สลินดงบายู ตำนานแห่งเมืองสาย

อำเภอสายบุรีเป็นอีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดปัตตานีที่มีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่ควรรู้และน่าสนใจมากมาย มีท่าเรือใหญ่ในอดีตที่บรรดาพ่อค้าต่างประเทศมาค้าขายกันเป็นจำนวนมาก พอถึงช่วงมรสุม พ่อค้าเดินเรือมักหลบพายุบริเวณนี้ จึงกลายเป็นที่มาของคำว่าสลินดงบายู ซึ่งหมายถึงหลบพายุนั่นเอง

ใครที่ยังมีปัญหาคาใจกับลูกๆหรือสมาชิกในครอบครัวเรื่องพาเที่ยว วันนี้ขอเสนอโปรแกรม One day One night trip for family แบบจุใจคับแก้วสไตล์ theustaz.com นะครับ

เริ่มทริปนี้ด้วยจุดแรกที่ภูเขาสลินดงบายู ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านหลังสำนักงานเทศบาลอำเภอตะลุบัน เป็นปากถ้ำขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีหินปิดสนิท ชาวตะลุบันมักใช้เวลาว่างเดินวิ่งในตอนเช้าและตอนเย็น  กลายเป็นลานกีฬาประจำชุมชนก็ว่าได้  งานนี้หากร่างกายไม่ฟิตพอ มีหอบแน่ครับ แต่เชื่อว่าหากสามารถพิชิตเขาสลินดงบายูลูกนี้ได้ พร้อมชมทัศนียภาพรอบ ๆ ตัวอำเภอแบบ 360 องศา ซึ่งมีทั้งภูเขาทะเล แม่น้ำและบ้านในตัวอำเภอสายบุรีแล้ว ขอประกันว่าหายเหนื่อยเลยครับ

ที่สำคัญทั้งร่างกายและชุดกีฬาต้องพร้อมครับ ขอแนะนำว่าโปรแกรมนี้ ยิ่งเช้าก็ยิ่งดี ใครที่ประเมินตัวเองไม่ผ่าน ก็ต้องยอมรอด้านล่างก่อน เพราะทางขึ้นทั้งสูงทั้งชัน ส่วนใครที่มั่นใจในสุขภาพของตัวเอง นอกจากถนนสูงชันแล้ว ก็มีบันไดกว่า 300 ขั้น ท้าพิสูจน์สมรรถภาพทางหัวเข่าได้ครับ ไต่ไปหอบไป ก็ได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ไม่ไหวจริง ๆ ก็พักคุยเก็บอาการไปพลางๆ ใช้เวลาที่นี่ไม่เกิน 1 ชม. ครับ

มีเรื่องราวลี้ลับควบคู่กับภูเขาลูกนี้ ซึ่งถือเป็นตำนานเล่าขานที่ยังมีกลิ่นอายของความเชื่อในภูตผีปีศาจและเมืองลับแลของคนในอดีตที่ตกทอดกันมา ผู้ปกครองควรใช้โอกาสนี้ ปลูกฝังลูกหลานให้รู้จักหลักความเชื่อที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ตามคำสอนอิสลาม เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว อยู่ที่ผู้ใหญ่จะแต่งแต้มสีอะไรลงไป

ลงจากเขาก็ไปชมจุดที่สองคือ วังพระยาสายบุรี วังเจ้าเมืองโบราณสายบุรี วังที่ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งเมืองปัตตานี สร้างเมื่อพ.ศ. 2428 ตัววังจะเป็นอาคารไม้ทั้งหลังสร้างด้วยไม้ตะเคียน เป็นอาคารสองชั้นหลังคาทรงปั้นหยา เป็นเรือนมุสลิมที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมของชาวชวา ในบริเวณวังพระยาสายบุรี มีมัสยิดรายาสร้างเมื่อ พ.ศ.  2428 เช่นกัน เป็นมัสยิดหลังแรกของเมืองสายบุรี ตัวอาคารเป็นรูปทรงปั้นหยาตามสถาปัตยกรรมชาวชวา ปัจจุบันได้รับการต่อเติมและบูรณะจากกรมศิลปากร มัสยิดรายาแห่งนี้คือจุดที่สามที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

ตรงข้ามวังพระยาสายบุรี ก็เป็นวังพิพิธภักดี บริเวณด้านหน้ามีหอนาฬิกาเทศบาลเมืองตะลุบันสูงเด่นสวยงาม ซึ่งเป็นจุดที่สี่ของทริปนี้ รอบ ๆ วังเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายผลไม้ ถือเป็นย่านเศรษฐกิจของชาวตะลุบันที่ใครแวะเวียนแถวนี้ก็ต้องสะดุดตา ขอกระซิบดัง ๆ ว่าแหล่งช็อปชิมของจริงในเมืองตะลุบัน ก็อยู่แถวนี้แหล่ะครับ มื้อเที่ยงอย่าให้พลาดเชียว แต่หากจะลิ้มลองบรรยากาศร้านอาหารที่ขึ้นชื่อในเมืองตะลุบัน ก็ขอแนะนำ ครัวนาซิ อุลังค์ บังเฮ เลยครับ

ในตำนานเล่าว่า ความจริงวังพิพิธภักดีเรือนนี้ ไม่ใช่เป็นวัง แต่เป็นเรือนหอของหลานเจ้าเมืองสายบุรีคือตนกูอับดุลมุตอเล็บ ซึ่งได้แต่งงานกับลูกเจ้าเมืองยะหริ่งจึงสร้างเรือนหอแยกออกมาเป็นส่วนตัวแต่ที่เรียกวังพิพิธภักดี เพราะเป็นการให้เกียรติบุคคลสำคัญของวังยะหริ่งและวังสายบุรี

วังพิพิธภักดีเคยถูกทิ้งร้างมานานเกือบ 40 ปี เนื่องจากทายาทเจ้าของเดิมได้ขายจนกระทั่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งต่อมาเจ้าของไม่ได้ใช้งานจึงได้ประกาศขาย ทางชมรมมุสลิมะห์สายบุรีจึงติดต่อขอซื้อเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 ในราคา 10,500,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับชาวตะลุบันต่อไป

ผู้เขียนมีความผูกพันกับที่นี่ เพราะครั้งหนึ่งเคยเวียนวนใช้ชีวิตในละแวกนี้เป็นเวลานานถึง 4 ปี กับเสื้อและกางเกงชุดขาวของโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา บ่อยครั้ง หลังเลิกเรียนต้องเดินจากโรงเรียนมาที่นี่ เพื่อดูบอลทีมโปรด “ฉลามบก” ระยะทางไปกลับราว 5 กม. สมัยนั้นชิว ๆ มาก หรือไม่ก็ขึ้นรถโดยสารไม้โบราณสุดคลาสิก เพื่อซื้อข้าวซื้อปลาที่ตลาดสดตะลุบัน ซึ่งต้องผ่านเส้นทางนี้ประจำและทุกครั้งที่ดูบ้านสีขาวสะดุดตาอาคารร้างหลังนั้น ก็เกิดคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นของใครผู้ใดกัน 

หลังรับประทานอาหารมื้อเที่ยง สถานที่เช็คอินจุดที่ห้าประจำทริปนี้คือ มัสยิดตะลุบัน เพื่อละหมาดซุฮรีและอัศรี สำหรับผู้เดินทาง มัสยิดแห่งนี้ขึ้นชื่อเป็นมัสยิดที่มีระบบการบริหารจัดการอันโดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการบัยตุลมาล โดยใช้ระบบซะกาตชุมชนมาประยุกต์ใช้ สามารถเก็บซะกาตได้ปีละหลายล้านบาท โดยข้อมูลจากอิมามหนุ่มชื่ออุสต๊าซฮาซัน มูดาวีย์ระบุว่า ในปีฮ.ศ.1442 ที่ผ่านมา มัสยิดสามารถเก็บซะกาตรวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท นอกจากนี้ มัสยิดยังมีการจัดการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลและประถมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอิมามนักพัฒนาผู้ล่วงลับ อุสต๊าซหะซัน นิมะตุลลอฮ์ (เราะฮิมะฮุลลอฮ์) เป็นผู้บุกเบิกและวางฐานที่มั่นคง ให้ชนรุ่นหลังได้สานต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หลังจากนี้ เป็นโหมดของหาดวาสุกรี มนต์เสน่ห์ของสลินดงบายู ซึ่งทริปนี้ขอแนะนำโฮมสเตย์ใหม่ซิงๆ ชนิดโฟร์อินวันไปเลย ถึงแม้ยังอยู่ในระหว่างเตรียมพร้อม แต่ห้องนอน และห้องน้ำสำหรับ 1-2 ครอบครัว ขอการันตีว่าพร้อมบริการ

สลินดงบายูบีข คือแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่อยากแนะนำประจำทริปนี้ครับ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามศูนย์ศิลปาชีพบ้านปาตาติมอ

ที่นี่มีพร้อมทั้งห้องอาหาร ห้องพักแบบโฮมสเตย์ ห้องประชุมขนาด 30 คน ร้านมินิมาร์ท สนามขับรถเด็กแบตเตอรี่ที่เตรียมให้เด็ก ๆ สนุกสนานเต็มอิ่มถึง 15 คัน เราสามารถจัดโปรแกรมช่วงเย็นด้วยการขับเรือกอและ ชมวิวแม่น้ำสายบุรีทั้งสองฟากฝั่ง สัมผัสชีวิตวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหาหอยปลาเพื่อเตรียมปิ้งย่างในคืนนี้ หากจับปลาไม่ได้ ก็มีแผงขายอาหารทะเลสดๆที่อยู่ไม่ไกลจากสลินดงบายูบีขมากนัก รับรองว่าทั้งสดทั้งราคาถูก ช๊อปจนมือแทบสั่น คืนนี้หลังกิจกรรมปิ้งย่าง ก็นอนพักที่นี่สักคืน รอลุ้นกิจกรรมเข้าวันรุ่งขึ้น ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอัดลี สือนิ  โทร 0862979732

พรุ่งนี้เช้า ตื่นตาตื่นใจกับการล่องเรือสู่เกาะยือลาปีหรือเกาะเลาปี เป็นเกาะที่นักดำน้ำยกย่องให้เป็นเกาะมหัศจรรย์ของอ่าวไทยตอนล่าง ถือเป็นจุด Unseen แห่งใหม่ของจังหวัดปัตตานี เป็นเกาะเดี่ยวกลางทะเล หากยืนอยู่บนเกาะสามารถชมทิวทัศน์ท้องทะเลในมุม 360 องศา ใต้ผืนทะเลรอบ ๆ เกาะมีดอกไม้ทะเลและทุ่งปะการัง เช่น ปะการังฟองน้ำครก รวมถึงฝูงปลาจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับคือกัลปังหาสีชมพู กัลปังหาที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ถึงขีดสุดของท้องทะเลอ่าวไทย ใครรักการดำน้ำ ชื่นชอบชีวิตใต้ท้องทะเล “เกาะยือลาปี” คือจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด ชาวบ้านบอกว่าช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงทะเลกำลังสวย คลื่นสงบ

เกาะนี้ก็ไม่พ้นตำนานอภินิหารที่เป็นเรื่องราวเล่าขานมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่มีใครที่สามารถพิสูจน์ได้ ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้ลูกหลานเคารพเขื่อฟังพ่อแม่ และอันตรายของลูกอกตัญญู โดยยกคำสอนที่ถูกต้องในอิสลามจะดีที่สุดครับ 

ทริปล่องเรือชมเกาะยือลาปีควรเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ควรพกพาน้ำดื่มและอาหารเช้ารองท้องไปก่อน แล้วกลับมาที่พักสิบโมงเข้า พร้อมข้าวยำตะลุบันที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในปฐพี 

อย่าลืมว่าทริปนี้เป็นทริปครอบครัวหรือเพื่อนฝูง อย่าละเลยเรื่องละหมาดตามผู้นำ ขอย้ำเรื่องความสะอาด และมารยาทต้องเป็นที่หนึ่งเสมอ

ขอให้สนุกกับทริปนี้และเดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ

วัสสลาม


โดย Mazlan Muhammad

One day trip with family

เชื่อว่าหลายครอบครัวกำลังวางแผนใช้เวลาหยุดยาวสิ้นปีกับการเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อให้รางวัลชีวิตกับสมาชิกในครอบครัว และบางคนเพิ่งเดินทางกลับจากโครงการพาเที่ยวหมาด ๆ

สำหรับครอบครัวที่มีโครงการท่องเที่ยวแบบพอเพียง ในสถานการณ์ New normal เช่นนี้ ขอแนะนำทริปหนึ่งวันพร้อมครอบครัวทริปนี้ครับ โดยเฉพาะชาวจังหวัดยะลาหรือใกล้เคียง หากเป็นคนนอกพื้นที่ขอแนะว่าควรค้างคืนที่ยะลา ก่อนจะตะลุยในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่

จุดแรกที่อยากแนะนำคือ จุดชมวิวแห่งใหม่ที่เชิงเขา หมู่ 2 บ้านบันนังลูวา ห่างจากเมืองยะลาไปทางเส้นทางยะหาไม่ถึง 10 กม.  ซึ่งภายหลังการปรับปรุงภูมิทัศน์และถนนเลียบชายคลองเชิงเขาหน้าถ้ำทำให้ชาวบ้านทั้งในและต่างพื้นที่ให้ความสนใจเที่ยวชมเป็นจุดเช็กอินที่ได้รับความนิยมกันอย่างล้นหลาม หากไปในชั่วโมงปกติ อาจต้องจอดรถไกลและต้องเดินเข้าอีกหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ แต่หากมาถึงราว 06.00-08.30 น.  ช่วงนี้บรรยากาศยังเงียบเหงาไร้ผู้คน สามารถพารถยนต์เข้ามาในบริเวณได้สะดวก แถมไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ จะมีบ้างก็เป็นชาวบ้านที่ออกมาเดินวิ่งหรือทีมนักปั่นที่มักมาเซลฟี่เก็บภาพเป็นที่ระลึก ก่อนแยกย้ายไปตามเป้าหมายต่อไป

หากใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้า ก็สามารถใช้เวลาช่วงนี้เดินวิ่งเพื่อสุขภาพ เติมเต็มบรรยากาศสุดคลาสิกอีกแบบหนึ่ง ยิ่งมีคลิปตอนออกกำลังกาย โดยมีฉากหน้าผาสูงชันและปากถ้ำที่ดูลึกลับแล้ว รับรองว่าสามารถเพิ่มอรรถรสกับทริปนี้มากมายครับ 

ข้อเสียที่มาในช่วงนี้คือ หากมีเด็กเล็ก ก็จะพลาดโอกาสขึ้นรถไฟหรรษาหรือรถบังคับและเรือเป็ดที่เริ่มเปิดบริการตั้งแต่ 9 โมงเป็นต้นไป แต่เรามีข้อเสนอด้วยสิ่งทดแทนที่ไฉไลกว่านี้ครับ ส่วนมื้อเช้า ก็สามารถจอดรถริมทางตอนออกจากจุดเช็คอิน มีร้านรวงของชาวบ้านกับอาหารพื้นเมืองที่ทานได้แบบไร้กังวล แต่ถ้าจะให้ฟินสุดๆ ก็เตรียมซื้ออาหารเช้าล่วงหน้า พร้อมเตรียมชาร้อนที่ชงมาจากบ้าน  ปูเสื่อเลียบชายคลองหน้าถ้ำ ก็สร้างมูลค่าเพิ่มกับอาหารมื้อเช้าได้มากโข ที่สำคัญ เวลา 08.00 น. ควรออกจากจุดแรกนี้ เพื่อไปต่อครับ

ออกจากที่นี่ ไปตามถนนสี่เลนยะลา- ดอนยาง สาย 418 ซึ่งอาจแวะเติมน้ำมันรถที่ปั้มปตท . ท่าสาป ทั้งเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและซื้อขนมขบเคี้ยวตามใจต้องการ เสร็จแล้วก็มุ่งสู่จุดที่สองคือสวนบายใจนิ๊ ยาบีฟาร์ม ใช้เวลาเดินทางปกติจจากปั้มปตท.ท่าสาปประมาณ 15 นาที แต่ขอบอกว่า หากเป็นคนนอกพื้นที่ ควรศึกษาเส้นทางให้ดี อย่าไว้ใจ GPS มากนัก ขนาดไปมาแล้ว 2-3 ครั้ง ก็เจอปัญหาแทบทุกครา หากจะใช้ GPS ควรปักหมุดที่อบต.ลิปะสะโงครับ ถึงที่นี่ ก็ถึงที่หมายชัวร์ ที่สำคัญต้องถึงที่นี่ ก่อน 9 โมงเช้าครับ เด็ก ๆ จะได้เล่นน้ำจุใจ ไม่ต้องแย่งกับผู้คน ยอมรับว่า หลังปรับปรุงใหม่ ที่นี่น่าจะเป็นสวนสวรรค์กลางทุ่งที่ใหญ่ที่สุดใน 5 จังหวัดภาคใต้ทีเดียวครับ ทั้งบ้านกลางน้ำ สไลเดอร์ สระว่ายน้ำ และเรือเป็ด อาจเผื่อเวลาให้ลูกหลานสนุกสนานที่นี่อย่างน้อยชั่วโมงครึ่ง แต่ขอแนะนำว่า กิจกรรมเล่นน้ำ ควรเป็นกิจกรรมสุดท้ายก็แล้วกัน ช่วงแรกให้เป็นช่วงเวลาเซลฟี่บรรยากาศสวยๆกับการปั่นเป็ดน้ำท่ามกลางบรรยากาศชิว ๆ ไปก่อนครับ  คลื่นมหาชนเริ่มทยอยเข้ามา 10 โมงขึ้นไป คณะของเราก็เริ่มเตรียมตัวออกจากที่นี่โดยพลัน 

เป้าหมายจุดที่สามของทริปนี้คืออาหารมื้อเที่ยงในเมืองปัตตานี ซึ่งมีร้านอาหารขึ้นชื่อมากมายหลากหลายรสชาติ ตั้งแต่รสขาติดั้งเดิมประจำท้องถิ่น อาหารสไตล์อาหรับ แขกปากี จีน เกาหลียันญี่ปุ่น ขอบอกว่ามีครบครัน อร่อยทุกเมนู แต่ทริปนี้อยากชวนผู้อ่านพาครอบครัวรับประทานมื้อเที่ยงที่อาเซี่ยนมอลล์ ที่นี่มีเมนูอาหารหลากหลายแสนอร่อย เพราะนอกจากได้มีโอกาสตากแอร์เย็นฉ่ำแล้ว ยังสามารถสนับสนุนธุรกิจวากัฟของพี่น้องมุสลิม ปลูกฝังลูกหลานให้มีความเคยชินกับการบริจาคทาน แม้ด้วยสิ่งเล็กน้อยก็ตาม ที่สำคัญได้ร่วมละหมาดยะมาอะฮ์พร้อมกันที่มัสยิด ซึ่งอยู่ติดกับห้างอย่างสบายอุรา ไปทริปไหน อย่าลืมปลูกฝังลูกหลาน ละหมาดร่วมกันที่มัสยิดด้วยครับ อีกเรื่องขอย้ำเรื่องความสะอาด

ยามบ่ายแก่ ๆ ก็เคลื่อนสมาชิกไปทัศนศึกษาตำนานโบราณสถานอันเป็นคู่บ้านคู่เมืองปาตานีในอดีต นั่นคือมัสยิดกรือเซะ ใช้เวลาที่นี่สัก 30 นาทีในการเก็บภาพและศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วมุ่งหน้าสู่บางปู ชมมัสยิดตะอาวุน อันสวยงามตระการตา พร้อมขึ้นเรือลอดอุโมงค์โกงกางบนเส้นทางป่าชายเลนสุดอุดมสมบูรณ์ระดับประเทศทีเดียว สามารถติดต่อ ขอจองล่วงหน้าได้ตามสื่อโชเชียลและเฟสบุ๊คเพจได้ไม่ยากเย็น เผื่อเวลากับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่นี่สักชั่วโมงครึ่ง ก็สามารถดื่มด่ำบรรยากาศเต็มอิ่มแล้วครับ ขอบอกว่า ความสวยงามทั้งทางธรรมชาติและอัธยาศัยของชุมชนที่นี่ คือมนต์เสน่ห์ของบางปูที่คุณอาจลืมไม่ลง 

จบทริปวันนี้ที่ชายหาดตะโล๊ะสะมีแล อ. ยะหริ่ง จ .ปัตตานี สามารถแหวกว่ายท่ามกลางเกลียวคลื่นและน้ำทะเลใส ๆ ชวนให้ลงไปสัมผัสคลื่นเบา ๆ ชิมบรรยากาศความเป็นธรรมชาติริมเล สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอด

หลังชมตะวันตกดินที่แหลมตาชี ก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากจะอยู่ต่อ ก็สามารถค้างคืนเพื่อกิจกรรมปิ้งย่างช่วงกลางคืนและชมดวงอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้น โดยค้างแรมตามโฮมสเตย์ที่ขึ้นราวดอกเห็ด ราคามีตั้งหลักร้อยถึงหลักพัน หากจะให้ชัวร์ ควรจองล่วงหน้าครับ รับรองว่า เป็นค่ำคืนที่คงหลับยาว เพราะน่วมกับทริปอันแสนวิบากนี้ จึงขอแนะนำว่า ควรหาโฮมสเตย์ที่มีแอร์นะครับ

เป็นความสุขใกล้ตัวที่หาได้จากที่นี่ เด็ก ๆ เล่นน้ำทะเลกันอย่างสนุกสนาน ผู้ปกครองได้พักผ่อนหย่อนใจพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ วิถีแห่งความเรียบง่ายด้วยสโลว์ไลฟ์ที่หลายคนใฝ่หา ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ยังคงมีความงดงามของธรรมชาติ ทุกคนมีน้ำใจ เป็นความจริงที่สัมผัสได้และยังคงอยู่ในดินแดนแห่งนี้ 

สุดท้ายจริง ๆ ไปเที่ยวที่ไหน ขอให้รักษาอย่างน้อยสามอย่างนี้ครับ 1. รักษาละหมาด 2. รักษามารยาท และ 3. รักษาความสะอาด


โดย Mazlan Muhammad

บันทึกการเดินทาง

7 พฤศจิกายน 2555

วันที่สองของการเดินทาง เราได้ถึงเมืองรอยฮานียะฮ์ เมืองทางตอนใต้ตุรกีติดชายแดนจังหวัดอิดลิบแห่งซีเรีย เราเริ่มลุยสถานพยาบาลชั่วคราว ซึ่งสมาคมแพทย์ซีเรียเป็นผู้ดูแล โดยใช้อาคารหอพักเป็นที่ทำการ ก่อนเข้าสถานที่แห่งนี้ ต้องพูดคุยต่อรองนานพอสมควร เพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก แต่สุดท้ายก็ได้รับอนุญาต ที่นี่เป็นสถานที่พยาบาลคนเจ็บที่ถูกขนย้ายมาจากชายแดนซีเรียซึ่งการเดินทางปกติใช้เวลาเพียง 2 ชม.เท่านั้น แต่กับสภาวะที่เต็มไปด้วยจุดตรวจที่เข้มงวด พวกเขาต้องใช้เวลากว่า 2 วันกว่าจะเข้าเขตตุรกี จำนวนคนเจ็บที่รักษาที่นี่เกือบ 100 คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนแขนขาด ขาพิการ กระดูกสันหลังหัก ถูกกระสุนที่ศรีษะ แต่ที่รู้สึกขัดใจที่สุดคือ ทั้งผู้บาดเจ็บและญาติผู้ดูแล ดูดบุหรี่ควันโขมงเต็มห้อง แม้กระทั่งร้านขายของใต้ตึกพยาบาล ก็สังเกตมีบุหรี่วางขายกันเกลื่อน เราเดินแจกเงินรายละ 100 ดอลล่าร์ และเตือนว่า ห้ามนำเงินนี้ไปซื้อบุหรี่โดยเด็ดขาด พร้อมมอบเงินจำนวนหนึ่งให้สถานพยาบาลแห่งนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้

แต่ที่สะเทือนใจเป็นที่สุดไปเมื่อเข้าห้องหนึ่ง พบชายอายุประมาณ 40 ปีต้น ๆ มีสมาชิกครอบครัวดูแล 2-3 คน และเป็นห้องเดียวที่ผู้เขียนสามารถสูดลมหายใจเต็มปอด เพราะนอกจากไร้ควันบุหรี่แล้ว ยังรับรู้ถึงบรรยากาศที่เงียบสงบ บนเตียงมีอัลกุรอานเล่มเล็กวางไว้ ในใจจึงคิดว่า ชายผู้บาดเจ็บคนนี้ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา

หลังพูดคุยทราบว่า ท่านโดนจรวดของทหารบัชชาร์ถล่ม เมื่อเดือนกันยายน 2555   ขณะที่จะไปติดต่อราชการที่ศาลเมืองเอเลบโป แรงระเบิดทำให้โดนศรีษะ ลำคอ และส่วนอื่น ๆ ตามร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองนาน 14 วัน เรามีโอกาสเจอท่าน หลังเกิดเหตุการณ์สุดระทึกนี้เพียง 2 เดือน

ท่านรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ แต่การพูดจาเชื่องช้าและไม่ค่อยชัด ทันทีที่เราบอกว่ามาจาก ปัตตานี ภาคใต้ของประเทศไทย เขาบอกด้วยเสียงที่เชื่องช้าและสั่นเครือว่า ทำไมไม่ไปช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมโรฮิงญา ที่โน่นเดือดร้อนกว่าเรา ฟังแล้วกลั้นน้ำตาไม่อยู่จริง ๆ ท่านถามเรื่องราวปัตตานีเสมือนท่านมีข้อมูลอันมากมาย

พอคุยอีกจึงรู้ว่าท่านคืออุละมาอฺที่ยิ่งใหญ่ มีผลงานเขียนตำรามากกว่า 50 เล่ม มีรายการโทรทัศน์ที่มีคนอาหรับติดตามเป็นจำนวนมาก ท่านชื่อ 

أ. د . أحمد بن عبد الكريم نجيب أبوالهيتم الشهبائي

ฉายาของท่านคืออะบุลฮัยตัมหรือ อะบุดดัรดาอฺ มีเชื้อสายจากท่านนบี (ชะรีฟ) เป็นชาวเอเลบโป

พี่น้องลองหาชื่อนี้ในยูทูป จะรู้ว่าชายคนนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์ตำราโบราณที่ยังเขียนด้วยลายมือ ท่านพิการสายตาทั้งสองข้าง แต่ท่านตระเวนไปยังยุโรปและประเทศอาหรับเพื่อเผยแพร่งานเขียนของท่านในงานมหกรรมหนังสือต่าง ๆ

ติดตามผลงานของท่านได้ที่

https://www.facebook.com/dr.a.a.najeeb


บันทึกการเดินทางโดย Mazlan Muhammad

Jingjue Mosque เมืองหนานจิง

เป็นสถานที่ที่พูดได้เต็มปากเลยว่า

“ถ้ามาหนานจิงแล้วไม่ได้มามัสญิดจิ้งเจว๋จะเสียดายมาก” 净觉寺 สวยงาม ดีงาม ใหญ่โต มีประวัติศาสตร์

มัสญิดจิ้งเจว๋ 净觉寺 Jingjue Mosque เมืองหนานจิง

มัสญิดหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของจักรพรรดิหงอู่ 洪武皇帝 Hongwu Emperor (หรือ จูหยวนจาง Zhu Yuanzhang 朱元璋 ) จักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง เริ่มสร้างในปี ค.ศ.1388 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 1392

ระหว่างการปกครองของจักรพรรดิเซวียนเต๋อ 宣德帝 Xuande Emperor เจิ้งเหอได้ขอให้มีการปรับปรุงบูรณะมัสญิดในปี ค.ศ. 1430 เนื่องจากก่อนหน้านี้บางส่วนของมัสญิดเสียหายจากเหตุไฟไหม้

ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ในสมัยจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิง 嘉靖帝 Jiajing Emperor มีการขยายพื้นที่และบูรณะเพิ่มเติม

หลังจากนั้นก็มีการบูรณะมาตลอด ในปี ค.ศ. 1492, 1877, 1879, 2500, 1982, 1984 และ 2002

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สมัยกบฏไท่ผิง มัสญิดถูกลดขนาดพื้นที่จากเดิม 264 เอเคอร์ เหลือเพียง 1,650 ตารางเมตร เพื่อลดหนี้จากการที่มัสญิดค้างชำภาระภาษี

โครงสร้างปัจจุบันของมัสญิดสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายและพื้นที่ลดลงอีก ในปี ค.ศ. 2007

 ในปี ค.ศ. 2014 มัสญิดได้รับการบูรณะใหม่โดยการสนับสนุนจากเทศบาลหนานจิง

ต่อมารัฐบาลได้รวมโรงเรียนประถมที่อยู่ติดกันเข้าไปในพื้นที่มัสยิด จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่มัสญิดขึ้นเป็นสองเท่า

การเดินทางง่าย ๆ เลย รถไฟใต้ดิน (Nanjing Metro) ลงที่สถานีซานซานเจย์ 三山街站 Sanshanjie station


อ้างอิง :

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Jinjue_Mosque

FB: อุมมะฮฺ อิสลาม

Talk &Tour with theustaz.com & Assalam outdoor (Ep.1)

ทริปสโลไลฟ์ท้ายปี โฟกัสความสุขที่ถวิลหา ท้าลมหนาวบนเทือกเขาฮาลาบาลา บุกป่าหนีความปั่นป่วนยุคโซเชี่ยลครอบชีวิต ปิดตัวเองด้วยความเงียบสงบ ยอมสยบเพราะไม่มีวายฟาย  สบายๆกับนอนเต้นท์ เลิกเล่นหน้าจอ มามองหน้าเธอ พร่ำเพ้อกับมิตรสหาย แสนสบายยามค่ำคืนเมื่อมองทะเลดาว ยามเช้าชมทะเลหมอก ออกสายๆเล่นน้ำในทะเลสาป แถมด้วยกิจกรรมตกปลา ปิ้งย่างและล่องเรือคายัก ชมธรรมชาติสุดอลังการ ณ เขตอุทยานเขื่อนบางลาง

และที่สำคัญ สนทนาแลกเปลี่ยนกับคนรู้ใจได้อย่างไร้ข้อจำกัด

ไม่ต้องไปไกลถึง 2,000 กม. แค่ขับรถออกจากเมืองยะลา ไปทางเบตง ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชม. เราสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศนี้  ณ บ้านวังไทร ต. แม่หวาด อ. ธารโต จ. ยะลา

เพจ 66 Baannaisuan

เตรียมพบภาค (2) เร็วๆนี้

ประทับใจมิรู้ลืมที่เขายายเที่ยง

30 ตค. 63 ได้มีโอการเยี่ยมโรงเรียนร็อบบานีย์ เขายายเที่ยง โคราช ที่ก่อตั้งโดย ดร. อณัส อมาตยกุล นอกจากประทับใจตื่นเต้นกับการต้อนรับของดร. อณัส และคณะที่เลี้ยงอาหารค่ำอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมกลิ่นธูป Bharath Darshan และขนมหวานของแท้จากอินเดียแล้ว สิ่งที่สะกดใจไม่มีวันลืมคือบรรยากาศของโรงเรียนท่องจำอัลกุรอาน ที่ออกแบบโดยกูรูแห่งประวัติศาสตร์อิสลามท่านนี้มาก ดร. อณัสเล่าว่า ผ้าม่านสีแดงที่สะท้อนกับสีเทียน คือสัญลักษณ์ของอาณาจักรอิสลามโมกุลอันยิ่งใหญ่ในอดีต ส่วนรูปโค้งในมัสยิดและน้ำพุ เป็นการเลียนแบบอารยธรรมอันดาลูเซียอันรุ่งเรืองในอดีต ยังไม่รวมถึงโคมไฟ รั้วกำแพงชั้นบนโรงเรียนที่เป็นลายดอก ที่ดร. อณัส ได้บรรจงออกแบบเพื่อให้นักเรียนได้ซึมซับความยิ่งใหญ่ของอิสลามในอดีตได้อย่างเหมาะสมและลงตัวที่สุด

เสียดายที่มาถึงที่นี่ในเวลากลางคืน จึงอดดูบรรยากาศรายรอบให้หนำตา แต่ถือว่าโชคดีที่ค่ำคืนนี้ ท้องฟ้าโปร่งใส จันทร์เพ็ญนวลตาผ่องส่องสว่าง กลางดาวสกาวใสเข้ากับบรรยากาศอันดาลูเซียผสมโมกุลบนเขายายเที่ยงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 680 ม. ได้อย่างกลมกลืน จนแทบลืมเข้าพักที่รีสอร์ทด้วยซ้ำ ดร. อณัส เล่าว่า ก่อนหน้านี้ ฝนตก 3-4 วันไม่หยุด แต่วันนี้ฟ้าเปิดอย่างมีนัย สำคัญ الحمد لله ขอบคุณ ดร. อณัส และคณะเป็นอย่างสูง และขอให้ ร.ร. ร็อบบานีย์ เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ผลิตเยาวชนร็อบบานีย์ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดกับกูรูร็อบบานีย์สู่การรังสรรค์สังคมร็อบบานีย์ตลอดไป

جزاكم الله خيرا داعين المولى عز وحل أن يعينكم ويسدد خطاكم ويوفقكم لما فيه خير الدنيا والآخرة


โดย Mazlan Muhammad

หมู่บ้าน กม. 26 ใน ความกลมกลืนทางวัฒนธรรมท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

บ้านกม. 26 ใน ตั้งอยู่ ณ หมู่ 2 ต. ตาเนาะปูเต๊ะ อ. บันนังสตา จ. ยะลา บนเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ห่างจากเมืองยะลาไปทางเบตงประมาณ 30 กม. มีทางแยกเลี้ยวซ้ายจากถนนใหญ่เข้าไปในหมู่บ้านซึ่งเป็นเชิงเขาสูงชันอีกประมาณ 10 กม. เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบางลางซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา

หมู่บ้านนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้แห่งนี้มีเนื้อที่ 11.45 ตร. กม. มีประชากร 1,012 คน ประกอบด้วย 266 ครัวเรือน อัตราส่วนระหว่างชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธ 50:50 โดยประชากรชาวพุทธส่วนใหญ่ได้ย้ายถิ่นฐานมาจากแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้อพยพสมัยเกิดพายุถล่มครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2505

เป็นหมู่บ้านที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมด้วยสันติอย่างยาวนาน ชาวบ้านใช้ชีวิตร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาชุมชนอย่างปกติสุขตลอดมา กระทั่งชาวพุทธสามารถสื่อสารภาษามลายูถิ่นได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนชาวมุสลิมก็สามารถพูดไทยสำเนียงใต้ได้อย่างฉะฉานทีเดียว มัสยิดและวัดคือเบ้าหลอมชาวบ้านในละแวกนี้ โดยไม่รู้สึกแปลกแยกหรือเบียดเบียนระหว่างกัน

ที่สำคัญในหมู่บ้านนี้มีน้ำตกขนาดเล็กอันสวยงามที่มีน้ำไหลตลอดปี สูงประมาณ 60 ม. มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้นๆรวม 5 ชั้น เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขนิเวศน์ ที่ต้องการใช้วันธรรมดาให้เป็นวันพิเศษ ท่ามกลางครอบครัวและมิตรสหายในบรรยากาศของผืนป่าอันเขียวขจี โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนเช่นนี้ เป็นช่วงนาทีทองที่เราจะได้เสพความสวยงามตามธรรมชาติ มีสระน้ำสวยใสกลางป่า เป็นสีเขียวอมฟ้า รอบๆบริเวณเป็นสวนทุเรียนของชาวบ้านที่กำลังออกผลใกล้สุกงอมเต็มที จนดูเหมือนอยู่ในโลกนิยายแฟนตาซี

เนื่องจากมีต้นตะแบกขาวใหญ่โต ซึ่งเป็นที่ทำรังของผึ้งมากมาย สูงเด่นใกล้กับน้ำตกนี้ ชาวบ้านจึงเรียกน้ำตก นี้ว่า น้ำตกสายน้ำผึ้ง

กลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่สร้างสีสันธรรมชาติให้เพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น

Abdul-raning Kaseng ดีกรีมหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศิษย์เก่า รปศ. มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัจจุบันเป็นหนึ่งในทีมบริหารโรงเรียนดารุลอุโลม นิบงบารู แผนกอนุบาล-ประถมในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้เสนอจัดทริปสบายๆ หลังผ่อนคลายโควิด (Post COVID-19) พวกเราจึงรีบสนองทันที ถึงแม้ยังไม่ใช่ฤดูที่ทุเรียนสุกงอมก็ตาม

เสาร์ที่ 4 กค. 63 เราสามารถรวบรวมสมาชิก 6 ครอบครัว ประมาณ 20 คน จึงเคลื่อนล้อไปยังที่หมาย โดยใช้เวลาดื่มด่ำบรรยากาศที่นี่ตั้งแต่ 10.00 น. – 14.00 น.

ขอบคุณทีมงานเตรียมอาหารมื้อเที่ยงด้วยเมนูหลากหลายและเอร็ดอร่อย ที่นำโดย Mahamud Hamidong, Wae Hasan, Muhammadiffat Pathan ตั้งแต่หอยนางรมย่างที่คัดสรรจากบ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดย Burhanuddeen Jehma หมึกกุ้งที่เก็บจากอวนตะโละกาโปร์ ยะหริ่ง ปัตตานี โดย Nilah Abdulbut พร้อมลูกชิ้นไส้กรอกแถมด้วยสะตอสดจากต้น ผักลวกนานาชนิดที่วางเรียงบนใบตองอย่างมีศิลปะ ทั้งปลาแห้งเผา น้ำบูดู ก็สร้างสีสันรสชาติของมื้อนี้ได้สุดอร่อย ทุกคำที่ป้อนเข้าปาก ล้วนกลมกล่อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการอย่างมิรู้ลืม

ที่ลืมไม่ได้จริงๆ คือน้ำพริกต้มกะทิ (ไอซามา) สูตรดั้งเดิมขนานแท้อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวตาเนาะปูเต๊ะ ที่ว่ากันว่า มาที่นี่ไม่ลิ้มรสไอซามา แสดงว่ายังไม่ถึงตาเนาะปูเต๊ะ

เวลาสั้น กระชั้นชิดและกลัวฝนจะเทลงมา ทำให้เราต้องกุลีกุจอเตรียมขนสัมภาระกลับบ้าน โดยลืมกิจกรรมสำคัญที่ไม่น่าพลาดคือกิจกรรมเล่นน้ำในสระน้ำตกสายน้ำผึ้งอันใสสะอาด

แต่ที่แน่ๆ เหนือรสชาติอาหารที่แสนอร่อย ธรรมชาติอันสวยงาม คือมิตรภาพและอุคุวะฮ์ที่แนบแน่นตราบจนนิรันดร์

งานนี้ต้องมีภาค 2 ครับ อินชาอฺอัลลอฮ์


เขียนโดย Mazlan Muhammad
ขอบคุณข้อมูล Abdul-raning Kaseng

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 7 (ตอนสุดท้าย)

บันทึกการเดินทางกำลังจะถึงบทสุดท้าย แม้วันนี้การเดินทางยังไม่ถึงตอนจบ ความรู้สึกเหนื่อยแต่อิ่มเอิบ ความรู้สึกเดียวดาย (ทริปนี้จำเป็นต้องมาเดี่ยว) แต่ไม่อ้างว้าง

ก่อนการเดินทางจะจบลง ผมได้บรรลุความฝันสองประการอย่างสมบูรณ์ ประการแรกคือการเดินทางตามความฝันว่าสักครั้งต้องมาเยือนซินเจียงให้ได้ เคยตั้งคำถามว่าซินเจียงมีดีตรงไหนทำไมจึงต้องมา ผมเพิ่งได้คำตอบสุดท้าย ก็เมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ กับทริปนี้ ทีมนี้ และบริษัทรวมทั้งไกด์ชุดนี้

ประการที่สองคือผมได้สัมผัสเสี้ยวหนึ่งของวิถีอูยกูร์ ที่แม้ตลอดระยะทางในช่วงสี่ถึงห้าวันแรกมันจะดูเจือจางของความมีอยู่ในตัวตนแห่งอูยกูร์ แต่เมื่อถึงวันท้าย ๆ ที่ได้ไปทูรูฟานและกลับมาเดินตลาดต้าปาจ้าก่อนวันสุดท้าย ทำให้ผมยังพอเห็นการคงอยู่ของพี่น้องซินเจียงอูยกูร์ ณ เมืองหลวงนามอูรูมูฉีแห่งนี้

ซินเจียง  อันเป็นเขตปกครองพิเศษแห่งหนึ่งในประเทศจีน  มันมีความรุ่มรวยทั้งทางภูมิประเทศ  และทรัพยากรใต้ดิน บนดินมากมาย  ภูมิทัศน์ ณ จุดที่เป็นไฮไลท์แหล่งท่องเที่ยว  คือ ที่สุดของที่สุดสถานที่ที่งดงามไม่แพ้เมืองอื่นประเทศอื่นเลย  ซินเจียงมีเขตประเทศบางส่วนติดกับเทือกเขาคาราโครัม ปากีสถาน เทือกเขาที่มีถนนสายที่สูงที่สุดของโลกนามคาราโครัมไฮเวย์ตัดผ่าน  หากใครเคยยลโฉมคาราโครัม ก็ต้องคาดเดาออกว่าซินเจียงจะงดงามประมาณใด แม้ไม่สวยเท่า แต่ก็สวยไม่เบาเอาจริง ๆ  และเส้นทางปิดทริปสุดท้ายในวันนี้ก่อนบินกลับคือ อุทยานแห่งชาติเถียนชาน ที่งดงาม 360 องศา ด้วยยอดเขาสลับซับซ้อน ต้องใช้รถภายในอุทยานเพื่อไต่เขาไปชมจุดที่สวยที่สุดและด้านล่างเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่   เราปิดท้ายทริปด้วยมื้อเที่ยงในร้านไบหยาง ร้านเล็ก ๆ แถว grassland (ทุ่งหญ้า) อันงามตา 

การเดินทางครั้งนี้ ผมและทีมไม่มีโอกาสได้เข้ามาละหมาดที่มัสยิดแม้แต่แห่งเดียว กำลังสงสัยว่าเมืองที่มีประชากรมุสลิมหลายสิบล้าน ทำไมจึงไม่ค่อยเห็นอาคารมัสยิดเหมือนดั่งที่เคยเห็นแถวต้าหลี่ลี่เจียง มัสยิดสองแห่งที่เราไปเยี่ยมกลับถูกปิดอย่างไม่รู้เหตุผล อย่างเช่นมัสยิดใหญ่ใจกลางอูรูมฉีก็ถูกปิด สอบถามบางคนแถว ๆย่านนั้นก็บอกว่าปิดปรับปรุง  แต่ดูจากสภาพโซ่ตรวนและกุญแจที่ล็อคประตูมัสยิดทั้งสองแห่ง เราเหมือนจะพอคาดเดาเหตุผลอะไรบางอย่างภายใต้โซ่ตรวนเหล่านั้น มันไม่ใช่การปิดมัสยิดธรรมดา  แต่น่าจะปิดถาวรให้ตายไปพร้อม ๆ กับลมหายใจอูยกูร์ที่เริ่มแผ่วลง

เราเดินทางมาในเขตที่มีประชากรมุสลิมเยอะที่สุดในประเทศจีน แต่ความหวังที่จะได้รับรู้รสสัมผัสและกลิ่นอายความเป็นมุสลิม ทั้งที่แสดงออกผ่านตัวบุคคล ศาสนสถาน ตัวอักษร และอะไรอื่น ๆ มันดูเป็นสีจาง ๆ ไม่เข้มข้น หรือเพราะว่าเรามีเวลาสัมผัสเขาน้อยเกินไป จะอย่างไรก็แล้วแต่ ขออย่าให้พี่น้องอูยกูร์ซินเจียงต้องตกอยู่ภายใต้การคุกคามอัตลักษณ์และความศรัทธาจนไม่อาจสืบสานคุณค่าของความงามในอิสลามสู่ชนรุ่นลูกหลานต่อไป (ขากลับวันนี้เพิ่งเห็นว่ามัสยิดละแวกอูรูมูฉีมีเยอะทีเดียว เพียงแต่ตลอดถนนสายหลักที่ตัดผ่านอาจมองไม่เห็นหากสังเกตไม่ดี)

#ทุกการเดินทางคือการเรียนรู้
#เรียนรู้วิถีผู้คน
#ทุกการเดินทางย่อมมีจุดจบ
#แต่จุดจบการเดินทางของแต่ละคน อาจไม่เหมือนกัน
#เราทุกคนที่เป็นนักเดินทางล้วนมีเป้าหมายของการก้าวย่างในเส้นทางนี้
#แต่มิติของเป้าหมายแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกัน

#โลกใบนี้เปรียบเสมือนตำราเล่มใหญ่ๆเล่มหนึ่ง สำหรับนักเดินทางแล้ว เขาไม่เคยคิดแค่จะเปิดตำราเพียงหน้าแรกเท่านั้น

และสำหรับผมบทตอนว่าด้วยซินเจียงอูยกูร์ผมได้เปิดศึกษาแล้ว

เวลาสั้น ๆ อาจไม่ลึกซึ้งในรสสัมผัสของมัน
แต่อย่างน้อยวันนี้ ผมรู้สึกอิ่มในอูยกูร์ซินเจียง….ทีเดียว

(เคยได้ยินว่า สาวซินเจียงสวยมาก หน้าตาคมเข้มเหมือนตุรกีผสมคาซัคผสมจีนผสมปากี คือผสมซะหมด จนต้องบอกว่า สวยจริง คมจริง สมคำร่ำลือ เดิน ๆ ไปในตลาด ถ้าไม่มีอักษรจีน ไม่มีตำรวจและเครื่องสแกน อาจคิดว่า มาเที่ยวตุรกีเสียอีก)

ณ สนามบินซินเจียง

สนามบินซินเจียง ก่อนเข้าเขตสนามบินยังเจอความเสียวระดับ 8 ทุกคนต้องลงไปสแกนและ X-Ray สัมภาระก่อนที่ด่านตำรวจ มุสลีมะห์ทุกคนต้องถอดผ้าคลุมในห้องลับพร้อมเหยียดแขนให้ จนท. ตรวจอย่างละเอียด

พวกเราเดินเข้าสนามบินได้ในเวลาที่เหลือไม่มากนัก  เราอำลาไกด์ท้องถิ่นทั้งสอง  ณ ที่สนามบินแห่งนี้  ทีมของเราบางส่วนรีบเอาน้ำละหมาดและละหมาดรวม ตรงลานโล่ง ๆ ที่นั่งผู้โดยสารก่อนทำการเช็คอินเพื่อกลับบ้าน  เป็นการละหมาดให้โลกเห็น  ละหมาดในถิ่นดินแดนที่สถานที่อันพึงกระทำละหมาดถูกกังขังและปิดตาย

ทำการเช็คอินเสร็จเรียบร้อย  #เข้าอาคารสนามบิน และทีมยังถูกเจ้าหน้าที่สนามบินมอบความเสียวจนวินาทีสุดท้ายก่อนอำลาแผ่นดินจีน  เป็นการตรวจเพื่อเดินทางกลับบ้านที่ละเอียดยิบทุกซอกมุม ตรวจเข้มมากถึงมากที่สุดเท่าที่เคยสัมผัสมา  สแกนทั้งตัว ตรวจหัวจรดฝ่าเท้า ซอกทั้งหลาย  เอาเครื่องแยงริมขอบกางเกงพร้อมเอามือคลำ ตรวจใต้รักแร้ยันปลายมือ ตรวจหว่างขาและทุกพื้นที่ของขาทั้งสองข้าง คือตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินมา ไม่เคยโดนจัดหนักขนาดนี้มาก่อนเลย   มุสลิมะห์บางท่านต้องาเข้าห้องลับถอดผ้าคลุมสแกนอีกครั้งก่อนที่ทีมทั้งหมดจะผ่านด่านเพื่อไปนั่งหน้า gate ได้  ทำเอาเราจดจำวินาทีนั้นไปอีกนานแสนนาน

เขียนโดย ลาตีฟี

รู้จักอุซเบกิสถานกับ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ตอนที่ 2

– โรงพยาบาลของรัฐ คุณภาพดี รักษาฟรี คุยกับหมอชาวอุซเบกท่านหนึ่งเกี่ยวกับสถานพยาบาลของรัฐ หรือศูนย์การแพทย์ประจำจังหวัดบุคอรอ เขาบอกที่นี่โรงพยาบาลของรัฐรักษาฟรี ผมเห็นว่าใหญ่โต เลยอยากเข้าไปดูว่าคุณภาพและการบริการเป็นยังไง ของฟรีและดีมีจริงในโลก (เอเชีย) จริงหรือ ปรากฎว่า ภายในโรงพยาบาลดูสะอาดสะอ้าน ผู้คนบางตา ไม่แออัด ไม่มีความวุ่นวายเลยแม้แต่น้อย ไม่มีการรอคิวยาว ๆ พูดง่าย สภาพเหมือนกับโรงพยาบาลเอกชนดี ๆ ของบ้านเราเลย ผมก็ถามว่าที่นี่มีความพร้อมเรื่องการผ่าตัดมากน้อยแค่ไหน เครื่องไม้เครื่องมือเป็นอย่างไร เขาก็พาขึ้นไปชั้นผ่าตัด แล้วเปิดให้ดู เครื่องไม้เครืองมือทันสมัยมาก สามารถทำการผ่าตัดได้พร้อมกัน 21 ห้อง หมอที่นี่ก่อนผ่าตัดเขาจะอาบน้ำก่อนทุกครั้ง การป้องกันเชื้อโรคดีมาก คนที่นี่ ชอบใช้บริการของรัฐเพราะดีทั้งคุณภาพและการบริการ ในแต่ละจังหวัดก็จะมีคลินิกของรัฐกระจายกันอยู่ตามเขตต่าง ๆ ถ้าเป็นอะไรไม่มากคนก็จะมาคลินิกปรึกษาหมอแล้วรับยาไปทานต่อ น่าสงสัยว่าเขาสร้างระบบให้บริการอย่างนี้ได้อย่างไร

– วัฒนธรรมคนอุซเบกิสถานจะให้ความสำคัญกับแขกที่มาเยือนเป็นอย่างมาก ต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่ ถ้าใครได้ไปเยือนไม่ว่าจะในฐานะของแขกบ้านแขกเมือง หรือแขกของครอบครัว เพื่อนฝูง จะได้รับการดูแลอย่างประทับใจมาก

– นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การสนับสนุนวัยรุ่นคนทำงาน และการพัฒนาที่อยู่อาศัย ในจำนวนประชากร 34 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 60 คือคนหนุ่มสาววัยทำงาน คนอุซเบกไม่นิยมอยู่เป็นโสด น้อยรายมากที่ตั้งใจจะไม่แต่งงาน ถ้าเป็นผู้ชายโดยเฉลี่ยจะแต่งงานตอนอายุ 24/25 ปี ส่วนผู้หญิงตั้งแต่ 21/22 คนส่วนใหญ่เรียนจบหรือแต่งงานก็จะเร่งทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่ค่อยมีเรื่องเที่ยวเตร่ หรือสิ่งบันเทิงที่เป็นอบายมุขมากนัก ที่สำคัญคือเขาเร่งทำงานเพื่อให้มีรายได้และเพื่อจะได้รับสิทธิ์พิเศษในการกู้เงินจากรัฐเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยในกรณีอายุไม่เกิน 30 ปี (บางคนบอก 35) บางคนบอกโดยไม่มีดอกเบี้ย บางคนบอกมีแต่น้อยมาก (น่าจะเป็นที่เงื่อนไขอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน) จำนวนเงินที่กู้ได้ก็ขึ้นอยู่กับรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ ระยะเวลาผ่อนก็น่าจะ 10 – 15 ปี ผมคิดว่ารัฐบาลอุซเบกิสถานคงวางแผนไว้อย่างดีคือกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ขยันทำงาน ไม่ให้เกิดปัญหาว่างงาน ป้องกันปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัย กระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างในประเทศ ถ้าไปอุซเบกิสถานแล้วเห็นคนอายุน้อย ๆ มีบ้านหรูๆ ก็อย่าแปลกใจนะครับ

– คนมีรายได้น้อยจะนิยมอยู่อพาร์ตเมนต์ แต่ก็เป็นอพาร์ตเมนต์ใหม่ ๆ เป็นห้องชุด อพาร์ตเมนต์เก่าตอนนี้ทยอยถูกทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่จำนวนมาก ตอนนี้ไปที่ไหนก็เห็นว่ามีการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์กันมากมาย ส่วนคนมีรายได้ปานกลางก็จะอยู่บ้านเดี่ยว ลักษณะบ้านของคนอุซเบกิสถานมักทำผนังบ้านติดขอบถนนและทำชิดกับบ้านถัด ๆ ไป กลางบ้านมักนิยมทำเป็นที่โล่งหรือสวนหย่อมเล็ก แต่บ้านคนชั้นกลางหรือคนมีรายได้ปานกลางที่ผมมีโอกาสเข้าไปดูตอนระหว่างกำลังก่อสร้างใกล้จะเสร็จเป็นบ้านของวัยรุ่นอายุ 30 ปี ตกแต่งอย่างหรูหรา มีทั้งหมด 10 ห้องซึ่งในความหมายที่เขาบอกผมคือรวมทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ เขาเข้าโครงการที่ผมบอก บ้านเขาใช้เงินน่าจะ 8 ล้านบาทไทย หรูหรามาก คนชั้นกลางของเขากับเราต่างกันพอสมควร ส่วนบ้านคนรวยคงไม่ต้องพูดถึง เพราะคนรวมทั่วโลกส่วนใหญ่ก็มีบ้านที่ใหญ่โตอลังการเหมือน ๆ กับ กรณีอุซเบดิสถานก็เช่นกัน

– เรื่องการเมืองและการเลือกตั้งกำลังเขียนเป็นบทความ ฝากติดตามด้วยครับ อยากชวนทุกท่านถ้ามีโอกาสไปเที่ยวให้ได้นะครับ

เขียนโดย Manoch Aree

รู้จักอุซเบกิสถานกับ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ตอนที่ 1

ผศ. ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

หลังปฏิบัติภารกิจผู้สังเกตการเลือกตั้งระหว่างประเทศเสร็จ ผมก็มีโอกาสได้พูดคุยและเดินทางไปยังสถานที่สำคัญ ๆ หลายเมือง ยิ่งทำให้เห็นความสวยงามของประเทศนี้ในหลายแง่มุมซึ่งน่าทึ่งมาก ส่วนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอุซเบกิสถานจะตามมาหลังปีใหม่ครับ แต่จะขอเล่าเกี่ยวกับความประทับใจสำหรับประเทศนี้เป็นข้อ ๆ เท่าที่นึกออกนะครับ เผื่อใครสนใจไปเที่ยว ส่วนผมตั้งใจจะไปอีกบ่อย ๆ

– อุซเบกิสถานตั้งอยู่ในเอเชียกลาง เป็นประเทศที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ สวยสดงดงามตระการตา

– ประชากรที่นี่ มีประมาณ 34 ล้านคน เป็นแหล่งรวมคนหลากเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ หน้าตาผสมผสานกันไปหมด จีน แขก ฝรั่ง เปอร์เซีย อาหรับ ฯลฯ อยู่ด้วยกันอย่างสันติ (มากๆ) ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติหรือเลือกปฎิบัติบนความแตกต่างทางศาสนา ภาษา ฯลฯ ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่น ๆ คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 88 นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมาเป็นคริสต์ และยิว ( ที่เมืองบุคคอรอ มียิวประมาณ 500 คน มี synagogue หรือโบสถ์ของตัวเอง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิสราเอลด้วย แต่ที่นี่อยู่กันอย่างปกติสุขร่วมกับชุมชนมุสลิมในเขตเมืองเก่า) คนพุทธแทบจะหาไม่เจอ ผมเจอครอบครัวหนึ่งมีเชื้อสายเกาหลี (เป็นอุซเบกเกาหลี แต่พูดเกาหลีไม่ได้ พูดได้แต่ภาษาอุซเบกกับภาษารัสเซีย) ก็นับถือศาสนาคริสต์

– ในปี 2018 อุซเบกิสถานถูกจัดอับดับโดย Gallup ให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับ 5 ของโลก เราอาจคุ้นชินกับประเทศที่มีคำว่า “สถาน ๆ” ทั้งหลาย ว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงและอันตราย แต่ที่นี่ปลอดภัยมาก ไม่มีอาชญากรรม มีคนต่างชาติหลายคนไปอยู่ที่นั้น แล้วชอบความสงบสุขเรียบร้อย ความปลอดภัย จนไม่กลับประเทศ หลายคนได้สัญชาติเลย มีคนต่างชาติคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น แล้วบอกผมว่าคนที่นี่ดีมากๆๆๆ ต่อให้คุณเอาเงินไปตั้งไว้ข้างถนนเป็นล้าน ก็ไม่มีใครมายุ่งกับมัน ในประเทศนี้แทบจะไม่มีข่าวอาชญากรรมเลย

– อุซเบกิสถานมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกหลายแห่ง แต่น่าแปลกว่าไม่มีเก็บค่าเข้าชม ทั้งที่ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวยอะไร ประเทศรวยๆ หรือหลายประเทศยังเก็บตังค่าเข้าทั้งนั้นเลย

– คนอุซเบกมีความภาคภูมิใจในศิลปะแขนงต่าง ๆ ของตัวเอง ทั้งสถาปัตกรรม การวาดลวดลายต่างๆ การเต้นรำ ร้องเพลง ฯลฯ การไม่เก็บค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ อาจเพราะต้องการเผยแพร่ความสวยสดงดงามของประเทศตัวเองให้กับทุกคนได้เห็นบนความเท่าเทียม ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าชมได้ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบสังคมนิยมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต

– อากาศดี หนาวมากในฤดูหนาว ฤดูร้อนก็ร้อนจัดในบางเมือง คนที่นั่นจะชอบอากาศช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน เพราะกำลังดีไม่ร้อนไม่หนาว

– รถไฟใต้ดินในทาชเค้นต์แต่ละสถานีมีสถาปัตกรรมไม่เหมือนกัน มีความงามคลาสสิคที่ให้บรรยากาศยุคสมัยโซเวียตและสงครามเย็นมาก บรรไดเลื่อนเป็นลายไม้เก่า ผมมีโอกาสโดยสารเพียงไม่กี่สถานี เสียดายมาก ค่าโดยสารก็ถูกมากน่าจะไม่ถึง 10 บาทตลอดสาย นั่งได้ทั้งวัน เปลี่ยนสายไปมาก็ได้ ไม่ต้องเสียตังเพิ่ม ค่าบริการสาธารณะต่าง ๆ ถือว่าถูกมาก เพราะเขายังมองว่ารัฐมีหน้าที่บริการและดูแลประชาชน ไม่ใช่ขูดรีดหรือเอื้อประโยชน์นายทุนนักธุรกิจ

ต่อ…ตอนที่ 2 ได้ที่ : https://www.theustaz.com/?p=1663

เขียนโดย Manoch Aree