ลูกหรือจะสู้นกกรงหัวจุก

ราว 10 ปีที่แล้ว
จำได้ว่า ไปบรรยายที่ มอ.ปัตตานี เรื่องบทบาทสตรีมุสลิมะฮ์ หลังบรรยายเสร็จมีสตรีคนหนึ่งยกมือนำเสนอว่า

“ อาจารย์คะ ช่วยไปบอกผู้เป็นพ่อใน 3 จว. ชายแดนใต้ทุกคนว่า หากพ่อทุกคนรักและเอาใจใส่ลูกของตนเอง ให้ได้ครึ่งหนึ่งที่เขารักและเอาใจใส่นกกรงหัวจุก รับรองว่า ลูกๆของเรา จะมีค่ามากกว่านกกรงหัวจุกหลายร้อยพันเท่า”

เสียงนั้น ยังคงก้องกังวาลในโสตประสาทของผมตลอดเวลา และผมได้ใช้เวทีต่างๆเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้สตรีคนนั้นมาโดยตลอดตราบที่มีโอกาส

โอกาสนี้ จึงขอใช้เวทีนี้ กระจายเสียงของนางอีกครั้งครับ


เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ลัทธิบาบี และบาไฮ

ลัทธิบาบี และบาไฮ (อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ)
นิยาม

อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ คือลัทธิที่แยกตัวจากสำนักคิดชีอะฮฺสายอัช-ชัยคียะฮฺ เมื่อปี ฮ.ศ.1260 / ค.ศ.1844 ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของจักรวรรดินิยมโซเวียต องค์กรยิวสากลและจักรวรรดินิยมอังกฤษ โดยมีเป้าหมายหลักคือทำลายหลักการศรัทธาของอิสลาม สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม และเพื่อให้ชาวมุสลิมหันเหจากปัญหาหลัก

การก่อกำเนิดแนวคิดนี้
ลัทธินี้ก่อตั้งโดย อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.1235-1266/ ค.ศ.1819-1850) มีฉายานามว่า อัล-บาบ (ชาวบาไฮในประเทศไทยเรียกว่า พระบ็อบ)
เมื่อตอนอายุ 6 ขวบอัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ ได้ศึกษาความรู้ครั้งแรกจากนักเผยแพร่นิกายชีอะฮฺท่านหนึ่ง ต่อมาเขาได้หยุดเรียนและหันไปประกอบอาชีพค้าขาย
เมื่ออายุ 17 เขาได้กลับมาศึกษาหาความรู้อีกครั้งโดยสนใจในตำราเกี่ยวกับวิชาตะเศาวุฟ และการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ตามแนวทางของพวกอัล-บาฏินียะฮฺที่นิยมการทรมานร่างกาย
ในปี ฮ.ศ. 1259 เขาได้เดินทางไปยังกรุงแบกแดดและได้เริ่มศึกษาหาความรู้จากผู้นำชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ซึ่งมีนามว่า กาซิม อัร-ร็อชตีย์ เขาได้ศึกษาแนวคิดและทัศนะต่างๆ ของลัทธินี้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับสายลับชาวรัสเซียคนหนึ่ง ชื่อว่า คินาซด์ ฆุรกีย์ เขาคนนี้ได้อ้างตนว่าเป็นมุสลิมโดยใช้ชื่อว่า อีซา อัน-นักรอนีย์ เขาผู้นี้ได้เริ่มสร้างกระแสว่า อัล-มิรซา มุหัมหมัด อัช-ชีรอซีย์ คือ อิหม่ามอัล-มะฮฺดีย์ ที่โลกรอคอย และเป็นอัล-บาบ (ประตูสู่การรู้จักสัจธรรมเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งจะปรากฎตัวหลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์
ทั้ง นี้เนื่องจากเขามองว่าอัช-ชีรอซีย์เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะอุปโลกน์เพื่อ ให้แผนการของพวกเขาบรรลุผลในการสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม
ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ.1260 ตรงกับ 23 มีนาคม 1844 เขาได้ประกาศตนว่าเขาคือ อัล-บาบ ตามความเชื่อของชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ หลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์ เมื่อปี ฮ.ศ. 1259 เขาอ้างตนว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ เสมือนกับท่านนบีมูซา นบีอีซา และนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (แท้จริงแล้วบรรดาศาสนทูตของพระองค์มีเกียรติอันสูงส่งไม่สามารถนำมาเปรียบกับเขาได้เลย)
จากคำกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ศิษย์ของอัร-ร็อชตีย์หลงเชื่อ และผู้คนทั่วไปพากันหลงเชื่อด้วย เขาจึงเลือกบุคคลจำนวน 18 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่แนวคิดของเขา โดยให้ฉายานามบุคคลเหล่านั้นว่า อัล-หุรูฟ อัล-หัยย์ (อักษรที่มีชีวิต) แต่เมื่อปี ฮ.ศ. 1261 พวกเขาได้ถูกทางการจับกุมตัว และในที่สุดพวกเขายอมประกาศเตาบัต (กลับตัว) บนมินบัรฺมัสยิดอัล-วะกีล หลังจากที่พวกเขาได้สร้างความเสื่อมเสียบนหน้าแผ่นดิน เข่นฆ่าชาวมุสลิมมากมาย ตลอดจนกล่าวหาว่าชาวมุสลิมกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
ในปี ฮ.ศ.1266 อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์(อัล-บาบ หรือพระบ็อบ) ได้อ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของตน (หุลูล อิลาฮิยะฮฺ) แต่หลังจากปราชญ์มุสลิมได้โต้เถียงกับเขาถึงประเด็นนี้เขาได้แสดงท่าทีว่ายอมรับและกลับตัว แต่ปราชญ์มุสลิมไม่ได้หลงกลเนื่องจากรู้ว่าเขาผู้นี้เป็นคนขี้ขลาดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริง ดังนั้นปราชญ์มุสลิมได้ตัดสินให้ประหารชีวิตเขาและสหายของเขา อัซ-ซะนูซีย์ ส่วนผู้บันทึกคำสอนของเขาที่ชื่อว่า หุสัยน์ อัล-ยัซดีย์ ได้เตาบัต (กลับตัว)จากลัทธิอัล-บาบิยะฮฺก่อนที่จะถูกประหารทำให้เขาได้อิสรภาพไม่ต้องโทษ เมื่อวันที่ 27 ชะอฺบาน 1266 ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 1850

บุคคลสำคัญของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
1. กุรเราะฮฺ อัล-อัยนฺ ซึ่งมีชื่อจริงว่า อุมมุ สัลมา ถือกำเนิด ณ เมืองก็อซวีน เมื่อปี ฮ.ศ. 1231 ได้ศึกษาหาความรู้จากมุลลา มุหัมหมัด ศอลิหฺ อัล-ก็อซวีนีย์ หนึ่งในปราชญ์ชีอะฮฺ ต่อมาได้สนใจศึกษาแนวทางชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ผ่านลุงของนางเอง คือ มุลลา อะลีย์ อัช-ชัยคีย์ นางได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชีอะฮฺกลุ่มนี้ ต่อมานางได้เดินทางมาศึกษาจาก กาซิม อัร-ร็อชตีย์ พร้อมอัล-บาบ ณ เมืองกัรบะลาอ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) จนมีคนเข้าใจว่านางคือผู้ออกแบบแนวความคิดต่างๆ ให้แก่อัล-บาบ เนื่องจากนางเป็นนักพูดที่ชาญฉลาด มีวาทะโวหารที่ปราดเปรื่อง อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความเลอโฉมงดงาม แต่นางก็ถือว่าเป็นหญิงแพศยา สามีของนางได้ขอหย่าและปฏิเสธการเป็นบิดาของลูกที่อยู่ในครรภ์ของนาง นางได้รับฉายานามว่า “เราะซีน ตาญจ์” เจ้าของบทกวีภาษาเปอร์เซีย
ในเดือนเราะญับ ปี ฮ.ศ. 1264 นางได้ประชุมหารือกับแกนนำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺ ณ เมืองบะดัชต์ (Conference of Badasht) นางเป็นผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ และสร้างความฮึกเหิมแก่มวลสมาชิกอัล-บาบิยะฮฺเพื่อออกมาประท้วงการจับกุมอัล-บาบ และได้ประกาศจุดยืนว่าอัล-บาบิยะฮฺได้เป็นอิสระจากศาสนาอิสลามแล้ว
นางเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมวางแผนลอบสังหารกษัตริย์ ชาฮ์ นาศีรุดดีน อัล-กอญารีย์ (Nasser al-Din Shah Qajar – กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศอิหร่าน ระหว่างปี ค.ศ.1848-1896) ต่อมานางได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้เผาเป็นๆ แต่ทว่านางได้เสียชีวิตก่อนจะถูกประหารในต้นเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1268 ตรงกับ ค.ศ. 1852

2. อัล-มิรซา ยะหฺยา อะลีย์ มีศักดิ์เป็นน้องชายของอัล-บาบ มี ฉายานามว่า ศุบฮฺ อะซัล อัล-บาบได้สั่งเสียให้เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำแทนเขาหลังเสียชีวิต เรียกขานผู้ตามของเขาว่า อัล-อะซัลลิยีน แต่น้องชายของเขา อัล-มิรซา หุซัยนฺ อัล-บะฮาอ์ ต้องการชิงตำแหน่งผู้นำลัทธินี้เช่นกัน และต่างคนพยายามที่จะลอบสังหารกัน ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอัล-บาบิยะฮฺกับพวกชีอะฮฺ ทำให้พวกเขาต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองอัดเราะนะฮฺ (Edirne) ประเทศตุรกี เมือปี ฮ.ศ.1863 อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวยิว และด้วยเหตุที่พลพรรคของศุบฮฺ อะซัล และพลพรรคของบะฮาอุลลอฮฺเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานได้เนรเทศ บะฮาอุลลอฮฺพร้อมมวลชนของเขาไปอยู่ที่เมืองอักกา ส่วน ศุบฮฺ อะซัลและมวลชนของเขาถูกเนรเทศไปยังเกาะไซปรัส จนเขาได้เสียชีวิตที่นั้น เมื่อวันที่ 29เมษายน 1912 ด้วยวัย 82 ปี โดยได้ทิ้งตำราที่เขาแต่งคือ อัล-อัลวาหฺ และ ตำราอัล-มุสตัยกิซ และได้สั่งเสียให้บุตรชายของเขาที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์สืบทอดตำแหน่งผู้นำกลุ่มต่อไป จึงทำให้สมุนของศุบฮฺ อะซัลส่วนใหญ่ไม่พอใจและได้ออกห่าง

3. อัล-มิรซา หุสัยนฺ อะลีย์ ซึ่งมีฉายานามว่า บะฮาอุลลอฮฺ ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1817 ได้ชิงตำแหน่งผู้นำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺจากพี่ชายของเขาหลังจากการเสียชีวิตของอัล-บาบ(พระบ็อบ) เขาได้ประกาศตนต่อหน้าสานุศิษย์ของเขาที่กรุงแบกแดด ว่าเขาคือ อัล-มุซ็อฮฮิรฺ อัล-กามิล ผู้ซึ่งอัล-บาบได้พยากรณ์ว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และพระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของเขาเพื่อสานต่อภารกิจการเผยแพร่ลัทธิอัล-บาบิยะฮฺต่อไป การเผยแพร่ของเขาถือว่าเป็นการเผยแพร่ในบันไดขั้นที่สองในหลักความเชื่อศาสนาบาบี (ผู้ที่เลื่อมใสในคำสอนของเขาเรียกว่า บะฮาอิยูน หรือพวกบาไฮ) เขาพยายามที่จะลอบสังหารศุบฮฺ อะซัล ซึ่งเป็นพี่ชายของเขาเอง เขามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาวยิวที่อยู่ในตำบลอัดเราะนะฮฺ (Edirne) เมืองสาโลนิกา (Salonika) ประเทศตุรกี อันเป็นแผ่นดินที่ชาวบาไฮ เรียกว่าแผ่นดินแห่งความลับ เขาได้ส่งมือสังหารจากเมืองนั้นไปยังเมืองอักกาและได้ทำการสังหารพลพรรคของพี่ชายของเขาศุบฮฺ อะซัล ล้มตายหลายราย
ในปี ค.ศ.1892 บะฮาอุลลอฮฺได้ถูกสังหารด้วยน้ำมือของสมุนพี่ชายของเขาเองและร่างของเขาถูกฝังที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา (ประเทศปาเลสไตน์) เขามีผู้ทำหน้าที่เขียนคัมภีร์ให้เขา เช่นคัมภีร์อัล-บะยาน(Kitab al-Bayan) และคัมภีร์อัล-อีกอน (Kitab al-Iqan) คัมภีร์ของเขามีเนื้อหาเรียกร้องให้ชนชาติยิวมารวมตัวกันตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนปาเลสไตน์

4. อับบาส อะฟันดีย์ มีฉายานามว่า อับดุลบะฮาอ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1844 ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่อัล-บาบ ได้ประกาศลัทธิใหม่นี้ บิดาของเขา (บะฮาอุลลอฮฺ) ได้สั่งเสียให้เขาสืบทอดตำแหน่งผู้นำ เขาเป็นผู้ที่มีบุคลิกที่จริงจังมาก จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าหากไม่มีอับบาส ศาสนาบาไฮคงไม่สามารถดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ชาวบาไฮเชื่อว่าเขาเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากมวลบาป (มะอฺศูม) เขาได้เพิ่มเติมคุณลักษณะบิดาของเขาบะฮาอุลลอฮฺให้คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้า คือสามารถที่จะบันดาลสรรพสิ่งขึ้นมาได้
อับบาส อะฟันดีย์ ได้เดินทางเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมได้เขาร่วมประชุมสมัชชาไซออนนิสต์ ณ เมืองบาเซิล (Basle) ในปี ค.ศ.1911 เขาได้พยายามที่จากแหกมติชนชาติอาหรับโดยหันไปสนับสนุนยิวไซออนิสต์ เขาให้การต้อนรับนายพลอัลเลนบี้(General Edmund Allenby-แม่ทัพของอังกฤษที่มายึดครองปาเลสไตน์และซีเรียเมื่อปี ค.ศ.1917) ครั้งที่เดินทางมาที่ปาเลสไตน์ จนรัฐบาลอังกฤษชื่นชมบทบาทของเขาด้วยการยกฐานะเป็นเซอร์ (Sir – เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งให้กับสามัญชนผู้มีความดีความชอบให้กับแผ่นดินมากซึ่งในอดีตก็จะเป็นอัศวินนักรบ) พร้อมทั้งประดับเครื่องอิสริยาภรณ์และสายสะพายอื่นๆ มากมาย เขาได้เดินทางเยือนหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เบลเยียม ฮังการี อะเล็กซานเดรีย (อียิปต์)เพื่อทำการเผยแพร่ลัทธิของเขา จนกระทั่งเขาได้ก่อตั้งศูนย์ศาสนาบาไฮที่ใหญ่โต ณ เมืองชิคาโก ต่อมาเขาเดินทางไปยังเมืองฮัยฟา (ปาเลสไตน์) เมื่อปี 1913 ต่อมาเขาเดินทางไปยังกรุงไคโรและเสียชีวิตที่นั้นเมื่อปี ฮ.ศ.1340 /ค.ศ.1921 หลังจากที่เขาได้ถ่ายถอดความรู้จากบิดาของเขาพร้อมทั้งได้เพิ่มเติมคำสอนจาก คัมภีร์ไบเบิลพันธะสัญญาเก่าเพื่อเป็นการยืนยันในคำสอนของเขาให้มีน้ำหนัก

5. เชากีย์ อะฟันดีย์ เป็นหลานของอับดุลบะฮาอ์ ปู่ของเขาได้จากโลกนี้ไปในขณะที่เขามีอายุ 24 ปี ในปี 1921 / ฮ.ศ.1340 เขาได้ดำเนินตามรอยทางปู่ของเขาในการบริหารองค์กรบาไฮ เพื่อก่อตั้งสภายุติธรรมสากล เขาได้เสียชีวิตที่กรุงลอนดอนจากหัวใจวาย และร่างของเขาถูกฝังที่นั้น แผ่นดินที่รัฐบาลมอบรางวัลมากมายแก่กลุ่มชาวบาไฮ
ในปี ค.ศ.1963 แกนนำบาไฮ 9 คน ได้ดำเนินการตามภารกิจของอัล-บะฮาอิยะฮฺด้วยการก่อตั้งสภายุติธรรมสากล (The Universal House of Justice) โดยมีคณะกรรมการบริหารจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ชาวอเมริกา 4 คน ชาวอังกฤษ 2 คน และชาวอิหร่าน 3 คน และเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาแห่งนี้เป็นชาวยิวฟรีเมสัน สัญชาติอเมริกา

แนวคิดและความเชื่อของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
– ชาวบาไฮเชื่อว่า อัลบาบ (พระบ็อบ) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทุกอย่างด้วยคำประกาศิตของเขา เขาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของทุกๆ สิ่ง
– พวกเขาเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์ในตัวตนของมนุษย์ เชื่อในหลักอัล-อิตติหาด(ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน) เชื่อในหลักเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าวัตถุทุกอย่างคงอยู่อย่างถาวร และเชื่อว่าผลบุญ และบทลงโทษนั้นเกิดขึ้นกับดวงวิญญาณเท่านั้น และสิ่งดังกล่าวเป็นความเชื่อเชิงมายาคติ
– พวกเขาบูชาเลข 19 ซึ่งทำให้พวกเขากำหนดเดือนในรอบปีมี 19 เดือน และกำหนดวันในรอบเดือนมีเพียง 19 วัน ในการนี้มีผู้ทำตามแนวคิดนี้คือ อัล-ฮะรออ์ มีชื่อเต็มว่า มุหัมหมัด เราะชาด เคาะลีฟะฮฺ ซึ่งเขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเลข 19 เขาพยามยามที่จะเชื่อมโยงว่าอัลกุรอานมีโครงสร้างมาจากเลข 19 แต่ทว่าไม่มีใครให้ความสนใจกับคำพูดของเขาเลย
– พวกเขาเชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ขงจื้อ โซโรแอสเตอร์ และบุคคลสำคัญอย่างนักปราชญ์ของอินเดีย จีน และเปอร์เซีย เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ
– พวกเขามีทัศนะเห็นพ้องกับชาวยิวและคริสเตียนว่า นบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ถูกตรึงบนไม้กางเขน
– พวกเขาตีความอัลกุรอานเชิงความรู้ลึกลับเพื่อให้สอดคล้องกับลัทธิของพวกเขา
– พวกเขาปฏิเสธในมุอฺญิซาต (ความมหัศจรรย์ที่อัลลอฮฺประทาน) ของบรรดาศาสนทูต พวกเขาปฏิเสธการมีอยู่จริงของบรรดามลาอิกะฮฺ ญิน พร้อมทั้งปฏิเสธว่าสวรรค์และนรกมีอยู่จริง
– พวกเขาห้ามสตรีคลุมหิญาบ พวกเขาอนุญาตให้แต่งงานมุตอะฮฺได้ เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและความเสมอภาคในทรัพย์สินเงินทอง
– พวกเขากล่าวว่าศาสนาที่อัล-บาบนำมานั้นได้ยกเลิกบทบัญญัติต่างๆ ที่นบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เผยแพร่ไว้
– พวกเขาตีความว่าวันกิยามะฮฺนั้นคือวันที่บะฮาอุลลอฮฺได้ปรากฏตัว ส่วนทิศกิบละฮฺของพวกเขาในเวลาละหมาดคือ สถานที่เรียกว่า สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์ แทนที่บัยตุลลอฮฺ ณ มัสยิดอัลหะรอม
– พวกเขาจะละหมาดวันละ 3 เวลา มีจำนวนร็อกอะฮฺ 9 ร็อกอะฮฺ และจะอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำดอกกุหลาบ แต่หากไม่มีน้ำดังกล่าวพวกเขาจะกล่าวบิสมิละฮฺด้วยสำนวนดังนี้จำนวน 5 ครั้ง “บิสมิลละฮิลอัฏฮัรฺ อัลอัฏฮัรฺ- بسم الله الأطهر الأطهر “
– ไม่มีการละหมาดแบบญะมาอะฮฺในหมู่พวกเขานอกจากการละหมาดศพ ซึ่งมีจำนวนตักบีรฺ 6 ครั้ง และทุกตักบีรฺพวกเขาจะกล่าวว่า “อัลลอฮุ อับฮา- الله أبهى “
– พวกเขาจะถือศีลอดในเดือนที่ 19 ตามปฏิทินบาไฮ พวกเขาจะอดอาหารเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นระยะเวลา 19 วัน จากนั้นพวกเขาจะเฉลิมฉลองวันอีด อัน-นัยรูซ (วันปีใหม่ชาวบาไฮ) ในวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม ชาวบาไฮทุกคนที่มีอายุระหว่าง 15-70 ปีต้องถือศีลอด
– พวกเขาห้ามการทำอัล-ญิฮาด หรือจับอาวุธต่อสู้กับอริราชศัตรู ซึ่งกฎดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของจักรวรรดินิยมในการอุปโลกน์ลัทธินี้ขึ้นมา
– พวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมหมัด คือ นบีหรือศาสนทูตองค์สุดท้าย พวกเขาอ้างว่าวะหฺยู (วิวรณ์) จากอัลลอฮฺนั้นถูกประทานลงมาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเลยแต่งตำรับตำรามากมายที่มีเนื้อหาแย้งกับอัลกุรอานแต่ทว่าตำราของ เขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่องไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาหรือสำนวน
– พวกเขาได้ยกเลิกการไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ เมืองมักกะฮฺ อัล-มุกัรเราะมะฮฺ แต่พวกเขาจะไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ สถูปฝังศพของบะฮาอุลลอฮฺ ที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์แทน

รากเหง้าทางความคิดและความเชื่อของพวกบาไฮ
ความคิดและความเชื่อของพวกเขาได้ผสมผสานระหว่างแนวคิดต่างๆต่อไปนี้

– อัร-รอฟิเฎาะฮฺ อัล-อิมามิยะฮฺ (ชีอะฮฺ อิหม่าม 12 )
– ชีอะฮฺ อัช-ชัยคียะฮฺ (สาวกของชัยคฺอะหฺมัด อัล-อะหฺสาอีย์)
– อัล-มาสูนียะฮฺ (องค์กรฟรีเมสันสากล)
– ยิวไซออนิสต์สากล

การแพร่กระจายและแหล่งที่มีอิทธิพลของศาสนาบาไฮ
ชาวบาไฮส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศอิหร่าน บางส่วนอาศัยอยู่ในอิรัก ซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพวกเขา เช่นเดียวกันนั้นพวกเขาเคยมีศูนย์ศาสนาบาไฮในอียิปต์แต่ศูนย์ดังกล่าวถูกปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐบาล หมายเลขที่ 263 เมื่อปี ค.ศ. 1960 นอกจากนี้พวกเขายังมีศูนย์ ณ เมืองต่างๆ เช่นที่ แอดดิส อบาบา เอธิโอเปีย กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา กรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย ซึ่ง ณ เมืองนี้พวกเขาได้จัดประชุมสามัญประจำปี ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน ค.ศ. 1989 พวกเขามีศูนย์ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเวียนนา เมืองแฟรงก์เฟิร์ต(เยอรมัน) กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองชิคาโก (รัฐอิลลินอยส์-สหรัฐอเมริกา) พวกเขามีโบสถ์ที่ใหญ่โต ซึ่งพวกเขาเรียกว่า มุชริกุลอัซการฺ ณ สถานที่แห่งนั้นพวกเขาได้ผลิตวารสารออกมา ชื่อว่า นัจมฺ อัล-ฆ็อรฺบ (ดาวตะวันตก) เช่นเดียวกับที่เมืองวิลเมตต์ ศูนย์กลางบาไฮในอเมริกา ในเมืองนิวยอร์กพวกเขามีคาราวานตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวบนหลักการของบาไฮ พวกเขามีหนังสือคู่มือกองคาราวาน และเพื่อนความรู้ พวกเขามีแหล่งชุมนุมใหญ่ในเมืองฮิวสตัน (รัฐเทกซัส) ลอสแอนเจลิส (รัฐแคลิฟอร์เนีย) บรุกลิน และนิวยอร์ก โดยประมาณว่าพวกบาไฮในสหรัฐอเมริกามีจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นสมาชิกใน 600 กว่าองค์กร เป็นเรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่งที่พวกบาไฮมีตัวแทนประจำองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก มีตัวแทนสหประชาชาติที่เจนีวา และมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศแอฟริกาที่กรุงไนโรบี นอกจากนี้พวกเขามีฐานะเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ (Ecosco) พวกเขามีสมาชิกทำงานในองค์การสิ่งแวดล้อมโลกแห่งสหประชาติ (Unep) ในกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ -Unicef) และในสำนักงานสารสนเทศแห่งสหประชาชาติ (U.N. Office of Public Information) เช่น ดุซซีย์ บูส เป็นตัวแทนขององค์การบาไฮสากลประจำองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนรุสตุม ค็อยรูฟ เป็นสมาชิกมูลนิธิสากลเพื่อความมั่นคงของมนุษยชาติ

บทสรุป
อัล-บาบิยะฮฺ (ศาสนาบาบี) และอัล-บะฮาอิยะฮฺ (ศาสนาบาไฮ) คือกลุ่มที่หลงทางซึ่งได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย อีกทั้งพวกเขายังอ้างว่าวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์อยู่ในร่างของอัลบาบ (พระบ็อบ) หรือในร่างของอัล-บะฮาอ์ พวกเขายังปฏิเสธการลงโทษของอัลลอฮฺในวันปรโลก พวกเขาจงรักภักดีต่อชาวยิวตลอดเวลาและพยายามจะให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนา และพวกเขาประกาศอย่างชัดเจนว่าคัมภีร์อัล-บะยานของพวกเขาได้ยกเลิกคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน
ได้มีคำฟัตวา (ข้อชี้ขาดทางศาสนา)ที่มาจากหลายสำนักทางวิชาการศาสนา เช่นศูนย์ศาสนบัญญัติอิสลาม เมืองมักกะฮฺ สำนักฟัตวาแห่งประเทศอียิปต์ ระบุว่า ลัทธิอัลบะฮาอิยะฮฺ และอัลบาบิยะฮฺ ได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม และถือว่าเป็นศัตรูต่อศาสนาอิสลาม ผู้ที่เลื่อมใสในแนวคิดของพวกเขาถือว่าเป็นกาฟิรฺ (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) อย่างชัดแจ้งโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ อีก (อ้างจากหนังสือพิมพ์อัลมะดีนะฮฺ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 เดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ.1399 ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1979)

Ref : saaid.net
จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโลก


ถอดความโดย Salamah Panphum

มหัศจรรย์แห่งวากัฟรอมฏอน | บันทึกรอมฎอน 1441 (9)

ตอนเย็นวันที่ 26 รอมฎอน 1441 เวลาประมาณ 5 โมงเย็น มีหญิงอายุเลย 60 ปีขับมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆมาจอดหน้าบ้าน พร้อมควักเงิน 1,000 บาท ยื่นให้พลางกล่าวว่า จะบริจาควากัฟมาดีนะตุสสลาม

ผมจึงกล่าวขอบคุณและดุอาให้เมาะและครอบครัว พร้อมถามว่า เมาะรวบรวมเงินอย่างไร

เมาะยิ้มพลางตอบว่า ไม่ได้ออมอะไรหรอก เพียงแต่ทราบว่าตนได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ยังไม่ไปเบิก จึงไปขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านไปก่อน เกรงว่าพอได้เงินก้อน อาจจะถูกนำไปใช้อย่างอื่นจนไม่เหลือที่จะวากัฟ จึงรีบชิงทำความดีที่ไม่สิ้นสุดไปก่อน ถึงแม้จะต้องไปเครดิตกับเพื่อนบ้านก็ตาม

นับถือวิธีคิดและซาบซึ้งจิตใจอันงดงามของเมาะจริงๆ เมาะสตาร์ทรถเครื่องกลับบ้านไปนานแล้ว แต่ผมยังยืนแน่นิ่งดูเมาะจนลับตา พร้อมน้ำอุ่นๆที่ไหลออกมาโดยไม่รู้สึกตัว

เย็นนี้ เมาะให้บทเรียนหลายข้อที่คุ้มค่าเหลือเกิน

โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ไม่มีอะไรที่กลับตาลปัตรและพลิกผันไปมากกว่านี้อีกแล้ว | บันทึกรอมฎอน 1441 (8)

47 ปีที่แล้ว ประเทศอ่าวอาหรับทั้งคูเวต กาตาร์ บาห์เรน เอมิเรตส์ ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียที่มีกษัตริย์ไฟศอลเป็นผู้นำได้ออกโรงตอบโต้สหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนอิสราเอลกรณีใช้กองกำลังบุกยึดปาเลสไตน์ ด้วยการพร้อมใจกันยุติการส่งออกน้ำมันแก่สหรัฐฯและฮอลแลนด์ เพื่อแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างรัฐบาลอิยิปต์และซีเรียที่กำลังทำสงครามกับอิสราเอลที่ปะทุขึ้นเมื่อ 10 รอมฎอน 1394 (6/9/1973)

47 ปีคล้อยหลัง ทั้งประเทศที่เคยร่วมทำสงครามและประเทศบางประเทศที่เคยสนับสนุนทำสงครามกับอิสราเอล ได้ร่วมใจพากันจับมือกับสหรัฐฯและอิสราเอลเพื่อประกาศสงครามกับกลุ่มต่อต้านอิสราเอล และพากันชี้หน้าพวกเขาว่ามีอะกีดะฮ์ที่บิดเบือน แนวคิดที่สุดโต่ง และทัศนคติที่ไม่สร้างสรรค์

—————-
ไม่มีอะไรที่กลับตาลปัตรและพลิกผันไปมากกว่านี้อีกแล้ว

รอมฎอนนี้ไม่มีเธอ | บันทึกรอมฎอน 1441 (7)

รอมฎอนนี้ไม่มีเธอ

10 กว่าปีที่แล้วได้เข้าร่วมเอี้ยะติก้าฟครั้งแรกที่มัสยิดอัตตะอาวุนบางปู อ. ยะหริ่ง จ. ปัตตานี และได้เข้าร่วมปฏิบัติเรื่อยมาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นความผูกพันที่สร้างความประทับใจมากมาย

ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้หลักผู้ใหญ่ระดับตำนานของหมู่บ้านสืบสานเรื่องราวในอดีตตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงมัสยิดกลางปัตตานี ขบวนการต่อสู้ของกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพ การเผยแพร่อิสลามยุคเริ่มก่อตั้งมัจลิสอิลมีย์ทุกเช้าวันเสาร์ที่บราโอ การริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนตาดีกาพร้อมตำนานมัสยิดไม้อายุกว่า 300 ปี แนวคิดปลูกฐานสร้างมัสยิดใหญ่โตที่มีเสามหึมาชูตระหง่านนานเกือบ 20 ปี แม้กระทั่งวิถีชุมชนตามเทศกาลต่างๆที่เล่าขานมาอย่างมิรู้เบื่อ

ถึงแม้ไม่สามารถถ่ายทอดได้อย่างครบเครื่องสมบูรณ์ แต่ผมพยายามบันทึกความทรงจำนี้ผ่านลำนำอนาชีดทั้งเวอร์ชั่นภาษามลายูและไทย

ส่วนอนาชีดที่ 3 เป็นภาพสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของชาวบางปู ภายใต้การกำกับดูแลของมัสยิดอัตตะอาวุน อันหมายถึง การเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน

เนื้อหาอนาชีดทั้ง 3 เป็นเพียงรอยน้ำที่ติดอยู่กับเข็มที่จุ่มในทะเลแห่งอัตตะอาวุน

เพราะในความเป็นจริง มันจะพราวกว่าเนื้ออนาชีดไม่รู้กี่ร้อยพันเท่า

รอมฎอนปีนี้ ถึงแม้ไม่มีเธอ แต่จะพยายามเก็บเกี่ยวความทรงจำตราบนานเท่านาน


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ข่าวด่วน | บันทึกรอมฎอน 1441 (6)

ไวรัสตัวใหม่กำลังมาแรงใน 3 จว. แดนใต้
เริ่มก่อตัวแพร่เชื้ออย่างเร้าใจสุดๆ

ข่าวล่าสุดแจ้งว่า เฉพาะในเมืองยะลาระบาดหนักกว่า 5 จุดแล้ว
ในเมืองปัตตานียังไม่สามารถควบคุมได้
ส่วนในเมืองนราฯคาดว่าจะบานปลาย
ล่าสุดที่หาดใหญ่ผุดแล้ว 4 จุด ในวันเดียว
จังหวัดอื่นๆกำลังลุ้นระทึก

ปรากฏการณ์แชร์ลูกโซ่แห่งความดี
ที่มาช่วงรอมฎอน 1441 นี้
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
ไวรัสใหม่กำลังระบาด

“ตู้ปันสุข”
ภายใต้สโลแกน #หยิบแต่พอดี_ถ้าท่านมีก็แบ่งปัน


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

อาหารเหลือกิน | บันทึกรอมฎอน 1441 (5)

สิ่งหนึ่งที่มักเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในเดือนรอมฎอนคืออาหารเหลือกิน ที่กลายเป็นขยะในวันรุ่งขึ้น หากคิดเป็นเงินที่ครัวมุสลิมทิ้งอาหารเหลือกินวันละเพียง 5 บาทต่อวัน ถามว่าเราทิ้งเงินอย่างสูญเปล่าวันละกี่ล้านบาท หากคิดทั้งเดือนรอมฎอนแล้ว ตัวเลขจะสูงมากจนตกใจ

ลองคิดหยาบๆดูว่า เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มี 300,000 ครัวเรือน x 5 บาท x 30 วัน = 45,000,000 บาท
เงินจำนวนนี้สามารถสร้าง
1. บ้านสำหรับคนไร้บ้านราคาหลังละ 500,000 บาท ได้ 90 หลัง หรือ
2. สร้างมัสยิดงามๆ 9 หลังราคาหลังละ 5 ล้าน
3. สร้างอาคารเรียนตาดีกาอาคารละ 1 ล้าน จำนวน 45 หลัง หรือ
4. มอบทุนการศึกษาระดับ ป. ตรี สำหรับโครงการช้างเผือกในสาขาวิชาขาดแคลน คนละ 1 ล้านได้ถึง 45 ทุน หรือ
5. ฯลฯ

เราจะมีวิธีการจัดการอาหารเหลือกินนี้อย่างไร

โครงการ “ตู้ปันสุข” น่าจะแก้ได้ในระดับหนึ่ง

เชื่อว่าหากในแต่ละชุมชนจัด “ตู้ปันสุข” อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากยังสามารถจัดกิจกรรม “ชุมชนช่วยชุมชน” แล้ว เรายังแก้ปัญหา อาหารทิ้งในวันรุ่งขึ้นได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย

“ทำดี ทำได้ ไม่ต้องเดี๋ยว”
———————-
ปล. อาหารเหลือกินตรงนี้ ไม่ใช่เศษอาหารที่เราเหลือเก็บนะครับ แต่สำหรับบางคนเก็บอาหารเยอะแยะในห้องครัวหรือตู้เย็น ที่ไม่รู้จะคิดยังไงที่จะกินให้หมด แต่มันคืออาหารอันแสนเอร็ดอร่อยของคนบางครอบครัว


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ตู้ปันสุข 3 จังหวัดชายแดนใต้ | บันทึกรอมฎอน 1441 (4)

เท่าที่ทราบ รอมฏอนปีนี้ น่าจะเป็นรอมฎอนแรกที่มีการริเริ่มจัด “ตู้ปันสุข” ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้สโลแกน “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมี ใส่ตู้แบ่งปัน”

ขอขอบคุณองค์กรและบุคคลที่ริเริ่มจัดโครงการที่มีประโยชน์ยิ่งนี้ โดยเฉพาะทีมงาน IAC เครือข่ายองค์กรมุสลิมสู้ภัยโควิด-19 ถือเป็นการริเริ่มความดีงามในอิสลาม ที่สามารถเกิดผลบุญให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง และเป็นการสะสมผลบุญรวมกับคนที่ทำเป็นแบบอย่างหลังจากนั้นอีกด้วย ตามนัยหะดีษที่รายงานโดยมุสลิม/1017

ขอสนับสนุนกิจกรรม ”แชร์ลูกโซ่” ชนิดนี้ และอยากเชิญชวนให้แต่ละชุมชนนำไปปฏิบัติต่อโดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง เท่าที่มีความสามารถและสถานการณ์เอื้ออำนวย

ถือเป็นหนึ่งในโมเดล “ชุมชนช่วยชุมชน” Kampong bantu Kampong ที่แสนธรรมดาแต่ด้วยพลังใจอันแสนยิ่งใหญ่มาก

ทั้งผู้ยื่นมือให้และผู้ยื่นมือรับ ต่างก็ต้องมีพื้นฐานจิตสำนึกที่สำคัญมากๆไม่แพ้กันคือ “ความรู้สึกอยากแบ่งปัน”

جزاكم الله خيرا وندعوه سبحانه وتعالى أن يكتب هذه الأعمال في سجلات حسناتكم يوم القيامة

เอื้อเฟื้อภาพ Sukree Semmard


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ