บทความ บทความวิชาการ

ความสัมพันธ์ระหว่างอิควานกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย จากอดีตที่แน่นแฟ้นกับปัจจุบันที่ขาดสะบั้น (ตอนที่ 1)

นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางให้ข้อสังเกตว่า เค้าลางแห่งความสัมพันธ์อันร้าวลึกระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิควาน เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน หลังจากการครองอำนาจของกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางท่านถือว่าเป็นยุคล้างบางกลุ่มอิควานทีเดียว โดยเฉพาะหลังคำแถลงการณ์ ของอะมีรสะอูด ฟัยศอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2015 ที่ระบุว่า “เราไม่มีปัญหากับกลุ่มอิควาน แต่เรามีปัญหากับคนบางคนในองค์กรนี้ ที่ร่วมให้คำสัตยาบัน (บัยอะฮ์)ผู้นำสูงสุด (มุรชิด)ของพวกเขา” ซึ่งหลังจาก คำแถลงการณ์นี้ผ่านไปเพียง 1 ปี กลุ่มอิควานก็ถูกซาอุดิอาระเบียประกาศเป็นองค์กรก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังมกุฎราชกุมารมูฮัมมัด บินซัลมาน ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ห้วงเวลาฮันนี่มูนระหว่างกลุ่มอิควานกับซาอุดิอาระเบียได้สิ้นสุดแล้ว

“เราทุกคนคืออิควาน” นี่คือพระราชดำรัสของกษัตริย์อับดุลอาซิส อาละซาอูด ผู้สถาปนาประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีต่อหะซัน อันบันนา หลังจากผู้ก่อตั้งอิควานคนนี้ขออนุญาตจัดตั้งสาขาย่อยกลุ่มอิควานที่ซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย กับกลุ่มอิควานมีความแน่นแฟ้นตามลำดับ สี่อของซาอุดิอาระเบียทุกแขนงได้นำเสนอข่าวการมาเยือนซาอุดิอาระเบียของหะซัน อัลบันนา ช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ปี 1936 อย่างล้นหลาม หนังสือพิมพ์ อุมมุลกุรอ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักสมัยนั้น พาดหัวข้อข่าวหน้า 1 ว่า “ยินดีต้อนรับหะซัน อัลบันนา”

หลังจากถูกรัฐบาลอียิปต์ประกาศยุบองค์กรอิควานในปี 1948 หะซัน อัลบันนาได้รับเชิญจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ลี้ภัยไปยังแผ่นดินหะรอมัยน์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน หะซัน อัลบันนาถูกลอบสังหารเมื่อต้นปี 1949 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองยังเป็นไปด้วยดี กลุ่มอิควานได้รับอนุญาตให้จัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกตั้งผู้นำสูงสุด (มุรชิด) ช่วงเทศกาลฮัจญ์อีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ได้งอกเงยด้วยดีตามลำดับโดยเฉพาะยุคกษัตริย์ไฟศอล บินอับดุลอาซิส ที่ถือเป็นยุคทองของกลุ่มอิควานในซาอุดิอาระเบีย

ระหว่างปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1970 ถือเป็นช่วงที่ทั้งสองได้รวมพลังเพื่อสร้างคุณูปการแก่ประชาชาติอิสลามอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีปกป้องมัสยิดอัลอักศอและปาเลสไตน์ นอกจากนี้กลุ่มอิควานถือเป็นกำลังหลักในการวางรากฐานการพัฒนาด้านการศึกษาและสังคมในซาอุดิอาระเบีย กลุ่มแกนนำอิควานจากอียิปต์ ซีเรียและซูดาน ได้หลั่งไหลเข้ามาในซาอุดิอาระเบีย เพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาและยกระดับการศึกษาในประเทศอย่างกว้างขวาง

ชีคมูฮัมมัด อัลฆอซาลี (เสียชีวิตปี 1996 ที่กรุงริยาด อายุ 79 ปี และถูกฝังศพที่สุสานอัลบาเกี้ยะอฺ ที่อัลมะดีนะฮ์) ชีคซัยยิด ซาบิก ( เสียชีวิตปี 2000 อายุ 85 ปี เจ้าของตำรา ฟิกฮุสุนนะฮ์) ชีคมูฮัมมัด กุฏุบ (เสียชีวิตปี 2014 ที่กรุงเจดดะห์ ขณะอายุ 94 ปี) ถือเป็นเมธีศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาที่มหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ มหานครมักกะฮ์ ชีคมูฮัมมัด กุฏุบเคยได้รับเกียรติสูงสุดด้วยรางวัลกษัตริย์ไฟศาลนานาชาติด้านอิสลามศึกษาปี 1988 ชึคอัลฆอซาลี เคยรับรางวัลกษัตริย์ไฟศาลด้านบริการอิสลามปี 1989 และซัยยิด ซาบิก เคยรับรางวัลกษัตริย์ไฟศาลนานาชาติด้านอิสลามศึกษาปี 1994 มาแล้ว

ในขณะที่อะบุลอะอฺลา อัลเมาดูดีย์ และอะบุลหะซัน อะลีอันนัดวีย์ ถือเป็นบุคลลแรกที่ได้รับรางวัลเกียริติยศนี้ในปี 1979 และ 1980 ตามลำดับ

แม้กระทั่งศ. ดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ เราะญับ ฏอยยิบแอร์โดอาน และชีครออิด ศอลาห์ผู้มีฉายาชีคแห่งอัลอักศอ ต่างก็ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ในปี 1994,2010 และ 2013 ตามลำดับ

ยังไม่รวมบุคคลสำคัญอีกมากมายที่เคยได้รับรางวัลนี้ อันแสดงถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่และผลงานที่โดดเด่นของพวกเขาด้านบริการอิสลามและอิสลามศึกษาในระดับโลก ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนแล้วมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกลุ่มอิควานทั้งในฐานะแกนนำ สมาชิกหรือผู้ให้ความร่วมมือ

โปรดดู

https://www.wikiwand.com/ar/جائزة_الملك_فيصل_العالمية_في_خدمة_الإسلام

https://ar.m.wikipedia.org/wiki/جائزة_الملك_فيصل_العالمية_في_الدراسات_الإسلامية

ในยุคนั้น ถือได้ว่า ทั้งมหาวิทยาลัยอิสลามอัลมะดีนะฮ์ ที่มีปรมาจารย์ด้านสถานการณ์โลกอิสลามอย่าง ดร. อาลี ยุร็อยชะฮ์จากอิยิปต์ และมีชีคอะบุล อะอฺลาอัลเมาดูดีย์และอะบุลหะซัน อะลีอันนัดวีย์เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่คอยกำกับดูแลด้านปรัชญาและวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยอิสลามอิมามมุฮัมมัดบินซาอูดที่นครริยาด ซึ่งมีปรมาจารย์ด้านตัฟซีรอย่างดร. มันนาอฺ ก็อฏฏอนจากซีเรีย ในฐานะคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ชีคมูฮัมมัด อัรรอวีย์จากอิยิปต์ในตำแหน่งคณบดีคณะอุศูลุดดีน ชีดอับดุลฟัตตาห์อะบูฆุดดะฮ์ ปรมาจารย์ด้านหะดีษจากซีเรีย และมหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอที่มหานครมักกะฮ์ ซึ่งมีแกนนำอิควานอย่างซัยยิด ซาบิก เชคมุฮัมมัด อัลฆอซาลีและชีคมุฮัมมัด กฏุบ เป็นอาจารย์ประจำ คือมหาวิทยาลัยที่ได้รับการพัฒนาขับเคลื่อนโดยกลุ่มแกนนำอิควานอย่างแท้จริง ถือเป็นยุคทองของการศึกษาในประเทศซาอุดิอาระเบียที่สามารถสร้างผลผลิตอันดีงามที่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

บุคลากรมุสลิมที่มีบทบาททั้งในซาอุดิอาระเบียหรือทั่วโลกอิสลามในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ประธานองค์กร และนักวิชาการมุสลิมมากมาย ต่างเคยเป็นลูกศิษย์ในชั้นเรียนหรือในฐานะนักศึกษาภายใต้ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกจากปรมาจารย์เหล่านี้กันทั้งนั้น

แม้กระทั่งหลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ไฟศาลในปี 1975 กลุ่มอิควาน ก็ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มแนวสันติและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ หน่วยข่าวกรองทั้งในและต่างประเทศต่างมีความเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องภายในที่ถูกมือที่มองไม่เห็น หลอกใช้เป็นเครื่องมือ โดยไม่มีใครกล้าคิดด้วยซ้ำว่า กลุ่มอิควานจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุร้ายนี้

แล้วอะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ต้องขาดสะบั้นลง ติดตามตอนที่ 2 ครับ