บทความ บทความวิชาการ

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (จบ)

ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในตะวันออกกลางหลังอาหรับสปริงคือสงครามกลางเมืองอันทำให้หลายประเทศในภูมิภาคตกอยู่ในสภาพรัฐอ่อนแอ ทั้งกรณีสงครามในซีเรีย ลิเบีย เยเมน และอิรัก

อีกทั้งในแต่ละสงครามกลางเมืองยังมีตัวแสดงจากทั้งภายในภูมิภาคและมหาอำนาจโลกเข้ามาแทรกแซงแสดงบทบาทอยู่อย่างต่อเนื่อง

พร้อม ๆ ไปกับสภาพที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงดังกล่าวก็ทำให้กลุ่มติดอาวุธประเภทต่าง ๆ ถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มติดอาวุธข้ามพรมแดนที่ยึดโยงกันทางชาติพันธุ์และสำนักคิดทางศาสนา กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐ กลุ่มกองกำลังชนเผ่า องค์กรก่อการร้าย ทหารรับจ้าง และนักรบต่างชาติ

กลุ่มเหล่านี้ได้ท้าทายอำนาจรัฐในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงและผูกขาดการควบคุมพื้นที่ดินแดนของประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ในระยะหลังกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ก็สามารถใช้กำลังความรุนแรงและสามารถสถาปนาหน่วยการปกครองในดินแดนบางส่วนของประเทศได้เช่นกัน

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้เกิดขึ้นซ้อนทับกับสภาพสงครามกลางเมืองและสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของตะวันออกกลางดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ประเทศไหนก็ตามที่สมรรถนะของรัฐไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาโรคระบาดได้ (เนื่องเพราะต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองมายาวนาน) หน้าที่ดังกล่าวก็จะถูกช่วงชิงไปโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธประเภทต่าง ๆ ในการเข้าไปให้บริการสาธารณะแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในดินแดนที่อำนาจรัฐไม่สามารถเข้าไปถึง

ขณะเดียวกัน รัฐอ่อนแอที่ตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองเหล่านี้ก็เป็นดินแดนที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง ซีเรีย ลิเบีย เยเมน และอิรัก ล้วนเป็นประเทศที่โรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขตกเป็นเป้าการถล่มโจมตีจากกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงการโจมตีโดยมหาอำนาจภายนอกด้วย

สภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างตัวแสดงฝ่ายต่าง ๆ ทั้งชนชั้นนำทางการเมือง บรรดากลุ่มติดอาวุธ และมหาอำนาจภายนอก (ที่เข้ามาทำสงครามตัวแทนในพื้นที่ขัดแย้ง) เพื่อช่วงชิงอิทธิพลอำนาจและทรัพยากรในดินแดนประเทศต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ทุกกลุ่มฝ่ายในตะวันออกกลางหันมาร่วมมือสร้างสันติภาพระหว่างกัน ในทางตรงข้าม โควิด-19 อาจเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

เพราะนอกจากตัวแสดงฝ่ายต่าง ๆ จะช่วงชิงแก่งแย่งอิทธิพลอำนาจเหนือดินแดนและทรัพยากรระหว่างกันแล้ว เรายังอาจเห็นการแข่งขันกันเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขในยามที่ผู้คนจำนวนมากกำลังล้มป่วยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

ทั้งนี้ การเข้าถึงและครอบครองอุปกรณ์ทางการแพทย์และการมีระบบสาธารณสุขที่ดีนับเป็นการเรียกคะแนนความนิยมและความเชื่อมั่นจากประชาชน อีกทั้งยังสามารถสร้างชื่อเสียงอันจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์และสถาปนาความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนได้

การที่รัฐบาลของรัฐอ่อนแอต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายรอบด้านและติดพันกับการทำศึกสงครามมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้การรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแสดงที่ต่ำกว่ารัฐหรือกลุ่มติดอาวุธได้แสดงบทบาทฉายภาพให้เห็นว่าตนเองสามารถทำงานได้ดีกว่ารัฐ

หากตัวแสดงเหล่านี้ทำได้จริงเรื่องนี้ก็จะกระทบกระเทือนอำนาจความชอบธรรมของรัฐเป็นอย่างยิ่ง แต่หากไม่สามารถจะรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างที่อ้าง กลุ่มเหล่านี้ก็จะขาดความชอบธรรม และสูญเสียอิทธิพลให้แก่ฝ่ายรัฐบาลในท้ายที่สุด

ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานออกมาระบุว่า ในบางประเทศของตะวันออกกลางมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรคระบาด ยกตัวอย่างเช่นในซีเรียนั้น กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มมีการวางร่างแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะไม่ขัดขวางหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการณ์ยับยั้งโรคระบาดและจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน

กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มที่จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบางพื้นที่ยึดครองของซีเรียยังออกแถลงการณ์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคระบาดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง และในทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียก็มีการประกาศลดความแออัดของเรือนจำเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด เป็นต้น

กล่าวอย่างรวบรัดคือในสภาพที่เกิดสงครามกลางเมืองในหลายประเทศของตะวันออกกลางนั้น วิกฤตโควิด-19 อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รัฐและกลุ่มติดอาวุธเพิ่มการแข่งขันเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองดินแดนต่าง ๆ ส่วนใครจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความหนักหนาสาหัสของวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละดินแดน มาตรการในการรับมือ การเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดรวมถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข

แต่ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือแรงสนับสนุนจากตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจภายนอกที่เข้ามาทำสงครามตัวแทน (proxy war) ในพื้นที่ความขัดแย้งที่เป็นสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลาง

แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า ตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจโลกและตัวแสดงในภูมิภาค ซึ่งเข้ามาแทรกแซงแสดงบทบาทในสงครามกลางเมือง กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขภายในประเทศของตนเองอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน โรคระบาดที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อตลาดพลังงานโลก ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่งลงไปเนื่องจากความต้องการในการใช้น้ำมันของตลาดโลกลดลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้มหาอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้าไปทำสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางจึงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศตนเองเป็นหลักเสียก่อน และคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศตนหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป

ด้วยเหตุนี้ การที่แต่ละตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจภายนอกจะดำเนินการสนับสนุนตัวแทนของตนในสมรภูมิสงครามกลางเมืองเหมือนอย่างเดิมคงเป็นไปได้ยาก

อันที่จริงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ตัดสินใจถอนกำลังทหารออกไปบางส่วนจากซีเรียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สหภาพยุโรปเองก็ไม่มีแผนการเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกันแม้รัสเซียกับตุรกีดูจะยังแสดงบทบาทเด่นชัดในสมรภูมิความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมาหลังจากนี้ ก็คงส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศต้องลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น

ส่วนอิหร่านและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิหร่านซึ่งเผชิญความยากลำบากไม่เฉพาะแต่โควิด-19 เท่านั้น แต่ยังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถขายน้ำมันได้เหมือนเดิม สภาพอย่างนี้อาจทำให้อิหร่านไม่สามารถให้การหนุนหลังกลุ่มฝ่ายตัวแทนของตนในประเทศต่าง ๆ ได้เหมือนในอดีต

ยิ่งกว่านั้น ประชาชนของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าไปแทรกแซงแสดงบทบาทในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางคงจะออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศของตนหันมาให้ความใส่ใจกิจการภายในประเทศของตน

บางประเทศเหล่านี้กำลังจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงต้องกลับมานั่งทบทวนนโยบายการต่างประเทศของตนเสียใหม่ โดยเฉพาะนโยบายการใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในประเทศอื่น ซึ่งอาจไม่ได้สร้างประโยชน์คุ้มค่าเหมือนในอดีตอีกต่อไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ความไร้เสถียรภาพของราคาน้ำมัน และปัญหาโรคระบาดข้ามชาติที่ยังไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อใด

หากสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ก็อาจทำให้วิกฤตสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางค่อย ๆ ลดความร้อนแรงลงไป อันจะส่งผลถึงสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่จะเปลี่ยนไปในแต่ละประเทศ

เราก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นไปในทิศทางนั้น


โดย Srawut Aree