สาระสันทนาการ เดินทาง/ท่องเที่ยว

หมู่บ้าน กม. 26 ใน ความกลมกลืนทางวัฒนธรรมท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ

บ้านกม. 26 ใน ตั้งอยู่ ณ หมู่ 2 ต. ตาเนาะปูเต๊ะ อ. บันนังสตา จ. ยะลา บนเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 ห่างจากเมืองยะลาไปทางเบตงประมาณ 30 กม. มีทางแยกเลี้ยวซ้ายจากถนนใหญ่เข้าไปในหมู่บ้านซึ่งเป็นเชิงเขาสูงชันอีกประมาณ 10 กม. เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบางลางซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา

หมู่บ้านนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้แห่งนี้มีเนื้อที่ 11.45 ตร. กม. มีประชากร 1,012 คน ประกอบด้วย 266 ครัวเรือน อัตราส่วนระหว่างชาวไทยมุสลิมกับชาวไทยพุทธ 50:50 โดยประชากรชาวพุทธส่วนใหญ่ได้ย้ายถิ่นฐานมาจากแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้อพยพสมัยเกิดพายุถล่มครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ.2505

เป็นหมู่บ้านที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมด้วยสันติอย่างยาวนาน ชาวบ้านใช้ชีวิตร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาชุมชนอย่างปกติสุขตลอดมา กระทั่งชาวพุทธสามารถสื่อสารภาษามลายูถิ่นได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนชาวมุสลิมก็สามารถพูดไทยสำเนียงใต้ได้อย่างฉะฉานทีเดียว มัสยิดและวัดคือเบ้าหลอมชาวบ้านในละแวกนี้ โดยไม่รู้สึกแปลกแยกหรือเบียดเบียนระหว่างกัน

ที่สำคัญในหมู่บ้านนี้มีน้ำตกขนาดเล็กอันสวยงามที่มีน้ำไหลตลอดปี สูงประมาณ 60 ม. มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้นๆรวม 5 ชั้น เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขนิเวศน์ ที่ต้องการใช้วันธรรมดาให้เป็นวันพิเศษ ท่ามกลางครอบครัวและมิตรสหายในบรรยากาศของผืนป่าอันเขียวขจี โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนเช่นนี้ เป็นช่วงนาทีทองที่เราจะได้เสพความสวยงามตามธรรมชาติ มีสระน้ำสวยใสกลางป่า เป็นสีเขียวอมฟ้า รอบๆบริเวณเป็นสวนทุเรียนของชาวบ้านที่กำลังออกผลใกล้สุกงอมเต็มที จนดูเหมือนอยู่ในโลกนิยายแฟนตาซี

เนื่องจากมีต้นตะแบกขาวใหญ่โต ซึ่งเป็นที่ทำรังของผึ้งมากมาย สูงเด่นใกล้กับน้ำตกนี้ ชาวบ้านจึงเรียกน้ำตก นี้ว่า น้ำตกสายน้ำผึ้ง

กลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่สร้างสีสันธรรมชาติให้เพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น

Abdul-raning Kaseng ดีกรีมหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศิษย์เก่า รปศ. มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัจจุบันเป็นหนึ่งในทีมบริหารโรงเรียนดารุลอุโลม นิบงบารู แผนกอนุบาล-ประถมในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้เสนอจัดทริปสบายๆ หลังผ่อนคลายโควิด (Post COVID-19) พวกเราจึงรีบสนองทันที ถึงแม้ยังไม่ใช่ฤดูที่ทุเรียนสุกงอมก็ตาม

เสาร์ที่ 4 กค. 63 เราสามารถรวบรวมสมาชิก 6 ครอบครัว ประมาณ 20 คน จึงเคลื่อนล้อไปยังที่หมาย โดยใช้เวลาดื่มด่ำบรรยากาศที่นี่ตั้งแต่ 10.00 น. – 14.00 น.

ขอบคุณทีมงานเตรียมอาหารมื้อเที่ยงด้วยเมนูหลากหลายและเอร็ดอร่อย ที่นำโดย Mahamud Hamidong, Wae Hasan, Muhammadiffat Pathan ตั้งแต่หอยนางรมย่างที่คัดสรรจากบ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดย Burhanuddeen Jehma หมึกกุ้งที่เก็บจากอวนตะโละกาโปร์ ยะหริ่ง ปัตตานี โดย Nilah Abdulbut พร้อมลูกชิ้นไส้กรอกแถมด้วยสะตอสดจากต้น ผักลวกนานาชนิดที่วางเรียงบนใบตองอย่างมีศิลปะ ทั้งปลาแห้งเผา น้ำบูดู ก็สร้างสีสันรสชาติของมื้อนี้ได้สุดอร่อย ทุกคำที่ป้อนเข้าปาก ล้วนกลมกล่อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการอย่างมิรู้ลืม

ที่ลืมไม่ได้จริงๆ คือน้ำพริกต้มกะทิ (ไอซามา) สูตรดั้งเดิมขนานแท้อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวตาเนาะปูเต๊ะ ที่ว่ากันว่า มาที่นี่ไม่ลิ้มรสไอซามา แสดงว่ายังไม่ถึงตาเนาะปูเต๊ะ

เวลาสั้น กระชั้นชิดและกลัวฝนจะเทลงมา ทำให้เราต้องกุลีกุจอเตรียมขนสัมภาระกลับบ้าน โดยลืมกิจกรรมสำคัญที่ไม่น่าพลาดคือกิจกรรมเล่นน้ำในสระน้ำตกสายน้ำผึ้งอันใสสะอาด

แต่ที่แน่ๆ เหนือรสชาติอาหารที่แสนอร่อย ธรรมชาติอันสวยงาม คือมิตรภาพและอุคุวะฮ์ที่แนบแน่นตราบจนนิรันดร์

งานนี้ต้องมีภาค 2 ครับ อินชาอฺอัลลอฮ์


เขียนโดย Mazlan Muhammad
ขอบคุณข้อมูล Abdul-raning Kaseng