สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 5)

หลังจากที่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองและทำลายอารยธรรมของพวกเขากว่า 400 เผ่าพันธุ์ ตลอดระยะเกือบ 200 ปี (ศตวรรษที่ 17 และ 18) เชื่อว่าสหรัฐฯได้ฆ่าชาวพื้นเมืองไปแล้วกว่า 18 ล้านคน

ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ในศตวรรษที่ 19 และ 20 สหรัฐก็ยังสะสมแฟ้มอาชญากรรมไปทั่วโลก สรุปที่สำคัญๆดังนี้

#อาชญากรรมศตวรรษที่19 (ไม่นับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองที่ได้กล่าวมาแล้ว)
1833 อเมริกาทำสงครามกับนิการากัว
1835 สงครามเปรู
1846 สงครามแม็กซิโก และยึดครองรัฐแท็ซัส คาลิฟอร์เนีย นิวแม็กซิโก
1855 สงครามอุรุกวัยและปานามา
1870 บุกถล่มโคลัมเบียหลายครั้ง
1888 ยึดครองไฮติ
1894 บุกนิการากัว
ตลอดจนปิดท้ายศักราชนี้ด้วยการบุกคิวบา

#อาชญากรรมศตวรรษที่20
1901 เปิดศักราชด้วยการบุกเกาะกวนตานาโม ยึดครองโคลัมเบียและฮอนดูรัส
1914 ยึดครองไฮติเป็นเวลา 19 ปี
1916 บุกโดมินิกัน และยึดครอง 8 ปี
1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ อเมริการ่วมกับจัดสรรแผ่นดินร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศส
1932 ถล่มเซลวาดอร์
1945 สงครามโลกครั้งที่สองยุติ อเมริกาถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ พลเรือนตาย 200,000 คน
1954 ยึดครองกัวเตมาลา
1961 บุกคิวบาอีกครั้ง
1960-1970 สงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามเสียชีวิต 3 ล้านคน
1967 บุกโบลิเวีย
1973 ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเซลวาดอร์และชีลี
1982 ส่งกองทัพเข้าเลบานอน เพื่อสนับสนุนอิสราเอล
1986 ถล่มลิเบีย
1989 ถล่มปานามา
1991 ถล่มอัฟกานิสถาน และโซมาเลีย
1991 เริ่มบุกอิรักและแซงชั่นอิรัก ทำให้ประเทศขาดแคลนอาหารและยา ประชาชนเสียชีวิต 200,000 คน บาดเจ็บ 500,000 คน
1999 อเมริกาและกองกำลังพันธมิตรได้บุกถล่มอีรักจนพินาศทั้งประเทศ พร้อมสร้างอืรักเป็นแดนมิคสัญญีที่มีความแตกแยกทางความเชื่อที่รุนแรงที่สุดจนกระทั่งปัจจุบัน ยอดผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตนับล้านคน


ปล. นอกจากอิหร่าน อิสราเอลและยุโรปแล้ว ในโลกนี้มีประเทศไหนบ้างที่ปลอดภัยจากอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา

ประเทศที่เต็มด้วยประวัติอาชญากรรมเช่นนี้ เป็นไปได้หรือที่จะเป็นเจ้าภาพจัดรางวัลโนเบลแห่งสันติภาพ และเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาคมโลกจะได้รับการปกป้องด้านสิทธิมนุษยชน

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 4)

หนูทดลองโรคซิฟิลิส (The Tuskegee Syphilis Study)

กรมสาธารณสุขอเมริกา ได้จัดโครงการวิจัยโรคซิฟิลิสระหว่างปี 1932-1972 ที่เมืองทัสเคจี (Tuskegee) รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชาวแอฟริกาอพยพอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมทดลองเป็นชายผิวสีจำนวน 399 ราย โดยโรคซิฟิลิสถูกปล่อยให้ผู้ป่วยตายลงช้าๆโดยไม่รักษา เพื่อสังเกตการพัฒนาของโรคแต่ละราย

ความเลวร้ายของการทดลองที่ใช้เวลา 40 ปีครั้งนี้ อยู่ที่ผู้วิจัยไม่ได้แจ้งแก่ผู้ป่วยว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง นอกจากหลอกว่า พวกเขามีเลือดเป็นพิษ และจะทำการรักษาให้ฟรี รวมถึงอุดหนุนค่าเดินทาง อาหารและฝังศพฟรีกรณีเสียชีวิต

การรักษาโรคซิฟิลิสสมัยนั้น ทำโดยการให้สารพิษเข้าไปทำลายโรค ทว่าเป็นวิธีการที่อันตรายและไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลการรักษาจะออกมาดีหรือไม่ ถึงแม้ทีมวิจัยจะค้นพบเพนิซิลินรักษาโรคซิฟิลิสในปี 1940 แต่หนูทดลองทั้ง 399 คนกลับไม่ได้รับการรักษา แถมถูกปล่อยให้ตายอย่างช้าๆโดยไม่มีการดูแลจากรัฐบาล

หลังจากที่มีการเปิดโปงโครงการวิจัยที่ไร้มนุษยธรรมนี้ในปี 1972 รัฐบาลสหรัฐจึงยุติโครงการนี้ พร้อมกับรายงานผลการวิจัยว่า ในจำนวน 399 ตัวอย่าง มีผู้ที่รอดชีวิตเพียง 74 ราย เสียชีวิตจากโรคซิฟิลิส 28 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ขณะที่ภรรยาของผู้ป่วย 40 รายติดเชื้อซิฟิลิสจากสามี และส่งผลให้ทารก 19 รายคลอดออกมาติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด

40 ปีของการทดลองที่ทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ จะมีองค์กรไหนในโลกนี้ กล้าทวงถามให้เจ้าของโครงการรับผิดชอบบ้างไหม และประเทศที่เป็นเจ้าภาพโครงการนี้ เหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบของการปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Tuskegee_syphilis_experiment
http://hathairat2011.blogspot.com/2015/06/blog-post_12.html?m=1

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 3)

การยึดครองดินแดนของคนขาวดำเนินไปเกือบ 2 ศตวรรษ จนกระทั่งเกิดปฏิวัติอเมริกาสำเร็จในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ซึ่งถือเป็นวันอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักรบริเทนใหญ่รับรองเอกราชเมื่อปี 1783 มีการลงมติรับรัฐธรรมนูญเมื่อปี 1787 และรัฐต่างๆให้สัตยาบันในปี 1788 จอร์จ วอชิงตันเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1789

ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้ จึงเป็นศตวรรษของการรวมชาติของอเมริกัน ซึ่งฟังแล้วดูดีและเรียบง่าย แต่ในความเป็นจริงคือการปล้นดินแดน เข่นฆ่า ขับไล่ โดยที่ชนพื้นเมืองถูกกำหนดให้เป็นผู้พ่ายแพ้ตามปรัชญาเทพลิขิต(Manifest destiny) ที่รัฐบาลอเมริกายัดเยียดความเชื่อนี้แก่ชนพื้นเมืองว่า พระเจ้าได้กำหนดให้อเมริกามีแผ่นดินอันกว้างใหญ่ที่ทุกคนต้องยอมจำนน

ทุกประเทศในอดีต ต้องผ่านการทำสงครามภายในเพื่อสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ความแตกต่างของการสร้างชาติของสหรัฐอเมริกา คือการเดินทางข้ามทวีปของคนขาวเพื่อยึดครองแผ่นดินและทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ชาติตะวันตกสร้างเรื่องว่าอิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบ อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วโลกทั่วแอฟริกา อันดาลูเซีย เปอร์เซีย ประเทศหลังแม่น้ำแถบอดีตสหภาพโซเวียต จีน ฯลฯ แต่น่าแปลกที่ชาวอาหรับไม่เคยไปสร้างอาณาจักรของตนเองในดินแดนเหล่านี้ ด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมือง จะมีแต่ชาวพื้นเมืองต่างหากที่ยอมรับวัฒนธรรมอิสลามด้วยความสมัครใจ จนกระทั่งยอมละทิ้งวัฒนธรรมของตนเอง เคียงคู่กับการสร้างอารยธรรมใหม่ภายใต้แสงอรุณแห่งอิสลาม เราจึงเห็นชาวอันดาลูเซีย ชาวแอฟริกา ชาวจีน และชาวอื่นๆ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ยังคงเป็นประชากรหลักของแต่ละประเทศ

สงครามสามารถยึดครองประเทศก็จริง แต่ไม่มีทางยึดครองหัวใจของผู้คนได้

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 2)

ดินแดนแห่งอเมริกา มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อยู่ทุกวันนี้ แท้จริงแล้ว เป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองอเมริกันมาแต่ก่อนไม่รู้กี่ชั่วคน แต่คนขาวอุปโลกน์เรื่องราวของโคลัมบัส ลวงชาวโลกให้เข้าใจว่าเป็นผู้ค้นพบโลกใหม่ ทั้งที่ ณ ดินแดนแห่งนั้น มีเจ้าของอาศัยอยู่แล้วนับพันๆปี แต่ด้วยความบิดเบือนทางประวัติศาสตร์พวกเขากลับกลายเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะประวัติศาสตร์คือคำบันทึกของผู้ชนะเสมอ

ความกระหายในดินแดนและเศรษฐกิจของคนขาว ได้ทำลายอารยธรรมและอิสรภาพของชนพื้นเมืองอเมริกันที่มีจำนวน 566 เผ่า ทั้งๆที่เมื่อแรกๆที่คนขาวอพยพมา ชนพื้นเมืองได้ให้การต้อนรับด้วยมิตรไมตรียิ่ง ให้ที่อยู่อาศัย ให้อาหารและสอนให้รู้จักการดำรงชีวิตในโลกใหม่แก่คนขาวด้วยหัวใจที่ใสซื่อและใจกว้าง ซึ่งเป็นนิสัยดั้งเดิมของชาวอินเดียนแดงปฏิบัติต่อแขกผู้มาเยี่ยมเยือน แม้กระทั่งในคำบันทึกของโคลัมบัสที่รายงานต่อกษัตริย์สเปนในสมัยนั้น ก็ยังได้พูดถึงการมีใจอันงดงามของชนพื้นเมือง แต่พวกเขาได้รับการตอบแทนด้วยการคร่าชีวิต ถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์และกลายเป็นทาสรับใช้ เมื่อคนขาวเริ่มอพยพเข้ามาด้วยจำนวนมากขึ้น พวกเขาเริ่มแสดงตัวตนของนักปล้นที่แท้จริง จึงเกิดสงครามที่ยาวนาน แต่ท้ายสุดชนพื้นเมืองต้องพ่ายแพ้ต่อเทคโนโลยี่ที่เหนือกว่าของศัตรูผู้บุกรุก จนกระทั่งถูกกักกันให้อยู่ในเขตสงวนอันน้อยนิด กันดารและแห้งแล้ง เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่คนขาวตั้งใจมาแพร่เชื้อ พวกเขาถูกหลอกลวงด้วยสติปัญญาและเทคโนโลยีที่เอารัดเอาเปรียบและจิตใจอันต่ำทราม พร้อมๆกับถูกมอมด้วยเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน ค้ามนุษย์และธุรกิจบันเทิงทั้งหลาย จนเคลิบเคลิ้มลืมเลือนอดีตอันเจ็บปวดของเหล่าบรรพบุรุษ

ชนพื้นเมืองอเมริกัน มหากาพย์แห่งดวงตะวัน เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและคุณค่าของมนุษย์บนแผ่นดินของตนเอง

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 1)

กล่าวกันว่า นับตั้งแต่ก่อนการประกาศจัดตั้งสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปัจจุบัน คนผิวขาวที่อพยพเข้าสู่โลกใหม่ในทวีปอเมริกาได้เข่นฆ่าชาวโลกแล้วจำนวน 112 ล้าน ที่ครอบคลุมกว่า 400 ชนชาติและอารยธรรม ถึงกระนั้นก็ตาม ทั่วโลกพากันยกย่องประเทศลุงแซมว่าเป็นต้นแบบประเทศประชาธิปไตยและต้นตำรับของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

#อินเดียนแดง_ชาวพื้นเมืองผู้ทรนง

หลังจากที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวเจนัวเมืองท่าทางทะเลที่สำคัญของอิตาลี่ ได้ค้นพบโลกใหม่ในหมู่เกาะทะเลแคริบเบียนเมื่อปี 1492 และพบเจอชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เดิมนับพันๆปีแล้ว แต่กลับเข้าใจผิดว่าเป็นดินแดนอินเดีย จึงเรียกชาวพื้นเมืองนี้ว่า Indian แต่เมื่อความจริงปรากฏ ชาวตะวันตกจึงเรียกแก้เขินว่า อินเดียนแดง เพื่อแยกแยะกับชาวอินเดียที่แท้จริง ปัจจุบันคำนี้ถูกเลิกใช้และถือว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพ จึงเรียกคำใหม่ว่า Native American (ชนพื้นเมืองอเมริกัน) นับแต่นั้นมา ซึ่งในบทความต่อไปนี้ ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำสุภาพว่า”ชนพื้นเมืองอเมริกัน” แทน ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ถูกเข่นฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์ด้วยวิธีที่สุดป่าเถื่อน พวกเขาประกอบด้วยชนหลายเผ่าพันธุ์จำนวน 566 เผ่าที่แยกกันอยู่ตามบริเวณต่างๆของทวีปนี้ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 40-90 ล้านคน แต่ผลของสงครามล้างเผ่าพันธุ์อันยาวนานระหว่างปลายศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 (กว่า 400 ปี) เชื่อว่าชนพื้นเมืองอเมริกันถูกฆ่าเป็นเหยื่อสังเวยการสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวน 18 ล้านคน ส่วนที่เหลือก็กระจัดกระจายตามประเทศต่างๆแถบลาตินอเมริกา ปัจจุบันชนพื้นเมืองอเมริกันมีประชากรในสหรัฐอเมริกา 1.7% ของประชากรทั้งหมด หรือจำนวน 5.2 ล้านคน

ตลอดระยะเวลาดังกล่าวพวกเขาถูกไล่ล่า ทำลายบ้านเรือน ฆ่าถลกหนัง หรือแม้กระทั่งการปล่อยเชื้อโรคคร่าชีวิตและถูกอพยพไล่ที่ให้ต่อสู้กับชีวิตตามลำพังท่ามกลางความอดอยากจนตายทั้งเผ่าอย่างทรมาน

และสิ่งที่โหดร้ายยิ่งกว่าการเข่นฆ่า คือการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์และใส่ร้ายป้ายสีว่า พวกเขาคือกลุ่มชนที่ป่าเถื่อน กระหายเลิอด เป็นมนุษย์กินคน เป็นกลุ่มชนที่ได้รับการวิวัฒนาการจากลิงตามทฤษฎีดาร์วิน ด้วยเหตุนี้ความเชื่อเริ่องเหยียดผิวของคนขาว จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิดที่ฝังใจจนเป็นเนื้อเดียวกันชนิดที่แยกไม่ออกทีเดียว

ในช่วงปี 1622 – 1924 ได้มีการกำหนดขยายดินแดนของชาวอเมริกัน ทำให้ชาวอินเดียนแดงถูกขับไล่ออกไปอยู่บริเวณส่วนตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ทุรกันดารที่เรียกว่า เขตสงวนชนพื้นเมืองอเมริกัน ท่ามกลางนโยบายกลืนชาติ (Assimilation) และปรัชญาเทพลิขิต (Manifest destiny) ที่ดำเนินไปควบคู่กับการต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของชนพื้นเมือง

เรื่องราวของชนพื้นเมืองอเมริกัน จึงเป็นเรื่องราวที่เหี้ยมโหด สยดสยอง ที่กระทำทารุณโดย คนขาวที่อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่อย่างไร้ปรานี ในขณะเดียวกัน เรามักถูกนำเสนอภาพของวีรกรรมของคนขาวที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนและครอบครัว ในขณะที่ชนพื้นเมืองอเมริกัน กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ก่อการร้ายไปโดยปริยาย ใครที่เคยดูหนังคาวบอยในอดีต ที่มีพระเอกเป็นคนขาวที่มีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ ยิงปืนแม่น ขี่ม้าอย่างชำนาญ ที่ทางการส่งมาเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายผิวสี ก็จะเข้าใจจิตวิทยามอมเมาชาวโลกของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองอเมริกันผ่านสื่อภาพยนต์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ชนพื้นเมืองอเมริกันถูกรุกรานจากคนขาวเนื่องจากพวกเขาเป็นเจ้าของทุ่งกว้างและดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งทวีปอเมริกาต่างหาก

ทีมข่าวต่างประเทศ

แหล่งอ้างอิง
http://www.kabbos.com/index.php?darck=402
https://docs.google.com/file/d/0B5ouQ_Ym2-loaDNqcC1nZkxYY0E/edit
https://th.m.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

10 กุมภาพันธ์ รำลึกวันเสียชีวิตสุลต่านอับดุลหะมีดที่ 2 แห่งอาณาจักรออตโตมัน : ตอน สัมผัสชีวิตสายสกุลออตโตมันในปัจจุบัน

บทสัมภาษณ์จากวารสารอัลมุจตามะ المجتمع ของคูเวต ฉบับ 2139 ประจำเดือน มกราคม 2020

เจ้าชายฮารูน เหลนของสุลต่านอับดุลฮามิด กล่าวกับวารสารอัลมุจตามะ : เราพบกับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่งในการขอสัญชาติตุรกี

เจ้าชายฮารูน บินอับดุลการีม หลานชายของสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 กล่าวว่าสถานการณ์สายสกุลออตโตมันในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลแอร์โดฆาน ดีกว่าเมื่อก่อน พร้อมขอยกย่องชมเชยความสนใจและความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ตุรกีของประธานาธิบดีแอร์โดฆาน

เจ้าชายฮารูน บินอับดุลการีม กล่าวในบทสนทนากับ “วารสารอัลมุจตามะ” ในการเดินทางเยือนคูเวตครั้งล่าสุดว่าสุลต่านมีทรัพย์สินในเมืองคอร์คุก อิรัก เมืองกอมิชลี และเดรซูร ทางตอนเหนือของซีเรีย เรื่องทรัพย์สินเป็นปัญหายุ่งยากมาก จากการที่ออตโตมันพ่ายแพ้สงคราม ดังนั้นทรัพย์สินเหล่านั้นจึงสูญเสียไปบนโต๊ะเจรจา

  • วารสารอัลมุจตะมะ : ก่อนอื่นเรายินดีต้อนรับท่าน และเรามีความสุขมากกับบทสนทนานี้
  • เจ้าชายฮารูน : ขอให้อัลลอฮ์อวยพรให้คุณ และผมก็พอใจกับการพบกับพี่น้องที่ดีของผมในประเทศที่ดีนี้ และรู้สึกราวกับว่าอยู่ระหว่างครอบครัวและตระกูลของผม
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ผลทางจิตใจของการเป็นหลานชายของสุลต่านอับดุลฮามิดที่สอง มีอะไรบ้างครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีรากเหง้าอันยาวนานนี้ และตั้งแต่วัยเด็ก ตอนที่เราอยู่ในช่วงวัยเด็ก เราได้รับการบอกว่า เธอต้องรู้ว่าเธอเป็นใคร และปู่ย่าตายายของเธอเป็นใคร เราถูกอบรมแบบนี้ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ รวมถึงบอกถึงผู้รักหรือผู้ที่เกลียดชังเราในตุรกี
  • วารสารอัลมุจตะมะ : รัฐบาลตุรกีปัจจุบันปฏิบัติต่อท่านอย่างไร ในฐานะลูกหลานของสุลต่านอับดุลฮามิด?
  • เจ้าชายฮารูน : เรามาที่ตุรกีในปี 1977 รัฐบาลในเวลานั้นไม่สนใจเรา ไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของเรา และไม่ได้ให้ความสนใจใด ๆ กับเรา และเรารู้สึกแปลกแยกและห่างเหิน และเรากลายเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของเรา ด้วยความค่อยเป็นค่อยไปและความอดทน เราเริ่มเรียนรู้สังคมตุรกีและวิธีที่จะจัดการกับมัน เพื่อให้เราสามารถกู้คืนสิทธิของเราคืนมา ที่สำคัญที่สุดคือการคืนสัญชาติตุรกีที่เราถูกกีดกันอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และเราพบปัญหามากมายในขั้นตอนนี้ โดยคุณพ่อเป็นผู้เดินเรื่องเพื่อขอรับสัญชาติอย่างลำบากยากเย็น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1977-1985 และเมื่อประธานาธิบดีตุรฆุต โอซาล ของตุรกี ในเวลานั้น รู้เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของเราในการขอสัญชาติตุรกี ท่านก็ได้เข้าแทรกแซง และมอบสัญชาติให้เราภายในเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้น
    สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของเรา ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีรอญับ ตอยยิบ แอร์โดฆาน ดีกว่ามาก – เราขอสรรเสริญต่ออัลลอฮ์- สำหรับเรื่องนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีสนใจประวัติศาสตร์ตุรกี รู้สึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์โบราณนี้ และพยายามรักษาไว้ เราจึงรู้สึกเคารพเป็นอย่างสูงต่อท่าน อันเนื่องจากนโยบายที่ถูกต้องและให้ความยุติธรรมต่อสายสกุลออตโตมาน เพราะท่านมีนโยบายให้สัญชาติแก่บุคคลใดก็ตามในตระกูลออตโตมานที่ยังไม่ได้สัญชาติตุรกี ให้มีสิทธิที่จะได้รับในทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา 6 เดือน ผู้ใดก็ตามที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของออตโตมานที่อาศัยอยู่นอกประเทศตุรกี ให้ยื่นเรื่องต่อสถานทูตตุรกีในประเทศนั้นๆ เพื่อขอสัญชาติ และภายในไม่กี่วันก็ได้สัญชาติในทันที
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบอบการปกครองก่อนหน้านี้ที่ท่านอยู่ กับระบอบการปกครองแบบแอร์โดฆานหรือไม่?
  • เจ้าชายฮารูน : ใช่ มีความแตกต่างกันมาก ประธานาธิบดีแอร์โดฆานรักราชวงศ์ออตโตมาน และยกย่องประวัติศาสตร์ออตโตมันโบราณ ทั้งยังเป็นนักอ่านประวัติศาสตร์ที่ดี ดังนั้น เราจึงชื่นชมและเคารพต่อท่าน และเราตอบสนองต่อการเรียกร้องของท่านเกี่ยวกับวันครบรอบการเสียชีวิตของสุลต่านอับดุลฮามิด รวมถึงการรำลึกการก่อตั้งอาณาจักรออตโตมัน และโอกาสอื่นๆ แต่เราก็ตระหนักถึงสถานการณ์ดี เราเห็นใจและเข้าใจเหตุผล หากมีบางอย่างบกพร่อง
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ชีวิตของท่านเป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อตอนที่ท่านอยู่นอกประเทศตุรกี ?
  • เจ้าชายฮารูน : คุณพ่อถือสัญชาติซีเรียและเลบานอน ท่านทำงานเป็นพนักงานเล็กๆ ในกระทรวงการสวัสดิการของเลบานอน ชีวิตของพวกเราค่อนข้างลำบาก ส่วนคุณปู่และคุณทวดของผม ท่านอับดุลการิม อาฟันดี และท่านซาลิม อาฟันดี พ่อของท่าน มีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างยิ่ง ท่านทั้งสองยอมขายเหรียญตรา และเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อนำเงินมาใช้ ปัจจุบันเรายังคงได้รับความยากลำบากเหล่านี้ขณะที่เราอาศัยอยู่ในประเทศตุรกีของเรา เราทำงานด้วยแรงของเรา เราทำงานอย่างหนักเพื่อให้เราสามารถมีชีวิตที่เหมาะสมสำหรับเรา และลูก ๆ ของเรา รัฐบาลตุรกีไม่ได้ให้เงินใดๆ แก่เรา และเราเองก็ไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลอุ้มชูเอา เพียงแค่นี้เราก็ยังรู้สึกขอบคุณต่ออัลลอฮ์ เรารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองของประเทศที่มีสถานะอันยิ่งใหญ่ของเรา ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์สายสกุลอันมีเกียรติของเรา และการได้ทำงานสุจริตในประเทศของเรา
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านมีทรัพย์สินในตุรกีหรือไม่ครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : ใช่ เรามีทรัพย์สินในตุรกี และจนถึงตอนนี้เรายังไม่ได้อ้างสิทธิ์ สิ่งที่เราขอจากรัฐบาลได้แก่ การระบุทายาทของสุลต่านอับดุลฮามิด – ขอให้อัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน – และในอนาคตเราจะเดินเรื่องขอคืนที่ดินของเราที่ถูกยึดครองโดยตระกูลใหญ่บางตระกูลในตุรกี
  • วารสารอัลมุจตะมะ : สุลต่านอับดุลมาจิด อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียและถูกฝังในอัลบะเกียะ ตระกูลสุลต่านอับดุลฮามิดเป็นอย่างไรบ้าง ? มีการพบปะกันบ้างไหม?
  • เจ้าชายฮารูน : สายสกุลของสุลต่านอับดุลฮามิด กระจัดกระจายอยู่ในหลายส่วนของโลก วันเวลาได้ทำร้ายต่อพวกเขา ชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนไป และสภาพของพวกเขาเปลี่ยนไป บางคนอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร บางส่วนอยู่ในเยอรมนี และขอบคุณต่ออัลลอฮ์ ที่ปู่ของผมเลือกที่จะอยู่ในเลบานอน ดินแดนอิสลาม ภายใต้บรรยากาศอิสลาม
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านตอบโต้การใส่ร้ายป้ายสีต่อสุลต่านอับดุลฮามิดและอาณาจักรคอลีฟะฮ์ออตโตมันหรือไม่?
  • เจ้าชายฮารูน : อิลฮาน สุลตอน ลูกสาวของผม ได้เขียนหนังสือ 3 เล่ม และกีฮาน พี่ชายของผม เขียนหนังสือ 2 เล่มเพื่อตอบโต้ต่อการใส่ร้ายป้ายสี ในวงการสื่อ เราเป็นที่รู้จักกันดี เราได้ดำเนินคดีต่อศาลฟ้องร้องผู้ที่ดูหมิ่นสุลต่านอับดุลหะมีด ลูกสาวของผมชนะมาแล้ว 4 คดี
  • วารสารอัลมุจตะมะ : แล้วเรื่อง “ซีรี่ส์สุลต่านอับดุลฮามิด”?
  • เจ้าชายฮารูน : ผมเป็นที่ปรึกษาในการทำซีรีย์นี้ และเราใส่ข้อมูลเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในช่วงเวลานั้นมากกว่า 60% ของซีรี่ส์ ส่วนเหตุการณ์ที่เหลือของซีรีส์ มาจากจินตนาการของการละคร
  • วารสารอัลมุจตะมะ : สุลต่านอับดุลฮามิด มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อชาวยิวเป็นอย่างมาก ดังนั้น ตอนนี้ท่านมองสถานการณ์ของชาวยิวอย่างไรในปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง?
  • เจ้าชายฮารูน : จุดยืนเหล่านี้ของท่านสุลต่าน เริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่สิบเก้าต่อมา หลังจากปี 1917 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และออตโตมันต้องออกจากปาเลสไตน์และประเทศอาหรับอื่นๆ ผู้นำอาหรับหรือผู้นำอิสลามก็ไม่สามารถรักษาปาเลสไตน์เอาไว้ได้เหมือนกับที่ออตโตมันรักษาไว้เป็นเวลานานหลายศตวรรษ จุดยืนของแอร์โดฆานกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาก็เป็นจุดยืนที่น่ายกย่องที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้อย่างภาคภูมิใจในตัวผู้นำมุสลิมท่านนี้ และแน่นอนว่าเราจะไม่เปรียบเทียบท่านกับสุลต่านอับดุลฮามิด ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไซออนิสต์ที่นำโดยเฮอร์เซิล และการปฏิเสธที่จะให้ปาเลสไตน์แก่พวกเขา
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านได้ทำสารคดีเกี่ยวกับสุลต่านอับดุลฮามิดหรือไม่ ?
  • เจ้าชายฮารูน : ผมได้ทำสารคดีในเรื่องนี้ 2 ตอน ระยะเวลาของแต่ละตอน 22 นาที และผมได้ลงใน YouTube สารคดีนี้พูดถึงชีวิตของสุลต่านอับดุลฮามิด ผมสัมภาษณ์อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่สุดในประวัติศาสตร์ของตุรกี 14 ท่าน และการสัมภาษณ์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านมีทรัพย์สินในปาเลสไตน์หรือไม่ครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : สำหรับเรื่องทรัพย์สิน มันเป็นหัวข้อที่ยืดยาว และเป็นประเด็นทางการเมือง และการเจาะลึกเข้าไปในประเด็นนี้จะสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่เรา ความจริง ดินแดนรอบ ๆ เยรูซาเล็มเป็นสมบัติของสุลต่านอับดุลฮามิด และท่านสุลต่านยังมีทรัพย์สินอยู่ในเมืองเคอร์คุกในอิรัก และกอมิชลี และเดรซูร์ ในภาคเหนือของซีเรีย สุลต่านรู้ว่าดินแดนนี้มีน้ำมันและก๊าซ และท่านซื้อโดยไม่แน่ใจว่ามันมีน้ำมันหรือก๊าซหรือไม่ แต่ความรู้สึกเป็นแรงบันดาลใจให้ซื้อมัน และเรามีเอกสารยืนยันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้น และท่านสุลต่านยังมีทรัพย์สินในฉนวนกาซาอีกด้วย
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านสามารถเรียกร้องทรัพย์สินเหล่านั้นคืนมาได้หรือไม่ครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : เราไม่สามารถเรียกร้องได้ แม้แต่ศาลระหว่างประเทศก็ยังไม่สามารถตัดสินได้ เพราะว่า -ด้วยความเสียใจอย่าง- ในช่วงเวลาที่ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี จักรวรรดิออตโตมันก็พ่ายแพ้ในการสู้รบทางทหาร และทำให้ต้องสูญเสียไปบนโต๊ะเจรจา ในขณะที่การดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศ ต้องใช้สำนักงานทนายความใหญ่ๆ จึงจะดำเนินคดีได้
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านได้รับการต้อนรับจากชาวคูเวตอย่างไรบ้างครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : จริง ๆนะครับ ผมรู้สึกประหลาดใจกับการต้อนรับที่ดี และมันก็เป็นความประหลาดใจที่มีเกียรติสำหรับผม ! ผมเห็นความรักอันยิ่งใหญ่ในหัวใจคนมากมาย และผมยังคงจดจำช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรักและความเสน่หาที่เราได้รับ และผมขอแสดงความเคารพต่อประชาชนชาวคูเวตผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ และในอดีตระหว่างผมและกษัตริย์จาบีร – ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน- มีการติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงการบุกของอิรัก ผมส่งจดหมายไปให้แก่พระองค์ บอกว่า ผมเป็นหลานชายของสุลต่านอับดุลฮามิด และบอกว่า ผมเสียใจที่พระองค์ต้องออกจากคูเวต พระองค์ได้ตอบจดหมายของผมด้วยดี และผมยังคงเก็บไว้จนถึงตอนนี้

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านต้นฉบับ
http://mugtama.com/reports/item/97442-2020-01-06-06-19-00.html?fbclid=IwAR2WZJRl_3xiallr530mr9HcMxTSB4hoFtOmzr3jKDHOObILcWUdiQcMKaU

เรื่องเล่าชายแดนใต้ (1)

ผมเกิดที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อไอกูบูหมู่ที่ 1 ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ติดถนนจารุเสถียร ห่างจากเมืองนราธิวาสไปทางสุไหงปาดีประมาณ 40 กม. ในอดีตหมู่ที่ 1 ประกอบด้วย 3 หมู่บ้านคือตลิ่งสูง ไอกูบูและป่าหวาย

อาจเป็นเพราะไอกูบูตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสองหมู่บ้าน ทำให้ทางการเลือกแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านที่มาจากหมู่บ้านไอกูบู โดยมีคุณตาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปัจจุบันทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แยกส่วนบริหารต่างหากแล้ว

ไอกูบูมีประชากรมุสลิม 100 % แต่มีช่วงหนึ่งที่บริษัทโรงโม่หินจากสุไหงโกลก มาตั้งบริษัทระเบิดหิน ซึ่งห่างจากบ้านผมไม่ถึง 100 เมตร ผมจึงโชคดีที่ได้ยินเสียงระเบิดหินจากภูเขาหลังบ้านดังตูมตามวันละ 2 ครั้ง ทั้งเที่ยงและเย็นมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งสะเก็ดหินได้ตกมาหน้าบ้านพอทำให้ตกใจเล่น ส่วนเสียงโม่หินจากโรงงานนั้น ก็ได้สร้างสีสันดังครึกโครมทั้งวัน หากวันไหนโรงงานหยุด จะรู้สึกเงียบเหงาชอบกล ราวกับว่าใช้ชีวิตบนโลกอีกใบ

ครอบครัวผมและเพื่อนบ้าน จึงได้รับมลพิษทางเสียง อากาศและสภาพจิตใจนานเกือบ 30 ปีจนกระทั่งบริษัทเลิกกิจการไป เพราะไม่มีหินให้ระเบิด

ตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีชาวบ้านเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่เป็นลูกจ้างบริษัทนี้ คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่มาจากภาคใต้ตอนบนกว่า 10 ครอบครัว บางครอบครัวมาจากอีสาน

บ้านป่าหวายในอดีต มีชาวพุทธอาศัยเกือบ 100% ส่วนบ้านตลิ่งสูงเป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรมโดยแท้จริง เพราะมีมุสลิมและพุทธอาศัยอยู่ในอัตราส่วน 80 : 20 ชาวพุทธที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านนี้ จึงสามารถพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้คล่องแคล่ว บางคนมีชื่ออิสลามที่ชาวบ้านตั้งให้ เช่น เจ๊ะดือราแม เจ๊ะเต๊ะ เป็นต้น

เจ๊ะดือราแม เป็นชาวตลิ่งสูงโดยกำเนิดจึงสามารถพูดมลายูได้ดี ส่วนเจ๊ะเต๊ะ มีบ้านเกิดที่ป่าหวาย พูดมลายูไม่ได้แต่ฟังมลายูรู้เรื่อง ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทของคุณพ่อที่พูดไทยไม่ได้ แต่ฟังคนแหลงใต้รู้เรื่อง

ผมยังจำได้ว่าทุกครั้งที่ 3 เกลอนี้เจอกันซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แคร่หน้าบ้านเป็นที่นัดพบ ผมจะได้ยินเสียงภาษาสนทนาที่แปลกประหลาดมาก คนหนึ่งพูดมลายูท้องถิ่นในฐานะเจ้าภาพ อีกคนแหลงใต้เสียงดังฟังชัด และอีกคนพูดมลายูท้องถิ่นสำเนียงใต้

ยิ่งบางวันที่ สองเกลอต่างถิ่น นัดขี่จักรยานมาชวนคุยหน้าบ้านในสภาพที่ทั้งสองหน้าแดงก่ำพร้อมกลิ่นเหล้าฟุ้งกระจาย บรรยากาศก็จะเก๋ไก๋ไปอีกแบบ

ผมจึงมีโอกาสซึมซับบรรยากาศความผูกพันของสหายรักต่างศาสนิกตั้งแต่เยาว์วัย

ทั้ง 3 หมู่บ้านนี้มีโรงเรียนประถมที่สร้างขึ้น ณ ที่ดินที่อยู่ระหว่างหมู่บ้านไอกูบูกับหมู่บ้านตลิ่งสูง โดยที่ดินของโรงเรียนอยู่ในเขตหมู่บ้านตลิ่งสูงจึงตั้งชื่อว่าโรงเรียนบ้านตลิ่งสูง อยู่ใกล้บ้านประมาณ 800 ม.

ผมเรียนระดับประถม ป.1 ถึง ป.4 ที่โรงเรียนแห่งนี้ สมัยนั้นมีครูวิบูลย์ บุญรอด เป็นครูใหญ่ (ชาวบ้านเรียกติดปากว่าครูแดง มีภรรยาเป็นครูเช่นกัน ชาวบ้านเรียกว่าครูแมะแย) ทั้งสองพูดภาษามลายูได้คล่องแคล่ว และค่อนข้างสนิทสนมกับคุณพ่อเช่นกัน

ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.4 ทุกครั้งที่เปิดเรียนวันแรก คุณพ่อจะต้องลางานประจำคือกรีดยาง เพราะต้องจูงผมไปห้องเรียนแต่เช้าและคุยกับครูประจำชั้นว่า ขอเลือกที่นั่งให้ลูกชายนั่งข้างหน้าสุดและขอให้มีเพื่อนที่เป็นเด็กพุทธนั่งข้างๆ ด้วย ผมจึงนั่งติดกับเด็กชายสมนึก ลินิน (เพื่อนๆเรียกไอ้หมึก) จากบ้านตลิ่งสูง จนกระทั่งจบป. 4 จำได้ว่าตลอดการเรียน เราผลัดกันได้ที่ 1 ที่ 2 ของห้องมาโดยตลอด

ครั้งหนึ่ง ช่วงเรียน ป.4 ผมได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักเรียนแข่งขันประจำอำเภออ่านบทร้อยกรองทำนองเสนาะ เรื่องรามเกียรติ์ โดยสามารถเอาชนะไอ้หมีกได้ ทั้งๆที่ในโรงเรียนมีครูที่มีนามสกุลลินินกันหลายคน

ท่อนที่ว่า บัดนั้น พระยาพิเภกยักษี เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี …….ทั้งท่อน ผมจึงสามารถท่องขึ้นใจจนกระทั่งปัจจุบัน

ผมจึงมีโอกาสพูดคุยและสนทนาโดยใช้ภาษาไทยมากกว่าเพื่อนๆในห้อง ซึ่งถือเป็นผลพวงของยุทธศาสตร์อันเเยบยลของคุณพ่อนั่นเอง

ในอดีต ขณะที่สังคมยังไม่รู้จักคำว่าพหุวัฒนธรรม สังคมสมานฉันท์และเอื้อ อาทร แต่วิถีชีวิตของเราได้กลมกล่อมจนซึมซับความหมายเหล่านั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตโดยไม่รู้ตัว

แต่ทุกอย่างได้ผันแปรไปตามกาลเวลา คำว่าสังคมพหุวัฒนธรรมนำสันติสุข เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกกล่าวถึงในเวทีสัมมนาที่เมืองกรุงหรือที่รีสอร์ทตามชายหาดเท่านั้น

เราอาจทะเลาะ จนถึงขั้นชกต่อยกันบ้างตามประสาเด็กๆในวัยเรียน แต่พรุ่งนี้ เราก็กอดคอเล่นเป่ายางเส้นกันเช่นปกติ เหมือนไม่เคยมีเรื่องบาดหมางเกิดขึ้นมาก่อน

เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง ได้รับการบ่มเพาะอย่างกว้างขวาง ที่นับวัน ยิ่งแตกกิ่งก้านขยายผลอย่างน่ากลัว

จากเพื่อนบ้านเรือนเคียงที่ใช้ชีวิตอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและยิ้มแย้มถามไถ่ระหว่างกัน บัดนี้อุดมด้วยความหวาดระแวงและลอบทำร้าย จนกระทั่ง ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า บางฝ่ายกำลังจงใจจุดไฟด้วยการสร้างข่าวลือ ข่าวเท็จ ปลุกปั่น ปั้นน้ำเป็นตัวด้วยความอคติและอวิชา บาดแผลที่ไหลรินอย่างยาวนานอยู่แล้ว กลับถูกซ้ำเติมอย่างไร้จรรยาบรรณที่สุด

ถึงกระนั้นก็ตาม ผมจะไม่มีวันลืมบรรยากาศเก่าๆอันสวยงามที่เคยสัมผัสในวัยเด็ก และหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า สักวันมันจะหวนกลับมาอีกครั้ง

ยกเว้นเสียงระเบิดของโรงโม่หินหลังบ้าน

พร้อมนี้ ใคร่เชิญชวนพี่น้องร่วมรับฟังอนาชีด Airkubu : Desaku tercinta ที่อธิบายถึงการเติบโตของเยาวชนไอกูบู ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติ การถ้อยทีถ้อยอาศัยและความสามัคคีของชาวบ้าน จนเกิดชุมชนสันติสุขและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

อันดาลูส : อาณาจักรที่สูญหาย

ในตอนปลายคริศตศตวรรษที่ 8 สเปนเป็นแหล่งความเจริญและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุโรปนานนับเป็นศตวรรษ การค้าขายกับโลกภายนอกของสเปนในเวลานั้นไม่มีชาติใดในโลกสามารถมาแข่งขันได้ และในช่วงเวลาแห่งการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจนี้เอง ชาวยิวที่ถูกชาวคริสเตียนกดขี่ขับไล่ออกไปจากคาบสมุทรแห่งนี้ในศตวรรษที่ 7 ได้กลับมามีโอกาสเติบโตและเจริญมั่งคั่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

อันดาลูส (เป็นภาษาอาหรับที่ถูกใช้เรียกสเปน) เจริญรุ่งเรืองไม่เพียงแต่เฉพาะในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศูนย์กลางทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม บทกวีและศิลปะอันยิ่งใหญ่อีกด้วย ขณะที่มุสลิมกำลังรุ่งเรืองอยู่ในเสปนเวลานั้น ยุโรปส่วนใหญ่ยังคงอยู่ใน “ยุคมืด” แต่เป็นเพราะอันดาลูสนี้เองที่ความรู้ของมุสลิมได้ผ่านเข้าไปยังยุโรปและทำให้ยุโรปเกิดยุค “ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (เรอเนซองส์) ขึ้นมา
ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของอิสลามในขณะที่รุ่งเรืองอยู่ในสเปนเป็นเวลาหลายศตวรรษนั้นก็คือ ความใจกว้างที่มีต่อชาวยิวและชาวคริสเตียนของมุสลิม ชาวยิวและชาวคริสเตียนทั้งหมดที่ยอมรับมุสลิมเป็นผู้ปกครองประเทศจะได้รับอนุญาตให้ถือครองทรัพย์สินของตนและมีเสรีภาพในความเชื่อและการปฏิบัติศาสนาของตน

การปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาไม่เพียงแต่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จในโลกหน้าเท่านั้น แต่ยังได้รับความสำเร็จในโลกนี้ด้วย

มุสลิมเข้าไปในสเปนครั้งแรกเมื่อแม่ทัพมุสลิมที่มีชื่อว่าฏอรีค บินซิยาดได้นำกองทหารจำนวน 30,000 คน ไปขึ้นบุกที่นั่นใน ค.ศ. 711 บริเวณที่ตารีคนำกองทัพเรือไปขึ้นบุกนั้น เป็นแนวโขดหินยาวซึ่งหลังจากนั้นได้ถูกเรียกว่า “ญะบัลฏอรีค” (ภูผาฏอรีค) ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกเพี้ยนเป็น “ญิบรอลตา” มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว ฏอรีคได้สั่งทหารของเขาให้เผาเรือทิ้งทั้งหมดเพื่อเป็นการยืนยันว่าต่อไปนี้ ถ้าไม่ชนะก็ตาย จะไม่มีการถอยหนีลงทะเล หลังจากนั้นทหารมุสลิมก็ได้บุกเข้ายึดอำนาจจากพวกวิซิโกธที่ก่อนหน้านี้ได้เข้ามายึดอำนาจไปจากพวกโรมัน ใน ค.ศ. 715 กองทัพมุสลิมได้ข้ามภูเขาพีเรนีสและสามารถควบคุมพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ถึง 4 ล้านคนได้ ภายในเวลาเพียง 7 ปี ดินแดนสี่ในห้าส่วนของคาบสมุทรสเปนก็ถูกพิชิตและการปกครองโดยเคาะลีฟะฮก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นในเสปน ดังนั้น ใน ค.ศ. 733 กองทัพของฝ่ายคริสเตียนจึงได้สกัดกั้นมุสลิมมิให้ขยายตัวลึกเข้าไปในยุโรปมากกว่านั้นอีก ในตอนต้นศตวรรษที่ 9 มีคนท้องถิ่นในสเปนจำนวนมากมายได้หันมาเข้ารับอิสลาม โดยเฉพาะพวกทาสที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งมุสลิมก็พิชิตแคว้นซินด์ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศปากีสถานได้ นั่นหมายความว่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 150 ปี อิสลามซึ่งเริ่มต้นจากขบวนการเล็กๆ ของชาวอาหรับทะเลทรายเพียงหยิบมือหนึ่งได้ขยายตัวออกไปกลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นก็เพราะว่ามุสลิมในเวลานั้นเป็นคนที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา เจตนาเบื้องแรกของพวกเขาในขณะที่ทำการต่อสู้ก็คือการเผยแผ่อิสลาม มิใช่การแสวงหาทรัพย์สินและทรัพย์เชลย ไม่ว่าคนเหล่านี้จะไปที่ไหนก็ตาม พวกเขาจะสร้างระบบสังคมที่วางพื้นฐานอยู่บนความยุติธรรมขึ้นมาแทนระบบทรราชที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ผู้คนในดินแดนที่มุสลิมเข้าไปปกครองนั้น มีเสรีภาพที่จะเลือกนับถืออิสลามหรือปฏิบัติตามศาสนาเดิมของตนต่อไป หากเลือกที่จะนับถือศาสนาเดิม คนเหล่านั้นก็จะต้องจ่ายภาษี “ญิซยะฮ์” ที่ทำให้พวกเขาได้รับการยกเว้นจากการเป็นทหาร แต่ผู้คนจำนวนมากได้หันมาเข้ารับอิสลามก็เพราะได้เห็นลักษณะและความประพฤติของมุสลิมที่เข้ามาปกครองพวกตน เช่น การปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระ เป็นต้น นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา เมืองหลวงของรัฐเคาะลีฟะฮฺอันดาลูสก็คือเมืองคอร์โดบา ซึ่งมีประชากร 600,000 คน มีอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 200,000 หลัง มัสยิด 1,500 แห่ง และห้องอาบน้ำสาธารณะประมาณ 1,000 แห่ง ในห้องสมุดของเมืองมีเอกสารและบันทึกต่างๆ กว่าครึ่งล้านชุด ศูนย์กลางของเมืองมีระบบลำคลองที่เชื่อมกันและในตอนกลางคืนแม้แต่ถนนที่แย่ที่สุดก็ยังมีแสงสว่าง

กล่าวโดยสั้นๆ เมืองนี้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างที่ไม่สามารถพบได้ในเมืองต่างๆของยุโรปในเวลานั้น แม้แต่กษัตริย์คริสเตียนหลายคนก็ยังส่งลูกหลานของตนมาศึกษาในอันดาลูส ทั้งนี้ เนื่องจากที่นี่มีมหาวิทยาลัยดีๆ หลายแห่ง และภาษาอาหรับเป็นภาษาสำคัญของโลก แต่ปัจจุบันสภาพการณ์กลับตรงกันข้าม หลายเมืองในประเทศมุสลิมกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมหรือที่เรียกว่าสลัมและไม่มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผู้คนได้รับความเดือดร้อนจากความยากจน สงคราม โรคภัยไข้เจ็บและด้อยการศึกษา รัฐมุสลิมที่ปกครองโดยระบบเคาะลีฟะฮฺในสเปนล่มสลายลงใน ค.ศ. 1492 เมื่อเมืองแกรนาดาถูกพิชิตโดยกษัตริย์เฟอร์ดินานด์และราชินีอิซาเบลลา กษัตริย์และราชินีคู่นี้คือผู้ปกครองที่ให้เรือ 3 ลำแก่โคลัมบัสไปเริ่มต้นการล่าอาณานิคม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการค้าทาสในอเมริกา มุสลิมและชาวยิวที่หลงเหลืออยู่ในตอนนั้นมีทางเลือกสามทาง นั่นคือ (1) หากจะนับถือศาสนาของตนต่อไปก็ต้องออกไปจากประเทศ (2) หันมารับนับถือศาสนาคริสต์ และ (3) ถูกฆ่า เหตุผลดังกล่าวมาทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะวิเคราะห์ว่าทำไมหลังศตวรรษที่ 8 มุสลิมจึงได้เสียยุโรปตะวันตกให้แก่ชาติคริสเตียน นั่นก็เพราะว่าพวกเขาไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติ ดังนั้น จากความมั่งคั่งรุ่งเรืองจึงได้กลายเป็นความเสื่อมสลาย อันดาลูสได้แตกออกเป็นรัฐเล็กๆที่ต่อสู้กันเอง บางครั้งถึงขนาดที่ว่าพวกเขาได้เอาทหารต่างชาติต่างศาสนิกมาเป็นผู้ช่วยในการต่อสู้กันเองก็มี

บทเรียนสำคัญที่เราได้จากประสบการณ์ของอันดาลูสก็คือการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาไม่เพียงแต่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จในโลกหน้าเท่านั้น แต่ยังได้รับความสำเร็จในโลกนี้ด้วย และเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ละทิ้งหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของศาสนา ความหายนะก็จะติดตามมาในไม่ช้า

บทความโดย อาจารย์บรรจง บินกาซัน ประธานโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม มูลนิธิสันติชน

อ้างอิง : http://oknation.nationtv.tv/blog/knowislam/2008/06/05/entry-2

อันดาลูเซีย อัญมณีที่สาปสูญ ตอนที่ 5

เรื่องราวของมูฮัมมัดน้อย ความเจ็บปวดที่สะท้อนความโหดร้ายของศาลศาสนาแห่งสเปนในยุคกลาง

เชคอาลี ฏอนฏอวีย์ ได้เล่าเหตุการณ์ที่เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงการบังคับขู่เข็ญของมุสลิมในอันดาลูเซีย และการยึดมั่นในอิสลามท่ามกลางการตรวจสอบอันเข้มงวดของศาลศาสนาโดยยกกรณีของมูฮัมมัดน้อยที่เล่าถึงตนเองว่า

ขณะที่ฉันกำลังเรียนในระดับประถมศึกษา ฉันสามารถท่องจำเนื้อหาบางส่วนของคัมภีร์ไบเบิ้ล และทุกครั้งที่ฉันกลับบ้าน ฉันจึงอ่านให้พ่อแม่ฟัง แต่แทนที่ทั้งสองจะดีใจ ฉันสังเกตว่าทั้งสองท่านมีใบหน้าที่เศร้าหมองราวคนอมทุกข์ ทุกเช้าที่ฉันไปโรงเรียนกับครูคริสต์ที่มารับที่บ้าน แม่จะโอบกอดฉันราวกับว่าจะจากกันอย่างยาวนาน บางครั้งฉันสังเกตเห็นน้ำตาไหลอาบแก้มแม่ที่ส่งยิ้มให้ฉัน เมื่อฉันกลับบ้าน แม่ก็จะโผกอดฉันด้วยความดีใจ
เมื่ออยู่ในบ้าน บ่อยครั้งที่ฉันเห็นคุณพ่อแอบเข้าไปในห้องลับท้ายบ้าน ที่ท่านไม่อนญาตให้ใครๆเข้าหรือเพ่นพ่านบริเวณนั้นโดยเด็ดขาด ทุกครั้งที่พ่อออกจากห้องนั้น ฉันเห็นดวงตาของท่านแดงก่ำเหมือนเพิ่งหยุดร้องไห้อย่างหนัก
บ่อยครั้งที่ฉันเห็นพ่อแม่แอบคุยซุบซิบกันด้วยภาษาที่ฉันไม่เข้าใจ แต่เมื่อฉันเข้าใกล้ ทั้งสองก็จะจบการสนทนาอย่างดื้อๆ และพูดภาษาสเปนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางครั้งฉันร้องไห้คนเดียวด้วยความน้อยใจ พลางคิดเรื่อยเปื่อยว่า ฉันเป็นลูกแท้ๆของพ่อแม่หรือไม่ รึว่าฉันเป็นเพียงเด็กข้างถนนที่ทั้งสองพบเจอและอุปการะเลี้ยงดูเท่านั้น
ฉันไม่ค่อยเล่นกับเพื่อนๆร่วมวัยเดียวกัน ฉันเริ่มมีโลกส่วนตัวที่ไม่ค่อยสนุกสนานเหมือนเด็กๆทั่วไป
วันหนึ่ง เมื่อถึงวันอีสเตอร์ (วันสำคัญทางศาสนาคริสต์ที่เชื่อกันว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพใหม่หลังจากถูกตรึงที่ไม้กางเขน 3 วัน) พ่อแม่ของฉันก็มีข้ออ้างเป็นประจำที่จะไม่เข้าร่วมเทศกาลนี้ พอตกกลางคืน ขณะที่ผู้คนร่วมพิธีในโบสถ์ ที่บ้านมีฉัน กับพ่อและแม่ เมื่อถึงช่วงเที่ยงคืน พ่อเรียกฉันเข้าไปในห้องลับส่วนตัวของเขา เมื่อเราเข้าไป พ่อรีบใส่กลอนปิดประตูอย่างแน่นหนา ห้องมืดสนิท พ่อจุดตะเกียงเล็กๆ ฉันไม่พบสิ่งใดในห้องนี้ยกเว้นหนังสือเล่มหนึ่งที่วางไว้บนหมอนอย่างดี ข้างฝามีดาบแขวนไว้ 1 เล่ม ฉันเห็นพ่อมองฉันด้วยสายตาที่อ่อนโยน พ่อกอดฉันอย่างแน่น จากนั้นพ่อพูดด้วยเสียงที่สั่นเครือว่า ลูกรัก บัดนี้เจ้าอายุ 10 ปีแล้ว หวังว่าเจ้าสามารถรักษาความลับได้ เจ้าสัญญากับพ่อไหมว่า ความลับที่พ่อจะบอกนี้ เจ้าห้ามไปเปิดเผยให้ใครก็ตามไม่ว่าแม่ ญาติสนิทหรือเพื่อนคนไหนก็ตาม ฉันรับปากทันที พ่อบอกอีกว่า หากความลับนี้ถูกเปิดเผยเมื่อไหร่ สมาชิกในครอบครัวเราทุกคนจะถูกตัดสินโดยศาลศาสนาทันที
พลันที่ฉันได้ยินคำว่าศาลศาสนา ฉันขนลุกด้วยความหวาดกลัวสุดขีด ทั้งๆที่ฉันไม่เคยถูกลงโทษจากศาลศาสนานี้ แต่ฉันพบเห็นผู้คนที่ถูกศาลศาสนาจับทรมานแทบทุกวัน บางคนถูกเผาทั้งเป็น ท่ามกลางผู้คนในเวลากลางวันแสกๆ นับสิบๆ คน บ้างก็ถูกฉีกร่างด้วยกรรมวิธีอันน่าสยดสยอง โดยที่ไม่เคยรับรู้ว่าพวกเขาทำผิดอะไร
ผู้คนจึงพากันหวาดกลัวศาลศาสนานี้มาก
ฉันจึงให้สัญญามั่นกับพ่อว่าฉันจะเก็บความลับนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
พ่อจึงหยิบหนังสือเล่มนั้นมาเปิดให้ฉันอ่าน ฉันอ่านไม่ได้สักตัว พ่อบอกว่านี่แหละอัลกุรอาน ที่พระเจ้าประทานแก่นบีคนสุดท้ายนบีมุฮัมมัด พร้อมคำสอนที่เรียกว่าอิสลาม เป็นศาสนาที่ประกาศเอกภาพของอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาในดินแดนอันดาลูเซีย โบสถ์อันใหญ่โต คือมัสยิดในอดีต ราชวังและอาคารอันสวยงามที่ลูกเห็นทั่วเมืองคือผลงานของมุสลิมทั้งสิ้น มุสลิมได้สร้างอารยธรรมและความเจริญของเมืองนี้ แต่บัดนี้กลายเป็นสมบัติของผู้ปฏิเสธศรัทธา
จากนั้นฉันจึงเรียนรู้ภาษาอัลกุรอาน และหลักปฏิบัติอิสลามจากพ่อในห้องลับนี้
ในช่วงนี้ แม่คอยซักถามฉันว่า พ่อบอกอะไรให้ฉันบ้าง ฉันตอบว่าไม่ได้สอนอะไร น้าและอาฉันก็รบเร้าถามฉันเช่นกัน แต่ฉันก็ตอบว่าพ่อไม่ได้สอนอะไรฉันเลย
คุณพ่อสอนฉันทั้งภาษาอาหรับ อัลกุรอานในห้องมืดนี้ จนกระทั่งฉันเข้าใจหลักการเบื้องต้นในอิสลาม
กระทั่งวันหนึ่งพ่อได้เรียกฉัน และกระซิบบอกว่า ถึงเวลาที่เราจะจากกันแล้ว พ่อรู้สึกว่าเวลาของพ่อมีไม่มากนัก และพ่อพร้อมกลับสู่อัลลอฮฺในฐานะชะฮีด ที่พ่อปกปิดความลับตลอดระยะเวลา 40 ปีนี้ ไม่ได้หมายความว่าพ่อกลัวแต่อย่างใด แต่พ่อเฝ้ารอโอกาสที่จะส่งต่ออิสลามให้กับลูก และบัดนี้พ่อมั่นใจว่า เจ้าสามารถปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว และเจ้าสามารถรักษาความลับได้อย่างดีเยี่ยม
อีกไม่นาน อาของลูกจะมารับลูกอพยพไปที่เมืองใหม่ จงเชื่อฟังเขาและอพยพไปกับเขาเถอะ อย่าห่วงพ่อกับแม่เลย
ค่ำคืนหนึ่ง อามารับฉันที่บ้าน และพาฉันหนีออกจากหมู่บ้าน ข้ามทะเล ใช้ชีวิตใหม่ที่ตูนีเซีย ระหว่างทางฉันพร่ำเรียกพ่อแม่และไม่ยอมตามคุณอา แต่อาบอกว่า พ่อเจ้าให้เชื่อฟังข้าคนเดียวมิใช่หรือ บัดนี้พ่อแม่ของเจ้าคงมีความสุขในสวนสวรรค์ตามที่เขาใฝ่ฝัน ด้วยผลงานของศาลศาสนาแล้วล่ะ
ฉันอพยพไปตูนีเซียและเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ที่นั่น

หนูน้อยมูฮัมมัดใช้ชีวิตด้วยการศึกษาอิสลาม
ต่อมาเด็กคนนี้ได้กลายเป็นอุละมาอฺที่ยิ่งใหญ่ในมัซฮับมาลิกีย์ ชื่อ
الشيخ العلامة محمد بن الرفيع الأندلسي
เสียชีวิตปีฮ.ศ. 1055
رحمه الله رحمة واسعة وغفر له وأسكنه في فسيح جناته

เขียนโดย Mazlan Mahama

อันดาลูเซีย อัญมณีที่สาปสูญ ตอนที่ 4

4.เกิดความแตกแยกระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง
หลังจากที่อันดาลูเซียอยู่ภายใต้การปกครองของเคาะลีฟะฮ์เพียงคนเดียวที่มีความเป็นปึกแผ่นและเอกภาพ พวกเขาก็พร้อมใจกันแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ จนกระทั่งได้แยกเป็นแว่นแคว้นน้อยใหญ่ถึง 27 รัฐด้วยกัน (Taifa Kingdoms) แต่ละรัฐมีเขตการปกครองของตนเอง หนำซ้ำยังรบราฆ่าฟันระหว่างกัน ก้าวร้าวเมื่ออยู่กับพี่น้องผู้ศรัทธา แต่อ้อนน้อมถ่อมตนยามเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู
อิบนุหัซมิ หนึ่งในอุลามาอฺนามอุโฆษชาวอันดาลูเซียบรรยายปรากฏการณ์อันน่าเศร้าหมองนี้ว่า ” ด้วยนามของอัลลอฮ์ หากการก้มกราบบูชาไม้กางเขนทำให้สามารถบันดาลตามความต้องการแล้ว พวกเขาจะต้องทำมันอย่างไม่ต้องสงสัย พวกเขาพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวคริสเตียนเพื่อปราบปรามคู่อริของพวกเขาที่เป็นมุสลิมด้วยกัน ขอให้อัลลอฮ์สาปแช่งพวกเขา และทำให้พวกเขาตกอยู่ในอำนาจของศัตรูในที่สุด
ท่ามกลางความแตกแยกของชาวมุสลิม แต่คริสตชนทั่วยุโรปต่างก็ผนึกกำลังทำสงครามครั่งยิ่งใหญ่ที่พวกเขาเรียกว่า “Reconquista” หรือสงครามทวงคืนดินแดน จนกระทั่ง 2 อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ได้ผนึกรวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน หลังการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์เฟอร์ดินานแห่งอาณาจักรอารากอน กับพระราชินีอิสซาเบลล่าแห่งอาณาจักรคาสตีลล์ จนกระทั่งทั้ง 2 พระองค์ได้เป็นแกนนำกองทัพคริสเตียนบุกล้อมกองทัพมุสลิมจนกระทั่งสามารถยึดเมืองกรานาดาซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมได้สำเร็จเมื่อปี คศ.1492
เหล่ากษัตริย์และบรรดาขุนนางทำสงครามเพื่อปกป้องราชบังลังค์มากกว่าการปกป้องและเผยแพร่อิสลาม จนกล่าวกันว่าจอมทัพมันศูร บิน อะบีอามิร เคยชนะสงคราม 57 ครั้ง ซึ่งล้วนเป็นชัยชนะเพื่อปกป้องราชบังลังค์ที่มีการแย่งชิงระหว่างมุสลิมด้วยกัน แทนที่จะเป็นชัยชนะต่อศัตรูผู้คุกคาม
อัลกุรอานได้กำชับให้มุสลิมรวมเป็นหนึ่งภายใต้ผู้นำคนเดียว ดังที่อัลกุรอานกล่าวความว่า
” และจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และเราะซูลของพระองค์เถิดและจงอย่าขัดแย้งกันเพราะจะทำให้พวกเจ้าพ่ายแพ้และทำให้ความเข้มแข็งของพวกเจ้าหมดไป และจงอดทนเถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอยู่กับผู้ที่อดทน “(อัลอันฟาล ,8 :46)
คำดำรัสของพระองค์ เป็นจริงเสมอ

(ต่อ….)

ตอนที่ 5 > https://www.theustaz.com/?p=411

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ