่าวดูถูกของเจ้าหน้าที่จากพรรครัฐบาลอินเดีย (BJP) ต่อท่านศาสดามุฮัมมัดด”  และว่า “นี่เป็นการดูถูกไม่เฉพาะกับชาวมุสลิมในอินเดียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวมุสลิมทั่วโลกอีกด้วย”

“เรายินดีที่นักการเมืองดังกล่าวถูกไล่ออกจากตำแหน่งในพรรค เนื่องจากคำพูดของเขาและการประณามคำพูดเหล่านี้โดยทางการอินเดีย  แนวทางนี้ควรเป็นแบบอย่าง  เราคาดหวังให้รัฐบาลอินเดียใช้มาตรการที่จำเป็นในการเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของโรคกลัวอิสลามและเสริมสร้าง เสรีภาพทางศาสนาของชาวมุสลิม”

ในขณะเดียวกัน ฟอรัมความร่วมมืออิสลามสำหรับเยาวชน (OIC Youth Forum) ได้ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงต่อคำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อศาสดามูฮัมหมัดโดยพรรคบีเจพี พรรครัฐบาลของอินเดีย”

ทางรัฐบาลอินเดียได้ออกมาแถลงว่า คำเหยียดหยามดังกล่าวเป็นเรื่องบุคคลนอกรัฐบาล โฆษกพรรคบีเจพี ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และได้พักงานโฆษกที่เกี่ยวข้อง 1 ราย และปลดออก 1 ราย


Credit : Ghazali Benmad

งานประชุมพบปะศาสนสัมพันธ์ หัวข้อ ค่านิยมร่วมระหว่างศาสนิกชน

กรุงริยาด 11 พฤษภาคม 2565

รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เเละประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เป็นตัวเเทนประเทศไทยร่วมงานประชุมพบปะศาสนสัมพันธ์ ณ กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย จัดโดยองค์การสันนิบาตโลกมุสลิม

โดยงานนี้จัดขึ้นเป็นครั้งเเรก ณ กรุงริยาด มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตกผลึกถึงมุมมองเเละวิสัยทัศน์ที่ดีทางอารยธรรมมนุษยชาติ สร้างความตระหนักร่วมกันถึงคุณค่าของดุลยภาพในสังคมมนุษย์ ส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพ ภราดรภาพ เเละประสานความร่วมมือกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ทั้งปวง ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ส่งผลให้เกิดความขัดเเย้งกันในหมู่ศาสนิกชน อีกทั้งสร้างความตระหนักร่วมกันเเก่บรรดาผู้นำศาสนาเเละผู้นำทางความคิดทั่วโลกให้มีความเข้าใจในเรื่องสันติภาพ สมานฉันท์ เอื้ออาทรกันเเละกันของมนุษย์ชาติทุกศาสนาในโลกนี้ เพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์ให้ดำรงอยู่กันอย่างสุขสันติที่ยั่งยืน

ในงานนี้ถือเป็นการรวมตัวของผู้ทรงคุณวุฒิจากบรรดาผู้นำศานาทุกศาสนา เช่น อิสลาม คริสต์ ยิว ฮินดู พุทธ เเละอื่นๆ ตลอดจนผู้นำทางความคิดที่ทรงอิทธิพลเเละตัวเเทนองค์กรขับเคลื่อนงานศาสนาชื่อดังจากทั่วโลก

ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อ H.E. Dr. Muhammad bin Abdulkarim Al-Issa  เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกและคณะทีมงานที่ให้เกียรติต้อนรับเเละรับรองเเขกในงานทุกท่านอย่างสมเกียรติ


Credit : A Fattah Lutfy Japakiya

บรรยากาศละหมาดอีดฟิตรีย์ 1443 ฮ.​ ณ เทศบาลเมืองนราธิวาส

เมื่อ(2 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นวันฮารีรายออิดิ้ลฟิตรี ประจำปี  ฮ.ศ. 1443 เทศบาลเมืองนราธิวาส โดยนายไพซอล อาแว นายกเทศมนตรี ร่วมกับกลุ่มอิสลามนรา จัดพิธีละหมาดอิดิ้ลฟิตรี ณ สนามกีฬาเทศบาลเมืองนราธิวาส  เริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น.  เป็นต้นไปซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่พิธีละหมาด นายไพซอล อาแว นายกเทศมนตรี ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมละหมาด  ซึ่งมีจำนวนเกือบ 2,000 คน

.

โดยการละหมาดในครั้งนี้มีอิหม่ามเชค รอมี จากประเทศอียิปต์ เป็นผู้นำละหมาด  โดยอ่านอัลกุรอานตามกิรออาตอัลกิสาอีย์ หนึ่งในกิรออาตที่มีสายรายงานที่ถูกต้องจากนบี และ ผศ.มัสลัน มาหะมะ จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี  เป็นผู้อ่านคุฏบะห์ ในหัวข้อ “บทบาทผู้นำต่อการพัฒนาสังคม” โดยได้ยกบทบาทของผู้นำที่ปรากฏในซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟีเป็นกรณีศึกษา ซึ่งผู้นำในทุกระดับชั้นต้องทำความเข้าใจบททดสอบ 4 ประการ คือ 1) บททดสอบด้านอะกีดะฮ์  ตามเรื่องราวของกลุ่มเยาวชนชาวถ้ำ 2) บททดสอบด้านทรัพย์สินและลูกหลาน ตามเรื่องราวของเจ้าของสวน 2 แก่ง  3) บททดสอบด้านความรู้ ตามเรื่องราวของนบีมูซาและคิฎิร์ และ4) บททดสอบด้านอำนาจและการบริหารตามเรื่องราวของซุลก็อร์นัยน์

สำหรับการละหมาดในวันนี้เทศบาลได้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยให้ผู้ร่วมละหมาดทุกคน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิและลงทะเบียนก่อนเข้างาน เว้นระยะห่าง และใช้ผ้าละหมาดของตนเอง  โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตลอดงาน ซึ่งหลังจากละหมาดและรับฟังคุฏบะห์แล้ว นายกเทศมนตรีพร้อมคณะได้มอบซากาตและจัดเลี้ยงอาหารให้แก่เด็กๆ  นอกจากนั้นภายในงานยังได้จัดสถานที่จุดเช็คอินเพื่อให้ผู้ร่วมละหมาดได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างชื่นมื่นต่างก็ได้พบปะ ขอมาอัฟต่อกัน (ให้อภัยกัน) ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ

.

ขอบคุณ เทศบาลเมืองนราธิวาส

วิดีโอละหมาดและคุตบะฮฺอีด

https://www.facebook.com/islamnarathiwat/videos/366057342134747


ทีมข่าว theustaz

ปากีสถานได้นายกคนใหม่

( สนข.อัลจาซีร่าและอื่นๆ )  ฝ่ายนิติบัญญัติของปากีสถานเลือก ชาห์บาซ ชารีฟ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในการประชุมวานนี้ 11/4/2022 หลังจากที่อิมราน ข่าน ผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนถูกขับออกจากตำแหน่ง ซึ่งแสดงอารยะขัดขืนลาออกจากที่นั่งในรัฐสภาพร้อมกับสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ของพรรคก่อนลงคะแนนเสียง

ชาห์บาซ ชารีฟ  ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี” ด้วยคะแนนเสียง 174 จาก 342 ในรัฐสภา  เท่ากับคะแนนเสียงที่ชนะข่าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด

ทั้งนี้ เอพีรายงานว่า ฝ่ายค้านของปากีสถานได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 2 เสียง  โดยได้ 174 เสียงจากที่นั่ง 342 ที่นั่งในรัฐสภา  เพื่อสนับสนุนการไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลของอิมราน ข่าน ในการลงคะแนนตามข้อเสนอของฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 8 มีนาคม

ชารีฟ วัย 70 ปี แกนนำกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านที่ลงมติไม่ไว้วางใจข่านในรัฐสภาหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลายสัปดาห์

บรรดา สส. จากพรรคของอิมรอน ข่าน (พรรคอินซอฟ) ได้แสดงอารยะขัดขืน โดยการยื่นใบลาออกจากสภาล่างเพื่อประท้วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพวกเขา

“เราขอประกาศว่าเราทุกคนลาออก” ชาห์ มาห์มูด กูเรชี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและรองประธานพรรคของข่าน กล่าวในสุนทรพจน์ก่อนการลงคะแนนเสียง

ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มาจากการเลือกตั้งครบวาระตั้งแต่ปากีสถานได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2490

ในขณะที่ผู้สนับสนุนข่านหลายๆพันคนเดินขบวนในเมืองหลวง อิสลามาบัด และเมืองใหญ่ๆ ในปากีสถานอีกหลายแห่ง รวมถึงในประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยที่ผู้เข้าร่วมแสดงการสนับสนุนต่ออิมราน ข่าน โดยปฏิเสธสิ่งที่พวกเขาอธิบายว่าเป็นการแสดงอำนาจของอเมริกา

หลังแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ชารีฟจะต้องจัดตั้งรัฐบาลจากสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน (กลาง) พรรคประชาชนปากีสถาน (กลางซ้าย) และสมาคมอุลามาอ์อิสลาม ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมขนาดเล็ก


โดย Ghazali Benmad

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ด้านวิชาการ” ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ ศอ.บต.

วานนี้ (9 เมษายน 2565) ที่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านวิชาการ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)โดยมีนางอารยา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ตามโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be ceo (ภาคใต้)

ในการนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO             ของกระทรวงพาณิชย์ที่ตนได้มอบนโยบายให้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ปั้น GenZ เป็น CEO ไปแล้วจำนวนมาก ซึ่ง Gen Z ต่างจากรุ่นตนและ Gen X Gen Y เพราะส่วนใหญ่ จบการศึกษาไปแล้วหลายคนอยากเป็นนายตัวเอง ซึ่งก็ต้องมีธุรกิจหรือกิจการของตนเอง จึงเป็นที่มาของนโยบายปั้น Gen Z ให้เป็น CEO จึงตั้งเป้าเตรียมปั้นนักศึกษาชั้นปี 3-4 ที่สนใจ เมื่อจบไปแล้วจะได้ไปเป็นนายตนเองทำธุรกิจเป็น CEO ให้กับกิจการของตัวเองได้ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการร่วมลงนาม MOUกับสถาบันการศึกษาทุกภาคทั่วประเทศ 94 สถาบัน จบหลักสูตรไปแล้ว 21,000 คน และปี 2565 ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 20,000 คน ภายในปีเดียวและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่เป็น CEO Gen Z ปกติแต่จะปั้นเป็น CEO ฮาลาล ซึ่งจะมีทั้งสินค้าและบริการรวมทั้ง Soft Power ของจังหวัดชายแดนใต้ที่จะเป็นจุดขาย ทำให้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจการค้าได้ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทั้งเรื่องความมั่นคง การศึกษา เศรษฐกิจ เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยสนองตอบการช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างตรงประเด็นที่สุดและสนองตอบต่อนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการอบรมใช้เวลาเต็มวันประมาณ 5 ครั้ง หลังจากนั้นจะมีการฝึกงานจริงหลักสูตรที่เรียน เช่น การบริหารจัดการธุรกิจยุคใหม่ การบริหารจัดการการส่งออก ความรู้การส่งออกเบื้องต้น การวิเคราะห์การตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบริหารจัดการสตาร์ทอัพ การเอา Soft Power ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีของคนจังหวัดชายแดนใต้ผสมผสานเป็นจุดขายให้กับสินค้าและการบริการที่สามารถสร้างความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาได้ต่อไปในอนาคต รวมถึงการทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าบริการในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเรื่องอีคอมเมิร์ซ สินค้าและบริการแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก จะได้มีพื้นความรู้ในการเป็นนายของตัวเองอย่างมีศักยภาพ ถือเป็นการนำรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และประเทศถ้าส่งออกต่อไปได้ โดยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจังหวัดชายแดนใต้ จะทำให้ได้ 1,000 คน” อย่างแน่นอน

สำหรับการดำเนินโครงการ From Gen Z to be CEO กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ สถาบัน NEA (New Economy Academy) จัดทำหลักสูตรเพื่อบ่มเพาะความรู้และสร้าง Mindset ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเจเนอเรชั่นซี(Gen Z) เพื่อสร้างให้เป็นแม่ทัพทางการค้าของประเทศในอนาคตภายใต้โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศจากทั้งผู้ประกอบ ธุรกิจที่มีประสบการณ์การส่งออกโดยตรง และในปี 2565 สถาบัน NEA ได้ขยายความร่วมมือกับอีก 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี เพื่อขยายโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในส่วนภูมิภาคต่อไป


เครดิตข่าว : เพจข่าว ศอ.บต.