มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 2)



ทำไมซาอุดีอารเบียเเละตุรกีต้องจับมือกัน
ปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองประเทศต้องกระชับความร่วมมือกัน มีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญมีดังนี้

1) ภัยคุกคามอิหร่าน
หลังจากคำประกาศของโคมัยนีหลังปฏิวัติอิสลาม ในปี 1979 (ซึ่งความจริงคือปฏิวัติชีอะฮฺต่างหาก) อิหร่านได้ใช้กุศโลบายด้วยการชูสโลแกน “อเมริกาจงพินาศ” “อิสราเอลจงพินาศ” “อเมริกาคือซาตานที่ยิ่งใหญ่” พร้อมประกาศจะลบชื่ออิสราเอลออกจากแผนที่โลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี แทนที่จะเป็นไปตามที่ประกาศไว้ ปรากฎว่าโลกอิสลามโดยเฉพาะโลกอาหรัยต่างหากที่ถูกคุกคาม ถึงแม้สหรัฐอเมริกาได้ปูพรมถล่มอีรักเมื่อปี 2003 และโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม หุเซ็นได้สำเร็จ แต่สหรัฐอเมริกาก็ถวายอิรักให้อยู่ในความดูแลของอิหร่าน จนกระทั่งปัจจุบัน แบกแดดจึงมีฐานะเป็นรัฐๆหนึ่งของเตหะรานไปเสียแล้ว ในขณะที่ประเทศอาหรับได้แต่มองตาปริบๆ

นอกจากนี้อิหร่านได้ตกลงร่วมมือกับประเทศสมาชิกความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรวมทั้งเยอรมัน (5+1) ในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2015 ที่กรุงเจนิวา ที่ได้วางข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน พร้อมยินยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการมีระเบิดปรมาณูของอิหร่านนั้น ไม่อาจเป็นไปได้ ซึ่งผลตอบแทนที่อิหร่านได้รับคือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติที่มีต่ออิหร่านนั้นจะถูกยกเลิก รวมทั้งอิหร่านได้เงินคืนจำนวน 150,000 ล้านดอลล่าร์ที่ถูกอายัต ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลนี้สหประชาชาติได้วางกฎว่าให้อิหร่านใช้เพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเยียวยาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในประเทศ แต่ในความเป็นจริง เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมที่อิรักและซีเรียต่างหาก ในขณะเดียวกันสหรัฐเริ่มข่มขู่ซาอุดีอารเบียด้วยการออกกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่อนุญาตให้ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายและได้รับผลกระทบจากเหตุ 9/11 ฟ้องร้องต่างชาติโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียที่ชาวซาอุดีฯถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับวินาศกรรมครั้งนั้น ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่จงใจปล้นเงินซาอุดีอารเบียอย่างซึ่งหน้า

มันคือสัญญาณจากสหรัฐฯว่า ท้ายสุดแล้ว อิหร่านคือพันธมิตรที่แท้จริงของชาติตะวันตก และสหรัฐฯก็พร้อมเลือกข้างอิหร่านเมื่อทุกอย่างลงตัว พร้อมกับบอกให้ซาอุดีอารเบียรับรู้ว่า อันตรายที่แท้จริงกำลังคืบคลานมาอย่างช้าๆ

ในขณะที่ตุรกี พรมแดนที่ติดกับอิรักที่ยาวกว่า 350 กม. ทำให้ตุรกีต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงในอิรักชนิดไม่พลาดสายตา โดยเฉพาะปัญหาชาวเคิร์ดและไอเอสที่สร้างปัญหาให้ตุรกีมาโดยตลอด โดยที่ตุรกีเชื่อว่า นอกจากสหรัฐฯแล้ว รัฐบาลหุ่นเชิดอิหร่านที่กรุงแบกแดด ก็มีส่วนรู้เห็นกับการเติบโตของทั้งสองกลุ่มนี้

ภัยจากอิหร่านที่กำลังคุกคามทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียขณะนี้ ทำให้ประเทศสุนหนี่ทั้งสองประทศนี้ จำเป็นต้องจับมือร่วมกัน ก่อนที่จะสายเกินแก้

2) วิกฤติซีเรียและแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรตีส

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 1)

หลังจากการครองราชย์ของกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอารเบีย ความสัมพันธ์ระหว่างริยาดและอังการ่าที่ดูจืดชืดและเหือดแห้งก่อนหน้านี้ กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะในปี 2015 ที่ผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเยี่ยมเยียนพร้อมบรรลุข้อตกลงมากมาย

นอกเหนือจากมิติทางศาสนา ความศรัทธาและความเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์ ที้งสองประเทศสามารถประสานความร่วมมือผ่านสองมิติใหญ่ๆ ดังนี้

1) มิติความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
หลังการมีอำนาจของพรรคยุติธรรมและพัฒนาในปี 2003 ตุรกีได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศด้วยการเปิดประตูต้อนรับประเทศมุสลิมและอาหรับมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง การเดินทางเยี่ยมตุรกีของกษัตริย์อับดุลลอฮฺเมื่อเดือนสิงหาคม 2006 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี ที่ส่งผลให้เกิดการบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 6 ฉบับ ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ทั้งสองประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศตุรกีที่ได้กำหนดเป้าหมายรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2023 เป็น 2 ล้านล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ซาอุดีอารเบียมีนโยบายลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน และทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพสูงในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์หรือแม้กระทั่งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีอัตราการขยายตัวความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด จาก 1.5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2006 เพิ่มเป็น 5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2014 และ 6 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2015

2) มิติความร่วมมือทางการทหาร
ในปี 2015 ซาอุดีอารเบียและตุรกีได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการทหาร โดยซาอุดีอารเบียตกลงสนับสนุนงบประมาณแก่ตุรกี เพื่อโครงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในการผลิตขีปนาวุธ ยานเกราะ การเสริมศักยภาพกองกำลังทางเรือและเครื่องบินไร้พลขับ

ผลการเยี่ยมซาอุดีอารเบียของประธานาธิบดีแอร์โดกานเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ทำให้ซาอุดีอารเบียตกลงเซ็นสัญญาซื้อยานเกราะของตุรกีมูลค่ารวม 2.5 พันล้านดอลล่าร์ และอาจสูงถึง 10 พันล้านดอลล่าร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

อาดิล อัลญุเบร์ รมว.ต่างประเทศซาอุดีอารเบียได้ตอกย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกีไม่จำกัดเฉพาะด้านการทหารและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของทั้งสองประเทศต่อไป

….ต่อ …

ใครคือคอลีฟะฮ์ หัฟตาร์ ฉายาซีซีย์แห่งลิเบีย

– เกิดเมื่อปี 1943 ณ เมืองอัจดาเบีย ห่างจากเมืองเบนกาซี ลิเบียไปทางใต้ประมาณ 160 กม. ปัจจุบันอายุ 84 ปี
– เป็นหนึ่งในคณะปฏิวัติพร้อมกับกัดดาฟี ล้มล้างระบอบกษัตริย์อิดรีส สะนูซีย์เมื่อปี 1969 และเป็นนายพลคู่บารมีของกัดดาฟีนับแต่นั้นมา
– ปี 1987 นำทัพลิเบียทำสงครามกับประเทศชาด แต่พ่ายแพ้จนกระทั่งถูกจับเป็นเชลย ต่อมาได้รับการปล่อยตัวและลี้ภัยที่สหรัฐฯหลังจากที่เริ่มขัดแย้งกับกัดดาฟี และมีความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างกัดดาฟีหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
– ปี 2011กลับลีเบียอีกครั้งและเป็นหนึ่งในแกนนำกองทัพประชาชนที่ต่อสู้กับกองกำลังของกัดดาฟีจนได้รับชัยชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมในเวลาต่อมา ท่ามกลางลิเบียที่ได้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง
– ปี 2014 เริ่มปฏิบัติการทางการทหารเพื่อปราบปรามกองกำลังที่นิยมกลุ่มอิควาน ที่ก่อนหน้านี้ เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการจัดระเบียบสังคมลิเบียหลังชัยชนะการปฏิวัติประชาชน
– ปี 2015 ได้รับการแต่งตั้งจากสภาแห่งชาติให้เป็นเป็นผู้นำสูงสุดของลิเบีย ซึ่งเขากล่าวตลอดเวลาว่าไม่ได้มีความทะเยอทะยานทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการรักษาความปึกแผ่นภายในชาติเท่านั้น ท่ามกลางความสงสัยของฝ่ายๆต่างๆว่า เขาได้รับตำแหน่งนี้ด้วยวิธีใด
– หลังจากนั้นเขาเริ่มกวาดล้างกลุ่มที่เขาเรียกว่า “รัฐบาลที่ควบคุมโดยอิสลามิกชน” พร้อมประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับกลุ่มอิควานลิเบีย
– เป็นผู้ปูทางให้ไอเอสเข้ามามีบทบาทในลิเบียพร้อมทำการปราบปรามกองกำลังสภาชูรอมุญาฮิดีนลีเบีย จนกระทั่งสภาชูรอฯประกาศทำสงครามกับไอเอสและกองกำลังที่นำโดยจอมพลหัฟตาร์
– 14 กย. 2016 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพในตำแหน่งจอมพล
– 25 พ.ค.2017 ร่วมมือกับกองทัพอากาศอิยิปต์ถล่มที่มั่นของสภาชูรอมุญาฮิดีนที่ดัรนา ลิเบียโดยอ้างว่ากลุ่มนี้ได้ร่วมมือกับไอเอสปฏิบัติการสังหารหมู่ชาวกิบฏีย์ที่มันยา ทั้งๆที่สภาชูรอฯได้ทำสงครามกับไอเอสมาตั้งแต่ต้น และไอเอสได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นฝีมือของพวกตน
– 27 พ.ค. 2017 สภาชูรอมุญาฮิดีนลิเบียได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีเมืองดัรนา ลิเบียและประณามจอมพลหัฟตาร์ว่าเป็นคนขายชาติ ทรยศต่อชาติและอัลลอฮฺที่ได้ร่วมมือกับซีซีย์ปฏิบัติการแผนสกปรกนี้ ทั้งๆที่เมืองดัรนา ลิเบียอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุที่มันยา อิยิปต์ถึง 2,000 กม. และด้วยผลงานของสภาชุรอมุญาฮิดีนลีเบียต่างหากที่สามารถขับไล่กองกำลังไอเอสออกจากเมืองดัรนา بعد التوفيق من الله

นี่คือโฉมหน้าส่วนหนึ่งของจอมพลซีซีย์แห่งลิเบีย ผู้ปล้นชัยชนะการปฏิวัติประชาชนลิเบียจนกระทั่งล้มล้างระบอบกัดดาฟีได้สำเร็จ เหมือนนายซีซีย์แห่งอิยิปต์ที่ปล้นชัยชนะของชาวอิยิปต์ที่ได้ขับไล่มุบาร็อกสำเร็จเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมที่…
http://www.aljazeera.net/encyclopedia/icons/2014/10/15/خليفة-حفتر

มัสยิดอักศอคือมัสยิดโดมเหลือง หรือมัสยิดโดมเงิน

โปรดเข้าใจใหม่อีกครั้ง

เชื่อว่า บางคนปักใจเชื่อว่ามัสยิดอักศอคือมัสยิดโดมเหลือง บางคนปักใจเชื่อว่าคือมัสยิดโดมเงิน

#ความจริงผิดถนัดทั้งคู่

มสยิดโดมเหลืองหรือ مسجد الصخرة สร้างขึ้นสมัยคอลีฟะฮฺอับดุลมาลิกบินมัรวานปี ฮ.ศ.66-72 ในขณะที่มัสยิดโดมเงินหรือ المسجد القبلي สร้างสมัยคอลีฟะฮฺอุมัรปีฮ.ศ. 15 หรือ 16
ในสมัยนบี ทั้งสองมัสยิดนี้ยังไม่ถูกสร้าง
ถามว่า แล้วนบีฯนำละหมาดบรรดานบีที่มัสยิดอักศอ ณ จุดใด

คำตอบ
ในบริเวณเส้นสีแดงที่ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีเนื้อที่ 144,000 ตร.ม.หรือประมาณ 90 ไร่ ทุกอณูพื้นที่บริเวณนี้คือมัสยิดอักศอ ที่มีรอยเท้าของบรรดานบีเหยียบไว้ช่วงละหมาดตามหลังนบีในคืนอิสรอฺ มุสลิมที่เข้าไปในบริเวณนี้ ก็สามารถละหมาด تحية المسجد ได้เลย

#โปรดเข้าใจใหม่อีกครั้ง

#ดูคลิปนี้เพื่อความกระจ่างที่เพิ่มขึ้น

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

คุณูปการบนีอุมัยยะฮ์

บะนีอุมัยยะฮ์

ญิฮาดเเพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางด้วยคุณูปการของบะนีอุมัยยะฮ์ พวกเขาดูเหมือนไม่ทำภารกิจใดอื่นนอกจากญิฮาด (อัลฮาฟิศอิบนุกะษีร)

ข้าพเจ้าไม่เคยพบราชวงศ์ใดในประวัติศาสตร์ของประชาชาตินี้ ที่ได้สร้างผลงานอันโดดเด่นมากที่สุดแก่อิสลามและมุสลิมีนมากไปกว่าราชวงศ์อุมัยยะฮ์อีกแล้ว และไม่ใช่เป็นการพูดจาที่เกินไป หากพูดว่า ข้าพเจ้าไม่เคยรับทราบราชวงศ์ชั้นผู้ปกครองในโลกนี้ที่สร้างคุณูปการอย่างอเนกอนันต์แก่มนุษยชาติมากไปกว่าราชวงศ์อุมัยยะฮ์อีกแล้ว

หากศึกษาอย่างเป็นธรรม เราจะพบว่า ราชวงศ์แห่งกุเรชนี้ ได้ฝากผลงานที่ประเสริฐสุดตั้งแต่ยุคแรกของอิสลามด้วยซ้ำ

ท่านอุษมานบินอัฟฟาน ได้บริจาคทรัพย์สมบัติมากมายเพื่อสนับสนุนกิจการอิสลามในสมัยนบี และในสมัยท่านดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ ท่านเป็นผู้รวบรวมอัลกุรอานเป็นเล่มให้กับเรา จนเป็นที่รู้จักในนาม มุศหัฟอุษมานี ในขณะที่อุมมุลมุมินีนหะบีบะฮ์บินติอะบีสุฟยานได้ทุ่มเททุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องอิสลาม ท่านมุอาวิยะฮ์บินอะบีสุฟยาน เป็นผู้บันทึกอัลกุรอานที่ถูกถ่ายทอดจากอกของนบีโดยตรง ท่านอัมร์บินอาศคือผู้พิชิตปาเลสไตน์ อิยิปต์ ลิเบีย โอมาน ท่านอับดุลลอฮ์บินอัมร์บินอาศ เป็นบุคคลแรกๆที่บันทึกหะดีษนบีเพื่อให้เราท่องจดจำ ท่านอับดุลลอฮ์บินสะอีดบินอาศคือ 1 ใน 13 ชะฮีดสงครามบัดร์

อะบูสุฟยาน บินหัรบ์ได้มอบดวงตาทั้งสองดวงของท่านเพื่อปกป้องอิสลามและนบีแห่งอิสลาม ท่านยะซีด บินอะบีสุฟยาน คือผู้พิชิตเลบานอนและจอมทัพแห่งเมืองชาม ท่านยะซีด บินมุอาวียะฮ์เป็นบุคคลที่คอยดูแลลูกพี่ลูกน้องของท่านอย่าง มุฮัมมัดบินอะลีบินอะบีฏอลิบ อาลีบินหุเซ็น อับดุลลอฮ์บินญะฟัร หลังจากที่ชาวชีอะฮ์ได้ทรยศพ่อของพวกเขา

ในขณะที่คอลิดบินยะซีดอัลอุมะวีย์ คือผู้ค้นพบวิชาเคมี ท่านอุกบะฮ์บินนาฟิอฺอัลอุมะวีย์ คือผู้พิชิตแอฟริกาเหนือ ท่านอุมัร บินอับดุลอาซิสเจ้าของฉายาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมคนที่ 5 ก็มาจากตระกูลนี้ ชาวบะนีอุมัยะฮ์เป็นผู้ปิดบัญชีอาณาจักรเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ในสมรภูมิ นะฮาวันด์ ตลอดจนสามารถปลิดชีวิตไกเซอร์แห่งเปอร์เซีย อัมร์บินอาศอัลอุมะวีย์ คือผู้พิชิตอัลกุดส์ ในขณะที่สัญญาอุมัรที่เป็นข้อตกลงกับชาวคริสต์อัลกุดส์ก็ถูกบันทึกโดยลายมือของท่านมุอาวียะฮ์อัลอุมะวีย์ มัสยิดโดมทองสร้างขึ้นสมัยอับดุลมาลิกบินมัรวานเป็นเคาะลีฟะฮ์ อันดาลูเซียถูกพิชิตโดยราขวงศ์อุมะวีย์ ในขณะที่อาร์เมเนีบ อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจียก็ถูกพิชิตโดยเคาะลีฟะฮ์อุมะวีย์ ผู้ที่โอบล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลคนแรกคือ ยะซีด บินมุอาวียะฮ์ ทั้งตุรกี อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย อุซเบกิสถาน เตอร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน ล้วนแล้วแต่ถูกพิชิต และรับอิสลามยุคอุมะวียะฮ์ทั้งสิ้น

ราชวงศ์อุมัยยะฮ์เป็นผู้นำธงอิสลามสะบัดพลิ้วไปยังยุโรป ทั้งอันดาลูเซีย(สเปน) ฝรั่งเศสทางตอนใต้รับอิสลามยุคอุมัยยะฮ์ จนกระทั่งกองทัพอุมัยยะฮ์บุกประชิดกรุงปารีส ในยุคอับดุรเราะห์มาน อัดดาคิลซึ่งปกครองอันดาลูเซีย พระองค์ได้ส่งคณะผู้แทนไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ คณะผู้ใส่ชุดขาว” อิสลามยังขจรขจายไปยังซูดาน เอธิโอเปีย แอริเทรียรวมทั้งได้มีการริเริ่มใช้เหรียญสัญลักษณ์อิสลาม มีการสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ ริเริ่มใส่จุดตามอักขระอักษรของอัลกุรอานในยุคอับดุลมาลิกบินมัรวาน จนกระทั่งในยุคอัลวะลีดบินอับดุลมาลิก เสียงอะซานก้องกังวาลไปทั่วเทือกเขาหิมาลัยในประเทศจีน ทุ่งกว้างแห่งแอฟริกา อินเดีย ป้อมปราการกรุงคอนสแตนติโนเปิล ประชิดเมืองปารีส โปรตุเกส ทะเลดำ จอร์เจีย ไซปรัส ในทุกอณูพื้นที่บริเวณนี้ ธงสีขาวซึ่งมีข้อความ لا إله إلا الله محمد رسول الله ได้โบกสะบัดอย่างเกรียงไกรด้วยผลงานอันยิ่งใหญ่ของบะนีอุมัยยะฮ์

หากเรารับทราบข้อมูลอันน่าอัศจรรย์เช่นนี้ เราคงไม่แปลกใจว่าทำไมราชวงศ์นี้ถูกใส่ไคล้และถูกทำลายภาพพจน์จากอาชญากรประวัติศาสตร์อย่างรุนแรงจนไม่เหลือชิ้นดี ทั้งๆที่พวกเขาสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่แก่อิสลามและประชาชาติอิสลามเหลือคณานับ ยุคบะนีอุมัยยะฮ์เป็นยุคที่ริเริ่มรวบรวมหะดีษนบีออกมาเป็นเล่ม และนี่คือเป้าหมายสำคัญของบรรดาอาชญากรประวัติศาสตร์ เพราะหากพวกเขาประสบผลสำเร็จในการปลูกฝังและแพร่กระจายภาพลักษณ์เชิงลบหรือสร้างความเคลือบแคลงในศาสนาและอุปนิสัยของบรรดาผู้นำของบะนีอุมัยยะฮ์แล้ว พวกเขาก็สามารถทำลายความบริสุทธิ์ของอิสลามไปด้วย เข้าทำนองกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว

เป็นที่ทราบดีว่า นอกจากอัลกุรอานแล้วสายธารอันดับสองที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในอิสลามคืออัลหะดีษ พวกเขาพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของท่อที่คอยลำเลียงน้ำอันบริสุทธิ์นี้ ซึ่งเท่ากับว่า หะดีษที่อยู่ในมือของชาวมุสลิม จะไร้ค่าไปด้วย ซึ่งหมายถึงอิสลามที่เรายึดถือก็ไร้ค่า ท้ายสุดแล้ว เราท่านและมุสลิมทุกคน ก็จะไร้ค่าโดยปริยาย

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้านึกถึงผลงานของบนีอุมัยยะฮ์ น้ำตาก็จะไหลอาบแก้ม เราอธรรมต่อประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ของพวกเขาได้อย่างไร เราทำลายความน่าเชื่อถือของบุรุษของประชาขาตินบี ผู้ได้รับการยกย่องว่า มีความประเสริฐเป็นลำดับ 3 รองจากท่านอะบูบักร์และอุมัรได้อย่างไร

เพราะเหตุใดที่บรรดาอาชญากรประวัติศาสตร์ประดิษฐ์ศัพท์ใหม่เรียกชาวมุสลิมว่า“สุฟยานี” แทนกับการใช้คำว่า ผู้ปฏิเสธหรือผู้กลับกลอก

น่าติดตามอย่างยิ่งยวดครับ
———————————
คัดสรุปจากหนังสือ
100 ผู้นำมุสลิมผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์
โดยญิฮาด ตุรบานี

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

6 เหตุผลที่สหรัฐฯแค้นเคืองตุรกีและพยายามโค่นแอร์โดอาน

1. รัฐประหารล้มเหลวปี 2016 ที่ตุรกี

เป็นที่รู้กันทั่วว่า กลุ่มกุเลนด้วยความร่วมมือกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่สหรัฐฯที่บัญชาการในฐานทัพอากาศ Incirlik ที่จบด้วยทหารระดับนายพลถูกจับกุมนับร้อย โดยเฉพาะนายทหารคนสำคัญของสหรัฐ 15 นายรวมทั้งสายลับในคราบนักบุญอย่างบาทหลวงแอนดรูว์ บรอนสันชาวอเมริกัน ที่ทางการตุรกีมีหลักฐานแน่นหนาว่ามีส่วนพัวพันกับปฏิวัติล้มเหลวครั้งนี้ รวมทั้งกุเลนที่พำนักในสหรัฐและได้รับการปกป้องดุจไข่ในหิน ถึงแม้ตุรกีจะหอบหลักฐานและกดดันสหรัฐฯให้ส่งตัวหัวหน้าก่อการร้ายในคราบฮาฟิศอัลกุรอานคนนี้ไปยังตุรกี ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ทุกอย่างล้มเหลว ทั้งๆที่ตุรกีส่งผู้ร้ายสัญชาติต่างๆทั้งสหรัฐฯและกลุ่มประเทศยุโรปจำนวนนับพันๆคน

รัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้ถือเป็นการลอกคราบสหรัฐฯและปอกเปลือกธาตุแท้ประชาธิปไตยฉบับสหรัฐฯได้อย่างล่อนจ้อนทีเดียว

2.การปราบปรามก่อการร้ายในภูมิภาค

แผนปฏิบัติการที่สำเร็จลุล่วงของโล่ห์ยูเฟรทีส และกิ่งมะกอก ที่ตุรกีใช้สิทธิ์อำนาจปกป้องความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศด้วยศักยภาพของตนเอง โดยไม่พึ่งพากองทัพพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯที่ดูเหมือนกับหมอเลี้ยงไข้ ที่ยิ่งปราบ ก็ยิ่งโตวันโตคืน โดยเฉพาะกลุ่มก่อการร้ายที่สร้างความปั่นป่วนบริเวณชายแดนอิรักและซีเรีย ซึ่งครอบคลุมทั้ง PKK ,IS หรือ PYD ทั้งๆที่ตุรกี ตะโกนสุดเสียงว่า ผู้อยู่เบื้องหลังที่คอยสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่แท้จริงคือสหรัฐฯและประเทศยุโรป และมีความพร้อมที่จะเชิญชวนนักข่าวทั่วโลก เพื่อเป็นสักขีพยานร่วมกันว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตุรกียึดได้จากเขตพื้นที่กลุ่มก่อร้ายดังกล่าว ผลิตจากประเทศไหนและใช้เส้นทางลำเลียงเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายอย่างไร

ปัจจุบัน ตุรกีได้สร้างอาณาเขตที่ปลอดภัยตามแนวชายแดนซีเรียและอิรัก พร้อมพัฒนาด้านสาธารณูปโภค การศึกษา สังคมและอื่นๆที่ทำให้ประชาขนใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้ง ทำให้สหรัฐฯหรือแม้กระทั่งนายบัชชาร์และรัฐบาลอิหร่านแสดงอาการไม่พอใจอย่างยิ่ง

3. ข้อตกลงการซื้อขายอาวุธที่ไม่ลงตัว

ตุรกีในฐานะสมาชิกนาโต้ได้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ร่วมลงขันโครงการผลิตฝูงบินรบสุดไฮเทค F-35 แลกกับการมีส่วนร่วมผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยีฝูงบินรบนี้ด้วย แต่เมื่อถึงเวลาส่งมอบตามสัดส่วนที่ตุรกีพึงได้จำนวน 100 ลำ สภาคองเกรสสหรัฐฯออกกฎหมายยับยั้งการขาย F-35 อย่างหน้าตาเฉย ทำให้ตุรกีจำเป็นต้องย้ายค่ายหันไปทำข้อตกลงซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซียแทน จากข้อตกลงนี้ ตุรกีสามารถส่งนักวิทยาศาสตร์ 300 คนร่วมผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยีกับรัสเซีย เพื่อสร้างความพร้อมผลิตในตุรกีต่อไป

การย้ายค่ายของตุรกี ซึ่งจะเริ่มต้นการส่งมอบในปี 2020 นี้ ทำให้ลุงแซมเคืองมาก ถึงขั้นออกมาข่มขู่ว่า ประเทศพันธมิตรทางยุทธศาสตร์และพันธมิตรหลักในนาโต้ ควรใส่ใจกับความเสี่ยงต่างๆจากการยอมอ่อนข้อทางยุทธศาสตร์แก่มอสโก พร้อมเตือนตุรกีว่า การจัดซื้อดังกล่าว อาจนำมาซึ่งมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งอังการ่าได้ตอบโต้ทันควันว่า ตุรกีมีความอิสระซื้ออาวุธเพื่อเสริมศักยภาพในการป้องกันประเทศจากที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ หากเป็นไปตามข้อตกลงของกฎหมายการซื้อขายระหว่างประเทศ

4. ตุรกีคือเด็กดื้อในสายตาสหรัฐฯ

ไม่เพียงเป็นเด็กดื้อเท่านั้น แต่ตุรกีดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่พยายามวัดรอยเท้าขาใหญ่ตลอดเวลา ปัจจุบันตุรกีมีฐานทัพ 6 แห่งทั่วโลก (กาตาร์ โซมาเลีย ไซปรัส อัฟกานิสถาน โมซุล(อิรักและเขตพื้นที่ปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรทีส) และเขตปฏิบัติการกิ่งมะกอกที่ซีเรีย ฐานทัพเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสกัดกั้นแผนร้ายไม่ให้ลุกลามใหญ่โตดังที่เกิดที่กาตาร์ หรือชายแดนตุรกี-อิรักและตุรกี-ซีเรีย

ตุรกียังท้าทายมหาอำนาจด้วยการส่งดาวเทียมเพื่อการสอดแนมและการป้องกันประเทศ หนำซ้ำยังเปิดตาให้ประชาคมโลกรับรู้ผ่านเวทีนานาชาติด้วยว่า โลกนี้ยิ่งใหญ่กว่า 5 ประเทศสมาชิกถาวรความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นไปไม่ได้ที่ชาวมุสลิมที่มีจำนวน 1/3 ของประชากรโลก แต่กลับไม่มีตัวแทนในสมาชิกถาวรความมั่นคงแห่งสหประชาขาติแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งที่ผ่านมา เรายังไม่ค่อยเห็นผู้นำอิสลามหรือขาติอาหรับคนไหนที่กล้าพูดประเด็นนี้ในเวทีนานาชาติ

ล่าสุดในที่ประชุมสภาเตอร์กเมื่อวันที่ 2/9/61 ที่ประเทศกีร์กิสถาน แอร์โดอานได้เรียกร้องให้ใช้เงินสกุลท้องถิ่นแทนสกุลดอลล่าร์ในการประชุมสุดยอดผู้นำ 7 ประเทศที่ใช้ภาษาเตอร์ก เพื่อประกาศสงครามดอลล่าร์&ลีร่าอย่างเต็มรูปแบบ

ยังไม่รวมโครงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ตุรกีประกาศจะผลิตอาวุธด้วยตนเองพร้อมส่งขายไปยังมิตรประเทศด้วยคุณภาพที่เหนือกว่า แต่ราคาถูกกว่าหลายเท่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายช่องทางทำมาหากินของพ่อค้าอาวุธระดับโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

5. การประมูลแห่งศตวรรษ

โครงการนี้มีเป้าหมายดังนี้
ก. ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับยิว และสานสัมพันธ์อย่างปกติระหว่างสองฝ่ายเหมือนไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งใดๆมาก่อน
ข. อพยพชาวปาเลสไตน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ณ ดินแดนนอกแผ่นดินปาเลสไตน์ ที่มีการตระเตรียมเรียบร้อยแล้ว และยุติการเรียกร้องกลับสู่บ้านเกิดของชาวปาเลสไตน์
ค. สถาปนาเมืองอัลกุดส์เป็นเมืองยิวตลอดกาล

เจ้าภาพหลักโครงการนี้คือสหรัฐฯ โดยเฉพาะยุคปธน. ทรัมป์ ที่กล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงให้ชาวโลกรับทราบอย่างชัดเจนว่า เมืองหลวงที่แท้จริงของสหรัฐฯคือเทลอาวีฟ หาใช่กรุงวอชิงตัน และเมืองหลวงของอิสราเอลที่แท้จริงคือกรุงวอชิงตัน หาใช่เทลอาวีฟ

ที่น่าไว้อาลัยที่สุดคือ จุดยืนของประเทศอิสลามและอาหรับบางประเทศที่คอยเป็นฝูงแกะ ยอมให้สหรัฐฯรีดนมจนแห้งเหือดเพื่อแลกกับการเป็นผู้นำประเทศ และหากนมไม่เพียงพอ ก็พร้อมถวายเลือด เนื้อและวิญญาณเพื่อประกันความปลอดภัยของตนเองและราชบัลลังค์ โดยหารู้ไม่ว่า บัดนี้หัวใจของเรือนร่างเดียวกันถูกบดขยี้อย่างหนัก ถึงแม้อวัยวะบางส่วนอาจสุขสบาย แต่ตราบใดหัวใจยังมีปัญหา เรือนร่างอยู่ไม่เป็นสุขแน่นอน

ท่ามกลางบรรยากาศที่กลมกล่อมด้วยเสียงเพลงและเต้นระบำของประเทศสมาชิกประมูลแห่งศตวรรษ ก็มีเพียงหะมาส ซึ่งเป็นตัวแทนประชาสังคมภาคสนามที่ยืนหยัดต่อสู้ท่ามกลางการโอบล้อมของศัตรูผู้บุกรุกและรังสีแห่งความเกลียดชังจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี แม้กระทั่งพี่น้องร่วมศาสนาบางกลุ่มที่สบประมาสพวกเขาเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีหลักคิดที่บิดเบือน ในขณะตุรกได้เป็นตัวแทนของประชาชาติอิสลามบนเวทีโลกที่กล้าทวนกระแสคอยสกัดกั้นการรุกคืบของแผนร้ายนี้ ตุรกีภายใต้การนำของแอร์โดอานได้ชี้หน้านายเปเรสในที่ประชุมสุดยอดเศรษฐกิจโลกกรุงดาโวส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2009 พร้อมกล่าวว่าคุณคือฆาตกร ยังไม่รวมการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์อย่างมากมายและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเป็นหัวเรือใหญ่ต่อต้านคำประกาศทรัมป์กรณีอัลกุดส์เป็นเมืองหลวงยิว และย้ายสถานทูตสหรัฐจากเทลอาวีฟไปที่อัลกุดส์ ถึงแม้ สหรัฐฯใช้สิทธิยับยั้งหรือวีโต้ ในการออกเสียงพิจารณาร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ระบุให้การรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลถือเป็นโมฆะ ก็ตาม ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่สามารถออกข้อมติดังกล่าวได้ แม้ชาติสมาชิกที่เหลืออีก 14 ประเทศ ต่างออกเสียงสนับสนุนทั้งหมด

หลังจากนั้นไม่กี่วัน สหรัฐฯถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกในเวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ด้วยการลงมติ 128 ชาติโหวตเป็นโมฆะกับการรับรองของสหรัฐฯที่ให้อัลกุดส์เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ขณะที่มีเพียง 9 ประเทศที่ออกเสียงโหวตให้กับสหรัฐฯและไม่ออกเสียงอีก 35 ชาติ

ทั้งหมดนี้คือการตบหน้าประเทศมหาอำนาจที่สอนให้ชาวโลก จดจำเป็นบทเรียนว่า อำนาจหาใช่ความถูกต้องเสมอไป วิถีอันธพาลไม่มีทางที่จะครองใจชาวโลกได้
การข่มขู่ไม่มีผลใดๆ นอกจากประเทศที่ยอมเป็นทาสบริวารเท่านั้น

และผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการถอดบทเรียนนี้คือตุรกี

พวกเขาย่อมแค้นเคืองตุรกีเป็นธรรมดา

6. ความสำเร็จของตุรกีในระดับประเทศ ภูมิภาคและบนเวทีโลก

ตุรกีเสมือนกองคารวานที่เดินรุดหน้าไปไกลลิบแล้ว ในขณะที่ฝูงสุนัขก็ยังเห่าหอน ณ ที่ประจำของมันโดยไม่ไปไหนเลย ตุรกีได้โลดแล่นนำพาประเทศสู่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทัดเทียมประเทศพัฒนา ตุรกีถูกวางยากลายเป็นเจ้าชายนินทรานานเกือบร้อยปี แต่พอตื่นขึ้นมาก็พร้อมวิ่งไปข้างหน้าอย่างสุดความสามารถ ถึงเเม้จะมีกักระเบิดมากมายที่ถูกวางไว้ แต่ตุรกีก็สามารถฝ่าฟันวิกฤตให้เป็นโอกาสเสมอ

วิสัยทัศน์ 2023 ที่ถือเป็นปีแห่งการกำเนิดตุรกียุคใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม มีประขาชนที่คอยเป็นเจ้าของตรวจสอบและสอดส่องพฤติกรรมของโจรร้าย มีรัฐบาลที่มั่นคงที่คอยทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการที่ดี มีระบอบการเมืองการปกครองที่เข้มแข็งและเสถียรภาพ มีฐานเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งพาตนเองในทุกๆด้าน และมีระบบสวัสดิการที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งอภิมหาโปรเจ็กส์ที่ถือเป็นโครงการแห่งศตวรรษได้สำเร็จลุล่วงตามแผนอย่างต่อเนื่อง

บรรยากาศเข่นนี้ ทั้งสหรัฐฯและยุโรป ต่างคาดหวังกันว่า จะไม่มีทางเกิดขึ้นในประเทศโลกอิสลาม เพราะในสายตาพวกเขา ประชาชาติอิสลามคู่ควรกับบ้านเมืองที่ล่มสลายไปแล้ว มีชีวิตอย่างถาวรในศูนย์อพยพ ประทังชีวิตด้วยอาหารบริจาคหรือขุดคุ้ยตามกองขยะ พวกเขาจึงเหมาะสมกับอดีตที่ปวดร้าว ปัจจุบันที่แสนลำบากและอนาคตที่มืดมนเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นในโลกอิสลาม ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้วที่ปาเลสไตน์ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย อาระกัน แอฟริกาและอื่นๆ

สโลแกนของพวกเขาคือ เราจะทำให้โลกใบนี้เป็นซากปรักหักพังที่กองไว้พะเนินเทินทึกที่หลอมละลาย แล้วเราจะประมูลขาย

โลกที่พวกเขาหมายถึง หาใช่ที่อื่นนอกจากโลกอิสลาม

หากมีผู้นำคนไหนที่สามารถเนรมิตประเทศที่ล่มจมพังพินาศในลักษณะนี้ ผู้นำคนนั้นจะต้องได้รับการปกป้องเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี บัชชาร์ที่สังหารประชาชนชาวซีเรียไปแล้วล้านกว่าคน ผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยกว่าสิบล้านคน บ้านเมืองกลายเป็นทุ่งสังหารและซากปรักหักพัง แต่เราไม่เคยเห็นความพยายามที่จริงจังของชาติมหาอำนาจที่จะโค่นล้มผู้นำทรราชคนนี้ ในขณะที่ปธน. แอร์โดอานได้ก้าวมาบริหารประเทศตามวิถีประชาธิปไตย ที่แม้แต่ศัตรูทางการเมืองยังยอมรับ พร้อมพัฒนาประเทศด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก พวกเขาก็พร้อมใจกันกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ อาชญากรสงคราม บ้าอำนาจ และเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาคและจะต้องได้รับโทษหนักด้วยการโค่นล้มสถานเดียว

ถึงแม้ปธน. แอร์โดอานจะนำความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ไม่มีวันที่จะสร้างความพึงพอใจให้ชาติมหาอำนาจ ตราบใดที่ไม่ยอมเป็นเด็กในคาถาเหมือนบทบาทของตุรกีที่เคยเป็นในอดีต

สรุป
อัลกุรอานได้เปิดโปงจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงของพวกเขาในกรณีนี้คือ
‎ولن ترضى عنك اليهود ولا النصارى حتى تتبع ملتهم (البقرة/120)

‎لَتَجِدَنَّ أَشَدَّ النَّاسِ عَدَاوَةً لِّلَّذِينَ آمَنُوا الْيَهُودَ وَالَّذِينَ أَشْرَكُوا ۖ (المائدة/83)

ปล. บทความอยู่ในระหว่างแก้ไขเพิ่มเติม

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ตุรกี เส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุค (ตอนจบ)

นายกรมต.ออร์โดกาน ถือเป็นผู้นำที่โดดเด่นที่สุดไม่เพียงในตุรกีเท่านั้น แต่ภาวะผู้นำของเขายังเจิดจรัสไปทั่วโลกอิสลาม จุดยืนและคำพูดของเขาในเวทีโลกที่พูดถึงปัญหาโลกอิสลาม โดยเฉพาะปัญหาฟิลัสฏีนและซีเรีย ชวนให้เรานึกถึงการหวนกลับมาของผู้นำที่โลกมุสลิมกำลังรอคอยนานนับศตวรรษ การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งใหญ่ 3 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา โดยล่าสุดในปี 2011 เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 50.2 ทิ้งพรรคคู่แข่งอย่างพรรคชาตินิยมอะตาร์เตอร์กขาดลอยซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 25.9 เป็นสิ่งการันตีว่าเขาสมารถครองใจประชาชนแค่ไหน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกสำหรับความสำเร็จอันน่าทึ่งของตุรกีตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรกของบทความนี้

มีกลุ่มเดียวที่หวั่นวิตกและมองการเดินหน้าของตุรกีด้วยสายตาชิงชังคือกลุ่มอำนาจเก่าและเหล่าสาวกอะตาร์เตอร์กที่พวกเขาเห็นว่า เป็นการคืบคลานเข้าครอบงำของศาสนาอิสลามและพากันเรียกว่าเป็นสงครามวัฒนธรรมเลยทีเดียว

และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2013 ที่ผ่านมา กระแสความไม่พอใจที่สั่งสมมายาวนานถูกระบายตามท้องถนนสายต่างๆ ณ กรุงอิสตันบูล และได้ขยายออกไปยังหลายเมือง โดยการประท้วงได้บานปลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นรัฐบาลใช้แก๊สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม ในขณะที่ออร์โดกานประณามผู้ประท้วงว่าเป็น พวกหัวรุนแรงบ้าคลั่ง

พวกเขาชูประเด็นคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่จะตัดต้นไม้เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าที่สวนสาธารณะเกซี ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวหาได้ยากบริเวณขอบจตุรัสตักซีม พร้อมทั้งกดดันให้นายกรมต.ออร์โดกานลาออกจากตำแหน่ง

ถือเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดที่สุดและน่าเป็นชนิดเดียวในโลกนี้กระมัง ที่แทนที่ประชาชนระดับรากหญ้าจะประท้วงรัฐบาลเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น การว่างงาน หรือเศรษฐกิจตกต่ำที่กระทบถึงปัญหาปากท้องประชาชนเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศในยุโรปก่อนหน้านี้ หรือแม้กระทั่งการลุกฮือของประชาชนในวิกฤติอาหรับสปริงที่ผ่านมาและกำลังดุเดือดเลือดพล่านในซีเรียปัจจุบัน แต่ที่ตุรกีประชาชนลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลเรื่องต้นไม้เล็กใหญ่ที่จะถูกตัดประมาณ 600 ต้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้เตรียมแผนที่จะขุดต้นไม้ใหญ่เพื่อไปปลูก ณ สถานที่อื่นแทน นายออร์โดกานยังให้สัมภาษณ์ว่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตบนถนนการเมืองตั้งแต่เป็นนายกเทศมนตรี กรุงอิสตันบูล จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัฐบาล 3 สมัยติดต่อกัน เขาได้มีส่วนรณรงค์ปลูกต้นไม้ทั่วตุรกีกว่า 200 ล้านต้น

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ประเด็นการประท้วงคัดค้านทำลายสวนสาธารณะที่เป็นชนวนความรุนแรงนี้เป็นแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น ส่วนฐานที่ถูกสั่งสมมายาวนานที่เป็นสาเหตุของการประท้วงที่แท้จริงคือ การรุกคืบในการนำอิสลามมาปฏิบัติใช้ในการบริหารปกครองประเทศ พร้อมทั้งสลัดทิ้งปรัชญาโลกาวิสัยที่เป็นมรดกบาปยุคอะตาร์เตอร์ก พวกเขากล่าวหานายออร์โดกานว่าบริหารประเทศแบบหนักมือเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และที่สำคัญ กำลังสวนทางกับลัทธิอะตาร์เตอร์กที่พวกเขาภักดี

ส่วนหนึ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็นการรุกรานวิถีชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัวได้แก่
1. ข้อเสนอของรมว.สาธารณสุข ที่ให้แก้ไขกฎหมายเดิมที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้หลังจากตั้งท้อง 10 เดือน เป็น 4-6 เดือนในกฎหมายฉบับใหม่ นายออร์โดกานยังให้สัมภาษณ์อีกว่า การทำแท้งถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สาวกอะตาร์เตอร์กเป็นอย่างยิ่ง
2. การกลับมาของหิญาบในกลุ่มมุสลิมะฮฺ โดยมีสตรีหมายเลข 1 ของตุรกีเป็นต้นแบบ จนกระทั่งกลายเป็นกระแสการตอบรับอย่างล้นหลามในตุรกี จนกระทั่งมุสลิมะฮฺตุรกีหันมาใส่หิญาบจำนวนร้อยละ 65 สร้างความแค้นเคืองแก่สาวกอะตาร์เตอร์กที่ต่อสู้ปราบปรามหิญาบอย่างหนักหน่วงในอดีต พวกเขากล่าวว่าเป็นการเข้าคลองสู่ยุคมืดอีกครั้ง และพากันล้อเลียนการใส่หิญาบ ขนาดใส่หิญาบบนศีรษะนายออร์โดกานติดโปสเตอร์เผยแพร่ทั่วตุรกี พวกเขาถือว่าหิญาบคือสัญลักษณ์ของความคร่ำครึทางศาสนาเลยทีเดียว
3. การออกกฎหมายที่ห้ามหนุ่มสาวพลอดรักในที่สาธารณะ ซึ่งพวกเขาถือว่าออร์โดกานเป็นผู้นำเผด็จการและยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวมากเกินไป
4. ถือเป็นไฮไลท์และสาเหตุหลักของการประท้วงภาคพิศดารในครั้งนี้ นั่นคือรัฐบาลตุรกีเพิ่งออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ และจำกัดเวลาบริการระหว่าง 4 ทุ่มถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังเข้มงวดตรวจระดับแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานยนต์ตลอดจนกำหนดระยะห่างระหว่างสถานศึกษาและมัสยิดกับร้านขายเหล้าอีกด้วย

นี่คือวาระซ่อนเร้นของการประท้วงอันงงงวยของตุรกีในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ให้ทัศนะว่า ระยะหลังๆ นี้จะสังเกตผู้ประท้วงส่วนใหญ่ชูขวดเหล้าเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงแทน ทำให้หลายฝ่ายฟันธงว่าการประท้วงในตุรกีได้เปลี่ยนจุดยืนจากการพิทักษ์ต้นไม้กลายเป็นอนุรักษ์เหล้าแทน

5. ความจริงแล้ว สวนสาธารณะเกซี ที่ขอบจัตุรัสตักซีมคือแหล่งโลกีย์และสถานเริงรมย์ขนาดใหญ่ที่สุดในอิสตันบูล ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของตึกกระทรวงกลาโหมยุคอุษมานียะฮฺอันใหญ่โตรโหฐานที่ถูกทำลายโดยทายาทอสูรอะตาร์เตอร์ก รัฐบาลยุคออร์โดกานมีแนวคิดกวาดล้างแหล่งอบายมุขแห่งนี้ด้วยการเสนอโครงการยักษ์สร้างตึกกระทรวงกลาโหมย้อนยุคอุษมานียะฮฺอีกครั้ง พร้อมกับสร้างมัสยิดตามสถาปัตยกรรมตุรกีอันเลื่องลือ หาใช่สร้างอาคารสรรพสินค้าตามเป็นข่าวแต่อย่างใด นายออร์โดกานได้ยืนกรานว่า จะสร้างมัสยิดบริเวณนี้ให้ได้ เสียงอะซานจะดังกึกก้อง ณ สถานแห่งนี้ ถึงแม้คนบางกลุ่มจะไม่พอใจก็ตาม

นอกจากนี้ออร์โดกานยังตัดสินใจตั้งชื่อสะพานใหม่ที่สร้างเสร็จเหนือช่องแคบบอสฟอรัสด้วยนามของเคาะลีฟะฮฺผู้ก่อตั้งอาณาจักรอุษมานียะฮฺอีกด้วย

ทำให้อีกกลุ่มมองอย่างหวาดระแวงว่าออร์โดแกนกำลังเชื่อมโยงตุรกีกับความยิ่งใหญ่ในอดีตยุคอุษมานียะฮฺหรือไม่อย่างไร

จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าวแทบไม่สามารถนำเป็นเงื่อนไขในการประท้วงรัฐบาลเลย ตุรกีได้ข้ามโพ้นวิกฤติต่างๆที่โลกปัจจุบันกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าวิกฤติผู้นำ วิกฤติสังคมเศรษฐกิจและการเมือง นายออร์โดกานให้สัมภาษณ์ว่า หากการรับใช้ประชาชนและพัฒนาประเทศถึงระดับนี้ยังเป็นเผด็จการ ก็ไม่รู้จะสรรหาคำพูดไหนมาอธิบายกันแล้ว เขายังประณามผู้ประท้วงว่าเป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตย ตุรกีเคยอยู่ในช่วงเผด็จการอะตาร์เตอร์กที่ไม่เพียงแต่ห้ามมีการชุมนุมประท้วงเท่านั้น แม้แต่คิดต่างกับรัฐบาลเงียบๆเพียงคนเดียวก็อาจถูกยัดเข้าไปในคุกตะรางโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้

ออร์โดกานเสนอให้มีการประชามติเพื่อหยุดการประท้วง แต่ฝ่ายชุมนุมไม่ยอม เพราะพวกเขารู้ดีว่าผลจะออกมาเช่นไร ล่าสุดออร์โดกานได้เขียนในทวิตเตอร์ส่วนตัวทั้งภาษาอาหรับและตุรกี เชิญชวนให้ประชาชนชาวตุรกีถือศีลอดในวันพฤหัสบดีที่ 20 มิ.ย 2013 เพื่อร่วมขอดุอาให้อัลลอฮฺปกป้องตุรกีจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีพร้อมทั้งรักษาอำนาจของเขาเพื่อพัฒนาตุรกีต่อไป

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นี่คืออาการดิ้นเฮือกสุดท้ายของสาวกลัทธิแซคิวล่าร์ที่ยังหลงเหลืออยู่ เป็นภาวะจนตรอกของกลุ่มผู้เสียอำนาจที่จะต้องดิ้นสุดฤทธิ์ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ตนเองและพรรคพวก กลุ่มนี้ไม่เคยสนใจอะไรนอกจากสนองอารมณ์ใฝ่ต่ำและท้าทายอำนาจของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล นับประสาอะไรที่จะไปอาลัยอาวรณ์กับต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น ทั้งๆ ที่ซีเรียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเรือนเคียง ถูกกลุ่มอมนุษย์รุมทำร้ายทั้งเด็ก สตรี คนชราและชีวิตบริสุทธิ์ต้องสังเวยไปนับแสนๆ คน บ้านเรือนถูกทำลายย่อยยับ แต่ก็ไม่สามารถกระตุกต่อมความรู้สึกของพวกเขาแม้แต่น้อย

ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ตำรวจตุรกีเข้าจับกุมชีอะฮฺกลุ่มหนึ่งที่กำลังปลุกระดมผู้คนให้ประท้วงรัฐบาลที่เมืองหลวงอังการ่า นี่คือสัญญาณแห่งความสลับซับซ้อนที่ตุรกีจะต้องรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน

ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองตุรกี ขอให้นายกรมต.ออร์โดกานและคณะรัฐบาลชุดนี้มีกำลังใจอันแน่วแน่ ยืนหยัดเผชิญหน้ากับสิ่งภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกด้วยความสุขุม คัมภีรภาพ มีขันติและเชื่อมั่นในความช่วยเหลือของอัลลอฮฺพร้อมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนตุรกีและประชาชาติมุสลิมให้เป็นประชาชาติตัวอย่างที่ถูกบังเกิดมายังมนุษยชาติทั้งมวล

“สูเจ้าอย่าได้ท้อและระทม เพราะสูเจ้าคือประชาชาติที่สูงส่ง หากสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”
(อาละอิมรอน/139)
“แท้จริงชัยฏอนนั้น เพียงขู่ได้เฉพาะบรรดาผู้ที่เป็นสาวกของมันเท่านั้น ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา (อาละอิมรอน/175)
โชคดีตุรกี โชคดีออร์โดกาน โชคดีประชาชาติมุสลิม
จบ

ข้อมูลอ้างอิง
– สัมภาษณ์นายอับดุลเอาวัล สิดดีก นศ.ไทย่ทีกำลังศึกษาที่ Marmara University , Istambul fb: abdulevvel Siddiq
– http://www.salahsoltan.com/DoctorNews/975/Default.aspx
– http://www.almokhtsar.com/node/146963
http://www.news.islamstory.com
– http://www.bangkokbiznews.com/

ตุรกี เส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุค (ตอนที่ 1)

คะมาล อะตาร์เตอร์กหรือบิดาแห่งตุรกี หุ่นเชิดยิวและประเทศมหาอำนาจยุคนั้น ได้ปฏิวัติล้มล้างระบอบคิลาฟะฮฺอิสลามได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1923 พร้อมกับขจัดอิสลามชนิดถอนรากถอนโคนและเปลี่ยนโฉมตุรกีจากการยึดมั่นในอารยธรรมอิสลามสู่การเลื่อมใสอารยธรรมโลกยุคใหม่ภายใต้ปรัชญาโลกาวิสัย(แซคิวล่าร์)อย่างเต็มรูปแบบ สลัดประเทศจากการภักดีต่อพระผู้อภิบาลสู่การภักดีพญาหมีขาว ผลักไสประชาชนให้ออกจากมัสยิดสู่สถานเริงรมย์ ผับบาร์และเหล้าเบียร์ ห้ามประกาศเสียงอะซาน เปลี่ยนอะซานเป็นภาษาตุรกี ห้ามสอนอัลกุรอานและหะดีษ ปิดโรงเรียนศาสนา ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลาม ห้ามใส่หมวกตุรกีและผ้าสัรบ่าน ห้ามสตรีใส่หิญาบ รณรงค์การแต่งกายแบบสากลนิยม เริ่มใช้ปฏิทินคริสต์ศักราชแทนฮิจเราะฮฺศักราช ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เลียนแบบรัฐธรรมนูญสวิสเซอแลนด์ และในปีค.ศ. 1928 ตุรกีได้ออกกฎหมายห้ามเขียนหนังสือด้วยอักษรอาหรับ ทั้งนี้เพื่อตัดเยื่อใยความผูกพันระหว่างตุรกีกับโลกอิสลาม

หลังจากนั้นอะตาร์เตอร์กและวงศ์วานได้นำตุรกีถลำลึกเข้าไปในวังวนแห่งวิกฤติชาติทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ตุรกีต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาโดยตลอด จนติดหนี้สินล้นพ้น ช่วงที่นายกรมต.ออร์โดกานขึ้นบริหารประเทศใหม่ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตุรกีติดหนี้ IMF จำนวน 23,000 ล้านดอลล่าร์ หลังจากนั้นแกนนำรัฐบาลภายใต้พรรคยุติธรรมและพัฒนาของนายออร์โดกานนี้ค่อยๆพัฒนะซ่อมแซมประเทศ จนทำให้ปัจจุบัน ตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่สุดเป็นลำดับที่ 8 ของโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมา(พค. 2013) รัฐบาลเพิ่งประกาศปลดหนี้ IMF และอาจได้รับการคัดเลือกเป็นประเทศสมาชิกของคณะกรรมการบริหารกองทุน IMF อีกด้วย ซึ่งหากเป็นความจริง ตุรกีจะเปลี่ยนสถานะจากประเทศลูกหนี้ในอดีตมาเป็นประเทศบริหารหนี้แทน

นอกจากนี้ ออร์โดกานยังสามารถเพิ่มกองทุนสำรองในธนาคารแห่งชาติจาก 27,000 ล้านดอลล่าร์เมื่อปีค.ศ. 2002 เป็น 130,000 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน เพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากรจาก 3,000 ดอลล่าร์ : คน : ปี เป็น 11,000 ดอลล่าร์ : คน : ปี ภาคธุรกิจมีอัตราการขยายตัวจาก 250,000 ล้านดอลล่าร์ เป็น 900,000 ดอลล่าร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนวิกฤติสังคม ตุรกีไม่ต่างไปจากประเทศยุโรปทั่วไปที่จมปลักในคูคลองอบายมุขจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ร้านขายเหล้า ผับบาร์มีอยู่เกลื่อนเมือง และตั้งอยู่เพียงไม่กี่เมตรจากมัสยิดหรือสถานศึกษา หนุ่มสาวสามารถพลอดรักอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะโดยไม่มีกฎหมายหวงห้าม ประมาณกันว่าสตรีมุสลิมทั่วประเทศที่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพเป็นโสเภณีมีจำนวน 300,000 คน นายออร์โดกานเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ช่วงการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก เราได้มีแบบสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ละหมาดวันศุกร์ตามมัสยิดต่างๆทั่วประเทศว่า ท่านต้องการให้รัฐบาลปกครองด้วยกฎหมายอิสลามหรือไม่ ปรากฏว่า 95% ตอบว่าไม่ต้องการ เราสอบถามเฉพาะผู้ละหมาดวันศุกร์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้คนที่อยู่ตามผับบาร์หรือโรงแรม นี่คือผลพวงของการโฆษณาชวนเชื่อของระบอบแซคิวล่าร์ที่ได้หยั่งลึกเข้าไปในแนวคิดของประชาชน”

ระบอบแซคิวล่าร์อะตาร์เตอร์ก ยังได้มอมเมาสติปัญญามุสลิมะฮฺว่า การแต่งกายโป๊เปลือยคือความอิสรภาพและแสดงถึงการมีศักดิ์ศรี ในขณะที่การสวมใส่หิญาบคืออาชญากรรมและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นักเรียนและนักศึกษามีความผิดถึงขั้นโดนไล่ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหากยังใส่หิญาบ แม้กระทั่งสส.หญิงที่ใส่หิญาบเข้าไปในรัฐสภาก็ยังถูกตัดสินคดีกระทำผิดกฎหมายมาแล้ว

ภายในเวา 10 ปี ที่พรรคยุติธรรมและพัฒนาบริหารประเทศ รัฐบาลสามารถเชิญชวนมุสลิมะฮฺตุรกีกว่า 65% ใส่หิญาบ สามารถชำระประเทศจากอารยธรรมไร้ศีลธรรมให้กลับอยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะปัญหาโสเภณีที่รัฐบาลพยายามทดแทนด้วยการสร้างอาชีพใหม่ที่สุจริตให้แก่กลุ่มนี้

ตุรกีใหม่จึงเป็นตุรกีที่เปลี่ยนสถานะจากมือล่างเป็นมือบนอย่างเต็มภาคภูมิ ตุรกีไม่ใช่จำกัดการพัฒนาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบภัยพิบัติ ทั้งซึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ประสบภัยอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศที่เจริญแล้วทีเดียว

หลังการปฏิวัติประชาชนอิยิปต์ ตุรกีให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอิยิปต์จำนวน 2,000 ล้านดอลล่าร์ และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังสมทบให้อีก 250 ล้านดอลล่าร์ ทำให้ตุรกีได้ให้ความเหลือแก่อิยิปต์ไปแล้ว 2,250 ล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในนามองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก

การให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของตุรกียุคปัจจุบัน

ศ.ดุรมุส ฆูนาย หนึ่งในคณะกรรมการการอุดมศึกษาตุรกีเปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตุรกีสามารถเปิดมหาวิทยาลัยใหม่จำนวน 100 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียง 70 แห่งเท่านั้น ในจำนวนมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่นี้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 50 แห่ง และเป็นมหาวิทยาลัยวากัฟที่อยู่ในกำกับของรัฐบาลอีก 50 แห่ง

ศ. ฆูนาย ยังเปิดเผยอีกว่า ในปี 1981 มี นศ.ที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ย 6.2 % มีนศ.จำนวน 237,269 คน มีอาจารย์จำนวน 21,000 คน และมหาวิทยาลัยเพียง 19 แห่งเท่านั้น ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัย 170 แห่งทั่วประเทศ มีนศ.ที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 4.5 ล้านคน มีอาจารย์ 119,000 คน อัตราการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มเป็น 71.11 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราการศึกษาในประเทศอังกฤษด้วยซ้ำ นอกจากนี้มีนศ.ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากรองจากประเทศจีนเท่านั้น

โครงการสาธารณกุศลและกิจการวากัฟ ถือเป็นจุดเด่นของตุรกียุคอุษมานียะฮฺที่ได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลยุคนี้อย่างลงตัวที่สุด ช่วง 6-7 ปีหลังนี้ ในประเทศไทยโดยเฉพาะในสังคม 3 จังหวัดภาคใต้ เรามักได้ยินโครงการสาธารณกุศลต่างๆ มากมายเช่น ก่อสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงเรียน มัสยิด โครงการละศีลอด เชือกุรบ่านที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนจากตุรกี ทั้งที่ก่อนหน้านี้โครงการในลักษณะนี้ เป็นการผูกขาดโดยองค์กรสาธารณกุศลที่มาจากประเทศในตะวันออกกลางเท่านั้น

นี่คือความสำเร็จอันน่าทึ่งชนิดชั่วข้ามคืนของรัฐบาลพรรคยุติธรรมและพัฒนาภายใต้การนำของผู้นำตุรกียุคใหม่อย่างนายออร์โดกาน ซึ่งไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจของชาวตุรกีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มุสลิมทั่วโลกก็ยังแอบปลื้มและหวังลึกๆ ว่านี่คือสัญญาณเชิงบวกของการหวนกลับของตุรกีที่พร้อมถือธงนำประชาชาติโลกอีกครั้ง

แต่แล้ว ภารกิจการเดินหน้าพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดนี้ เกิดสะดุดลงด้วยการประท้วงของปชช.ที่ถือเป็นความท้าทายอำนาจของรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากบริหารประเทศมานาน 10 ปี และถือได้ว่าเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์การประท้วงอีกด้วย

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร

เชิญติดตามภาค 2 ครับ >> https://www.theustaz.com/?p=477

ศัตรูอิสลามไม่ต้องออกแรงบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสุลฏอนอุษมานีย์อีกแล้ว

สุลฏอนมูฮัมมัด อัลฟาติห์

  • ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปีค.ศ.1453 ทำให้การแจ้งข่าวดีของนบีฯได้กลายเป็นความจริง
  • ขึ้นครองราชย์นาน 30 ปี ระหว่าง 1451-1481
  • ตลอดระยะเวลา 30 ปี ได้ส่งกองทัพพิชิตเมืองต่างๆ รวมทั้งนำทัพด้วยพระองค์เองจำนวน 170 ครั้ง
  • ช่วงขึ้นครองราชย์ อาณาจักรอุษมานีย์มีอาณาเขตเพียง 650 ตร. กม. ต่อมาได้ขยายอาณาเขตในสมัยของพระองค์กว้างถึง 2.8 ล้านตร. กม. ครอบคลุม 3 ทวีปทั้งเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
  • พระองค์สิ้นพระชนม์บนม้าประทับขณะนำทัพจะไปพิชิตกรุงโรม อิตาลี

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของกษัตริย์หนุ่มจอมพิชิต ที่เป็นความภาคภูมิใจของประชาชาติอิสลาม

ในอดีตและปัจจุบัน ศัตรูอิสลามพยายามบิดเบือนประวัติของสุลฏอนมูฮัมมัดอัลฟาติห์ว่าเป็นกษัตริย์จอมกระหายเลือด ชอบทำสงครามเพื่อกอบโกยสินสงคราม ใช้ชีวิตเพลย์บอยกับนางรำ หลงระเริงกับความสนุกสนานบนโลกดุนยา

แต่ขณะนี้ ศัตรูอิสลามไม่ต้องออกแรงบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสุลฏอนอุษมานีย์อีกแล้ว

เมื่อประเทศอาหรับได้ร่วมลงทุนกว่า 40 ล้านดอลล่าร์ ผลิตหนังซีรีย์ The Kingdom of Fire (อาณาจักรไฟ) ฉายไปตามทีวีทั่วประเทศอาหรับอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อิยิปต์ อิรักและซีเรีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบิดเบือนและใส่ร้ายประวัติศาสตร์อาณาจักรอุษมานียะฮ์ที่เคยปกครองโลกกว่า 600 ปี ให้ผู้ชมเข้าใจว่าสุลฏอนอุษมานียะฮ์ หาใช่ใครที่ไหน นอกจากทหารรับจ้าง นักปล้นสะดมและจอมกระหายสงครามเท่านั้น

เราไม่เคยได้ยินประเทศคริสเตียน ใส่ร้ายโจมตีจอมจักรพรรดินโปเลียนของฝรั่งเศส
เราไม่เคยได้ยินชาวจีน บิดเบือนประวัติศาสตร์ของฮ่องเต้ที่ปกครองแผ่นดินจีน

แต่โลกมุสลิมปัจจุบัน คนที่ทำลายประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลามคือมุสลิมด้วยกันเอง

เรายังไม่เพียงพอกับการทำลายล้างของเหล่าศัตรูอีกหรือ

(ภาพวาดสุลฏอนมูฮัมมัดอัลฟาติห์)

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

เมื่อโลกอิสลามถึงคราวอับจนทางปัญญาและไม่มีแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์

บทเสวนาระหว่าง ดร. มูฮัมมัด อิวะฎีย์นักดาอีย์ชาวคูเวตกับนักประวัติศาสตร์ตุรกี นายอาห์มัด อัก กุดูซในประเด็นเนื้อหาหนังอิงประวัติศาสตร์ที่ชาติอาหรับ 3 ประเทศลงทุนกว่า 40 ล้านดอลล่าร์สร้างหนัง The Kingdom of fire ( บัลลังก์นรก) เพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์ของสุลตานยุคอุษมานียะฮ์ โดยในตอนแรกของหนังได้นำเสนอภาพลักษณ์ของสุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ ว่าเป็นกษัตริย์บ้าอำนาจ ยอมสังหารน้องชายตัวเองที่มีอายุเพียง 6 เดือนเพราะเกรงว่าจะเติบโตมายึดบัลลังก์ของตน ในขณะเดียวกัน พระองค์ถูกแสดงเป็นตัวละครที่ชราภาพแล้ว ทั้งๆที่ในประวัติศาสตร์ยืนยันว่าพระองค์เสียชีวิตเมื่ออายุ 49 ปีเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ชาวตุรกีนายอาห์มัด กุดูซ ได้ออกมาตอบโต้ว่า นี่คือตัวอย่างของการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังสะท้อนถึงภาวะอับจนทางปัญญาและตีบตันทางประวัติศาสตร์ ที่ทั้งผู้เขียนบทและผู้กำกับ จำเป็นต้องยืมตำราของนักบูรพาคดีที่เกลียดชังอิสลามมาเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญของหนังเรื่องนี้เลย

นายอาห์มัดอัก กุนดูซ กล่าวว่า ข้อกล่าวหาว่าสุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ สังหารน้องชายตัวเองที่มีอายุเพียง 6 เดือนนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ที่แม้แต่นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันก็ยังปฏิเสธ

เขายืนยันอีกว่าข้อมูลเท็จเหล่านี้ ถูกบันทึกเป็นครั้งแรกโดยนักบูรพาคดีชาวออสเตรีย ชื่อ Joseph von Hammer (เสียชีวิตปี1856) ซึ่งได้บิดเบือนประวัติศาสตร์อิสลามโดยเฉพาะบรรดาสุลตานอุษมานียะฮ์ เขายังใส่ร้ายอีกว่าบรรดาสุลตานเป็นพวกกามวิปริตจิตวิตถารด้วยการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วยซ้ำ

สุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ เปิดเมืองคอนสแตนติโนเปิลในปี 1453 ขณะที่มีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น ถือเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อิสลามและเป็นบุคคลที่นะบีมูฮัมมัดแจ้งข่าวดีว่า เมืองคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิตอย่างแน่นอนผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำของกองทัพนี้ และทหารที่ดีที่สุดคือทหารที่ร่วมสงครามในกองทัพนี้เช่นกัน (รายงานโดยฮากิม4/422 และอิมามอาห์มัด 4/ 355)

หน้าที่บิดเบือนใส่ไคล้อิสลามและผู้นำมุสลิม น่าจะเป็นภารกิจที่ศัตรูอิสลามสงวนลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ประชาชาติอิสลามไม่จำเป็นต้องแย่งชิงทำภารกิจนี้เลย

คำถามคือ สุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์เสียชีวิตเมื่อ 500 ปีมาแล้ว ทำไม 3 ชาติอาหรับเพิ่งตื่นมาบิดเบือนประวัติศาสตร์ประชาชาติอิสลามในช่วงที่ประชาขาติอิสลามตกอยู่ในภาวะที่ระส่ำระสายที่สุดเหมือนทุกวันนี้

เรายังไม่หนำใจกับความอ่อนแออีกหรือ

เขียนโดย : ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ภาพประกอบ www.turkpress.co