บทความ บทความวิชาการ

ลัทธิบาบี และบาไฮ

ลัทธิบาบี และบาไฮ (อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ)
นิยาม

อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ คือลัทธิที่แยกตัวจากสำนักคิดชีอะฮฺสายอัช-ชัยคียะฮฺ เมื่อปี ฮ.ศ.1260 / ค.ศ.1844 ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของจักรวรรดินิยมโซเวียต องค์กรยิวสากลและจักรวรรดินิยมอังกฤษ โดยมีเป้าหมายหลักคือทำลายหลักการศรัทธาของอิสลาม สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม และเพื่อให้ชาวมุสลิมหันเหจากปัญหาหลัก

การก่อกำเนิดแนวคิดนี้
ลัทธินี้ก่อตั้งโดย อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.1235-1266/ ค.ศ.1819-1850) มีฉายานามว่า อัล-บาบ (ชาวบาไฮในประเทศไทยเรียกว่า พระบ็อบ)
เมื่อตอนอายุ 6 ขวบอัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ ได้ศึกษาความรู้ครั้งแรกจากนักเผยแพร่นิกายชีอะฮฺท่านหนึ่ง ต่อมาเขาได้หยุดเรียนและหันไปประกอบอาชีพค้าขาย
เมื่ออายุ 17 เขาได้กลับมาศึกษาหาความรู้อีกครั้งโดยสนใจในตำราเกี่ยวกับวิชาตะเศาวุฟ และการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ตามแนวทางของพวกอัล-บาฏินียะฮฺที่นิยมการทรมานร่างกาย
ในปี ฮ.ศ. 1259 เขาได้เดินทางไปยังกรุงแบกแดดและได้เริ่มศึกษาหาความรู้จากผู้นำชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ซึ่งมีนามว่า กาซิม อัร-ร็อชตีย์ เขาได้ศึกษาแนวคิดและทัศนะต่างๆ ของลัทธินี้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับสายลับชาวรัสเซียคนหนึ่ง ชื่อว่า คินาซด์ ฆุรกีย์ เขาคนนี้ได้อ้างตนว่าเป็นมุสลิมโดยใช้ชื่อว่า อีซา อัน-นักรอนีย์ เขาผู้นี้ได้เริ่มสร้างกระแสว่า อัล-มิรซา มุหัมหมัด อัช-ชีรอซีย์ คือ อิหม่ามอัล-มะฮฺดีย์ ที่โลกรอคอย และเป็นอัล-บาบ (ประตูสู่การรู้จักสัจธรรมเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งจะปรากฎตัวหลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์
ทั้ง นี้เนื่องจากเขามองว่าอัช-ชีรอซีย์เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะอุปโลกน์เพื่อ ให้แผนการของพวกเขาบรรลุผลในการสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม
ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ.1260 ตรงกับ 23 มีนาคม 1844 เขาได้ประกาศตนว่าเขาคือ อัล-บาบ ตามความเชื่อของชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ หลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์ เมื่อปี ฮ.ศ. 1259 เขาอ้างตนว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ เสมือนกับท่านนบีมูซา นบีอีซา และนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (แท้จริงแล้วบรรดาศาสนทูตของพระองค์มีเกียรติอันสูงส่งไม่สามารถนำมาเปรียบกับเขาได้เลย)
จากคำกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ศิษย์ของอัร-ร็อชตีย์หลงเชื่อ และผู้คนทั่วไปพากันหลงเชื่อด้วย เขาจึงเลือกบุคคลจำนวน 18 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่แนวคิดของเขา โดยให้ฉายานามบุคคลเหล่านั้นว่า อัล-หุรูฟ อัล-หัยย์ (อักษรที่มีชีวิต) แต่เมื่อปี ฮ.ศ. 1261 พวกเขาได้ถูกทางการจับกุมตัว และในที่สุดพวกเขายอมประกาศเตาบัต (กลับตัว) บนมินบัรฺมัสยิดอัล-วะกีล หลังจากที่พวกเขาได้สร้างความเสื่อมเสียบนหน้าแผ่นดิน เข่นฆ่าชาวมุสลิมมากมาย ตลอดจนกล่าวหาว่าชาวมุสลิมกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
ในปี ฮ.ศ.1266 อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์(อัล-บาบ หรือพระบ็อบ) ได้อ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของตน (หุลูล อิลาฮิยะฮฺ) แต่หลังจากปราชญ์มุสลิมได้โต้เถียงกับเขาถึงประเด็นนี้เขาได้แสดงท่าทีว่ายอมรับและกลับตัว แต่ปราชญ์มุสลิมไม่ได้หลงกลเนื่องจากรู้ว่าเขาผู้นี้เป็นคนขี้ขลาดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริง ดังนั้นปราชญ์มุสลิมได้ตัดสินให้ประหารชีวิตเขาและสหายของเขา อัซ-ซะนูซีย์ ส่วนผู้บันทึกคำสอนของเขาที่ชื่อว่า หุสัยน์ อัล-ยัซดีย์ ได้เตาบัต (กลับตัว)จากลัทธิอัล-บาบิยะฮฺก่อนที่จะถูกประหารทำให้เขาได้อิสรภาพไม่ต้องโทษ เมื่อวันที่ 27 ชะอฺบาน 1266 ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 1850

บุคคลสำคัญของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
1. กุรเราะฮฺ อัล-อัยนฺ ซึ่งมีชื่อจริงว่า อุมมุ สัลมา ถือกำเนิด ณ เมืองก็อซวีน เมื่อปี ฮ.ศ. 1231 ได้ศึกษาหาความรู้จากมุลลา มุหัมหมัด ศอลิหฺ อัล-ก็อซวีนีย์ หนึ่งในปราชญ์ชีอะฮฺ ต่อมาได้สนใจศึกษาแนวทางชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ผ่านลุงของนางเอง คือ มุลลา อะลีย์ อัช-ชัยคีย์ นางได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชีอะฮฺกลุ่มนี้ ต่อมานางได้เดินทางมาศึกษาจาก กาซิม อัร-ร็อชตีย์ พร้อมอัล-บาบ ณ เมืองกัรบะลาอ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) จนมีคนเข้าใจว่านางคือผู้ออกแบบแนวความคิดต่างๆ ให้แก่อัล-บาบ เนื่องจากนางเป็นนักพูดที่ชาญฉลาด มีวาทะโวหารที่ปราดเปรื่อง อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความเลอโฉมงดงาม แต่นางก็ถือว่าเป็นหญิงแพศยา สามีของนางได้ขอหย่าและปฏิเสธการเป็นบิดาของลูกที่อยู่ในครรภ์ของนาง นางได้รับฉายานามว่า “เราะซีน ตาญจ์” เจ้าของบทกวีภาษาเปอร์เซีย
ในเดือนเราะญับ ปี ฮ.ศ. 1264 นางได้ประชุมหารือกับแกนนำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺ ณ เมืองบะดัชต์ (Conference of Badasht) นางเป็นผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ และสร้างความฮึกเหิมแก่มวลสมาชิกอัล-บาบิยะฮฺเพื่อออกมาประท้วงการจับกุมอัล-บาบ และได้ประกาศจุดยืนว่าอัล-บาบิยะฮฺได้เป็นอิสระจากศาสนาอิสลามแล้ว
นางเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมวางแผนลอบสังหารกษัตริย์ ชาฮ์ นาศีรุดดีน อัล-กอญารีย์ (Nasser al-Din Shah Qajar – กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศอิหร่าน ระหว่างปี ค.ศ.1848-1896) ต่อมานางได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้เผาเป็นๆ แต่ทว่านางได้เสียชีวิตก่อนจะถูกประหารในต้นเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1268 ตรงกับ ค.ศ. 1852

2. อัล-มิรซา ยะหฺยา อะลีย์ มีศักดิ์เป็นน้องชายของอัล-บาบ มี ฉายานามว่า ศุบฮฺ อะซัล อัล-บาบได้สั่งเสียให้เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำแทนเขาหลังเสียชีวิต เรียกขานผู้ตามของเขาว่า อัล-อะซัลลิยีน แต่น้องชายของเขา อัล-มิรซา หุซัยนฺ อัล-บะฮาอ์ ต้องการชิงตำแหน่งผู้นำลัทธินี้เช่นกัน และต่างคนพยายามที่จะลอบสังหารกัน ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอัล-บาบิยะฮฺกับพวกชีอะฮฺ ทำให้พวกเขาต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองอัดเราะนะฮฺ (Edirne) ประเทศตุรกี เมือปี ฮ.ศ.1863 อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวยิว และด้วยเหตุที่พลพรรคของศุบฮฺ อะซัล และพลพรรคของบะฮาอุลลอฮฺเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานได้เนรเทศ บะฮาอุลลอฮฺพร้อมมวลชนของเขาไปอยู่ที่เมืองอักกา ส่วน ศุบฮฺ อะซัลและมวลชนของเขาถูกเนรเทศไปยังเกาะไซปรัส จนเขาได้เสียชีวิตที่นั้น เมื่อวันที่ 29เมษายน 1912 ด้วยวัย 82 ปี โดยได้ทิ้งตำราที่เขาแต่งคือ อัล-อัลวาหฺ และ ตำราอัล-มุสตัยกิซ และได้สั่งเสียให้บุตรชายของเขาที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์สืบทอดตำแหน่งผู้นำกลุ่มต่อไป จึงทำให้สมุนของศุบฮฺ อะซัลส่วนใหญ่ไม่พอใจและได้ออกห่าง

3. อัล-มิรซา หุสัยนฺ อะลีย์ ซึ่งมีฉายานามว่า บะฮาอุลลอฮฺ ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1817 ได้ชิงตำแหน่งผู้นำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺจากพี่ชายของเขาหลังจากการเสียชีวิตของอัล-บาบ(พระบ็อบ) เขาได้ประกาศตนต่อหน้าสานุศิษย์ของเขาที่กรุงแบกแดด ว่าเขาคือ อัล-มุซ็อฮฮิรฺ อัล-กามิล ผู้ซึ่งอัล-บาบได้พยากรณ์ว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และพระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของเขาเพื่อสานต่อภารกิจการเผยแพร่ลัทธิอัล-บาบิยะฮฺต่อไป การเผยแพร่ของเขาถือว่าเป็นการเผยแพร่ในบันไดขั้นที่สองในหลักความเชื่อศาสนาบาบี (ผู้ที่เลื่อมใสในคำสอนของเขาเรียกว่า บะฮาอิยูน หรือพวกบาไฮ) เขาพยายามที่จะลอบสังหารศุบฮฺ อะซัล ซึ่งเป็นพี่ชายของเขาเอง เขามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาวยิวที่อยู่ในตำบลอัดเราะนะฮฺ (Edirne) เมืองสาโลนิกา (Salonika) ประเทศตุรกี อันเป็นแผ่นดินที่ชาวบาไฮ เรียกว่าแผ่นดินแห่งความลับ เขาได้ส่งมือสังหารจากเมืองนั้นไปยังเมืองอักกาและได้ทำการสังหารพลพรรคของพี่ชายของเขาศุบฮฺ อะซัล ล้มตายหลายราย
ในปี ค.ศ.1892 บะฮาอุลลอฮฺได้ถูกสังหารด้วยน้ำมือของสมุนพี่ชายของเขาเองและร่างของเขาถูกฝังที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา (ประเทศปาเลสไตน์) เขามีผู้ทำหน้าที่เขียนคัมภีร์ให้เขา เช่นคัมภีร์อัล-บะยาน(Kitab al-Bayan) และคัมภีร์อัล-อีกอน (Kitab al-Iqan) คัมภีร์ของเขามีเนื้อหาเรียกร้องให้ชนชาติยิวมารวมตัวกันตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนปาเลสไตน์

4. อับบาส อะฟันดีย์ มีฉายานามว่า อับดุลบะฮาอ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1844 ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่อัล-บาบ ได้ประกาศลัทธิใหม่นี้ บิดาของเขา (บะฮาอุลลอฮฺ) ได้สั่งเสียให้เขาสืบทอดตำแหน่งผู้นำ เขาเป็นผู้ที่มีบุคลิกที่จริงจังมาก จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าหากไม่มีอับบาส ศาสนาบาไฮคงไม่สามารถดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ชาวบาไฮเชื่อว่าเขาเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากมวลบาป (มะอฺศูม) เขาได้เพิ่มเติมคุณลักษณะบิดาของเขาบะฮาอุลลอฮฺให้คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้า คือสามารถที่จะบันดาลสรรพสิ่งขึ้นมาได้
อับบาส อะฟันดีย์ ได้เดินทางเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมได้เขาร่วมประชุมสมัชชาไซออนนิสต์ ณ เมืองบาเซิล (Basle) ในปี ค.ศ.1911 เขาได้พยายามที่จากแหกมติชนชาติอาหรับโดยหันไปสนับสนุนยิวไซออนิสต์ เขาให้การต้อนรับนายพลอัลเลนบี้(General Edmund Allenby-แม่ทัพของอังกฤษที่มายึดครองปาเลสไตน์และซีเรียเมื่อปี ค.ศ.1917) ครั้งที่เดินทางมาที่ปาเลสไตน์ จนรัฐบาลอังกฤษชื่นชมบทบาทของเขาด้วยการยกฐานะเป็นเซอร์ (Sir – เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งให้กับสามัญชนผู้มีความดีความชอบให้กับแผ่นดินมากซึ่งในอดีตก็จะเป็นอัศวินนักรบ) พร้อมทั้งประดับเครื่องอิสริยาภรณ์และสายสะพายอื่นๆ มากมาย เขาได้เดินทางเยือนหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เบลเยียม ฮังการี อะเล็กซานเดรีย (อียิปต์)เพื่อทำการเผยแพร่ลัทธิของเขา จนกระทั่งเขาได้ก่อตั้งศูนย์ศาสนาบาไฮที่ใหญ่โต ณ เมืองชิคาโก ต่อมาเขาเดินทางไปยังเมืองฮัยฟา (ปาเลสไตน์) เมื่อปี 1913 ต่อมาเขาเดินทางไปยังกรุงไคโรและเสียชีวิตที่นั้นเมื่อปี ฮ.ศ.1340 /ค.ศ.1921 หลังจากที่เขาได้ถ่ายถอดความรู้จากบิดาของเขาพร้อมทั้งได้เพิ่มเติมคำสอนจาก คัมภีร์ไบเบิลพันธะสัญญาเก่าเพื่อเป็นการยืนยันในคำสอนของเขาให้มีน้ำหนัก

5. เชากีย์ อะฟันดีย์ เป็นหลานของอับดุลบะฮาอ์ ปู่ของเขาได้จากโลกนี้ไปในขณะที่เขามีอายุ 24 ปี ในปี 1921 / ฮ.ศ.1340 เขาได้ดำเนินตามรอยทางปู่ของเขาในการบริหารองค์กรบาไฮ เพื่อก่อตั้งสภายุติธรรมสากล เขาได้เสียชีวิตที่กรุงลอนดอนจากหัวใจวาย และร่างของเขาถูกฝังที่นั้น แผ่นดินที่รัฐบาลมอบรางวัลมากมายแก่กลุ่มชาวบาไฮ
ในปี ค.ศ.1963 แกนนำบาไฮ 9 คน ได้ดำเนินการตามภารกิจของอัล-บะฮาอิยะฮฺด้วยการก่อตั้งสภายุติธรรมสากล (The Universal House of Justice) โดยมีคณะกรรมการบริหารจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ชาวอเมริกา 4 คน ชาวอังกฤษ 2 คน และชาวอิหร่าน 3 คน และเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาแห่งนี้เป็นชาวยิวฟรีเมสัน สัญชาติอเมริกา

แนวคิดและความเชื่อของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
– ชาวบาไฮเชื่อว่า อัลบาบ (พระบ็อบ) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทุกอย่างด้วยคำประกาศิตของเขา เขาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของทุกๆ สิ่ง
– พวกเขาเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์ในตัวตนของมนุษย์ เชื่อในหลักอัล-อิตติหาด(ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน) เชื่อในหลักเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าวัตถุทุกอย่างคงอยู่อย่างถาวร และเชื่อว่าผลบุญ และบทลงโทษนั้นเกิดขึ้นกับดวงวิญญาณเท่านั้น และสิ่งดังกล่าวเป็นความเชื่อเชิงมายาคติ
– พวกเขาบูชาเลข 19 ซึ่งทำให้พวกเขากำหนดเดือนในรอบปีมี 19 เดือน และกำหนดวันในรอบเดือนมีเพียง 19 วัน ในการนี้มีผู้ทำตามแนวคิดนี้คือ อัล-ฮะรออ์ มีชื่อเต็มว่า มุหัมหมัด เราะชาด เคาะลีฟะฮฺ ซึ่งเขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเลข 19 เขาพยามยามที่จะเชื่อมโยงว่าอัลกุรอานมีโครงสร้างมาจากเลข 19 แต่ทว่าไม่มีใครให้ความสนใจกับคำพูดของเขาเลย
– พวกเขาเชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ขงจื้อ โซโรแอสเตอร์ และบุคคลสำคัญอย่างนักปราชญ์ของอินเดีย จีน และเปอร์เซีย เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ
– พวกเขามีทัศนะเห็นพ้องกับชาวยิวและคริสเตียนว่า นบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ถูกตรึงบนไม้กางเขน
– พวกเขาตีความอัลกุรอานเชิงความรู้ลึกลับเพื่อให้สอดคล้องกับลัทธิของพวกเขา
– พวกเขาปฏิเสธในมุอฺญิซาต (ความมหัศจรรย์ที่อัลลอฮฺประทาน) ของบรรดาศาสนทูต พวกเขาปฏิเสธการมีอยู่จริงของบรรดามลาอิกะฮฺ ญิน พร้อมทั้งปฏิเสธว่าสวรรค์และนรกมีอยู่จริง
– พวกเขาห้ามสตรีคลุมหิญาบ พวกเขาอนุญาตให้แต่งงานมุตอะฮฺได้ เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและความเสมอภาคในทรัพย์สินเงินทอง
– พวกเขากล่าวว่าศาสนาที่อัล-บาบนำมานั้นได้ยกเลิกบทบัญญัติต่างๆ ที่นบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เผยแพร่ไว้
– พวกเขาตีความว่าวันกิยามะฮฺนั้นคือวันที่บะฮาอุลลอฮฺได้ปรากฏตัว ส่วนทิศกิบละฮฺของพวกเขาในเวลาละหมาดคือ สถานที่เรียกว่า สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์ แทนที่บัยตุลลอฮฺ ณ มัสยิดอัลหะรอม
– พวกเขาจะละหมาดวันละ 3 เวลา มีจำนวนร็อกอะฮฺ 9 ร็อกอะฮฺ และจะอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำดอกกุหลาบ แต่หากไม่มีน้ำดังกล่าวพวกเขาจะกล่าวบิสมิละฮฺด้วยสำนวนดังนี้จำนวน 5 ครั้ง “บิสมิลละฮิลอัฏฮัรฺ อัลอัฏฮัรฺ- بسم الله الأطهر الأطهر “
– ไม่มีการละหมาดแบบญะมาอะฮฺในหมู่พวกเขานอกจากการละหมาดศพ ซึ่งมีจำนวนตักบีรฺ 6 ครั้ง และทุกตักบีรฺพวกเขาจะกล่าวว่า “อัลลอฮุ อับฮา- الله أبهى “
– พวกเขาจะถือศีลอดในเดือนที่ 19 ตามปฏิทินบาไฮ พวกเขาจะอดอาหารเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นระยะเวลา 19 วัน จากนั้นพวกเขาจะเฉลิมฉลองวันอีด อัน-นัยรูซ (วันปีใหม่ชาวบาไฮ) ในวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม ชาวบาไฮทุกคนที่มีอายุระหว่าง 15-70 ปีต้องถือศีลอด
– พวกเขาห้ามการทำอัล-ญิฮาด หรือจับอาวุธต่อสู้กับอริราชศัตรู ซึ่งกฎดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของจักรวรรดินิยมในการอุปโลกน์ลัทธินี้ขึ้นมา
– พวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมหมัด คือ นบีหรือศาสนทูตองค์สุดท้าย พวกเขาอ้างว่าวะหฺยู (วิวรณ์) จากอัลลอฮฺนั้นถูกประทานลงมาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเลยแต่งตำรับตำรามากมายที่มีเนื้อหาแย้งกับอัลกุรอานแต่ทว่าตำราของ เขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่องไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาหรือสำนวน
– พวกเขาได้ยกเลิกการไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ เมืองมักกะฮฺ อัล-มุกัรเราะมะฮฺ แต่พวกเขาจะไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ สถูปฝังศพของบะฮาอุลลอฮฺ ที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์แทน

รากเหง้าทางความคิดและความเชื่อของพวกบาไฮ
ความคิดและความเชื่อของพวกเขาได้ผสมผสานระหว่างแนวคิดต่างๆต่อไปนี้

– อัร-รอฟิเฎาะฮฺ อัล-อิมามิยะฮฺ (ชีอะฮฺ อิหม่าม 12 )
– ชีอะฮฺ อัช-ชัยคียะฮฺ (สาวกของชัยคฺอะหฺมัด อัล-อะหฺสาอีย์)
– อัล-มาสูนียะฮฺ (องค์กรฟรีเมสันสากล)
– ยิวไซออนิสต์สากล

การแพร่กระจายและแหล่งที่มีอิทธิพลของศาสนาบาไฮ
ชาวบาไฮส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศอิหร่าน บางส่วนอาศัยอยู่ในอิรัก ซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพวกเขา เช่นเดียวกันนั้นพวกเขาเคยมีศูนย์ศาสนาบาไฮในอียิปต์แต่ศูนย์ดังกล่าวถูกปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐบาล หมายเลขที่ 263 เมื่อปี ค.ศ. 1960 นอกจากนี้พวกเขายังมีศูนย์ ณ เมืองต่างๆ เช่นที่ แอดดิส อบาบา เอธิโอเปีย กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา กรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย ซึ่ง ณ เมืองนี้พวกเขาได้จัดประชุมสามัญประจำปี ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน ค.ศ. 1989 พวกเขามีศูนย์ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเวียนนา เมืองแฟรงก์เฟิร์ต(เยอรมัน) กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองชิคาโก (รัฐอิลลินอยส์-สหรัฐอเมริกา) พวกเขามีโบสถ์ที่ใหญ่โต ซึ่งพวกเขาเรียกว่า มุชริกุลอัซการฺ ณ สถานที่แห่งนั้นพวกเขาได้ผลิตวารสารออกมา ชื่อว่า นัจมฺ อัล-ฆ็อรฺบ (ดาวตะวันตก) เช่นเดียวกับที่เมืองวิลเมตต์ ศูนย์กลางบาไฮในอเมริกา ในเมืองนิวยอร์กพวกเขามีคาราวานตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวบนหลักการของบาไฮ พวกเขามีหนังสือคู่มือกองคาราวาน และเพื่อนความรู้ พวกเขามีแหล่งชุมนุมใหญ่ในเมืองฮิวสตัน (รัฐเทกซัส) ลอสแอนเจลิส (รัฐแคลิฟอร์เนีย) บรุกลิน และนิวยอร์ก โดยประมาณว่าพวกบาไฮในสหรัฐอเมริกามีจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นสมาชิกใน 600 กว่าองค์กร เป็นเรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่งที่พวกบาไฮมีตัวแทนประจำองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก มีตัวแทนสหประชาชาติที่เจนีวา และมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศแอฟริกาที่กรุงไนโรบี นอกจากนี้พวกเขามีฐานะเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ (Ecosco) พวกเขามีสมาชิกทำงานในองค์การสิ่งแวดล้อมโลกแห่งสหประชาติ (Unep) ในกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ -Unicef) และในสำนักงานสารสนเทศแห่งสหประชาชาติ (U.N. Office of Public Information) เช่น ดุซซีย์ บูส เป็นตัวแทนขององค์การบาไฮสากลประจำองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนรุสตุม ค็อยรูฟ เป็นสมาชิกมูลนิธิสากลเพื่อความมั่นคงของมนุษยชาติ

บทสรุป
อัล-บาบิยะฮฺ (ศาสนาบาบี) และอัล-บะฮาอิยะฮฺ (ศาสนาบาไฮ) คือกลุ่มที่หลงทางซึ่งได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย อีกทั้งพวกเขายังอ้างว่าวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์อยู่ในร่างของอัลบาบ (พระบ็อบ) หรือในร่างของอัล-บะฮาอ์ พวกเขายังปฏิเสธการลงโทษของอัลลอฮฺในวันปรโลก พวกเขาจงรักภักดีต่อชาวยิวตลอดเวลาและพยายามจะให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนา และพวกเขาประกาศอย่างชัดเจนว่าคัมภีร์อัล-บะยานของพวกเขาได้ยกเลิกคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน
ได้มีคำฟัตวา (ข้อชี้ขาดทางศาสนา)ที่มาจากหลายสำนักทางวิชาการศาสนา เช่นศูนย์ศาสนบัญญัติอิสลาม เมืองมักกะฮฺ สำนักฟัตวาแห่งประเทศอียิปต์ ระบุว่า ลัทธิอัลบะฮาอิยะฮฺ และอัลบาบิยะฮฺ ได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม และถือว่าเป็นศัตรูต่อศาสนาอิสลาม ผู้ที่เลื่อมใสในแนวคิดของพวกเขาถือว่าเป็นกาฟิรฺ (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) อย่างชัดแจ้งโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ อีก (อ้างจากหนังสือพิมพ์อัลมะดีนะฮฺ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 เดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ.1399 ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1979)

Ref : saaid.net
จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโลก


ถอดความโดย Salamah Panphum