ตุรกี เส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุค (ตอนจบ)

นายกรมต.ออร์โดกาน ถือเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดไม่เพียงในตุรกีเท่านั้น แต่ภาวะผู้นำของเขายังเจิดจรัสไปทั่วโลกอิสลาม จุดยืนและคำพูดของเขาในเวทีโลกที่พูดถึงปัญหาโลกอิสลาม โดยเฉพาะปัญหาฟิลัสฏีนและซีเรีย ชวนให้เรานึกถึงการหวนกลับมาของผู้นำที่โลกมุสลิมกำลังรอคอยนานนับศตวรรษ การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งใหญ่ 3 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา โดยล่าสุดในปี 2011 เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 50.2 ทิ้งพรรคคู่แข่งอย่างพรรคชาตินิยมอะตาร์เตอร์กขาดลอยซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 25.9 เป็นสิ่งการันตีว่าเขาสมารถครองใจประชาชนแค่ไหน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกสำหรับความสำเร็จอันน่าทึ่งของตุรกีตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรกของบทความนี้

มีกลุ่มเดียวที่หวั่นวิตกและมองการเดินหน้าของตุรกีด้วยสายตาชิงชังคือกลุ่มอำนาจเก่าและเหล่าสาวกอะตาร์เตอร์กที่พวกเขาเห็นว่า เป็นการคืบคลานเข้าครอบงำของศาสนาอิสลามและพากันเรียกว่าเป็นสงครามวัฒนธรรมเลยทีเดียว

และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2013 ที่ผ่านมา กระแสความไม่พอใจที่สั่งสมมายาวนานถูกระบายตามท้องถนนสายต่างๆ ณ กรุงอิสตันบูล และได้ขยายออกไปยังหลายเมือง โดยการประท้วงได้บานปลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นรัฐบาลใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม ในขณะที่ออร์โดกานประณามผู้ประท้วงว่าเป็น พวกหัวรุนแรงบ้าคลั่ง

พวกเขาชูประเด็นคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่จะตัดต้นไม้เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าที่สวนสาธารณะเกซี ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวหาได้ยากบริเวณขอบจตุรัสตักซีม พร้อมทั้งกดดันให้นายกรมต.ออร์โดกานลาออกจากตำแหน่ง

ถือเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดที่สุดและน่าเป็นชนิดเดียวในโลกนี้กระมัง ที่แทนที่ประชาชนระดับรากหญ้าจะประท้วงรัฐบาลเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น การว่างงาน หรือเศรษฐกิจตกต่ำที่กระทบถึงปัญหาปากท้องประชาชนเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศในยุโรปก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งการลุกฮือของประชาชนในวิกฤติอาหรับสปริงที่ผ่านมาและกำลังดุเดือดเลือดพล่านในซีเรียปัจจุบัน แต่ที่ตุรกีประชาชนลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลเรื่องต้นไม้เล็กใหญ่ที่จะถูกตัดประมาณ 600 ต้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้เตรียมแผนที่จะขุดต้นไม้ใหญ่เพื่อไปปลูก ณ สถานที่อื่นแทน นายออร์โดกานยังให้สัมภาษณ์ว่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตบนถนนการเมืองตั้งแต่เป็นนายกเทศมนตรี กรุงอิสตันบูล จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล 3 สมัยติดต่อกัน เขาได้มีส่วนรณรงค์ปลูกต้นไม้ทั่วตุรกีกว่า 200 ล้านต้น

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ประเด็นการประท้วงคัดค้านทำลายสวนสาธารณะที่เป็นชนวนความรุนแรงนี้เป็นแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น ส่วนฐานที่ถูกสั่งสมมายาวนานที่เป็นสาเหตุของการประท้วงที่แท้จริงคือ การรุกคืบในการนำอิสลามมาปฏิบัติใช้ในการบริหารปกครองประเทศ พร้อมทั้งสลัดทิ้งปรัชญาโลกาวิสัยที่เป็นมรดกบาปยุคอะตาร์เตอร์ก พวกเขากล่าวหานายออร์โดกานว่าบริหารประเทศแบบหนักมือเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และที่สำคัญ กำลังสวนทางกับลัทธิอะตาร์เตอร์กที่พวกเขาภักดี

ส่วนหนึ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นการรุกรานวิถีชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัวได้แก่
1. ข้อเสนอของรมว.สาธารณสุข ที่ให้แก้ไขกฎหมายเดิมที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้หลังจากตั้งท้อง 10 เดือน เป็น 4-6 เดือนในกฎหมายฉบับใหม่ นายออร์โดกานยังให้สัมภาษณ์อีกว่า การทำแท้งถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สาวกอะตาร์เตอร์กเป็นอย่างยิ่ง
2. การกลับมาของหิญาบในกลุ่มมุสลิมะฮฺ โดยมีสตรีหมายเลข 1 ของตุรกีเป็นต้นแบบ จนกระทั่งกลายเป็นกระแสการตอบรับอย่างล้นหลามในตุรกี จนกระทั่งมุสลิมะฮฺตุรกีหันมาใส่หิญาบจำนวนร้อยละ 65 สร้างความแค้นเคืองแก่สาวกอะตาร์เตอร์กที่ต่อสู้ปราบปรามหิญาบอย่างหนักหน่วงในอดีต พวกเขากล่าวว่าเป็นการเข้าคลองสู่ยุคมืดอีกครั้ง และพากันล้อเลียนการใส่หิญาบ ขนาดใส่หิญาบบนศีรษะนายออร์โดกานติดโปสเตอร์เผยแพร่ทั่วตุรกี พวกเขาถือว่าหิญาบคือสัญลักษณ์ของความคร่ำครึทางศาสนาเลยทีเดียว
3. การออกกฎหมายที่ห้ามหนุ่มสาวพลอดรักในที่สาธารณะ ซึ่งพวกเขาถือว่าออร์โดกานเป็นผู้นำเผด็จการและยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวมากเกินไป
4. ถือเป็นไฮไลท์และสาเหตุหลักของการประท้วงภาคพิศดารในครั้งนี้ นั่นคือรัฐบาลตุรกีเพิ่งออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ และจำกัดเวลาบริการระหว่าง 4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดตรวจระดับแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานยนต์ตลอดจนกำหนดระยะห่างระหว่างสถานศึกษาและมัสยิดกับร้านขายเหล้าอีกด้วย

นี่คือวาระซ่อนเร้นของการประท้วงอันงงงวยของตุรกีในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ให้ทัศนะว่า ระยะหลังๆ นี้จะสังเกตผู้ประท้วงส่วนใหญ่ชูขวดเหล้าเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงแทน ทำให้หลายฝ่ายฟันธงว่าการประท้วงในตุรกีได้เปลี่ยนจุดยืนจากการพิทักษ์ต้นไม้กลายเป็นอนุรักษ์เหล้าแทน

5. ความจริงแล้ว สวนสาธารณะเกซี ที่ขอบจัตุรัสตักซีมคือแหล่งโลกีย์และสถานเริงรมย์ขนาดใหญ่ที่สุดในอิสตันบูล ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของตึกกระทรวงกลาโหมยุคอุษมานียะฮฺอันใหญ่โตรโหฐานที่ถูกทำลายโดยทายาทอสูรอะตาร์เตอร์ก รัฐบาลยุคออร์โดกานมีแนวคิดกวาดล้างแหล่งอบายมุขแห่งนี้ด้วยการเสนอโครงการยักษ์สร้างตึกกระทรวงกลาโหมย้อนยุคอุษมานียะฮฺอีกครั้ง พร้อมกับสร้างมัสยิดตามสถาปัตยกรรมตุรกีอันเลื่องลือ หาใช่สร้างอาคารสรรพสินค้าตามเป็นข่าวแต่อย่างใด นายออร์โดกานได้ยืนกรานว่า จะสร้างมัสยิดบริเวณนี้ให้ได้ เสียงอะซานจะดังกึกก้อง ณ สถานแห่งนี้ ถึงแม้คนบางกลุ่มจะไม่พอใจก็ตาม

นอกจากนี้ออร์โดกานยังตัดสินใจตั้งชื่อสะพานใหม่ที่สร้างเสร็จเหนือช่องแคบบอสฟอรัสด้วยนามของเคาะลีฟะฮฺผู้ก่อตั้งอาณาจักรอุษมานียะฮฺอีกด้วย

ทำให้อีกกลุ่มมองอย่างหวาดระแวงว่าออร์โดแกนกำลังเชื่อมโยงตุรกีกับความยิ่งใหญ่ในอดีตยุคอุษมานียะฮฺหรือไม่อย่างไร

จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวแทบไม่สามารถนำเป็นเงื่อนไขในการประท้วงรัฐบาลเลย ตุรกีได้ข้ามโพ้นวิกฤติต่างๆที่โลกปัจจุบันกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าวิกฤติผู้นำ วิกฤติสังคมเศรษฐกิจและการเมือง นายออร์โดกานให้สัมภาษณ์ว่า หากการรับใช้ประชาชนและพัฒนาประเทศถึงระดับนี้ยังเป็นเผด็จการ ก็ไม่รู้จะสรรหาคำพูดไหนมาอธิบายกันแล้ว เขายังประณามผู้ประท้วงว่าเป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตย ตุรกีเคยอยู่ในช่วงเผด็จการอะตาร์เตอร์กที่ไม่เพียงแต่ห้ามมีการชุมนุมประท้วงเท่านั้น แม้แต่คิดต่างกับรัฐบาลเงียบๆเพียงคนเดียวก็อาจถูกยัดเข้าไปในคุกตะรางโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้

ออร์โดกานเสนอให้มีการประชามติเพื่อหยุดการประท้วง แต่ฝ่ายชุมนุมไม่ยอม เพราะพวกเขารู้ดีว่าผลจะออกมาเช่นไร ล่าสุดออร์โดกานได้เขียนในทวิตเตอร์ส่วนตัวทั้งภาษาอาหรับและตุรกี เชิญชวนให้ประชาชนชาวตุรกีถือศีลอดในวันพฤหัสบดีที่ 20 มิ.ย 2013 เพื่อร่วมขอดุอาให้อัลลอฮฺปกป้องตุรกีจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีพร้อมทั้งรักษาอำนาจของเขาเพื่อพัฒนาตุรกีต่อไป

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นี่คืออาการดิ้นเฮือกสุดท้ายของสาวกลัทธิแซคิวล่าร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ เป็นภาวะจนตรอกของกลุ่มผู้เสียอำนาจที่จะต้องดิ้นสุดฤทธิ์ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ตนเองและพรรคพวก กลุ่มนี้ไม่เคยสนใจอะไรนอกจากสนองอารมณ์ใฝ่ต่ำและท้าทายอำนาจของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล นับประสาอะไรที่จะไปอาลัยอาวรณ์กับต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น ทั้งๆ ที่ซีเรียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเรือนเคียง ถูกกลุ่มอมนุษย์รุมทำร้ายทั้งเด็ก สตรี คนชราและชีวิตบริสุทธิ์ต้องสังเวยไปนับแสนๆ คน บ้านเรือนถูกทำลายย่อยยับ แต่ก็ไม่สามารถกระตุกต่อมความรู้สึกของพวกเขาแม้แต่น้อย

ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ตำรวจตุรกีเข้าจับกุมชีอะฮฺกลุ่มหนึ่งที่กำลังปลุกระดมผู้คนให้ประท้วงรัฐบาลที่เมืองหลวงอังการ่า นี่คือสัญญาณแห่งความสลับซับซ้อนที่ตุรกีจะต้องรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน

ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองตุรกี ขอให้นายกรมต.ออร์โดกานและคณะรัฐบาลชุดนี้มีกำลังใจอันแน่วแน่ ยืนหยัดเผชิญหน้ากับสิ่งภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกด้วยความสุขุม คัมภีรภาพ มีขันติและเชื่อมั่นในความช่วยเหลือของอัลลอฮฺพร้อมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนตุรกีและประชาชาติมุสลิมให้เป็นประชาชาติตัวอย่างที่ถูกบังเกิดมายังมนุษยชาติทั้งมวล

“สูเจ้าอย่าได้ท้อและระทม เพราะสูเจ้าคือประชาชาติที่สูงส่ง หากสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”
(อาละอิมรอน/139)
“แท้จริงชัยฏอนนั้น เพียงขู่ได้เฉพาะบรรดาผู้ที่เป็นสาวกของมันเท่านั้น ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา (อาละอิมรอน/175)
โชคดีตุรกี โชคดีออร์โดกาน โชคดีประชาชาติมุสลิม
จบ

ข้อมูลอ้างอิง
– สัมภาษณ์นายอับดุลเอาวัล สิดดีก นศ.ไทย่ทีกำลังศึกษาที่ Marmara University , Istambul fb: abdulevvel Siddiq
– http://www.salahsoltan.com/DoctorNews/975/Default.aspx
– http://www.almokhtsar.com/node/146963
http://www.news.islamstory.com
– http://www.bangkokbiznews.com/

ตุรกี เส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุค (ตอนที่ 1)

คะมาล อะตาร์เตอร์กหรือบิดาแห่งตุรกี หุ่นเชิดยิวและประเทศมหาอำนาจยุคนั้น ได้ปฏิวัติล้มล้างระบอบคิลาฟะฮฺอิสลามได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1923 พร้อมกับขจัดอิสลามชนิดถอนรากถอนโคนและเปลี่ยนโฉมตุรกีจากการยึดมั่นในอารยธรรมอิสลามสู่การเลื่อมใสอารยธรรมโลกยุคใหม่ภายใต้ปรัชญาโลกาวิสัย(แซคิวล่าร์)อย่างเต็มรูปแบบ สลัดประเทศจากการภักดีต่อพระผู้อภิบาลสู่การภักดีพญาหมีขาว ผลักไสประชาชนให้ออกจากมัสยิดสู่สถานเริงรมย์ ผับบาร์และเหล้าเบียร์ ห้ามประกาศเสียงอะซาน เปลี่ยนอะซานเป็นภาษาตุรกี ห้ามสอนอัลกุรอานและหะดีษ ปิดโรงเรียนศาสนา ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลาม ห้ามใส่หมวกตุรกีและผ้าสัรบ่าน ห้ามสตรีใส่หิญาบ รณรงค์การแต่งกายแบบสากลนิยม เริ่มใช้ปฏิทินคริสต์ศักราชแทนฮิจเราะฮฺศักราช ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เลียนแบบรัฐธรรมนูญสวิสเซอแลนด์ และในปีค.ศ. 1928 ตุรกีได้ออกกฎหมายห้ามเขียนหนังสือด้วยอักษรอาหรับ ทั้งนี้เพื่อตัดเยื่อใยความผูกพันระหว่างตุรกีกับโลกอิสลาม

หลังจากนั้นอะตาร์เตอร์กและวงศ์วานได้นำตุรกีถลำลึกเข้าไปในวังวนแห่งวิกฤติชาติทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ตุรกีต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาโดยตลอด จนติดหนี้สินล้นพ้น ช่วงที่นายกรมต.ออร์โดกานขึ้นบริหารประเทศใหม่ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตุรกีติดหนี้ IMF จำนวน 23,000 ล้านดอลล่าร์ หลังจากนั้นแกนนำรัฐบาลภายใต้พรรคยุติธรรมและพัฒนาของนายออร์โดกานนี้ค่อยๆพัฒนะซ่อมแซมประเทศ จนทำให้ปัจจุบัน ตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่สุดเป็นลำดับที่ 8 ของโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมา(พค. 2013) รัฐบาลเพิ่งประกาศปลดหนี้ IMF และอาจได้รับการคัดเลือกเป็นประเทศสมาชิกของคณะกรรมการบริหารกองทุน IMF อีกด้วย ซึ่งหากเป็นความจริง ตุรกีจะเปลี่ยนสถานะจากประเทศลูกหนี้ในอดีตมาเป็นประเทศบริหารหนี้แทน

นอกจากนี้ ออร์โดกานยังสามารถเพิ่มกองทุนสำรองในธนาคารแห่งชาติจาก 27,000 ล้านดอลล่าร์เมื่อปีค.ศ. 2002 เป็น 130,000 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน เพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากรจาก 3,000 ดอลล่าร์ : คน : ปี เป็น 11,000 ดอลล่าร์ : คน : ปี ภาคธุรกิจมีอัตราการขยายตัวจาก 250,000 ล้านดอลล่าร์ เป็น 900,000 ดอลล่าร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนวิกฤติสังคม ตุรกีไม่ต่างไปจากประเทศยุโรปทั่วไปที่จมปลักในคูคลองอบายมุขจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ร้านขายเหล้า ผับบาร์มีอยู่เกลื่อนเมือง และตั้งอยู่เพียงไม่กี่เมตรจากมัสยิดหรือสถานศึกษา หนุ่มสาวสามารถพลอดรักอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะโดยไม่มีกฎหมายหวงห้าม ประมาณกันว่าสตรีมุสลิมทั่วประเทศที่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพเป็นโสเภณีมีจำนวน 300,000 คน นายออร์โดกานเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ช่วงการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก เราได้มีแบบสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ละหมาดวันศุกร์ตามมัสยิดต่างๆทั่วประเทศว่า ท่านต้องการให้รัฐบาลปกครองด้วยกฎหมายอิสลามหรือไม่ ปรากฏว่า 95% ตอบว่าไม่ต้องการ เราสอบถามเฉพาะผู้ละหมาดวันศุกร์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้คนที่อยู่ตามผับบาร์หรือโรงแรม นี่คือผลพวงของการโฆษณาชวนเชื่อของระบอบแซคิวล่าร์ที่ได้หยั่งลึกเข้าไปในแนวคิดของประชาชน”

ระบอบแซคิวล่าร์อะตาร์เตอร์ก ยังได้มอมเมาสติปัญญามุสลิมะฮฺว่า การแต่งกายโป๊เปลือยคือความอิสรภาพและแสดงถึงการมีศักดิ์ศรี ในขณะที่การสวมใส่หิญาบคืออาชญากรรมและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นักเรียนและนักศึกษามีความผิดถึงขั้นโดนไล่ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหากยังใส่หิญาบ แม้กระทั่งสส.หญิงที่ใส่หิญาบเข้าไปในรัฐสภาก็ยังถูกตัดสินคดีกระทำผิดกฎหมายมาแล้ว

ภายในเวา 10 ปี ที่พรรคยุติธรรมและพัฒนาบริหารประเทศ รัฐบาลสามารถเชิญชวนมุสลิมะฮฺตุรกีกว่า 65% ใส่หิญาบ สามารถชำระประเทศจากอารยธรรมไร้ศีลธรรมให้กลับอยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะปัญหาโสเภณีที่รัฐบาลพยายามทดแทนด้วยการสร้างอาชีพใหม่ที่สุจริตให้แก่กลุ่มนี้

ตุรกีใหม่จึงเป็นตุรกีที่เปลี่ยนสถานะจากมือล่างเป็นมือบนอย่างเต็มภาคภูมิ ตุรกีไม่ใช่จำกัดการพัฒนาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบภัยพิบัติ ทั้งซึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ประสบภัยอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศที่เจริญแล้วทีเดียว

หลังการปฏิวัติประชาชนอิยิปต์ ตุรกีให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอิยิปต์จำนวน 2,000 ล้านดอลล่าร์ และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังสมทบให้อีก 250 ล้านดอลล่าร์ ทำให้ตุรกีได้ให้ความเหลือแก่อิยิปต์ไปแล้ว 2,250 ล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในนามองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก

การให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของตุรกียุคปัจจุบัน

ศ.ดุรมุส ฆูนาย หนึ่งในคณะกรรมการการอุดมศึกษาตุรกีเปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตุรกีสามารถเปิดมหาวิทยาลัยใหม่จำนวน 100 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียง 70 แห่งเท่านั้น ในจำนวนมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่นี้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 50 แห่ง และเป็นมหาวิทยาลัยวากัฟที่อยู่ในกำกับของรัฐบาลอีก 50 แห่ง

ศ. ฆูนาย ยังเปิดเผยอีกว่า ในปี 1981 มี นศ.ที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ย 6.2 % มีนศ.จำนวน 237,269 คน มีอาจารย์จำนวน 21,000 คน และมหาวิทยาลัยเพียง 19 แห่งเท่านั้น ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัย 170 แห่งทั่วประเทศ มีนศ.ที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 4.5 ล้านคน มีอาจารย์ 119,000 คน อัตราการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มเป็น 71.11 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราการศึกษาในประเทศอังกฤษด้วยซ้ำ นอกจากนี้มีนศ.ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากรองจากประเทศจีนเท่านั้น

โครงการสาธารณกุศลและกิจการวากัฟ ถือเป็นจุดเด่นของตุรกียุคอุษมานียะฮฺที่ได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลยุคนี้อย่างลงตัวที่สุด ช่วง 6-7 ปีหลังนี้ ในประเทศไทยโดยเฉพาะในสังคม 3 จังหวัดภาคใต้ เรามักได้ยินโครงการสาธารณกุศลต่างๆ มากมายเช่น ก่อสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงเรียน มัสยิด โครงการละศีลอด เชือกุรบ่านที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนจากตุรกี ทั้งที่ก่อนหน้านี้โครงการในลักษณะนี้ เป็นการผูกขาดโดยองค์กรสาธารณกุศลที่มาจากประเทศในตะวันออกกลางเท่านั้น

นี่คือความสำเร็จอันน่าทึ่งชนิดชั่วข้ามคืนของรัฐบาลพรรคยุติธรรมและพัฒนาภายใต้การนำของผู้นำตุรกียุคใหม่อย่างนายออร์โดกาน ซึ่งไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจของชาวตุรกีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มุสลิมทั่วโลกก็ยังแอบปลื้มและหวังลึกๆ ว่านี่คือสัญญาณเชิงบวกของการหวนกลับของตุรกีที่พร้อมถือธงนำประชาชาติโลกอีกครั้ง

แต่แล้ว ภารกิจการเดินหน้าพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดนี้ เกิดสะดุดลงด้วยการประท้วงของปชช.ที่ถือเป็นความท้าทายอำนาจของรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากบริหารประเทศมานาน 10 ปี และถือได้ว่าเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์การประท้วงอีกด้วย

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร

เชิญติดตามภาค 2 ครับ >> https://www.theustaz.com/?p=477

ศัตรูอิสลามไม่ต้องออกแรงบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสุลฏอนอุษมานีย์อีกแล้ว

สุลฏอนมูฮัมมัด อัลฟาติห์

  • ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปีค.ศ.1453 ทำให้การแจ้งข่าวดีของนบีฯได้กลายเป็นความจริง
  • ขึ้นครองราชย์นาน 30 ปี ระหว่าง 1451-1481
  • ตลอดระยะเวลา 30 ปี ได้ส่งกองทัพพิชิตเมืองต่างๆ รวมทั้งนำทัพด้วยพระองค์เองจำนวน 170 ครั้ง
  • ช่วงขึ้นครองราชย์ อาณาจักรอุษมานีย์มีอาณาเขตเพียง 650 ตร. กม. ต่อมาได้ขยายอาณาเขตในสมัยของพระองค์กว้างถึง 2.8 ล้านตร. กม. ครอบคลุม 3 ทวีปทั้งเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
  • พระองค์สิ้นพระชนม์บนม้าประทับขณะนำทัพจะไปพิชิตกรุงโรม อิตาลี

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์หนุ่มจอมพิชิต ที่เป็นความภาคภูมิใจของประชาชาติอิสลาม

ในอดีตและปัจจุบัน ศัตรูอิสลามพยายามบิดเบือนประวัติของสุลฏอนมูฮัมมัดอัลฟาติห์ว่าเป็นกษัตริย์จอมกระหายเลือด ชอบทำสงครามเพื่อกอบโกยสินสงคราม ใช้ชีวิตเพลย์บอยกับนางรำ หลงระเริงกับความสนุกสนานบนโลกดุนยา

แต่ขณะนี้ ศัตรูอิสลามไม่ต้องออกแรงบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสุลฏอนอุษมานีย์อีกแล้ว

เมื่อประเทศอาหรับได้ร่วมลงทุนกว่า 40 ล้านดอลล่าร์ ผลิตหนังซีรีย์ The Kingdom of Fire (อาณาจักรไฟ) ฉายไปตามทีวีทั่วประเทศอาหรับอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิยิปต์ อิรักและซีเรีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบิดเบือนและใส่ร้ายประวัติศาสตร์อาณาจักรอุษมานียะฮ์ที่เคยปกครองโลกกว่า 600 ปี ให้ผู้ชมเข้าใจว่าสุลฏอนอุษมานียะฮ์ หาใช่ใครที่ไหน นอกจากทหารรับจ้าง นักปล้นสะดมและจอมกระหายสงครามเท่านั้น

เราไม่เคยได้ยินประเทศคริสเตียน ใส่ร้ายโจมตีจอมจักรพรรดินโปเลียนของฝรั่งเศส
เราไม่เคยได้ยินชาวจีน บิดเบือนประวัติศาสตร์ของฮ่องเต้ที่ปกครองแผ่นดินจีน

แต่โลกมุสลิมปัจจุบัน คนที่ทำลายประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลามคือมุสลิมด้วยกันเอง

เรายังไม่เพียงพอกับการทำลายล้างของเหล่าศัตรูอีกหรือ

(ภาพวาดสุลฏอนมูฮัมมัดอัลฟาติห์)

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

เมื่อโลกอิสลามถึงคราวอับจนทางปัญญาและไม่มีแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์

บทเสวนาระหว่าง ดร. มูฮัมมัด อิวะฎีย์นักดาอีย์ชาวคูเวตกับนักประวัติศาสตร์ตุรกี นายอาห์มัด อัก กุดูซในประเด็นเนื้อหาหนังอิงประวัติศาสตร์ที่ชาติอาหรับ 3 ประเทศลงทุนกว่า 40 ล้านดอลล่าร์สร้างหนัง The Kingdom of fire ( บัลลังก์นรก) เพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสุลตานยุคอุษมานียะฮ์ โดยในตอนแรกของหนังได้นำเสนอภาพลักษณ์ของสุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ ว่าเป็นกษัตริย์บ้าอำนาจ ยอมสังหารน้องชายตัวเองที่มีอายุเพียง 6 เดือนเพราะเกรงว่าจะเติบโตมายึดบัลลังก์ของตน ในขณะเดียวกัน พระองค์ถูกแสดงเป็นตัวละครที่ชราภาพแล้ว ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์ยืนยันว่าพระองค์เสียชีวิตเมื่ออายุ 49 ปีเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ชาวตุรกีนายอาห์มัด กุดูซ ได้ออกมาตอบโต้ว่า นี่คือตัวอย่างของการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังสะท้อนถึงภาวะอับจนทางปัญญาและตีบตันทางประวัติศาสตร์ ที่ทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับ จำเป็นต้องยืมตำราของนักบูรพาคดีที่เกลียดชังอิสลามมาเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญของหนังเรื่องนี้เลย

นายอาห์มัดอัก กุนดูซ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่าสุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ สังหารน้องชายตัวเองที่มีอายุเพียง 6 เดือนนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ที่แม้แต่นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันก็ยังปฏิเสธ

เขายืนยันอีกว่าข้อมูลเท็จเหล่านี้ ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกโดยนักบูรพาคดีชาวออสเตรีย ชื่อ Joseph von Hammer (เสียชีวิตปี1856) ซึ่งได้บิดเบือนประวัติศาสตร์อิสลามโดยเฉพาะบรรดาสุลตานอุษมานียะฮ์ เขายังใส่ร้ายอีกว่าบรรดาสุลตานเป็นพวกกามวิปริตจิตวิตถารด้วยการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วยซ้ำ

สุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ เปิดเมืองคอนสแตนติโนเปิลในปี 1453 ขณะที่มีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น ถือเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามและเป็นบุคคลที่นะบีมูฮัมมัดแจ้งข่าวดีว่า เมืองคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิตอย่างแน่นอนผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำของกองทัพนี้ และทหารที่ดีที่สุดคือทหารที่ร่วมสงครามในกองทัพนี้เช่นกัน (รายงานโดยฮากิม4/422 และอิมามอาห์มัด 4/ 355)

หน้าที่บิดเบือนใส่ไคล้อิสลามและผู้นำมุสลิม น่าจะเป็นภารกิจที่ศัตรูอิสลามสงวนลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ประชาชาติอิสลามไม่จำเป็นต้องแย่งชิงทำภารกิจนี้เลย

คำถามคือ สุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์เสียชีวิตเมื่อ 500 ปีมาแล้ว ทำไม 3 ชาติอาหรับเพิ่งตื่นมาบิดเบือนประวัติศาสตร์ประชาชาติอิสลามในช่วงที่ประชาขาติอิสลามตกอยู่ในภาวะที่ระส่ำระสายที่สุดเหมือนทุกวันนี้

เรายังไม่หนำใจกับความอ่อนแออีกหรือ

เขียนโดย : ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ภาพประกอบ www.turkpress.co