Harun Yahya ซาตานในคราบนักเผยแพร่ศาสนาถูกตัดสินเข้าคุกกว่า 1,000 ปี

จันทร์ที่ 11 มกราคม 2021 ศาลตุรกีได้พิพากษาลงโทษจำคุก นายอัดนาน โอกตาร์ หรือที่รู้จักในนาม ฮารูน ยะห์ยา 1,075 ปี ในความผิดฐานต่างๆส่วนหนึ่งคือก่ออาชญากรรมทางเพศ

เช่นเดียวกันกับบรรดาสาวกของเขาอีก 236 คนโดยในจำนวนนี้มี 78 คนที่ถูกจับกุมแล้ว และถูกตัดสินคดีตามความผิดในข้อหาต่างๆเช่นแอบอ้างศาสนาและความเชื่อเพื่อการฉ้อโกง ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หลอกลวง บั่นทอนความมั่นคงของประเทศและก่อการร้าย

นายอัดนาน โอกตาร์ ถูกตำรวจจับกุม เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ในข้อหาก่อตั้งองค์กรอาชญากรรม ล่อลวงเด็ก ทำอนาจาร เป็นสายลับทางการเมืองและการทหาร แอบอ้างศาสนาเพื่อหลอกลวง กระทำก่อการร้าย บั่นทอนความมั่นคงของชาติ และพัวพันกับกลุ่มสายลับโมสาด อิสราเอล

นายอัดนาน โอกตาร์ อ้างตัวตนเป็นนักคิดและนักเผยแพร่อิสลามได้สร้างข้อกังขาในสังคมตุรกีและโลกอิสลามด้วยแนวคิดและการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนอิสลาม เขาเคยประกาศตนเองเป็นอิมามมะฮ์ดีและยังสนับสนุนรัฐเถื่อนอิสราเอลอย่างหัวชนฝา

เขาเป็นผู้ดำเนินรายการในสถานีโทรทัศน์ช่อง A9TV ซึ่งรัฐบาลได้สั่งปิดแล้ว เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเผยแพร่รายการที่ฝ่าฝืนคำสอนอิสลาม โดยเฉพาะในรายการที่เขาออกอากาศพร้อมดารานักแสดงหญิงที่แต่งตัวโป๊เปลือยในวงเหล้า โดยเขาอ้างว่า กำลังเผยแพร่ศาสนาให้พวกนาง

นายอัดนาน โอกตาร์ นักวิชาการศาสนาแนวคิดวิปลาส ผู้ใช้คำสอนอิสลามเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของตนและมีแผนร้ายต่อความมั่นคงของชาติ มีหลักฐานพัวพันและสนิทสนมกับองค์กรต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสายลับโมสาด อิสราเอล

นายอัดนาน โอกตาร์ หนึ่งในกระบอกเสียงผู้เชิญชวนผู้คนสู่นรกญะฮันนัม บัดนี้เขาถูกตัดสินคดีบนโลกนี้แล้ว ก่อนการพิพากษาจากศาลแห่งอัลลอฮ์ในวันแห่งการพิพากษา เขาและบรรดาสาวกจะได้รับการตอบแทนอย่างสาสม หากเขาไม่กลับเนื้อกลับตัวสู่การเป็นผู้ศรัทธาโดยแท้จริง


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

bip แอพใหม่จากตุรกี

Turkcell บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือชั้นนำของตุรกี ตั้งอยู่ในนครอิสตันบูลประเทศตุรกี ผลิตโปรแกรมส่งข้อความBiP สำหรับโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ซึ่งมีความปลอดภัยและไม่ต้องเสียค่าบริการ BiP ยังรองรับการส่งเสียง วิดีโอ ประชุมออนไลน์และสามารถแปลภาษาได้ 106 ภาษาด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง

Turkcell เปิดเผยว่าบริษัทเริ่มเปิดใช้ให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2564 โดยหลังจากเปิดบริการเพียงสองวันมีผู้สมัครรับบริการแล้วทั่วโลกกว่า 2 ล้านราย

ผู้บริหาร Turkcell กล่าวว่า เราเปิดบริการโปรแกรมนี้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการติดต่อสื่อสารด้วยโปรแกรม WhatsApp ที่วางเงื่อนไขมากมายแก่ผู้บริการ ทำให้มีข้อจำกัดต่างๆ BiP จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใข้บริการที่ต้องการความสะดวกและการติดต่ออย่างไร้จำกัด

Download
Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.turkcell.bip&hl=th&gl=US
Apple : https://apps.apple.com/us/app/bip-messenger-video-call/id583274826

โลกโซเชียลถามหาความรับผิดชอบ!! กรณีเขื่อนบางลางระบายน้ำ ใต้อ่วม

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวน้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานีปีนี้หนักมากๆ หลังจากเขื่อนบางลางระบายน้ำจนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า “น่าจะมีการจัดการน้ำดีกว่านี้ไหม?และสมควรใครจะออกมารับผิดชอบไหม?

ภาพจาก เอก บังเอก เส็นบัตร

#ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ถ้าไม่ปล่อยน้ำแล้วเขื่อนจะแตกแต่ประเด็นอยู่ที่ (จากเพจเศรษฐศาสตร์อิสลาม)
1. ก่อนที่คุณจะกดปุ่มปล่อยน้ำ คุณบริหารจัดการน้ำได้ดีแค่ไหน คุณได้ใช้ความสามารถและตำแหน่งที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมอบให้อย่างเต็มที่หรือยัง

2. ในขณะที่คุณกำลังจะกดปุ่มปล่อยน้ำ คุณได้ทำการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะตามมาอย่างทั่วถึงหรือไม่

3. หลังจากที่คุณตัดสินใจกดปุ่มปล่อยน้ำแล้ว คุณได้เตรียมการ เตรียมสถานที่ และเตรียมทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างครอบคลุมหรือไม่

#นักวิชาการหลาย ท่านสะท้อน เรื่องนี้
เช่น ผศ. ผศ. มัสลัน มาหะมะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้ทัศนะว่า “จริงอยู่
สังคมมุสลิมเรา ถูกสอนให้ยอมรับกับตักดีร (การกำหนดสภาวะการณ์จากพระเจ้า) แต่มิได้หมายความว่าไม่ให้ฝึกฝนให้หาวิธีแก้ปัญหาเพื่อสู่ตักดีรที่ดีกว่า?

หรือใช่ว่า จะพึงพอใจรับสภาพที่เกิดขึ้นโดยอ้างตักดีรอย่างเดียว โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเพราะการบริหารจัดการที่หย่อนยาน ไม่ใช้ข้อมูลเชิงสถิติที่สะสมมากว่า 40 ปี เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ ขาดการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ค่อยตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่กระทบในวงกว้าง ไม่ค่อยพูดถึงการคืนความสุขและให้สวัสดิการแก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบ “
อาจารย์รอมฎอน ปัญจอร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ทัศนะว่า “เหตุผลที่แจกแจงมาว่าจำเป็นต้องปล่อยน้ำทะลักบ้านและสวนของชาวบ้านก็เพื่อรักษาความมั่นคงของเขื่อน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือป้องกัน #เขื่อนแตก ที่อาจส่งผลเสียหายมากกว่า ทำไมเราต้องจมอยู่กับคำถามกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การบริหารจัดการไม่ดีเท่านั้น แต่นี่คือข้อจำกัดของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอดีต เป็นมรดกตกทอดของการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ข้ามหัวผู้คนและเป็นความอัปลักษณ์ของรัฐราชการไทยและทุนก่อสร้างที่ฮั้วกับราชการมาเนิ่นนาน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาจึงต้องมีทางเลือกให้พิจารณาครับ ไม่ใช่เชื่อ ๆ กันว่ามันมีอยู่เพียงหนทางเดียว”

ข้อสังเกตเหล่านี้สะท้อนข้อสังเกตเดิมในการบริหารจัดการนำ้ที่อื่นๆของประเทศกล่าวคือ “ตราบใดที่กฟผ.บริหารน้ำด้วยหลักการว่าหน้าที่หลักของน้ำคือเป็นปัจจัยผลิตไฟฟ้า และตราบใดที่วิศวกรชลประทานไม่มีส่วนร่วมบริหารเขื่อนก็ยากที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ “(อ่านเพิ่มเติมใน
https://www.isranews.org/community/comm-scoop-documentary/3961-เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก-น้ำท่วม-เขื่อน-และประกันอุทกภัย.html)
ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของผู้เชี่ยวชาญที่สะท้อนว่า “น้ำท่วมเพราะบริหารจัดการน้ำไม่เป็น (ฟังบทเรียนอดีต #น้ำท่วม…บริหารจัดการไม่เป็น https://www.posttoday.com
#น้ำท่วม : มาจากน้ำที่ปล่อยลงจากเขื่อน
สามารถฟ้องได้ไหม?

น้ำท่วม มาจากน้ำที่ปล่อยลงจากเขื่อนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินและชีวิตคนเสียหายทำให้สังคมฉงนว่าเหตุใดผู้มีอำนาจดูแลเขื่อนจึงปล่อยน้ำมหึมาเช่นนั้น? มีการบริหารจัดการน้ำหรือไม่อย่างไร?
“ การที่ปีนี้ฝนตกชุกก็ควรให้น้ำไหลออกทางน้ำล้นหรือสปิลเวย์ (spillway)…ถ้าผู้มีอำนาจ ผู้รับผิดชอบ ดูแลจงใจกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายถือว่า ผู้มีอำนาจดูแลบริหารเขื่อนจงใจทำละเมิดอันเป็นความผิดทั้งอาญาและแพ่ง แต่ถ้าผู้บริหารเขื่อนเห็นว่าในเขื่อนมีน้ำอยู่มากเกรงจะเป็นอันตรายต่อเขื่อนจึงรีบปล่อยน้ำเพื่อมิให้เขื่อนเสียหาย โดยไม่คำนึงถึงผลจะเกิด ถือว่าผู้บริหารเขื่อนประมาทเลินเล่อ การกระทำจึงเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

ปัญหาสุดท้ายมีว่า จะฟ้องที่ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

– คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง ทางปกครอง ฯลฯ

การที่ผู้มีอำนาจบริหารเขื่อนจงใจ หรือประมาทเลินเล่อปล่อยน้ำออกจากเขื่อนโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชนหรือประเทศชาติ จึงเป็นการกระทำละเมิด

หน่วยงานต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือกรมกองของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทาน ล้วนมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงต้องฟ้องคดียังศาลปกครอง
อ้างอิง
https://www.isranews.org/isranews-article/4131-หน่วยงานรัฐ-“ปล่อยน้ำเขื่อนเหตุน้ำท่วม”-ฟ้องศาลปกครองได้.html

#ฝากเตือนทุกคนเป็นบทเรียน
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสว่า “การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบไว้ โดยที่หวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว” (อัร-รูม: 41)

ขออัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบแทนผู้ให้ด้วยสิ่งที่ดีกว่า
หมายเหตุ
สมพร ช่วยอารีย์ ให้ข้อมูลว่า

ปริมาณน้ำในเขื่อน 99% ดูได้จาก http://tiwrm.haii.or.th/DATA/REPORT/php/rid_bigcm.html

พื้นที่ฝนตก ดูได้จาก http://www.pbwatch.net/apps/

วันนี้ 10 มกราคม 2564 แรม 12 ค่ำ ครับ วันอังคาร 12 ม.ค. – 15 ม.ค. เจอน้ำทะเลหนุนต่อนะครับ

ดูแนวโน้มฝนตก ได้จาก https://www.windy.com/-Rain-thunder-rain?rain,6.758,101.378,5,i:pressure

ดูแนวโน้มคลื่นลมทะเล ได้จาก http://www.pbwatch.net/apps/ คลิกคลื่นลมทะเล


โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ระดมความช่วยเหลือด่วนแก่ผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

ระหว่างวันที่ 8 – 10 มกราคม 2564 หน่วยงานและองค์กรภายใต้สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี อาทิ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการกุศล มูลนิธิซะกาตและสาธารณกุศล สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณกุศล ปั้มปตท. ท่าสาปยะลา Waqaf Care (PEDULI) กลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน เครือข่าย JABIM สื่อออนไลน์theustaz.com A-Khidmat มูลนิธิอัสสลามเพื่อเยาวชน ชมรมเครือข่ายคุณภาพอัสสลามยะลา ชมรมมิตรภาพที่เป็นหนึ่ง กลุ่ม Ummatee เครือข่ายมุสลิมะฮ์สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย IAC – Islamic Association Care ชุมชนมัสยิดซูบูลุสสลาม ตลาดเก่า จ. ยะลา และชุมชนมัสยิดอัตตะอาวุน บางปู ปัตตานี พร้อมจิตอาสานักเรียนและนักศึกษา

ได้ระดมความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมแก่ชุมชนในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ตามชุมชนต่างๆได้แก่ ชุมชนวังกระ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 490 ครัวเรือน ชุมชนบ้านแป้น ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 300 ครอบครัว ชุมชนบ้านบาโด ต. ยุโป อ. เมือง จ. ยะลา จำนวน 200 ครัวเรือน ชุมชนบ้านกือจา อ. ยะหา จ. ยะลา 200 ครัวเรือน ชุมชนบ้านจาหนัน ต. พร่อน อ. เมือง จ. ยะลา จำนวน 150 ครัวเรือน ชุมชนบ้านกำปัน ต. ท่าสาป อ. เมือง จ. ยะลา จำนวน 160 ครัวเรือน ชุมชนตลาดเก่าซอย 12 และ 14 จำนวน 100 ครัวเรือน ชุมชนปาแดโฆะ เทศบาลนครยะลา 200 ครัวเรือน ชุมชนมัรกัสยะลา 150 ครัวเรือน ชุมชนปะกาฮะรัง อ. เมือง จ. ปัตตานี จำนวน 300 ครัวเรือน และชุมชนบ้านโต๊ะแบ ต. มะรือโบออก อ. เจาะไอร้อง จ. นราธิวาส จำนวน 30 ครัวเรือน

นายมูฮำหมัด แม ประธานที่ปรึกษากลุ่ม A-Khidmat สาขายะลา กล่าวว่า สืบเนื่องจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาสได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยซึ่งได้ขยายวงกว้างไปในหลายพื้นที่ ชาวบ้านบางหมู่บ้านที่อาศัยริมแม่น้ำปัตตานีต้องอพยพอาศัยตามถนนชั่วคราว A-Khidmat สาขายะลา มูลนิธิ ชมรมและภาคีเครือข่ายในสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี จึงได้ระดมความช่วยเหลือจากพี่น้อง โดยในเบื้องต้นได้จัดทำถุงยังชีพจำนวน 1,500 ถุง อาหารกล่อง 3,000 กล่อง น้ำดื่ม 2,000 โหลพร้อมยาเวชภัณฑ์จำนวนหนึ่ง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 300,000 บาท ซึ่งได้รับจากการระดมบริจาคที่ระดมโดยองค์กร ชมรม โรงเรียน ชุมชนมัสยิด ร้านค้าและภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เหยื่ออุทกภัยครั้งนี้

จังหวัดยะลาน้ำท่วมขยายเป็นวงกว้างโดย ปภ.รายงานเดือดร้อนแล้ว 8 อำเภอ 52 ตำบลกระทบ 12,139 ครัวเรือน 48,909 คน ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม หลังจากที่เขื่อนบางลาง จ. ยะลาได้ทำการระบายน้ำออกทางระบบสปริลเวย์ชั่วโมงละ 2 ล้านลบ. ม. ทั้งนี้สถานการณ์ฝนตกสะสมในพื้นที่ถือว่าครั้งนี้มีปริมาณมากที่สุดในรอบ 10 ปี

ส่วนที่จังหวัดปัตตานี ประกาศ 5 อำเภอเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ หลังจากน้ำจากยะลาและนราธิวาสไหลสมทบ ทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองและบริเวณรอบเมือง


โดยทีมข่าวในประเทศ

สหรัฐฯกลียุค กรรมาธิการตุลาการจี้ปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งปธน.

นับเป็นวันมืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยสหรัฐอเมริกา เมื่อม็อบสนับสนุนทรัมป์บุกอาคารรัฐสภา ขวางสภาคองเกรสรับรองไบเดนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อวันพุธที่ 6 มกราคม 2021

รองปธน.ไมค์ เพนซ์ ประณาม บอกเป็นวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาสหรัฐฯ ขณะสภาคองเกรสกลับมาประชุมต่อ รับรองไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว

ในขณะที่กรรมาธิการฝ่ายตุลาการสหรัฐฯออกโรงจี้ให้สภาคองเกรสมีคำสั่งปลดทรัมป์พ้นตำแหน่งประธานาธิบดี อ้างเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

นายชาร์ก ชูเมอร์ ประธานกรรมาธิการตุลาการแห่งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกากล่าวว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป ทรัมป์ไม่มีความชอบธรรมดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแม้แต่วันเดียว พร้อมระบุจะดำเนินคดีทรัมป์หากรัฐบาลไม่ปลดเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 เปิดทางโอนอำนาจให้รองประธานาธิบดีไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไป

บทบัญญัติดังกล่าว อนุญาตให้รองประธานาธิบดีขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีได้ หากประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เช่น เมื่อประธานาธิบดีอยู่ในสภาพเป็นบุคคลไร้ความสามารถเนื่องจากอาการป่วยทางกายหรือทางจิต  ซึ่งจะต้องอาศัยเสียงส่วนมาก 2 ใน3 ทั้งจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานาธิบดีจะเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานาธิบดี ไปจนกว่าจะได้ข้อสรุป

ในขณะเดียวกัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นางแนนซี่ เพโลซี่ ระบุทรัมป์อันตรายต่อประเทศของเรา และเราไม่จำเป็นต้องมอบหมายให้เขายุยงกลุ่มผู้สนับสนุนเขาอีกต่อไป

ในขณะที่ นายคริสต์ เวนโฮลัน สมาชิกวุฒิสภาฯ เรียกร้องให้ปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะการมีอำนาจของเขาเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ทำลายความมั่นคงของประเทศ เขายังระบุว่า ทรัมป์ได้ละเมิดสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ และจมเป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรงและโกลาหล ทำให้เกิดการสูญเสียด้านจิตวิญญาณ

ส่วนนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นายโมเรล บาวเซอร์เรียกร้องให้ลงโทษทรัมป์และกลุ่มผู้สนับสนุนที่ก่อจลาจลครั้งนี้ เขายังระบุว่าเป็นการโจมตีของก่อการร้ายที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา พร้อมได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวลา 15 วัน จนถึงวันที่โจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2021 นี้

ทางด้านแกนนำรัฐบาลหลายคน ได้ชิงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อประท้วงการตัดสินใจของทรัมป์ครั้งนี้


อ้างอิง

https://www.aljazeera.net/news/politics/2021/1/7/%D8%B9%D9%82%D8%A8-%D8%A7%D9%84%D8%AA%D8%B5%D8%AF%D9%8A%D9%82-%D8%B9%D9%84%D9%89-%D8%A8%D8%A7%D9%8A%D8%AF%D9%86-%D8%A7%D8%B3%D8%AA%D9%82%D8%A7%D9%84%D8%A7%D8%AA-%D9%81%D9%8A?fbclid=IwAR0WSSKTFTiJoRB0_jkTNzMMqPrmwGv9p0FPWKKq1jat_X5ZCkB8c25Elkw

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ผู้ประท้วงบุกระงับการประชุมรับรองผลการเลือกตั้งอเมริกา

ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ หลายหมื่นคน  รวมตัวกันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา 6/1/2021 ในบริเวณใกล้เคียงทำเนียบขาว เพื่อเรียกร้องให้มีการทบทวนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งโจไบเดนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเป็นผู้ชนะ

จากนั้นผู้ประท้วงมุ่งหน้าไปยังอาคารรัฐสภา ในเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังประชุมร่วมกับวุฒิสภา ที่จัดประชุมร่วมกันเพื่อรับรองผลการลงคะแนนในการเลือกตั้งประธานาธิบดี  ผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปในอาคาร ซึ่งนำไปสู่การระงับการประชุมและความโกลาหลวุ่นวายและการจลาจล


รูปภาพจาก TRT عربي

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

แท้จริง…อัลลอฮ์จะทรงยับยั้งความชั่วร้ายด้วยการบังคับใช้อำนาจทางกฎหมาย ในสิ่งที่อัลกุรอานไม่สามารถยับยั้งได้

เวลา 11:20 น วันที่5 มกราคม2564 คณะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลาได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจ พันตำรวจเอก สายูตี กาเต๊ะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจอำเภอยะหา ในความมุ่งมั่น กรณีนำนโยบายสร้างสังคมสันติสุขด้วยวิถีวัฒนธรรมฮุกมปากัต (กระบวนการปรองดองและปรึกษาหารือ) จนเกิดกระแสสนับสนุนเห็นด้วยจากผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชน โดยคณะผู้บริหารฯได้ให้กำลังใจ อดทนต่อบททดสอบ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมคุณธรรมตลอดไป

พันตำรวจเอกสายูตี กาเต๊ะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจอำเภอยะหา กล่าวว่า เนื่องจากผู้นำศาสนาและแกนนำชุมชนในอำเภอยะหาได้ร้องเรียนพฤติกรรมของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่มีการมั่วสุมระหว่างหญิงชายอย่างเสรี เสี่ยงต่อการกระทำอบายมุขที่อาจบานปลายเป็นบาปใหญ่ ทั้งเรื่องชู้สาว ยาเสพติดและทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต ตนในฐานะมีอะมานะฮ์รับผิดชอบบริการประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยแก่ประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร จึงอยากมีส่วนร่วมสร้างสังคมสันติสุข และยินดีให้ความร่วมมือกับผู้นำศาสนาในการแก้ปัญหาสังคมที่เป็นความห่วงใยของทุกฝ่ายขณะนี้

“ ในฐานะมุสลิม ผมขอเชิญชวนให้เยาวชนยึดมั่นกับคำสอนอิสลาม สนใจศึกษาหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อปกป้องเรา ไม่ให้ตกกับดักของอารมณ์คึกคะนองและแผนล่อลวงของมารร้าย” ผกก. สถานีตำรวจอำเภอยะหากล่าว

ในส่วนของการบังคับใช้ฮุกมปากัตนี้ พันตำรวจตรีสายูตี กาเต๊ะกล่าวว่า ตำรวจมีหน้าที่เขียนเสือให้วัวกลัวเท่านั้น ซึ่งผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจมากกว่า 100 % กิจกรรมมั่วสุมของเยาวชนเงียบหายไปเหมือนปลิดทิ้ง ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนต่างพึงพอใจมาก ส่วนการจับหนุ่มสาวแต่งงานนั้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านอิมามในฐานะผู้นำศาสนา หลังจากปรึกษาหารือกับผู้ปกครองของหนุ่มสาวคู่กรณี โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิ์ชี้นำได้ เรามีหน้าที่รักษาความสงบสุขและป้องปรามในลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัวเท่านั้น ซึ่งได้ผลจริงเกินคาด และยืนยันว่าไม่ละเมิดสิทธิ์เด็กแต่อย่างใด ตามที่มีอดีตนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งห่วงใย

theustaz.com ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนและให้กำลังใจแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมสร้างสังคมสันติสุข โดยนำศาสนาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสังคมที่ครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์รับใช้ประชาชน ซึ่งสามารถป้องปรามสิ่งชั่วร้ายในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากการสอนศาสนาเพียงอย่างเดียวที่ไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่ท่านอุษมาน บินอัฟฟานได้กล่าวว่า “แท้จริง อัลลอฮ์จะทรงยับยั้งความชั่วร้ายด้วยการบังคับใช้อำนาจทางกฎหมาย ในสิ่งที่อัลกุรอานไม่สามารถยับยั้งได้” ทั้งนี้ สำหรับมนุษย์ทั่วไปที่ไม่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ลำพังแค่การกล่าวตักเตือนและเทศนาด้วยบทคำสอนจากอัลกุรอาน ไม่ทำให้พวกเขาสำนึกผิดและยุติการกระทำอบายมุขได้  เหมือนกับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกรงกลัวและยุติการทำบาปไปในที่สุด

โดยเฉพาะ เมื่อพลังแห่งอัลกุรอานและพลังแห่งกฏหมาย เดินหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่ทำหน้าที่กำชับทำสิ่งดีและห้ามปรามความชั่วอย่างพร้อมเพรียงกัน ก็ยิ่งทำให้ “สังคมสันติสุข” ไม่ใช่เป็นแค่ความฝันต่อไป แต่คือความดีงามที่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริง

ขอบคุณ ข่าวสด

กาตาร์จ่ายให้อิหร่านปีละ 133 ล้านดอลล่าร์ : ปีแลกอิสรภาพทางน่านฟ้า

Forex News รายงานผลจากที่กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวโดยชาติอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรนและอิยิปต์ โดยที่กาตาร์ถูกปิดกั้นน่านฟ้า และไม่อนุญาตใช้น่านฟ้าในเขตประเทศดังกล่าว ทำให้กาตาร์ต้องใช้น่านฟ้าของอิหร่านแทน ซึ่งกาตาร์ต้องจ่ายให้แก่เตหะรานจำนวนปีละ 133 ล้านดอลล่าร์ โดยตัวเลขดังกล่าวคำนวณระหว่างเดือนมีนาคม 2018 ถึง มีนาคม 2019

ประเทศอ่าวและชาติอาหรับ กล่าวหากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและใกล้ชิดกับอิหร่าน ซึ่งกาตาร์ปฏิเสธมาโดยตลอด โดยหารู้ไม่ว่า การโอบล้อมกาตาร์ ทำให้อิหร่านรับส่วนแบ่งจากกาตาร์เต็มๆ จำนวนมหาศาลปีละ 133 ล้านดอลล่าร์ และทำให้กาตาร์มีความจำเป็นต้องใกล้ชิดอิหร่านมากขึ้น ในขณะที่ประเทศที่โอบล้อมกาตาร์ ต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติกับอิหร่านเช่นกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2021 เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ เชคตะมีม บินหะมัด บินเคาะลีฟะฮ์ อาลษานี ได้เดินทางถึงสนามบินเมืองอุลา เพื่อร่วมประชุมสุดยอดสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอุลา เมืองเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ห่างจากนครมะดีนะฮ์ไปทางเหนือประมาณ 300 กม.  ท่ามกลางการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากเจ้าชายมูฮัมมัด บินซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะเป็นการสิ้นสุดยุคการโดดเดี่ยวกาตาร์ที่ยืดเยื้อนาน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2017 โดยประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้เปิดพรมแดนทั้งทางบก ทะเลและน่านฟ้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2021 พร้อมรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างปกติ ถือเป็นข่าวดีและเหตุการณ์ที่สร้างความดีใจให้แก่โลกอาหรับและโลกอิสลามในต้นปี 2021 นี้


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

รัฐบาลคูเวตแถลงซาอุดิอาระเบียคืนดีกับกาตาร์แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวต นายอาห์มัด อัลมุบาร็อค อัศเศาะบาห์ แถลงว่า ซาอุดิอาระเบียประกาศรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกาตาร์เนื่องในประชุมสุดยอดสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอุลา เมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะดีนะฮ์ 300 กม. เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวตกล่าวยืนยันว่า ได้มีข้อตกลงเปิดน่านฟ้าและพรมแดนทั้งทางบกและทะเลระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564

ก่อนหน้านี้เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เชคนาวาฟ อัลอะห์มัด อัลญาบิร์ อัศเศาะบาห์ได้ออกแถลงการณ์ว่า ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ความพยายามในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ประสบผลสำเร็จ เราดีใจที่ความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้อง สามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีและมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและชาติอาหรับต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศตุรกีได้สดุดีต่อความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสองประเทศที่ถือเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องนี้ พร้อมระบุ มติเปิดพรมแดนระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขวิกฤตอ่าวอาหรับต่อไป

กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 หลังจากซาอุดีอาระเบียและหลายประเทศในตะวันออกกลางประกาศระงับความสัมพันธ์กับกาตาร์ทุกมิติ พร้อมกับกล่าวหากาตาร์ว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและมีสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลอิหร่าน


อ้างอิง

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

รัฐบาลตุรกีประณามอ่านอัลกุรอานด้วยภาษาตุรกี

นายฟัครุดดีน อัลทูน ผู้อำนวยการสำนักงานการสื่อสารสำนักประธานาธิบดีแห่งตุรกี ประณามการอ่านอัลกุรอานด้วยภาษาตุรกีในงานที่จัดโดยสำนักงานเทศมนตรีประจำกรุงอิสตันบูล เมื่อวันจันทร์ที่ 21/12/2020 โดยกล่าวว่า “ตุรกีไม่มีทางหวนกลับสู่อดีตอันมืดมนอีกแล้ว”

นายฟัครุดดีน กล่าวว่า การอ่านด้วยภาษาตุรกีสื่อความหมายที่ห่างไกลกับแกนภาษาอาหรับ ทุกคนไม่สามารถกระทำสิ่งนี้ด้วยข้ออ้างการเปิดใจกว้าง

สำนักงานเทศมนตรีประจำกรุงอิสตันบูล โดยนายอักร็อมอิมาม โอฆลู นายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลในนามพรรคประชาชนสาธารณรัฐ ได้จุดกระแสความไม่พอใจให้แก่ชาวตุรกีทั่วประเทศด้วยเปิดพิธีอ่านอัลกุรอานในภาษาตุรกี ในงานคล้ายวันครบรอบ 747 ปีแห่งการเสียชีวิตของชัยค์ญะลาลุดดีน อัรรูมี ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ เมาลานา” ในงานดังกล่าวยังมีการอาซานด้วยภาษาตุรกีและมีการปะปนระหว่างชายหญิงอย่างอิสระอีกด้วย

นายนูฮ์ อัลเบรัก นักเขียนตุรกีกล่าวว่าพรรคประชาชนสาธารณรัฐคือภาพแห่งความสะพรึงกลัวของอิสลามที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เลือกสนับสนุนนายอักร็อม อิมามโอฆลูหลังจากที่เขาอ่านซูเราะฮ์ยาซีนที่มัสยิดอัยยูบ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคราวก่อน พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันน่าละอายนี้

 มุร็อด บาร์กาซี นักประวัติศาสตร์ตุรกีเขียนบทความตอนหนึ่งว่า เราเคยชินกับพิธีการที่เป็นการดูถูกเมาลานาในรูปแบบต่างๆมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ในรอบ 747 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยถูกหยามเหยียดถึงขนาดนี้ ทุกคนต้องให้เกียรติประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วแต่ไม่จำเป็นต้องดูหมิ่นศาสนาถึงระดับนี้

ชาวตุรกีมีความทรงจำที่ปวดร้าวกับอาซานด้วยภาษาตุรกี ซึ่งทำให้พวกเขารำลึกถึงยุคมืดของชาติตุรกีในปี 1932  อันเป็นปีแรกที่มีการห้ามอะซานด้วยภาษาอาหรับ และในปี 1941 ประธานาธิบดี อิศมัต อิโนโน ทายาทของนายเคมาล อะตาร์เตอร์กได้ออกกฏหมายสั่งห้ามประชาชนทั่วประเทศตุรกีอาซานด้วยภาษาอาหรับ ชาวตุรกีถูกบังคับอาซานด้วยภาษาตุรกีเป็นเวลานานถึง 18 ปีจนกระทั่งเมื่อปี 1950 นายกรัฐมนตรีนายอัดนาน แมนเดรีส ได้อนุญาตให้อาซานเป็นภาษาอาหรับอีกครั้งตราบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนายแมนเดรีส ถูกทหารก่อปฏิวัติและลงโทษด้วยการแขวนคอในปี 1961 แมนเดรีสได้รับฉายาจากชาวตุรกีเป็นซะฮีดแห่งอาซาน

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นเพราะบรรดาแกนนำพรรคประชาชนสาธารณรัฐได้รณรงค์ให้ชาวตุรกีอาซานและอ่านอัลกุรอานด้วยภาษาตุรกีมาแล้วในปี 2018 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ชาวตุรกีมีความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น ทั้งนี้พวกเขาเห็นว่า การอ่านอัลกุรอานและอาซานด้วยภาษาอาหรับ ถือเป็นการดูถูกภาษาตุรกี ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ


อ้างอิงจาก

https://m.arabi21.com/Story/1323255?fbclid=IwAR06CYm4dIufYDD_SBzBi57IiHQzX6DWjIa2m4d4n4-k1fG0Ss_FT1Q6GVo

https://www.turkpress.co/node/76424?fbclid=IwAR3mY4zNyMWlWGvVDqR0HAt2bXDMMxaRbwGHNIm3qd6IojM1tsR13iIBHvQ

โดยทีมงานต่างประเทศ