ประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? [ตอนที่ 4]

โดย ชีคดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์

อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ [ International Union for Muslim Scholars-IUMS  ] และประธานสภาฟัตวาและการวิจัยแห่งยุโรป [ European Council for Fatwa]

จุดเด่นของระบอบประชาธิปไตย

จุดเด่นของระบอบประชาธิปไตยคือ เป็นการค้นพบสูตรและวิธีการที่ถือเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาชนจากการกดขี่ของเหล่าจักรพรรดิและกษัตริย์ทรราช หลังการต่อสู้อันยาวนานเพื่อให้ได้มาสิ่งนี้

ไม่มีข้อห้ามสำหรับมนุษยชาติ นักคิดและผู้นำในการคิดหาสูตรและวิธีการอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่สิ่งที่สมบูรณ์และเป็นอุดมคติมากกว่านี้ แต่จนกว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้และประสบความสำเร็จในความเป็นจริง เราคิดว่าจำเป็นต้องอ้างอิงจากวิธีการของประชาธิปไตยในการบรรลุสู่ความยุติธรรม การปรึกษาหารือการเคารพสิทธิมนุษยชน ในการเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงของทรราชในโลกนี้

ในบรรดากฎชะรีอะห์ดังกล่าวได้แก่

– สิ่งที่สิ่งวายิบ(ข้อบังคับ)ไม่อาจบรรลุผลได้โดยไม่มีสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ถือสิ่งวายิบ(ข้อบังคับ)

– วัตถุประสงค์ใดๆ ทางกฎหมายที่ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้นอกจากด้วยเหตุปัจจัยใดๆ ปัจจัยดังกล่าวก็จะมีสถานะเดียวกับเป้าหมาย 

ศาสนาอิสลามไม่ห้ามอ้างอิงความคิดเชิงทฤษฎีหรือวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  เพราะศาสดา – ขอพระเจ้าอวยพรและมอบสันติสุขให้ท่าน – รับแนวคิด“ ขุดร่องลึก” ในช่วงสงครามอะห์ซาบ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของเปอร์เซีย

และท่านใช้ประโยชน์จากนักเชลยศึกในสงครามบัดร์ เพื่อสอนหนังสือให้แก่เด็กๆที่ไม่รู้วิธีอ่านและเขียน

เพราะสติปัญญาเป็นสิ่งของที่ผู้ศรัทธาที่ทำหล่นหายไป หากเขาพบมันที่ใด เขาก็มีสิทธิได้รับเป็นเจ้าของมากกว่าผู้อื่น

ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในหนังสือบางเล่มว่า เป็นสิทธิ์ของเราที่จะอ้างแนวคิดและวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อเราจากผู้อื่น ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการที่ชัดเจน หรือกฎชะรีอะฮฺที่ตายตัว

เราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรานำมาอ้างอิง และเติมเต็มจิตวิญญาณที่จะทำให้สิ่งที่นำมานั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา และทำให้สิ่งนั้นเสียอัตลักษณ์แรกไป

การเลือกตั้งถือเป็นการทำหน้าที่เป็นพยานลักษณะหนึ่ง

ระบบการเลือกตั้งหรือระบบการลงคะแนน ในมุมมองของศาสนาอิสลาม ก็คือ “การทำหน้าที่เป็นพยาน” ของความถูกต้องเหมาะสมของผู้สมัคร

คุณสมบัติของ “เจ้าของคะแนนเสียง” จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพยาน คือจะต้องมีความยุติธรรมและประพฤติดี ดังที่อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวว่า

وأشهدوا ذوي عدل منكم

“และจงให้พวกท่านผู้ที่มีความยุติธรรม จำนวน 2 คน เป็นพยาน” (อัลกุรอาน : อัตตอล้าก-การหย่าร้าง: 2)

ممن ترضون من الشهداء

 “จากบรรดาผู้ที่พวกท่านยอมรับในหมู่พยาน”  (Al-Baqarah: 282)

ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นพยานโดยทุจริต ก็ถือว่าได้กระทำการเป็นพยานเท็จ ซึ่งอัลกุรอานได้เชื่อมโยงกับการตั้งภาคีต่อพระเจ้า โดยกล่าวว่า

فاجتنبوا الرجس من الأوثان واجتنبوا قول الزور

 “ดังนั้นจงหลีกเลี่ยงสิ่งที่น่ารังเกียจจากบรรดารูปเคารพและหลีกเลี่ยงคำพูดเท็จ (อัลฮัจญ์: 30)

 ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นพยานให้ผู้สมัครเพียงเพราะเขาเป็นญาติหรือคนในท้องถิ่นของตน หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวที่แสวงหาจากผู้สมัคร แสดงว่าเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจ ที่บัญชาว่า

وأقيموا الشهادة لله

“และจงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮ์” (อัลกุรอาน : อัตตอล้าก-: 2)

และผู้ใดที่ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งของตน จนเป็นเหตุทำให้คนดีมีความสามารถสอบตก และผู้ไม่สมควรหรือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามบทบัญญัติอิสลามที่ว่าต้องเป็น”คนเก่งและดี” กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ถือว่าเขามีความผิดฐานปกปิดการให้การเป็นพยาน ในเรื่องที่มีความจำเป็นต่อสังคมมากที่สุด

และผู้ทรงอำนาจตรัสว่า:

ولايأب الشهداء إذا ما دعوا

 “และพยานจะไม่ปฏิเสธหากพวกเขาถูกร้องขอ” (Al-Baqarah: 282)

ولا تكتموا الشهادة ومن يكتمها فإنه آثم قلبه

 “และอย่าปิดบังพยานหลักฐาน และผู้ใดปกปิดมัน ถือว่าเขาเป็นคนใจบาป” (Al-Baqarah: 283)

คุณสมบัติและเงื่อนไขอื่นๆ ของผู้สมัครก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นคุณสมบัติที่ควรให้ความสำคัญยิ่งกว่า 

เมื่อรวมถึงเงื่อนไขและแนวทางเหล่านี้ในระบบการเลือกตั้งแล้ว เราจึงถือว่า การเลือกตั้งเป็นระบบอิสลาม แม้ว่าจะมีการนำมาจากผู้อื่นก็ตาม

ระหว่างอำนาจอธิปไตยของประชาชน และอำนาจอธิปไตยของอัลลอฮ์

สิ่งที่เราต้องการมุ่งเน้น ณ ที่นี่คือสิ่งที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้นซึ่งก็คือ : แก่นแท้ของประชาธิปไตยสอดคล้องกับแก่นแท้ของศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน  หากเราอ้างอิงแหล่งที่มาดั้งเดิมของอิสลาม และนำมาจากแหล่งที่มาอันบริสุทธิ์ ได้แก่ อัลกุรอานและซุนนะห์ และผลงานของบรรดาคอลีฟะฮ์ผู้อาวุโสไม่ใช่จากประวัติศาสตร์ของผู้นำมุสลิม  ความอยุติธรรมกษัตริย์ทรราช หรือจากฟัตวาของนักปราชญ์ของสุลต่าน หรือกัลยาณชนผู้ไม่ศึกษาในศาสตร์อย่างลึกซึ้งถ่องแท้

คำพูดที่กล่าวว่า : ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองประชาชนโดยประชาชน  เป็นการขัดแย้งกับหลักการที่ว่า “อำนาจเป็นของอัลลอฮ์”  ถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะต้องปฏิเสธอำนาจของพระเจ้าเหนือมวลมนุษย์ เนื่องจากผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงสิ่งนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาหมายถึงอย่างกระตือรือร้นคือ การปฏิเสธการปกครองแบบเผด็จการ  การปฏิเสธการปกครองของผู้นำทรราชที่อ้างประชาชนมากกว่า

ระบอบประชาธิปไตยที่คนเหล่านี้หมายถึง เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกผู้ปกครองตามที่พวกเขาต้องการ โดยให้มีการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองเหล่านั้น  รวมถึงปฏิเสธคำสั่งของผู้นำหากพวกเขาละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศ  ที่ในวลีของอิสลามเรียกว่า  “การปฏิเสธคำสั่งหากผู้นำสั่งให้ทำบาป” และมีสิทธิ์ถอดถอนพวกเขา ออกหากพวกเขาเบี่ยงเบนและไม่ยุติธรรม  และไม่ตอบรับคำแนะนำหรือคำเตือน

หลักการของ “อัลหุกม์ ลิลลาฮ์-อำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์” หมายความว่าอะไร ?

ข้าพเจ้าอยากจะย้ำเตือนก่อน ณ ตรงนี้ว่า หลักการ “อัลหุกม์ ลิลลาฮ์-อำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์” เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่แท้จริง  ที่นักวิชาการด้านอุศูลุลฟิกฮ์ – ศาสตร์ว่าด้วยการวินิจฉัยบทบัญญัติอิสลาม – ทั้งหมดต่างยอมรับหลักการนี้ ในการอภิปรายเกี่ยวกับ “บทบัญญัติกฎหมายอิสลาม-หุกุ่มชัรอีย์” และในกรณีอภิปรายเกี่ยวกับ “ผู้ปกครอง” พวกเขาเห็นพ้องกันว่า“ ผู้ปกครอง” คือพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ  และศาสดาเป็นผู้สื่อสารของพระเจ้า  โดยที่อัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพเป็นผู้สั่งใช้ และผู้สั่งห้าม อนุญาตและไม่อนุญาต ตลอดจนบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ

และคำกล่าวของกลุ่มคอวาริจญ์-กลุ่มกบฏในยุคคอลีฟะฮ์แรกๆ- ที่ว่า  “ลาหุกม์ อิลลา ลิลลาฮ์-ไม่มีอำนาจปกครองใด ยกเว้นเป็นสิทธิสำหรับพระเจ้าเท่านั้น ” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องในตัวของมันเอง แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการใช้ผิดที่ผิดทาง  โดยที่พวกเขาใช้เพื่อปฏิเสธคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่เป็นมนุษย์ในข้อพิพาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของอัลกุรอานที่ยอมรับการอนุญาโตตุลาการในหลายๆที่ 

หนึ่งในสิ่งที่ทราบกันดีที่สุดคือ กรณีอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่สมรสหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างพวกเขา

นั่นคือเหตุผลที่ท่านคอลีฟะฮ์อาลีผู้ซื่อสัตย์ – ขอให้พระเจ้าพอใจกับเขา – ตอบโต้ต่อชาวคาริจโดยกล่าวว่า “คำพูดแห่งความจริง แต่ใช้เพื่อสนองความเท็จ” ท่านอาลีตำหนิที่พวกเขาใช้หลักการนี้ไปคัดค้านหลักการอื่นของอัลลอฮ์ ( หมายถึง กรณีอนุญาโตตุลาการที่ท่านอาลีทำกับท่านมุอาวียะฮ์ เพื่อยุติข้อพิพาท แตคอวาริจญ์ไม่ยอมรับ – ผู้แปล )

จะไม่ใช่คำพูดแห่งความจริงได้อย่างไร เพราะหลักการนี้นำมาจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ชัดเจน  อัลลอฮ์กล่าวว่า

إن الحكم إلا لله

“ไม่มีการพิพากษา/ปกครอง นอกจากมีไว้เพื่ออัลลอฮ์เท่านั้น” (ยูซุฟ : 40)

 ดังนั้น การปกครองของพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์นั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน และแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1 – อำนาจปกครองจักรวาล ซึ่งหมายความว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้จัดการบริหารจักรวาล ผู้บริหารกิจการของพระองค์ ซึ่งเป็นไปตามลิขิตของพระองค์  ตามกฎเกณฑ์ที่ไม่มีผันแปร ไม่ว่าเป็นสิ่งที่รู้และไม่รู้  ดังเช่นในคำพูดนั้นพระผู้ทรงฤทธานุภาพว่า

أو لم يروا أنا نأتي الأرض ننقصها من أطرافها والله يحكم لا معقب لحكمه وهو سريع الحساب

“หรือพวกเขาไม่เห็นว่าเรามาถึงโลกที่เราลดหลั่นมันลงมาจากชายขอบ และอัลลอฮ์ทรงปกครอง และไม่มีการปกครองหลังจากการปกครองของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ตัดสินอย่างรวดเร็ว” ( อัรเราะด์ : 41)

สิ่งที่ปรากฎมาในความเข้าใจทันทีคือ การปกครองในที่นี้หมายถึง การปกครองในเชิงบริหารจัดการจักรวาล ไม่ใช่การปกครองในเชิงนิติบัญญัติในเรื่องกฎหมาย

2- การกำกับดูแลด้านกฎหมายเชิงบทบัญญัติ  ซึ่งเป็นอำนาจปกครองด้วยงานคำสั่งใช้และข้อห้าม ข้อผูกมัดและการใช้สิทธิเลือก  และเป็นสิ่งที่ปรากฏในคำสั่งที่พระเจ้าส่งผู้ส่งสารมา และพระองค์ทรงส่งคัมภีร์มา เพื่อใช้การกำหนดภาระหน้าที่ ข้ออนุญาตและข้อต้องห้าม .. สิ่งนี้ไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยมุสลิมที่ยอมรับอัลลอฮ์ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้า และอิสลามเป็นศาสนา และมูฮัมหมัด – ขอพระเจ้าอวยพรเขาและประทานสันติสุขแก่เขา – เป็นศาสดาและศาสนทูต

[*** ซึ่งหมายถึง การวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนาต่อกรณีต่างๆ ก็ถือเป็นกระทำของมนุษย์ แต่ทุกฝ่ายล้วนยอมรับ ไม่มีใครปฏิเสธว่าทำไม่ได้ แต่พอจะใช้หลักการเรื่องอนุญาโตตุลาการ กลุ่มคอวาริจญ์กลับอ้างว่า เป็นการตัดสิน/พิพากษาของมนุษย์ ขัดแย้งกับอัลกุรอานที่ยอมรับหลักอนุญาโตตุลาการ – ผู้แปล   ]

มุสลิมที่เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเพียงการเรียกร้องโดยถือว่ารูปแบบหนึ่งของการปกครองโดยใช้หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลามในการเลือกผู้ปกครอง การนำหลักการชูรอ-การปรึกษาหารือและคำแนะนำ การกำชับในสิ่งที่ดีและห้ามมิให้ทำสิ่งที่ผิด  ต่อต้านความอยุติธรรมและปฏิเสธการละเมิดฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการ “ไม่เชื่ออย่างชัดเจน” ตามหลักการที่พิสูจน์ได้

สิ่งที่ยืนยันสิ่งนี้คือ : รัฐธรรมนูญระบุ – ในขณะที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย – ว่า ศาสนาของรัฐคือศาสนาอิสลาม และกฎหมายอิสลามเป็นที่มาของกฎหมาย และนี่คือการยืนยันอำนาจอธิปไตยของพระเจ้า  นั่นคือหลักนิติธรรมของพระองค์และวจนของอัลลอฮ์มีสถานะสูงสุด เป็นไปได้ที่จะเพิ่มมาตราที่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายหรือระบบทุกระบบ ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของชะรีอะฮ์ถือว่าเป็นโมฆะ  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นสำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะต้องเป็นการปกครองของประชาชนแทนที่การปกครองของพระเจ้า เนื่องจากไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน

และหากสิ่งนั้นจำเป็นในข้อกำหนดของระบอบประชาธิปไตยคำกล่าวที่ถูกต้องของผู้ตรวจสอบในหมู่นักวิชาการของศาสนาอิสลาม: หลักคำสอนนั้นจำเป็นไม่ใช่หลักคำสอนและไม่อนุญาตให้ผู้คนปฏิเสธศรัทธาหรือปฏิเสธศรัทธาโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักคำสอนของพวกเขาพวกเขาอาจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้และพวกเขาอาจไม่ได้คิดถึงพวกเขาเลย

ถึงกระนั้น แม้ว่าบางครั้ง ระบอบประชาธิปไตยจะมีเจตนาให้มนุษย์มีอำนาจปกครองเหนือศาสนา แต่ทัศนะที่ถูกต้องของนักวิชาการอิสลามเห็นว่า  องค์ประกอบทุกอย่างของแนวคิดสำนักหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์เสมอไป  ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ตีตราว่า ผู้ที่ถือแนวคิดของสำนักใดๆ หลุดพ้นจากศาสนาอิสลามเพียงแค่ยึดถือแนวคิดของสำนักนั้น เพราะบางครั้งผู้ที่ยึดถือแนวคิดนั้น อาจไม่ยึดถือตามทั้งหมด บางครั้งอาจไม่คาดคิดด้วยซ้ำไป


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ความสัมพันธ์ระหว่างอิควานกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย จากอดีตที่แน่นแฟ้นกับปัจจุบันที่ขาดสะบั้น (ตอนที่ 1)

นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางให้ข้อสังเกตว่า เค้าลางแห่งความสัมพันธ์อันร้าวลึกระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิควาน เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน หลังจากการครองอำนาจของกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางท่านถือว่าเป็นยุคล้างบางกลุ่มอิควานทีเดียว โดยเฉพาะหลังคำแถลงการณ์ ของอะมีรสะอูด ฟัยศอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2015 ที่ระบุว่า “เราไม่มีปัญหากับกลุ่มอิควาน แต่เรามีปัญหากับคนบางคนในองค์กรนี้ ที่ร่วมให้คำสัตยาบัน (บัยอะฮ์)ผู้นำสูงสุด (มุรชิด)ของพวกเขา” ซึ่งหลังจาก คำแถลงการณ์นี้ผ่านไปเพียง 1 ปี กลุ่มอิควานก็ถูกซาอุดิอาระเบียประกาศเป็นองค์กรก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังมกุฎราชกุมารมูฮัมมัด บินซัลมาน ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ห้วงเวลาฮันนี่มูนระหว่างกลุ่มอิควานกับซาอุดิอาระเบียได้สิ้นสุดแล้ว

“เราทุกคนคืออิควาน” นี่คือพระราชดำรัสของกษัตริย์อับดุลอาซิส อาละซาอูด ผู้สถาปนาประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีต่อหะซัน อันบันนา หลังจากผู้ก่อตั้งอิควานคนนี้ขออนุญาตจัดตั้งสาขาย่อยกลุ่มอิควานที่ซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย กับกลุ่มอิควานมีความแน่นแฟ้นตามลำดับ สี่อของซาอุดิอาระเบียทุกแขนงได้นำเสนอข่าวการมาเยือนซาอุดิอาระเบียของหะซัน อัลบันนา ช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ปี 1936 อย่างล้นหลาม หนังสือพิมพ์ อุมมุลกุรอ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักสมัยนั้น พาดหัวข้อข่าวหน้า 1 ว่า “ยินดีต้อนรับหะซัน อัลบันนา”

หลังจากถูกรัฐบาลอียิปต์ประกาศยุบองค์กรอิควานในปี 1948 หะซัน อัลบันนาได้รับเชิญจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ลี้ภัยไปยังแผ่นดินหะรอมัยน์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน หะซัน อัลบันนาถูกลอบสังหารเมื่อต้นปี 1949 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองยังเป็นไปด้วยดี กลุ่มอิควานได้รับอนุญาตให้จัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกตั้งผู้นำสูงสุด (มุรชิด) ช่วงเทศกาลฮัจญ์อีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ได้งอกเงยด้วยดีตามลำดับโดยเฉพาะยุคกษัตริย์ไฟศอล บินอับดุลอาซิส ที่ถือเป็นยุคทองของกลุ่มอิควานในซาอุดิอาระเบีย

ระหว่างปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1970 ถือเป็นช่วงที่ทั้งสองได้รวมพลังเพื่อสร้างคุณูปการแก่ประชาชาติอิสลามอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีปกป้องมัสยิดอัลอักศอและปาเลสไตน์ นอกจากนี้กลุ่มอิควานถือเป็นกำลังหลักในการวางรากฐานการพัฒนาด้านการศึกษาและสังคมในซาอุดิอาระเบีย กลุ่มแกนนำอิควานจากอียิปต์ ซีเรียและซูดาน ได้หลั่งไหลเข้ามาในซาอุดิอาระเบีย เพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาและยกระดับการศึกษาในประเทศอย่างกว้างขวาง

ชีคมูฮัมมัด อัลฆอซาลี (เสียชีวิตปี 1996 ที่กรุงริยาด อายุ 79 ปี และถูกฝังศพที่สุสานอัลบาเกี้ยะอฺ ที่อัลมะดีนะฮ์) ชีคซัยยิด ซาบิก ( เสียชีวิตปี 2000 อายุ 85 ปี เจ้าของตำรา ฟิกฮุสุนนะฮ์) ชีคมูฮัมมัด กุฏุบ (เสียชีวิตปี 2014 ที่กรุงเจดดะห์ ขณะอายุ 94 ปี) ถือเป็นเมธีศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาที่มหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ มหานครมักกะฮ์ ชีคมูฮัมมัด กุฏุบเคยได้รับเกียรติสูงสุดด้วยรางวัลกษัตริย์ไฟศาลนานาชาติด้านอิสลามศึกษาปี 1988 ชึคอัลฆอซาลี เคยรับรางวัลกษัตริย์ไฟศาลด้านบริการอิสลามปี 1989 และซัยยิด ซาบิก เคยรับรางวัลกษัตริย์ไฟศาลนานาชาติด้านอิสลามศึกษาปี 1994 มาแล้ว

ในขณะที่อะบุลอะอฺลา อัลเมาดูดีย์ และอะบุลหะซัน อะลีอันนัดวีย์ ถือเป็นบุคลลแรกที่ได้รับรางวัลเกียริติยศนี้ในปี 1979 และ 1980 ตามลำดับ

แม้กระทั่งศ. ดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ เราะญับ ฏอยยิบแอร์โดอาน และชีครออิด ศอลาห์ผู้มีฉายาชีคแห่งอัลอักศอ ต่างก็ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ในปี 1994,2010 และ 2013 ตามลำดับ

ยังไม่รวมบุคคลสำคัญอีกมากมายที่เคยได้รับรางวัลนี้ อันแสดงถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่และผลงานที่โดดเด่นของพวกเขาด้านบริการอิสลามและอิสลามศึกษาในระดับโลก ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนแล้วมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกลุ่มอิควานทั้งในฐานะแกนนำ สมาชิกหรือผู้ให้ความร่วมมือ

โปรดดู

https://www.wikiwand.com/ar/جائزة_الملك_فيصل_العالمية_في_خدمة_الإسلام

https://ar.m.wikipedia.org/wiki/جائزة_الملك_فيصل_العالمية_في_الدراسات_الإسلامية

ในยุคนั้น ถือได้ว่า ทั้งมหาวิทยาลัยอิสลามอัลมะดีนะฮ์ ที่มีปรมาจารย์ด้านสถานการณ์โลกอิสลามอย่าง ดร. อาลี ยุร็อยชะฮ์จากอิยิปต์ และมีชีคอะบุล อะอฺลาอัลเมาดูดีย์และอะบุลหะซัน อะลีอันนัดวีย์เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่คอยกำกับดูแลด้านปรัชญาและวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยอิสลามอิมามมุฮัมมัดบินซาอูดที่นครริยาด ซึ่งมีปรมาจารย์ด้านตัฟซีรอย่างดร. มันนาอฺ ก็อฏฏอนจากซีเรีย ในฐานะคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ชีคมูฮัมมัด อัรรอวีย์จากอิยิปต์ในตำแหน่งคณบดีคณะอุศูลุดดีน ชีดอับดุลฟัตตาห์อะบูฆุดดะฮ์ ปรมาจารย์ด้านหะดีษจากซีเรีย และมหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอที่มหานครมักกะฮ์ ซึ่งมีแกนนำอิควานอย่างซัยยิด ซาบิก เชคมุฮัมมัด อัลฆอซาลีและชีคมุฮัมมัด กฏุบ เป็นอาจารย์ประจำ คือมหาวิทยาลัยที่ได้รับการพัฒนาขับเคลื่อนโดยกลุ่มแกนนำอิควานอย่างแท้จริง ถือเป็นยุคทองของการศึกษาในประเทศซาอุดิอาระเบียที่สามารถสร้างผลผลิตอันดีงามที่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

บุคลากรมุสลิมที่มีบทบาททั้งในซาอุดิอาระเบียหรือทั่วโลกอิสลามในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ประธานองค์กร และนักวิชาการมุสลิมมากมาย ต่างเคยเป็นลูกศิษย์ในชั้นเรียนหรือในฐานะนักศึกษาภายใต้ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกจากปรมาจารย์เหล่านี้กันทั้งนั้น

แม้กระทั่งหลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ไฟศาลในปี 1975 กลุ่มอิควาน ก็ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มแนวสันติและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ หน่วยข่าวกรองทั้งในและต่างประเทศต่างมีความเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องภายในที่ถูกมือที่มองไม่เห็น หลอกใช้เป็นเครื่องมือ โดยไม่มีใครกล้าคิดด้วยซ้ำว่า กลุ่มอิควานจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุร้ายนี้

แล้วอะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ต้องขาดสะบั้นลง ติดตามตอนที่ 2 ครับ

มาครงไร้มารยาท

● บทความโดย  ดร.มุฮัมมัด  ซอฆีร

กรรมการสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ  International Union of Muslim Scholars

● อ่านบทความต้นฉบับ

http://iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=12505

ยุคอาณานิคมที่ผ่านมา อังกฤษและฝรั่งเศสจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศมหาอำนาจที่ยึดครองประเทศอื่น ๆ และสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ด้วยความมั่งคั่งและการกดขี่ประชาชน

แต่การยึดครองของฝรั่งเศสแตกต่างจากอังกฤษ ที่ไกลกว่าระดับการปล้นชิงความมั่งคั่งและความพยายามในการควบคุมความเข้มแข็งไปสู่ความพยายามเพื่อเปลี่ยนอัตลักษณ์และรื้อโครงสร้างทางสังคม และบังคับใช้วัฒนธรรมฝรั่งเศสในทุกมิติ โดยเฉพาะภาษา  ฝรั่งเศสเปิดตัวสงครามที่ดุเดือดกับภาษาอื่น ๆ บังคับใช้ภาษาฝรั่งเศสในการติดต่อสื่อสารและการศึกษา  บุกขยี้สังคมเพื่อเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีและวิธีคิด

ในขณะที่อังกฤษ มักเพียงพอกับการมีกองกำลังทหารอยู่รอบๆ เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจได้เท่านั้น

ประวัติศาสตร์ยังบันทึกอาชญากรรมและการสังหารโหดในประวัติศาสตร์ในอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่ประเทศอื่นไม่สามารถทัดเทียมได้ ไม่ว่า ณ ที่ใดก็ตาม โดยที่ฝรั่งเศสเองเป็นผู้บันทึกการก่ออาชญากรรมเหล่านี้ผ่านพิพิธภัณฑ์ “มานุษยวิทยา” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงปารีส ซึ่งมีการจัดแสดงกะโหลกศีรษะและกระดูกของผู้นำการปฏิวัติและกลุ่มต่อต้านที่ฝรั่งเศสได้ทรมาน สังหารและทำร้ายศพพวกเขา และนำศพของพวกเขามาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่ออวดอำนาจและข่มขู่ฝ่ายต่อต้าน

และเมื่อไม่นานมานี้ แอลจีเรียได้นำกะโหลกศีรษะของผู้พลีชีพบางส่วนคืนไป เป็นกะโหลกผู้เสียชีวิตจากการปฏิวัติแอลจีเรียที่ต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสที่นานกว่า 130 ปี ฝรั่งเศสก่ออาชญากรรมในแอลจีเรีย เทียบเท่ากับอาชญากรรมในทุกประเทศที่ฝรั่งเศสยึดครอง

เพียงแค่ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ฝรั่งเศสได้สังหารผู้พลีชีพไป 45,000 คนจากเมืองเซติฟและบริเวณรายรอบ

จำนวนชาวแอลจีเรียทั้งหมดที่ฝรั่งเศสสังหารมีถึง 7 ล้านคน รวมถึงผู้พลีชีพมากกว่าหนึ่งล้านคนในช่วงการปฏิวัติปลดปล่อย 7 ปี 

เมื่อฝรั่งเศสจะจากไป ก็ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในทะเลทรายแอลจีเรีย  ทิ้งผลกระทบและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจนถึงปัจจุบัน

อคติและการเหยียดเชื้อชาติที่ถูกฝังลึก

จากนั้นประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล  มาครง ก็ได้แถลงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางอารยธรรมของสาธารณรัฐฝรั่งเศสและความกลัวอิสลามที่มีต่ออนาคตและองค์ประกอบหลักของฝรั่งเศส รวมทั้งการแสดงออกถึงความเกลียดชังที่ซ่อนเร้น และเปิดเผยการเหยียดเชื้อชาติอย่างลึกซึ้งด้วยการโจมตีอิสลามในฐานะศาสนา  โดยอธิบายว่าอิสลามอยู่ในช่วงวิกฤต 

[ ทั้งนี้ ในการแถลงดังกล่าว มาครงนอกจากจะโจมตีกลุ่มหัวรุนแรงแล้ว ยังได้โจมตีหลักการอิสลามในเรื่องการแบ่งแยกชายหญิง ตลอดจนการคลุมหิญาบ การแยกกิจกรรมเฉพาะศาสนาอิสลาม การแยกสระว่ายน้ำชายหญิง และการละหมาดในสถาบันของรัฐ ไม่เพียงเฉพาะในฝรั่งเศส แต่ยังลามไปถึงมุสลิมทั่วโลก- ผู้แปล ]

https://m.youtube.com/watch?feature=emb_rel_end&v=VrkF50Ye86U

นี่คือพัฒนาการที่อันตรายและเป็นการดูหมิ่นศาสนาโดยตรง ไม่ใช่มุสลิมบางคนที่เชื่อในศาสนานี้หรือเป็นศาสนิกของศาสนา และเป็นการใช้สำนวนที่แสดงถึงการเหยียดศาสนาที่ขัดแย้งกับลัทธิฆราวาสของฝรั่งเศสที่พูดถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ ซึ่งในความเป็นจริง กลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับปรัชญาการเมืองฝรั่งเศส

เช่นตัวอย่างกรณีผ้าคลุมศีรษะ  จะเห็นว่าฝรั่งเศสใช้ความสามารถทั้งหมดในการต่อต้านการคลุมศีรษะและถือว่าผ้าคลุมเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่บ่งบอกถึงศาสนาอิสลาม ไม่ใช่ความปรารถนาที่จะสงวนเนื้อสงวนตัวปกปิดไม่ให้ประเจิดประเจ้อ  และถือว่าเป็นหลักคำสอนทางศาสนา ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล 

เราได้เห็นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสลุกขึ้นและออกจากห้องประชุม เนื่องจากการมีสตรีมุสลิมจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งคลุมศีรษะเข้าร่วมประชุม  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยืนยันว่า ความอคติต่ออิสลาม ยังสถิตอยู่ในความคิดและในจิตวิญญาณของพวกเขา  และวิกฤตที่แท้จริงอยู่ที่ความรู้สึกเหยียดหยามเผ่าพันธุ์ในตัวของพวกเขา และความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่มาพร้อมกับมาครงตั้งแต่เริ่มต้นการบริหารประเทศของเขา  และความพยายามของมาครงที่จะเอาใจชาวฝรั่งเศสสุดโต่งด้วยการนำเสนอประเด็นที่น่ารังเกียจนี้  ตลอดจนความพยายามที่จะยึดโยงกับความสำเร็จปลอมๆ แม้จะอยู่นอกดินแดนฝรั่งเศสก็ตาม ดังที่เราเห็นในเหตุระเบิดท่าเรือเบรุต ซึ่งมาครงยืนกรานที่จะเป็นผู้นำในสถานการณ์ในเลบานอน ที่ทั้งจูบและกอดสตรี เพื่อให้ลืมปัญหากลุ่มเสื้อเหลืองและความล้มเหลวซ้ำซากในฝรั่งเศส

อิสลามและเเอร์โดฆาน

นอกจากนั้น มาครงยังสับสนระหว่างศาสนาอิสลามและแอร์โดฆาน  เป็นที่รู้จักกันดีว่า ประธานาธิบดีตุรกีสร้างความปวดหัวอย่างต่อเนื่องให้กับมาครง เพราะทุกการเผชิญหน้าที่ต่อสู้กับแอร์โดฆาน มาครงไม่ประสบความสำเร็จ และถอยกลับมาอย่างน่าสมเพช ตั้งแต่ในลิเบีย  ปัญหาเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและข้อพิพาทกับกรีซ  และล่าสุดก็ในอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน

ดังนั้น คำตอบของประธานาธิบดีตุรกีจึงรุนแรงและเหมาะสมกับการโจมตีของมาครงต่อศาสนาอิสลาม  แอร์โดฆานอธิบายว่า คำพูดของมาครงหยาบคายและไร้มารยาท

นอกจากคำตอบโต้ของเเอร์โดฆาน เราไม่ได้ยินเสียงของผู้นำอาหรับคนใดอีก  มีแต่กระบอกเสียงของพวกเขาพากันกล่าวว่า  เเอร์โดฆานเล่นกับอารมณ์ของมวลชน  ราวกับว่าผู้นำของพวกเขาไม่มีอารมณ์ความรู้สึก

ส่วนในระดับมวลชนนั้น ปฏิกิริยาแสดงมาอย่างกรี้ยวโกรธสะเทือนในโลกไซเบอร์และสื่อออนไลน์ ในการประณามคำพูดของมาครง และการเหยียดเชื้อชาติของเขา และคนหนุ่มสาวได้อธิบายวิกฤตที่แท้จริงของมาครงด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ

รวมถึงนักวิชาการ หน่วยงานและสถาบันทางวิชาการต่างพากันติดตามเหตุการณ์ดังกล่าว  พวกเขาได้นำเหตุผลมาหักล้างข้อสงสัยเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชัยค์อัซฮัร และสภาอุลามาอ์อาวุโสของอัลอัซฮัร  พวกเขาเน้นย้ำว่าข้อความเหล่านี้เป็นข้อกล่าวหาที่โมเมและสับสน  ถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต่ำช้า

สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ  International Union of Muslim Scholars รวมถึง ศ.ดร.อาลี  กอเราะฮ์ดาฆี  เลขาธิการสหพันธ์ฯ  ยืนยันว่า มาครงตกอยู่ในภาวะวิกฤติทางศีลธรรม  และอิสลามไม่แบกรับความผิดพลาดของผู้นำจอมปลอมที่สร้างวิกฤตด้วยการช่วยเหลือของพวกเขา

ชัยค์อะหมัด  คอลีลีย์  มุฟตีแห่งรัฐสุลต่านโอมานยังได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าสิ่งที่มาครงพูดเป็นผลของความอคติที่มาจากความเกลียดชังในใจเขา

 สิ่งเหล่านี้เป็นจุดยืนที่น่ายกย่อง แต่มีเพียงน้อยนิดและไม่เหมาะสม เมื่อเทียบกับในโลกอิสลามที่กว้างใหญ่ไพศาลที่ถูกกล่าวหาในด้านความเชื่อ  ปฏิกิริยาตอบสนองยังไม่เหมาะสมกับความผิดที่ได้ก่อไว้   มุสลิมน่าจะออกมาปกป้องศาสนาของพวกเขา เช่นดังการปกป้องในยามที่ธงของรัฐถูกเผา  หรือบิดเบือนเหยียดหยามภาพของผู้นำ

บรรดาผู้ที่ไม่ได้สนใจและเมินเฉยต่อเรื่องนี้ พวกเขาจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ของพวกเขากับอิสลาม  และตรวจสอบดูว่าสมาชิกภาพของเขาที่มีต่ออิสลาม มีความชอบธรรมหรือไม่


แปลสรุปโดย

Ghazali Benmad

อิสลามกับงานสาธารณกุศล

งานสาธารณกุศล หมายถึง งานที่มนุษย์สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคุณประโยชน์เชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เว้นแต่เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์

หัวใจของศรัทธาชนที่อุทิศตนทำงานด้านสาธารณกุศล จะมีความผูกพันและโยงใยกับโลกอาคิเราะฮ์(ปรโลกอันนิรันดร์) หวังในผลตอบแทนของอัลลอฮ์

และใฝ่ฝันที่จะเข้าสวนสวรรค์ของพระองค์ ชีวิตของเขาบนโลกนี้จะเปี่ยมด้วยความสิริมงคล หัวใจที่เบิกบาน มีชีวิตที่สดใส ที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้

งานสาธารณกุศลจึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของอิสลามที่ประกาศโดยนบีมุฮัมมัด

อิสลามเชิญชวนสู่การกระทำความดีผ่านบทบัญญัติในอัลกุรอานและแบบอย่าง(ซุนนะฮ์) สรุปได้ดังนี้

  1. อิสลามได้กำชับให้ศรัทธาชนกระทำแต่ความดี ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า
    “และจงประกอบความดี หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัลกุรอาน 22:77)
    “และความดีใด ๆ ที่พวกเขากระทำ พวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธในความดีนั้นเป็นอันขาด และอัลลอฮ์ทรงรู้ดีต่อบรรดาผู้ที่ยำเกรง”(อัลกุรอาน 3:115)
  2. อิสลามกำชับให้ศรัทธาชนใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า
    “และจงพูดจาแก่เพื่อนมนุษย์อย่างดี” (อัลกุรอาน 2:83)
    นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์แล้ว เขาพึงใช้วาจาที่ดีหรือนิ่งเสีย
  3. อิสลามกำชับให้มุสลิมเร่งรีบในการกระทำความดี อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า
    “และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” (อัลกุรอาน 3:133)

    อะบูฮุร็อยเราะฮ์เล่าว่า มีกลุ่มผู้ยากจนมาหานบีมุฮัมมัด พร้อมร้องเรียนว่า บุคคลที่ร่ำรวยสามารถกอบโกยผลบุญอันมากมาย และได้พำนักอยู่ ณ ชั้นสูงสุดในสวนสวรรค์ พวกเขาละหมาดเหมือนพวกเราละหมาด พวกเขาถือศีลอดเหมือนกับเราถือศีลอด แต่พวกเขามีทรัพย์สมบัติอันเหลือเฟือในการทำหัจญ์ การทำอุมเราะฮ์ ญิฮาดและการบริจาคทาน ในขณะที่พวกเราไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ นะบีมุฮัมมัด

    จึงกล่าวว่า
    เอาไหมล่ะ! ฉันจะบอกพวกท่าน หากพวกท่านปฏิบัติแล้ว พวกท่านจะได้ผลบุญมากกว่าผู้คนก่อนหน้าพวกท่านไม่มีใครที่สามารถเทียบเคียงพวกท่านและพวกท่านจะเป็นผู้ประเสริฐสุด เว้นแต่จะมีบุคคลที่กระทำเหมือนพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงกล่าว ตัสบีห์ (سُبْحَانَ الله) ตะห์มีด(الحَمْدُ لِله) และตักบีร(اللهُ أَكْبَرُ) หลังละหมาดทุกครั้ง จำนวน 33 ครั้ง
  4. อิสลามเชิญชวนให้ศรัทธาชนกระทำแต่ความดี อัลลอฮ์ ตรัสไว้ความว่า
    “และจงให้มีขึ้นในบรรดาพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่เชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามปรามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอาน 3:104)
    นบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    “ผู้ใดที่ชี้แนะให้กระทำความดี เขาจะได้ผลบุญเทียบเท่ากับผู้ที่ปฏิบัติความดีนั้น”
  5. อิสลามสอนให้มุสลิมส่งเสริมการกระทำความดี อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “เจ้าเห็นแล้วมิใช่หรือ ผู้ที่ปฏิเสธการตอบแทน นั่นก็คือผู้ที่ไม่สนใจใยดีต่อเด็กกำพร้า และไม่สนับสนุนในการให้อาหารแก่ผู้ขัดสน” (อัลกุรอาน 107:1-3)

    อัลกุรอานได้เล่าถึงสาเหตุของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ต้องเข้านรกว่า
    “แท้จริง เขามิได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่ และเขามิได้ส่งเสริมให้อาหารแก่คนขัดสน” (อัลกุรอาน 69:33-34)
    อัลกุรอานได้ประณามผู้ปฏิเสธศรัทธา

    ความว่า “มิใช่เช่นนั้นดอก แต่ว่าพวกเจ้ามิได้ให้เกียรติแก่เด็กกำพร้าต่างหาก และพวกเจ้ามิได้ส่งเสริมกันในการให้อาหารแก่คนยากจนและขัดสน” (อัลกุรอาน 89:17-18)
    อัลกุรอานสอนให้เรารู้ว่า นอกจากอิสลามได้สั่งใช้มุสลิมให้อาหารแก่ผู้ขัดสนแล้ว อิสลามได้เพิ่มภารกิจแก่มุสลิมด้วยการกำชับให้สนับสนุนและส่งเสริมในการให้อาหารแก่ผู้ยากไร้อีกด้วย
  6. อิสลามสอนให้มุสลิมมีความตั้งใจที่จะกระทำความดี
    อิสลามเปิดโอกาสให้ผู้ที่ตั้งใจที่จะกระทำความดี เพราะการตั้งใจที่บริสุทธิ์ย่อมประเสริฐกว่าการกระทำที่มีสิ่งไม่ดีแอบแฝงอยู่ ดังปรากฏในหะดีษที่นบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    โลกใบนี้มีไว้เพื่อคน 4 ประเภทได้แก่
    1) บ่าวที่อัลลอฮ์ ทรงประทานทรัพย์สมบัติและความรู้ให้แก่เขา เขาเกรงกลัวอัลลอฮ์ และกระชับสัมพันธ์ไมตรีระหว่างเพื่อนนุษย์และเขารับรู้สิทธิของอัลลอฮ์ ที่พึงให้ บุคคลผู้นี้คือบุคคลที่ประเสริฐสุด
    2) บ่าวที่อัลลอฮ์
    ไม่ประทานทั้งทรัพย์สมบัติและความรู้ แต่เขากล่าวว่า “หากฉันมีทรัพย์สมบัติ ฉันจะกระทำเยี่ยงคนๆ นั้น เขาจึงตั้งใจที่จะกระทำความชั่วอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเขาทั้งสองคนจะได้รับบาปอย่างเท่าเทียมกัน
  7. อิสลามส่งเสริมให้กระทำความดี แม้เพียงน้อยนิด อัลกุรอานได้กล่าวไว้ความว่า
    “ดังนั้น ผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน” (อัลกุรอาน 99:7)
    อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า
    “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอธรรมแม้เพียงน้ำหนักเท่าผงธุลี และถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด พระองค์ก็จะทรงเพิ่มพูนความดีนั้นเป็นทวีคูณ และทรงประทานให้จากที่พระองค์ ซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน 4:40)
    นบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    “การบริจาคเงินจำนวน 1 ดิรฮัม มีคุณค่าที่ประเสริฐกว่า 100,000 ดิรฮัม เหล่าเศาะฮาบะฮ์จึงถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นบีมุฮัมมัด จึงตอบว่า ผู้ชายคนหนึ่งมีเงินจำนวน 2 ดิรฮัม เขาได้บริจาคจำนวน 1 ดิรฮัม (ครึ่งหนึ่งของทรัพย์สมบัติของเขา)ในขณะที่ชายคนหนึ่งไปที่กรุสมบัติของเขาอันมากมาย และได้บริจาคจำนวน 100,000 ดิรฮัม
  8. อิสลามประณามคนที่ขัดขวางการทำความดี
    การขัดขวางการกระทำความดีเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่มีนิสัยอันต่ำช้า ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “และเจ้าอย่าปฏิบัติตามทุกคนที่เป็นนักสาบานที่ต่ำช้า ผู้นินทาตระเวนใส่ร้ายผู้อื่น ผู้ขัดขวางการทำความดี ผู้อธรรมล่วงละเมิดและกระทำบาป” (อัลกุรอาน 68:10-12)
    อัลลอฮ์ ได้ตรัสอีกความว่า
    “เจ้าทั้งสอง(2 มะลาอิกะฮ์) จงโยนทุกคนที่ปฏิเสธศรัทธา และดื้อรั้นลงในนรกญะฮันนัม ผู้ขัดขวางการทำดี ผู้ฝ่าฝืนและเคลือบแลง(ในวันปรโลก)” (อัลกุรอาน 50:24-25)
  9. อิสลามส่งเสริมสู่การกระทำความดี อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน และพึงกลัวเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรุนแรงในการลงโทษ” (อัลกุรอาน 5:2)
    นบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    “อุปมาผู้ศรัทธาด้วยกัน อุปมัยดั่งอาคารหลังหนึ่งที่ทุกส่วนต่างค้ำจุนซึ่งกันและกัน และนะบีมุฮัมมัดได้สอดนิ้วมือทั้งสองข้างของท่านเข้าด้วยกัน”
  10. ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำความดี ย่อมได้รับผลบุญอย่างเท่าเทียมกัน
    ท่านหญิงอาอิชะฮ์เล่าว่า นบีมุฮัมมัด กล่าวว่า
    “หากหญิงคนหนึ่งบริจาคอาหารที่มีประโยชน์ที่มีอยู่ในบ้านของนาง นางจะได้รับผลบุญจากการที่นางบริจาคไว้ สามีของนางก็จะได้รับผลบุญเนื่องจากเขาเป็นผู้แสวงหา และคนใช้ในบ้านก็จะได้ผลบุญเช่นเดียวกัน(เนื่องจากมีส่วนร่วมในการทำความดี) ทั้ง 3 คนจะได้รับผลบุญอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการลดหย่อนแต่อย่างใด”
    เช่นเดียวกันกับผู้ที่ทำงานในองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ถึงแม้เขาจะทำงานโดยรับเงินเดือนประจำหรือค่าตอบแทนอื่นๆ หากเขามีความตั้งใจที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮ์ แล้ว เขาจะได้รับผลบุญเช่นเดียวกันกับผู้บริจาคทุกประการ

คุณลักษณะเฉพาะของงานสาธารณกุศลในอิสลาม
งานสาธารณกุศลในอิสลามมีคุณลักษณะสรุปได้ดังนี้

  1. มีความครอบคลุม
    งานสาธารณกุศลในอิสลาม มีเนื้อที่กว้างขวางครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นความดี อิสลามสอนให้มุสลิมปฏิบัติความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บรรดาผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกล เป็นมิตรหรือศัตรู มุสลิมหรือชนต่างศาสนิก มนุษย์หรือสัตว์
    มุสลิมไม่ได้รับอนุญาตให้วางกรอบการกระทำความดีเฉพาะแก่พวกพ้องหรือญาติสนิทเท่านั้น ความโกรธแค้นและความเป็นศัตรูไม่สามารถเป็นกำแพงสกัดกั้นมิให้มุสลิมปฏิบัติความดี มุสลิมจึงเป็นบุคคลที่แผ่เมตตาแก่ทุกสรรพสิ่ง ดังนบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    “จะไม่มีสิทธิ์เข้าสวรรค์ เว้นแต่ผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี บรรดาเศาะฮาบะฮ์จึงกล่าวว่า พวกเราทุกคนมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีอยู่แล้ว นบีมุฮัมมัดจึงกล่าวว่า แท้จริง มิใช่เป็นการโอบอ้อมอารีแก่บรรดาญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น แต่เป็นการโอบอ้อมอารีที่ครอบคลุมทุกสิ่ง

    อิสลามสอนให้มุสลิมกระทำความดี แม้ต่อชนต่างศาสนิก อัลลอฮ์

    ตรัสไว้ความว่า
    “อัลลอฮ์ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีและให้ความยุติธรรมแก่บรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮ์ทรงรักผู้มีความยุติธรรม” (อัลกุรอาน 60:8)
    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก” (อัลกุรอาน 76:8)

    อัลกุรอานกำชับให้มุสลิมกระทำความดี แม้แต่กับเชลยสงคราม และถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นคุณสมบัติของบรรดาศรัทธาชนที่แท้จริง

    อิสลามสอนให้มุสลิมกระทำความดีแม้แต่สัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อบริโภคหรือใช้งาน ดังนบีมุฮัมมัด

    กล่าวไว้ความว่า
    “ท่านทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์ด้วยการทำความดีแก่สัตว์เลี้ยง จงขับขี่มันด้วยดี และจงบริโภคมันด้วยดี”
    อิสลามสอนให้มุสลิมกระทำความดีต่อแมว สุนัขและสัตว์อื่นๆ การกระทำความดีต่อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเข้าสวรรค์ ในขณะที่การทำร้ายหรือกระทำทารุณสัตว์ เป็นสาเหตุแห่งความพิโรธของอัลลอฮ์ จนทำให้คนนั้นต้องถูกทรมานในขุมนรก
  1. มีความหลากหลาย
    ความดีมีมากมายหลายประเภท ดังนั้นมุสลิมไม่ควรจำกัดความดีเพียงมิติเดียว ต้องหาวิธีการทำความดีที่หลากหลาย ตามความต้องการของสังคมและกำลังความสามารถของแต่ละคน

    บางครั้งทำความดีด้วยการบริจาคทรัพย์สมบัติ ให้อาหาร มอบเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือบริจาคความดีที่เป็นรูปธรรมทั้งหลาย

    บางครั้งทำความดีเชิงนามธรรม เช่นให้การสั่งสอนอบรม และทำความเข้าใจในศาสนา สร้างรอยยิ้มให้แก่เพื่อนมนุษย์ ผ่อนทุกข์คลายกังวล ซับน้ำตาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ให้กำลังใจ ให้ความหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ขจัดความท้อแท้สิ้นหวัง หรือบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ให้ยืมสิ่งของหรือเงินแก่ผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งนบีมุฮัมมัด

    ได้สอนว่าผลบุญของการให้ยืมมีมากกว่าการบริจาคทานเสียอีก

    บางครั้งอาจบริจาคเวลาและความคิดหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นแพทย์ วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ซึ่งอาจจะบริจาคเวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วันใน 1 ปีเพื่องานสาธารณกุศล เพราะการบริจาคเวลาและทรัพย์สินทางปัญญาหรือความเชี่ยวชาญ ในบางครั้งมีประโยชน์และเป็นที่ต้องการมากกว่าการบริจาคทรัพย์สินเงินทองด้วยซ้ำไป

    บางครั้งไกล่เกลี่ยคู่กรณีที่บาดหมางกัน สั่งใช้ให้กระทำความดีและห้ามปรามความชั่วหรือการบริจาคคำพูดที่ไพเราะหรือแม้แต่เก็บขยะหรือสิ่งปฏิกูลบนท้องถนนที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้เดินทาง

    มีหะดีษบทหนึ่งความว่า อะบูฮุร็อยเราะฮ์เล่าว่า ฉันได้ยินนบีมุฮัมมัด
    กล่าวว่า
    “แท้จริงฉันเห็นชายคนหนึ่งกำลังกลิ้งตัวอย่างมีความสุขในสวรรค์ เนื่องจากเขาเคยตัดทิ้งต้นไม้ที่ล้มทับบนถนน เพื่อมิให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนที่สัญจรไปมา” (รายงานโดยมุสลิม)มีหะดีษที่เล่าโดยอะบูซัรความว่า “ฉันถามรสูลุลเลาะฮ์ว่าอะไรหรือที่ทำให้คนๆ หนึ่งรอดพ้นจากไฟนรก นบีตอบว่าศรัทธาต่ออัลลอฮ์”

    ฉันถามว่า : โอ้นบี
    จำเป็นต้องมีอะมัล(การปฏิบัติ)พร้อมกับการศรัทธาด้วยหรือ?

    นะบีตอบว่า : ท่านจงบริจาคทรัพย์สมบัติเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานแก่ท่าน อะบูซัรถามว่า : หากเขาเป็นคนอนาถาที่ไม่สามารถบริจาคสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เลย

    นบีตอบว่า : จงสั่งใช้ในความดี และห้ามปรามความชั่ว
    อะบูซัรถามว่า : หากเขาไม่มีความสามารถสั่งใช้ความดีและห้ามปรามความชั่ว

    นบีตอบว่า : จงช่วยเหลือคนอื่นในการงานที่เขาถนัด
    อะบูซัรถามว่า : หากไม่มีงานที่เขาถนัด

    นบีตอบว่า : จงช่วยเหลือผู้ถูกรังแกอย่างอธรรม
    อะบูซัรถามว่า : โอ้นบี หากเขาเป็นผู้อ่อนแอไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกรังแกอย่างอธรรม

    นบีตอบว่า : จงหวังในสิ่งดีๆ แก่เพื่อนของเขาและจงยับยั้งการกระทำที่สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์
    อะบูซัรถามว่า : โอ้รสูลุลเลาะฮ์
    หากเขากระทำดังกล่าวเขาจะเข้าสวรรค์ได้หรือไม่

    นบีตอบว่า : ไม่มีศรัทธาชนคนใดที่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำดังกล่าว เว้นแต่สิ่งนั้นจะนำพาเขาเข้าสู่สวนสวรรค์
  1. มีความต่อเนื่อง
    งานสาธารณกุศลในอิสลามจะมีความต่อเนื่อง การทำความดีของมุสลิมจะมีความเกี่ยวเนื่องกับความศรัทธา ซึ่งจะต้องปฏิบัติเมื่อถึงเวลาที่สั่งใช้ให้กระทำ เช่น การจ่ายซะกาตเมื่อครบจำนวนและเวลาที่กำหนด การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เมื่อถึงวันรายอฟิฏรี ในขณะเดียวกันมุสลิมมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเงื่อนเวลา เช่น การทำความดีแก่เพื่อนบ้าน ญาติสนิทมิตรสหาย การอุปถัมภ์ช่วยเหลือผู้ขัดสนและเด็กกำพร้า ให้อาหารแก่เพื่อนบ้านที่กำลังหิวโหย

    ดังที่นบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า
    “จะไม่เป็นผู้ศรัทธาสำหรับผู้คนที่นอนหลับในเวลากลางคืนในสภาพที่อิ่มหนำ ทั้งๆที่เขารู้ว่ามีเพื่อนบ้านกำลังหิวโหยอยู่”

    เช่นเดียวกันกับการให้ที่พำนักพักพิงแก่ผู้เดินทาง ให้เกียรติและดูแลแขกผู้มาเยี่ยมมาเยือน ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนและการทำความดีอื่นๆ อีกมากมายที่เปิดกว้างสำหรับมุสลิม แข่งขันในการสะสมแต้มแห่งความดีเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ มุสลิมทุกคนจึงใฝ่ฝันที่จะกระทำแต่ความดี ไม่ว่าในรูปแบบของการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นหรือการเชิญชวนและเสนอแนะคนอื่นให้ปฏิบัติความดี ซึ่งทุกฝ่ายล้วนได้รับผลบุญจากอัลลอฮ์อย่างเท่าเทียมกัน

    คุณค่าการทำงานในอิสลาม มิใช่ประเมินด้านปริมาณที่มากมายเพียงอย่างเดียว อัลลอฮ์

    จะทรงตอบแทนคุณงามความดีที่ได้ปฏิบัติแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ดังอัลลอฮ์

    ตรัสไว้ความว่า
    “ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลี เขาก็จะเห็นมัน” (อัลกุรอาน 99:7)

    บรรดาเศาะฮาบะฮ์เคยบริจาคทานเสี้ยวหนึ่งของลูกอินทผาลัมหรือองุ่นเม็ดหนึ่ง พร้อมกล่าวว่า อินทผาลัมหรือองุ่นเม็ดนี้ประกอบด้วยละอองธุลีอันมากมายที่เราจะต้องได้รับผลบุญในวันแห่งการตอบแทน

    อิบนุมัสอูดเล่าว่า นบีมุฮัมมัด กล่าวว่า
    “ท่านทั้งหลายมีหน้าที่ป้องกันตัวเองจากไฟนรก แม้ด้วยการบริจาคเสี้ยวหนึ่งของลูกอินทผาลัม”

    บางคนสร้างเงื่อนไขให้แก่ตนเองในการทำงานสาธารณกุศลโดยยึดเงื่อนเวลาเป็นตัวกำหนด เช่นช่วงที่เป็นนักศึกษา ช่วงที่ยังไม่มีครอบครัว ช่วงที่ยังไม่มีภาระ ช่วงที่สุขสบาย ช่วงที่อยู่ในตำแหน่งที่ดี หรือช่วงหลังเกษียณ เมื่อยังไม่ถึงเวลาดังกล่าวแล้ว เขาก็จะหันหลังให้กับงานสาธารณกุศลอย่างสิ้นเชิง แต่สำหรับมุสลิมผู้ศรัทธา งานสาธารณกุศลคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดช่วงไม่ได้ ต้องพยายามทำงานตราบใดที่มีกำลังความสามารถและโอกาส แม้ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
  1. มีแรงจูงใจอันสูงส่ง
    ความมีแรงจูงใจอันสูงส่งที่ช่วยผลักดันให้มุสลิมยอมอุทิศตนทำงานด้วยความสมัครใจ มีใจสาธารณะ ยึดมั่นในหลักการ การทำความดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งท้าทายและบททดสอบ มีความมุ่งมั่นทำงานสู่ความสำเร็จโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย ส่วนหนึ่งของแรงจูงใจอันสูงส่งได้แก่

    4.1 แสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์
    ประการแรกที่เป็นแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับมุสลิมในการทำงานสาธารณกุศลคือ การแสวงหาความโปรดปรานและความพึงพอใจจากอัลลอฮ์

    ดังอัลกุรอาน กล่าวไว้ความว่า
    “และพวกเขาให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก ทั้งๆที่พวกเขาก็ชอบอาหารนั้น (พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด” (อัลกุรอาน 76:8-9)

    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “และอุปมาบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขา เพื่อแสวงหาความพึงใจของอัลลอฮ์ และเพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวของพวกเขาเองนั้น ดังอุปมัยสวนแห่งหนึ่ง ณ ที่เนินสูง ซึ่งมีฝนหนักประสบแก่มัน แล้วมันก็นำมาซึ่งผลของมันสองเท่า แต่ถ้ามิได้มีฝนหนักประสบแก่มัน ก็มีฝนปรอยๆ และอัลลอฮ์นั้นทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันอยู่” (อัลกุรอาน 2:265)

    ส่วนหนึ่งของการแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์

    คือ ความใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชาวสวรรค์ การได้รับผลบุญและความสุขสบายในสวรรค์ ดังปรากฏในหะดีษกุดซีย์ที่อัลลอฮ์

    ตรัสว่า ฉันได้เตรียมสำหรับบ่าวที่ดีของฉันในสวรรค์ ด้วยการตอบแทนที่มนุษย์ไม่เคยประจักษ์ด้วยสายตา ไม่เคยสดับรับฟังด้วยหู และไม่เคยคาดคิดโดยจินตนาการ จงอ่านอัลกุรอานความว่า

    “ดังนั้น จึงไม่มีชีวิตใดรู้การตอบแทนที่ถูกซ่อนไว้สำหรับพวกเขา ให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตา เป็นการตอบแทนในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้” (32:17)

    มุสลิมทุกคนใฝ่ฝันที่จะเข้าสวรรค์ซึ่งมิใช่เป็นเพียงพำนักแห่งความรื่นรมย์ที่สามารถสัมผัสได้เท่านั้น แต่ยังเป็นวิมานแห่งความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์

    ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “อัลลอฮ์ได้ทรงสัญญาแก่บรรดามุมินชายและบรรดามุมินหญิง ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล และบรรดาสถานที่พำนักอันดีซึ่งอยู่ในบรรดาสวนสวรรค์แห่งความวัฒนาสถาพร และความโปรดปรานจากอัลลอฮ์นั้นใหญ่กว่า นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน 9:72)

    แรงจูงใจด้านจิตวิญญาณอันสูงส่งเช่นนี้เป็นแรงผลักดันให้บรรดาเศาะฮาบะฮ์เร่งรีบการกระทำความดีภายหลังจากพวกเขาได้สดับรับฟังอัลกุรอานที่เชิญชวนให้กระทำความดี โดยไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติที่เป็นเพียงสิ่งครอบครองนอกกายแต่อย่างใด ประการเดียวที่เป็นความใฝ่ฝันของพวกเขาคือการได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮ์

    ดังปรากฏในหะดีษที่เล่าโดยอะนัสความว่า
    อะบูฏ็อลหะฮ์เป็นชาวอันศ็อรผู้มีสวนอินทผาลัมมากที่สุด และสวนอินทผาลัมที่เขารักและหวงแหนมากที่สุดคือสวนที่ชื่อว่า บัยรุหาอ์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของมัสยิดนบี นบีมูฮัมมัดเคยเข้าในสวนและดื่มน้ำอันใสสะอาดจากสวนดังกล่าว หลังจากที่อายะฮ์อัลกุรอานถูกประทานลงมาความว่า

    “พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ และสิ่งใดที่พวกเจ้าบริจาคไป แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ในสิ่งนั้นดี” (อัลกุรอาน 3/92)

    อะบูฏ็อลหะฮ์จึงรีบไปหานบีมุฮัมมัด พร้อมกล่าวว่า โอ้เราะซูลลุลเลาะฮ์

    อัลลอฮ์ได้ตรัสความว่า พวกเจ้าจะไม่ได้คุณธรรมเลยจนกว่าพวกเจ้าจะบริจาคจากสิ่งที่พวกเจ้าชอบ สวนที่ฉันรักและหวงแหนมากที่สุดคือสวนบัยรุหาอ์ ดังนั้นฉันบริจาคสวนนี้โดยหวังในความดีและเก็บรักษา ณ อัลลอฮ์ ท่านจงใช้ประโยชน์จากสวนนี้ตามที่ท่านเห็นควรเถิด นบีมุฮัมมัดจึงตอบด้วยความดีใจว่า นับเป็นทรัพย์สมบัติที่มีกำไร นับเป็นทรัพย์สมบัติที่มีกำไร

    4.2 แรงจูงใจด้านจริยธรรม
    อัลกุรอานได้สร้างแรงจูงใจอันสำคัญสำหรับมุสลิมที่ทำงานด้านสาธารณกุศลด้วยการเรียกพวกเขาว่าผู้ยำเกรง ผู้ศรัทธาที่แท้จริง ผู้มีสติปัญญา ผู้กระทำความดี และบรรดาคนดี ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

    “คัมภีร์นี้ ไม่มีความสงสัยใด ๆ ในนั้น เป็นทางนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น คือบรรดาผู้ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับและดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขานั้น พวกเขาก็บริจาค” (อัลกุรอาน 2:2-3)

    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “คือบรรดาผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา พวกเขาก็บริจาค ชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือ ผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง โดยที่พวกเขาจะได้รับหลายชั้น ณ พระเจ้าของพวกเขา และจะได้รับการอภัยโทษและปัจจัยยังชีพอันมากมาย” (อัลกุรอาน 8:3-4)

    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “และบรรดาผู้อดทนโดยหวังพระพักตร์ (ความโปรดปราน) ของพระเจ้าของพวกเขา และดำรงการละหมาดและบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา โดยซ่อนเร้นและเปิดเผย และพวกเขาขจัดความชั่วด้วยความดี ชนเหล่านั้นสำหรับพวกเขาคือที่พำนักในบั้นปลายที่ดี” (อัลกุรอาน 13:22)

    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “และในทรัพย์สมบัติของพวกเขาจัดไว้เป็นส่วนของผู้เอ่ยขอ และผู้ไม่เอ่ยขอ” (อัลกุรอาน 51:19)

    มุสลิมใฝ่ฝันที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นหนึ่งในจำนวนผู้คนที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงข้างต้น ทั้งนี้เพื่อยกระดับตนเองเข้าสู่การเป็นศรัทธาชนที่แท้จริงที่จะได้รับการตอบแทนที่ยั่งยืนจากอัลลอฮ์

    4.3 มีความสิริมงคล(บะเราะกะฮ์) และได้รับการตอบแทนบนโลกนี้
    อิสลามเป็นศาสนาที่กำหนดเป้าหมายให้แก่มุสลิม ในการใช้ชีวิตที่รวบรวมความดีไว้ คือความดีงามบนโลกนี้และความดีงามในปรโลก การที่มุสลิมใฝ่ฝันที่จะได้รับความดีงามในปรโลกแต่เขาจะได้รับสิ่งดีๆบนโลกนี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความบะเราะกะฮ์(สิริมงคล)ในชีวิตตนเอง ครอบครัว ทรัพย์สินเงินทอง และการได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮ์ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธากันและมีความยำเกรงแล้วไซร้ แน่นอนเราก็เปิดให้แก่พวกเขา ซึ่งบรรดาความบะเราะกะฮ์(สิริมงคล)จากฟากฟ้าและแผ่นดิน” (อัลกุรอาน 7:96)

    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขาและจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากแหล่งที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮ์ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา” (65:2-3)

    อัลลอฮ์ได้ตรัสอีกความว่า
    “และอันใดที่พวกเจ้าบริจาคจากสิ่งใดก็ดี พระองค์จะทรงทดแทนมัน และพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ดีเลิศแห่งบรรดาผู้ประทานปัจจัยยังชีพ” (34:39)

    นบีมุฮัมมัดกล่าวไว้ความว่า
    “ทุกๆ เช้าของบ่าวทุกคน จะมีมะลาอิกะฮ์(เทวทูต) 2 มะลาอิกะฮ์ ลงมาโดยมะลาอิกะฮ์หนึ่งจะกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ขอได้โปรดประทานสิ่งทดแทนสำหรับผู้บริจาคด้วยเถิด ในขณะที่มะลาอิกะฮ์หนึ่งกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ขอได้โปรดประทานความพินาศแก่ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวด้วยเถิด

    กวีอาหรับได้กล่าวไว้ความว่า
    “จงบอกฉัน ผู้บริจาคใจบุญคนไหนบ้างที่หมดตัวเยี่ยงยาจกอนาถา และจงบอกฉัน ผู้ตระหนี่ขี้เหนียวคนใดบ้างที่มีชีวิตค้ำฟ้าชั่วนิรันดร์”

    การตอบแทนความดีงามบนโลกนี้มีลักษณะที่หลากหลาย เช่น ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์และแข็งแรง มีหัวใจที่เบิกบาน มีครอบครัวที่เปี่ยมสุข มีลูกหลานที่ดี มีทรัพย์สินเงินทองที่เพียงพอและไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขาที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” (อัลกุรอาน 16:97)

    มุสลิมจะไม่ใช้ชีวิตอย่างคับแค้นและเศร้าหมอง ถูกรุมเร้าด้วยสารพันปัญหาและจมปลักในความอับจนที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ดังที่อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
    “และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้นและเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮ์ในสภาพของคนตาบอด” (อัลกุรอาน 20:124)

มุสลิมไม่ว่าในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม องค์กรและประชาชาติ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีที่สามารถสัมผัสได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นวิถีชีวิตที่เคียงคู่กับความเป็นมุสลิมที่แท้จริงที่แยกออกจากกันไม่ได้ มุสลิมกับความดีเปรียบเสมือนด้านสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ที่หากปราศจากด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะกลายเป็นเศษเงินที่หมดคุณค่าและไร้ความหมายโดยปริยาย


เรียบเรียงโดย
ผศ. มัสลัน มาหะมะ

คัดจากหนังสือ
อิสลาม วิถีแห่งชีวิต

http://hsmi.psu.ac.th/?p=1827

รัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮ์ สรรสาระสันติภาพที่ยั่งยืน

รัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺคือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นลายลักษณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีเชื่อว่า เป็นอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอิสลาม เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างพลเมืองที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ศาสนาและชนชั้น เพื่อใช้ชีวิตอย่างสันติ

วัตถุประสงค์หลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ วางรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตที่สันติ สานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะชาวมุฮาญิรีน ชาวอันศอรฺ ชาวยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชาชน ผู้นำและรัฐในการสร้างสังคมสันติภาพ ตลอดจนประกาศความเป็นรัฐเอกราชและความเป็นผู้นำสูงสุดของนบีมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم

นักบูรพาคดีชาวโรมาเนียชื่อ Constant Jeor Jeo ได้กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกอบด้วย 52 มาตรา ทุกมาตราเป็นความคิดที่สร้างสรรค์โดยมูฮัมมัด ในจำนวนนี้มี 25 มาตราที่พูดถึงชาวมุสลิมเป็นการเฉพาะ และอีก 27 มาตราได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชนต่างศาสนิกโดยเฉพาะยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยมีสาระสำคัญที่อนุญาตให้ชนต่างศาสนิกสามารถดำรงชีวิตกับสังคมมุสลิมอย่างอิสระ สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละชุมชนอย่างเสรี แต่ละชุมชนไม่อนุญาตสร้างความเดือดร้อนหรือก่อความไม่สงบแก่ชุมชนอื่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในปีแรกของการฮิจเราะฮฺหรือปี 623 ค.ศ. แต่ทุกครั้งที่เมืองอัลมะดีนะฮฺถูกคุกคามจากศัตรู พลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องลุกขึ้นปกป้องจากภัยคุกคามนี้”

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺสรุปได้ดังนี้

  1. ประชาชาติมุสลิมอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าการติดยึดในเรื่องเผ่าพันธุ์และสีผิว
    “แท้จริง พวกเขาคือประชาชาติเดียวกันที่แตกต่างจากชาวพลเมืองอื่น”

นัยตามมาตรานี้ ทำให้ชาวมุสลิมถึงแม้จะมาจากเผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล เชื้อชาติและภาษาที่ต่างกัน แต่พวกเขามีความผูกพันกับสายใยอันเดียวกัน นั่นคือ อิสลาม และด้วยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ได้ทลายกำแพงความเป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม ภาษานิยมและชาตินิยมอย่างหมดสิ้น พร้อมสร้างชาติพันธุ์ใหม่คือชาติพันธุ์อิสลาม ทุกคนกลายเป็นประชาชาติเดียวกันคือประชาชาติอิสลาม

  1. การสร้างหลักประกันสังคมร่วมกันระหว่างพลเมือง
    “แท้จริงศรัทธาชนไม่สามารถปล่อยให้ปัญหาของมุสลิมถูกแก้ไขตามลำพัง แต่เขาต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน แก้ปัญหาด้วยคุณธรรมโดยเฉพาะเรื่องการไถ่ตัวมุสลิมจากการถูกจองจำ”

มาตรานี้ได้ส่งสัญญาณแก่มุสลิมทุกคนว่า พวกเขาคือพี่น้องกัน จำเป็นต้องเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน พวกเขาคือเรือนร่างอันเดียวกัน อวัยวะส่วนไหนเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นเจ็บปวดไปด้วย

  1. การลงโทษผู้บิดพลิ้วสัญญา
    “ศรัทธาชนต้องลุกขึ้นต่อต้านโดยพร้อมเพรียงกันต่อทุกพฤติกรรมที่ส่อถึงการทรยศหักหลัง การสร้างศัตรูหรือสร้างความปั่นป่วนในสังคมมุสลิม ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อต้านกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ถึงแม้จะเป็นลูกหลานใครก็ตาม”
    อาศัยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ได้สั่งประหารชีวิตยิวเผ่ากุร็อยเซาะฮฺกลุ่มหนึ่งหลังสงครามอัลอะหฺซาบ(สงครามพันธมิตร) ซึ่งยิวกลุ่มนี้ได้เป็นไส้ศึกร่วมมือกับศัตรูในการโจมตีเมืองอัลมะดีนะฮฺ ถึงแม้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอัลมะดีนะฮฺก็ตาม
  2. การให้เกียรติแก่ทุกคนที่มุสลิมประกันความปลอดภัย
    “แท้จริงอัลลอฮฺจะประกันความปลอดภัยแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดก็ได้รับสิทธินี้อย่างเสมอภาค ศรัทธาชนจะต้องร่วมมือประกันความปลอดภัยซึ่งกันและกัน”
    มุสลิมทุกคนสามารถประกันความปลอดภัยแก่ใครก็ได้ที่เขาต้องการไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม และทุกคนในสังคมต้องเคารพการประกันความปลอดภัยนี้ ถึงแม้ผู้ประกันจะมาจากประชาชนธรรมดาผู้ต่ำต้อยก็ตาม และแม้กระทั่งผู้ประกันจะเป็นผู้หญิงก็ตาม ดังหะดีษหนึ่งที่นบีมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ได้กล่าวแก่อุมมุฮานิว่า “แท้จริง ฉันจะประกันความปลอดภัยแก่ผู้ที่ท่านประกันความปลอดภัยแก่เขาโอ้ อุมมุฮานิ” (อัลบุคอรีย์/6158 และมุสลิม/336)
  3. การปกป้องประชาชนต่างศาสนิกและชนกลุ่มน้อย
    “ผู้ใดก็ตามจากหมู่ชาวยิวที่ได้ตามเรา พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาจะไม่ถูกอธรรม และไม่มีใครสามารถคุกคามพวกเขาได้”
    มาตรานี้เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า ชนต่างศาสนิกจะไม่ถูกคุกคามจากรัฐหรือสังคมมุสลิม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มุสลิมหรือรัฐอิสลามไม่สามารถเอาประเด็นศาสนาเพื่อทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ตราบใดที่เขาใช้ชีวิตในสังคมอย่างสันติ
  4. หลักประกันความปลอดภัยในสังคมและประกันให้ค่าสินไหมทดแทน
    “ผู้ใดที่ฆ่าผู้ศรัทธาโดยปราศจากเหตุผลที่เป็นที่อนุญาต เขาจะถูกตัดสินด้วยการประหารชีวิต ยกเว้นทายาทที่ถูกฆ่ายินยอมรับค่าสินไหมทดแทน ศรัทธาชนทั้งหลายต้องลุกขึ้นประณามฆาตกรรมนี้ ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์กระทำการอื่นใด ยกเว้นลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น”
    มาตรานี้เป็นหลักสำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพที่สามารถลบล้างวัฒนธรรมแห่งการล้างแค้นที่บานปลายและไม่มีวันสิ้นสุดในสังคมญาฮิลียะฮฺในอดีต รัฐธรรมนูญยังได้ระบุว่า การลงโทษใดๆ สามารถบังคับใช้ต่อผู้กระทำผิดเท่านั้น และบุคคลอื่นจะไม่ถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำผิดของสหายของเขา
  5. แหล่งคำตัดสินสุดท้ายคือชะรีอะฮฺอิสลาม
    “หากมีข้อพิพาทใดๆ ในระหว่างท่าน จงหันกลับไปสู่การตัดสินของอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم

มาตรานี้เป็นการประกาศว่า การตัดสินของอัลลอฮฺ และเราะซูล صلى الله عليه وسلم ถือเป็นที่สิ้นสุดและทุกคนต้องเชื่อฟังคำตัดสินนี้

  1. เสรีภาพด้านการนับถือศาสนา

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่กลุ่มชนต่างๆ ในการนับถือศาสนาและสามารถปฏิบัติคำสอนศาสนาตามความเชื่อของแต่ละคน ดังที่ได้ระบุในมาตราหนึ่งว่า “ยิวบะนีเอาว์ฟฺ เป็นประชาชาติหนึ่งร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธา ยิวมีศาสนาประจำของพวกเขา และมุสลิมีนก็มีศาสนาประจำของพวกเขาเช่นกัน”

  1. การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อปกป้องรัฐถือเป็นหน้าที่ของทุกคน
    “ชาวยิวมีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินพร้อมๆ กับผู้ศรัทธา ตราบใดที่พวกเขาร่วมทำสงครามพร้อมกับชาวมุสลิม”
    เพราะอัลมะดีนะฮฺเป็นรัฐของคนทุกคน ดังนั้นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนและปกป้องรัฐจากภัยคุกคามอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
  2. ทุกเผ่าพันธุ์ได้รับอิสรภาพในการจัดการเรื่องเงินและรายได้ของตน
    “ชาวยิวมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขา และชาวมุสลิมมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขาเช่นกัน”
    ในเมื่อแต่ละกลุ่มชนมีหน้าที่ใช้จ่ายเพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นแต่ละกลุ่มชนในสังคมต่างมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพของตนโดยที่รัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายและครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเพียงผู้เดียว
  3. การปกป้องรัฐอัลมะดีนะฮฺจากภัยคุกคามเป็นสิ่งวาญิบสำหรับทุกคน
    “ในระหว่างพวกเขา ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการต่อต้านผู้รุกรานพลเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”

มาตรการนี้ถือเป็นการมอบหมายหน้าที่ให้แก่ทุกคนที่เป็นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺในการปกป้องจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกที่สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล

  1. การให้คำตักเตือน การทำความดีระหว่างมุสลิมด้วยกันและชนต่างศาสนิก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน
    “ในระหว่างพวกเขาต้องดำรงไว้ซึ่งการตักเตือนและการทำความดี ไม่ใช่กระทำบาปทั้งหลาย”
    สถานะดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม คือ การให้คำตักเตือน เสนอแนะสิ่งดี ประกอบคุณงามความดีให้แก่กัน ไม่ใช่สร้างความบาดหมางระหว่างกัน และการนับถือศาสนาที่ต่างกัน ไม่ใช่เป็นต้นเหตุสร้างความบาดหมางระหว่างกัน
  2. พลเมืองทุกคนสามารถทำสัญญากับฝ่ายใดก็ได้ ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ

มาตรานี้เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนแข่งขันทำความดี สรรค์สร้างสิ่งประโยชน์และพัฒนาสังคมอย่างเต็มความสามารถ และเพื่อให้สามารถดำเนินไปอย่างสำเร็จสูงสุด รัฐจึงให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายทำสัญญาสร้างความร่วมมือทำคุณประโยชน์ ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ

  1. พลเมืองมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรม
    “แท้จริง การยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรมเป็นสิ่งวาญิบ”
    ดังนั้น ทุกคนต้องลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมและต้องปลดปล่อยอธรรมให้หมดไปจากสังคมมุสลิมไม่ว่าผู้ถูกอธรรมจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
  2. การประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองทุกคน เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐ

รัฐจะต้องประกันความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนาและเผ่าพันธุ์

นี่คือสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับอัลมะดีนะฮฺที่สามารถสร้างสังคมปรองดองที่แท้จริง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรีและเกิดสันติสุขที่แท้จริง เพราะความหายนะและความปั่นป่วนในสังคม เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์พยายามใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตราบใดที่ไม่สามารถยับยั้งสกัดกั้นการบีบบังคับและการยกย่องบูชามนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนปฏิเสธการนับถือพระเจ้าอันจอมปลอมและตราบใดที่ไม่สามารถปลดปล่อยมนุษย์ให้มีความอิสระในการเลือกทางเดินชีวิตและความต้องการอันแท้จริงของตนเองแล้ว มนุษย์จะต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้ ภารกิจสำคัญของนบีมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم และผู้ที่เจริญรอยตามท่าน คือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการการเคารพบูชามนุษย์ด้วยกันสู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกา ปล่อยอิสรภาพมวลมนุษย์จากห่วงโซ่อันคับแคบของโลกดุนยาสู่ความไพศาลของดุนยาและอาคิเราะฮฺ ทำให้มนุษยชาติหลุดพ้นจากกรงเล็บแห่งความอธรรมทางศาสนาสู่ความยุติธรรมของอัลอิสลาม


เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? [ ตอนที่ 3 ]

คำตอบโดย ศ.ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวัย์ อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

คำสอนในซุนนะฮ์ ได้ตำหนิผู้นำทรราชอย่างรุนแรง

ซุนนะฮฺได้กล่าวตำหนิผู้นำทรราช ซึ่งปกครองประชาชนด้วยกฎเหล็กและด้วยวิธีการรุนแรง ประชาชนไม่มีใครกล้าตอบโต้และเห็นแย้งกับพวกเขาแม้แต่คำเดียว ซุนนะฮ์ได้ระบุว่า ในวันกิยามะฮ์ พวกเขาจะกระโจนเข้าในนรกเหมือนแมลงเม่าเข้ากองไฟ

นอกจากนี้ ซุนนะฮ์ยังกล่าวตำหนิผู้ที่คุกเข่าและประจบสอพลอกลุ่มทรราช หรือเป็นมือไม้ช่วยเหลือพวกเขา

ซุนนะฮฺยังได้กล่าวโทษอุมมะฮ์ที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวที่แพร่กระจายไปทั่ว และไม่กล้าพูดกับผู้อธรรมได้ว่า โอ้ผู้กดขี่เอ๋ย

มีรายงานจากอบูมูซา ว่า ท่านศาสนทูต صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า

إن في جهنم واديًا وفي الوادي بئر يقال له هبهب، حق على الله أن يسكنه كل جبار عنيد”

“ มีหุบเขาในนรกญะฮันนัม และในหุบเขามีบ่อลูกหนึ่งชื่อว่า “ฮับฮับ” พระเจ้าทรงมีสิทธิที่จะให้ผู้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ที่ดื้อรั้นทุกคนได้พำนักอาศัยอยู่”

[ รายงานโดยอัล อัตฏอบารอนี ด้วยสายรายงานที่ดี และอัลหากิม เห็นว่าเป็นหะดีษซอเฮี้ยะห์ และอัลซะฮะบีย์เห็นพ้องด้วย 4/332 ]

และรายงานจากมุอาวียะฮ์ ว่า ท่านศาสดา صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า

يكون من بعدي أئمة يقولون لا يرد عليه قولهم يتقاحمون في النار كما يتقاحم القردة

จะมีผู้นำยุคหลังจากฉัน พวกเขาพูดโดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใดๆ และพวกเขาจะกระโจนลงในไฟนรกเหมือนกับฝูงลิง

[หะดีษรายงานโดยอบูยะลาและอัลตอบารอนีย์ ในหนังสือ Sahih Al-Jami Al-Sagheer เลขที่ 3615 ]

รายงานจากจาบิรว่า ท่านศาสดา صلى الله عليه وسلم กล่าวกับ กะอับ บินอัจเราะฮ์ ว่า

أعاذك الله من إمارة السفهاء يا كعب”. قال: وما إمارة السفهاء؟ قال: “أمراء يكونون بعدي، لا يهدون بهديي ولا يستنون بسنتي، فمن صدقهم بكذبهم، وأعانهم على ظلمهم، فأولئك ليسوا مني ولست منهم، ولا يردون على حوض، ومن لم يصدقهم بكذبهم ولم يعنهم على ظلمهم، فأولئك مني، وأنا منهم، وسيردون على حوضي

“ขอพระเจ้าปกป้องท่านจากการปกครองของคนพาล โอ้กะอับ ”

เขากล่าวว่า “การปกครองของคนพาลคืออะไรครับ ?

ท่านนบี صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า

“ ผู้นำยุคหลังจากฉัน พวกเขาไม่ปฏิบัติตามแนวทางของฉัน ใครก็ตามที่เชื่อในการโกหกของพวกเขา และช่วยพวกเขาในการกระทำความอยุติธรรม คนเหล่านั้นไม่ใช่พวกของฉันและฉันไม่ได้เป็นพวกเขา และพวกเขาไม่อาจมายังสระของฉันในสวรรค์

ส่วนคนที่ไม่เชื่อในคำโกหกของพวกเขา และไม่ช่วยพวกเขาในการกระทำความอยุติธรรม คนเหล่านั้นเป็นพวกของฉันและฉันก็เป็นพวกเขา และพวกเขาจะได้มายังสระของฉัน ในสวรรค์”

[รายงานโดยอะหมัด และอัลบัซซาร และผู้รายงานล้วนเชื่อถือได้ ]

หะดีษมัรฟูอ์ รายงานจากมุอาวียะฮ์ ว่า

لا تقدس أمة لا يقضى فيها بالحق، ولا يأخذ الضعيف منها حقه من القوي غير متعتع”

“ประชาชาติหนึ่งจะไร้ศักดิ์ศรี เมื่อไม่มีการพิพากษาด้วยความยุติธรรม และผู้อ่อนแอจะไม่สามารถเอาสิทธิของตนจากผู้แข็งแกร่งโดยปราศจากความหวาดกลัว”

[รายงานโดยอัลอัตฏอบารอนี โดยผู้รายงานที่น่าเชื่อถือ]

หะดีษมัรฟูอ์ รายงานจากอับดุลลอฮ์ บินอัมร์ ว่า

“إذا رأيت أمتي تهاب أن تقول للظالم : يا ظالم فقد تودع منهم”

เมื่อท่านเห็นประชาชาติของฉันกลัวที่จะกล่าวกับผู้กดขี่ว่า “โอ้ผู้กดขี่” ก็จะถึงกาลต้องสิ้นสูญแล้ว”

[ รายงานโดยอะหมัดใน อัลมุสนัด ชากิรเห็นว่าเป็นสายรายงานที่ศอเฮี้ยะห์/6521]

ชูรอ (การให้คำปรึกษา) นาซีฮัต (การให้คำแนะนำ) อัมร์บิลมะรูฟ (ส่งเสริมความดี) และนะห์ยุอานิลมุงกัร (ห้ามปรามความชั่ว)

ศาสนาอิสลามได้บัญญัติให้การชูรอ-ปรึกษาหารือ- เป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ของวิถีชีวิตอิสลาม บังคับให้ผู้ปกครองต้องขอคำปรึกษา และบังคับให้อุมมะฮฺต้องให้คำแนะนำ ถึงขั้นถือว่าการให้คำแนะนำนั้นเป็นแกนหลักของศาสนาอิสลาม อันรวมถึงการให้คำแนะนำแก่ผู้นำของชาวมุสลิม

นอกจากนี้ อิสลามยังถือว่า การส่งเสริมความดีและการยับยั้งความชั่ว(อัมร์บิลมะรูฟ และนะห์ยุอานิลมุงกัร) เป็นหน้าที่บังคับ

ยิ่งไปกว่านั้น อิสลามยังถือว่า การญิฮาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการพูดความจริงต่อหน้าทรราช

أفضل الجهاد كلمة حق تقال عند سلطان جائر

“การญิฮาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการพูดความจริงต่อหน้าทรราช”

ซึ่งหมายความว่า การต่อต้านการกดขี่ข่มเหงและการคอร์รัปชั่นภายใน เป็นที่ชื่นชมของพระเจ้ามากกว่าการต่อต้านศัตรูจากภายนอก เพราะประการแรกมักเป็นสาเหตุของประการหลัง

ผู้ปกครองในมโนทัศน์ของศาสนาอิสลาม

ผู้ปกครองในมโนทัศน์ของศาสนาอิสลาม คือตัวแทนของอุมมะฮฺหรือพนักงานที่ได้รับการว่าจ้าง และเป็นสิทธิของตัวการที่จะตรวจสอบตัวแทนหรือถอนการเป็นตัวแทนได้ตามประสงค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตัวแทนละเมิดพันธกิจที่ได้รับมอบหมายจากตัวการ

ในศาสนาอิสลาม ผู้ปกครองไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจโดยเด็ดขาด แต่ถือเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อาจมีถูกมีผิด อาจเป็นคนยุติธรรมและไม่ยุติธรรม และเป็นสิทธิของประชากรมุสลิมทั่วไป ที่จะทำการแก้ไข หากผู้ปกครองทำผิด

นี่คือสิ่งที่ประกาศโดยผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมรองจากศาสนทูตของพระเจ้า – ขอให้พรของพระเจ้าและสันติจงมีแด่ท่าน- คอลีฟะฮ์ทั้งสี่ คุลาฟาอ์รอชิดูนอัลมะฮ์ดียูน ที่เราถูกบัญชาใช้ให้ปฏิบัติตามซุนนะห์ของพวกเขาอย่างเข้มงวด เนื่องจากถือเป็นการสืบทอดจากครูคนแรก นบีมูฮัมหมัด – ขอให้พรของพระเจ้าและสันติจงมีแด่ท่าน

ในสุนทรพจน์ครั้งแรกของคอลีฟะฮ์ท่านแรก อาบูบักร์ ท่านกล่าวว่า“ โอ้ประชาชนของฉัน หากพวกท่านเห็นว่าฉันทำถูก ก็จงสนับสนุนฉัน แต่หากเห็นว่าฉันทำผิดก็จงแก้ไขให้ถูก จงเชื่อฟังฉันตราบเท่าที่ฉันเชื่อฟังอัลลอฮ์ หากฉันฝ่าฝืนต่อพระองค์ พวกท่านก็ไม่ต้องเชื่อฟังฉันต่อไป”

ท่านอุมัร คอลีฟะฮ์ท่านที่ 2 กล่าวว่า ” ขอพระเจ้าทรงเมตตาบุคคลที่ชี้แนะฉันถึงความผิดพลาดของฉัน” และว่า “หากเห็นว่าฉันทำผิดก็จงแก้ไขให้ถูก” พวกเขาจึงกล่าวว่า “โอ้บุตรคอตตอบ หากเราเห็นท่านทำผิด เราจะแก้ไขด้วยดาบของเรา”

ครั้งหนึ่งสตรีนางหนึ่งตอบโต้ท่านขณะปราศรัยอยู่บนแท่นมิมบัร ท่านอุมัรไม่ได้โกรธคืองอะไรเลย ซ้ำยังกล่าวว่า “ผู้หญิงคนนี้ถูก อุมัรผิด”

ท่านอาลี ได้กล่าวกับชายคนหนึ่งที่โต้แย้งท่านว่า “ฉันมีทั้งที่ถูกและผิด”

{وفوق كل ذي علم عليم} (يوسف : 76).

“และพระองค์ทรงรู้เหนือผู้รู้ทุกคน” (ยูซุฟ : 76)

อิสลามนำหน้าในการกำหนดหลักการ

อิสลามนำหน้าประชาธิปไตยในการกำหนดหลักการที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยดังกล่าว แต่ปล่อยรายละเอียดไว้สำหรับความอุตสาหะพยายามของมุสลิมในการวิเคราะห์วินิจฉัยจากแหล่งมาของบทบัญญัติ และสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางโลก พัฒนาการชีวิต ตามความเหมาะสมของเวลา สถานที่และบริบทของสังคม

(มีต่อ)

อ่านบทความต้นฉบับ

https://www.al-qaradawi.net/node/3775?fbclid=IwAR2CCbcZr-E1yiMBQ2wFqZ_TsvmpzPrQ-Vmuwh2KT0mB5RnEgQL0ZIbHDqo


แปลสรุปโดย Ghazail Benmad

ประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? [ ตอนที่ 2 ]

โดย ศ.ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์  อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

  • อัลกุรอานรณรงค์ต่อต้านผู้ปกครองที่สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้า

อัลกุรอานได้วิพากษ์อย่างรุนแรงต่อผู้ปกครองที่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าในโลกนี้ และถือเอามนุษย์เป็นข้าทาส เฉกเช่น กษัตริย์นัมรูด ( แห่งดินแดนเมโสโปเตเมียในบรรพกาล ) รวมถึงท่าทีของนัมรูดต่อนบีอิบริอฮีม และท่าทีของอิบรอฮีมต่อนัมรูด ว่า

أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِي حَاجَّ إِبْرَاهِيمَ فِي رَبِّهِ أَنْ آتَاهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّيَ الَّذِي يُحْيِي وَيُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْيِي وَأُمِيتُ ۖ قَالَ إِبْرَاهِيمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتِي بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بِهَا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِي كَفَرَ ۗ وَاللَّهُ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الظَّالِمِينَ

 “ท่าน (มุฮัมมัด) มิได้พิจารณาดูผู้ที่โต้แย้งต่ออิบรอฮีมในเรื่องพระเจ้าของเขาเนื่องจากการที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอำนาจแก่เขาดอกหรือ  ขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวว่า “พระเจ้าของฉันนั้นคือผู้ที่ให้ชีวิตและให้ความตาย” เขากล่าวว่า “ข้าก็ให้ชีวิตและให้ความตายได้” อิบรอฮีมกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์นั้นนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันออก ท่านจงนำมันมาจากทิศตะวันตกเถิด” แล้วผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นก็อับจนปัญญา และอัลลอฮ์นั้นจะไม่ประทานแนวทางอันถูกต้องแก่ผู้อธรรมทั้งหลาย” ( อัลบะกอเราะห์ : 258 )

ทรราชนี้อ้างว่าเขาให้ชีวิตและหยิบยื่นความตายได้เช่นเดียวกับที่พระเจ้าของอิบรอฮีม – ผู้ซึ่งเป็นพระเจ้าของโลก – ให้ชีวิตและความตาย ดังนั้นผู้คนควรนับถือเขาเหมือนกับการที่พวกเขานับถือต่อพระเจ้าของอิบรอฮีม  และเขาก็อวดดีถึงขั้นอ้างว่าให้ชีวิตและให้ความตาย โดยการนำชายสองคนจากท้องถนนและตัดสินประหารชีวิตโดยไม่มีความผิด และดำเนินการลงโทษคนหนึ่งในนั้นทันที  พร้อมกล่าวว่า “ดูเถิดคนนี้ข้าให้ความตาย และยกโทษให้อีกคนหนึ่ง แล้วพูดว่า “ดูเถิด ข้าให้ชีวิตเขาแล้ว ! ฉันไม่ได้ให้ชีวิตและความตายกระนั้นหรือ!

และในทำนองเดียวกัน ฟาโรห์ผู้ซึ่งประกาศก้องในหมู่ประชาชนของเขาว่า أَنَا رَبُّكُمُ الْأَعْلَىٰ 

“ ฉันคือพระเจ้าผู้สูงสุดของพวกท่าน” (อันนาซิอาต : 24)

และกล่าวด้วยความองอาจว่า :

‎ يَا أَيُّهَا الْمَلأُ مَا عَلِمْتُ لَكُمْ مِنْ إِلَهٍ غَيْرِي

โอ้ผู้คนทั้งหลาย ฉันไม่รับทราบว่ามีพระเจ้าอื่นของจากฉัน” ( อัลกอศ็อศ : 38)

คัมภีร์กุรอานได้เปิดเผยขั้วพันธมิตรสามานย์ 3 ฝ่าย ได้แก่

ฝ่ายแรก  คือผู้ปกครองที่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้า มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือประชาชน ฝ่ายนี้มีฟาโรห์เป็นตัวแทน

ฝ่ายที่ 2   คือนักการเมืองผู้แสวงผลประโยชน์ ซึ่งทุ่มเทสติปัญญาและประสบการณ์ของเขา เพื่อรับใช้และพิทักษ์รักษาฐานอำนาจของทรราช และทำให้ผู้คนเชื่องยอม พร้อมถวายความจงรักภักดีต่อฟาโรห์ ฝ่ายนี้มีฮามานเป็นตัวแทน

และฝ่ายที่ 3 คือกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มอำมาตย์ผู้ได้รับประโยชน์จากการปกครองของทรราช พวกเขาสนับสนุนทรราชด้วยการใช้จ่ายเงินของตนบางส่วนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อและเลือดของประชาชน ฝ่ายนี้มีกอรูนเป็นตัวแทน

คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงขั้วพันธมิตรของทั้ง 3 กลุ่มนี้ในเรื่องการฝ่าฝืนศีลธรรมและการล่วงละเมิด ตลอดจนการเผชิญหน้ากับสาส์นของมูซา จนกระทั่งอัลลอฮ์จัดการกับฟาโรห์อย่างน่าสมเพช

‎وَلَقَدْ أَرْسَلْنَا مُوسَىٰ بِآيَاتِنَا وَسُلْطَانٍ مُبِينٍ  * إِلَىٰ فِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَ وَقَٰرُونَ فَقَالُواْ سَٰحِرٞ كَذَّابٞ 

“และแน่นอน เราได้ส่งมูซามาพร้อมด้วยสัญญาณต่าง ๆ ของเราและหลักฐานอันชัดแจ้ง ไปยังฟาโรห์ และฮามาน และกอรูน แล้วพวกเขาก็กล่าวว่า (มูซาเป็น) มายากลนักโกหกตัวฉกาจ” (ฆอฟิร : 23, 24)

‎وَقَٰرُونَ وَفِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَۖ وَلَقَدۡ جَآءَهُم مُّوسَىٰ بِٱلۡبَيِّنَٰتِ فَٱسۡتَكۡبَرُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَمَا كَانُواْ سَٰبِقِينَ

และ (เราได้ทำลาย) กอรูน ฟาโรห์และฮามาน และโดยแน่นอนมูซาได้มายังพวกเขาพร้อมด้วยหลักฐานอันชัดแจ้ง แต่พวกเขาหยิ่งผยองในแผ่นดิน และพวกเขาก็หาได้รอดพ้นไปจากเราไม่  ( อัลอังกะบูต : 39)

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ กอรูนมีเชื้อชาติเดียวกับมูซา และคนละเชื้อชาติกับฟาโรห์ แต่เขากลับทรยศต่อชนเชื้อชาติเดียวกัน และเข้าร่วมกับฟาโรห์ ซึ่งเป็นศัตรูของพวกเขา โดยฟาโรห์ก็ยอมรับเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามารวมกันได้แม้จะแตกต่างกันทางเชื้อชาติและเชื้อสายก็ตาม

  • คัมภีร์อัลกุรอานเชื่อมโยงการปกครองแบบเผด็จการและการทุจริต

ในบรรดาความโดดเด่นของคัมภีร์อัลกุรอาน คือการเชื่อมโยงการกดขี่กับการแพร่กระจายของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชาติล่มสลาย

พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพกล่าวว่า:

‎أَلَمْ تَرَ كَيْفَ فَعَلَ رَبُّكَ بِعَاد (6) إِرَمِ ذَاتِ الْعمَادِ (7) الَّتِى لَمْ يُخْلَقْ مِثْلُهَا فِى الْبِلَـدِ (8) وَثَمُودَ الَّذِينَ جَابُواْ الصَّخْرَ بِالْوَادِ (9) وَفرِعَوْنَ ذِى الأَوْتَادِ (10) الَّذِينَ طَغَوْا فِى الْبِلَـدِ (11) فَأَكْثَرُواْ فِيهَا الْفَسَادَ (12) فَصَبَّ عَلَيهِمْ رَبُّكَ سَوْطَ عَذَاب (13) إِنَّ رَبَّكَ لَبِالْمِرْصَادِ (14)

“เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า พระเจ้าของเจ้ากระทำต่อพวกอ๊าดอย่างไร

อิรอม  มีเสาหินสูงตระหง่าน

ซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างที่เทียบเท่าได้ตามหัวเมืองต่าง ๆ

และพวกซะมูดผู้สกัดหิน ณ หุบเขา

และฟิรเอานฺ เจ้าแห่งหมุดต่างๆ

พวกเขาได้กดขี่ทั่วแว่นแคว้นต่าง ๆ

แล้วก่อความเสียหายอย่างมากมายในหัวเมืองเหล่านั้น

ดังนั้นพระเจ้าของเจ้าจึงกระหน่ำการลงโทษนานาชนิดบนพวกเขา

แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเฝ้าดูอย่างแน่นอน” [อัลฟัจร์ : 6-14]

คัมภีร์อัลกุรอานอาจแทนคำว่า “ทรราช” الطغيان ด้วยคำว่า “การเหิมเกริม” العلو ซึ่งหมายถึง ความเย่อหยิ่งและการใช้อำนาจเหนือสรรพสิ่ง ด้วยการสร้างความอัปยศอดสูและการกดขี่ข่มเหง

ดังที่อัลลอฮ์กล่าวถึงฟาโรห์ว่า

‎إِنَّهُۥ كَانَ عَالِيٗا مِّنَ ٱلۡمُسۡرِفِينَ

“แท้จริงเขาเป็นหนึ่งที่ใฝ่สูงในบรรดาผู้ละเมิด” (อัดดุคอน: 31)

إِنَّ فِرۡعَوۡنَ عَلَا فِي ٱلۡأَرۡضِ وَجَعَلَ أَهۡلَهَا شِيَعٗا يَسۡتَضۡعِفُ طَآئِفَةٗ مِّنۡهُمۡ يُذَبِّحُ أَبۡنَآءَهُمۡ وَيَسۡتَحۡيِۦ نِسَآءَهُمۡۚ إِنَّهُۥ كَانَ مِنَ ٱلۡمُفۡسِدِينَ

“แท้จริง ฟาโรห์ได้เหิมเกริมในแผ่นดิน และแบ่งแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ  ทำให้กลุ่มหนึ่งอ่อนแอ ฆ่าลูกชายของพวกเขา และไว้ชีวิตผู้หญิงของพวกเขา  เขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเสื่อมเสีย”  (อัลกอศ๊อศ : 4)

ดังนั้นเราจึงเห็น “ความเหิมเกริม” และ “การสร้างความเสื่อมเสีย” จะอยู่คู่กัน

  • คัมภีร์อัลกุรอานได้ตำหนิอย่างรุนแรงต่อชนชาติที่เชื่อฟังทรราช

คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ตำหนิเฉพาะกลุ่มทรราชแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังรวมถึงประชาชนและผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขา ยอมคุกเข่าให้กับพวกเขา  โดยถือว่า เป็นการร่วมรับผิดชอบกับพวกเขาด้วย

อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวถึงกลุ่มชนของนบีนุห์ว่า

‎قَالَ نُوحٌ رَبِّ إِنَّهُمْ عَصَوْنِي وَاتَّبَعُوا مَنْ لَمْ يَزِدْهُ مَالُهُ وَوَلَدُهُ إِلَّا خَسَارًا

นุห์กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของฉัน พวกเขาไม่เชื่อฟังฉันและทำตามผู้ที่ทรัพย์สินและลูกชายของเขาไม่ได้เพิ่มพูนอะไรนอกจากการสูญเสียเท่านั้น ( นุห์ :  21)

และอัลลอฮ์มหาบริสุทธิ์กล่าวถึงชนเผ่าของนบีฮูดว่า

‎وتلك عاد جحدوا بآيات ربهم وعصوا رسله واتبعوا أمر كل جبار عنيد

และชาวเผ่าอ๊าดเหล่านี้ปฏิเสธสัญญาณของพระเจ้าของพวกเขา และฝ่าฝืนศาสนทูตของเขา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจผู้ดื้อรั้นทุกคน “(ฮูด: 59)

และกล่าวถึงชนชาติของฟาโรห์ว่า

‎فَٱسۡتَخَفَّ قَوۡمَهُۥ فَأَطَاعُوهُۚ إِنَّهُمۡ كَانُواْ قَوۡمٗا فَٰسِقِينَ

เขา(ฟาโรห์) ก็พาลกับชนชาติของเขา และพวกเขาก็เชื่อฟังต่อเขา พวกเขาเป็นคนชั่วช้าสามานย์(อัซซุครุฟ : 54)

‎ فَاتَّبَعُوا أَمْرَ فِرْعَوْنَ ۖ وَمَا أَمْرُ فِرْعَوْنَ بِرَشِيدٍ

‎يَقۡدُمُ قَوۡمَهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ فَأَوۡرَدَهُمُ ٱلنَّارَۖ وَبِئۡسَ ٱلۡوِرۡدُ ٱلۡمَوۡرُودُ

ดังนั้น พวกเขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งของฟาโรห์ ทั้งๆสิ่งที่ฟาโรห์ทำนั้นไม่มีเหตุผล  เขา(ฟาโรห์)จะนำหน้ากลุ่มชนของเขาในวันกิยามะฮฺ และนำพวกเขาลงในไฟนรก และมันเป็นทางลงที่ชั่วช้าที่พวกเขาได้ลงไป (ฮูด : 97 – 98 )

การที่คนทั่วไปถูกถือว่าเป็นผู้ร่วมรับผิด หรือเป็นส่วนหนึ่งของความผิดดังกล่าว เพราะพวกเขาเป็นผู้สร้างทรราชขึ้นมาเอง ดังวลีที่กล่าวว่า มีคนถามฟาโรห์ว่า  ท่านเป็นฟาโรห์ได้เพราะอะไร ฟาโรห์ตอบว่า เพราะฉันไม่พบใครขัดขวางฉัน

  • ทหารและเครื่องมือของทรราชร่วมรับผิดชอบเช่นกัน

ผู้ที่แบกรับความรับผิดชอบกับทรราชคือ“ เครื่องมือแห่งอำนาจ” ที่อัลกุรอานเรียกว่า“ ทหาร” ซึ่งหมายถึง“ กำลังทหาร” อันเป็นเขี้ยวเล็บของอำนาจทางการเมือง ที่คอยเป็นแส้คอยลงโทษและคุกคามมวลชน หากพวกเขาก่อกบฏหรือคิดจะกบฏ

คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า

‎ إِنَّ فِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَ وَجُنُودَهُمَا كَانُواْ خَٰطِـِٔينَ

“แท้จริงฟาโรห์และฮามาน และไพร่พลของเขาทั้งสองเป็นพวกที่มีความผิด” (อัลกอศ๊อศ : 8 )

‎فَأَخَذۡنَٰهُ وَجُنُودَهُۥ فَنَبَذۡنَٰهُمۡ فِي ٱلۡيَمِّۖ فَٱنظُرۡ كَيۡفَ كَانَ عَٰقِبَةُ ٱلظَّـٰلِمِينَ

“ดังนั้น เราได้ลงโทษเขาและไพร่พลของเขา เราได้โยนพวกเขาลงไปในทะเล จงพิจารณาเถิด บั้นปลายของพวกอธรรมเป็นเช่นไร” (อัลกอศ๊อศ : 40 )


บทความต้นฉบับ https://www.al-qaradawi.net/node/3775

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? [ ตอนที่ 1 ]

โดย ศ.ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

■ คำถาม

มุสลิมบางกลุ่มมีทัศนะว่า ประชาธิปไตยนั้นเข้ากันไม่ได้กับอิสลาม บ้างเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่หลุดพ้นจากศาสนาอิสลามอย่างสิ้นเชิง พวกเขาใช้ข้ออ้างว่า ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองประชาชนโดยประชาชน อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน แต่ในศาสนาอิสลามประชาชนไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่แท้จริง แต่ผู้มีอำนาจสูงสุดคืออัลลอฮ์เท่านั้น ดังที่อัลกุรอานกล่าวความว่า “ ไม่มีการตัดสินใดๆ นอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น “ (Al-An’am: 57)

ทำให้กลุ่มเสรีนิยมและผู้สนับสนุนเสรีภาพเห็นว่า ชาวมุสลิมเป็นศัตรูกับประชาธิปไตย และเป็นเครือข่ายผู้สนับสนุนเผด็จการทรราช

ดังนั้น จึงขอให้ท่านช่วยให้ความกระจ่างว่า อิสลามเป็นศัตรูกับประชาธิปไตยจริงหรือ และประชาธิปไตยนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธศรัทธาหรือความชั่วร้ายตามที่มีผู้กล่าวอ้างหรือไม่ หรือเป็นเพียงการกล่าวเท็จต่ออิสลาม ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เราขอพรต่ออัลลอฮ์เพื่อช่วยให้ท่านเปิดเผยความจริง ชี้แจงหักล้างข้อโต้แย้ง ขอขอบคุณและขอให้อัลลอฮ์ตอบแทนท่านด้วยความดีงาม

■ คำตอบ

الحمد لله، والصلاة والسلام على رسول الله، وعلى آله وصحبه ومن والاه، وبعد

ข้าพเจ้าก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เกิดความสับสนอลหม่านระหว่างความจริงกับความเท็จในหมู่ผู้เคร่งครัดศาสนาโดยทั่วไปและในหมู่ผู้พูดในนามของศาสนาอิสลามบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นคำถามของพี่น้องที่ได้ระบุข้างต้น ถึงขั้นการกล่าวหาผู้คนว่า หลุดพ้นจากศาสนาหรือผิดศีลธรรมกลายเป็นเรื่องง่ายดาย ราวกับว่าพวกเขาไม่รับรู้ว่าในอิสลามถือว่า การกล่าวหาผู้คนว่าหลุดพ้นจากศาสนา เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงอุกฉกรรจ์ และจะย้อนกลับมาเข้าตัวผู้ที่กล่าวหาผู้อื่น ดังปรากฏในหะดีษศอฮีห์

คำถามที่พี่น้องผู้มีเกียรติถามนี้ จึงไม่แปลกสำหรับข้าพเจ้า เพราะพี่น้องของเขาจากแอลจีเรียได้ถามมาหลายครั้ง และด้วยคำถามชัดเจนว่า [ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่หลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? ]

○ การตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นกิ่งก้านของความรู้แจ้งถึงสิ่งนั้น

ที่แปลกประหลาด บางคนฟันธงว่าประชาธิปไตยเป็นความเลวที่ชัดเจน หรือเป็นการปฏิเสธศาสนาอย่างชัดเจน ทั้งๆที่เขาไม่รู้ถึงแก่นแท้หรือแม้กระทั่งมโนทัศน์ในภาพรวมของมัน

หนึ่งในบรรดากฎที่นักวิชาการบรรพกาลของเรากำหนดไว้คือ การตัดสินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นกิ่งก้านของความรู้แจ้งถึงสิ่งนั้น

ดังนั้นใครก็ตามที่ชี้ขาดในบางสิ่งที่เขาไม่รู้ การตัดสินของเขาก็ถือว่าผิดพลาด แม้ว่าจะถูกต้องก็ตาม เพราะเป็นการยิงที่โดนเป้าโดยบังเอิญเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏในหะดีษว่า ผู้พิพากษาที่ตัดสินโดยไม่มีความรู้หรือรู้ความจริงแต่กลับไม่พิพากษาตามข้อเท็จจริง ล้วนถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น

ประชาธิปไตยที่ประชาชนทั่วโลกเรียกร้องก็เช่นกัน มวลชนจำนวนมากในตะวันออกและตะวันตกกำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา

บางส่วนก็ได้มาหลังจากการต่อสู้กับทรราชอย่างขมขื่น คนหลายพันคน ถึงนับล้านๆคน ต้องหลั่งเลือดและตกเป็นเหยื่อ เช่นในยุโรปตะวันออกและที่อื่น ๆ ทำให้กลุ่มอิสลามบางส่วนยอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีการหนึ่ง ในการยับยั้งการปกครองโดยบุคคล และสามารถตัดเขี้ยวเล็บของลัทธิเผด็จการทางการเมืองที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวมุสลิมของเรา

ดังนั้น ประชาธิปไตย ถือเป็นการหลุดพ้นจากศาสนาอิสลามอย่างที่พวกผิวเผินบางคนพูดหรือไม่

เราลองมาดูว่า อะไรคือแก่นแกนของประชาธิปไตย

แก่นแกนของประชาธิปไตย คือการให้ประชาชนเลือกผู้ที่จะมาปกครองบริหารพวกเขา และการไม่บีบบังคับประชาชนให้ยอมรับผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่พวกเขาเกลียดชัง ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบผู้ปกครองหากกระทำความผิด มีสิทธิ์ที่จะปลดผู้นำหากเบี่ยงเบน และไม่นำผู้คนไปสู่แนวทางเศรษฐกิจหรือทางสังคม วัฒนธรรมหรือการเมือง ที่พวกเขาไม่ยอมรับและไม่พอใจ แนวทางที่หากว่าประชาชนบางคนต่อต้านก็จะขับไล่ไสส่งและกระทำทารุณกรรม รวมถึงการทรมานและสังหาร

นี่คือแก่นแกนของประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งมนุษยชาติได้ค้นพบรูปแบบและวิธีการที่ใช้ได้จริง เช่น การเลือกตั้ง และการลงประชามติของประชาชน ความเหนือกว่าของเสียงข้างมาก ความหลากหลายของพรรคการเมือง สิทธิของคนส่วนน้อยในการเป็นฝ่านค้าน เสรีภาพของสื่อมวลชน ความเป็นอิสระของตุลาการ ฯลฯ

ถามว่า ประชาธิปไตย ในสาระสำคัญที่เรากล่าวถึงนั้น ขัดกับอิสลามหรือไม่การขัดกันนี้มาจากไหน มีหลักฐานบทไหนบ้างจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺที่บ่งชี้กรณีนี้

● แก่นแกนของประชาธิปไตยสอดคล้องกับศาสนาอิสลาม

ความจริงแล้ว หากพิจารณาแก่นแกนของประชาธิปไตยก็จะพบว่า สิ่งนี้คือแก่นแกนของศาสนาอิสลามเช่นกัน

อิสลามไม่ยอมรับผู้นำละหมาดที่ผู้ตามเกลียดชัง
ปรากฏในหะดีษว่า

ثلاثة لا ترتفع صلاتهم فوق رءوسهم شبرًا ..” وذكر أولهم : “رجل أم قومًا وهم له كارهون ..”

“ บุคคล 3 ประเภทที่ละหมาดของเขา จะไม่ถูกยกขึ้นไปสูงกว่าศีรษะของพวกเขาแม้เพียงหนึ่งกระเบียดนิ้ว .. ” และกล่าวถึงคนแรกว่า:“ ชายคนหนึ่ง นำละหมาดผู้คน ในขณะที่ผู้คนรังเกียจเขา”

(หะดีษรายงานโดยอิบนุมาจะฮ์ เลขหะดีษ 971 /ศอฮีห์)

นี่เป็นกรณีละหมาด แล้วในเรื่องวิถีชีวิตและการเมืองการปกครองจะเป็นเช่นไร

มีหะดีษกล่าวว่า

خير أئمتكم ـ أي حكامكم ـ الذين تحبونهم ويحبونكم، وتصلون عليهم ـ أي تدعون لهم ـ ويصلون عليكم، وشرار أئمتكم الذين تبغضونهم ويبغضونكم، وتلعنونهم ويلعنونكم” (رواه مسلم عن عوف بن مالك).

ผู้นำที่ดีที่สุดของพวกท่าน คือผู้ที่พวกท่านรักพวกเขาและพวกเขารักพวกท่าน และพวกท่านขอพรให้พวกเขา และพวกเขาขอพรให้พวกท่าน และผู้นำของพวกท่านที่ชั่วร้ายที่สุดคือผู้นำที่พวกท่านรังเกียจพวกเขาและพวกเขารังเกียจพวกท่าน พวกท่านสาปแช่งพวกเขาและพวกเขาสาปแช่งพวกท่าน (หะดีษรายงานโดยมุสลิม จากเอาฟ์ บินมาลิก)

อัลกุรอานรณรงค์ต่อต้านผู้ปกครองที่สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้า

อัลกุรอานได้รณรงค์อย่างรุนแรงต่อผู้ปกครองที่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าในโลกนี้ และถือเอามนุษย์เป็นข้าทาส เฉกเช่น กษัตริย์นัมรูด ( แห่งดินแดนเมโสโปเตเมียในบรรพกาล ) รวมถึงท่าทีของนัมรูดต่อนบีอิบริอฮีม และท่าทีของอิบรอฮีมต่อนัมรูด ว่า

‎أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِي حَاجَّ إِبْرَاهِيمَ فِي رَبِّهِ أَنْ آتَاهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّيَ الَّذِي يُحْيِي وَيُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْيِي وَأُمِيتُ ۖ قَالَ إِبْرَاهِيمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتِي بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بِهَا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِي كَفَرَ ۗ وَاللَّهُ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الظَّالِمِينَ

“ท่าน (มุฮัมมัด) มิได้พิจารณาดูผู้ที่โต้แย้งต่ออิบรอฮีมในเรื่องพระเจ้าของเขาเนื่องจากการที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอำนาจแก่เขาดอกหรือ ขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวว่า “พระเจ้าของฉันนั้นคือผู้ที่ให้ชีวิตและให้ความตาย” เขากล่าวว่า “ข้าก็ให้ชีวิตและให้ความตายได้” อิบรอฮีมกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์นั้นนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันออก ท่านจงนำมันมาจากทิศตะวันตกเถิด” แล้วผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นก็อับจนปัญญา และอัลลอฮ์นั้นจะไม่ประทานแนวทางอันถูกต้องแก่ผู้อธรรมทั้งหลาย” ( อัลบะกอเราะห์ : 258 )

ทรราชนี้อ้างว่าเขาให้ชีวิตและหยิบยื่นความตายได้เช่นเดียวกับที่พระเจ้าของอิบรอฮีม – ผู้ซึ่งเป็นพระเจ้าของโลก – ให้ชีวิตและความตาย ดังนั้นผู้คนควรนับถือเขาเหมือนกับการที่พวกเขานับถือต่อพระเจ้าของอิบรอฮีม และเขาก็อวดดีถึงขั้นอ้างว่าให้ชีวิตและให้ความตาย โดยการนำชายสองคนจากท้องถนนและตัดสินประหารชีวิตโดยไม่มีความผิด และดำเนินการลงโทษคนหนึ่งในนั้นทันที พร้อมกล่าวว่า “ดูเถิดคนนี้ข้าให้ความตาย และยกโทษให้อีกคนหนึ่ง แล้วพูดว่า “ดูเถิด ข้าให้ชีวิตเขาแล้ว ! ฉันไม่ได้ให้ชีวิตและความตายกระนั้นหรือ!

และในทำนองเดียวกัน ฟาโรห์ผู้ซึ่งประกาศก้องในหมู่ประชาชนของเขาว่า
أَنَا رَبُّكُمُ الْأَعْلَىٰ
“ ฉันคือพระเจ้าผู้สูงสุดของพวกท่าน” (อันนาซิอาต : 24)

และกล่าวด้วยความองอาจว่า :
‎ يَا أَيُّهَا الْمَلأُ مَا عَلِمْتُ لَكُمْ مِنْ إِلَهٍ غَيْرِي

โอ้ผู้คนทั้งหลาย ฉันไม่รับทราบว่ามีพระเจ้าอื่นของจากฉัน” ( อัลกอศ็อศ : 38)

คัมภีร์กุรอานได้เปิดเผยขั้วพันธมิตรสามานย์ 3 ฝ่าย ได้แก่

ฝ่ายแรก คือผู้ปกครองที่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้า มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือประชาชน ฝ่ายนี้มีฟาโรห์เป็นตัวแทน

ฝ่ายที่ 2 คือนักการเมืองผู้แสวงผลประโยชน์ ซึ่งทุ่มเทสติปัญญาและประสบการณ์ของเขา เพื่อรับใช้และพิทักษ์รักษาฐานอำนาจของทรราช และทำให้ผู้คนเชื่องยอม พร้อมถวายความจงรักภักดีต่อฟาโรห์ ฝ่ายนี้มีฮามานเป็นตัวแทน

และฝ่ายที่ 3 คือกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มอำมาตย์ผู้ได้รับประโยชน์จากการปกครองของทรราช พวกเขาสนับสนุนทรราชด้วยการใช้จ่ายเงินของตนบางส่วนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อและเลือดของประชาชน ฝ่ายนี้มีกอรูนเป็นตัวแทน

คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงขั้วพันธมิตรของทั้ง 3 กลุ่มนี้ในเรื่องการฝ่าฝืนศีลธรรมและการล่วงละเมิด ตลอดจนการเผชิญหน้ากับสาส์นของมูซา จนกระทั่งอัลลอฮ์จัดการกับฟาโรห์อย่างน่าสมเพช

‎وَلَقَدۡ أَرۡسَلۡنَا مُوسَىٰ بِـَٔايَـٰتِنَا وَسُلۡطَـٰنٍ۬ مُّبِينٍ * إِلَىٰ فِرۡعَوۡنَ وَهَـٰمَـٰنَ وَقَـٰرُونَ فَقَالُواْ سَـٰحِرٌ۬ ڪَذَّابٌ۬

“และแน่นอน เราได้ส่งมูซามาพร้อมด้วยสัญญาณต่าง ๆ ของเราและหลักฐานอันชัดแจ้ง ไปยังฟาโรห์ และฮามาน และกอรูน แล้วพวกเขาก็กล่าวว่า (มูซาเป็น) มายากลนักโกหกตัวฉกาจ”
(ฆอฟิร : 23, 24)

‎وَقَٰرُونَ وَفِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَۖ وَلَقَدۡ جَآءَهُم مُّوسَىٰ بِٱلۡبَيِّنَٰتِ فَٱسۡتَكۡبَرُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَمَا كَانُواْ سَٰبِقِينَ

และ (เราได้ทำลาย) กอรูน ฟาโรห์และฮามาน และโดยแน่นอนมูซาได้มายังพวกเขาพร้อมด้วยหลักฐานอันชัดแจ้ง แต่พวกเขาหยิ่งผยองในแผ่นดิน และพวกเขาก็หาได้รอดพ้นไปจากเราไม่ ( อัลอังกะบูต : 39)

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ กอรูนมีเชื้อชาติเดียวกับมูซา และคนละเชื้อชาติกับฟาโรห์ แต่เขากลับทรยศต่อชนเชื้อชาติเดียวกัน และเข้าร่วมกับฟาโรห์ ซึ่งเป็นศัตรูของพวกเขา โดยฟาโรห์ก็ยอมรับเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามารวมกันได้แม้จะแตกต่างกันทางเชื้อชาติและเชื้อสายก็ตาม

คัมภีร์อัลกุรอานเชื่อมโยงการปกครองแบบเผด็จการและการทุจริต

ในบรรดาความโดดเด่นของคัมภีร์อัลกุรอาน คือการเชื่อมโยงการกดขี่กับการแพร่กระจายของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชาติล่มสลาย

พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพกล่าวว่า:

‎أَلَمْ تَرَ كَيْفَ فَعَلَ رَبُّكَ بِعَاد (6) إِرَمِ ذَاتِ الْعمَادِ (7) الَّتِى لَمْ يُخْلَقْ مِثْلُهَا فِى الْبِلَـدِ (8) وَثَمُودَ الَّذِينَ جَابُواْ الصَّخْرَ بِالْوَادِ (9) وَفرِعَوْنَ ذِى الأَوْتَادِ (10) الَّذِينَ طَغَوْا فِى الْبِلَـدِ (11) فَأَكْثَرُواْ فِيهَا الْفَسَادَ (12) فَصَبَّ عَلَيهِمْ رَبُّكَ سَوْطَ عَذَاب (13) إِنَّ رَبَّكَ لَبِالْمِرْصَادِ (14)

“เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า พระเจ้าของเจ้ากระทำต่อพวกอ๊าดอย่างไร
อิรอม มีเสาหินสูงตระหง่าน
ซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างที่เทียบเท่าได้ตามหัวเมืองต่าง ๆ
และพวกซะมูดผู้สกัดหิน ณ หุบเขา
และฟิรเอานฺ เจ้าแห่งหมุดต่างๆ
พวกเขาได้กดขี่ทั่วแว่นแคว้นต่าง ๆ
แล้วก่อความเสียหายอย่างมากมายในหัวเมืองเหล่านั้น
ดังนั้นพระเจ้าของเจ้าจึงกระหน่ำการลงโทษนานาชนิดบนพวกเขา
แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเฝ้าดูอย่างแน่นอน”
[อัลฟัจร์ : 6-14]

คัมภีร์อัลกุรอานอาจแทนคำว่า “ทรราช” الطغيان ด้วยคำว่า “การเหิมเกริม” العلو ซึ่งหมายถึง ความเย่อหยิ่งและการใช้อำนาจเหนือสรรพสิ่ง ด้วยการสร้างความอัปยศอดสูและการกดขี่ข่มเหง

ดังที่อัลลอฮ์กล่าวถึงฟาโรห์ว่า

‎إِنَّهُۥ كَانَ عَالِيٗا مِّنَ ٱلۡمُسۡرِفِينَ

“แท้จริงเขาเป็นหนึ่งที่ใฝ่สูงในบรรดาผู้ละเมิด” (อัดดุคอน: 31)

‎إِنَّ فِرۡعَوۡنَ عَلَا فِي ٱلۡأَرۡضِ وَجَعَلَ أَهۡلَهَا شِيَعٗا يَسۡتَضۡعِفُ طَآئِفَةٗ مِّنۡهُمۡ يُذَبِّحُ أَبۡنَآءَهُمۡ وَيَسۡتَحۡيِۦ نِسَآءَهُمۡۚ إِنَّهُۥ كَانَ مِنَ ٱلۡمُفۡسِدِينَ

“แท้จริง ฟาโรห์ได้เหิมเกริมในแผ่นดิน และแบ่งแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้กลุ่มหนึ่งอ่อนแอ ฆ่าลูกชายของพวกเขา และไว้ชีวิตผู้หญิงของพวกเขา เขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเสื่อมเสีย” (อัลกอศ๊อศ : 4)

ดังนั้นเราจึงเห็น “ความเหิมเกริม” และ “การสร้างความเสื่อมเสีย” จะอยู่คู่กัน

คัมภีร์อัลกุรอานได้ตำหนิอย่างรุนแรงต่อชนชาติที่เชื่อฟังทรราช

คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ตำหนิเฉพาะกลุ่มทรราชแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังรวมถึงประชาชนและผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขา ยอมคุกเข่าให้กับพวกเขา โดยถือว่า เป็นการร่วมรับผิดชอบกับพวกเขาด้วย

อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวถึงกลุ่มชนของนบีนุห์ว่า

‎قَالَ نُوحٌ رَبِّ إِنَّهُمْ عَصَوْنِي وَاتَّبَعُوا مَنْ لَمْ يَزِدْهُ مَالُهُ وَوَلَدُهُ إِلَّا خَسَارًا

นุห์กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของฉัน พวกเขาไม่เชื่อฟังฉันและทำตามผู้ที่ทรัพย์สินและลูกชายของเขาไม่ได้เพิ่มพูนอะไรนอกจากการสูญเสียเท่านั้น ( นุห์ : 21)

และอัลลอฮ์มหาบริสุทธิ์กล่าวถึงชนเผ่าของนบีฮูดว่า

‎وتلك عاد جحدوا بآيات ربهم وعصوا رسله واتبعوا أمر كل جبار عنيد

และชาวเผ่าอ๊าดเหล่านี้ปฏิเสธสัญญาณของพระเจ้าของพวกเขา และฝ่าฝืนศาสนทูตของเขา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจผู้ดื้อรั้นทุกคน “(ฮูด: 59)

และกล่าวถึงชนชาติของฟาโรห์ว่า

‎فَٱسۡتَخَفَّ قَوۡمَهُۥ فَأَطَاعُوهُۚ إِنَّهُمۡ كَانُواْ قَوۡمٗا فَٰسِقِينَ

เขา(ฟาโรห์) ก็พาลกับชนชาติของเขา และพวกเขาก็เชื่อฟังต่อเขา พวกเขาเป็นคนชั่วช้าสามานย์(อัซซุครุฟ : 54)

‎ فَاتَّبَعُوا أَمْرَ فِرْعَوْنَ ۖ وَمَا أَمْرُ فِرْعَوْنَ بِرَشِيدٍ
‎يَقۡدُمُ قَوۡمَهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ فَأَوۡرَدَهُمُ ٱلنَّارَۖ وَبِئۡسَ ٱلۡوِرۡدُ ٱلۡمَوۡرُودُ

ดังนั้น พวกเขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งของฟาโรห์ ทั้งๆสิ่งที่ฟาโรห์ทำนั้นไม่มีเหตุผล เขา(ฟาโรห์)จะนำหน้ากลุ่มชนของเขาในวันกิยามะฮฺ และนำพวกเขาลงในไฟนรก และมันเป็นทางลงที่ชั่วช้าที่พวกเขาได้ลงไป (ฮูด : 97 – 98 )

การที่คนทั่วไปถูกถือว่าเป็นผู้ร่วมรับผิด หรือเป็นส่วนหนึ่งของความผิดดังกล่าว เพราะพวกเขาเป็นผู้สร้างทรราชขึ้นมาเอง ดังวลีที่กล่าวว่า มีคนถามฟาโรห์ว่า ท่านเป็นฟาโรห์ได้เพราะอะไร ฟาโรห์ตอบว่า เพราะฉันไม่พบใครขัดขวางฉัน

ทหารและเครื่องมือของทรราชร่วมรับผิดชอบเช่นกัน

ผู้ที่แบกรับความรับผิดชอบกับทรราชคือ“ เครื่องมือแห่งอำนาจ” ที่อัลกุรอานเรียกว่า“ ทหาร” ซึ่งหมายถึง“ กำลังทหาร” อันเป็นเขี้ยวเล็บของอำนาจทางการเมือง ที่คอยเป็นแส้คอยลงโทษและคุกคามมวลชน หากพวกเขากบฏหรือคิดจะกบฏ

คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า
‎ إِنَّ فِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَ وَجُنُودَهُمَا كَانُواْ خَٰطِـِٔينَ

“แท้จริงฟาโรห์และฮามาน และไพร่พลของเขาทั้งสองเป็นพวกที่มีความผิด” (อัลกอศ๊อศ : 8 )

‎فَأَخَذۡنَٰهُ وَجُنُودَهُۥ فَنَبَذۡنَٰهُمۡ فِي ٱلۡيَمِّۖ فَٱنظُرۡ كَيۡفَ كَانَ عَٰقِبَةُ ٱلظَّـٰلِمِينَ

“ดังนั้น เราได้ลงโทษเขาและไพร่พลของเขา เราได้โยนพวกเขาลงไปในทะเล จงพิจารณาเถิด บั้นปลายของพวกอธรรมเป็นเช่นไร” (อัลกอศ๊อศ : 40 )


บทความต้นฉบับ https://www.al-qaradawi.net/node/3775

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

อิสลามกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เนื่องจากมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจากน้ำมือของมนุษย์ และการทำลายนั้นมีความรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าธรรมชาติจะฟื้นฟูด้วยตัวเอง ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการรณรงค์ให้ทุกคนในสังคมช่วยกันอนุรักษ์ และมีจิตสำนึกอย่างจริงจังก่อนที่จะส่งผลกระทบเลวร้ายไปกว่านี้

          ในทัศนะอิสลาม มนุษย์มีหน้าที่บริหารจัดการโลกนี้ให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์ มนุษย์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จรรโลงสังคมสู่การพัฒนาและความเจริญ ถึงแม้มนุษย์จะมีสติปัญญาและมีสามัญสำนึกในการทำความดี แต่บางครั้งมักถูกชักจูงด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำ และความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นเหตุให้มนุษย์ทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือแม้กระทั่งตนเอง อัลลอฮ์ ได้ตรัสในอัลกุรอานความว่า :

“และหากว่าความจริงได้คล้อยตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของพวกเขาแล้ว ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินรวมทั้งบรรดาสรรพสิ่งที่อยู่ในนั้นต้องเสียหายอย่างแน่นอน”

(อัลกุรอาน 23:71)

          จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีกฎกติกาเพื่อสามารถโน้มน้าว ให้รู้จักการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสามารถใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอย่างกลมกลืนและยั่งยืน


อิสลามจึงเป็นกฏสากลที่วางกรอบให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้


          1. อิสลามให้มนุษย์ได้รับรู้ต้นกำเนิดของตนเอง และรับรู้ภารกิจหลักในการกำเนิดมาบนโลกนี้ เขาไม่มีสิทธิที่จะแสดงอำนาจตามอำเภอใจและสร้างความเดือดร้อนแก่สิ่งรอบข้างแม้กระทั่งตนเอง ภารกิจประการเดียวของมนุษย์บนโลกนี้คือการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ทุกกิจการงานไม่ว่าทั้งเปิดเผยและที่ลับ ส่วนตัวหรือส่วนรวม ล้วนแล้วต้องมีความโยงใยและสอดคล้องกับคำสอนของอัลลอฮ์ เพราะการกระทำจะเป็นตัวชี้วัด ที่บ่งบอกถึงความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ที่แท้จริง ในขณะเดียวกัน การศรัทธาจะเป็นกุญแจดอกแรกสำหรับไขประตูสู่การยอมจำนนเป็นบ่าวผู้เคารพภักดี


          2. ความรู้ที่ถูกต้องคือสะพานเชื่อมที่ทำให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตในฐานะบ่าวของอัลลอฮ์   ความรู้ที่ถูกต้องจะไม่ขัดแย้งกับสติปัญญาอันบริสุทธิ์ ในขณะที่สติปัญญาและความรู้ จำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากคำวิวรณ์ของอัลลอฮ์ ที่ได้รับการขยายความและประมวลสรุปโดยจริยวัตรของนะบีมุฮัมมัด 

          ดังนั้นการแสวงหาความรู้จึงเป็นหน้าที่หลักของมุสลิมโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ ช่วงอายุ เวลา สถานที่และสถานการณ์ ความรู้ที่ถูกต้องและสติปัญญาได้เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์รู้จักใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย อ่อนน้อมถ่อมตน และความพอเพียงที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการสันติภาพอันแท้จริง

          พึงทราบว่า การภักดีต่ออัลลอฮ์  โดยปราศจากความรู้ (ไม่ว่าในระดับใดก็ตาม) ย่อมเกิดโทษมหันต์ ยิ่งกว่าก่อประโยชน์อันอนันต์ โดยเฉพาะหากการภักดีต่ออัลลอฮ์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องและสร้างผลกระทบกับผู้คนส่วนรวม 


          3. มนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือสรีระร่างกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแยกส่วน อิสลามได้คำนึงถึงองค์ประกอบด้วยมุมมองที่สมดุลย์และยุติธรรม ทุกองค์ประกอบจะต้องได้รับการดูแลพัฒนาอย่างเท่าเทียม แม้แต่แนวคิดเล็กๆ ที่จุดประกายโดยเศาะฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งมีแนวคิดที่จะปลีกตัวออกจากสังคม  กลุ่มหนึ่งไม่ยอมแต่งงาน กลุ่มสองจะถือศีลอดตลอดทั้งปี และกลุ่มสามจะดำรงการละหมาดตลอดเวลาโดยไม่พักผ่อน เพื่อจะได้มีเวลาในการบำเพ็ญตนต่ออัลลอฮ์โดยไม่มีสิ่งอื่นรบกวนทำลายสมาธิ แต่เมื่อนะบีมุฮัมมัด  ทราบข่าวจึงเรียกเศาะฮาบะฮ์ทั้งสามกลุ่มนั้นมาเพื่อตักเตือนและสั่งสอนพวกเขาว่า

 “ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮ์ แท้จริงฉันเป็นผู้ยำเกรงอัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่สูเจ้า ฉันถือศีลอดแต่บางวันฉันก็ทานอาหาร ฉันละหมาดและฉันผักผ่อน และฉันแต่งงาน ใครก็ตามที่ไม่ประสงค์ดำเนินรอยตามจริยวัตรของฉัน เขาเหล่านั้นมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของฉัน”

(รายงานโดย มุสลิม)

          อิสลามจึงให้ความสำคัญในการรักษาความสมดุลย์ในร่างกายมนุษย์ องค์ประกอบทุกส่วนต้องได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน มีหน้าที่ที่สอดคล้องกับสัญชาติญานโดยไม่มีการรุกล้ำหรือสร้างความเดือดร้อนซึ่งกันและกัน


          4. มนุษย์คือส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถปลีกตัวออกจากกันได้ หน้าที่สำคัญนอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อตนเองแล้ว เขาต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ทั้งนี้เพราะปรากฏการณ์ในสังคมที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ ย่อมมีผลกระทบต่อสมาชิกในสังคม ดังหะดีษบทหนึ่งที่นะบีมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า

“ได้อุปมาผู้คนในสังคมที่มีหน้าที่ปกป้องบทบัญญัติของอัลลอฮ์ เสมือนผู้ที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน ผู้ที่อยู่ชั้นล่างมักขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่ชั้นบนในการให้น้ำเพื่อบริโภค จนกระทั่งผู้ที่อยู่ชั้นล่างเกรงใจ เลยฉุกคิดว่าหากเราทุบเรือเป็นรูโหว่เพียงเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการรับน้ำก็จะเป็นการดี เพราะเพื่อนๆ ที่อยู่ชั้นบนจะไม่เดือดร้อน ซึ่งหากผู้คนชั้นบนไม่หักห้ามหรือทักท้วงการกระทำดังกล่าว พวกเขาก็จะจมเรือทั้งลำ แต่ถ้ามีผู้คนหักห้ามไว้ พวกเขาก็ปลอดภัยทั้งลำเช่นเดียวกัน”

(รายงานโดยบุคอรี)

          อิสลามจึงห้ามมิให้มีการรุกรานหรือสร้างความเดือด ทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องได้รับการรักษาและอนุรักษ์ไว้โดยไม่คำนึงถึงศาสนา ชนชาติ และเผ่าพันธุ์ อิสลามถือว่าการมลายหายไปของโลกนี้ยังมีสถานะที่เบากว่าบาปของการหลั่งเลือดชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ อิสลามจึงประณามการกระทำที่นำไปสู่การทำลายในทุกรูปแบบ ดังอัลลอฮ์  ได้กล่าวไว้ ความว่า

 “และเมื่อพวกเขาหันหลังไปแล้ว เขาก็เพียรพยายามในแผ่นดินเพื่อก่อความเสียหายและทำลายพืชผลและเผ่าพันธุ์ และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบการก่อความเสียหาย”

(อัลกุรอาน 2 : 205 )


          5.  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านสังคมและสุขภาพ อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์กระทำคุณงามความดีและสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม ดังปรากฏในหะดีษ ความว่า

“อีมานมี 70 กว่า หรือ 60 กว่าสาขา สุดยอดของอีมาน คือคำกล่าวที่ว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์

และอีมานที่มีระดับต่ำสุดคือ การเก็บกวาดสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้บนถนนหนทาง”

( รายงานโดยมุสลิม )

          การเก็บกวาดขยะสิ่งปฏิกูลและสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้บนถนนหนทาง ถึงแม้จะเป็นขั้นอีมานที่ต่ำสุด แต่หากผู้ใดกระทำอย่างบริสุทธิ์ใจและหวังผลตอบแทนจากความโปรดปรานของอัลลอฮ์  แล้ว เขาจะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ์  และเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเข้าสวรรค์  ดังหะดีษบทหนึ่งความว่า  อบูฮุร็อยเราะฮ์เล่าว่า ฉันได้ยินท่านนะบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

 “แท้จริงฉันเห็นชายคนหนึ่งกำลังพลิกตัวในสวรรค์ เนื่องจากเขาเคยตัดทิ้งต้นไม้ที่ล้มทับบนถนน เพื่อมิให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนที่สัญจรไปมา”

(รายงานโดยมุสลิม)

          อิสลามห้ามมิให้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ทั้งน้ำนิ่งหรือน้ำไหล การถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะในแหล่งน้ำ ถือเป็นการกระทำที่ถูกสาปแช่ง ดังหะดีษที่เล่าโดยมุอาซบินญะบัลเล่าว่า นะบีมุฮัมมัด กล่าวว่า

“จงยำเกรงสถานที่ที่เป็นสาเหตุของการสาปแช่ง ทั้ง 3 แห่ง คือ การถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะใน(1)แหล่งน้ำ (2)บนถนนที่ผู้คนสัญจรไปมา และ(3)ใต้ร่มเงา” 

( รายงานโดยเฏาะบะรอนีย์ )

     ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ทุกกิจการของมนุษย์จะต้องอยู่ภายใต้กฏกติกาที่นะบีมุฮัมมัด  ได้กำหนดว่า

“ไม่มีการสร้างความเดือดร้อนและไม่มีการตอบโต้ความเดือดร้อนด้วยการสร้างความเดือดร้อนทดแทน” 

( รายงานโดยอีมามมาลิก)


          6. อิสลามกำชับให้มุสลิมทุกคนมีจิตใจที่อ่อนโยน ให้เกียรติทุกชีวิตที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ อิสลามจึงห้ามการทรมานสัตว์ และการฆ่าสัตว์โดยเปล่าประโยชน์ อิสลามสอนว่า

 “หญิงนางหนึ่งต้องเข้านรกเพราะทรมานแมวตัวหนึ่งด้วยการจับขังและไม่ให้อาหารมัน จนกระทั่งแมวตัวนั้นตายเพราะความหิว”

( รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

ในขณะเดียวกัน

“ชายคนหนึ่งเข้าสวรรค์เนื่องจากรินน้ำแก่สุนัขจรจัดที่กำลังกระหายน้ำ อิสลามถือว่า การให้อาหารแก่ทุกกระเพาะที่เปียกชื้น ( ทุกสิ่งที่มีชีวิต ) เป็นการให้ทานประการหนึ่ง”

( รายงานโดยบุคอรี และมุสลิม)

          มุสลิมไม่กล้าแม้กระทั่งฆ่านกตัวเดียวโดยเปล่าประโยชน์ เพราะตามหะดีษที่รายงานโดยอันนะสาอีย์และอิบนุหิบบาน กล่าวไว้ความว่า

“ใครก็ตามที่ฆ่านกตัวหนึ่งโดยเปล่าประโยชน์ นกตัวนั้นจะร้องตะโกนประท้วงในวันกิยามะฮ์ พร้อมกล่าวว่า โอ้อัลลอฮ์ ชายคนนั้นได้ฆ่าฉันโดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใด เขาฆ่าฉันโดยมิได้หวังประโยชน์อันใดจากฉันเลย”

          เคาะลีฟะฮ์อบูบักรเคยสั่งเสียแก่จอมทัพอุซามะฮ์ ก่อนที่จะนำเหล่าทหารสู่เมืองชามว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ตัดทำลายต้นไม้ที่ออกดอก ออกผล อย่าเข่นฆ่าแพะ วัว หรืออูฐ เว้นแต่เพื่อการบริโภคเท่านั้น”

          มนุษย์ผู้ซึมซับคำสอนเหล่านี้ จะไม่เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าไม้ การตายของปลานับล้านตัวในแม่น้ำหรือทะเล หรือสร้างความเดือดร้อนแก่สรรพสัตว์ที่ใช้ชีวิตในป่า เพราะถ้าเขาสามารถใช้อิทธิพลหลบหลีกการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีบนโลกนี้ แต่เขาไม่มีทางหลบพ้นการถูกสอบสวนจากอัลลอฮ์  ผู้ทรงเกรียงไกรในวันอาคิเราะฮ์อย่างแน่นอน

          อิสลามยังกำชับให้มุสลิมตระหนักและให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ การเพาะปลูก ณ ที่ดินร้าง การพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแหล่งประกอบอาชีพ โดยยึดหลักความยุติธรรม ความสมดุล และความพอเพียง


          7. อิสลามประณามการใช้ชีวิตที่สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ โดยถือว่าการสุรุ่ยสุร่ายเป็นญาติพี่น้องของชัยฏอน ( เหล่ามารร้าย ) นะบีมุฮัมมัด ได้ทักท้วง สะอัดที่กำลังอาบน้ำละหมาดโดยใช้น้ำมากเกินว่า

 “ทำไมถึงต้องใช้น้ำมากถึงขนาดนี้โอ้สะอัด ?

สะอัดจึงถามกลับว่าการใช้น้ำมาก ๆ เพื่ออาบน้ำละหมาด ถือเป็นการฟุ่มเฟือยกระนั้นหรือ ? 

นะบีมุฮำหมัด  จึงตอบว่า ใช่ ถึงแม้ท่านจะอาบน้ำละหมาดในลำคลองที่กำลังไหลเชี่ยวก็ตาม”

( รายงานโดยฮากิม )

          หากการใช้น้ำมากเกินเพื่ออาบน้ำละหมาดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี ) ยังถือว่าฟุ่มเฟือย ดังนั้นมุสลิมทุกคนพึงระวังการใช้น้ำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

          คำสอนของอิสลามได้กล่าวถึงการจัดระเบียบ ให้มนุษย์รู้จักการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับตนเอง  สังคม สิ่งแวดล้อม โดยถือว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และร่วมมือกันปกป้องอนุรักษ์ เพื่อพัฒนาชีวิตที่ครอบคลุมและสมบรูณ์ มีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับผู้ทรงสร้างสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารจัดการและผู้จัดระเบียบสากลจักรวาลอันเกรียงไกร อิสลามเชื่อว่าผู้ที่สามารถทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็คือ “มนุษย์” นั่นเอง ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า

 “การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากการกระทำด้วยน้ำมือของมนุษย์”

( อัลกุรอาน 30 : 41 )

          ภารกิจหลักของมุสลิม คือการเอื้ออำนวยให้เกิดระบบและกระบวนการสันติสุขบนโลกนี้ที่สามารถสัมผัสได้ในชีวิตจริง ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์อันสูงส่งของอิสลาม ดังอัลกุรอานได้กล่าวไว้ ความว่า

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลจักรวาล”
(อัลกุรอาน21: 107)


เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน  มาหะมะ

ลุกมานสอนลูก : บทเรียนและแนวปฏิบัติ

ความหมายอัลกุรอานซูเราะฮฺ ลุกมาน โองการ 12-19

12. และโดยแน่นอน เราได้ให้ฮิกมะฮฺ แก่ลุกมานว่า จงขอบพระคุณต่ออัลลอฮฺ และผู้ใดขอบคุณแท้จริงเขาก็ขอบคุณตัวของเขาเอง และผู้ใดปฏิเสธแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงร่ำรวยและทรงได้รับการสรรเสริญ

13. และจงรำลึกเมื่อลุกมานได้กล่าวแก่บุตรของเขา โดยสั่งสอนเขาว่า “โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใดๆต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์โดยแน่นอน

14. และเราได้สั่งการมนุษย์เกี่ยวกับบิดามารดาของเขา โดยมีมารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาอ่อนเพลียลงครั้งแล้วครั้งเล่า และการหย่านมของเขาในระยะเวลาสองปี เจ้าจงขอบคุณข้า และบิดามารดาของเจ้า ยังเรานั้นคือการกลับไปสู่

15. และถ้าเขาทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าอย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดีและจงปฏิบัติตามทางของผู้ที่กลับไปสู่ข้า และยังเรานั้นคือทางกลับของพวกเจ้า ดังนั้น ข้าจะบอกแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้

16.โอ้ลูกเอ๋ย แท้จริง (หากว่าความผิดนั้น) มันจะหนักเท่าเมล็ดผักสักเมล็ดหนึ่ง มันจะซ่อนอยู่ในหิน หรืออยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายหรืออยู่ในแผ่นดิน อัลลอฮฺก็จะทรงนำมันออกมาแท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง

17. โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น มั่นคง

18. และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้าให้แก่ผู้คนอย่างยะโส และอย่าเดินไปตามแผ่นดินอย่างไร้มารยาท แท้จริง อัลลอฮฺ มิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด

19.และเจ้าจงก้าวเท้าของเจ้าพอประมาณและจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริง เสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง (ร้อง) ของลา

ลุกมานคือใคร ?

  • คือบุคคลที่อัลลอฮฺกล่าวถึงในอัลกุรอาน และเป็นชื่อซูเราะฮฺลำดับที่ 31
  • ลุกมานเป็นทาสชาวเอธิโอเปีย มีอาชีพเป็นช่างไม้ (ความเห็นของ Ibnu Abbas)
  • ลุกมานเป็นชาวซูดาน มีร่างกายที่แข็งแรง อัลลอฮฺทรงประทานฮิกมะฮฺ(วิทยปัญญา)แก่เขา แต่ไม่แต่งตั้งเขาให้เป็นนบี (ความเห็นของ Said bin Musayyab)
  • ลุกมานเป็นทาสที่ศอลิหฺ ไม่ใช่นบี มีริมฝีปากหนา เท้าใหญ่และเป็นผู้ตัดสินคดี (ผู้พิพากษา) ชาวบะนีอิสรออีล (ความเห็นของ Mujahid) ในสมัยนบีดาวูด
  • เจ้านายเคยสั่งใช้ให้ลุกมาน เชือดแพะตัวหนึ่งและให้เขาเก็บเนื้อที่ดีที่สุดจำนวน 2 ชิ้น ลุกมานจึงเก็บลิ้นและหัวใจ พอเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เจ้านายได้สั่งให้เขาเชือดแพะอีกตัวหนึ่งพร้อมสั่งให้เก็บเนื้อที่ไม่ดีที่สุดจำนวน 2 ชิ้น ลุกมานจึงเก็บลิ้นและหัวใจ เช่นเดียวกัน เมื่อเจ้านายถามเหตุผลของการกระทำดังกล่าว ลุกมานจึงตอบว่าไม่มีอวัยวะอื่นใดที่ประเสริฐสุดมากกว่าลิ้นและหัวใจ ถ้าหากทั้งสองอยู่ในสภาพดี และไม่มีอวัยวะอื่นใดที่ชั่วช้ามากกว่าลิ้นและหัวใจ หากทั้งสอง อยู่ในสภาพที่ชั่วร้าย

คุณสมบัติของลุกมานอัล-หะกีม

  • เป็นคนที่ศอลิห
  • อัลลอฮฺทรงประทานฮิกมะฮฺให้แก่เขา ซึ่งทำให้เขามีสติปัญญาอันเฉียบแหลม มีความรู้ที่ลุ่มลึก และมีคำพูดที่เต็มไปด้วยสาระและความหมาย
  • มีอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง เข้าใจในศาสนา
  • ฐานสำคัญของการอบรมลูก
1. ฐานแห่งอะกีดะฮฺ
2. ฐานแห่งอิบาดะฮฺ
3. ฐานแห่งคุณธรรมจริยธรรม

จากรากฐานทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ลุกมานได้สั่งเสียแก่ลูกให้ยึดมั่นคำสอน 10 ประการดังนี้

1) จงอย่าตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • พ่อแม่ต้องสั่งสอนและอบรมลูกให้มีอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง มอบความรักต่ออัลลอฮฺ รักท่านนบี วงศ์วานของท่านนบี และรักการอ่านอัลกุรอาน ดังหะดีษที่รายงานโดยอัต-เฏาะบะรอนี ความว่า “ท่านจงอบรมบรรดาลูกๆของท่านใน 3 ประการ คือให้มีความรักต่อนบีของพวกท่าน ให้มีความรักต่อวงศ์วานของนบี และให้มีความรักในการอ่านอัลกุรอาน”
  • การอะซานและอิกอมะฮฺแก่ทารกแรกเกิด
  • จงเปิดหูลูกน้อยของท่านด้วยคำกล่าวว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ)” (รายงานโดยอัล-หากิม)
  • การป้องกันกลลวงและภัยคุกคามจากชัยฏอนด้วยวิธีการดังนี้ :

* อ่านดุอาก่อนมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา
* ดุอาให้แก่ลูก
* อ่านซูเราะฮฺอิคลาศ อัลฟะลัก และอันนาส พร้อมเป่าทั่วร่างกายของลูก
* ระมัดระวังไม่ให้ลูกออกจากบ้านในเวลาค่ำคืนโดยเฉพาะช่วงพลบค่ำเพราะช่วงดังกล่าวญินมักกระจายเพ่นพ่านเป็นจำนวนมาก(ความหมายหะดีษรายงานโดยอัล-บุคอรี)
* หลีกเลี่ยงจากความเชื่อและประเพณีที่นำไปสู่ชิรกฺ อาทิ ความเชื่อในโชคลาง เวทมนต์ ไสยศาสตร์ หมอดู ประเพณีต่างๆที่นิยมปฏิบัติช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดที่ขัดกับอิสลาม ความเชื่อในการตั้งชื่อที่มีผลต่อสุขภาพเด็ก
* ไม่เชื่อในสิ่งปาฏิหาริย์ของนวนิยายอันไร้สาระ ความเชื่อในภูตผี ปีศาจ

2) จงทำความดีต่อพ่อแม่
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ลูกไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อได้เว้นแต่เขาเจอพ่อในสภาพที่เป็นทาส และเขาจ่ายค่าตัวของพ่อพร้อมทั้งปล่อยพ่อเป็นไท (หะดีษ)
  • ลูกต้องทำความดีต่อแม่มากกว่าพ่อถึง 3 เท่า (ความหมายจากหะดีษ)
  • เชื่อฟังพ่อแม่ตราบใดที่ท่านไม่สั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่ขัดกับหลักการอิสลาม
  • พ่อแม่ต้องให้ความยุติธรรมต่อบรรดาลูกๆแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่นการจุมพิต การมอบของขวัญ การซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเป็นต้น พ่อแม่ไม่ควรเป็นต้นเหตุให้บรรดาลูกๆ ต้องเนรคุณและมีเรื่องบาดหมางระหว่างกันเนื่องจากความไม่ยุติธรรมและความลำเอียงของพ่อแม่
  • ห่างไกลจากการเป็นลูกเนรคุณ ที่มีสัญญานต่างๆ 33 ประการ ดังนี้

1. ทำให้พ่อแม่เสียใจหรือเสียน้ำตาเนื่องจากคำพูด การกระทำหรือพฤติกรรม
2. ตะคอก ทะเลาะวิวาทหรือขึ้นเสียงต่อหน้าพ่อแม่
3. กล่าวคำว่า “อุฟ” ดื้อหรือไม่ทำตามคำสั่งใช้ของพ่อแม่
4. หน้าบูดบึ้ง ขมวดคิ้ว แสดงไม่พอใจพ่อแม่
5. มองพ่อแม่ด้วยหางตา หรือมองด้วยสายตาแสดงความไม่พอใจ
6. สั่งใช้พ่อแม่ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เช่น ซักเสื้อผ้าของเรา หุงหาอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามท่านแก่ชรา แต่ถ้าหากทั้งสองยินดีให้ความช่วยเหลือด้วยความสมัครใจก็ไม่ถือว่าเนรคุณ แต่ลูกๆ ควรตอบแทนด้วยการขอบคุณและดุอาแก่ท่านทั้งสองตลอดเวลา
7. ตำหนิอาหารที่เตรียมโดยคุณแม่ การกระทำเช่นนี้ มีความผิด 2 ประการ ประการแรก ฝ่าฝืนสุนนะฮฺท่านนบี(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) เพราะท่าน นบีฯไม่เคยตำหนิอาหารเลย หากท่านชอบ ท่านก็จะทานอาหารนั้น หากท่านไม่ชอบ ท่านจะไม่ทานโดยไม่ตำหนิอะไรเลย ประการที่สอง แสดงกิริยามารยาทที่ไม่ดีต่อคุณแม่
8. ไม่ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น ซักเสื้อผ้า หุงอาหาร เลี้ยงดูน้องๆ เป็นต้น
9. ตัดคำพูดของพ่อแม่ กล่าวหาพ่อแม่ว่าพูดโกหกหรือโต้เถียงกับพ่อแม่
10. ไม่ปรึกษาหารือพ่อแม่ ไม่ขออนุญาตพ่อแม่ยามออกนอกบ้านหรือเที่ยวตามบ้านเพื่อน
11. ไม่ขออนุญาตยามเข้าห้องนอนพ่อแม่
12. ชอบเล่าเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจแก่พ่อแม่
13. ทำลายชื่อเสียงหรือนินทาพ่อแม่ลับหลัง
14. แช่งหรือด่าพ่อแม่ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ด่าพ่อแม่ทางตรงคือด่าพ่อแม่ต่อหน้าทั้งสอง ส่วนด่าพ่อแม่ทางอ้อมคือการที่เราด่าพ่อแม่เพื่อนของเราและเพื่อนคนนั้นก็ด่าพ่อแม่เรากลับ ดังนั้นคำด่าของเพื่อนเราเปรียบเสมือนเราด่าพ่อแม่โดยทางอ้อมเพราะเราเป็นต้นเหตุที่ทำให้เพื่อนด่าพ่อแม่เรา
15. นำพาสิ่งหะรอมเข้ามาในบ้าน เช่น เครื่องดนตรี ทำให้พ่อแม่พลอยรับความไม่ดีจากสิ่งหะรอมนั้นด้วย
16. กระทำสิ่งหะรอมต่อหน้าพ่อแม่ เช่น สูบบุหรี่ ฟังเพลง ไม่ละหมาด ไม่ลุกขึ้นเมื่อทั้งสองปลุกให้ตื่นละหมาด
17. ทำให้ชื่อเสียงพ่อแม่ด่างพร้อยเพราะการกระทำของเรา เช่น เมื่อลูกๆชอบลักเล็กขโมยน้อย ติดยาเสพติด เล่นการพนัน ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ทำให้พ่อแม่ต้องอับอายหรือเสียชื่อเสียงไปด้วย
18. ทำให้พ่อแม่ยากลำบาก บางครั้งพ่อแม่ต้องระเหเร่ร่อนตามหาลูกๆที่หนีออกจากบ้านหรือต้องขึ้นลงโรงพักเพื่อให้ประกันลูกๆที่กระทำผิดกฎหมายซึ่งสร้างความลำบากแก่พ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง ทำให้พ่อแม่เสียเวลาและเงินทองเพื่อเป็นธุระแก่ลูกรัก
19. ออกจากบ้านหรือเที่ยวบ้านเพื่อนเป็นเวลานาน ทำให้พ่อแม่เป็นห่วง บางทีพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือจากลูกหรือประสบกับความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก แต่ลูกๆกำลังสนุกสนานกับเพื่อนๆที่สถานเริงรมย์หรืองานเลี้ยงฉลองในโอกาสต่างๆ
20. ชอบให้พ่อแม่ทำโน่นทำนี่เป็นประจำ ให้ซื้อของเป็นประจำ และไม่รักษาสิ่งของที่พ่อแม่ซื้อ คะยั้นคะยอพ่อแม่ซื้อสิ่งของที่แพงๆทั้งที่พ่อแม่มีรายได้ที่ไม่เพียงพอ
21. รักภรรยาหรือสามีมากกว่าพ่อแม่ ทะเลาะกับพ่อแม่เนื่องจากภรรยาหรือสามีที่ไม่ดี อ่อนโยนต่อภรรยาหรือสามี แต่แข็งกร้าวต่อหน้าพ่อแม่
22. ปลีกตัวจากพ่อแม่ ไม่อาศัยอยู่พร้อมกันกับพ่อแม่โดยเฉพาะยามที่ทั้งสองแก่เฒ่า
23. ลูกบางคนรู้สึกอับอายหรือกระดากใจที่จะแนะนำพ่อแม่ให้คนอื่นรู้จัก บางครั้งก็ไม่ยอมรับเป็นพ่อแม่ของตนเองเนื่องจากต้องการปิดบังรากเหง้าของตนเอง
24. ตบตีหรือทำร้ายพ่อแม่
25. ให้พ่อแม่พำนักที่บ้านพักคนชราหรือสถานสงเคราะห์คนชราโดยที่ลูกๆไม่ยอมดูแลและปรนนิบัติพ่อแม่ เรามักได้ยินว่าพ่อแม่มีความสามารถเลี้ยงลูก 10 คนได้ แต่บางทีลูกทั้ง 10 คน ไม่สามารถดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ได้
26. ไม่ให้ความสำคัญต่อกิจการของพ่อแม่ ไม่แนะนำหรือตักเตือนพ่อแม่ยามที่ทั้งสองผิดพลาดหรือกระทำบาป
27. ตระหนี่ขี้เหนียวและไม่ยอมใช้จ่ายแก่พ่อแม่แต่ชอบแสดงตนเป็นคนใจกว้างยามเข้าสังคมกับเพื่อนๆ
28. ชอบทวงบุญคุณที่ได้กระทำต่อพ่อแม่ ทั้งๆที่พ่อแม่ไม่เคยทวงบุญคุณของตนเองที่ได้กระทำต่อลูกๆเลย
29. ขโมยทรัพย์สินเงินทองของพ่อแม่ หลอกใช้เงินของพ่อแม่
30. ชอบทำตัวงอแงจนเกินเหตุ ทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจ เช่น เวลาป่วยไข้ก็มักจะทำไม่สบายจนเกินเหตุ เป็นต้น
31. ทิ้งพ่อแม่อาศัยที่บ้านตามลำพัง โดยที่ตนเองอาศัยที่อื่นโดยไม่ขออนุญาตพ่อแม่ก่อน
32. ลูกบางคนตั้งภาวนาให้พ่อแม่ห่างไกลให้พ้นจากตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ป่วยเป็นโรคหรือแก่ชรา
33. ลูกบางคนยอมแม้กระทั่งต้องฆ่าพ่อแม่เนื่องจากความโกรธเคือง เมาหรือหวังมรดกของพ่อแม่

3) จงเจริญรอยตามกลุ่มผู้ศรัทธาและบรรดาผู้ได้รับทางนำ
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • คบเพื่อนที่ดี ห่างไกลจากเพื่อนที่ไม่ดี
  • บุคคลย่อมมีนิสัยและมีพฤติกรรมที่เหมือนกับเพื่อนผู้ใกล้ชิดของเขา ดังนั้นท่านจึงมองเพื่อนผู้ใกล้ชิดของเขา ท่านก็จะรู้นิสัยที่แท้จริงของบุคคลนั้น (หะดีษรายงานโดยอัต-ติรมีซีย์)
  • ระมัดระวังแนวคิด คำสอนหรือทฤษฎีที่คิดค้นโดยบรรดาผู้ปฏิเสธอัลลอฮฺ ไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของลูกๆ เช่นทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินที่เชื่อว่ามนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากลิง ทฤษฎีของซิกส์มัน ฟรอยด์ที่พยายามเกี่ยวโยงพฤติกรรมของมนุษย์กับเซ็กส์ ทฤษฎีแม็คคิววิลลี่ที่สอนให้มนุษย์ทำอะไรด้วยวิธีการใดก็ได้ ถ้าหากมีวัตถุประสงค์ที่ดี (ดังกรณีหวยบนดิน การเปิดบ่อนคาสิโนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการใช้วิชามารเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง เป็นต้น)
  • ศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางของผู้ที่อัลลอฮฺทรงประทานฮิดายัต เช่น บรรดานบี บรรดาเศาะฮาบะฮฺ บรรดาศอลิฮีน เป็นต้น “เศาะฮาบะฮฺของฉันเปรียบเสมือนดวงดาว ท่านจะพบกับทางนำตราบใดที่ท่านยึดมั่นปฏิบัติตามดาวดวงใดดวงหนึ่งในจำนวนดวงดาวเหล่านั้น” (รายงานโดยอัล-บัยฮะกีย์) อิบนุ มัสอูด กล่าวว่า ใครก็ตามที่ต้องการเอาเยี่ยงอย่าง ก็จงปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างของบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีมูฮำมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)
  • ระมัดระวังและสอดส่องพฤติกรรมของลูกมิให้ตกเป็นเหยื่อของการลอกเลียนต้นแบบอันจอมปลอม อาทิ ดารานักแสดง นักร้อง นักกีฬาที่มีประวัติด่างพร้อย สื่อลามกอนาจาร สื่ออิเล็กโทรนิกส์ทั้งหลาย เว็บไซต์ แช็ตรูม มือถือ เป็นต้น พ่อแม่ต้องรู้เท่าทันโลกและรู้เท่าทันลูกด้วย

4) การซึมซับและปลูกฝังความรอบรู้ของอัลลอฮฺและการตรวจสอบของพระองค์  
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังในความรอบรู้ของอัลลอฮฺที่ครอบคลุมทั้งสิ่งที่เปิดเผยและซ่อนเร้น
  • ปลูกฝังในความสำคัญของอิคลาศ
  • ปลูกฝังการสอบสวนของอัลลอฮฺในทุกกิจการของมนุษย์
  • การตักเตือนลูกในเรื่อง การลักเล็กขโมยน้อย การไม่ยอมรับผิด การพูดจาโกหก การรังแกพี่น้องด้วยกัน
  • พ่อแม่ต้องหมั่นเล่าเรื่องแก่ลูกๆเกี่ยวกับความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺของบรรดาบรรพชนที่ทรงคุณธรรม(สะลัฟศอลิหฺ)

5) จงดำรงละหมาด
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • “ท่านทั้งหลายจงสั่งใช้ลูกๆของท่านให้ดำรงละหมาดเมื่อเขามีอายุครบ 7 ขวบ และจงเฆี่ยนตี (หากพวกเขาไม่ละหมาด) เมื่ออายุครบ 10 ขวบ และจงแยกเตียงนอน (ให้พวกเขานอนในห้องส่วนตัวต่างหาก)” (รายงานโดยฮากิม)
  • พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูกในการดำรงละหมาด
  • การอบรมลูกๆให้มีความสัมพันธ์กับมัสยิดตลอดเวลา
  • การปลูกฝังให้ลูกๆรักษาละหมาดทั้งฟัรฎูและสุนัตต่างๆ โดยเฉพาะละหมาดก่อนหลังละหมาดฟัรฎู ละหมาดฎูฮา ละหมาดหลังเที่ยงคืน และละหมาดวิตรฺ

6) จงใช้กันให้กระทำความดีและจงห้ามปรามกันให้ละเว้น การทำความชั่ว
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังให้ลูกๆทำแต่ความดีและเผยแผ่ความดีสู่มวลมนุษย์
  • ช่วยเหลือสนับสนุนในกิจการความดีและการตักวา ไม่ช่วยเหลือสนับสนุนในกิจการที่นำไปสู่อบายมุขและการล่วงละเมิด
  • ปลูกฝังในมารยาทการเชิญชวนสู่ความดีและการห้ามปรามความชั่วร้าย
  • อิสลามส่งเสริมการทำความดีและมีมารยาทที่ประเสริฐต่อมนุษย์ และถือว่ามนุษย์คือพี่น้องที่มาจากบิดามารดาคนเดียวกัน
  • อิสลามส่งเสริมให้กระทำความดีต่อสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ สิงสาราสัตว์ สิ่งของสาธารณะ และถือว่าบุคคลที่ประเสริฐสุดคือบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์มากที่สุด
  • จงระวังการห้ามปรามและการยับยั้งความชั่วร้ายที่อาจก่อความชั่วร้ายหรือภัยที่รุนแรงกว่า

7) จงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • การอดทนมี 3 ประเภท คือ การอดทนต่อความทุกข์ยากที่ประสบ การอดทนเพื่อกระทำสิ่งฏออัต และการอดทนไม่กระทำสิ่งต้องห้ามหรืออบายมุข
  • อิบาดัตทุกประการมีผลตอบแทนที่อัลลอฮฺกำหนดไว้อย่างแน่นอน เว้นแต่การอดทน (ศอบัร) “แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยประมาณการไม่ได้” (ความหมายจากสูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร : 10)
  • ลักษณะการศอบัรฺที่ดี คือ การศอบัรฺในช่วงแรกที่ประสบความทุกข์ยาก

8) อย่าหยิ่งยะโส โอ้อวด และดูถูกคนอื่น
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังลูกๆให้รู้จักขอบคุณอัลลอฮฺในความดีที่ได้รับ เช่น เรียนเก่ง มีหน้าตาน่ารัก ความสุขสบายที่ได้รับ
  • ให้โอกาสลูกๆ คบเพื่อนในวัยเดียวกันอย่างสร้างสรรค์
  • ปลูกฝังการให้ทานและให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน คนอนาถา
  • การหยิ่งยะโส คือ การปฏิเสธความจริง และการดูถูกคนอื่น
  • “จะไม่มีสิทธิเข้าสวรรค์สำหรับผู้หยิ่งยะโสแม้เพียงน้อยนิดเท่าเมล็ดผักก็ตาม” (หะดีษรายงานโดยอบู ดาวูด)
  • การปลูกฝังนิสัยการอ่อนน้อมถ่อมตน
  • รู้จักตักเตือนลูกๆ อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามกาลเทศะ

9) จงก้าวเท้าพอประมาณ
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังมารยาทการเดินในอิสลาม
  • ปลูกฝังนิสัยพอประมาณ ความพอดี
  • ปลูกฝังให้ยึดมั่นแนวคิดสายกลาง ไม่สุดโต่ง สุดขอบ รู้จักเดินบนเส้นทางชีวิตด้วยความพอดี
  • ปลูกฝังนิสัยประหยัดอดออม ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ขี้เหนียว
  • สร้างความพร้อมแก่ลูกๆที่จะเผชิญหน้ากับชีวิตในอนาคตอันหลากหลาย อย่างเท่าทัน และมีสติ
  • อัลลอฮฺทรงปรานีแก่ผู้ที่รู้จักประมาณตนในศักยภาพของตนเอง

10) จงลดเสียงของเจ้า
มาตรการและแนวปฏิบัติ

  • ปลูกฝังมารยาทการพูดและการทักทาย
  • การลดเสียงขณะพูด เป็นส่วนหนึ่งของคุณลักษณะของผู้ถ่อมตน
  • ปลูกฝังในคำสอนของอิสลามที่ว่าด้วยการรักษาลิ้น
  • บุคคลย่อมไม่สามารถเป็นนักพูดที่ดี ตราบใดที่เขาไม่สามารถยกระดับการเป็นนักฟังที่ดี

ลูกคือ :

  • แก้วตาดวงใจ
  • บททดสอบ
  • ศัตรูผู้เป็นสุดที่รัก
  • ผู้ที่สามารถเพิ่มพูนความดีของพ่อแม่ยามที่ท่านทั้งสองเสียชีวิตแล้ว
  • ลูกทุกคนเกิดมาในสภาพบริสุทธ์ พ่อแม่ต่างหากที่เป็นผู้ทาสีให้เป็นยิว คริสเตียน หรือมาญูซี(ลัทธิบูชาไฟ)
  • พ่อแม่ควรรู้ว่า การอบรมสั่งสอนคือการให้ ดังนั้นบุคคลไม่สามารถที่จะให้ในสิ่งที่ตนไม่มี
  • ครอบครัวคุณภาพ สื่อคุณภาพ พื้นที่คุณภาพและการศึกษาคุณภาพ มีส่วนสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างลูกศอลิหฺ ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่มอบภาระให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังกลอนอาหรับกล่าวไว้ความว่า “อาคารหลังหนึ่งจะไม่สามารถสร้างแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากคุณเป็นผู้สร้างเพียงผู้เดียว แต่คนอื่นพากันทุบทิ้งทำลาย”

เขียนโดย อ. มัสลัน มาหะมะ
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามยะลา