ตุรกีกับการกลับสู่อ้อมกอดอิสลาม

เหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายระเบิดพลีชีพไนท์คลับที่นครอิสตันบูล เมื่อกลางดึกในคืนต้อนรับปีใหม่ปี 2017 โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลแอร์โดอานที่เป็นรัฐแซคิวล่าร์ เป็นรัฐบาลนอกรีต นิยมชื่นชอบ(วะลาอฺ)ศัตรูอิสลาม ส่วนพรรคยุติธรรมและพัฒนา(AK) เป็นพรรคที่ไม่มีส่วนใดๆกับอิสลาม อีกทั้งยังอนุญาตให้มีการเปิดโสเภณีอย่างกว้างขวาง อนุญาตให้ชายหาดเป็นที่เปลือยกายอย่างเสรี ลดภาษีเหล้าและสถานอบายมุข โดยที่พวกเขาไม่เคยนำหลักฐานการใส่ร้ายเหล่านี้มาแสดงต่อสาธารณชนแม้แต่ชิ้นเดียว

ผู้คนที่เสพข่าวลวงประเภทนี้ จะคล้อยตามการโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้จรรยาบรรณนี้อย่างหัวปักหัวปำ โดยเฉพาะข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อโชเชี่ยลที่มีเทคนิกการหลอกลวงแพรวพราว หลายคนจึงตกกับดักของแนวคิดตักฟีรีย์(ตัดสินมุสลิมตกเป็นกาฟิร)ชนิดกู่ไม่กลับ هدانا الله جميعا

ตุรกียุคแอร์โดอานและพรรค AK ได้รับมรดกบาปที่สืบทอดจากรัฐบาลเซคิวล่าร์ที่ได้หยั่งลึกเข้าไปในสังคมตุรกีเกือบ 1 ศตวรรษ พวกเขาได้วางกฎเหล็กและรัฐธรรมนูญเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อปราบปรามอิสลามโดยเฉพาะ ในขณะที่ฝ่ายทหารก็ใช้อำนาจก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า

ลองพลิกดูประวัติศาสตร์ของรัฐบาลตุรกีช่วง 1950-1960 ที่นายอัดนาน แมนดรีสเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้พยายามฟื้นฟูและเรียกคืนตัวตนแห่งอิสลามของตุรกีด้วยการอนุญาตอะซานเป็นภาษาอาหรับอีกครั้ง อนุญาตเปิดโรงเรียสอนศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ สร้างมัสยิดจำนวน 10,000 หลัง สร้างโรงเรียนท่องจำอัลกุรอาน 20,000 แห่ง สร้างวิทยาลัยผลิตนักเผยแพร่อิสลาม 22 แห่ง ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโลกอาหรับ ตลอดจนขับไล่ทูตอิสราเอลเมื่อปี 1957 แต่เขาถูกทหารยึดอำนาจในปี 1960 และถูกตัดสินชีวิตด้วยการแขวนคอพร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 2 ท่าน ด้วยข้อหาเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและบริหารแผ่นดินที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเคมาลิสต์

เราไม่เคยลืมโศกนาฏกรรมทางการเมืองของ ศ.ดร.นัจมุดดีน อัรบะกาน บิดาแห่งการเมืองตุรกี ที่ถูกอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญครอบงำและเฝ้าระวังทุกจังหวะก้าว ตลอดระยะเวลาของการโลดเล่นบนถนนทางการเมืองของท่าน

คนฉลาดมักจะใช้คนอื่นเป็นบทเรียน แต่คนโง่มักจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนอื่นเสมอ

แอร์โดอานจึงใช้บทเรียนในอดีตเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่พยายามเพาะหน่อไม้ต่างพันธุ์ท่ามกลางกอไผ่ที่หนาทึบ การที่มันจะชูช่อแข่งขันกับดงหนามที่คอยทิ่มแทงและสกัดกั้น ย่อมต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ชาญฉลาด ผ่อนปรน ใจกว้างและมองการณ์ไกล ไม่บุ่มบ่ามใจร้อนหรือสร้างปราสาททราย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์นำเสนอผลงานเชิงประจักษ์ในมิติทางศาสนาและความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสู่กลิ่นไอแห่งอิสลามอย่างชัาๆแต่มั่นคงภายใต้การบริหารประเทศของพรรค AK โดยไม่พูดถึงความสำเร็จด้านต่างๆทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ระหว่างปี 2002-2013 รัฐบาลตุรกีสร้างมัสยิด 17,000 หลัง และบูรณะซ่อมแซมสถานอิบาดะฮ์ยุคอุษมานียะฮ์หลายพันแห่ง

2. ยกเลิกกฎหมายห้ามมุสลิมะห์แต่งฮิญาบตามสถานราชการและสถานศึกษา โดยกรณีนางมัรวะห์ (Merve Safa Kavakci) สส. หญิงคนแรกที่ใส่ฮิญาบสังกัดพรรคคุณธรรมอิสลามที่ชนะเลือกตั้งเป็น สส. ในปี 1999 สุดท้ายนางถูกขับไล่ออกจากสภาฯในสภาพที่น่าหดหู่ท่ามกลางเสียงโห่ไล่ของสมาชิกสภาฯผู้ทรงเกียรติ ต่อมานางถูกถอนสัญชาติและเนรเทศจนต้องลี้ภัยที่สหรัฐฯ แต่ยุคแอร์โดอาน นางได้รับคืนสัญชาติตุรกีอีกครั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัวลาลัมเปอร์ ปัจจุบันในสภาตุรกีมีสส. มุสลิมะฮ์ที่ใส่ฮิญาบกว่า 20 ท่าน มีรัฐมนตรีมุสลิมะฮ์ใส่ฮิญาบ 1 ท่าน และผู้พิพากษามุสลิมะฮ์สวมฮิญาบอีก 1 ท่าน

3. จำนวนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนสอนศาสนา (อิมามคอเต็บ) เพิ่มจาก 65,000 คน เมื่อปี 2002 เป็น 658,000 คนในปี 2013 และปัจจุบันมีนักเรียนที่เรียนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ทั่วโลก 1 ล้านคน

4. บรรจุหลักสูตรอิสลามศึกษาในโรงเรียนสังกัดรัฐบาลตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งที่ผ่านมาหลักสูตรนี้กลายเป็นหลักสูตรต้องห้าม

5. ในปีการศึกษา 2014 กระทรวงศึกษาธิการตุรกีได้บรรจุวิขา ภาษาอุษมานีย์ (ภาษาตุรกีเขียนด้วยอักขระอาหรับ) เป็นวิชาบังคับ อนูญาตให้นักเรียนที่จบ ป. 4 ขึ้นไปสามารถลาเรียน 2 ปี เพื่อเข้าหลักสูตรท่องจำกุรอาน และยกเลิกหลักสูตรภาคปฏิบัติวิธีการเสิร์ฟเหล้าในวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรการท่องเที่ยว

6. ยกเลิกการกำหนดอายุ 12 ปี สำหรับนักเรียนที่ต้องการท่องจำอัลกุรอาน โดยที่รัฐบาลประกาศในปี 2013 ให้โอกาสเด็กก่อนวัยเรียนสามารถเรียนอัลกุรอานในโครงการ Qur’an Courses for Preschoolers

7. ปี 2013 รัฐบาลตุรกีออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเหล้าและธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 ทุกวัน โดยไม่จำกัดวันและสถานที่ พร้อมห้ามโฆษณาเหล้าตามสื่อต่างๆทั่วประเทศ จนทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ที่อิสตันบูล

8. รัฐบาลพรรค AK ได้มีมาตรการเปลี่ยนผับบาร์จำนวนหลายแห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดเหล้า

9. แอร์โดอานถูกสื่อฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีว่าต้องการทำให้อิสตันบูลกลายเป็นเมืองอิสลามและละทิ้งเซคิวล่าร์ หลังจากที่ท่านพูดคุยแก้ปัญหาโสเภณีในระยะยาว ท่านยังถูกกล่าวหาเป็นคนล้าหลัง คร่ำครึเนื่องจากจัดโครงการละหมาดขอฝน แต่ภายหลังไม่กี่ชั่วโมง ฝนได้เทลงมาอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายต่อต้านต้องปิดปากเงียบ

10. ภายในปี 2018 ตุรกีกำหนดเปิดสถาบันทางการเงินอิสลามจำนวน 170 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้สถาบันในลักษณะนี้เป็นสถาบันผิดกฎหมาย

11. ปี 2013 รัฐบาลประกาศจัดระเบียบหอพัก ด้วยการห้ามนักศึกษาที่เรียนในสังกัดรัฐบาล เข้าพักรวมกันระหว่างหญิงชาย โดยตั้งเป้าว่าในปี 2014 จะไม่มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ห้องพักปนกันระหว่างชายหญิง

12. ปี 2016 แอร์โดอานเรียกร้องให้มีผู้แทนของประเทศมุสลิมเข้าเป็นสมาชิกในประเทศสมาชิกถาวรสหประชาขาติ เพราะทั้ง 5 ประเทศในปัจจุบันถือเป็นผู้แทนของกลุ่มประเทศคริสเตียนและคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งสามารถใช้อำนาจวีโต้อย่างอิสระเสรี

13. แอร์โดอานเคยถูกจับเข้าคุกในปี 1997 ฐานอ่านกลอนต้องห้ามที่ถูกตัดสินว่าสร้างความขัดแย้งในสังคม ทั้งๆที่กลอนดังกล่าวปรากฏในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมาแอร์โดอานได้อ่านกลอนดังกล่าวในรัฐสภาอีกครั้ง ข้อความส่วนหนึ่งได้แก่
– มัสยิดคือค่ายทหารของเรา
– โดมคือหมวกของนักรบ
– หออะซานคือหอกทวน
– ศรัทธาชนคือพลทหารกล้า
– นี่คือทหารอันบริสุทธิ์ที่จะปกป้องศาสนาของเรา

14. รัฐบาลตุรกีจัดขบวนยุวชนที่มีอายุ 7 ขวบ นับหมื่นคน เดินถือป้ายตามท้องถนนอิสตันบูล พร้อมข้อความว่า “เรามีอายุ 7 ขวบแล้ว เราพร้อมจะรักษาละหมาดและท่องจำอัลกุรอาน” พร้อมจัดรางวัลทั่วประเทศสำหรับยุวชนที่ปฏิบัติตามโครงการนี้ โดยเฉพาะละหมาดศุบฮิโดยญะมาอะฮ์ที่มัสยิด


นี่คือส่วนหนึ่งของผลงานรัฐบาลแอร์โดอานที่บางกลุ่มได้ฟัตวาท่านว่าเป็นมุนาฟิก นอกรีต ฏอฆูตและใฝ่เซคิวล่าร์
ถามว่า
เราเคยมีผู้นำเซคิวล่าร์คลั่งประชาธิปไตยคนไหนบ้างในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำสิ่งดังกล่าว แม้เพียงข้อเดียวก็ตาม

ในเวลาเที่ยงวันอันสดใส ไร้เมฆหมอก
ยังมีบางคน ที่กระวนกระวายท่ามกลางความมืดมน
เราจะโทษดวงอาทิตย์
หรือดวงตาอันมืดบอดกันแน่


บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 07-01-2017 http://www.turkpress.co/node/29821

ถอดความโดย Mazlan Muhammad

ทำไมชาติตะวันตกชิงชังแอร์โดอาน

Eric S.Margolis (77ปี) นักเขียนและนักข่าวชาวอเมริกันได้อธิบายเหตุผลที่ทำให้ชาติตะวันตกเกลียดชังประธานาธิปดีแอร์โดอาน นอกเหนือจากการเป็นคู่อริทางการเมืองในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตระหว่างชาติตะวันตกกับชาวเซลจุกและเตอร์กออตโตมาน

Margolis เล่าว่า ตุรกีเป็น 1 ในกลุ่มสมาชิกนาโต้มาตั้งแต่ปีค.ศ.1952 โดยที่สหรัฐอเมริกาได้สยายปีกคุมอำนาจเหนือตะวันออกกลาง กองกำลังตุรกีที่ใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มนาโต้รองจากสหรัฐอเมริกา บรรดานายพลตุรกีจับมือกับทหารอเมริกันบังคับพวงมาลัยกำหนดทิศทางของตุรกีมาโดยตลอด กลุ่มแกนนำตุรกีจำนวนหนึ่งที่ได้กลายพันธุ์ คอยรับคำสั่งจากวอชิงตันอย่างว่านอนสอนง่ายเสมอมา พร้อมคอยคุมกำเนิดการขยายตัวของอิสลามอย่างเข้มงวดและปล่อยให้อิสลามแคระแกร็นอยู่ในพื้นที่ชนบทอันทุระกันดารเท่านั้น

Margolis วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1994 เมื่อมีชายตุรกีอายุ 40 ปีชื่อเราะญับ ฏอยยิบ แอร์โดอาน ก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีกรุงอิสตันบูลพร้อมจัดการทำ5 ส. ในการบริหารบ้านเมือง แต่เขาถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากไปอ่านบทกลอนอิสลามท่อนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นกลอนที่ปรากฏในตำราเรียนตามโรงเรียนต่างๆในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

หลังจากพ้นโทษ เขาได้ก่อตั้งพรรคยุติธรรมและพัฒนาที่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยและภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ตุรกี บริหารประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบริการประชาชน ให้สิทธิ์แก่คนยากจนและผู้สูงอายุ จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ช่วยเหลือชาวมุสลิมทั่วโลกและปลูกฝังค่านิยมการใช้ชีวิตที่ดำรงไว้บนหลักการยุติธรรม

ไม่มีอะไรที่สามารถสกัดกั้นดาวจรัสแสงของอดีตนักฟุตบอลคนนี้ได้ ในปี 2003 เขาได้รับการคัดเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากชาวตุรกีที่มีประชากรมากถึง 81 ล้านคน เขากลายเป็นขวัญใจชาวตุรกีอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีชาวเตอร์กกลายพันธุ์ที่มองเขาเเละพรรคพวกด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังเสมอ

Margolis วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้คิดร้ายต่อแอร์โดอานคือยุคก่อนแอร์โดอาน กลุ่มเตอร์กกลายพันธุ์และกลุ่มทหารต่างมีบทบาทและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือแผ่นดินตุรกีในทุกด้าน ไม่ว่าด้านการสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา ด้านการพิพากษา วงการทูตและการต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อยู่ใต้โอวาทของสหรัฐอเมริกา

ก่อนยุคแอร์โดอานระบบรัฐสภาตุรกีและการบริหารทางการเงินของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำสุดขีด

การเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเเอร์โดอานบริหารประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาล ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังทลาย สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ ยุติปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังกับชาวเคิร์ด สร้างสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดแถวนายทหารจำนวน 600,000 นาย ให้กลับสู่กรมกองตามภารกิจเดิม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เตอร์กกลายพันธุ์และชาวเซคิวล่าร์เกลียดชังแอร์โดอาน ซึ่งพวกเขาอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารตุรกีจำนวน 16 ครั้งนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

จึงไม่ใช่เป็นเหตุการณ์บังเอิญที่พวกเขาได้ก่อรัฐประหารล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ที่ผ่านมา พวกเขาเกือบสังหารแอร์โดอานสำเร็จแล้ว แต่ด้วยพลังประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้อย่างกล้าหาญ ทำให้แผนการต้องพังทลาย

หลังรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้ เเอร์โดอานได้จับกุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการและนักข่าวกว่า 10,000 คนที่มีหลักฐานผูกมัดว่าพัวพันกับคดีประวัติศาสตร์นี้ และยังมีหลักฐานมัดตัวว่าฐานทัพอากาศ Incirlink ที่เป็นฐานทัพร่วมสหรัฐอเมริกาและตุรกีคือศูนย์บัญชาการของรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้

เเอร์โดอานจึงเป็นเด็กดื้อในสายตาสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะกรณีวิกฤตซีเรียและปาเลสไตน์ ที่สหรัฐอเมริการู้สึกว่าเเอร์โดอานอยู่เหนือการควบคุมในขณะที่อิสราเอลก็ไม่พอใจแอร์โดอานที่แสดงจุดยืนเข้าข้างการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และแสดงอาการล้ำเส้นมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลจึงเกลียดชังแอร์โดอาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนิทชิดเชื้อกับรัสเซียมากเกินเหตุ ก็เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่พอใจแอร์โดอาน สื่อสหรัฐได้ทีโหมโรงใส่ร้ายแอร์โดอานอย่างบ้าคลั่ง ในขณะเดียวกัน กลับเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ต่อหน้าผลงานเถื่อนถ่อยของจอมเผด็จการอย่างซีซีย์ ผู้นำกระหายเลือดแห่งอียิปต์เพราะซีซีย์เป็นเด็กในคาถาของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

Margolis อธิบายเพิ่มเติมว่าดีกรีความเกลียดชังของชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเเอร์โดอานได้ถึงจุดเดือด เมื่อแอร์โดอานได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นประธานาธิบดี พร้อมอำนาจล้นฟ้าภายใต้ระบอบประธานาธิบดี ที่กล่าวได้ว่าเเอร์โดอานกลายเป็นผู้นำตุรกีที่มีความโดดเด่นที่สุดหลังยุคอะตาร์เตอร์ก

Margolis กล่าวทิ้งท้ายบทวิเคราะห์ของเขาว่า “หากตุรกีสามารถครอบครองแหล่งน้ำมันดังเช่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตุรกีจะกลายเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความสำคัญยิ่ง”


บทความนี้เผยแพร่ในภาษาอาหรับเมื่อวันที่ 04-07-2018

ถอดความโดย Mazlan Muhammad

อ่านต้นฉบับภาษาอาหรับ https://www.turkpress.co/node/50839

ชาวปาเลสไตน์ได้รับเนื้อกุรบานจากพี่น้องเมืองไทย

ตามที่กลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันและภาคีองค์กรได้แก่ มัสยิดอัตตะอาวุน Jaringan Badan-Badan Islam dan Masjid Wilayah Jala -JABIM มูลนิธิอัสสลามเพื่อเยาวชนและ theustaz.com ซึ่งเป็นองค์กรในภาคีเครือข่ายสภาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีได้ดำเนินโครงการกุรบาน ณ เมืองชาม ซึ่งสามารถเก็บยอดเงินบริจาคจำนวน 415,880 บาท โดยส่วนหนึ่งได้มอบให้แก่ AL-Quds Foundation Malaysia จำนวน 195,900 บาท นั้น

ในช่วงอิดิลอัฎฮา 1441 ที่ผ่านมา AL-Quds Foundation Malaysia ได้เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวไทยเชือดกุรบานที่เขตเวสต์แบงค์ ชานเมืองบัยตุลมักดิสและเมืองกาซ่าโดยสามารถเชือดแกะจำนวน 45 ตัวและสามารถจ่ายเนื้อกุรบานไปยังครอบครัวยากจนในปาเลสไตน์กว่า 150 ครอบครัว

Dr. Sharif Abu Shammala ผู้อำนวยการ AL-Quds Foundation Malaysia กล่าวว่า ในนามพี่น้องชาวปาเลสไตน์ ต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวไทยทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมครั้งนี้ จุดยืนของท่านที่มีต่อแผ่นดินอันจำเริญนี้ ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่สะท้อนถึงเอกภาพของประชาชาติมุสลิม ซึ่งพี่น้องจากประเทศไทยได้ยืนหยัดเคียงข้างกับปัญหาปาเลสไตน์ด้วยดีเสมอมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อัลลอฮ์จะทรงตอบรับการงานที่ดีของท่านและสะสมในสมุดบันทึกแห่งความดีงาม

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

โครงการกุรบาน ณ เมืองชาม 1441 ได้เงินบริจาคทะลุเป้า

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ตรงกับวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮ์ 1441 ถือเป็นวันอะเราะฟะฮ์ที่มีความประเสริฐยิ่ง เวลาประมาณ 11.30 น. ทีมงานเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันนำโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ นำเงินบริจาคของพี่น้องชาวไทยจำนวน 415,880 บาท เพื่อจัดโครงการกุรบาน ณ เมืองชาม โดยมี 2 องค์กรภาคีได้แก่ AL-Amal For Development & Social Care และ AL-Quds Foundation Malaysia รับดำเนินการจัดทำกุรบานในพื้นที่ที่ครอบคลุมประเทศเลบานอน ปาเลสไตน์และซีเรีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากภัยสงครามและถูกปิดล้อมประเทศ

ผศ. มัสลัน มาหะมะ ในฐานะผู้ประสานกลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน เปิดเผยว่า จากการที่องค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้แก่ JABIM มัสยิดตะอาวุนบางปู มูลนิธิอัสสลามเพื่อเยาวชน theustaz.com และเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน ซึ่งเป็นองค์กรภาคีเครือข่ายที่อยู่ภายใต้สังกัดสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ระดมเงินบริจาคตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 15-29 กรกฎาคม 2563 โดยสามารถเก็บยอดบริจาคได้จำนวน 415,880 บาท ซึ่งเกินเป้าที่ได้กำหนดไว้ โดยเงินจำนวนดังกล่าวได้โอนเข้าบัญชีของ 2 องค์กรภาคีแล้วตามวัตถุประสงค์ทุกประการผ่านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสาขายะลา 2 ยะลา ผลการดำเนินงานจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

ในโอกาสนี้ จึงใคร่ขอขอบคุณพี่น้องทุกท่านที่ร่วมบริจาคและอำนวยความสะดวกให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามที่ได้ปฏิบัติในวันอันประเสริฐนี้ เเละทรงบันทึกในแฟ้มสะสมความดีในวันอาคิเราะฮ์

ربنا تقبل منا إنك أنت السميع العليم وتب علينا إنك أنت التواب الرحيم واجعل هذه الأعمال في سجلات حسناتنا يوم القيامه آمين يا رب العالمين

รัฐลึกตุรกี ความจริงหรืออิงนิยาย

หลังจากเกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลตุรกี เมื่อค่ำ 15/8/2016 ผ่านไปไม่นานนัก แกนนำรัฐบาลได้พากันปรากฏตัวตามสื่อพร้อมยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้คือ กลุ่มรัฐลึก ที่มีกลุ่มทหารที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับฟัตหุลลอฮฺ กุเลน นักการศาสนาที่พำนักในรัฐแพนซิลวิเนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 จนกระทั่งปัจจุบัน กล่าวกันว่า กลุ่มนี้มีเครือข่ายโยงใยในระบบและกลไกรัฐตุรกีอย่างลึกลับยิ่งกว่านวนิยาย

กลุ่มคิดมัต (Khidmat)

รัฐลึกเป็นศัพท์ทางการเมืองที่ถูกใช้ในตุรกี โดยมี กลุ่มคิดมัต ซึ่งเป็นองค์กรเปิดที่ก่อตั้งโดยบรรดาสานุศิษย์ของท่านสะอีด อันนูรซีย์ (มีชีวิตระหว่าง 1877-1960) แต่เนื่องจากบุคลิกและผลงานอันโดดเด่นของกุเลน ทำให้คิดมัตกลายเป็นที่รู้จักควบคู่กับกุเลน โดยเฉพาะหลังปี 1980

กุเลนที่ยึดปรัชญาวลีเด็ดของท่านสะอีด อันนูร์ซีย์ ที่เคยกล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้รอดพ้นจากชัยฏอนและการเมือง” เขาไม่เคยก่อตั้งพรรคการเมือง และมองว่าภาวะการไร้การศึกษา ความแตกแยกและความโง่เขลาคือโรคร้าย 3 เส้าที่กัดกร่อนสังคมมุสลิม ที่จำเป็นต้องเยียวยาอย่างเร่งด่วน เขาจึงใช้กลุ่มคิดมัต เป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับทางการศึกษา โดยเน้นการบริการด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาจนกลายเป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระดับโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนโฉมกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของตุรกี มีธนาคารในเครือหลายแห่ง มีสำนักข่าวและสำนักพิมพ์หลายแห่ง ในจำนวนนี้ คือนสพ.Zaman ทั้งภาษาตุรกี อาหรับและอังกฤษ เฉพาะภาคภาษาตุรกีนสพ.ฉบับนี้มียอดจำหน่ายรายวันมากกว่า 1 ล้านฉบับ

นอกจากนี้กลุ่มคิดมัต ได้สร้างมหาวิทยาลัยในตุรกีจำนวน 17 แห่ง เปิดสถาบันวากัฟ 96 แห่ง เปิดสาขาองค์กรทั่วตุรกีกว่า 900 สาขา เปิดโรงเรียนทั่วตุรกีนับร้อย ตลอดจนเปิดสาขาทั่วโลกกว่า 145 ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา เอเชียกลางและแอฟริกา นสพ.Yeni Safak ของตุรกีได้ประเมินทรัพย์สินของกลุ่มนี้ว่ามีมูลค่ามหาศาลถึง 1.5 พันล้านดอลล่าร์ทีเดียว

นี่คือเรื่องจริงที่ไม่อิงนิยาย ของกลุ่มคิดมัต

อาศัยปีกอันกล้าแข็งอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสังคมการศึกษาและเศรษฐกิจ ชนิดที่องค์กรของรัฐ ก็ยังไม่สามารถทำดีได้เท่า กลุ่มคิดมัตจึงแทรกซึมเข้าไปในกลไกรัฐอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง วงการตำรวจ การศึกษา ศาลยุติธรรม องค์กรสายลับข้ามชาติ และล่าสุดคือวงการทหาร

ถึงแม้ในช่วงแรกๆ กลุ่มคิดมัตจะเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองกับแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคยุติธรรมและพัฒนา แต่ก็เป็นไปในลักษณะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยแลกกับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลและวงการราชการ ในขณะที่พรรคน้องใหม่อย่างพรรคยุติธรรมและพัฒนา ก็ยังมีความจำเป็นต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพาฐานคะแนนของกลุ่มคิดมัต เพื่อประกันถึงชัยชนะในการเลือกตั้ง จนกระทั่งในระยะหลังๆ ก็เริ่มเห็นรอยร้าวที่รัฐบาลมักโอดครวญว่ากลุ่มคิดมัต ได้ก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐบาลมากเกินไป โดยเฉพาะหลังโดนจับได้ว่า กลุ่มนี้พยายามลอบสังหารบุคคลสำคัญอย่างนายฮากาน ฟีดาน ผอ.ฝ่ายข่าวกรองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ความขัดแย้งเรื่องคาราวานเรือมาวี มาร์มาร่า การประท้วงสวนเกซีที่ลงเอยด้วยการประท้วงเรื่องเหล้าเมื่อมีนาคม 2013 เหตุการณ์ปราบปรามคอร์รัปชั่นเมื่อปลายปี 2013 ที่รัฐบาลถือเป็น ความพยายามก่อปฏิวัติโดยใช้ผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือ และท้ายสุดเป็นการรัฐประหารเมื่อ 15/8/2016 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลรู้ดีว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ หาใช่ใครอื่น นอกจากกลุ่มคิดมัตของนายกุเลน

องค์กรคิดมัต ลับ ลวง พราง

ผลจาก “การปฏิวัติโดยผู้พิพากษา” ล้มเหลวเมื่อปลายปี 2013 และไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ตามแผน รัฐบาลจึงเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวองค์กรนี้อย่างเข้มงวด มีการจับกุมและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ราชการหลายตำแหน่ง ถึงขนาดกุเลนต้องออกมาอ่านดุอากุนูต พร้อมสาปแช่งรัฐบาลตุรกีให้พังพินาศ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะในวงการทหารและศาลยุติธรรม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกวาดล้างกลุ่มคิดมัตได้อย่างสะดวก หนำซ้ำ ต้องมาสะดุดที่กระบวนยุติธรรม ที่มักผ่อนปรนและช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ให้ยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานอ่อน บางคนก็ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

แต่หลังจากรัฐประหารล้มเหลวที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้โอกาสครั้งใหญ่ในการสะสางเสี้ยนหนามทางการเมือง ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมจับกุมเจ้าหน้าที่ราชการระดับสูง ทั้งในวงการทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ บุคคลทางการศึกษาและนักวิชาการ ตลอดจนบรรดาผู้นำศาสนา ที่มีส่วนพัวพันกับกลุ่มคิดมัต กว่า 80,000 คนที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งแม่ทัพภาค 2,3,4 ผบ.ทหารอากาศและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ถือเป็นการจัด 5 ส.ครั้งยิ่งใหญ่ระดับประเทศในประวัติศาสตร์ตุรกี

นอกจากเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศแล้ว เหตุผลประการหนึ่งที่รัฐบาลดำเนินการปราบปรามกลุ่มคิดมัตอย่างไม่เกรงใจ คือ กระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อกลุ่มคิดมัต ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ จากการที่เคยเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ที่สุดให้แก่พรรคยุติธรรมและพัฒนา ในการเลือกตั้งช่วงหลังนี้ พรรคคิดมัตสามารถสนับสนุนเพียง 500,000-1,000,000 เสียงเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมของกลุ่มคิดมัตได้เป็นอย่างดี

การเติบโตอันน่าพิศดารในระยะเวลาสั้นๆของกลุ่มคิดมัตนี้ มาจากนโยบายและมาตรการลับ ลวง พรางสุดยอดดังนี้

1. การทุจริตข้อสอบเข้าวิทยาลัยเตรียมทหารและสอบบรรจุข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ที่สมาชิกกลุ่มมักสอบติดเกือบ 100% ชนิดได้คะแนนเต็มอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงแม้อาจมีคดีร้องเรียนถึงขั้นขึ้นศาล สุดท้ายก็ต้องยกฟ้อง เข้าตำราเรียบร้อยโรงเรียนกุเลนไปทุกราย

2. สมาชิกกลุ่มคิดมัตสามารถไต่เต้ารับตำแหน่งระดับสูงในวงการทหาร ตำรวจ สันติบาล ผู้พิากษาและการศึกษา สมาชิกกลุ่มคิดมัตจึงแทรกซึมเข้าไปในระบบราชการอย่างลับๆ ตลอดจนใช้ระบบบำเหน็จความดีความชอบโดยใช้หลัก ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร

3. ระบบการรักษาความลับสุดยอด ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับองค์กรลับมาโซนีหรือมอสส้าดของยิว รวมทั้งการเชื่อฟังผู้นำชนิดไม่อนุญาตต้องคิดต่อ หรือแม้กระทั่งสงสัย มาตรการลับ ลวง พรางถึงขั้นสามารถละหมาดได้เพียงใช้สัญลักษณ์ “กระพริบตา” และได้รับอนุญาตให้ดื่มเหล้าได้เพื่ออำพรางตัวตนที่แท้จริง จนกระทั่งในระหว่างนายทหารด้วยกัน ก็ยังไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าใครเป็นใคร ยกเว้นผู้นำระดับสูงที่คอยเป็นพี่เลี้ยงประจำตัวเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับผู้นำ เป็นไปในลักษณะ “รอยถักของเส้นด้าย ที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนเดียว ไม่ใช่ระบบเครือข่ายตามธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรทั่วไป

ด้วยมาตรการเหล่านี้ กลุ่มคิดมัตจึงค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในหน่วยงานรัฐบาล พร้อมสถาปนารัฐลึกที่คอยบงการรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง

พวกเขาใช้วิธีการทุกรูปแบบ เพื่อให้ได้ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ การแบล็คเมล์ หักหลัง ลวงล่อหรือแม้กระทั่งลอบสังหาร ก็เป็นมาตรการที่จำเป็น หากสามารถบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ดังเหตุการณ์กลุ่ม Ergenakon ปี 2007 และ 2010 (กลุ่มทหารอำนาจมืดที่คอยปกป้องอุดมการณ์ของเคมาลิสต์) ที่โดนกลุ่มคิดมัตตลบหลังให้ก่อปฏิวัติ เมื่อความลับถูกเปิดเผย ทำให้ทหารชั้นผู้ใหญ่กลุ่มนี้ถูกขับออกจากราชการหลายตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสของทหารสายคิดมัตเข้ามาเสียบแทน

ประธาราธิบดีแอร์โดอาน ยังออกมา ยอมรับว่า ก่อนการปฏิวัติล้มเหลวครั้งล่าสุด ตนเองมีความยากลำบากมากที่จะโน้มน้าวแกนนำรัฐบาลบางคน ให้เขื่อว่ากลุ่มคิดมัตอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร และอะไรคือเหตุผลที่ตุรกี สามารถยืนยันว่ากลุ่มคิดมัตคือกลุ่มก่อการร้ายระดับสากล แต่เมื่อทุกอย่างปรากฎตัวอย่างเปิดเผย ทุกคนก็รู้ว่าอะไรคือความจริง

อัลลัยซ์ บินสะอัด กล่าวว่า

‎إذا رأيتم الرجل يمشي على الماء ويطير في الهواء فلا تغتروا به حتى تعرضوا أمره على الكتاب والسنة

เมื่อใดที่ท่านเห็นคนๆหนึ่งสามารถเดินเหินเหนือน้ำ และโบยบินกลางเวหา ท่านอย่างเพิ่งพิศวงกับคนๆ นั้น จนกว่าท่านจะนำพฤติกรรมและการปฏิบัติของเขา มาเทียบเคียงกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺก่อน

ตามทัศนะของคนบางคน กุเลนอาจเป็นคนวิเศษที่สามารถโบยบินและเดินย่ำบนผิวน้ำอย่างองอาจ ด้วยผลงานทั่วโลกราวปาฏิหารย์ พร้อมเสียงสรรเสริญยกย่องดุจผู้วิเศษที่ลงมาจากฟากฟ้า แต่เมื่อเทียบเคียงกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺแล้ว ผลงานล้นฟ้าทั้งมวล อาจกลายเป็นเศษธุลีที่ปลิวว่อนในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺเท่านั้น คือผู้ทรงรอบรู้

ที่มา
http://www.aljazeera.net/knowledgegate/opinions/2016/7/28/التنظيم-الموازي-في-تركيا-بين-الحقائق-والأساطير


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ละครอิงประวัติศาสตร์ การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

เริ่มต้นด้วยการแจ้งข่าวดีของเราะสูลุลลอฮ์ที่กล่าวว่า “คอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิตอย่างแน่นอน แม่ทัพที่ดีที่สุดคือแม่ทัพที่พิชิตเมืองนี้ และกองทัพที่ดีที่สุดคือกองทัพนี้เช่นกัน”

หลังจากการแจ้งข่าวดีนี้ โลกอิสลามต้องรอเกือบ 800 ปี กว่าจะเกิดขึ้นจริงในปี 1453 เมื่อสุลตานหนุ่มมูฮัมมัด อัลฟาติห์พร้อมไพร่พล 300,000 นาย บุกพิชิตเมืองหลวงอาณาจักรไบเซนไทน์ภาคตะวันออกนี้

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การเตรียมความพร้อม การปลูกความหวัง การทำสิ่งนอกความคาดหมาย การบากบั่นมุ่งมั่นใฝ่สัมฤทธิ์ เราสามารถเรียนรู้ผ่านละครอิงประวัติศาสตร์ตอนนี้

กำหนดวันที่ 1 ของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ และวันอีฎิ้ลอัดฮา ฮ.ศ.1441

ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ฮ.ศ.1441 ในวันอังคาร ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฎว่าในวันและเวลาดังกล่าว มีผู้เห็นดวงจันทร์

จึงขอประกาศว่า วันที่ 1 ของเดือนซุ้ลฮิจยะห์ ฮ.ศ.1441 ตรงกับวันพุธ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2563 และวันอีฎิ้ลอัดฮา ฮ.ศ.1441 ตรงกับวันศุกร์ ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 จึงขอให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศได้ปฏิบัติศาสนกิจในวันดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน

ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2563

อาลัยอายาโซเฟียหรืออาการหวาดกลัวอิสลามกันแน่

ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์อุลามาอิสลามนานาชาติ International Union for Muslim Scholar – IUMS


วินาทีที่มีการตัดสินใจคืนสถานภาพมัสยิดใหญ่ ที่รู้จักกันในนามมัสยิดอายาโซเฟียในเมืองอิสตันบูลของตุรกี สู่สถานภาพเดิมดังที่เคยเป็นมาก่อนปี ค.ศ. 1932 คลื่นแห่งความโกรธ การประท้วงและการผรุสวาสกล่าวร้าย ก็พลันปรากฏออกมาจากกลุ่มนิกายคริสต์บางส่วน ชาติตะวันตกบางส่วน แล้วก็ตามมาด้วยชาวอาหรับใจคดเหมือนเดิม

น่าแปลกใจที่ยูเนสโกซึ่งน่าจะเป็นกลางในประเด็นทางศาสนาและการเมือง กลับเข้าร่วมกระบวนกับพวกเขาด้วย

ขั้นตอนของศาลยุติธรรมตุรกีและประธานาธิบดีตุรกีคือการไม่แปลงโบสถ์เป็นมัสยิดอย่างที่บางคนกล่าว หรือจะเปลี่ยนโบสถ์เป็นพิพิธภัณฑ์หรือปิดโบสถ์

แต่เป็นการเปลี่ยนมัสยิดที่เสียหายให้กลายเป็นมัสยิดที่ใช้งานได้

อะไรเป็นอันตรายต่อคริสเตียนและคริสตจักรของพวกเขาในการเปลี่ยนอาคารอายาโซเฟียจากสถานที่ท่องเที่ยวไปยังสถานที่ซึ่งเป็นที่สักการะพระเจ้าและกล่าวถึงพระเจ้า

ชาวคริสต์ต้องการที่จะให้อายาโซเฟียเป็นที่ท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเปิดให้เป็นสถานที่เคารพพระเจ้าผู้ทรงอำนาจและการอ่านอัลกุรอานหรือ

อัลกุรอานกล่าวถึงบทบาทของศาสนสถานต่างๆ ยกย่องภารกิจและสิทธิในการปกป้อง ตราบใดที่พวกเขานมัสการ และกล่าวถึงพระเจ้า

อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวว่า:
وَلَوْلَا دَفْعُ اللَّهِ النَّاسَ بَعْضَهُمْ بِبَعْضٍ لَهُدِّمَتْ صَوَامِعُ وَبِيَعٌ وَصَلَوَاتٌ وَمَسَاجِدُ يُذْكَرُ فِيهَا اسْمُ اللَّهِ كَثِيرًا وَلَيَنْصُرَنَّ اللَّهُ مَنْ يَنْصُرُهُ إِنَّ اللَّهَ لَقَوِيٌّ عَزِيزٌ} [الحج: 40].
สำหรับการเปลี่ยนอายาโซเฟีย (Hagia Sophia) จากโบสถ์เป็นมัสยิดนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานกว่าห้าศตวรรษครึ่ง และความจริงวันนี้ควรพุ่งเป้าความโกรธไปที่ตุรกีร่วมสมัยและประธานาธิบดีแอร์โดฆาน ไม่ใช่จักรวรรดิออตโตมันและสุลต่านมุฮัมมัด ผู้พิชิต

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเปิดมัสยิดอีกครั้งและกลับไปทำหน้าที่เดิม สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเหตุให้ใครๆต้องโกรธเคืองหรือคัดค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นเรื่องภายในของตุรกีแต่เพียงผู้เดียว เหตุใดจึงต้องเป็นทำแบบผู้ปกครองสั่งผู้อยู่ใต้อาณัติ และความคิดบงการเหนือผู้อื่น

แต่ถ้าเราต้องการกลับไปที่ปัญหาของการเปลี่ยนโบสถ์คริสตจักรให้กลายเป็นมัสยิด สิ่งนี้จะนำเราไปสู่การวิจารณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่สิ้นสุด หากเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องเปิดประเด็นมัสยิดในแอนดาลุสเซีย ซีซิลี รัสเซียและยูโกสลาเวียด้วยเช่นกัน

และไม่ต้องย้อนกลับไปไกลมากฝรั่งเศสก็ปิดทำการปิด 50 มัสยิด ในรอบไม่กี่ปีล่วงมานี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงกรณีของอินเดีย จีนและพม่า

เราขอให้ผู้ประท้วงที่โกรธเคืองจากการเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์เป็นมัสยิดอายาโซเฟีย ถ้าตุรกีเปลี่ยนจากพิพิธภัณฑ์เป็นโรงภาพยนตร์ โรงละครโอเปร่าหรือสนามสู้วัวกระทิง คุณจะโกรธไหม? หรือคุณจะเงียบ หรือคุณจะตบมือ?!

สำหรับผู้ที่ร้องไห้กับ “มรดกของมนุษยชาติ” “ที่มนุษยชาติจะถูกลิดรอน จะบอกว่า – และพวกเขารู้เรื่องนี้ – ว่าอาคารจะยังคงเป็นอย่างที่มันเป็น หรือจะดีกว่าที่มันเป็น

สำหรับการจัดแสดงทางศิลปะโบราณคดีและประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านั้นจะกลับไปยังสถานที่ที่เหมาะสม

ส่วนมรดกทางสถาปัตยกรรมนั้น ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในนามของมัสยิด และสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับโบสถ์ ก็จะได้รับการบำรุงรักษาที่สมบูรณ์

ไม่ต้องทำให้เข้าใจผิดดีกว่า พูดอย่างเปิดเผยเลยว่า : เราต่อต้านศาสนาอิสลาม ต่อต้านการละหมาด และต่อการอ่านอัลกุรอาน


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

อ้างจาก https://www.facebook.com/iumsonline/posts/3455862327780140

ราชกิจจานุเบกษาตุรกีประกาศ สถานะใหม่ของอายาโซเฟีย

ราชกิจจานุเบกษาตุรกีประกาศคำสั่งของประธานาธิบดีว่าด้วยสถานะใหม่ของอายาโซเฟีย

ด้วยศาลปกครองสูงสุดแห่งตุรกีได้มีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีตุรกีเมื่อปี ค.ศ. 1934 ว่าด้วยการเปลี่ยนสถานะอายาโซเฟียจากมัสยิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ในนามรัฐบาลตุรกี ขอประกาศว่าบัดนี้ กิจการการดำเนินงานของอายาโซเฟียจะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมกิจการศาสนาในฐานะมัสยิดโดยบริบูรณ์

Recep Tayyip Erdogan
presiden Turki
10 – 07 – 2020


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

นับถอยหลังสู่อิสรภาพ

การรอคอยคือการทรมาน แต่บางครั้งคือความหวังของผู้ศรัทธา ถึงแม้จะเนิ่นนานสักปานใดก็ตาม

Sameeh Qa”adan (77 ปี) จากเมืองราฟะห์ กาซ่า นับปฏิทินถอยหลังรอคอยลูกชายชื่อ Abdul Rauf ซึ่งถูกทหารยิวจับตัวและตัดสินเข้าคุกนาน 17 ปี

123 คือจำนวนวันที่ยังหลงเหลือของลูกชายที่จะกลับสู่อิสรภาพอีกครั้ง ส่วนคุณแม่ของ Abdul Rauf ได้กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์โดยไม่มีโอกาสเห็นหน้าลูกรักอีกเลย หวังว่าครอบครัวนี้ จะอยู่กันพร้อมหน้าอย่างสุขสถาพรอีกครั้งในสวรรค์ฟิรเดาส์

เป็นภาพที่ไม่สามารถดูได้นอกจากที่ปาเลสไตน์ และไม่มีใครที่สามารถสร้างอธรรมที่ไร้มนุษยธรรมเช่นนี้ นอกจากยิวไซออนิสต์

เอื้อเฟื้อภาพ โดย شريف أبو شمالة ซึ่งนำเรื่องราวจาก Hani AL-shaer