ตุรกีส่งทหารเข้าลิเบียตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างตุรกีกับลิเบีย

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานแห่งตุรกีประกาศ เริ่มส่งทหารเข้าไปช่วยรัฐบาลลิเบีย ในขณะที่อียิปต์ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้นำศาสนาของอียิปต์และซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์คัดค้าน

ท่ามกลางความโกลาหล ที่กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ โดยการสนับสนุนของอียิปต์ อิมิเรตส์ รัสเซียและซูดาน ทุ่มเทกำลังพลและอาวุธ บุกโจมตีฝ่ายรัฐบาลในกรุงทริโปลีอย่างหนักหน่วง เมื่อวันอาทิตย์วานนี้ 5/1/2563 ทำให้โรงเรียนนายร้อยของลิเบียถูกเครื่องบินโจมตี และมีนักเรียนนายร้อยเสียชีวิต 30 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

สถานการณ์เลวร้ายถึงขนาดที่ฝ่ายรัฐบาลลิเบียอาจจะต้องถูกกองทัพนายพลฮัฟตาร์ยึดเมืองหลวงได้ หากไม่ได้ตุรกีที่เข้ามาแทรกแซงตามข้อตกลงทางทหารกับลิเบีย

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานแห่งตุรกีให้สัมภาษณ์ ผ่านช่อง CNN และช่อง D เมื่อวันอาทิตย์วานนี้ 5/1/2563 ว่า ยืนยันที่จะสนับสนุนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ และจะไม่รับการแก้ปัญหาแบบพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลที่ชอบธรรมและได้รับการรับรองจากสหประชาชาติกับฝ่ายกบฏ พร้อมประกาศว่า ทหารตุรกีชุดแรกเริ่มออกเดินทางไปยังลิเบียแล้ว

ในการนี้ มุฟตีย์ลิเบีย บรรดานักปราชญ์ และภาคประชาชนชาวลิเบีย ต่างออกมาขอบคุณตุรกีที่ตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในลิเบียในวินาทีชี้เป็นชี้ตายนี้

ในขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติและ กระทรวงต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียแถลงประณามและคัดค้านตุรกีที่ส่งทหารเข้าไปในลิเบีย อ้างว่าทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น

แถลงการณ์ของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าตุรกีละเมิดมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับลิเบีย รวมถึงละเมิดมติของสันนิบาตอาหรับ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา

แถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียยังกล่าวว่า การกระทำของตุรกีเป็นการคุกคามความมั่นคงของลิเบีย โลกอาหรับ ตลอดจนภูมิภาคนี้ทั้งหมด และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอาหรับ รวมถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวของอิมิเรตส์รายงานข่าว เอมิเรตส์ประณามตุรกีว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมติสหประชาชาติ ที่ 1970 ปี 2011 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาโทษเกี่ยวกับลิเบีย และห้ามนำเข้าอาวุธหรือความช่วยเหลือทางทหารเข้าไปในลิเบีย ยกเว้นได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้ การกระทำของตุรกีจึงถือเป็นการขัดขวางที่จะสถาปนาความมั่นคงขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้

เอมิเรตส์ยังกล่าวว่า ขอเตือนถึงภัยจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในลิเบีย อีกทั้งข้ออ้างทางกฎหมายของตุรกีถือว่าไม่มีน้ำหนัก และสั่นคลอนความมั่นคงภูมิภาคอาหรับและเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สำนักข่าวของอิมิเรตส์ยังกล่าวต่อว่าแถลงการณ์ของอิมิเรตส์กล่าวว่า ตุรกีดำเนินการอันตรายอย่างยิ่งด้วยการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายให้เดินทางเข้าสู่ลิเบีย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้มีการสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในลิเบีย ให้เป็นนิติรัฐเพื่อต่อต้านแนวคิดสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธโดยการสนับสนุนของตุรกี และเห็นว่า สังคมโลกจำเป็นจะต้องเข้ามาขัดขวางการดำเนินการของตุรกีในครั้งนี้

ส่วนชัยค์อะหมัด ฏอยยิบ ชัยค์อัซฮัร ผู้นำศาสนาสูงสุดของมหาวิทยาลัยอัซฮัร อียิปต์ ออกมาประณามตุรกี หาว่าเป็นการบ่อนทำลายความสงบสุข และยืนยันสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีของอียิปต์

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานกล่าวผ่านช่อง CNN และช่อง D ว่า เราไม่ให้ความสำคัญกับการที่ซาอุดิอาระเบียประณามการตัดสินใจของตุรกีที่จะส่งทหารไปยังลิเบีย และจะไม่นำมาใส่ใจอย่างเด็ดขาด

เขียนโดย Ghazali Benmad

ปฏิทินสุดดราม่าระดับโลก

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โลกเกิดเหตุการณ์ระทึกชนิดอกสั่นขวัญหายโดยเฉลี่ย 5 ปีต่อครั้ง ส่วนหนึ่งได้แก่

ปี 2001/ 2544 เหตุวินาศกรรมเครื่องบินพุ่งชนตึกแฝด WTC ในมหานครนิวยอร์ก ทำให้ประธานาธิบดีบุชประกาศสงครามกับอิสลามทั่วโลกโดยมีกลุ่มอัลไคด้าเป็นตัวชูโรง ทั่วโลกอยู่ในอาการหวาดกลัวสุดขีด New World Order และตำรวจสากลที่ประกาศโดยบุช ทำให้องค์กรอิสลามทั่วโลกกลายเป็นง่อย พี่น้องปาเลสไตน์ถูกขังเดี่ยวอย่างทรมาน

cr. www.independent.co.uk

ปี 2003/ 2546 ประธานาธิบดีบุชแห่งสหรัฐฯสร้างความหวัดกลัวแก่ชาวโลกเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของซัดดัม หุเซ็น ปูทางให้สหรัฐฯพร้อมด้วยกองกำลังพันธมิตรเกือบ 40 ประเทศปูพรมถล่มอิรักจนราบเป็นหน้ากลอง แต่ไม่พบระเบิดนิวเคลียร์แม้แต่ลูกเดียว

cr. www.voanews.com

ปี 2013 / 2556 สหรัฐฯยุคประธานาธิบดีโอบามาพร้อมด้วยชาติพันธมิตรเกือบ 60 ประเทศโจมตีกองกำลังไอเอสที่สถาปนารัฐอิสลามระบอบคอลีฟะฮ์ที่โมซุล อิรัก ทั่วโลกหวาดกลัวและตื่นเต้นสุดขีดกับการปรากฏตัวของไอเอสราวปาฏิหารย์พร้อมๆ กับความสยดสยองและความน่ากลัว

cr.www.thebaghdadpost.com

ทั้ง 3 เหตุการณ์ช็อคโลกนี้ เหยื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชาติมุสลิมและโลกอิสลาม

อัลไคด้ายังอยู่ ไอเอสถูกหักเขี้ยวเล็บกลายเป็นเครือข่ายใยแมงมุมทั่วโลก อิหร่านยังคงเข้มแข็งอย่างน่ามหัศจรรย์ต่อไป

แต่อิรักแหลกลาญ ซีเรียกลายเป็นจุณ เยเมนเป็นดินแดนมิคสัญญี เลบานอนกลายเป็นอัมพาต ประเทศอ่าวอาหรับมีหน้าที่จ่ายสดตามใบสั่งสถานเดียว

ขึ้นต้นปีใหม่ ปี 2020 / 2563 นี้ สหรัฐฯยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้โดรนถล่มพลตรีสุไลมานี ผู้กุมอำนาจตัวจริงเบอร์ 1 ของอิหร่านพร้อมด้วยมือขวาคนสำคัญอีก 6 คนที่สนามบินกรุงแบกแดดทั่วโลกหวั่นว่าจะเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่นำร่องโดยสงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน

เพราะอิหร่านประกาศกร้าวว่าจะล้างแค้นที่หนักหน่วง

เพียงแต่เราต้องตั้งคำถามว่า เหยื่อของการล้างแค้นครั้งนี้คือใคร แต่ที่แน่ๆไม่ใช่สหรัฐฯ และไม่ใช่อิสราเอลแน่นอน ฟันธงครับ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

อัลจาซีร่าห์โพล กรณีสังหารนายพลสุไลมานี

อัลจาซีร่าห์โพล ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ชมกรณีสหรัฐฯสังหารพลตรีคาซิม สุไลมานี

สำนักข่าวอัลจาซีร่าห์ ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ชมกรณีการสังหารพลตรีคาซิม สุไลมานี โดยตั้งประเด็นคำถามว่า หลังพลตรีคาซิม สุไลมานีถูกสังหาร ในความเห็นของท่านคิดว่า จะเกิดสงครามในภูมิภาคระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯหรือไม่

ปรากฏว่าจากยอดผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 65,600 คน มีคนเห็นว่าสงครามเกิดขึ้นแน่นอน จำนวน 33 % ในขณะที่มีคนเห็นว่าไม่มีทางเกิดขึ้นจำนวน 67 %

ในอดีต สหรัฐฯได้สร้างเหตุวินาศกรรม 9/11 กระฉ่อนโลก ทำให้ชาวโลกหวาดหวั่นอิทธิพลของอัลไคด้ามาแล้ว แต่ในความเป็นจริง เป็นแค่เหตุผลสร้างความชอบธรรมตั้งฐานทัพที่ยิ่งใหญ่บริเวณประเทศอ่าวจนกระทั่งปัจจุบัน ล่าสุดสหรัฐฯมีส่วนปลุกปรากฏการณ์ไอเอสสร้างความปั่นป่วนในประเทศตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิรักและซีเรียมาแล้ว

เขียนโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

วินาทีสังหาร พลตรีคาซิม สุไลมานี ผบ. หน่วยรบพิเศษอัลกุดส์แห่งอิหร่าน

อีหร่านเดือดหลังสุไลมานีโดนสังหารที่สนามบินอิรักพร้อมสมุนใกล้ชิดอีกอย่างน้อย 4 ราย ในขณะที่อาบูตารีกาห์ยืนยัน ถึงเวลาที่สหรัฐฯเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ในเกมส์ที่สุดสกปรก

ช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม 2563 ตามเวลาที่อิรัก พลตรีคาซิม สุไลมานี วัย 62 ปี ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอิหร่าน รองจากอะยาโตลาห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ถูกสังหารด้วยโดรนทิ้งระเบิดโจมตีตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ พร้อมผู้ใกล้ชิดอย่างน้อยอีก 4 ราย ที่สนามบินในกรุงแบกแดดหลังจากเดินทางกลับจากซีเรียและเลบานอน

พลตรี คาซิม สุไลมานี คือผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษอัลกุดส์ของอิหร่าน ผู้อยู่เบื้องหลังปฎิบัติการนองเลือดในตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่อีรัก ซีเรียและเลบานอน

เตหะรานข่มขู่ที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงในขณะที่เครือข่ายแกนนำชีอะฮ์ที่อิรักเลบานอนและเยเมน ต่างออกมาข่มขู่ที่จะตอบโต้สหรัฐฯเช่นเดียวกัน

ตำนานนักฟุตบอลแห่งเมืองฟาโรห์ อบูตารีกาห์ เขียนในทวิตส่วนตัวกรณีการสังหารครั้งนี้ว่า ซาตานได้สังหารฆาตกรบนแผ่นดินอาหรับและในประเทศอิสลาม โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดปกป้องอิรัก และได้โปรดทำลายผู้อธรรมด้วยฝีมือผู้อธรรม โปรดให้เราปลอดภัย สหรัฐฯได้เวลาเปลี่ยนอะไหล่ในเกมส์อันสกปรกของเขา ที่ท้ายสุดแล้ว เหยื่อที่แท้จริง ไม่พ้นประชาชาติมุสลิมและประเทศอิสลาม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่อิหร่านประกาศสงครามกับสหรัฐฯและกล่าวหาสหรัฐฯว่าเป็นซาตานที่ยิ่งใหญ่ แต่ในปัจจุบันพบว่า ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายครั้งรุนแรงที่สุดคือประชาชาติอิสลาม

เขียนโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

รมว. ศึกษาธิการมาเลเซีย ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

Dr. Maszlee Malik รมว. ศึกษาธิการมาเลเซีย ชุดรัฐบาลปัจจุบันได้แถลงข่าวประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากดำรงตำแหน่งนี้นาน 20 เดือนในชุด ครม. Harapan ที่มี ตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด เป็นหัวหน้ารัฐบาล

Dr. Maszlee กล่าวว่า หลังจากได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติตามข้อแนะนำของท่าน ตนจึงตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งนี้ ซึ่งท่านได้เปิดใจสั้นๆ ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับตำแหน่งนี้ สำหรับบุคคลที่ไม่มีฐานหนุนทางการเมือง

การประกาศลาออกจากตำแหน่งระดับรัฐมนตรี ถือเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นใน ครม. ชุดมหาเธร์ 2 โดยการลาออก จะมีผลในวันพรุ่งนี้ ในวันที่ 3 มกราคม 2020

ถือเป็นข่าวใหญ่ต้อนรับปีใหม่ในแวดวงการเมืองของมาเลเซียทีเดียว

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.hmetro.com.my/utama/2020/01/531359/maszlee-malik-letak-jawatan-metrotv

แก้ปัญหาใต้ : การเยียวยาเเค่ส่วนหนึ่ง

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

การเยียวยาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน :กรณีทหารพรานยิงชาวบ้าน
จากกรณีที่ทหารพรานยิงชาวบ้านที่เขาตะเว จังหวัดนราธิวาส ได้มีการนำเงินเยียวยาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และแม่ทัพภาคที่สี่ นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากจะให้ปัญหามีโอกาสที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีกตามหลักการสากลแล้ว (ตามข้อเสนอแนะของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) จะต้องดำเนินการไปด้วยกันสี่ขั้นตอนตามหลักกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (ศัพท์ทางวิชาการ) (Transitional Justice – TJ) และทุกกรณีไม่ว่าเหตุการณ์ที่ลำพะยาและอื่นๆมาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ


หมายเหตุ : ฟังคลิปบทสัมภาษณ์หน่วยความมั่นคงหลังเยียวยาครอบครัวเหยื่อทหารพรานยิงประชาชน

เขียนโดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

คำกล่าวในพิธีเปิดประชุม KL Summit 2019 ของนายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด ประธานการประชุม

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในพิธีเปิด KlSummit 2019 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพวานนี้ 19 ธันวาคม 2019 ว่า โลกมุสลิมอ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถที่จะปกป้องประชาชาติอิสลามได้ และว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพียงแต่ในขั้นต้นต้องการเริ่มแบบเล็กๆก่อนเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ต้องการพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของประชาชาติอิสลามในปัจจุบัน ไม่ใช่มาโต้แย้งเรื่องหลักการศาสนา

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด ย้ำว่า เราทั้งหลายต่างรู้ดีว่าเรามุสลิมประสบกับวิกฤติ ชาวมุสลิมต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปยังประเทศที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม

นอกจากนั้น โลกมุสลิมยังประสบกับปัญหาภายใน มีการกดขี่ข่มเหงต่อมุสลิมด้วยกัน ในการประชุมคราวนี้เราต้องการที่จะสร้างความชัดเจนว่าปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะรับมือกับสงครามภายในนี้ได้อย่างไร ? จะรับมือกับวิกฤติและเยียวยาแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร? จะรักษาชื่อเสียงเกียรติยศศาสนาของเราได้อย่างไร ? นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าว

ไม่มีประเทศมุสลิมแม้แต่ประเทศเดียวที่เป็นประเทศเจริญแล้ว แม้ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล แต่ก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัดกล่าว

และว่า น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่ประเทศเหล่านี้ต่างอ่อนแอไม่สามารถปกป้องรักษาประชาชาติอิสลามได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวว่า ปัจจุบันนี้อิสลามถูกมองเทียบเท่ากับการก่อการร้าย

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวว่า ในอดีต มุสลิมได้สถาปนาอารยธรรมที่มีความเจริญก้าวหน้า และเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปทั่วโลก แต่วันนี้ โลกไม่ได้ยกย่องให้เกียรติเรา เพราะเราไม่ใช่เป็นผู้ส่งออกวิชาความรู้เหมือนในอดีต เราไม่มีบทบาทในอารยธรรมโลกปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า การเสื่อมถอยของอารยธรรมอิสลามเริ่มต้นในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในช่วงเวลานั้น สังคมมุสลิมต่างปฏิเสธที่จะเรียนวิชาความรู้ใดๆ นอกจากความรู้ที่เกี่ยวข้องการทำอิบาดะฮ์เฉพาะเท่านั้น ทำให้นักวิชาการในยุคนั้นมัวแต่โต้แย้งเกี่ยวกับหลักการศาสนาที่มีความเห็นแตกต่างกัน กลายเป็นกลุ่มเป็นพวก จนกลายเป็นสงครามทางความคิด

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าวอีกว่า ในอัลกุรอาน อัลเลาะห์บอกว่าจะช่วยมุสลิม ต่อเมื่อมุสลิมทุ่มเทความพยายาม ไม่ใช่งอมืองอเท้าแล้วรอคอยความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์อย่างเดียว

และย้ำว่า นวัตกรรมใหม่ๆ ในรอบ 100 ปีนี้ไม่มีสิ่งใดที่นำเสนอคิดค้นโดยมุสลิม เครื่องมือเครื่องใช้ที่เราใช้อยู่ในตอนนี้ทั้งหมดล้วนคิดค้นโดยผู้อื่น ซึ่งหมายความว่า เราต้องพึ่งพิงประเทศที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและการพัฒนา

ทั้งที่เราทราบว่า บางประเทศล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็สามารถกลับมายืนได้อีกครั้งและพัฒนาตัวเอง ในขณะที่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถแม้แต่ในด้านบริหาร อย่าว่าแต่ด้านการพัฒนา

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า นี้เป็นสิ่งที่ศาสนาของเราสอนหรือ อิสลามคือต้นเหตุที่ทำให้เราเป็นแบบนี้หรือ

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวย้ำว่า นี่คือสิ่งที่เราจะมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการประชุมครั้งนี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะที่เห็นพ้องต้องกันนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม สู่การริเริ่มที่ยิ่งใหญ่มากกว่าต่อไป

เขียนโดย Ghazali Benmad

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปาฐกถาพิเศษที่ IIUM,Gombak Campus

20 ธันวาคม 2562 รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกพิเศษที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย IIUM เนื่องในงาน Grand Talk ในหัวข้อ ธาตุแท้ชัยฏอน ที่ Experimental Hall,Level 3 , IIUM, Gombak Campus เวลา 09.00-12.00 น.

หัวข้อดังกล่าวคือผลงานหนังสือล่าสุดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่เขียนในภาษามลายูภายใต้ชื่อเรื่อง : Hakikat As-Syaitan Ar-rajeem : penipuannya dan cara memusuhinya menurut ajaran Allah dan Rasul صلى الله عليه وسلم ซึ่งได้รับแปลเป็นภาษาไทยขื่อ รู้จักชัยฏอน ธาตุแท้ กลอุบาย วิธีต่อสู้ โดย ซุฟอัม อุษมาน เป็นบรรณาธิการแปล

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวตอนหนึ่งว่า เรายังไม่เพียงพอที่จะเพียงรับรู้ว่า ชัยฏอนคือศัตรูของเรา แต่ในขณะเดียวกันเราต้องประกาศอย่างชัดเจนว่ามันคือศัตรูตัวฉกาจของเราด้วย เพราะปลายทางสุดท้ายของชัยฏอนคือนรก มันจะใช้เล่เหลี่ยมทุกวิถีทางเพื่อฉุดกระชากเราสู่นรกให้จงได้ ขออัลลอฮ์คุ้มครอง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้เชิญชวนทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักศึกษาและคณาจารย์ ศึกษาเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับชัยฏอน เพราะหากเราไม่สนใจศึกษาเรื่องนี้ แสดงว่าเราคือหนึ่งในบรรดาเหยื่อของชัยฏอนอย่างแน่นอน เราขอความคุ้มครองด้วยอัลลอฮ์จากชัยฏอนที่ถูกสาปแช่ง

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการและนักคิด 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมประชุม KL_Summit_2019 ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

สามารถรับชมเทปบรรยาย ได้ด้านล่างนี้

ผู้นำโลกมุสลิมตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชาติอิสลาม

ดร.อะหมัด มันซูร ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสถานีอัลจาซีรา ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ครั้งนี้ รายงาน เบื้องหลังสถานการณ์การประชุมครั้งนี้ผ่านเว็บไซต์ ว่า เจตนารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการ เฟ้นหาผู้นำโลกมุสลิมที่ตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชาติอิสลาม และตั้งใจจริงในการกอบกู้สถานภาพของประชาชาติอิสลาม และสังคมโลกมุสลิม ตลอดจนสร้างความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของโลกมุสลิมให้มีบทบาท ในสังคมโลก ไม่ใช่อยู่อย่างเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

ดร.อะหมัด มันซูร บอกว่า นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าวว่า ในตอนแรกมีประเทศที่ตอบรับการประชุม 5 ประเทศ อันได้แก่ มาเลเซีย ตุรกี กาตาร์ ปากีสถานและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความพร้อม ทั้งในด้าน ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นสูง และเทคโนโลยี ไม่รวมถึงอิหร่านที่ประธานาธิบดีอิหร่าน เพิ่งตัดสินใจในภายหลัง ถึงไม่ได้ถูกนำเข้ามาในรายชื่อของผู้เข้าร่วมในตอนแรก ตลอดจนได้ส่งคำเชิญไปยังประเทศสมาชิกโอไอซีจำนวนมาก

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลความตึงเตรียดระหว่างตุรกีและกาตาร์ เจ้าภาพหลักของการประชุมครั้งนี้ฝ่ายหนึ่ง กับอิมิเรตและซาอุดิอาระเบียฝ่ายหนึ่ง จึงส่งผลต่อการตัดสินใจของประเทศใกล้ชิด กระทั่งสุดท้ายแล้ว ทำให้ปากีสถานและอินโดนีเซีย ที่เศรษฐกิจของประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับซาอุดิอาระเบียและ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างมหาศาล จึงจำเป็นต้องถอนตัว คงเหลือตัวแทนของรัฐในระดับต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพียง 18 ประเทศ และระดับประมุขสูงสุด เพียง 3 คน ประเทศ คือ ตุรกี กาตาร์ และอิหร่าน

เขียนโดย Ghazali Benmad

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019
ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ อ. ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019 ที่จัดขึ้นที่ KL Convention Centre ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีผู้นำสูงสุด 3 ประเทศ นอกจากประเทศเจ้าภาพมาเลเซียคือ กาตาร์ ตุรกี และอิหร่าน เข้าร่วมถกปัญหาและร่วมมือแก้ไขวิกฤติโลกอิสลามในปัจจุบัน อีกทั้งสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

ในการประชุมครั้งนี้มีนักวิชาการ นักคิดทั่วโลกเกือบ 500 คนจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม ในโอกาสนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้มีโอกาสพบปะและทักทายผู้นำประเทศตุรกี นายรอยับ ตอยยิบแอร์โดอาน และตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกด้วย

เอื้อเฟื้อรูปภาพโดย Muslim Bin Ismail Lutfi
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ