ระหว่างก้อนกรวดกับเพชรในตม

แทบกล่าวได้ว่า ในระยะเวลาดังกล่าว คืนวันไม่เคยผันผ่าน เว้นแต่เราจะได้ยินจากชายคนนี้ว่า قال الله وقال الرسول

(อัลลอฮ์กล่าวว่า นบีกล่าวไว้)

ผมเผ้าจากสีดำสนิท ปัจจุบันกลายเป็นสีขาวไปตามกาลเวลา เรี่ยวแรงที่เคยหนุ่มแน่น ปัจจุบันอาจร่วงโรยไปบ้างตามอายุขัย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนจากชายผู้นี้คือความมุ่งมั่นทำงานเพื่อความสูงส่งของอิสลามและสังคมมุสลิมชนิดต้องแข่งขันกับเวลาแทบทุกวัน

ومن شاب شيبة في الإسلام، كُتب له بها حسنة، وحُطّ عنه بها خطيئة، ورُفِع له بها درجة) رواه ابن حبان وحسنه الألباني.

(ผู้ใดที่มีผมหงอกในอิสลามเพียงเส้นเดียว เขาจะได้รับด้วยผมหงอกเส้นนั้น 1 ความดี และถูกลบล้างความผิด 1 กระทง พร้อมได้รับการยกระดับอีก 1 ชั้น)

เขาคือนักพรตยามค่ำคืน และอัศวินภาคกลางวันที่สามารถจับต้องได้ ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาจวบจนถึงวัยเลยเกษียณ ถึงขนาดแอดได้ยินเสียงพึมพำจากคนใกล้ชิดว่า ไม่รู้ไปเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน

ผู้เขียนเคยคิดคนเดียวว่า หากทำทน้าที่แทนเขาเพียงแค่รับโทรศัพท์รายวันแค่งานเดียว ผู้เขียนคงประสาทแดกแล้ว

ยังไม่รวมงานรับแขกที่เริ่มต้นจากตาสีตาสาไปจนถึงแขกผู้หลักผู้ใหญ่ทุกระดับและวงการ งานประชุมติดตามภารกิจ การเดินทางทั้งในและต่างประเทศ งานวิชาการ งานสอน บรรยายและแต่งตำรา เวทีนำเสนอผลงานวิชาการ งานรับเชิญทั้งงานราษฎร์งานหลวง แม้กระทั่งหน้าที่ในครอบครัวในฐานะสามี คุณพ่อ คุณตาคุณปู่และอาบีของลูกศิษย์ที่กระจัดกระจายไปเต็มบ้านเต็มเมือง

น่าแปลก ที่บางคนในสังคมนี้ โดยเฉพาะกลุ่มชนที่ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ไม่รู่ว่าพวกเขาไปสะสมความอาฆาตแค้นมาจากไหน เขาไปรับพิษร้ายของความรู้มาจากแหล่งใด ถึงได้ใช้วาจาสถุลจาบจ้วงชายชราอายุกว่า 73 ปี ผู้นี้เหมือนไม่เคยอ่านและเรียนรู้หะดีษที่นบีพูดถึงเรื่องราวของผู้ล้มละลายในวันอาคิเราะฮ์บ้างเลย

หากเขาคือชายชราปกติทั่วไป คนที่จาบจ้วง ใส่ร้ายเขา ก็แทบไม่รู้จะชดใช้อย่างไร ณ อัลลอฮ์แล้ว แต่หากเขาเป็นบุคคลที่เป็นที่รักยิ่ง ณ อัลลอฮ์ ชีวิตของคน ๆ นั้นไม่มีทางได้ดิบได้ดีทั้งดุนยาแล้วอาคิเราะฮ์

หะดีษกุดซีย์รายงานโดยอิมามบุคอรี / 6502

 إن اللَّهَ قالَ: مَن عادَى لي وَلِيًّا فقَدْ آذَنْتُهُ بالحَرْبِ

ความว่า : อัลลอฮ์กล่าวว่า ผู้ใดที่ทำศัตรูกับคนที่ข้ารัก (วะลีของข้า) แน่นอนข้าจะประกาศสงครามกับเขา

ผู้เขียนขอนะศีฮัตแก่มนุษย์ประเภทนี้ให้เตาบัตและยำเกรงอัลอฮ์มากที่สุดและให้เร็วที่สุด หากยังไม่สำนึก ก็คงไม่มีอะไรจะกล่าวนอกจากคำว่า قل موتوا بغيظكم

( จงกล่าวเถิดโอ้มูฮัมมัด พวกท่านจงตายพร้อม ๆ กับความอาฆาตแค้นของพวกท่านเถิด)

เราเป็นสังคมที่คุ้นชินกับก้อนกรวด จึงไม่รู้คุณค่าของเพชรในตม  เรามักให้ค่าสิ่งไร้สาระ เราจึงไม่สามารถประเมินสิ่งที่มูลค่าหมื่นล้านได้ การอุปมาดั่งกิ้งก่าได้ทอง อาจดูน้อยไปสำหรับคนบางประเภทในสังคมนี้

ขอสาบานด้วยนามของอัลลอฮ์ หากกลุ่มชนเหล่านั้นได้รับโอกาสหรือคำยกย่องสดุดีจากผู้รู้และนักเคลื่อนไหวอิสลามทั่วโลกเหมือนที่เขาได้รับ แม้เพียงครั้งเดียว เชื่อว่า พวกเขาจะต้องไปอวดอ้างสรรพคุณตัวเองไปตลอดชีวิต  ดีไม่ดีอาจบันทึกความทรงจำนี้ในกรอบสีทองด้วยซ้ำ

เขาคือนักต้มตุ๋นหลอกลวง แต่เขาคือคนที่ชาติอาหรับและโลกอิสลามไว้ใจ เชื่อใจและภูมิใจมากที่สุด แม้กระทั่งวันเวลาผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

อาหรับทั้งชาติสิ้นคิดถึงขนาดไปไว้วางใจนักต้มตุ๋นระดับโลกให้บริหารโครงการระดับพันล้านนานนับครึ่งศตวรรษเชียวหรือ

เราเคยเห็นคนหลอกลวงที่ไหนในโลกนี้ที่ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษของกษัตริย์ 5-6 ประเทศ

เราเคยเห็นผู้ก่อการร้ายอันดับ 1 ของอาเซียน ที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นสนช. อะมีรุ้ลฮัจญ์ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี ฯลฯ บ้างไหม

ยังไม่รวมตำแหน่งต่าง ๆ ในระดับโลก ที่หลาย ๆ คนแทบไม่มีโอกาสและไม่กล้าคิดแม้กระทั่งจะเพ้อฝัน

เขาคือผู้จุดประกายความแตกแยก สร้างความปั่นป่วนในสังคม แต่ในขณะเดียวกัน เขาได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชนหรือภาครัฐ องค์กรศาสนา แวดวงวิชาการ การเมืองหรือภาคประชาสังคม

เขาไม่เคยวิ่งเต้น ร้องขอตำแหน่ง แต่ดูเหมือนว่าทุกตำแหน่งเหมาะสมและวิ่งสู่ไปหาเขาในทุกโอกาส

สิ่งที่น่าทึ่งคือ เราไม่เคยได้ยินวาจาสถุลหลุดออกจากปากชายคนนี้ทั้งคำพูดหรือข้อเขียน เขาพูดอยู่เสมอว่า ปรบมือข้างเดียว ไม่ดังหรอก ปล่อยให้เขาปรบมือต่อยลมข้างเดียวไปเถอะ เราอย่าไปบ้าจี้ตาม

แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่า เขาสามารถอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาและสหายร่วมอะกีดะฮ์ไม่ให้ตกหลุมพรางในพฤติกรรมถ่อยเถื่อนนี้ เขาเตือนสติผู้ใกล้ชิดตลอดว่า “ต่างคนต่างทำหน้าที่ก็แล้วกัน”

เขาพูดเสมอว่า การให้เกียรติคนอื่น ไม่ได้แสดงว่าเราชอบพอเขาเสมอไป แต่มันแสดงถึงการได้รับการตัรบียะฮ์(การอบรมสั่งสอน) ที่ดี ดังนั้นท่านทั้งหลายจงมีมารยาทดีต่อผู้อื่น ถึงแม้พวกท่านไม่ชอบพอคนนั้นก็ตาม

ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสำนวนโวหารอาหรับท่อนหนึ่งขึ้นใจ

القافلة تسير والكلاب تنبح

กองคาราวานจะเดินไปโดยไม่หยุดหย่อน

ฝูงสุนัขก็จะเห่าหอนอย่างไม่หยุดยั้ง

หะดีษท่อนหนึ่งกล่าวว่า

اعملوا فكل ميسر لما خلق له

จงปฏิบัติอะมั้ลกันเถิด เพราะแต่ละคน จะถูกปล่อยให้ปฏิบัติกิจโดยง่ายดาย จากสิ่งที่เขาถูกสร้างมาเพื่อกิจนั้น

หากเขาถูกสร้างมาเพื่อเป็นชาวสวรรค์ เขาจะปฏิบัติกิจของชาวสวรรค์อย่างง่ายดาย

เช่นเดียวกันกับ หากเขาถูกสร้างมาเพื่อเป็นชาวนรก เขาก็จะปฏิบัติกิจของชาวนรกได้อย่างคล่องแคล่วเช่นกัน  نعوذ بالله من ذلك

ต่างคนต่างมีหน้าที่ประจำจริง ๆ

สนใจศึกษาประวัติชายผู้นี้เชิญอ่านหนังสือเล่มนี้ได้

สนใจติดต่อทางเพจ Mazlan Muhammad หรือ Theustaz.com


โดย Mazlan Muhammad

ทำความรู้จักชัยค์ อับดุลมะญีด ซีนดานีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์  สมาชิกของคณะกรรมการพรรคอิศลาห์ของเยเมน และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค  เสียชีวิตในโรงพยาบาลในตุรกี เมื่อวันจันทร์วานนี้ 22/4/2024  หลังจากการอพยพมาอยู่ตั้งแต่ปี 2020

⚫️ ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ คือใคร?

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ เป็นนักการเมืองและนักวิชาการอิสลามชาวเยเมน และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคเยเมนอิสลาห์ พรรคในสังกัดกลุ่มกลุ่มอิควานมุสลิมีน-ภราดรภาพมุสลิม-ในเยเมน 

ท่านได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอัลอิมานในเยเมน และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อศึกษาปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ  الهيئة العالمية للإعجاز العلمي في القرآن والسنة  และมุ่งมั่นอยู่กับศาสตร์ด้านปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์และอธิบายปรากฏการณ์ทางจักรวาลมากมายในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ

⚫️ การเกิดและการเลี้ยงดู

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ เกิดปี ค.ศ.1942 ที่ตำบลซอฮ์บีย์  เขตชะอัร  จังหวัดอิบบ์  พื้นเพเดิมของของครอบครัวมาจากเมือง ซินดาน จังหวัดซอนอาอ์

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์  ได้รับการศึกษาเบื้องต้นในกุตตาบ-สถาบันท่องจำอัลกุรอานประจำหมู่บ้าน-ในบ้านเกิด และศึกษาในโรงเรียนของรัฐที่เมืองเอเดน จากนั้นจึงไปศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอียิปต์

ชัยค์เข้าเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์และศึกษาเป็นเวลาสองปี จากนั้นจึงลาออกจากมหาวิทยาลัยเนื่องจากความสนใจในด้านวิชาศาสนา และเริ่มอ่านหนังสือในสาขาวิทยาการอิสลาม และได้ศึกษากับนักวิชาการอาวุโสในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์

ท่านอุทิศตนเพื่อศึกษากับนักวิชาการที่อัซฮาร์ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และพบกับนักวิชาการชั้นนำ เช่น เชคอับดุลลอห์ บิน บาซ และมูฮัมหมัด บิน ซอเลห์ อัลอุซัยมีน และต่อมาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอุมมุดัรมาน มหาวิทยาลัยอิสลามในซูดาน

ท่านสนใจการศึกษาตำราทางวิชาการอิสลาม และพยายามทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้โดยคำนึงถึงชีวิตร่วมสมัยและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์   ซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางของท่านที่สำคัญที่สุด และได้เขียนตำราด้านนี้หลายเล่มด้วยกัน

⚫️ งานและความรับผิดชอบ

ท่านสอนในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และหลังจากที่กลับมายังเยเมน  ก็รับงานและความรับผิดชอบหลายอย่าง รวมถึงการบริหารสถาบันวิทยาศาสตร์อัล-นูร์ และงานสอนในสถาบันการศึกษาบางแห่ง

ในปี 1967 ท่านกลับไปที่เมืองซอนอาอ์ และและดำรงตำแหน่งฝ่ายวิชาการในกระทรวงศึกษาธิการของเยเมน  และมีส่วนร่วมในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์หลายวิชา เช่น ชีววิทยา และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักศึกษานิเทศก์ เมื่อก่อตั้งเมื่อปี 1975 และได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งเยเมนในยุคประธานาธิบดีอัรยานี

⚫️ เส้นทางการเมือง

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำของขบวนการอิสลาม ในช่วงเวลาที่อยู่ในอียิปต์ ท่านได้รับอิทธิพลจากกลุ่มอิควาน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมโดยทางการอียิปต์และถูกขับออกจากประเทศ

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ มีส่วนในความพยายามที่จะปกป้องการปฏิวัติเยเมนในปี 1962 ระหว่างที่ทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ท่านทำงานเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ทางปัญญาในวงกว้างโดยนำนักคิดชาวอาหรับและมุสลิมที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งมาสู่เยเมน และสนับสนุนชาวอัฟกันต่อต้านกองกำลังรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1980

สหรัฐฯ จัดให้ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ อยู่ในรายชื่อของผู้ถูกหมายจับ ในปี 2004 และกล่าวหาว่าท่านสนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า “การก่อการร้าย” และกล่าวว่าท่านเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำอัลกออิดะห์  นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าท่านให้เงินสนับสนุนการก่อการร้าย

ในปี 2011 อเมริกาได้ขอให้รัฐบาลเยเมนจับกุมท่าน ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตัดสินอายัดทรัพย์สินของท่าน  แต่ท่านปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น และเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกาแสดงหลักฐานต่อฝ่ายตุลาการของเยเมน

เมื่อการปฏิวัติต่อต้านประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ แห่งเยเมน เกิดขึ้นในปี  2011   ท่านได้สนับสนุนเยาวชนนักปฏิวัติ และประกาศการสนับสนุนการปฏิวัติบนเวที Change Square  ซึ่งท่านกล่าวว่า การประท้วงเป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมความดีและห้ามปรามความชั่ว และได้เรียกร้องหน่วยรักษาความปลอดภัยของเยเมนปกป้องผู้ชุมนุม  และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมรักษาความสงบในการชุมนุม

หลังจากกลุ่มฮูซียึดครองเมืองซอนอาอ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2015 กลุ่มฮูซีได้โจมตีบ้านของท่าน จับกุมยามสองคน และโจมตีอีกครั้งเมื่อต้นเดือนเมษายน 2015 หลังจากที่ท่านสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ ปฏิเสธการรัฐประหารของกลุ่มฮูตีที่ต่อต้านรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2014 และเป็นผู้สนับสนุนการปรองดองแห่งชาติระหว่างทุกกลุ่มในเยเมน

ชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียเป็นเวลาประมาณ 5 ปี ก่อนที่จะถูกกักบริเวณในบ้านและอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งทำให้ท่านต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในตุรกีในช่วงฤดูร้อนปี 2020

สำนักข่าว “Arabi 21” รายงานว่า ท่านมาถึงเมืองอิสตันบูลของตุรกี ในช่วงเวลาที่ซาอุดิอาระเบียยกเลิกการห้ามการเดินทางที่บังคับใช้กับท่าน ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2020  ไม่กี่วันหลังจากที่สภานักวิชาการอาวุโสในซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์กล่าวหากลุ่มอิควานมุสลิมีนเป็นกลุ่มก่อการร้ายและเตือนให้ระวัง

 ⚫️ องค์กรใหญ่ๆแสดงการไว้อาลัย

องค์กรอิสลามทั่วโลก  เช่น กลุ่มอิควานมุสลิมีน  กลุ่มฮามาส  สหพันธ์นักวิชาการอิสลามนานาชาติ   สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ฯลฯ  ต่างออกมาแสดงการไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน ชี้ว่าเป็นความสูญเสียของประชาชาติอิสลาม

สหพันธ์นักวิชาการอิสลามนานาชาติ  แถลงในแพลตฟอร์ม (X) ว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อประชาชาติอิสลามต่อการเสียชีวิตของชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์ สมาชิกของสหพันธ์ฯ และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อศึกษาปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ”

ขบวนการฮามาส แถลงยกย่องบทบาทของชัยค์อับดุลมะญีด ซินดานีย์  ว่า: ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในด้านการศึกษาและการสนับสนุนในเยเมนและโลกอิสลาม ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกด้านปาฏิหาริย์ทางวิทยาศาสตร์ในอัลกุรอาน และเป็นเสาหลักของขบวนการอิสลามในการสนับสนุนประเด็นปัญหาของประชาชาติอิสลาม  ที่สำคัญที่สุดคือประเด็นของปาเลสไตน์ กรุงเยรูซาเล็ม และมัสยิดอัลอักซอ”

ขบวนการฮามาสกล่าวเสริมว่า “วันนี้ในปาเลสไตน์ เราสูญเสียบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ปกป้องปาเลสไตน์ และเสียงที่จริงใจในการสนับสนุนการต่อต้านและการต่อสู้ที่ถูกต้องตามกฎหมายของประชาชนของเรา  ขอแสดงความเสียใจต่อชาวเยเมน ครอบครัวของชีค และผู้ที่รักท่านจากทั่วโลก

https://hamasinfo.info/2024/04/22/1259/


เครดิต : FB : Ghazali Benmad

ขอแสดงความยินดีแก่ประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (คนใหม่)

ชัยค์อาลี กอเราะฮ์ดาฆี ได้รับเลือกเป็นประธานสหพันธ์อุลามะอ์อิสลามนานาชาติ ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ในระหว่างการประชุมสมัยที่ 6 ที่กรุงโดฮา  กาตาร์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่เริ่มการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 6 ภายใต้สโลแกน  “เราเกื้อหนุนศาสนาของเรา พัฒนาประชาชาติของเรา และสนับสนุนอักซอของเรา” โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 11 มกราคมนี้

สหพันธ์ฯ ประกาศว่า ชัยค์อาลี กอเราะฮ์ดาฆี ชนะตำแหน่งประธานสหพันธ์ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 91.51 เปอร์เซ็นต์

ชัยค์อาลี กอเราะฮ์ดาฆี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์ฯ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานต่อจากชัยค์อะหมัด รัยซูนีย์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนี้ ในปี 2018 ต่อจากชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์ ผู้ก่อตั้งสพันธ์ฯ ผู้ล่วงลับ

ชัยค์อาลี กอรเราะฮ์ดาฆี เกิดปี ค.ศ.1949 เป็นชาวพื้นเมืองของภูมิภาค Qara Dagh กอเราะฮ์ดาฆ ในจังหวัดสุลัยมานียะฮ์   ของเคอร์ดิสถาน ในอิรัก  เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลาม  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขากฎหมายอิสลาม   ในกรุงแบกแดดในปี 1975 และปริญญาโทสาขานิติศาสตร์อิสลามเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรอัลชารีฟ ในปี 1980 และปริญญาเอกสาขากฎหมายอิสลามและกฎหมายทั่วไป ที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร อัล-ชารีฟ – ในด้านสัญญาและธุรกรรมทางการเงิน ในปี 1985 ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1  ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในปี 1990 และเป็นศาสตราจารย์ในปี 1995

สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ นิยามตัวเองเป็น “สถาบันเอกชนที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลใด เพื่อการรักษาอัตลักษณ์ของประชาชาติอิสลาม และเผชิญกับกระแสการทำลายล้างและการต่อต้านอิสลาม” ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 โดยมีชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์ ผู้ก่อตั้งสหพันธ์ฯ ผู้ล่วงลับเป็นประธานสหพันธ์ฯ คนแรก

สหพันธ์ฯ ประกาศว่า “สมาชิกที่เข้าร่วมในสมัชชาใหญ่ของสหพันธ์ได้เลือกรองประธาน ได้แก่ ชัยค์มุฮัมมัด อัลฮัสซัน วะลัดอัลดาโด ร้อยละ 95, ชัยค์อิซอม อัลบาชีร์ และชัยค์อาหมัด อัลคาลิลี ร้อยละ 89 และชัยค์มูฮัมหมัด กอร์มาซ 86 เปอร์เซ็นต์ ชัยค์ซาลิม ซักกอฟ อัลจุฟรีย์ ได้รับร้อยละ 79 และ ชัยค์อับดุลมะจีด  นัจจาร์  ได้ร้อยละ 77

ชัยค์มุฮัมมัด อัลฮัสซัน วะลัดอัลดาโด
ชัยค์อิซอม อัลบาชีร์
ชัยค์อาหมัด อัลคาลิลี
ชัยค์มูฮัมหมัด กอร์มาซ
ชัยค์ซาลิม ซักกอฟ อัลจุฟรีย์
ชัยค์อับดุลมะจีด  นัจจาร์

Cerdit : Ghazali Benmad

ตำรวจอังกฤษสู่การเป็นอิสลาม

หนังสือ “ซาตานิกเวอร์เซส” นำพันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ ตำรวจอังกฤษสู่การเป็นอิสลาม

พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ Richard Fairley ขณะเป็นหัวหน้าผู้ตรวจการหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของสหราชอาณาจักร  กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ Asharq Al-Awsat ของอังกฤษ  เมื่อปี 2010 ว่า ❝ผมเข้าอิสลามหลังจากอ่านและการไตร่ตรอง ❞

ในการให้สัมภาษณ์ พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ กล่าวว่า เป็นอิสลามไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ การตัดสินใจใช้เวลา 2 ปี ในระหว่างที่พยายามสัมผัสถึงหัวใจและความคิดของตนเอง  ได้แวะเวียนมาที่ศูนย์อิสลามใน Regent’s Park ในใจกลางลอนดอนเป็นเวลา 2 ปี  ก่อนที่จะให้การปฏิญาณตนเป็นมุสลิมในเดือนสิงหาคม 1993  ต่อหน้าชีคจำนวนหนึ่งที่มัสยิดในลอนดอน และต่อหน้า ยูซุฟ อิสลาม หรือแคทส์ สตีเวน อดีตนักร้องเพลงป็อปชาวอังกฤษที่เปลี่ยนมานับถืออิสลาม

ริชาร์ด  แฟร์ลี่ ยังภูมิใจในชื่อเดิมและยืนยันที่จะใช้ชื่อเดิม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง การเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้มีหลักการให้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอาหรับแต่อย่างใด เว้นแต่เป็นที่มีความหมายไม่ดี ซึ่งมีหลักการสำหรับทุกคน ไม่ว่ามุสลิมใหม่หรือมุสลิมเดิม ให้ทำการเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง

บทสัมภาษณ์น่าสนใจบางตอน

Asharq Al-Awsat :   คุณเริ่มอ่านอัลกุรอานเมื่อใด ?

– หลังจากการตีพิมพ์หนังสือ “The Satanic Verses” โดยซัลมาน  รุชดี ผมอ่านอัลกุรอานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ของผม และในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการทราบบางอย่างเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และสาเหตุที่ชาวมุสลิมโกรธและออกไปประท้วงต่อต้านหนังสือเล่มนี้

Asharq Al-Awsat :  อะไรดึงดูดคุณให้นับถือศาสนาอิสลาม ?

– ผมเข้าสู่ศาสนาหลังจากอ่านและศึกษา ผมเป็นบัณฑิตด้านธรณีวิทยาจาก British University of Exeter และหนึ่งในเพื่อนร่วมงานของผมที่มหาวิทยาลัยเดียวกันคือ Frank Gardner นักข่าวของ BBC ซึ่งกำลังศึกษาภาษาอาหรับและตะวันออกกลาง

ผมยังคงชื่นชอบวิทยาศาสตร์และค้นคว้าเกี่ยวกับมัน แต่ผมพบโองการอัลกุรอานที่ถูกประทานเมื่อ 14 ศตวรรษก่อนที่พูดเชิงลึกเกี่ยวกับบิ๊กแบง อีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับการขยายตัวของจักรวาล และกรณีที่สามที่อธิบายบทบาทหน้าที่ของภูเขาในการดูแลโลก

มี 3 โองการอัลกุรอานที่ทำให้ชีวิตของผมกลับหัวกลับหางและเปิดใจของผมไปสู่การชี้นำ แสงสว่าง และความลึกของศรัทธา มันคือโองการ

وَالسَّمَاءَ بَنَيْنَاهَا بِأَيْدٍ وَإِنَّا لَمُوسِعُونَ

 “และชั้นฟ้าทั้งหลายที่เราสร้างขึ้นด้วยมือ และเราได้ขยายออก” (อัล-ดาริยะต ฉบับที่ 47)

และโองการอื่นในซูเราะห์อัลอันบิยา กล่าวว่า

أَوَ لَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أَنَّ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ كَانَتَا رَتْقًا فَفَتَقْنَاهُمَا

“บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่เห็นหรือว่าชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน แล้วเราก็ได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน ?”

และอีกโองการในซูเราะห์อัลนะบะ กล่าวว่า:

أَلَمْ نَجْعَلِ الأَرْضَ مِهَادًا * وَالْجِبَالَ أَوْتَادًا

 “เรามิได้ทำให้แผ่นดินเป็นเปลและภูเขาเป็นหมุดหรือ?”

พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่   กล่าวว่า  ❝ โองการเหล่านี้ไม่สามารถมองข้ามได้เลย ไม่มีหนังสือเล่มใดที่สามารถค้นพบความจริงข้อนี้เมื่อ 1,400 ปีก่อน และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเบื้องหลังมันคือเจ้าแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ ❞

ที่มา

หนังสือพิมพ์ Asharq Al-Awsat  ฉบับที่ 11400 ที่ 13 กุมภาพันธ์  2010

https://archive.aawsat.com/details.asp?issueno=11700…


เครดิต : Ghazali Benmad

หนุ่มจากนราธิวาส ล่ามสองผู้นำครั้งประวัติศาสตร์

นายหุเซ็น แวนาแว หนุ่มจากตำบลมะนังตายอ อำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส บัณฑิตอักษรศาสตร์(อาหรับ) จากมหาวิทยาลัยอิสลามอิมามมุฮัมมัดบินซะอูด นครริยาด ศิษย์เก่าโรงเรียนสุกัญศาสน์วิทยา อ. เมือง จ. นราธิวาส และม.ปลายจากโรงเรียนบำรุงอิสลาม (ปอเนาะบราโอ) อ. เมือง จ. ปัตตานี ได้รับหน้าที่ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อมีโอกาสเป็นล่ามให้แก่สองผู้นำไทย-ซาอุฯ ในคราวพบปะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่รอคอยมานานกว่า 30 ปี

หุเซ็นได้รับหน้าที่เป็นล่ามสานสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองผู้นำของทั้งสองประเทศที่กรุงริยาด เมื่อ 25 มกราคม 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปีที่ผู้นำทั้งสองประเทศพบปะแลกเปลี่ยนข้อตกลงร่วมกัน หลังจากทั้งสองประเทศได้ลดความสัมพันธ์ระดับต่ำสุดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

การพบปะของผู้นำทั้งสองประเทศ ถือเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติอย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้สืบไป และถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน โดยมีหนุ่มจากนราธิวาสเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ แต่สำคัญคอยถ่ายทอดภาษาให้ผู้นำทั้งสองท่าน จนได้รับเสียงชื่นชมจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ซาอุดิอาระเบียในขณะนี้ 

‎جزاه الله خيرا


โดย Mazlan Muhammad

บิดาโดรนแห่งตุรกี เสียชีวิต

มะเร็งคร่าชีวิต Ozdemir Bayraktar 72 ปี วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าของตุรกี

Ozdemir Bayraktar ประธานบริษัท Baykar Makina เพื่อผลิตโดรน และประธานการขับเคลื่อนและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งตุรกี ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เขาได้ทุ่มเทและใช้เวลาส่วนใหญ่บนคอมพิวเตอร์ที่สำนักงาน เพื่อค้นคว้าผลิตโดรนจนกระทั่ง เขาตั้งบริษัท 2 บริษัทเพื่อผลิตโครน นับเป็น 2 ใน 4 บริษัทของตุรกีที่ผลิตโครน โดยโดรนที่มีชื่อว่า Bayraktar Mini UAV ถือเป็นโครนรุ่นแรกที่ผลิตโดยตุรกี และมีการพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นเขี้ยวเล็บอันมีประสิทธิภาพสูงสุดของโลกขณะนี้ จนกระทั่งเขาได้รับรางวัลสูงสุดจากประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน เมื่อปีที่แล้ว ในฐานะให้ส่วนสำคัญที่สามารถยึดคืนคาราบัคจากการยึดครองของอาร์เมเนีย

ขอบคุณภาพ จาก TRT عربي

เขาพร้อมด้วยลูกชาย 3 คนจัดตั้งบริษัทผลิตโดรน โดยลูกชายคนหนึ่งชื่อSelcuk Bayraktar 42 ปี ได้แต่งงานกับลูกสาวคนสุดท้องของประธานาธิบดีแอร์โดอานชื่อสุมัยยะฮ์

เขาเสียชีวิตพร้อมฝากผลงานอันยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นที่เกรงขามของชาติตะวันตกในขณะนี้

เชื่อว่า ลูกชายทั้ง 3 คน คงรับช่วงต่อภารกิจนี้

رحمه الله رحمة واسعة

وغفر له وأسكنه فسيح جناته


https://mubasher.aljazeera.net/news/politics/2021/10/18/وفاة-رائد-صناعة-الطائرات-المسيرة

โดย Mazlan Muhammad

16 กันยายน รำลึกวันประหารชีวิตอุมัร มุคตาร์

16 กันยายน รำลึกวันประหารชีวิตอุมัร มุคตาร์ (1880-1931) นักรบซานูซีย์ ราชสีห์ทะเลทราย

●  ตอนที่ 1 มุฮัมมัด อะซัด กับ อุมัร มุคตาร์

มุฮัมมัด อะซัด ( 1900-1992) นักคิดและนักเดินทางชาวออสเตรียเชื้อสายยิว หลังจากเข้ารับอิสลาม ในปี 1926 ได้หมกมุ่นอยู่กับการญิฮาดและการสถาปนารัฐอิสลาม  ได้เป็นที่ปรึกษาคิงอับดุลอาซีซ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย   ตลอดจนร่วมกับมุฮัมมัด อิกบาลในการสถาปนนาปากีสถาน และร่วมต่อสู้กับกลุ่มซานูซีย์และอุมัร  มุคตาร์ ในลิเบีย ในการต่อต้านการยึดครองของอิตาลี รวมถึงร่วมมือในการกอบกู้เอกราชของอินโดนีเซีย และยังเขียนหนังสือขจัดความสงสัยเกี่ยวกับอิสลาม และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับอิสลาม

● การเกิดและการเลี้ยงดู

มุฮัมมัด อะซัด  ซึ่งมีชื่อเดิมว่า Leopold Weiss เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1900 ในเมือง Liebmerg ในครอบครัวชาวยิวที่เคร่งศาสนา ปู่ของเขาเป็นแรบไบ มุฮัมมัด อะซัดเชี่ยวชาญภาษาฮีบรูเมื่ออายุ 13 ปี และศึกษาคัมภีร์โตราห์และทัลมุด

● การเรียน

Leopold Weiss เริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัยเวียนนา แต่ไม่นานก็หยุด และเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลินในวัยยี่สิบต้นๆ  ซึ่งได้เข้าร่วมกับวงการวัฒนธรรมที่หมกมุ่นอยู่กับการศึกษาเรื่องราวของชาวตะวันออก

● หน้าที่การงาน

Leopold Weiss ทำงานในกรุงเบอร์ลินที่สาขาหนึ่งของหน่วยงาน “United Brass of America” ​​และในปี 1921 ก็กลายเป็นบรรณาธิการด้านวัฒนธรรมของหนังสือพิมพ์ Frankfurter Allgemeine

หลังจากเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในปี 1926 ใช้ชื่อว่า มุฮัมมัด อะซัด ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ตั้งรกรากอยู่ในนครมะดีนะฮ์ และได้พบกับอับดุลอาซิซ อาลซาอูด ผู้ก่อตั้งและกษัตริย์องค์แรกของซาอุดีอาระเบีย และทำงานเป็นที่ปรึกษาของเขา

ระหว่างที่พำนักอยู่ในอินเดีย เขาได้ร่วมกับมูฮัมหมัด อิกบาลในการก่อตั้งรัฐอิสลามแห่งปากีสถาน ซึ่งให้เกียรติอย่างสูงแก่มุฮัมมัด อะซัด โดยการให้สัญชาติแก่เขา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งสุดท้าย ได้เป็นรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเต็มของปากีสถานในสหประชาชาติ

ในปี 1952 ได้ลาออกจากงานในสหประชาชาติ และออกจากนิวยอร์คเพื่อไปยังสวิตเซอร์แลนด์และทุ่มเทให้กับการเขียนและการเขียนเป็นเวลา 10 ปี จากนั้นเขาก็ย้ายไปที่เมืองแทนเจียร์ของโมร็อกโกซึ่งเขาใช้เวลา 20 ปี

● ประสบการณ์ทางความคิด

ความสนใจของมุฮัมมัด อะซัด ต่อตะวันออก อาหรับ และปาเลสไตน์ เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเชื่อและความคิดของเขา หลังจากที่ไปเยือนปาเลสไตน์ในปี 1922 มุฮัมมัด อะซัด ได้เขียนบทความชุดหนึ่งซึ่งทำให้โดนข้อหาเป็นยิวแอนตี้เซมิติกส์- ซึ่งเขาเตือนชาวอาหรับถึงแผนการอพยพชาวยิว ที่นั่น เขาได้สัมภาษณ์อย่างร้อนแรงกับจิม ไวซ์แมนน์  ประธานองค์กรไซออนิสต์สากล World Zionist Congress

ในปี 1926 การเปลี่ยนแปลงทางปัญญาที่โดดเด่นที่สุดเกิดขึ้นในชีวิตของ Leopold Weiss โดยเขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในปี 1926 ที่มัสยิด Wilmsdorf ซึ่งเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเบอร์ลินของเยอรมนี

Leopold Weiss ออกเดินทางเพื่อปกป้องศาสนาอิสลามและขจัดต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสนานี้ และพยายามเชื่อมช่องว่างระหว่างอารยธรรมอิสลามและอารยธรรมตะวันตกในหนังสือของเขา ซึ่งมุร๊อด  ฮอฟแมนน์  นักคิดชาวเยอรมันมุสลิมเชื้อสายยิว อธิบายว่าเป็นของขวัญจากตะวันตกสำหรับอิสลาม

ในปี 2008 เมืองหลวงของออสเตรียได้ยกย่องความพยายามของมูฮัมหมัด อะซัด ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ในการส่งเสริมการเจรจาทางวัฒนธรรมระหว่างโลกอิสลามกับโลกตะวันตก และตั้งชื่อถนนในจัตุรัสสหประชาชาติตามชื่อของเขา และได้เข้าร่วมในการผลิตสารคดีเรื่อง “The Road to Mecca” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากชีวประวัติตอนปลายของนักคิดมุสลิมคนนี้

กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีได้ดำเนินตามตัวอย่างในออสเตรีย โดยให้เกียรติแก่เขาด้วยการสร้างสัญลักษณ์ที่ระลึกในชื่อของเขาไว้ในหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1920

● งานเขียน

เขามีหนังสือหลายเล่ม ที่สะดุดตาที่สุด: อิสลาม ณ ทางแยก, รากฐานของรัฐและการปกครองในศาสนาอิสลาม, ถนนสู่มักกะฮ์, การแปลความหมายของคัมภีร์กุรอ่าน และการแปลซอเหียะห์อัลบุคอรี, และศาสนาจากอดีต.

● การเสียชีวิตของมุฮัมมัด อะซัด

มุฮัมมัด อะซัด เสียชีวิตในเมือง Mijas ของสเปน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1992 และถูกฝังตามความประสงค์ของเขาในสุสานอิสลามในเมืองกรานาดา ตามคำสั่งเสียของเขา


โดย Ghazali Benmad

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่5]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

เหตุการณ์นี้ก็ได้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะต้องถูกลงโทษ แต่ว่าญาติของมารดาซึ่งอยู่ไกล้กุตตาบผ่านมาพอดี จึงได้ขอร้องให้เว้นโทษแก่ข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าไม่ถูกลงโทษ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ แต่ความเป็นไปได้กรณีหลังน่าจะมากกว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างมารดากับชัยค์

ชัยค์หามิดเป็นฮาฟิซผู้จำอัลกุรอานที่มีศักดิ์ศรี  ปกติแล้วฮาฟิซทั่วไปมักจะรับจ้างอ่านอัลกุรอานแก่ผู้ล่วงลับที่สุสานในวันพฤหัสบดี  โดยรับค่าจ้างเล็กๆน้อยๆ จากญาติผู้ตาย  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหาร แต่ชัยค์ไม่กระทำเช่นนั้น

ท่านเป็นคนเรียบง่าย สะอาดสะอ้าน ละหมาด 5 เวลาที่มัสยิดเป็นประจำ มัสยิดอยู่ไกล้กุตตาบ ท่านมักจะเป็นอิหม่ามหากอิหม่ามประจำมัสยิดไม่อยู่

ที่กุตตาบ เราจะท่องจำอัลกุรอานส่วนหนึ่งตามความเหมาะสม  โดยเราจะเขียนลงไปในแผ่นไม้ทาน้ำมันพืช ที่สามารถเขียนด้วยน้ำหมึกได้ เราซื้อน้ำหมึกจากช่างย้อมผ้าในตำบลของเรา  โดยเกษตรกรมักจะใส่เสื้อโต้บสีน้ำเงิน ซึ่งเดิมสีขาวแล้วนำมาย้อมด้วยสีน้ำเงิน  เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ใส่ผ้าใหมดำซึ่งเดิมเป็นสีขาว

เราซื้อหมึกแล้วนำใส่ไว้ในที่ใส่ แล้วใช้ปากกาไม้ที่เราเหลาเป็นปากเป็ด บางครั้งชัยค์หามิดเหลาให้เรา  ทุกวันเราจะเขียนจำนวนอายะฮฺที่เราต้องท่องตามกำหนด  ให้ชัยค์ตรวจสอบความถูกต้องก่อนท่องจำ  และกลับมาท่องต่อที่บ้าน วันต่อมาเราก็จะท่องให้ผู้ช่วยของชัยค์ฟัง หากใครจำไม่ดีก็จะถูกให้กลับไปท่องใหม่  หลังจากท่องจำส่วนที่ต้องท่องจำประจำวันแล้ว ก็จะทบทวนที่จำมาแล้วให้ชัยค์ฟัง

ในการฝึกเขียน เด็กๆจะลอกเลียนแบบกันเอง เพราะการสอนเขียนขณะนั้นยังไม่มีระบบ  แม้ว่าบางครั้งชัยค์จะเขียนให้เราดูบนกระดานดำ หรือเขียนบางคำให้นักเรียนเขียนตาม  ท่านจะเขียนหลายๆครั้งให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการเขียน

ทุกๆวันเราจะท่องจำทำนองเสนาะโดยที่เราไม่เข้าใจความหมายอะไรเลย เราจะท่องจำพร้อมๆกันว่า

บา บา อะลิฟ

บี  บา ยี

บู  บา  วาว

ตา  ตา อลิฟ

ตี   ตา   ยี

ตู  ตา  วาว

และทุกๆวัน ชัยค์ให้เราท่องจำคุณลักษณะของอัลลอฮฺยี่สิบประการ คือ

الوجود والقدم والبقاء ومخالفته تعالى للحوادث، وقيامه بنفسه، والوحدانية، والعلم والإرادة والقدرة والحياة والسمع والبصر والكلام، وكونه تعالى عالمًا ومريدًا وقادرًا وحيًا وسميعًا وبصيرًا ومتكلمًا.

และท่องจำลูกๆทั้งเจ็ดของท่านนบี ศอลฯ  อับดุลลอฮฺ  กอเซ็ม  อิบรอฮีม  ฟาติหม๊ะ  ซัยนับ รุกัยยะฮฺ  และอุมมุกัลษูม

การท่องประวัติศาสดาแบบนี้พอจะมีประโยชน์บ้าง  แต่การท่องจำหลักศรัทธาด้วยวิธีนี้ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะศรัทธาไม่ก่อเกิดด้วยวิธีเช่นนี้  การท่องจำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดแนวคิดที่ถูกต้องหรือความรู้สึกอันใด

ชัยค์หามิดให้ข้าพเจ้าท่องจำญุซอัมมะ โดยเริ่มจากหลังถัดๆมา จนจบ  แล้วตามด้วยญุซตะบารอกะ  และญุซซะริยาต จนกระทั่งซูเราะฮฺอันนัจญม์ด้วยวิธีนี้


ที่มา เพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่4]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

ตำบลของเราค่อนข้างใหญ่ ขณะที่ข้าพเจ้ายังเด็ก มีประชากรมากกว่า 20,000   คน มีกุตตาบ 4  แห่ง แห่งหนึ่งอยู่บริเวณใจกลางตำบล ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านและซอยของเรา  และที่เหลืออยู่ทิศตะวันออกและตะวันออกอย่างละหนึ่งแห่ง

กุตตาบแต่ละแห่งเป็นที่รู้จักกันในนามของครูผู้สอน ซึ่งปกติแล้วก็เป็นเจ้าของและอยู่ติดกับบ้านหรือเป็นส่วนหนึ่งของบ้านครูผู้สอน

ในบริเวณบ้านของเราเป็นที่ตั้งของกุตตาบชัยค์ยะมานีย์ มุรอดและกุตตาบชัยค์หามิด อบูซูวัยล์

ครั้งแรกข้าพเจ้าไปเรียนที่กุตตาบชัยค์ยะมานีย์ มุรอด ตามคำแนะนำของญาติพี่น้องตนหนึ่งที่มีลูกเรียนอยู่ที่นั่น แต่ไปเพียงวันเดียวและไม่ไปอีกเลยหลังจากนั้น เพราะชัยค์ใช้วิธีตีเด็กทุกคนเพื่อกระตุ้นให้ท่องจำโดยไม่มีเหตุผลหรือความผิดใดๆ  ซึ่งรวมถึงข้าพเจ้าด้วยตั้งแต่วันแรกที่ไปเรียน  อาจจะเป็นข้าพเจ้าไม่ชอบการทำร้ายรังแกหรือถูกทำร้ายรังแกโดยธรรมชาติ

หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ยอมไปเรียนที่กุตตาบใดๆ ระยะหนึ่ง จนกระทั่งคุณแม่คะยั้นคะยอ ให้ไปเรียนที่กุตตาบชัยค์หามิด ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของคุณตา และรับรองว่าจะขอร้องให้ชัยค์สอนด้วยดี และขอร้องมารดาของชัยค์ ซึ่งเป็นน้าของข้าพเจ้าชื่อรัยยาด้วย

คุณแม่ได้จูงมือข้าพเจ้าไปเยี่ยมบ้านคุณตาและพาไปมอบตัวกับชัยค์  และกล่าวว่า นี้เป็นอะมานะฮฺของท่านแล้ว ชัยค์กล่าวว่า เขาคือลูกของเรา เราจะดูแลเขาอย่างดี

ชัยค์และมารดาได้ต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดี  ข้าพเจ้ามักจะไปยังกุตตาบเป็นคนแรก ข้าพเจ้าจะไปเคาะประตูบ้านคุณน้ารัยยาตั้งแต่เช้าตรู่ แล้วเอาลูกกุญแจไปเปิดประตูกุตตาบ บ้างนางเปิดประตูให้ข้าพเจ้า  นางเตือนให้ข้าพเจ้าระวังตัวหมัดบนพื้นกุตตาบที่เป็นพื้นดินเหมือนบ้านส่วนใหญ่ทั่วไป  ตัวหมัดจะกรูกันเข้ามานักเรียนคนแรกที่ไปโรงเรียน ซึ่งก็คือข้าพเจ้าในทุกๆวัน ข้าพเจ้าก็หนีขึ้นไปบนแคร่สี่เหลี่ยม  รอจนเด็กๆมา และได้รับส่วนแบ่งจากการกัดของตัวหมัดเหมือนๆ กัน

ค่าเล่าเรียนที่กุตตาบต่ำมากๆ คือครึ่งเปียส ( หนึ่งปอนด์อียิปต์เท่ากับ  100 เปียส อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน หนึ่งดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ …. ปอนด์อียิปต์ ) ต่อสัปดาห์ โดยเก็บทุกๆวันพุธซึ่งเป็นวันนัดของตำบล แต่จำนวนนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กๆหลายคน ซึ่งในจำนวนนั้นรวมข้าพเจ้าด้วย แต่ชัยค์ได้อนุโลมสำหรับข้าพเจ้าโดยเก็บครึ่งเปียสต่อสองสัปดาห์ เนื่องจาก หนึ่งข้าพเจ้ากำพร้าบิดา และสองข้าพเจ้าเรียนเก่ง

คุณลักษณะที่ดีอีกประการหนึ่งของชัยค์คือ ท่านไม่เคยตีข้าพเจ้าเลย แม้ว่าท่านจะตีเด็กอื่นๆทั้งหมด

ข้าพเจ้ายังจำได้ ครั้งหนึ่งชัยค์จะตีข้าพเจ้า มิใช่เป็นเพราะความบกพร่องในการท่องจำ แต่เพราะสาเหตุอื่น โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่กลัวลูกหลานจะไปอาบน้ำที่เหมืองน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์ชัยค์จะใช้ดินสอทำเครื่องหมายที่ขาของเด็กๆ  และในวันเสาร์ก็จะเปิดดู ใครที่เครื่องหมายดังกล่าวยังคงอยู่ก็โชคดี หากใครไม่มีก็แสดงว่าไปอาบน้ำที่เหมืองน้ำแล้ว


ที่มาเพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่3]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

บ้านสองหลัง

สิ่งหนึ่งที่อัลลอฮฺอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าคือ การมีบ้านสองหลัง

หลังแรกคือบ้านของครอบครัวเรา ที่เป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยลุง และลูกๆ และข้าพเจ้ากับมารดา

อีกหลังหนึ่งคือบ้านของคุณตา ที่ข้าพเจ้าไปบ่อยๆ และอยู่คราวละนานๆ เพราะสองสาเหตุคือ มารดาได้มีความสุขกับครอบครัวของนาง และมีลูกของน้าๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้าหลายคน ที่เราได้เล่นกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งต่างจากลุงกับป้าไม่มีลูกที่มีอายุไกล้เคียงกับข้าพเจ้า

ส่วนใหญ่เรามักจะอยู่ที่นั่นตลอดวัน และกลับจากละหมาดอีชาและอาหารค่ำ

บ้านของคุณปู่อยู่ใกล้กับตัวเมืองมากกว่า ใช้ทั้งเตาแก๊สและเตาถ่าน มีโซฟาและเก้าอี้นวม แต่ที่บ้านของเรามีม้านั่งพิงกับผนังบ้านเพียงตัวเดียว


ที่มาเพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์