ข่าว ข่าวต่างประเทศ

ข้อตกลงแห่งศตวรรษ 2020 (Deal of the Century) รื้อฟื้นคำประกาศบัลโฟร์ 1917

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนการตะวันออกกลางต่อสาธารณชนในวันที่ 28 ม.ค. 2020 ที่ทำเนียบขาวภายหลังรัฐบาลของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เวลาร่างแผนดังกล่าวถึง 2 ปี โดยแผนการตะวันออกกลางจะเป็นแนวทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

โดยปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้หารือถึงรายละเอียดของแผนการสันติภาพกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 ม.ค. 2020) โดยภายหลังการหารือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวชื่นชมแผนการดังกล่าวว่าเป็นแผนการสันติภาพแห่งประวัติศาสตร์

แผนสันติภาพหรือข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ ทำให้โลกอิสลามนึกถึงคำประกาศบัลโฟร์ที่รัฐบาลอังกฤษโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น นายอาเธอร์ บัลโฟร์ได้พิมพ์ข้อความจำนวน 67 คำส่งไปยังบิดาแห่งไซออนนิสต์ นายธิวดอร์ เฮิรติเซิล ซึ่งมีสาระหลักมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่ชาวยิว สร้างตำนาน ”สัญญาจากผู้ที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของมอบให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ครอบครอง” ที่กลายเป็นปฐมเหตุแห่งความขัดเเย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน

ช่วงแถลงข่าว ประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยว่า แผนสันติภาพที่มีเนื้อหา 80 หน้านี้ ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของการสร้างสันติภาพและมีความแตกต่างกับแผนการที่ผ่านมา เรามีวิสัยทัศน์อันชัดเจนว่า อัลกุดส์คือเมืองหลวงของอิสราเอลอันเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น เขายืนยันว่า สันติภาพมีความจำเป็นที่คู่กรณีต้องเสียสละ แต่เราจะไม่เรียกร้องให้อิสราเอลเสียสละใดๆเพื่อสร้างสันติภาพ

ทรัมป์ได้กล่าวถึงผลงานตนเองที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้แก่อิสราเอลอาทิ ย้ายสถานทูตสหรัฐฯไปยังอัลกุดส์รวมทั้งยอมรับที่ราบสูงโกลานให้เป็นกรรมสิทธิ์ถาวรของอิสราเอล

ทรัมป์เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาแผนสันติภาพดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก บัดนี้ได้เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่จะปกครองแผ่นดินโดยสมบูรณ์ที่สามารถขยายเพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่า

ทรัมป์ได้สัญญาจะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาปาเลสไตน์ด้วยวงเงินจำนวน 50,000 ล้านดอลล่าร์ พร้อมยืนยันว่ากลุ่มต่อต้านแผนสันติภาพนี้โดยเฉพาะกลุ่มฮามาสและญิฮาดอิสลามจะต้องยุติบทบาทลง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อตกลงนี้จัดขึ้น ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิสราเอลที่ทำเนียบขาว โดยไม่มีคู่กรณีสำคัญคือผู้แทนของชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมแม้แต่คนเดียว ซึ่งทำให้เรานึกถึงสัญญาบัลโฟร์ที่เกิดขึ้นในปี 1917 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา

ข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ มีชาติอาหรับส่งผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตร่วมเป็นสักขีพยาน 3 ประเทศคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรนและโอมาน ส่วนประเทศอาหรับอื่นๆต่างส่งสัญญาณที่ดีและชื่นชมกับความสำเร็จของข้อตกลงครั้งนี้ ในขณะที่สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ยังไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ

ทั้งนี้ทางสหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติของรายละเอียดแผนการสันติภาพได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอิสราเอลมีปัญหาทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง โดยส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่สามารถรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าในการหาข้อสรุปต่อแผนการดังกล่าว

จากการขาดผู้ชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ส่งผลให้อิสราเอลจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อต่อไป ดังนั้นทางสหรัฐฯ จึงเชิญผู้นำทางการเมืองของอิสราเอลมาหารือ เพื่อให้การจัดทำแผนสันติภาพสามารถหาข้อยุติได้

ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังต้องการสร้างหลักประกันว่า ตนสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในการเลือกตั้งสมัยหน้า

ทางด้านประธานาธิบดีแอร์โดอานแห่งตุรกีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลตุรกี ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแผนสันติภาพนี้ พร้อมยืนยันว่าอัลกุดส์คือเส้นแดงที่ไม่มีใครสามารถแตะต้องได้

โดยทีมงานต่างประเทศ

ลิงค์อ้างอิง
https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/1/28/%d8%a3%d9%85%d9%8a%d8%b1%d9%83%d8%a7-%d8%b5%d9%81%d9%82%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d9%82%d8%b1%d9%86-%d8%ae%d8%b7%d8%a9-%d8%aa%d8%b1%d8%a7%d9%85%d8%a8-%d9%81%d9%84%d8%b3%d8%b7%d9%8a%d9%86-%d8%a5%d8%b3%d8%b1%d8%a7%d8%a6%d9%8a%d9%84?fbclid=iwar1ftjkghfniwd4jegjeevlb18_uc3ucrvj55oguzmfrf2gkgwfdwvixbu0

https://www.bbc.com/thai/international-41862209?fbclid=IwAR3l8_v5hTy26HyNcpLUx2m-VkCJn3uJcutfdAdEgrEgZHeLPEQuHHIOn5M