“มินฟิกฮ์เดาละฮ์ ฟิลอิสลาม – ศาสตร์ว่าด้วยรัฐในหลักการอิสลาม” ของชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์ [ตอนที่ 2 ]

  • อัตลักษณ์ของรัฐในอิสลาม

ศาสนาอิสลามผสมผสานศาสนาและรัฐเข้าด้วยกัน โดยไม่มีการแยกระหว่างทางโลกกับศาสนา  เช่นเดียวกับที่อิสลามพยายามสร้างบุคคลที่ดี ครอบครัวที่ดีและสังคมที่ดี อิสลามก็พยายามสร้างรัฐที่ดีด้วย

รัฐในศาสนาอิสลามไม่ใช่รูปแบบของรัฐที่โลกรู้จักมาก่อนหรือหลังอิสลาม แต่ค่อนข้างเป็นรัฐที่แตกต่างจากสิ่งอื่นใด โดยมีจุดมุ่งหมาย แนวทาง องค์ประกอบ และคุณลักษณะเฉพาะ

เพราะเป็นรัฐพลเรือนที่ปกครองโดยศาสนาอิสลาม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธะสัญญา(บัยอะฮ์) การปรึกษาหารือ(ชูรอ) และความยุติธรรม

เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกคัดเลือกมาจากผู้มีความสามารถด้านต่างๆ และมีความซื่อสัตย์  ไม่มีสถานะของนักบวชหรือศาสนา และไม่เป็นรัฐเซคคิวลาร์ที่ปฏิเสธและเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา หรือถือว่าเป็นยาฝิ่นของประชาชาติ แยกศาสนาออกจากชีวิตและสังคมด้านต่างๆ และไม่ใช่รัฐที่ปฏิเสธผู้ไม่เชื่อในศาสนาอิสลามในดินแดนของอิสลาม แต่ยินดีต้อนรับพวกเขาตราบเท่าที่พวกเขายอมรับบทบัญญัติทางสังคมเหนือพวกเขา  ส่วนสิ่งที่เกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาและเงื่อนไขส่วนตัวของพวกเขา ต่างศาสนิกมีอิสระที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่ศาสนาของพวกเขาบัญญัติ

รัฐในศาสนาอิสลามเป็นสถานที่นัดพบของศาสนาและทางโลก  การผสมผสานของวัตถุสสารกับจิตวิญญาณ ความสมานฉันท์ระหว่างอารยธรรมกับความมีคุณธรรม และการรวมเป็นหนึ่งของหมู่ภูมิบุตร ภายใต้ร่มธงของอัลกุรอานที่ควบคู่กับความรู้และปัญญาพร้อมกันไป และไม่ใช่แค่เครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่ปกป้องจากการรุกรานภายในหรือการบุกรุกจากภายนอก

เป็นรัฐที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับคำสอน หลักการ และศีลธรรมของศาสนาอิสลาม และทำให้หลักการและศีลธรรมเหล่านั้นเป็นจริงที่จับต้องได้  และเป็นรัฐให้คำแนะนำสั่งสอน ไม่ใช่รัฐเน้นหารายได้ภาษี

รัฐในอิสลาม ไม่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ปกครอง ที่ทำให้เขาอยู่เหนือความรับผิดชอบหรือการพิจารณาคดี  ผู้ปกครองเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน  เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง ที่มีถูกและผิด มีดีและชั่ว และถ้าเขาถูก ผู้คนต้องเชื่อฟังและร่วมมือช่วยเหลือ และถ้าทำผิดพลาด ประชาชนก็จะตรวจสอบสวนและปรับปรุงแก้ไข

รัฐในอิสลามไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการปกครองและการตัดสินใจของคนๆเดียว หรือครอบครัวใด หรือตระกูลใด  แต่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในการเลือกของผู้ปกครอง ไม่มีใครเป็นผู้นำโดยขัดต่อเจตจำนงของประชาชน

รัฐในอิสลามปกป้องสิทธิของผู้อ่อนแอ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผู้แข็งแกร่ง บังคับความมั่งคั่งของคนรวยให้คืนให้กับคนจนผ่านระบบซะกาต และแบ่งสรรปันส่วนให้ทุกคนที่มีความต้องการต่อปัจจัยยังชีพ 

เป็นรัฐของผู้ถูกกดขี่และผู้อ่อนแอที่ถูกเหยียบย่ำด้วยเท้าของเผด็จการ รัฐในอิสลามจะยืนเคียงข้างผู้อ่อนแอและต่อสู้เพื่อความรอดของพวกเขา

เป็นรัฐแห่งสิทธิและเสรีภาพ  ทั้งสิทธิในการมีชีวิต ความเป็นเจ้าของ ความเพียงพอในปัจจัยขั้นต่ำในการดำรงชีวิต

เป็นรัฐที่ปลอดภัยในศาสนา ชีวิต เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง และวงศ์ตระกูล  โดยที่เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในความเชื่อและการสักการะเป็นของทุกคน

เป็นรัฐแห่งการยึดมั่นในกฎหมาย เสรีภาพในการพูด ความคิดเห็น และเสรีภาพในความรู้และความคิด 

ทั้งเปิดกว้างในสำนักหลักความเชื่ออะกีดะฮ์  กฎหมาย การตีความอัลกุรอาน และตะเซาวุฟ และอื่นๆ  แตกต่างกันในด้านสำนักความคิดแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เป็นรัฐของหลักการและศีลธรรมโดยไม่เบี่ยงเบนไปจากนี้


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

“มินฟิกฮ์เดาละฮ์ ฟิลอิสลาม – ศาสตร์ว่าด้วยรัฐในหลักการอิสลาม” ของชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์ [ตอนที่ 1]

รัฐศาสตร์อิสลาม น่าจะเป็นประเด็นที่กำลังร้อนฉ่าในนาทีนี้  นักวิชาการอิสลามหลายๆท่านได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่แตกต่างกันไป ตามทัศนะของแต่ละท่าน

ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์ ปูชนียบุคคลทางวิชาการอิสลามที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายๆชาติ อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์นานาชาติและสภาฟัตวาแห่งยุโรป ได้เขียนตำรา  “มินฟิกฮ์เดาละฮ์ ฟิลอิสลาม – ศาสตร์ว่าด้วยรัฐในหลักการอิสลาม” เป็นหนึ่งในตำราเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ในอิสลาม ที่ผู้เขียนวิเคราะห์สังเคราะห์จากหลักการศาสนาอิสลาม ตามแนวทางของนักปฏิรูปสังคมมุสลิมยุคหลัง   โดยเฉพาะทัศนะที่ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี ให้น้ำหนัก  ในประเด็นประชาธิปไตย พรรคการเมือง  การเลือกตั้ง  รัฐสภา  สิทธิทางการเมืองของสตรีและต่างศาสนิก และอื่นๆ

● โดยมีสาระพอสังเขปดังนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยการเกิดขึ้นของสำนักอิสลามสายกลาง และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในสังคมอิสลามตลอดจนความสามารถในการขยายในแนวนอนและแนวตั้งในส่วนต่าง ๆ ของสังคม การโจมตีของกลุ่มเซคคิวลาร์ต่อแนวคิดว่าด้วยรัฐในศาสนาอิสลาม เพิ่มขึ้นเพื่อขู่ขวัญผู้คนให้หวาดกลัวอิสลาม

ชนชั้นปกครองได้เริ่มเชื่อมโยงการปกครองของศาสนาอิสลามกับระบอบศาสนจักรในคริสตศาสนา  ว่าเป็นการปกครองปกครองในพระนามของพระเจ้า ถือว่าคำสั่งของผู้นำมาจากพระบัญชาของพระเจ้า ผู้ปกครองจะไม่ถูกปฏิเสธ แม้ว่าจะทำผิดพลาด  หรืออนุญาตสิ่งที่ต้องห้ามและห้ามในสิ่งที่ได้รับอนุญาต

หนังสือนี้ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจความคิด ความหมาย ลักษณะของรัฐ เพื่อทราบความจริงของศาสนาอิสลามและจิตวิญญาณของกฎเกณฑ์ทางศาสนา

● รัฐในศาสนาอิสลาม

● สถานะของรัฐในหลักการอิสลาม

นักล่าอาณานิคมในดินแดนมุสลิมสามารถปลูกฝังความเท็จว่าอิสลามเป็นศาสนา ไม่ใช่รัฐ และไม่เกี่ยวอะไรกับการปกครอง การเมือง และด้านต่างๆของชีวิต

ทั้งที่ความจริงก็คือศาสนาอิสลามคือ ศาสนาที่ครอบคลุม คัมภีร์ของอิสลามถูกประทานลงมาเพื่ออธิบายทุกอย่าง รวมไปถึงเวลา สถานที่ และมนุษย์ นี่ไม่ใช่นวัตกรรมจากสำนักอิสลามสายกลาง แต่เป็นสิ่งที่ตำราอิสลามต่างๆได้สรุปถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์และธรรมชาติถึงความครอบคลุมของศาสนาอิสลาม

การสถาปนารัฐอิสลามเป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถ มุสลิมจะทำบาปหากไม่ปฏิบัติ และจะไม่ได้รับความรอดจากบาปนี้ เว้นแต่ได้ปฏิเสธแม้ด้วยหัวใจเมื่อไม่สามารถ  ต่อความเบี่ยงเบนไปจากกฎหมายของอัลลอฮ์ และร่วมมือกับพี่น้องมุสลิมเพื่อสร้างชีวิตวิถีอิสลามที่ชี้นำโดยหลักการอิสลามที่ถูกต้อง

ท่านศาสนทูต-ขอพรและสันติสุขจากอัลลอฮ์จงมีแด่ท่าน- พยายามสร้างรัฐสำหรับศาสนาอิสลามและเป็นถิ่นฐานสำหรับการเรียกร้องสู่อิสลาม  ในดินแดนที่ไม่มีใครมีอำนาจนอกจากอิสลาม

นี่คือตั้งแต่วันแรกที่ท่านถูกแต่งตั้ง และตั้งแต่วันแรกที่ท่านโยกย้ายไปเรียกร้องเชิญชวนตามเผ่าต่างๆ กำลังมองหาใครสักคนที่จะช่วยท่านสร้างดินแดนของศาสนาอิสลาม จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ให้พบกับชาวอันซอร์ นครมะดีนะฮ์จึงกลายเป็นบ้านหลังแรกของศาสนาอิสลาม และเป็นฐานของรัฐอิสลามใหม่  ในประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิม พวกเขาไม่เคยรู้จักการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับรัฐ  ยกเว้นเมื่อศตวรรษแห่งฆราวาสนิยม ที่กำลังมีอำนาจในยุคนี้ และนี่คือสิ่งที่ผู้ส่งสารของอัลลอฮ์ ได้บอกข่าวนี้ล่วงหน้าว่า

ألا إن رحى الإسلام دائرة، فدوروا مع الإسلام حيث دار، ألا إن القرآن والسلطان سيفترقان فلا تفارقوا الكتاب، ألا إنه سيكون عليكم أمراء يقضون لأنفسهم ما لا يقضون لكم، فإن عصيتموهم قتلوكم، وإن أطعتموهم أضلوكم، قالوا وماذا نصنع يا رسول الله، قال كما صنع أصحاب عيسى بن مريم، نُشروا بالمناشير، وحملوا على الخُشب، موت في طاعة الله خير من حياة في معصية الله

“กงล้อแห่งอิสลามจะหมุนไป ไม่ว่าอิสลามจะหมุนไปทางไหนพวกท่านจงหมุนตาม  อัลกุรอานและอำนาจปกครองจะแยกจากกัน ดังนั้นอย่าแยกจากคัมภีร์  จะมีผู้ปกครองของพวกท่านที่ปกครองเพื่อพวกเขาเอง ไม่ใช่เพื่อพวกท่าน  และหากพวกท่านไม่เชื่อฟัง พวกเขาจะฆ่าพวกท่าน และหากพวกท่านเชื่อฟังพวกเขา พวกเขาก็จะพาท่านหลงทาง” พวกเขาก็กล่าวว่า “โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ แล้วเราจะทำอย่างไร” ท่านตอบว่า “เช่นเดียวกับบรรดาสหายของพระเยซู บุตรมัรยัม ซึ่งถูกเลื่อยด้วยเลื่อย และถูกแขวนบนไม้แขวน  ความตายโดยเชื่อฟังอัลลอฮ์ ดีกว่าการมีชีวิตโดยไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์”


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่5]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

เหตุการณ์นี้ก็ได้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะต้องถูกลงโทษ แต่ว่าญาติของมารดาซึ่งอยู่ไกล้กุตตาบผ่านมาพอดี จึงได้ขอร้องให้เว้นโทษแก่ข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าไม่ถูกลงโทษ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ แต่ความเป็นไปได้กรณีหลังน่าจะมากกว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างมารดากับชัยค์

ชัยค์หามิดเป็นฮาฟิซผู้จำอัลกุรอานที่มีศักดิ์ศรี  ปกติแล้วฮาฟิซทั่วไปมักจะรับจ้างอ่านอัลกุรอานแก่ผู้ล่วงลับที่สุสานในวันพฤหัสบดี  โดยรับค่าจ้างเล็กๆน้อยๆ จากญาติผู้ตาย  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหาร แต่ชัยค์ไม่กระทำเช่นนั้น

ท่านเป็นคนเรียบง่าย สะอาดสะอ้าน ละหมาด 5 เวลาที่มัสยิดเป็นประจำ มัสยิดอยู่ไกล้กุตตาบ ท่านมักจะเป็นอิหม่ามหากอิหม่ามประจำมัสยิดไม่อยู่

ที่กุตตาบ เราจะท่องจำอัลกุรอานส่วนหนึ่งตามความเหมาะสม  โดยเราจะเขียนลงไปในแผ่นไม้ทาน้ำมันพืช ที่สามารถเขียนด้วยน้ำหมึกได้ เราซื้อน้ำหมึกจากช่างย้อมผ้าในตำบลของเรา  โดยเกษตรกรมักจะใส่เสื้อโต้บสีน้ำเงิน ซึ่งเดิมสีขาวแล้วนำมาย้อมด้วยสีน้ำเงิน  เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ใส่ผ้าใหมดำซึ่งเดิมเป็นสีขาว

เราซื้อหมึกแล้วนำใส่ไว้ในที่ใส่ แล้วใช้ปากกาไม้ที่เราเหลาเป็นปากเป็ด บางครั้งชัยค์หามิดเหลาให้เรา  ทุกวันเราจะเขียนจำนวนอายะฮฺที่เราต้องท่องตามกำหนด  ให้ชัยค์ตรวจสอบความถูกต้องก่อนท่องจำ  และกลับมาท่องต่อที่บ้าน วันต่อมาเราก็จะท่องให้ผู้ช่วยของชัยค์ฟัง หากใครจำไม่ดีก็จะถูกให้กลับไปท่องใหม่  หลังจากท่องจำส่วนที่ต้องท่องจำประจำวันแล้ว ก็จะทบทวนที่จำมาแล้วให้ชัยค์ฟัง

ในการฝึกเขียน เด็กๆจะลอกเลียนแบบกันเอง เพราะการสอนเขียนขณะนั้นยังไม่มีระบบ  แม้ว่าบางครั้งชัยค์จะเขียนให้เราดูบนกระดานดำ หรือเขียนบางคำให้นักเรียนเขียนตาม  ท่านจะเขียนหลายๆครั้งให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการเขียน

ทุกๆวันเราจะท่องจำทำนองเสนาะโดยที่เราไม่เข้าใจความหมายอะไรเลย เราจะท่องจำพร้อมๆกันว่า

บา บา อะลิฟ

บี  บา ยี

บู  บา  วาว

ตา  ตา อลิฟ

ตี   ตา   ยี

ตู  ตา  วาว

และทุกๆวัน ชัยค์ให้เราท่องจำคุณลักษณะของอัลลอฮฺยี่สิบประการ คือ

الوجود والقدم والبقاء ومخالفته تعالى للحوادث، وقيامه بنفسه، والوحدانية، والعلم والإرادة والقدرة والحياة والسمع والبصر والكلام، وكونه تعالى عالمًا ومريدًا وقادرًا وحيًا وسميعًا وبصيرًا ومتكلمًا.

และท่องจำลูกๆทั้งเจ็ดของท่านนบี ศอลฯ  อับดุลลอฮฺ  กอเซ็ม  อิบรอฮีม  ฟาติหม๊ะ  ซัยนับ รุกัยยะฮฺ  และอุมมุกัลษูม

การท่องประวัติศาสดาแบบนี้พอจะมีประโยชน์บ้าง  แต่การท่องจำหลักศรัทธาด้วยวิธีนี้ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะศรัทธาไม่ก่อเกิดด้วยวิธีเช่นนี้  การท่องจำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดแนวคิดที่ถูกต้องหรือความรู้สึกอันใด

ชัยค์หามิดให้ข้าพเจ้าท่องจำญุซอัมมะ โดยเริ่มจากหลังถัดๆมา จนจบ  แล้วตามด้วยญุซตะบารอกะ  และญุซซะริยาต จนกระทั่งซูเราะฮฺอันนัจญม์ด้วยวิธีนี้


ที่มา เพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่4]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

ตำบลของเราค่อนข้างใหญ่ ขณะที่ข้าพเจ้ายังเด็ก มีประชากรมากกว่า 20,000   คน มีกุตตาบ 4  แห่ง แห่งหนึ่งอยู่บริเวณใจกลางตำบล ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านและซอยของเรา  และที่เหลืออยู่ทิศตะวันออกและตะวันออกอย่างละหนึ่งแห่ง

กุตตาบแต่ละแห่งเป็นที่รู้จักกันในนามของครูผู้สอน ซึ่งปกติแล้วก็เป็นเจ้าของและอยู่ติดกับบ้านหรือเป็นส่วนหนึ่งของบ้านครูผู้สอน

ในบริเวณบ้านของเราเป็นที่ตั้งของกุตตาบชัยค์ยะมานีย์ มุรอดและกุตตาบชัยค์หามิด อบูซูวัยล์

ครั้งแรกข้าพเจ้าไปเรียนที่กุตตาบชัยค์ยะมานีย์ มุรอด ตามคำแนะนำของญาติพี่น้องตนหนึ่งที่มีลูกเรียนอยู่ที่นั่น แต่ไปเพียงวันเดียวและไม่ไปอีกเลยหลังจากนั้น เพราะชัยค์ใช้วิธีตีเด็กทุกคนเพื่อกระตุ้นให้ท่องจำโดยไม่มีเหตุผลหรือความผิดใดๆ  ซึ่งรวมถึงข้าพเจ้าด้วยตั้งแต่วันแรกที่ไปเรียน  อาจจะเป็นข้าพเจ้าไม่ชอบการทำร้ายรังแกหรือถูกทำร้ายรังแกโดยธรรมชาติ

หลังจากนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ยอมไปเรียนที่กุตตาบใดๆ ระยะหนึ่ง จนกระทั่งคุณแม่คะยั้นคะยอ ให้ไปเรียนที่กุตตาบชัยค์หามิด ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของคุณตา และรับรองว่าจะขอร้องให้ชัยค์สอนด้วยดี และขอร้องมารดาของชัยค์ ซึ่งเป็นน้าของข้าพเจ้าชื่อรัยยาด้วย

คุณแม่ได้จูงมือข้าพเจ้าไปเยี่ยมบ้านคุณตาและพาไปมอบตัวกับชัยค์  และกล่าวว่า นี้เป็นอะมานะฮฺของท่านแล้ว ชัยค์กล่าวว่า เขาคือลูกของเรา เราจะดูแลเขาอย่างดี

ชัยค์และมารดาได้ต้อนรับข้าพเจ้าอย่างดี  ข้าพเจ้ามักจะไปยังกุตตาบเป็นคนแรก ข้าพเจ้าจะไปเคาะประตูบ้านคุณน้ารัยยาตั้งแต่เช้าตรู่ แล้วเอาลูกกุญแจไปเปิดประตูกุตตาบ บ้างนางเปิดประตูให้ข้าพเจ้า  นางเตือนให้ข้าพเจ้าระวังตัวหมัดบนพื้นกุตตาบที่เป็นพื้นดินเหมือนบ้านส่วนใหญ่ทั่วไป  ตัวหมัดจะกรูกันเข้ามานักเรียนคนแรกที่ไปโรงเรียน ซึ่งก็คือข้าพเจ้าในทุกๆวัน ข้าพเจ้าก็หนีขึ้นไปบนแคร่สี่เหลี่ยม  รอจนเด็กๆมา และได้รับส่วนแบ่งจากการกัดของตัวหมัดเหมือนๆ กัน

ค่าเล่าเรียนที่กุตตาบต่ำมากๆ คือครึ่งเปียส ( หนึ่งปอนด์อียิปต์เท่ากับ  100 เปียส อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน หนึ่งดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ …. ปอนด์อียิปต์ ) ต่อสัปดาห์ โดยเก็บทุกๆวันพุธซึ่งเป็นวันนัดของตำบล แต่จำนวนนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กๆหลายคน ซึ่งในจำนวนนั้นรวมข้าพเจ้าด้วย แต่ชัยค์ได้อนุโลมสำหรับข้าพเจ้าโดยเก็บครึ่งเปียสต่อสองสัปดาห์ เนื่องจาก หนึ่งข้าพเจ้ากำพร้าบิดา และสองข้าพเจ้าเรียนเก่ง

คุณลักษณะที่ดีอีกประการหนึ่งของชัยค์คือ ท่านไม่เคยตีข้าพเจ้าเลย แม้ว่าท่านจะตีเด็กอื่นๆทั้งหมด

ข้าพเจ้ายังจำได้ ครั้งหนึ่งชัยค์จะตีข้าพเจ้า มิใช่เป็นเพราะความบกพร่องในการท่องจำ แต่เพราะสาเหตุอื่น โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่กลัวลูกหลานจะไปอาบน้ำที่เหมืองน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์ชัยค์จะใช้ดินสอทำเครื่องหมายที่ขาของเด็กๆ  และในวันเสาร์ก็จะเปิดดู ใครที่เครื่องหมายดังกล่าวยังคงอยู่ก็โชคดี หากใครไม่มีก็แสดงว่าไปอาบน้ำที่เหมืองน้ำแล้ว


ที่มาเพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่3]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

บ้านสองหลัง

สิ่งหนึ่งที่อัลลอฮฺอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าคือ การมีบ้านสองหลัง

หลังแรกคือบ้านของครอบครัวเรา ที่เป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยลุง และลูกๆ และข้าพเจ้ากับมารดา

อีกหลังหนึ่งคือบ้านของคุณตา ที่ข้าพเจ้าไปบ่อยๆ และอยู่คราวละนานๆ เพราะสองสาเหตุคือ มารดาได้มีความสุขกับครอบครัวของนาง และมีลูกของน้าๆ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้าหลายคน ที่เราได้เล่นกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งต่างจากลุงกับป้าไม่มีลูกที่มีอายุไกล้เคียงกับข้าพเจ้า

ส่วนใหญ่เรามักจะอยู่ที่นั่นตลอดวัน และกลับจากละหมาดอีชาและอาหารค่ำ

บ้านของคุณปู่อยู่ใกล้กับตัวเมืองมากกว่า ใช้ทั้งเตาแก๊สและเตาถ่าน มีโซฟาและเก้าอี้นวม แต่ที่บ้านของเรามีม้านั่งพิงกับผนังบ้านเพียงตัวเดียว


ที่มาเพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิรน์และแนวโน้มในอนาคต[ตอนที่ 7]

Taliban และ IS-Khurasan

สองสายธารที่บรรจบได้ยาก

หลังจากการประกาศรัฐอิสลามที่อิรักและซีเรียในปี 2014  Taliban ปากีสถานก็ได้ประกาศให้คำสัตยาบันต่อผู้นำ IS ขณะนั้นคือ นายอะบูบักร์ อัลบัฆดาดีย์ ตามด้วยสมาชิกTalibanจากอัฟกานิสถานบางคนที่แปรพักตร์สนับสนุน IS

ต้นปี 2015 IS ได้ประกาศจัดตั้งรัฐอิสลามคูรอซาน (Islamic State -Khurosan IS-Kh) ซึ่งเป็นชื่อเก่าในอดีตที่ครอบคลุมอัฟกานิสถานปากีสถาน อิหร่านและประเทศในเอเชียกลางในปัจจุบันโดยใช้พื้นที่ในอำเภอแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน คือ Nangarhar เป็นศูนย์ปฏิบัติการ มีกองกำลังหลายพันคน

ปฏิบัติการสำคัญ

IS-Kh ได้ออกแถลงการณ์เป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์นองเลือดหลายครั้งที่เกิดขึ้นที่อัฟกานิสถานและปากีสถานรวมทั้งการเชือดสังหารชาวบ้านในมัสยิด โรงพยาบาลและที่สถานะอื่น ๆ

ในปี 2019 IS-Kh ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีชาวชีอะฮ์ในงานมงคลสมรสที่กรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ราย

เช่นเดียวกันกับเหตุโจมตีในปี 2020 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล ที่มีชาวชีอะฮ์อาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ การระเบิดครั้งนี้ มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิต 16 ราย

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่ม

ถึงแม้จะเป็นสองกลุ่มสุนหนี่ที่มาจากกลุ่มติดอาวุธเช่นกัน แต่ทั้งสองมีความแตกต่างทั้งแนวคิด ปรัชญา ยุทธศาสตร์และเป้าหมายโดยเฉพาะการตอบโต้ระหว่างสองฝ่าย ที่หลายครั้งเกิดการปะทะด้วยอาวุธ โดยฝ่าย IS-Kh ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าTalibanเป็นกลุ่มที่ได้ตกศาสนา ( ชาวมุรตัดดีน) รายละเอียดความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มนี้ ได้นำเสนอแล้วในตอนที่ 3 ของบทความ

Talibanจึงเป็นก้างขวางคอที่สกัดยุทธศาสตร์การรุกคืบของ IS ที่คูรอซาน ต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อิรักและซีเรีย ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเข้าไปยึดครองได้อย่างง่ายดายในช่วงแรก ถึงแม้ในรอบต่อมา ถูกกองกำลังบัชชาร์ยึดคืนก็ตาม

ในปี 2019 กองกำลังรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ปฏิบัติติการร่วมกับสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความปราชัยในจังหวัด Nangarhar เมืองทางภาคตะวันออกของประเทศ

ตามรายงานของสหรัฐอเมริการะบุว่า IS-Kh ได้ปฎิบัติการตามเครือข่ายที่นอนหลับ ซึ่งแฝงอยู่ในกรุงคาบูล เพื่อปฏิบัติการโจมตีและก่อการร้ายในพื้นที่

ปฏิกิริยา IS-Kh ต่อ Talibanรีเทิร์น

IS-Kh ได้กล่าวประณาม Talibanอย่างรุนแรง ที่ Talibanได้ร่วมลงมือลงนามกับวอชิงตันที่จัดขึ้น ณ กรุงโดฮาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยทั้งสองได้ตกลงเรื่องการถอนทัพของสหรัฐอเมริกาและต่างชาติให้ออกจากอัฟกานิสถาน IS-Kh กล่าวหา Talibanว่าเปลี่ยนจุดยืนและขายอุดมการณ์

หลังเหตุการณ์ช๊อคโลก Talibanรีเทิร์น เมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรอิสลามทั่วโลกและผู้นำประเทศอิสลามบางประเทศได้มองในแง่บวกและชื่นชมต่อชัยชนะครั้งนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับ IS ที่สงวนท่าทีและเงียบเฉย แม้กระทั่งกล่าวแสดงความยินดี

ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม- สิงหาคมปีนี้ ISได้ปฏิบัติการโจมตีมาแล้ว 216 ครั้ง เทียบกับ 34 ครั้งในช่วงดังกล่าว เมื่อปีที่ผ่านมา

นิตยสารฝรั่งเศสฉบับหนึ่งกล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งปฏิบัติการที่สร้างสีสันแห่งใหม่ของ IS มันไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการถอนกำลังของกองทัพสาหรัฐอเมริกา แต่การรีเทิร์นของ Talibanต่างหากที่ทำให้ IS-Kh ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

“การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของกองกำลังอัฟกันที่ผ่านมา ทำให้เราต้องหวนกลับนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อิรักเมื่อปี 2011 ผมเกรงว่าจะเป็นหนังที่ถูกฉายซ้ำที่อัฟกานิสถาน พร้อมๆ กับการพัฒนาการอย่างมีนัยของ IS และ Al-Qaeda”

Colin Clark ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางชาวสหรัฐอเมริกา กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2021 เกิดเหตุระเบิดพลีชีพที่บริเวณใกล้สนามบินกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน พร้อมคำแถลงการณ์จาก IS-Kh ที่แสดงความรับผิดชอบเช่นเคย

#งานหินสุดๆของ Talibanได้เริ่มขึ้นแล้ว

#เมฆดำทมึนเหนือท้องฟ้าอัฟกานิสถานเริ่มก่อตัวอีกครั้ง

#ร่วมดุอาให้ชาวอัฟกัน


ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.aljazeera.net/news/2021/8/26/%D8%B7%D8%A7%D9%84%D8%A8%D8%A7%D9%86-%D9%88%D8%AA%D9%86%D8%B8%D9%8A%D9%85-%D8%A7%D9%84%D8%AF%D9%88%D9%84%D8%A9-%D8%A8%D8%A3%D9%81%D8%BA%D8%A7%D9%86%D8%B3%D8%AA%D8%A7%D9%86-%D9%85%D8%A7-%D8%B3%D8%B1

โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่6]

หลังจาก ฏอลิบานเข้ายึดครองอัฟกานิสถานและยึดเมืองหลวงคาบูล ที่ลงเอยด้วยการหลบหนีของอดีตประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา  เส้นทางใหม่ของกลุ่มนี้ได้เริ่มขึ้น โดยเปลี่ยนสถานภาพจากกลุ่มติดอาวุธเป็นกลุ่มที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเข้ายึดบังเหียนอำนาจในอัฟกานิสถาน ที่ถูกทำลายล้างด้วยสงครามและอุดมด้วยความแตกแยกภายใน

ซึ่งแน่นอนว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างกลุ่มที่วันวาน ยังเป็นกลุ่มต่อสู้ติดอาวุธที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงและเน้นสงครามภาคสนาม แต่มาวันนี้คือขบวนการที่ต้องสวมหมวกในนามรัฐบาล ซึ่งประชาชนและประชาคมโลกต่างเฝ้ารอดูผลงานทางการบริหารจัดการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในทุกด้านของการพัฒนา

เห็นได้ชัดว่าในขั้นตอนนี้ กลุ่ม ฏอลิบานจะต้องเผชิญกับความรับผิดชอบและความท้าทายมากมายที่ต้องใช้ความตระหนักรู้ ความเข้าใจและความแน่วแน่ในการจัดการกับความเป็นจริง

โมลา อับดุลกานี บาราดาร์ รองหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมืองของฏอลิบาน ได้พูดถึงข้อเท็จจริงนี้ เมื่อเขากล่าวในสุนทรพจน์ หลังจากฏอลิบานยึดเมืองคาบูล “จากวันนี้ การทดสอบที่แท้จริงของกลุ่มได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว”

ความท้าทายหลักที่ ฏอลิบานต้องเผชิญ หลังจากเข้าควบคุมอัฟกานิสถานในสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถสรุปได้ในประเด็นต่อไปนี้ :

1- ความสมานฉันท์แห่งชาติ

ทันทีหลังจากเข้ายึดครองกรุงคาบูล ฏอลิบานได้เริ่มโครงการสร้างความปรองดองระดับชาติและทำความเข้าใจกับฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายต่อต้าน ด้วยการประกาศนิรโทษกรรม เพื่อสร้างรัฐที่เข้มแข็ง ขจัดความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมืองและความขัดแย้ง พร้อมนำประเทศสู่เสถียรภาพทางการเมือง

การสร้างอัฟกานิสถานใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีความมั่นคง เสถียรภาพก็ไม่อาจบรรลุได้

ความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เป็นสมการที่มีความสลับซับซ้อนที่สุดที่รอ ฏอลิบานแก้ให้ลงตัวอย่างรอบคอบและเต็มด้วยวิทยปัญญา

รัฐบาล ฏอลิบานต้องตื่นรู้ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นล้ม หาใช่ลำพังแค่ขวานอันคมกริบ แต่คือด้ามที่ทำมาจากกิ่งไม้ต่างหาก  ธนูที่สามารถยิงนกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือปีกธนูที่ทำจากขนนกนั่นเอง

สิ่งที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นล้ม หาใช่ลำพังแค่ขวานอันคมกริบ แต่คือด้ามที่ทำมาจากกิ่งไม้ต่างหาก ธนูที่สามารถยิงนกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือปีกธนูที่ทำจากขนนกนั่นเอง”  

2- วาระแห่งความปลอดภัย

การรักษาความปลอดภัย คือวาระเร่งด่วนที่จะต้องให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงคาบูล เมืองหลวง เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพลเมืองอัฟกัน ที่พวกเขาถูกปฏิเสธมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสำเร็จของ ฏอลิบานในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่ความสำเร็จอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การรวมตัวของชาวอัฟกันและเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชน

ถือเป็นการบ้านสุดหินของรัฐบาล ฏอลิบานโดยเฉพาะการกลับมาของ IS-KP ( Islamic State Khorasan Province) และกลุ่มชีอะฮ์ที่ปักหลักอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ

3- การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล

การจัดตั้งรัฐบาลที่บริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำลังเพลิดเพลินกับชัยชนะและเป็นตัวแทนของสังคมอัฟกัน ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์และนิกายความเชื่อ จะต้องไม่ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม ฏอลิบานเท่านั้น

รัฐบาล ฏอลิบานต้องตระหนักรู้ถึงความต้องการร่วมสมัยของประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งวัฒนธรรม การศึกษาและธรรมเนียมประเพณี และการยอมรับของสังคมระหว่างประเทศ ที่เน้นเรื่องสิทธิและการเปิดกว้างในสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่ง ฏอลิบานต้องรักษาน้ำหนักให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการจากทั้งสองฝ่ายอย่างจริงใจและจริงจัง

          4.      รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ฏอลิบานควรร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อสร้างหลักประกันรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และปิดประตูความแตกแยกในสังคม ที่อบอวลด้วยภาวะสงครามที่ยืดเยื้อนานกว่า 40 ปี พร้อมๆกับการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ การเตรียมพร้อมในการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากโลกอาหรับและอิสลาม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

          5.      การเปลี่ยนแปลงของสังคมอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

อัฟกานิสถานในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  มีสถิติที่ไม่เป็นทางการระบุว่า วัยหนุ่มสาวชาวอัฟกันมีอัตราสูงถึง 60 %ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีเกือบ 40 ล้านคน กลุ่มนี้มีชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์อันหลากหลายที่ต่างจากอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง กลุ่มนี้อาจไม่สามารถบีบบังคับด้วยกองกำลังทางทหาร แต่ต้องปล่อยให้เป็นการตัดสินใจอันอิสระของพวกเขาต่างหาก

เหตุการณ์ในวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่หนุ่มสาวชาวอัฟกันลุกฮือประท้วงที่กรุงคาบูล ไม่เห็นด้วยที่ กลุ่ม ฏอลิบาน ยกธงสัญลักษณ์ของกลุ่มตนเอง โดยไม่ใช้ธงประจำชาติ ก็น่าจะเป็นสัญญาณอันตราย ที่กลุ่ม ฏอลิบาน ต้องรีบกลับไปทบทวน

6.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สิ่งที่ท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาล ฏอลิบาน ยุค 2.0 นี้ คือ การสร้างความยอมรับบนเวทีนานาชาติทั้งในระดับประเทศและองค์กรสากล รัฐบาล ฏอลิบานต้องกำหนดนโยบายที่นานาชาติไม่สามารถสร้างเงื่อนไขที่จะโดดเดี่ยวกลุ่ม ฏอลิบาน เหมือน 20 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง  3 ประเทศเท่านั้นคือปากีสถาน ซาอุดิอาระเบียและยูเออี ที่ให้การรับรอง

นายกรัฐมนตรีอังกฤษนายบอริส จอห์นสัน ได้กล่าวในรัฐสภาเพื่อถกเหตุการณ์อัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “เราจะตัดสินที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด”

น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาล ฏอลิบาน รับทราบถึงท่าทีของชาติตะวันตกที่มีต่อ ฏอลิบาน ยุค 2.0 อย่างไร

          7.      บทบาทสื่อและการแสดงออกทางความคิดเห็น

ปัจจุบันมีช่องโทรทัศน์ดาวเทียมและสื่อท้องถิ่นกว่า 100 ช่อง วิทยุชุมชนกว่า 150 สถานี หนังสือพิมพ์และนิตยสารนับสิบกว่าฉบับ และสื่อออนไลน์ต่างๆมากมายที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วอัฟกานิสถาน ยังไม่รวมโทรศัพท์มือถือที่ชาวอัฟกันใช้นับสิบล้านเครื่อง ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมอัฟกันยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นผลพวงของกระแสยุคโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ต่างจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่รัฐบาล ฏอลิบานอนุญาตเปิดสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียว คือช่องทางการของรัฐบาล  ปิดสื่อวิทยุแห่งอัฟกานิสถานและเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยุเสียงแห่งชะรีอะฮ์ ห้ามสตรีมีบทบาทในทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะบทบาทด้านสื่อสารมวลชนทุกประเภท แต่ปัจจุบัน บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อนับหมื่นคนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสตรี

          8.      ยาเสพติด

 รายงานฉบับหนึ่งที่ชวนขนลุกของสังคมอัฟกันคือ อัฟกานิสถานมีรายได้จากการปลูกยาเสพติดชนิดต่างๆ สูงถึง 3,000 ล้านดอลล่าร์ ตามรายงานระบุว่าอัฟกานิสถานสามารถผลิตเฮโรอีนจำนวน 6,700 ตันต่อปี (ข้อมูล 2006) คิดเป็น 92% ของการผลิตเฮโรอีนทั่วโลก

นี่คือฝันร้ายของชาวอัฟกันที่เป็นสิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาล ฏอลิบาน ที่สื่อต่างชาติได้โฆษณาชวนเชื่อให้ชาวโลกเคลิ้มอย่างหัวปักหัวปำว่า เบื้องหลังของ ฏอลิบานคือธุรกิจค้ายาเสพติด ทั้งๆที่สมัย ฏอลิบานปกครองอัฟกานิสถานยุคแรก ถือเป็นยุคที่ธุรกิจการค้ายาเสพติดซบเซามากที่สุดในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานทีเดียว

โดยหารู้ไม่ว่า ปรากฏการณ์อันน่ากลัวชวนขนลุกเรื่องธุรกิจยาเสพติด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีความคึกคักและบูมสุดขีดช่วง 20 ปี หลังจากรัฐบาล ฏอลิบาน ยุค 1.0 ล่มสลาย และสหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอัฟกานิสถานแทน

          9.      ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความยากจน

อีกรายงานหนึ่งที่ชวนขนลุกไม่แพ้กันคือสถิติปัญหาว่างงานสูงถึง 40% (ข้อมูลปี 2005) และประชาชนอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน 53% (ข้อมูลปี 2003) เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ มีอัตราว่างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.5%  ในขณะที่คนจนมีจำนวน ทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล 2019)

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การแก้ปัญหาการว่างงานและความยากจน การอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานทั้งการศึกษา การสาธารณสุข ไฟฟ้า น้ำ ถือเป็นความท้าทายที่หนักอึ้งของรัฐบาลฏอลิบาน

ภูเขาหิมะทั้ง 9 ลูกนี้ รัฐบาล ฏอลิบานจะข้ามผ่านพร้อมชาวอัฟกันจำนวน 40 ล้านคนได้อย่างไร คงต้องดูกันยาวๆต่อไปครับ

ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งคนที่ให้กำลังใจ หวังดี และดุอาให้ฟ้าหลังฝนของอัฟกานิสถานที่มีแต่ความงดงามและปลอดโปร่งตราบนานเท่านาน


โดย Mazlan Muhammad

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่2]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

ตอนที่ 2

หลังจากบิดาเสียชีวิต มารดาก็กลับไปอาศัยที่บ้านเดิมกับครอบครัวของนาง

มารดาและน้าชายของข้าพเจ้าเฉลียวฉลาดมาก นางสามารถคำนวณตัวเลขหลายหลักในใจได้อย่างรวดเร็ว

ข้าพเจ้าจะมาเล่นสนุกและสนิทสนมกับลูกๆของน้าๆอาๆ มากกว่าลูกๆของลุงๆป้าๆ ที่ไม่มีรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า

คุณยายรักและเอ็นดูข้าพเจ้ามาก ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทำผิด คุณตาจะตี แต่นางได้ขอร้องไม่ให้ตี โดยมีเงื่อนไขว่า ข้าพเจ้าจะต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก คุณตาก็ยอมและนางมักจะเก็บอาหารไว้เป็นพิเศษสำหรับข้าพเจ้าเสมอ

คุณตาเสียชีวิตขณะที่ข้าพเจ้าอายุได้ 5 ปี คุณยายและคุณน้าคุณอาก็ยิ่งให้ความรักความเอ็นดูต่อข้าพเจ้ามากขึ้นเหมือนลูกคนหนึ่งของพวกนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่มารดาของข้าพเจ้าเสียชีวิตไป ขณะที่ข้าพเจ้ามีอายุได้ 15 ปี

สภาพครอบครัวกอรอฎอวีย์ ขณะนั้นบางปีการเกษตรมีปัญหา บางครั้งหนอนฝ้ายกัดกินฝ้ายจนเสียหายไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินได้

ปัญหาหนึ่งของครอบครัวเราที่ข้าพเจ้าเคยพบเห็นผลที่เกิดกับเราคือ ควายที่ใช้ไถนาตายลง ซึ่งมันมักจะตายในฤดูใบไม้ผลิ เพราะมีอาหารการกินสมบูรณ์เกินไป เมื่อมันเป็นโรค ก็ใช้มีดรักษาและขายเนื้อในราคาถูกๆ

ปกติเราจะมีควาย 2 ตัวหรือควายหนึ่งกับวัวอีกหนึ่งไว้สำหรับไถนา เมื่อควายตายลงก็เหมือนโศกนาฏกรรมสำหรับชาวนา เพราะการหาเงินซื้อควายตัวใหม่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวนาจนๆ ดังนั้น บางครั้งเพื่อนบ้านจึงไปแสดงความเสียใจกับเจ้าของเหมือนหนึ่งการได้สูญเสียสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวไป

สำหรับครอบครัวเราแล้ว ควายมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเราใช้นมสดของมันดื่มแทนการรับประทานเนื้อ ที่เราไม่สามารถซื้อรับประทานได้เป็นประจำนอกจากในวันพุธ ซึ่งเป็นวันตลาดนัดของตำบล


ที่มา เพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่ 1]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์

ตอนที่ 1

ข้าพเจ้าเกิดในชนบทที่ตำบลเล็กๆ ของอียิปต์ ไม่มีประปา  ไฟฟ้า ถนนลาดยาง  ห้องสมุด สโมสร หรือลักษณะของความทันสมัยใดๆทั้งสิ้น

ตำบลของเราคือ  ศุฟต์ตุรอบ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองตอนตอซึ่งเป็นอำเภอเมืองของจังหวัดฆอร์บียะฮฺและอำเภอมะหัลละต์กุบรอ เมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งของจังหวัด ห่างจากตอนตอ ประมาน 21 กม. จากมะหัลละต์ ประมาณ   9 กม.

ตระกูล กอรอฎอวีย์ ของเราเดิมอพยพมาจากตำบลกอรอเฎาะต์ จังหวัดกัฟรูชัยค์ เป็นตระกูลเล็กๆในตำบล ที่สืบทอดตระกูลมาจากปู่ของข้าพเจ้าที่ชื่อ ฮัจญีอาลี    กอรอฎอวีย์  ซึ่งเป็นฮัจญีเพียงไม่กี่คนในตำบล

มารดาของข้าพเจ้าเป็นหญิงหม้าย นางสมรสครั้งแรกขณะยังเยาว์วัยกับบุตรลุงของนางที่อยู่กรุงไคโร ไม่ค่อยเคร่งครัดในศาสนา  เขามักดื่มเหล้าและกลับบ้านดึกๆดื่นๆ ในสภาพเมามาย มารดาซึ่งเป็นหญิงชนบทที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพเช่นนี้ จึงกลัวเขามาก

เมื่อคุณตาไปเยี่ยมมารดา รู้เห็นสภาพดังกล่าว จึงสั่งให้เขาซึ่งเป็นหลานชาย(บุตรของน้องชาย)หย่ากับกับนางเสีย  แล้วพากลับบ้านทันที ซึ่งขณะนั้นนางกำลังตั้งครรภ์พี่สาวร่วมมารดาของข้าพเจ้าที่มีอายุมากกว่าข้าพเจ้า  8 ปี

บิดาของข้าพเจ้าก็เคยสมรสและได้หย่ากับภรรยาคนแรกแล้ว จึงมาสู่ขอมารดาของข้าพเจ้าภายหลังจากที่นางคลอดบุตร  7 ปี และการสมรสก็มีขึ้น นางก็ตั้งครรภ์ข้าพเจ้าในทันที เมื่อคลอดข้าพเจ้าพวกเขาตกลงกันตั้งชื่อข้าพเจ้าว่ายูซุฟ  ตามชื่อลุงของข้าพเจ้าที่ตายไปโดยไม่มีบุตร ซึ่งชื่อลุงก็ถูกตั้งตามชื่อของปู่ของเขา ฉะนั้นวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้าคือ ยูซุฟ บุตร อับดุลลอฮฺ  บุตร อะลีย์ บุตร ยูซุฟ

บิดาของข้าพเจ้าเสียชีวิตตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ 2  ปี ด้วยโรคทางเดินปัสสาวะ ด้วยในสมัยการแพทย์ยังล้าหลังมาก  ลุงอะหมัดจึงดูแลข้าพเจ้าต่อมา ลุงเป็นเกษตรกร ไม่รู้หนังสือ ไม่มีทรัพย์สินรวมทั้งที่ดิน  มีเพียงที่ดินอยู่อาศัยของป้าประมาณครึ่งเอเคอร์ ( ประมาณ  12.5  ไร่ – ผู้แปล ) และได้เช่าที่ดินทำกินจากผู้อื่น

ตอนนั้นลุงอายุประมาณ  50  ปี  ท่านเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน มีความขยันขันแข็งในการทำงาน  เคร่งครัดศาสนาและละหมาดญะมาอะต์ห้าเวลาที่มัสยิดเป็นกิจวัตร

ท่านเป็นคนสมถะ รับประทานโรตีแข็ง ที่ทำจากข้าวโพด กับเนยแข็งดอง กับผักดองที่ตัวหนอนเล็กๆคลานอยู่ต้วมเตี้ยม  เสร็จแล้วดื่มน้ำจากเหยือกดินเผา แล้วกล่าวว่า  ขอบคุณอัลลอฮฺ ที่ให้ความสุขนี้แก่เราและรักษาไว้มิให้สูญหาย

ลุงและชาวชนบททั่วไป พอใจกับสิ่งที่อยู่ ตามที่ท่านนบี  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะสัลลัม  สอนไว้ว่า

   ارض بما قسم الله لك تكن أغنى الناس

“จงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺแบ่งสรรให้ แล้วท่านจะเป็นมหาเศรษฐี ”

แม้ว่าลุงจะไม่รู้หนังสือแต่ก็ชอบทายปัญหาและเล่านิทานให้เราฟัง

ท่านเคยทายว่า  “ป้าของเจ้า พี่สาวของบิดาของเจ้า  แล้วน้าชายของลูกชายของป้าเจ้าเป็นอะไรกับเจ้า”

ข้าพเจ้าตอบว่า “เป็นบิดาหรือลุงของฉัน”

ลุงเคยเล่านิทานตลกเรื่อง ญุฮา ( ตัวละครเอกของนิทานพื้นบ้านอาหรับ เช่นเดียวกับ ศรีธนญชัยของไทย หรืออบูนาวาสของมาลายู – ผู้แปล)ให้เราฟังบ่อยๆ


ที่มา เพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่5]

7 เหตุผลที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้อย่างง่ายดาย

หลังจากการสู้รบนานเกือบ 20 ปี สูญเสียชีวิตทหารและพลเมืองอเมริกันกว่า 6,000 คน และสังเวยชีวิตชาวอัฟกันกว่า 100,000 ชีวิต ผลาญงบประมาณของสหรัฐฯ ไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคจะคาดการณ์อยู่แล้วว่า วันนี้จะต้องมาถึงในที่สุด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ โดยแทบไร้แรงต้านทานจากรัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถาน ที่ว่ากันมามีจำนวน 3 แสนนาย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า 7 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้รวดเร็วและง่ายดายมีดังนี้

1.ความผิดพลาดด้านข่าวกรอง

การที่ฏอลิบานสามารถยึดเมืองหลวงและทำเนียบประธานาธิบดีได้อย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองทหารสหรัฐฯ ล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์  ฏอลิบานจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ วางแผน และเดินหน้าการโจมตีครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนเริ่มการ “การจู่โจมครั้งสุดท้าย” ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลและกองทัพอัฟกันน่าจะสามารถยื้อได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี

รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คนหนึ่งคิดว่า กรุงคาบูลน่าจะถูกยึดในอีก 90 วัน มีกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี 3 แสนนายพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่แล้วมันเป็นแค่ความจริงในเอกสารการรายงาน ส่วนในภาคสนาม กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม

2.ความไม่มีใจคิดสู้ของทหารรัฐบาล

กลุ่ม ฏอลิบานแทบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเพื่อการยึดครองเมืองหลวงของจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมาเลย แต่เป็นการเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้เสียมากกว่า นอกเหนือจากการลอบสังหารบรรดาแกนนำของรัฐบาล กว่า2-3 ปีที่ผ่านมา ฏอลิบานสามารถควบคุมพื้นที่ประมาณ 50 % ของประเทศได้ด้วยการยึดพื้นที่ชนบทต่างๆ และเมื่อเคลื่อนกำลังเข้าสู่เมืองใหญ่ ทหารอัฟกันจำนวนมากก็ปล่อยให้พวกเขาผ่านไป เพราะคิดว่า รัฐบาลในคาบูลคงไม่ส่งกำลังช่วยเหลือพวกเขา

พวก ฏอลิบานจะแทรกซึมเข้าสู่เขตเมืองก่อน เจรจา โน้มน้าวและข่มขู่บรรดาผู้บังคับบัญชาทหารให้ยอมแพ้ มิเช่นนั้นจะสูญเสียครอบครัว เมื่อบวกกับความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่แล้วและคำขาดของไบเดนที่จะถอนกำลังทั้งหมดภายในวันที่ 11 กันยายน พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้จนตัวตายอย่างไร้ประโยชน์

3.อุบายปิดล้อมทางทหารและจูงใจประชาชน

ฏอลิบานโอบล้อมกรุงคาบูลและตัดเส้นทางเสบียงที่จำเป็นสำหรับกองทัพอัฟกัน พร้อมกันนั้น ก็สั่งสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คิดค้นยุทวิถีใหม่ๆ  พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียแบบเดียวกับที่ใช้ปืนไรเฟิลซุ่มยิง โดยสร้างแรงกดดันต่อเหล่าหัวหน้าชนเผ่าท้องถิ่น  รวมทั้งใช้ข้อความเรียบง่าย แต่เห็นผลเพื่อข่มขู่ชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ภายใต้แผน “สงครามจิตวิทยา”

พวกเขาหยิบยื่นทางเลือกในการตัดสินใจให้กับเหล่าผู้บังคับบัญชาท้องถิ่น และชักชวนประชาชนเข้าสู่พื้นที่ยึดครองและจัดสรรบริการสังคมบางส่วนให้กับผู้อยู่อาศัย พวกเขาใช้ทั้งการอ้อนวอน ให้ทางเลือก และข่มขู่ประชาชนให้สนับสนุน หรือไม่ก็ “อย่าต่อต้านพวกเขา”

4.การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและกองทัพ

กองทัพอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นแทบทุกส่วน ถึงแม้มีการต่อสู้กันอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาก็จะแพ้อยู่ดี เพราะว่าพวกเขาไม่รู้เลยว่าสามารถสั่งการและควบคุมใครได้บ้าง ไม่รู้ว่ามีทหารที่ใช้งานได้ในมือกี่คน  ยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดถูกแยกส่วน ถูกขโมย และลักลอบขาย ทหารจำนวนมากไม่ได้รับค่าจ้าง อาหาร และสวัสดิการอย่างเหมาะสมจากส่วนกลาง แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ยังขาดแคลน

ยิ่งไปกว่านั้น หลายหน่วยเลือกขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับ ฏอลิบาน มีกรณีการหนีทัพจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรายงานหรือบันทึก ทำให้จำนวนทหารที่แท้จริงน้อยกว่าตัวเลขของทางการ

5.คนอเมริกันไม่เคยเข้าใจ ‘อัฟกานิสถาน’ เลย

“ไม่เคยมีรัฐบาลกลางในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่แรกแล้ว ความคิดที่ว่าเราสามารถตั้งรัฐบาลได้นั้นเป็นความคิดที่โง่มาก …การตกตะลึงในความเร็วของการยึดอำนาจของ ฏอลิบานยิ่งแสดงให้เห็นว่า แทบไม่มีชาวอเมริกันคนไหน จากบนสุดถึงล่างสุด เข้าใจอัฟกานิสถานเลย” อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ และทหารผ่านศึกอัฟกานิสถานคนหนึ่ง กล่าว

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนเผ่า ภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่วอชิงตันกับพันธมิตรนาโตกำลังพยายามเปลี่ยนมันให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์บนค่านิยมแบบตะวันตก โดยเข้าใจเองว่า ยึดคาบูลได้ ก็ยึดอัฟกานิสถานทั้งประเทศได้ ซึ่งผิดถนัด

“มีความเข้าใจผิดโดยรากฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ชาวอัฟกันต้องการ” แซกชี ซึ่งเคยฝึกกองกำลังอิรักเมื่อปี 2004 กล่าว “เราคิดเอาเองว่า พวกเขาต้องการสิ่งที่พวกเรามี เสรีประชาธิปไตย ค่านิยมแบบยิว–คริสต์ และคิดว่า พวกเขาแค่ต้องการเวลาปรับตัว แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

ความเป็นพันธมิตรทางชนเผ่าในอัฟกานิสถานสำคัญมากกว่าความเป็นชาติ   และความภักดีมักขึ้นอยู่กับเงินและอำนาจ และความเข้มแข็งส่วนหนึ่งของ ฏอลิบาน คือพวกเขาเป็น ‘ปาทาน’ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

“ที่เราทำก็แค่ยกหางชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์แบบมั่วซั้วขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความสามารถที่จะรวมประเทศนี้เป็นหนึ่งได้เลย”

6. รัฐบาลที่อ่อนแอและไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ความสิ้นหวังของประชาชนต่อคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยยืนยันจะพัฒนาประเทศด้วยงบประมาณหมื่นๆล้านโดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ความยากจนและช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภค ที่แทบค้นหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังไม่ได้ งบประมาณอันมหาศาลก็ถูกจัดสรรและผลาญโดยองค์กรสากลที่รัฐบาลกลางแทบไม่มีส่วนใดๆเกี่ยวข้องเลย แต่ประชาชนตาดำๆ ก็ยังต้องดิ้นรนหาน้ำ อาหาร ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยและยารักษาเหมือนเดิม

7. การสนับสนุนจากภายนอก

โดยเฉพาะปากีสถานทั้งเป็นทางการและไม่ทางการ เพราะตามที่ทราบกันว่า  พรมแดนทางทิศตะวันออกและทางตอนใต้ที่ติดกันระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานซึ่งยาว 2,430 กม. บวกกับประวัติศาสตร์อันยาวนานที่หลอมรวม 2 ประเทศนี้ให้เป็นหนึ่ง ที่ถึงแม้จะถูกแบ่งเส้นตามพรมแดนของลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ แต่ในความรู้สึกของประชาชนก็ยังไม่สามารถแบ่งกั้นได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเผ่าพันธุ์ที่มีความเข้มข้นเหนือความเป็นรัฐชาติของประชาชนในบริเวณนี้ ถึงแม้รัฐบาลปากีสถานจะเอาใจรัฐบาลอัฟกานิสถานและสหรัฐอเมริกาด้วยการให้ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและข่าวกรอง แต่ก็เป็นไปได้แค่บนโต๊ะเจรจาหรือภาคปฏิบัติในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เรื่องราวจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าซีรีย์แอร์ทูรูล

โดยผู้เขียนไม่แตะต้องปัจจัยที่ 8 ซึ่งคือปฐมปัจจัยของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ก็ล้วนเป็นผลพวงของปัจจัยนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือแผนการแห่งการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงกระชากอำนาจจากผู้ใดที่พระองค์ทรงต้องการ ทรงยกย่องให้เกียรติกับผู้ใดที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงย่ำยีและลดเกียรติให้กับผู้ใดที่พระองค์ทรงพอใจ ซึ่งล้วนมีวิทยปัญญา(หิกมะฮ์) อันมากมายสำหรับมนุษย์เรืองปัญญา

credit

มีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ทางไลน์ในประเด็น 5 ข้อแรก

https://www.cnbc.com/…/how-afghanistan-fell-to-the…


โดย Mazlan Muhammad