Menepuk air di dulang, terpencik muka sendiri

منڤوق اير ددولڠ، ترڤنچيق موك سنديري

“Menepuk air di dulang, terpencik muka sendiri”

สุภาษิตมลายูท่อนนี้ แปลตามตรงคือ “ ตบน้ำในถาด น้ำจะกระเซ็นใส่หน้าตนเอง”

เพื่อให้บทเรียนแก่คนที่ชอบเปิดโปงความชั่วร้ายของคนอื่น สุดท้ายตัวเองกลับทำสิ่งชั่วร้ายนั้นเช่นกัน หรือเป็นประโยคที่สะกิดใจคนที่กระทำสิ่งที่สร้างความอับอายให้แก่ตนเอง

ประโยคนี้ใช้ได้กับคนที่ทำชั่ว สุดท้ายเขาได้รับผลกระทบจากการกระทำชั่วของเขาเอง

บางบริบทก็ใช้กับคนที่ชอบเล่าเรื่องที่ไม่ดีของตนเองหรือคนในครอบครัวให้คนอื่นฟัง สุดท้ายตัวเองที่ได้รับความอับอาย

สำนวนไทยเท่าที่นึกออกคือสุภาษิตที่ว่า

“ ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง “

หรือพี่น้องมีสำนวนอื่น เชิญแลกเปลี่ยนได้ครับ

🙂 🙂 🙂


โดย Mazlan Muhammad

การสังหารหมู่อำเภอชาเตียน ที่มาของชะฮีด 1,600 ชีวิต

.

นับแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนเกือบสิ้นศตวรรษที่ 20 นับเป็นกลียุคของแผ่นดินจีน ด้วยปัญหานานัปการที่รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอภายในราชสำนัก ภัยคุกคามจากต่างชาติ อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ตลอดจนการแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ในหมู่ผู้มีอำนาจ ยังความระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่มณฑลยูนนาน หรือ หยวินหนาน (云南) ที่อยู่ชิดติดพรมแดนอุษาคเนย์

.

แม้เมื่อจีนรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 เคราะห์กรรมของพี่น้องชาวจีนก็ยังไม่หมดสิ้นเพียงเท่านั้น เนื่องจากการขึ้นสู่อำนาจของ “แก๊ง 4 คน” ซึ่งมีแนวคิดซ้ายตกขอบในปี ค.ศ.1966 ทำให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมโค่นล้างวัฒนธรรมประเพณีเก่าอยู่นานนับสิบปี มีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของคนเหล่านี้อย่างเหลือคณานับ

.

มีอยู่หนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติ คือการสังหารหมู่ที่อำเภอชาเตียนในปี ค.ศ.1975

.

.

ชาเตียน (沙甸) เป็นอำเภอหนึ่งในมณฑลยูนนาน ขึ้นกับเมืองเก้อจิ้ว (个旧) จังหวัดหงเหอ (红河) ประชาชนเกือบทั้งหมดเป็นชนชาติหุย คือมุสลิมที่มีเชื้อสายและวัฒนธรรมแบบจีนตามนิยามของรัฐบาลจีนแดง

.

ในยุคที่ “แก๊ง 4 คน” เรืองอำนาจ ศาสนาทั้งหมดถูกตราหน้าในฐานะยาเสพติดที่มอมเมาประชาชน ถ่วงรั้งความก้าวหน้าของชาติ รัฐจึงใช้อำนาจในการกำจัดศาสนา บีบคั้นให้ผู้คนสมาทานความเชื่อแบบลัทธิเหมาแทน

.

อำเภอชาเตียนได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากนโยบายดังกล่าว มัสยิดทุกแห่งถูกสั่งปิด ประชาชนไม่มีสิทธิ์ละหมาด อัลกุรอานถูกเผาทิ้ง มิหนำซ้ำชาวหุยจำนวนมากยังถูกบีบบังคับให้กินเนื้อหมู มีรายงานว่ามัสยิดแห่งหนึ่งถูกใช้เป็นโรงเชือดหมู กระดูกหมูที่ถูกเชือดแล้วก็โยนทิ้งลงบ่อน้ำที่ใช้สำหรับอาบน้ำละหมาด

.

นั่นเป็นพฤติกรรมที่ชาวอำเภอชาเตียนยากจะยอมรับ ในปี ค.ศ.1974 ชาวหุยในชาเตียนและพื้นที่ข้างเคียงรวม 1,000 คนจึงขึ้นรถไฟไปปักกิ่งเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหายังคงยืดเยื้อต่อไป

.

ปลายปีเดียวกัน ชาวหุยมากกว่า 800 คนเดินทางไปยังนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาในรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้น พวกเขาได้จัดตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อคุ้มกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย

.

ท่าทีที่แข็งกร้าวของกองกำลังชาวหุยสร้างความหวาดระแวงแก่รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง คำเรียกร้องเหล่านั้นไม่เพียงได้รับการเมินเฉยแทนคำตอบ หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมองว่านั่นคือการแข็งข้อต่อระบอบการปกครอง

.

กรกฎาคม ค.ศ.1975 ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก ประธานเหมา เจ๋อตง ลงนามมอบฉันทะให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ให้เข้าปราบปรามกองกำลังชาวหุย

.

กองทัพนายทหารที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีนับ 10,000 นาย ยกพลเข้าล้อมอำเภอชาเตียนอย่างแน่นหนาก่อนเช้ามืดวันที่ 29 กรกฎาคม ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านที่มีอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐ

.

หนึ่งสัปดาห์แห่งการต่อสู้ผ่านไปพร้อมกับคราบเลือดและเขม่าปืนที่เพิ่มร่องรอยมากขึ้นทุกขณะ PLA ใช้ทั้งปืน ปืนใหญ่วิถีโค้ง เครื่องพ่นไฟ และระเบิดทางอากาศในการโจมตี เป็นเหตุให้ชาวหุยนับร้อย ๆ คนล้มตาย บ้านเรือนกว่า 4,400 หลังถูกทำลาย ความเสียหายลามไปสู่อำเภอข้างเคียงด้วย

.

รัฐบาลระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 130 คน ในขณะที่บรรดาอิหม่ามหรือผู้นำชาวหุยในชาเตียนประมาณผู้เสียชีวิตไว้ที่ 1,600 คน เป็นเด็ก 300 คน ซึ่งนั่นเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของผู้คนทั้งหมดในอำเภอที่มีอยู่ในเวลานั้น

.

.

ครั้นเมื่อประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปีถัดมา แก๊ง 4 คนก็พลอยหมดอำนาจ ทั้ง 4 ถูกจับกุมและพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนคนใหม่เร่งดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายและออกแถลงขอโทษพี่น้องหุยในอำเภอชาเตียนอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 พร้อมทั้งประณามเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นว่า “เป็นการกระทำที่เลวร้ายและรุนแรงที่สุดในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม”

.

ตั้งแต่นั้นมา ชาเตียนก็ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐ กองทัพหน่วยที่เคยทำลายได้รับคำสั่งให้กลับมาสร้างเมืองนี้ใหม่ พร้อม ๆ กับที่เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นเปิดประเทศ รัฐบาลได้เอื้อให้ธุรกิจของอำเภอชาเตียนเข้าถึงตลาดมาเลเซียและชาติตะวันออกกลางได้ง่ายดาย ทั้งยังส่งนักเรียนนักศึกษาชาวหุยไปเล่าเรียนภาษาและศาสนาในต่างแดนเป็นจำนวนมาก

.

ส่วนผู้ที่จากไปในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 1975 คนรุ่นหลังและผู้รอดชีวิตได้ยกย่องพวกเขาเป็น “ชะฮีด” หรือผู้พลีชีพเพื่อยืนหยัดความศรัทธาต่ออิสลาม รัฐบาลจีนยุคใหม่สร้างอนุสรณ์สถานเป็นเสาสูง จารึกข้อความฟาติฮะห์ (บทแรกในอัลกุรอาน) เอาไว้เพื่อรำลึกถึงเหล่าชะฮีด ที่ภาษาจีนเรียกทับศัพท์ว่า ชาซีเต๋อ (沙希德)

.

ปัจจุบัน ชาเตียนมีชื่อเสียงในฐานะเมืองท่องเที่ยวเชิงฮาลาล สิ่งปลูกสร้างหลังใหญ่สุดของที่นี่คือ มัสยิดกลางชาเตียน (沙甸大清真寺) อันโดดเด่นเป็นสง่าด้วยยอดโดมสีเขียวและหออะซาน 4 มุมซึ่งประยุกต์มาจากมัสยิดอันนะบะวีย์ซึ่งเป็นที่ฝังศพศาสดามุฮัมมัดในนครมะดีนะฮ์ มีความจุมากถึง 10,000 คน เป็นมัสยิดที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน

.

อย่างไรก็ดี อดีตที่เคยเกิดขึ้นก็ไม่มีวันลบเลือนได้หมด มัสยิดกลางอันงดงามหลังนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า เป็นอนุสรณ์สถานแห่งการไถ่บาปที่ถือกำเนิดขึ้นบนรอยเลือดและคราบน้ำตาของชาวชาเตียนเอง


เครดิตภาพ @Zhu Yi Qing
เครดิตภาพ @Zhu Yi Qing

เครดิตข้อมูล : Pattadon Kijchainukul

https://www.facebook.com/pattadon.kijchainukul/posts/pfbid025wN6u4hNpoz4wYTgBJNNzt592huFPEKLbMfD1heD4Era39cSwMW4aSzjgaPM9iCBl

การเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มต้นจากการพัฒนาคน (ตอนที่ 2) : โรดแมปการปฏิรูปสังคม

การปฏิรูปสังคมขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิด เจตคติและวัฒนธรรม เท่านั้น

อัลลอฮ์กล่าวว่า

إِنَّ اللَّهَ لَا يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّىٰ يُغَيِّرُوا مَا بِأَنفُسِهِمْ

“แท้จริงอัลลอฮฺจะมิเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง”

การเปลี่ยนแปลงคน หลักๆ แล้วมาจาก

1) การสร้างสวรรค์ในบ้าน การสร้างตัวตนและบุคลิกภาพของลูกๆในครอบครัว

2) การศึกษาจากครูผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นเลิศด้านอุปนิสัย มีคุณธรรมที่ตกผลึกเป็นวิถีชีวิต

ทั้งสองประเด็นนี้ควรเป็นวาระแห่งประชาชาติอิสลามยุคนี้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการ

– ศึกษาชีวิตส่วนตัวของท่านนบี ศอลฯ

– ศึกษาชีวิตส่วนตัวของซอฮาบะฮ์

– ศึกษาชีวิตส่วนตัวของอุลามาอ์ในอดีตและอุลามาอ์ร่วมสมัย

– และเสาะแสวงหาเพื่อศึกษาจากครูผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นเลิศด้านอุปนิสัย มีคุณธรรมที่ตกผลึกเป็นวิถีชีวิต

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี กล่าวว่า

“ข้าพเจ้ายังคงยืนยัน สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงคน ส่วนการเปลี่ยนรัฐบาล จะเกิดขึ้นทันทีที่คนต้องการ”

สิ่งที่ยากที่สุดคือการปรับพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงเจตคติ นิสัยและวัฒนธรรมของปัจเจก

การปฏิรูปสังคมจึงต้องอาศัยเวลา และเภสัชกรสังคมผู้เชี่ยวชาญในการคิดสูตรเยียวยา

การปฏิรูปด้วยการจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ การออกกฎหมายหรือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบใหม่ๆ การโค่นล้ม  เปลี่ยนแปลงรัฐบาล 

จึงเป็นได้แค่เปลี่ยนผู้กัดกินสังคมคนใหม่ หาได้เข้ามาแก้ปัญหาใดๆ ไม่

องค์กร กฏหมาย ระเบียบของนานาประเทศ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ที่มีประสิทธิภาพต่างกันก็เพราะเนื้อแท้ วัฒนธรรมของคนแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน


CR: ผศ.ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด Ghazali Benmad

การเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มต้นจากการพัฒนาคน (ตอนที่ 1) : ความสำคัญ

คนทำงานแก้ปัญหาสังคมมุสลิมมากมายผิดหวังไม่ได้ดังใจ  อุปสรรคจิปาถะ

พยายามมาทุกรูปแบบ ทั้งพัฒนาความรู้การศึกษา ความเชื่อความศรัทธา วางระเบียบกฎเกณฑ์  การพัฒนาด้านประชาสัมพันธ์  ข้อมูลตัวเลข วัตถุเทคโนโลยี  บางครั้งถึงขั้นเปลี่ยนผู้นำตามระบบ  หรือด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร โค่นล้มเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ  ฯลฯ

แต่ทำไมโลกมุสลิมและสังคมมุสลิมจึงยังคงอุดมไปด้วยปัญหา ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ  การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ฯลฯ

วิถีชีวิตคนย้อนแย้งกับคัมภีร์ที่ท่องอยู่ทุกวี่วัน

จริงหรือไม่ที่รูปแบบต่างๆ เหล่านั้นคือกุญแจไขปัญหา ?

เหตุผลคำตอบจากนักวิชาการมากมาย และข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ทุกวี่วันบอกว่า “ไม่จริง”

ความเปลี่ยนแปลงระดับความคิดและเจตคติ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับลึกสุดและสูงสุด

  • ความคิดและเจตคติ เป็นสิ่งที่นบีอิบรอฮีมใช้วัดความเป็นคนดีที่ต้องการ ในขณะเลือกมารดาแห่งประชาชาติ ให้แก่นบีอิสมาแอล
  • ความคิดและเจตคติ เป็นสิ่งที่ท่านอุมัร ใช้วัดความเป็นคนดี ที่ต้องการ ในขณะเลือกคนมาเป็นสะไภ้ในตระกูลคอตต๊อบ

ปราชญ์ระดับกูรูปรมาจารย์ต่างเห็นตรงกัน  “กุญแจ” ไขปัญหาทั้งปวงอยู่ที่ “การพัฒนาคน”  การทำให้คำสอนอิสลามตกผลึกเป็นวิถีชีวิต เป็นลมหายใจ เป็นเลือดเนื้อ เป็นกุรอานเดินได้ เท่านั้น

● อิบนุอะตออิลละห์ อัสสะกันดะรีย์

กล่าวในตำรา “หิกัม-ยอดวิชา” ว่า

“จงฝังกลบตัวตนลงในดินแดนนิรนาม อันต้นไม้ที่ไร้รากหยั่งดินลึกย่อมไม่มีวันงอกงาม”

● อาลี อิซซัต เบโกวิช

ในหนังสือรวมบทความ ” عوائق النهضة الإسلامية  ตัวถ่วงความเจริญของสังคมมุสลิม”  ได้บทสรุปจากการอ่านและวิเคราะห์อัลกุรอานทั้งเล่มว่า

[ ข้าพเจ้าตระหนักแล้วว่า ปัญหาทั้งมวล ทั้งในด้านกฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ครอบงำความคิดของข้าพเจ้าตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าสนับสนุนและยอมรับการปฏิรูปทั่วโลก สามารถแก้ไขได้ด้วยระบบการสร้างคนเท่านั้น  ระบบการสร้างคน เป็นหรือเกือบจะเป็นแกนหลักของทุกสิ่งทุกอย่าง ]

● ซัยยิด กุตบ์

กล่าวใน ตัฟซีร “ฟีซิลาล อัลกุรอาน-ใต้ร่มกุรอาน”ว่า

[ ความจริงแล้ว ทรราชก็แค่ปุถุชนคนหนึ่ง  ไม่มีฤทธิ์เดชอำนาจอะไรแต่อย่างใด เพียงแต่เพราะฝูงชนที่ไร้ศักดิ์ศรี ยื่นหลังให้ขี่ ยื่นคอให้จูง ยื่นศีรษะให้เหยียบย่ำ ]

● ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี

กล่าวในหนังสือ “โรดแมปเริ่มที่นี่” الطريق من هنا 

“รัฐบาลจะเก่งกาจสักเพียงใดก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย นอกจากจะต้องพึ่งพิงภาคประชาชนที่มีเนื้อแท้ที่ดีเลิศและมีเจตนารมณ์อันสูงส่ง ประชาชนจึงเป็นรากฐานและที่พึ่งสุดท้าย เรามุสลิมพ่ายแพ้ในสมรภูมิมากมายที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจรัฐ สังคมที่ไม่มีความสามารถที่จะลบล้างประเพณีคร่ำครึในระดับสถาบันครอบครัว  จะไม่มีวันได้รับชัยชนะในสมรภูมิการเมือง ผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านอื่นได้อย่างไร”


CR: ผศ.ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด Ghazali Benmad

คนเรา (บางคน) นี่แปลก

คนเรา (บางคน) นี่แปลก

ถอยป้ายแดง ผ่อนเดือนละหมื่น

ขึ้นบ้านใหม่งบเป็นล้าน

สั่งตู้โชว์ที่ห้องรับแขกตั้งไว้เด่นสง่า

งานบิ้วอินแต่ละมุมบ้าน สุดอลัง

เปลี่ยนไอโฟนกลัวตกเทรด์เป็นว่าเล่น

ท่องเที่ยวมาทั้งในและต่างแดน

แถมชิม ช้อป คอยสะสมบารมี

เคอร์รี่ส่งวัสดุถึงหน้าบ้านทุกยามเมื่อ

เสื้อผ้าที่สวมใส่ แบรนด์เนมกันทั้งนั้น

แต่

ราคากุรบาน 4-5 พัน กลับอ้างว่าไม่มีตัง

ซื้อรถราคาเป็นล้าน

แต่อ้างไม่กุรบานเพราะขาดเงิน

กุรบาน เป็นการซื้อประกันให้ปลอดภัยจากการได้รับโทษในวันอาคิเราะฮ์

#ปีนี้อย่าลืมเนี้ยตกุรบานกันนะครับ


โดย Mazlan Muhammad

คุณรู้จักซอมบี้ดีแค่ไหน

ในความเข้าใจของคนทั่วไปบนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งประชาชาติมุสลิม ซอมบี้ (Zombie) คือสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วฟื้นใหม่พร้อมความดุร้าย ซอมบี้คือตัวแสดงในสื่อบันเทิงแนวสยองขวัญและจินตนิมิต คำนี้มาจากนิทานพื้นบ้านชาวเฮติที่ว่าซอมบี้เป็นศพคนตายที่กลับมามีชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ ส่วนใหญ่มาจากเวทมนตร์ การพรรณนาถึงซอมบี้ในสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ แต่มักใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่นการแผ่รังสี โรคทางจิต ไวรัส อุบัติเหตุทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

คำว่า “zombie” ในภาษาอังกฤษ บันทึกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1819 ในประวัติศาสตร์ของประเทศบราซิล ซึ่งคือที่มาของเรื่องราวที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประชาชาติมุสลิม

ความจริงซอมบี้คือวีรบุรุษมุสลิมที่สถาปนาอาณาจักรอิสลามที่บราซิล มีชื่อเดิมว่า JanJa Zombie ผู้สถาปนารัฐอิสลามที่บราซิล หลังจากที่กองทัพโปรตุเกสได้ยึดครองบราซิลและประเทศอิสลามชายฝั่งแอฟริกาภาคตะวันตกในช่วงปีค.ศ. 1539 กองทัพนักล่าอาณานิคมได้ทำให้ชาวแอฟริกันกลายเป็นทาสรับใช้และปล้นสะดมทรัพยากรกลับสู่ประเทศของตน

ท่ามกลางการกดขี่ทารุณและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมที่สุด มีวีรบุรุษมุสลิมชาวแอฟริกันคนหนึ่งนามว่า JanJa Zombie ในปีค.ศ. 1775 ได้ลุกขึ้นเชิญชวนผู้คนสู่สัจธรรมแห่งอิสลามและความเชื่อที่ถูกต้อง พร้อมประกาศให้ผู้คนลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออิสรภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เมื่อมีผู้คนจำนวนมากให้การสนับสนุนเขาจึงประกาศสถาปนารัฐอิสลามที่บราซิลโดยมีเมือง “มีราส” เป็นเมืองหลวง หลังจากนั้นรัฐอิสลามนี้ได้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะที่บรรดานักล่าได้รุมขย้ำและสวาปาม จนกระทั่งรัฐอิสลามล่มสลายและ JanJa Zombie ได้เสียชีวิตในฐานะชะฮีด หลังจากนั้นองค์การทารุณกรรมและปล้นสะดมนานาชาติในนามมิชชันนารี ก็ได้บังคับขู่เข็ญให้พลเมืองเปลี่ยนนับถือศาสนาใหม่

หลังจากที่พวกเขาพบศพของนายซอมบี้ พวกเขาได้กระทำการอย่างป่าเถื่อนด้วยการตัดศีรษะ มือ เท้าและลากศพประจานไปทั่วเมือง เช่นเดียวกันกับศพมุสลิมอื่นๆ เพื่อสร้างความหวาดผวาและสยองขวัญแก่ผู้คนที่พบเห็น การทารุณกรรมในลักษณะนี้ยังคงต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี จนกระทั่งประวัติศาสตร์ของนายซอมบี้ค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำ

นักล่าอาณานิคมได้ปฏิบัติแผนชั่วด้วยการเผยแพร่ประวัติศาสตร์เชิงลบแก่มุสลิมแอฟริกา โดยเฉพาะวีรบุรุษอย่าง JanJa Zombie ด้วยการผลิตหนังและสารคดีสยองขวัญและภาพยนตร์การ์ตูนสำหรับเด็กๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำลายและบิดเบือนประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิม โดยให้โลกจดจำแต่ความป่าเถื่อนและภาพแห่งความโหดร้ายสยดสยองของชาวมุสลิมเท่านั้น

พวกเขาไม่ได้ฆ่ามนุษย์เพียงอย่างเดียวแต่ได้สังหารมนุษยธรรมไปด้วย

พวกเขาไม่ได้เป็นอาชญากรสงคราม แต่เป็นอาชญากรทางประวัติศาสตร์ที่อำมหิตที่สุด

เที่ยวระรานราวีไปทั่วโลก แล้วสถาปนาตัวเองเป็นผู้ดี พร้อมๆกับสร้างประวัติศาสตร์ให้ชาติอื่นเป็นตัวแทนแห่งความโหดร้ายแทน

หากชาติตะวันตกจดจำเรื่องราวของซอมบี้คือผีดิบที่ดุร้ายน่ากลัว ก็พอเข้าใจได้

แต่กับประชาชาติมุสลิมแท้ๆ เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร


สรุปจากหนังสือ

วีรบุรุษอิสลาม 100 คนที่เปลี่ยนโลก

หน้า 291-292

โดย Jihad Al-Turbani

สรุปโดย Mazlan Muhammad

การจาบจ้วงบุคคลสำคัญทางศาสนา

หากการจาบจ้วงบุคคลสำคัญทางศาสนา มีผลทำให้ศาสนานั้นต้องมัวหมองไร้ค่าแล้วไซร้ อิสลามน่าจะเป็นศาสนาที่ไร้ค่าชนิดไม่มีชิ้นดีอะไรเลย เพราะบุคคลสำคัญทางศาสนาอิสลามตั้งแต่นบีมูฮัมมัด อัครสาวก และผู้รู้อิสลามในทุกยุคสมัย ล้วนแล้วถูกจาบจ้วง ดูแคลน ดูหมิ่น และล้อเลียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยผู้จาบจ้วงจะครอบคลุมตั้งแต่บุคคลธรรมดา ไปจนถึงระดับองค์กร สมาคม ลัทธิทางศาสนา ไม่เว้นแม้กระทั่งในนามรัฐบาล

แต่อิสลามเป็นศาสนาที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมากที่สุดขณะนี้ สัจธรรมและความสวยงามของอิสลามยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้สำหรับผู้ศึกษาด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ถึงแม้จะเป็นที่ชิงชังสำหรับผู้ปฏิเสธก็ตาม

يُرِيدُونَ أَنْ يُطْفِئُوا نُورَ اللَّهِ بِأَفْوَاهِهِمْ وَيَأْبَى اللَّهُ إِلَّا أَنْ يُتِمَّ نُورَهُ وَلَوْ كَرِهَ الْكَافِرُونَ

พวกเขาต้องการเพื่อจะดับแสงสว่างของอัลลอฮฺด้วยปากของพวกเขา และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงยินยอม นอกจากจะทรงให้แสงสว่างของพระองค์สมบูรณ์เท่านั้น และแม้ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะชิงชังก็ตาม (อัตเตาบะฮ์ : 32)


โดย Mazlan Muhammad

ตำรวจอังกฤษสู่การเป็นอิสลาม

หนังสือ “ซาตานิกเวอร์เซส” นำพันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ ตำรวจอังกฤษสู่การเป็นอิสลาม

พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ Richard Fairley ขณะเป็นหัวหน้าผู้ตรวจการหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของสหราชอาณาจักร  กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ Asharq Al-Awsat ของอังกฤษ  เมื่อปี 2010 ว่า ❝ผมเข้าอิสลามหลังจากอ่านและการไตร่ตรอง ❞

ในการให้สัมภาษณ์ พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ กล่าวว่า เป็นอิสลามไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ การตัดสินใจใช้เวลา 2 ปี ในระหว่างที่พยายามสัมผัสถึงหัวใจและความคิดของตนเอง  ได้แวะเวียนมาที่ศูนย์อิสลามใน Regent’s Park ในใจกลางลอนดอนเป็นเวลา 2 ปี  ก่อนที่จะให้การปฏิญาณตนเป็นมุสลิมในเดือนสิงหาคม 1993  ต่อหน้าชีคจำนวนหนึ่งที่มัสยิดในลอนดอน และต่อหน้า ยูซุฟ อิสลาม หรือแคทส์ สตีเวน อดีตนักร้องเพลงป็อปชาวอังกฤษที่เปลี่ยนมานับถืออิสลาม

ริชาร์ด  แฟร์ลี่ ยังภูมิใจในชื่อเดิมและยืนยันที่จะใช้ชื่อเดิม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง การเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้มีหลักการให้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอาหรับแต่อย่างใด เว้นแต่เป็นที่มีความหมายไม่ดี ซึ่งมีหลักการสำหรับทุกคน ไม่ว่ามุสลิมใหม่หรือมุสลิมเดิม ให้ทำการเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง

บทสัมภาษณ์น่าสนใจบางตอน

Asharq Al-Awsat :   คุณเริ่มอ่านอัลกุรอานเมื่อใด ?

– หลังจากการตีพิมพ์หนังสือ “The Satanic Verses” โดยซัลมาน  รุชดี ผมอ่านอัลกุรอานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ของผม และในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการทราบบางอย่างเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และสาเหตุที่ชาวมุสลิมโกรธและออกไปประท้วงต่อต้านหนังสือเล่มนี้

Asharq Al-Awsat :  อะไรดึงดูดคุณให้นับถือศาสนาอิสลาม ?

– ผมเข้าสู่ศาสนาหลังจากอ่านและศึกษา ผมเป็นบัณฑิตด้านธรณีวิทยาจาก British University of Exeter และหนึ่งในเพื่อนร่วมงานของผมที่มหาวิทยาลัยเดียวกันคือ Frank Gardner นักข่าวของ BBC ซึ่งกำลังศึกษาภาษาอาหรับและตะวันออกกลาง

ผมยังคงชื่นชอบวิทยาศาสตร์และค้นคว้าเกี่ยวกับมัน แต่ผมพบโองการอัลกุรอานที่ถูกประทานเมื่อ 14 ศตวรรษก่อนที่พูดเชิงลึกเกี่ยวกับบิ๊กแบง อีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับการขยายตัวของจักรวาล และกรณีที่สามที่อธิบายบทบาทหน้าที่ของภูเขาในการดูแลโลก

มี 3 โองการอัลกุรอานที่ทำให้ชีวิตของผมกลับหัวกลับหางและเปิดใจของผมไปสู่การชี้นำ แสงสว่าง และความลึกของศรัทธา มันคือโองการ

وَالسَّمَاءَ بَنَيْنَاهَا بِأَيْدٍ وَإِنَّا لَمُوسِعُونَ

 “และชั้นฟ้าทั้งหลายที่เราสร้างขึ้นด้วยมือ และเราได้ขยายออก” (อัล-ดาริยะต ฉบับที่ 47)

และโองการอื่นในซูเราะห์อัลอันบิยา กล่าวว่า

أَوَ لَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أَنَّ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ كَانَتَا رَتْقًا فَفَتَقْنَاهُمَا

“บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่เห็นหรือว่าชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน แล้วเราก็ได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน ?”

และอีกโองการในซูเราะห์อัลนะบะ กล่าวว่า:

أَلَمْ نَجْعَلِ الأَرْضَ مِهَادًا * وَالْجِبَالَ أَوْتَادًا

 “เรามิได้ทำให้แผ่นดินเป็นเปลและภูเขาเป็นหมุดหรือ?”

พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่   กล่าวว่า  ❝ โองการเหล่านี้ไม่สามารถมองข้ามได้เลย ไม่มีหนังสือเล่มใดที่สามารถค้นพบความจริงข้อนี้เมื่อ 1,400 ปีก่อน และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเบื้องหลังมันคือเจ้าแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ ❞

ที่มา

หนังสือพิมพ์ Asharq Al-Awsat  ฉบับที่ 11400 ที่ 13 กุมภาพันธ์  2010

https://archive.aawsat.com/details.asp?issueno=11700…


เครดิต : Ghazali Benmad

รอมฎอนกับการช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยาก

ในสถานการณ์ที่โลกระส่ำระสายวันนี้   ครอบครัวมากมายทุกข์ยาก โดนภัยพิบัติ  เป็นโรคร้ายทำงานไม่ได้  ไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน ไม่มีอาหาร ไม่มีค่าเล่าเรียนของลูกๆ และความเดือดร้อนนานา

ในการนี้ อิสลามได้บัญญัติและส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก  ดังหลักการที่ปรากฏอยู่ในตำรามรดกทางวิชาการกฎหมายอิสลามมาตั้งแต่ในอดีตกาลพันปีก่อน

■ การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์

จ่ายซะกาตแล้วพ้นผิดหรือไม่ ?

ซะกาตคือฟัรดูอีน ที่จำเป็นสำหรับผู้มีความสามารถ

แต่นอกจากจ่ายซะกาตแล้ว มุสลิมยังมีหน้าที่ฟัรดูกิฟายะฮ์ช่วยเหลือสังคม และผู้ตกทุกข์ได้ยาก

ฟัรดูกิฟายะฮ์  หมายถึง สิ่งที่เป็นหน้าที่ร่วมกันและจำเป็นต้องกระทำโดยไม่เจาะจงผู้กระทำ หากไม่มีการกระทำ ทุกคนก็จะมีความผิดร่วมกัน

อิหม่ามญาลาลุดดีน อัสสะยูตีย์ ( เกิด 3 ตุลาคม ค.ศ. 1445 เสียชีวิต 18 ตุลาคม ค.ศ. 1505 ที่กรุงไคโร อียิปต์)  ปราชญ์ชั้นแนวหน้าในมัซฮับชาฟิอีย์ อันเป็นแนวทางหลักของมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย กล่าวไว้อย่างชัดเจน ในตำรา “อัลอัชบาห์ วันนะซออิร الأشباه والنظائر ” ว่า การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์  สำหรับผู้มีความสามารถ โดยได้กล่าวว่า

“ومنها‏:‏ إغاثة المستغيثين في النائبات ويختص بأهل القدرة‏”

“ส่วนหนึ่งของฟัรดูกิฟายะฮ์ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ  และเป็นหน้าที่เฉพาะสำหรับผู้มีความสามารถเท่านั้น”

อันหมายความว่า ผู้ที่มีทรัพย์สิน นอกจากจะต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินบางประเภท ร้อยละ 2.5 หรือ 5 หรือ 10 ต่อปี แล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอีกด้วย แม้ว่าจะจ่ายซะกาตไปแล้ว ก็ยังไม่พ้นหน้าที่นี้ และไม่พ้นความผิดบาป

ในยุคที่ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วโลกในยามนี้ หน้าที่ก็ยิ่งหนักหนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หน้าที่ช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนยามนี้ เป็นหน้าที่ระดับฟัรดู จึงจำเป็นต้องปฏิบัติก่อนภารกิจที่เป็นภารกิจระดับสุนัต/มุสตะหับ ไม่ว่าจะเป็นฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ก็ตาม มิพักต้องกล่าวถึงสิ่งที่เป็นมุบะห์ เช่น การท่องเที่ยวทัศนาจรหรือพักผ่อนหย่อนใจ

ใครจะไปรู้ ลึกๆแล้ว การที่อุมเราะฮ์หรือฮัจญ์ปีนี้ อาจมีอุปสรรคนานาเพราะพิษไวรัสโคโรน่า หลายคนอาจไปไม่ได้  

อาจเป็นเพราะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์สุนัตหรืออุมเราะฮ์สุนัตเหล่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในจุดนั้นก็ได้ เพราะสังคมมุสลิมข้างบ้านหรือสังคมมุสลิมทั่วโลกยังเดือดร้อนแสนสาหัส หากถูกมองข้ามไป จะเป็นความผิดมหันต์ ที่อัลลอฮ์ไม่ประสงค์ให้คนเหล่านั้นไปยังวิหารของพระองค์อีก

■ หลักการในอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และแนวปฏิบัติของซอฮาบะฮ์ จากตำราของอิบนุหัซม์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเมื่อพันปีก่อน

อิหม่ามอิบนุหัซม์  ( 7 พ.ย. ค.ศ. 994 – 15 ส.ค. ค.ศ. 1064) นักวิชาการแห่งแอนดาลุส ยุคอิสลาม   ได้กล่าวในหนังสือ

 المحلى بالآثار »  كتاب الزكاة »  قسم الصدقة » مسألة على الأغنياء من أهل كل بلد أن يقوموا بفقرائهم

ใจความว่า :

❝ เป็นหน้าที่สำหรับคนร่ำรวยในที่ถิ่นแคว้น จะต้องช่วยเหลือคนยากจนในบริเวณนั้นๆ และรัฐจะต้องบัญญัติบังคับเช่นนั้น หากซะกาตไม่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่เอาจากทรัพย์คนมุสลิมทั่วไป

จะต้องให้อาหารที่จำเป็น และเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวและฤดูร้อน ต้องให้บ้านที่กันน้ำฝน ความร้อน แสงอาทิตย์และสายตาคน

หลักฐานกรณีดังกล่าวคือ

อัลลอฮ์กล่าวว่า

وَآتِ ذَا الْقُرْبَىٰ حَقَّهُ وَالْمِسْكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ

“และจงให้สิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด ผู้ขัดสน และผู้เดินทาง”

وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا وَبِذِي الْقُرْبَىٰ وَالْيَتَامَىٰ وَالْمَسَاكِينِ وَالْجَارِ ذِي الْقُرْبَىٰ وَالْجَارِ الْجُنُبِ وَالصَّاحِبِ بِالْجَنبِ وَابْنِ السَّبِيلِ وَمَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُمْ

” และจงทำดีต่อบุพการีทั้งสอง  ต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด  เด็กกำพร้า ผู้ขัดสน เพื่อนบ้านใกล้เคียงและเพื่อนที่ห่างไกล  เพื่อนผู้เคียงข้าง ผู้เดินทาง และผู้ที่มือขวาของพวกท่านครอบครอง”

อัลลอฮ์บัญญัติถึงสิทธิของคนจน  คนเดินทาง และทาส ตลอดจนสิทธิของญาติใกล้ชิด รวมถึงบัญญัติให้ทำดีต่อพ่อแม่ ญาติใกล้ชิด คนจน เพื่อนบ้าน และทาส การทำดีหมายถึงการกระทำดังกล่าว การไม่ช่วยถือว่าเป็นการทำไม่ดีโดยไม่มีข้อกังขาใดๆอีก

وقال تعالى : { ما سلككم في سقر قالوا لم نك من المصلين ولم نك نطعم المسكين } .

“อะไรที่นำพวกท่านเข้าสู่กองไฟที่เผาไหม้  พวกเขากล่าวว่า เรามิได้อยู่ในหมู่ผู้ทำละหมาด และเรามิได้ให้อาหารแก่บรรดาผู้ขัดสน”

ซึ่งอัลลอฮ์บัญญัติหน้าที่ละหมาดเคียงคู่หน้าที่ให้อาหารแก่คนยากจน

และท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من لا يرحم الناس لا يرحمه الله

“ผู้ใดไม่เมตตาต่อมนุษย์ อัลลอฮ์จะไม่เมตตาต่อเขา”

อับดุรรอฮ์มาน บินอบูบักร์ เล่าว่า “ชาวซุฟฟะฮ์ ( ผู้อาศัยชายคามัสยิดนบี ) เป็นคนจน ท่านศาสนทูต ศอลฯ จึงกล่าวว่า ผู้ใดมีอาหารสำหรับ 2 คน ก็จงพาคนที่ 3 ไป ผู้ใดมีอาหารสำหรับ  4 คน ก็จงพาคนที่ 5 ที่ 6 ไป”

المسلم أخو المسلم ، لا يظلمه ولا يسلمه

“มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม ไม่อนุญาตให้ละเมิดต่อเขา หรือปล่อยให้ถูกละเมิด”

การปล่อยให้อดอยาก ไร้อาภรณ์ ทั้งๆที่มีความสามารถที่จะให้อาหารเสื้อผ้าแก่เขาได้ ถือเป็นการปล่อยปละละเลยต่อเขา

อบูสะอีด อัลคุดรีย์เล่าว่า ท่านศาสนทูต ศอลฯ กล่าวว่า

   من كان معه فضل ظهر فليعد به على من لا ظهر له ، ومن كان له فضل من زاد فليعد به على من لا زاد له

“ผู้ใดมีที่ว่างบนพาหนะก็จงให้แก่ผู้ที่ไม่มีพาหนะ ผู้ใดมีเสบียงเหลือก็จงให้กับผู้ไม่มีเสบียง”

อบูสะอีด เล่าว่า  “แล้วท่านศาสนทูตก็ได้กล่าวถึงทรัพย์สินประเภทต่างๆ จนกระทั่งเราเห็นว่า เราไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินที่เหลือใช้”

นี้เป็นอิจมาอ์-ความเห็นเอกฉันท์-ของซอฮาบะฮ์ ดังที่อบูสะอีดได้กล่าว ( หมายถึง คำพูดที่อบูสะอีดกล่าวว่า “เราเห็นว่า” )

เรามีความเห็นตามหะดีษเหล่านั้น

และท่านนบี ศอลฯ ยังกล่าวว่า

    أطعموا الجائع وفكوا العاني

“และจงให้อาหารแก่คนหิวโหย และปลดปล่อยเชลย”

ตัวบทจากอัลกุรอานและหะดีษซอเหียะห์ในเรื่องนี้มีมากมายยิ่ง

ท่านอุมัร บินคอตตอบ กล่าวว่า “หากฉันรู้ตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นเช่นนี้ แน่นอน ฉันจะยึดเอาทรัพย์สินที่เหลือใช้ของบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย มาแจกจ่ายให้แก่ชาวมุฮาญีรีนผู้ยากจน”

ท่านอาลี บินอบูตอลิบ กล่าวว่า “อัลลอฮ์บัญญัติให้คนรวยช่วยคนจนในปริมาณที่เพียงพอต่อความจำเป็น หากคนจนไม่มีอาหาร หรือเสื้อผ้าอาภรณ์ ก็เนื่องจากคนรวยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศาสนากำหนด ซึ่งอัลลอฮ์จะสอบสวนและลงโทษคนรวยเหล่านั้นในวันฟื้นคืนชีพ”

อิบนุอุมัร กล่าวว่า “นอกจากซะกาตแล้ว ทรัพย์สินของท่านก็ยังคงมีพันธะหน้าที่”

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ท่านหะซัน บินอาลี หรืออิบนุอุมัร เมื่อมีผู้ขอทรัพย์สิน พวกเขาจะกล่าวกับผู้ขอว่า ” หากท่านขอเพราะจะจ่ายหนี้เลือด หรือหนี้สินที่ล้นพ้นตัว หรือความจนแสนเข็ญ เราจำเป็นต้องให้แก่ท่าน”

มีรายงานว่า อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ และซอฮาบะฮ์ 300 ท่าน เกิดเหตุทำให้เสบียงของพวกเขาสูญเสียไป อบูอุบัยดะฮ์จึงสั่งให้ทุกคนนำเสบียงมารวมกัน แล้วให้ทุกคนรับประทานเสมอเหมือนกัน

นี้เป็นอิจมาอ์ของซอฮาบะฮ์ ที่ไม่มีผู้เห็นต่างแม้แต่คนเดียว


โดย Ghazali Benmad

ให้รอมฎอนรักษาหัวใจ

ในอิสลามมีโรคประเภทหนึ่งที่อันตรายยิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บทางกายทั่วไป นั่นคือโรคทางใจ ซึ่งใจในที่นี่ไม่ได้หมายถึงอวัยวะเท่ากำปั้นมือที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต เพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารไปยังทุกส่วนของร่างกาย แต่หมายถึงตัวตนของมนุษย์อีกมิติหนึ่งที่มีความรู้สึก มีวิญญาณ มีสามัญสำนึก อารมณ์ความต้องการ พลังแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ซึ่งถูกสร้างมาพร้อม ๆ กับความเป็นมนุษย์เหมือนอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

นอกจากที่ร่างกายต้องการธาตุอาหารต่าง ๆ ที่คอยหล่อเลี้ยงให้เติบโตและแข็งแรงแล้ว ร่างกายยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่คอยมาบั่นทอนสุขภาพ โรคบางชนิดนอกจากทำให้ร่างกายป่วยทรุดโทรมแล้ว ยังทำให้อวัยวะบางส่วนไม่ทำงานหรือไม่ทำหน้าที่ตามปกติอีกด้วย

จิตใจมนุษย์ก็เช่นกัน มีโรคทางจิตใจมากมายที่อาจประสบแก่ทุกคน ทั้งนี้เนื่องจากจิตใจเป็นนายของร่างกาย จึงเป็นที่หมายปองของศัตรูที่คอยบุกโจมตี ในสมรภูมิสงคราม ศัตรูจึงต้องหาทุกวิถีทางเพื่อเข้าประชิดแม่ทัพและเมื่อใดที่สามารถควบคุมหรือสังหารแม่ทัพได้เหล่าทหารอื่น ๆ ก็จะยอมศิโรราบโดยปริยาย

นบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า

ألا وإنَّ في الجَسَدِ مُضْغَةً، إذا صَلَحَتْ، صَلَحَ الجَسَدُ كُلُّهُ، وإذا فَسَدَتْ، فَسَدَ الجَسَدُ كُلُّهُ، ألا وهي القَلْبُ ( متفق عليه)

 ความว่า : พึงทราบเถิดว่า ในร่างกายมีก้อนเลือดอยู่ก้อนหนึ่ง หากก้อนเลือดนี้ดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีไปด้วย หากก้อนเลือดนี้มีสภาพที่ไม่ดี ร่างกายทุกภาคส่วนก็จะไม่ดีตามเช่นกัน มันคือจิตใจนั่นเอง

ชัยฏอนซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์จึงคอยดักซุ่มและจู่โจมให้สามารถควบคุมจิตใจ เมื่อควบคุมสำเร็จแล้วมันจะสั่งการให้อวัยวะทุกส่วนปฏิบัติตามแผนร้ายของมันทันที นั่นคือให้มนุษย์ทุกคนฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ยอมเป็นทาสชัยฏอนอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้มนุษย์หันเหหลงผิดและหลงทาง จนกระทั่งไม่พบกับทางนำของพระองค์ เพราะคนเราเป็นไปได้ 2 สถานะเท่านั้น ไม่มีทางเลือกที่ 3 นั่นคือหากหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ เขาจะต้องตกเป็นเหยื่อของชัยฏอนทันที ซึ่งสามารถพลิกผันได้ทุกเวลานาที

نسأل الله السلامة

พี่น้องร่วมศรัทธาทุกท่าน

โรคจิตใจมีมากมาย แต่แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

ประเภทแรก คือประเภทที่นอกจากทำให้จิตใจป่วยอัมพาตแล้ว ยังเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย บางครั้งถึงขนาดนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร สีหน้าหม่นหมอง หน้าตาไม่สดชื่นและร่างกายซีดผอม โรคประเภทนี้ได้แก่ 1) การโอ้อวด 2) โกรธและอารมณ์ฉุนเฉียว 3) หลงลืม 4) ย้ำคิดย้ำทำ 5) ท้อแท้สิ้นหวัง 6) ละโมบโลภมาก 7) หลงตัวเอง 8) หยิ่งยโส และ 9) อิจฉาริษยา

โรคทั้ง 9 ชนิดนี้ถือเป็นคุณสมบัติอันไม่พึงประสงค์และน่ารังเกียจที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังให้มาก บางกรณีสามารถหาทางเยียวยาหรือปรึกษาจิตแพทย์เฉพาะทางได้

โรคบางชนิดเป็นเสมือนไฟไหม้ที่ทำลายความดีงามให้หมดเกลี้ยงดังเช่น ความอิจฉาริษยา โรคบางชนิดเป็นสิ่งปิดกั้นมิให้เข้าสวรรค์เลยทีเดียวดังเช่นความหยิ่งยโส ในขณะที่โรคหลงตัวเอง ก็ได้ทำให้อิบลีสกลายเป็นผู้ถูกสาปแช่งมาแล้ว 

نعوذ بالله من ذلك

ประเภทที่สอง เป็นโรคที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย ใบหน้าอาจดูสดชื่นตลอดเวลา หัวใจเบิกบานร่าเริง ร่างกายแข็งแรงดี แต่เขาติดโรคทางจิตใจที่ร้ายแรงกว่าโรคประเภทแรก เพราะโรคประเภทนี้จะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดไหนสามารถตรวจสอบได้ ส่วนหนึ่งของโรคชนิดนี้ได้แก่

 1. โรคเขลาและไม่มีความรู้ทางศาสนา(ญาฮิล) จนไม่สามารถแยกแยะอันไหนถูกอันไหนผิด สิ่งไหนบาปสิ่งไหนบุญ

 2. โรคกลับกลอก (นิฟาก) ซึ่งเป็นโรคที่ลึกลับยิ่งกว่ามดดำตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในโพรงถ้ำในเวลากลางคืนเสียอีก ไม่มีใครสามารถตรวจสอบโรคนี้ยกเว้นผู้ทรงสร้างจิตใจเท่านั้น ผู้ที่ติดโรคนี้จะมีอาการต่าง ๆ เช่น เกียจคร้านการละหมาด ซิกิร์ต่ออัลลอฮ์เพียงเล็กน้อย ผิดสัญญา พูดจาโกหก ทุจริตคอรัปชั่น ใช้คำพูดที่ก้าวร้าวโดยเฉพาะเวลาขัดใจกัน ไม่ชอบการบริจาคกุศลทานและสัญญาณอื่น ๆ ที่เป็นนิฟากเล็ก แต่หากละเลยและไม่รีบรักษา มันอาจลุกลามจนกลายเป็นนิฟากใหญ่ได้ نعوذ بالله من ذلك

 3. โรคชอบสร้างสิ่งอุตริกรรมในศาสนา ทั้ง ๆ ที่นบีได้สอนเกี่ยวกับศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

 4. โรคเสน่หาฟังนิยายปรัมปรา งมงาย ชอบบริโภคและเผยแพร่ข่าวลือ โดยเฉพาะการเผยแพร่หะดีษปลอม โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ดังตัวอย่างการเผยแพร่ความประเสริฐและผลบุญการละหมาดตะรอวีห์ในแต่ละคืนตั้งแต่คืนแรกจนถึงคืนสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่เป็นหะดีษปลอมที่นบีไม่เคยพูด เศาะฮาบะฮ์ไม่เคยรายงานและบรรดาผู้รวบรวมหะดีษก็ไม่เคยบรรจุหะดีษนี้ในตำราหะดีษ แต่ก็ยังแพร่หลายในสังคม  ดังนั้น ผู้ใดที่รายงานหะดีษนี้หรือหะดีษปลอมอื่น ๆ เขาจะได้รับโทษสถานหนักถึงขนาดนบีกล่าวว่า ขอให้เขาจองที่ในนรกเลยทีเดียว

 5. โรคการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ชิริก) ซึ่งถือเป็นบาปใหญ่ที่สุดและถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชัยฏอน หากชัยฏอนสามารถล่อลวงมนุษย์ให้หลงทางถึงขั้นนี้ ก็จะถือว่ามันปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว

อัลลอฮ์กล่าวว่า

إِنَّ ٱلشِّرْكَ لَظُلْمٌ عَظِيمٌ (لقمان/13)

ความว่า : แท้จริงชิริกคืออธรรมอันใหญ่หลวง

إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِۦ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُ ۚ وَمَن يُشْرِكْ بِٱللَّهِ فَقَدْ ضَلَّ ضَلَٰلًۢا بَعِيدًا ( النساء/116)

ความว่า : แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษบาปการตั้งภาคีกับพระองค์ แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดตั้งภาคีแก่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอน เขาก็ได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล

พี่น้องร่วมศรัทธาทั้งหลาย

รอมฎอนจึงเป็นโรงซ่อมจิตใจขนาดใหญ่ที่สุดที่เป็นความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ซึ่งทรงประสงค์ให้บ่าวทุกคนใช้เวลาช่วงประเสริฐที่สุดนี้ยกระดับตัวเอง ขัดเกลาจิตใจ ทบทวนอดีต เพิ่มพูนความดีงาม สะสมเสบียงบุญ สำนึกตนด้วยการกลับไปหาอัลลอฮ์ และขออภัยโทษจากพระองค์ด้วยการตัดใจจากความผิดพลาด เสียใจต่อการกระทำในอดีต และตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับทำบาปซ้ำ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เราสามารถรวบเบ็ดเสร็จภายใต้เป้าประสงค์ของการถือศีลอดนั่นคือ

لعلكم تتقون

เผื่อว่า ท่านทั้งหลายจะได้ยำเกรง

ด้วยการยำเกรงต่อพระองค์เท่านั้นที่เป็นยาวิเศษและทิพย์โอสถที่สามารถทำให้โรคร้ายทั้งปวงที่ได้กล่าวมาแล้ว หายไป และด้วยตักวาเท่านั้นที่สามารถขัดเกลาจิตใจให้สะอาดผ่องแผ้ว ไร้สิ่งเจือปน จนกระทั่งสามารถเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ด้วยหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์

يَوْمَ لَا يَنْفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُونَ  إِلَّا مَنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ  ( الشعراء /89-88)

ความว่า : วันที่ทรัพย์สมบัติ ลูกหลานและบริวารไม่มีประโยชน์อันใดเลย เว้นแต่ผู้ที่เข้าเฝ้าอัลลอฮ์ด้วยหัวใจที่สะอาดผุดผ่อง

ดังนั้นรอมฎอนจึงเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเยียวยารักษาโรคร้ายเหล่านี้ได้และกิจกรรมอันมากมายในเดือนรอมฎอนตั้งแต่การถือศีลอด การละหมาดตะรอวีห์ การบริจาคทาน การให้อาหารละศีลอด การอ่านอัลกุรอาน การซิกิร์และอิสติฆฟาร์ การทำความดีในรูปแบบต่าง ๆโดยเฉพาะอิอฺติก้าฟช่วง 10 วันสุดท้ายถือเป็นชุดยาสามัญประจำผู้ศรัทธาที่ต้องหมั่นรับประทานให้ครบชุดอย่างเหมาะสม พี่น้องต้องเข้าใจว่ารอมฎอน ไม่ใช่เพียงการอดอาหารในภาคกลางวันอย่างเดียวเท่านั้น แต่คือชุดยาสามัญประจำศรัทธาชนที่จิตใจต้องได้รับอย่างทั่วถึง เพื่อยกระดับตนเองให้เป็นผู้ที่เหมาะสมเข้าสวรรค์ของอัลลอฮ์และรอดพ้นจากไฟนรกทีเดียว

พี่น้องร่วมศรัทธาทุกท่าน

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสังคมโลกได้รับภัยคุกคามจาก โควิด-19 โดยเฉพาะดาวร้ายใหม่สายพันธุ์โอไมครอน ที่ขณะนี้ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในฐานะผู้ศรัทธา เราต้องเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นด้วยผลการอนุมัติจากพระเจ้า พระองค์จะทรงทดสอบบ่าวของพระองค์ด้วยวิธีการหลากหลายโดยมีเป้าหมายให้บ่าวของพระองค์กลับเนื้อกลับตัว ยอมศิโรราบต่ออำนาจของพระองค์ ไม่ดื้อรั้นและไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์

ผู้ศรัทธาจึงต้องใช้โอกาสอันประเสริฐในเดือนรอมฎอนนี้ ขออภัยโทษจากอัลลอฮ์มอบตนแด่พระองค์ และพยายามหามาตรการที่จะหยุดการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ พึงทราบว่าการปฏิบัติตนในคำสอนศาสนาไม่ได้สอนให้เราปฏิเสธมาตรการการรักษา การเยียวยาและการป้องกันด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพราะอิสลามไม่เคยปฏิเสธภูมิปัญญาที่มีประโยชน์และไม่เคยหันหลังให้กับการคิดค้นสร้างสรรค์ที่ดี ๆ ตราบใดที่อยู่ในกรอบของศาสนา มุสลิมจึงสามารถเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์และเป็นพลเรือนที่ดีของสังคมในเวลาเดียวกัน เป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะมีความผูกพันที่ดีกับอัลลอฮ์เพียงมิติเดียว แต่เขากลับไปสร้างปัญหาให้กับสังคมหรือทำให้สังคมเดือดร้อน หากเป็นเช่นนี้ เขาจะไม่ได้รับอานิสงส์ใด ๆ จากรอมฎอนยกเว้นการอดน้ำ อดข้าว อดหลับอดนอนเท่านั้นเอง

قال الله تعالى

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ (البقرة/183)


โดย Mazlan Muhammad