บทความ บทความวิชาการ

นิยามอิสลาม คุณลักษณะอิสลาม 18 ประการ [ตอนที่ 2]


คำถาม: “ในยุคของเรา มีการเรียกร้องสู่ที่อิสลามแตกต่างกันไป เราอยากให้ท่านให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะของศาสนาอิสลามที่ท่านเรียกร้อง เพื่อไม่ให้เราสับสน”

คำตอบ โดยเชคยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์


10- ศาสนาอิสลามยืนยันสิทธิของประชาชนในการเลือกผู้ปกครอง ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้บีบบังคับให้ประชานยอมรับผู้ปกครองที่ประชาชนไม่เห็นด้วย  อีกทั้งประชาชนมีสิทธิที่จะติดตามและตรวจสอบผู้ปกครอง และจำเป็นต้องให้คำแนะนำและช่วยเหลือแก่ผู้ปกครอง

รวมถึงต้องเชื่อฟังในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

หากผู้ปกครองสั่งการในสิ่งผิด ก็จะไม่มีการเชื่อฟัง สำหรับผู้ปกครองที่เฉไฉออกไปจากความถูกต้อง ประชาชนต้องแนะนำและชี้แนะ  หากทำไม่ได้ก็ต้องปลีกตัว

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะเป็นรัฐอิสลาม แต่ไม่ใช่รัฐศาสนาตามที่ตะวันตกรู้จักในยุคกลาง  หากทว่าเป็นรัฐที่ตั้งอยู่บน “การบัยอะฮ์” (ความยินยอมของมวลประชาชน) “การชูรอ” (ปรึกษาหารือ)  เป็นนิติรัฐภายใต้กฎหมายที่รัฐไม่ได้เป็นผู้บัญญัติขึ้นมาเอง

รัฐอิสลามไม่ได้ปกครองโดยนักวิชาการศาสนา  แต่ปกครองโดยผู้มีความรู้ความสามารถและมีความซื่อสัตย์สุจริต ที่หากอัลลอฮ์ประทานอำนาจทางโลกให้  พวกเขาจะดำรงการละหมาด จ่ายซะกาต กำชับความดีและหักห้ามความชั่ว

11- อิสลามปกป้องรักษาทรัพย์ และเห็นว่าทรัพย์สินเป็นรากฐานของชีวิตผู้คน เป็นกระดูกสันหลังของชีวิต

หากไม่มีทรัพย์สิน การสร้างสรรค์โลกก็จะไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงไม่สามารถช่วยเหลืออุปถัมภ์ศาสนาได้

ทรัพย์สินเป็นพรที่ต้องขอบคุณ  และเป็นความไว้วางใจที่ต้องรักษา  เป็นการทดสอบที่อัลลอฮ์ทดสอบผู้คนด้วยสิ่งที่พระองค์ประทานให้แก่พวกเขา 

ด้วยเหตุนี้จึงต้องแสวงหาทรัพย์สิน และพัฒนาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ตลอดจนให้ปฏิบัติพันธะหน้าที่ของมัน และปกป้องจากความฟุ่มเฟือยและการละเลย โดยเฉพาะทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งในศาสนาอิสลามมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์ของทรัพย์สินของเด็กกำพร้า 

อิสลามเคารพกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่กำหนดเงื่อนไขและพันธะต่างๆ โดยใช้กฎหมายและคำสอนเป็นแนวทางนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางสังคม

12- ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลกลุ่มที่อ่อนแอด้อยโอกาสในสังคม  ทั้งกรรมกร ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน และพนักงานรายย่อย 

บุคคลเหล่านี้ถือเป็นเครื่องมือในการผลิตในยามสงบสุข และในยามสงคราม

อิสลามรักษาสิทธิของคนเหล่านั้นในเรื่องค่าจ้างและหลักประกันในการคุ้มครองการทำงาน  ตามความสามารถของแต่ละคน  ตามงานและความจำเป็นของเขา 

ศาสนาอิสลามยังดูแลผู้ที่ไม่สามารถทำงาน หรือผู้ที่ค่าจ้างไม่เพียงพอ  ทั้งในกรณีคนจน, คนขัดสน, เด็กกำพร้า และผู้เดินทาง

คนเหล่านี้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือเป็นช่วงๆ และเป็นประจำ จาก”ซะกาต” และ “ทรัพย์สินอื่นจากซะกาต” โดยการเอามาจากทรัพย์สินของบุคคลที่มีความสามารถ และเอามาจาก”ฟัยอ์-ทรัพย์สินที่ยึดมาจากสงคราม  และทรัพย์สินอื่นๆของรัฐ 

อิสลามทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย จึงจำกัดการเอาเปรียบของคนรวย และยกระดับคนจน

อิสลามไม่ยอมรับให้สังคมของตนมีบุคคลหนึ่งนอนอย่างอิ่มหนำสำราญ ในขณะที่เพื่อนบ้านข้างเคียงหิวโหย และเชื่อว่ารัฐมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการดูแลสิ่งเหล่านี้

13- อิสลามเชื่อว่าไม่ผิดที่มุสลิมจะรักบ้านเกิดเมืองนอนและภูมิใจในมาตุภูมิ  รวมทั้งการรักและห่วงไยเพื่อนร่วมชาติ

ชาตินิยม เผ่าพันธุ์นิยมจึงไม่ใช่สิ่งผิด ตราบใดที่ไม่ต่อต้านคำสอนอิสลาม หรือปฏิเสธอิสลาม

14- อิสลามเผชิญหน้าความคิดด้วยความคิด เผชิญกับข้อกังขาสงสัยด้วยการโต้แย้ง ไม่มีการบังคับในศาสนา หรือการบังคับในความคิด  อิสลามปฏิเสธการใช้วิธีการรุนแรงและการก่อการร้าย  ไม่ว่าจะมาจากผู้ปกครองหรือจากผู้อยู่ใต้ปกครอง  รวมถึงเชื่อมั่นในการสานเสวนาที่สร้างสรรค์และมีจุดมุ่งหมายซึ่งช่วยให้แต่ละฝ่ายได้แสดงออกซึ่งตัวตนอย่างชัดเจน ในกรอบของความตรงประเด็นและรักษาจรรยาบรรณความเห็นต่าง 

15- อิสลามเชื่อว่าอัลลอฮ์สร้างคนให้มีความแตกต่างกัน.

16- อิสลามไม่พอใจกับการยกย่องอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ของตนในอดีตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ทำงานเพื่อสร้างอารยธรรมอิสลามร่วมสมัย ที่รับเอาส่วนดีที่สุดของอารยธรรมร่วมสมัย เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การจัดการและการจัดองค์กรที่ดี พร้อมๆกับการรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนเองไว้

17- ศาสนาอิสลามไม่ได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการบังคับใช้กฎหมายในเชิงรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของบทลงโทษต่างๆ ทั้งหุดู๊ดและกิศ๊อศ  แม้ว่าจะเป็นส่วนที่ละเมิดไม่ได้ในบทบัญญัติของชารีอะห์ก็ตาม

18- อิสลามเชื่อว่า มวลมุสลิมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ล้วนเป็นประชาชาติเดียวกัน มุสลิมผู้อ่อนแอต่ำต้อยที่สุดก็มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้อื่น  และล้วนเป็นพี่น้องกัน รวมกันเป็นหนึ่งด้วยความศรัทธาเดียวกัน กิบลัต(ทิศละหมาด)เดียวกัน และเชื่อในคัมภีร์เล่มเดียวกัน  ศาสดาเดียวกัน และบทบัญญัติเดียวกัน


แปลสรุปโดย ผศ.ดร.Ghazali Benmad