ฟัตวาว่าด้วยการงดถือศีลอดรอมฎอนกับภูมิต้านทานและไวรัสโคโรน่า และการละหมาดตารอเวียะห์

โดย ศ.ดร.อาลี กอเราะฮ์ดาฆี
เลขาธิการสหพันธ์นักวิชาการอิสลามนานาชาติ
(Internation Union of Muslim Scholars-IUMS)

○○○○○○○

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์ พระเจ้าแห่งสากลโลก พรและความสงบสุขจงมีแด่ท่านศาสนทูตผู้เป็นความเมตตาต่อโลก และแด่วงศ์วาน และซอฮาบะฮ์ ตลอดจนผู้เจริญรอยตามคำสอนของท่านไปจนกระทั่งวันแห่งการตอบแทน

ประชาชาติอิสลามมีมติเห็นพ้องกันว่าการถือศีลอดรอมฎอนเป็นเสาหลักหนึ่งของศาสนาอิสลาม เป็นหลักการภาคบังคับที่อัลลอฮ์และรอซูลได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

อัลลอฮ์กล่าวว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกท่าน เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกท่านเพื่อว่าพวกท่านจะได้ยำเกรง”

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ ۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ

“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้นและสิ่งที่จำแนก ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกท่านเห็นเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น”

ตัวบทดังกล่าวได้ยกเว้นบุคคล 3 ประเภท จากการถือศีลอด คือ

● ประเภทที่ 1 บุคคลที่ไม่มีความสามารถที่จะถือศีลอดได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น คนชรา

● ประเภทที่ 2 ผู้ป่วย
นักวิชาการได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วย” ที่อนุโลมให้งดถือศีลอดดังนี้

○ อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวในหนังสือ “อัลมัจมุอ์” (6/261) ว่า

” وهذا ما لحقه مشقة ظاهرة بالصوم، أي مشقة يشق احتمالها، وأما المرض اليسير الذي لا يلحق به مشقة ظاهرة لم يجز له الفطر بلا خلاف عندنا “

“คือผู้ที่การถือศีลอดทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่เขาอย่างชัดเจน หมายถึง จนไม่อาจทนได้ ส่วนผู้ป่วยเล็กน้อย ในมัซฮับของเราถือว่าไม่อนุญาตให้ละศีลอดโดยไม่มีผู้เห็นต่าง”

○ อิบนุกุดามะฮ์ กล่าวในหนังสือ “อัลมุฆนีย์” (4/403) ว่า

” أجمع أهل العلم على إباحة الفطر للمريض في الجملة”

“ในภาพรวม นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้ผู้ป่วยงดถือศีลอดได้”

และกล่าวต่อว่า

” والمرض المبيح للفطر هو الشديد الذي يزيد بالصوم، ويُخشى تباطؤ برئه…”.

“การป่วยที่อนุญาตให้งดถือศีลอด ได้แก่ การป่วยขั้นรุนแรงที่อาจหนักขึ้นเพราะการถือศีลอด และกลัวว่าจะหายช้าลง”

นักวิชาการยังเห็นพ้องกันว่าผู้ป่วยจะต้องถือศีลอดชดใช้แทนการงดถือศีลอดดังกล่าว

อัลลอฮ์กล่าวว่า

فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ عَلَىٰ سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ ۚ

“และในหมู่พวกท่าน หากมีผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือชดใช้ในวันอื่น”

รวมถึงหญิงมีประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตร ที่ไม่อนุญาตให้ถือศีลอด แต่ต้องถือศีลอดชดเช่นกัน

● ประเภทที่ 3 คนเดินทาง
นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้คนเดินทางงดถือศีลอดได้ แต่มีความเห็นต่างในเรื่องจำนวนวันเดินทาง

■ โคโรน่ากับการถือศีลอด

ด้วยเหตุดังกล่าว โคโรนา (โควิด 19) เป็นโรคที่ร้ายแรงและอันตราย คนผู้ใดติดเชื้อนี้ก็จะได้สิทธิต่างๆ ตามที่ศาสนากำหนดไว้สำหรับผู้ป่วย

● 1. การถือศีลอดกับผลต่อภูมิต้านทาน

การถือศีลอดจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง และทำให้ผู้ถือศีลอดมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ ?

ข้าพเจ้าได้ยินด้วยตัวเองในการประชุมกับสภายุโรปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2020 โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้า 4 คน เข้าร่วมประชุม

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันจะไม่ถูกทำลายจากการถือศีลอด หากทว่า บรรดาแพทย์และนักโภชนาการจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิจัยของ ดร.มุอิซซุลอิสลาม อิซวัต ฟาริส ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการบำบัดและอายุรกรรมทั่วไป ที่มีการตีพิมพ์บทสรุป เมื่อ 7 ชะบาน 1441 กล่าวว่า ในการวิจัยล่าสุดของตนเอง เกี่ยวกับผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อการแสดงออกของยีนต่อสารพันธุกรรมจำนวนหนึ่งที่ควบคุมกระบวนการในการป้องกันการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบในผู้ใหญ่ เกือบ 60 คน ผลการศึกษาพบว่าการถือศีลอดสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนในยีนเหล่านั้น ได้สูงมากถึง 90.5 % ผลการศึกษานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยืนยันว่าการถือศีลอดสามารถ
ป้องกันสภาวะความเครียดจากการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและลดประสิทธิภาพลง”

ในการวิจัยเพื่อทดสอบผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคและทำให้เกิดวัณโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนในการลดโอกาสการติดเชื้อจากเชื้อโรคดังกล่าว และเพิ่มความต้านทานของร่างกายโดยการเพิ่มจำนวนเซลล์ phagocytic และงานวิจัยอื่นที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในการฟื้นฟูเซลล์ที่เสียหาย

โดยสรุปแล้ว งานวิจัยต่างๆ ล้วนยืนยันถึงความสมบูรณ์ของดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
وَأَن تَصُومُوا خَيْرٌ لَّكُمْ
“การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่าน”

การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่านในชีวิตโลกนี้ และในด้านสุขภาพ ตลอดจนเป็นการดีสำหรับชีวิตโลกหน้า

ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่อนุญาตให้มุสลิมทิ้งเสาหลักของศาสนาอิสลามนี้ นอกจากด้วยเหตุผลที่ชอบธรรมที่อัลลอฮ์อนุญาต

แม้ว่าจะมีงานวิจัยยืนยันเช่นนี้ แต่ถ้าหากว่าแพทย์หลายๆคน ได้วินิจฉัยทางการแพทย์ว่า คนใดคนหนึ่งถือศีลอดแล้วมีโอกาสมากกว่า 50 % ที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ก็อนุญาตให้งดถือศีลอดได้ พร้อมตั้งเจตนาที่จะชดใช้หลังผ่านพ้นเหตุอนุโลม

หลักการนี้นักกฎหมายอิสลามในอดีตได้กล่าวไว้แล้ว โดยที่กลุ่มนักกฎหมายอิสลามมัซฮับหะนะฟีย์เห็นว่า ทัศนะที่ถูกต้องเห็นว่า เมื่อคนๆหนึ่งมั่นใจว่าหากเขาถือศีลอดจะเจ็บป่วย อนุญาตให้เขางดถือศีลอดได้ พร้อมกับต้องถือศีลอดชดใช้ ทั้งนี้ ความมั่นใจดังกล่าว พิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือความเห็นของแพทย์ ( หาชียะฮ์อิบนุอาบิดีน : 2/116 )

ในขณะที่นักวิชาการมัซฮับมาลิกเห็นต่าง โดยเห็นว่า หากคนๆหนึ่งกลัวว่าจะเจ็บป่วย จากการถือศีลอด ไม่อนุญาตให้งดถือศีลอด ตามทัศนะหลักของมัซฮับมาลิก ( หนังสือหาชียะฮ์ดุซูกีย์ : 1/153)

○ สรุป
ไม่อนุญาตให้ละศีลอดเพียงเพราะกลัวว่าจะเป็นโรคจากไวรัสโคโรน่า ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยว่าคนๆนั้น มีโอกาสติดเชื้อจริง หากถือศีลอด กรณีนี้เท่านั้นจึงงดถือศีลอดได้

● 2. การละหมาดตารอเวียะห์

ในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มัสยิดล้วนถูกงดใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากการละหมาดตารอเวียะห์มีสถานภาพเป็นละหมาดสุนัต ที่ท่านนบี ศอลฯ ละหมาดที่มัสยิดแล้วต่อมาก็ได้ปฏิบัติที่บ้าน ดังนั้น มุสลิมจึงมีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้ที่บ้าน โดยการปฏิบัติดังนี้

– ให้อิหม่ามหรือมุอัซซินอะซาน ละหมาดอีชา และละหมาดตารอเวียะห์ที่มัสยิดแต่เพียงคนเดียว ตามวิธีการที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด
– ให้แต่ละครอบครัวละหมาดอีชาและละหมาดตารอเวียะห์ที่บ้านตามจำนวนและระยะห่างตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ที่อ่านอัลกุรอานได้ดีที่สุดเป็นอิหม่าม และอาจอ่านจากเล่มอัลกุรอานก็ได้

อัลลอฮ์เท่านั้นที่รู้แจ้งในความถูกต้อง
18 ชะบาน 1441 / 11 เมษายน 2563

อ่านฟัตวาต้นฉบับ
http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11334

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ใช้ได้หรือไม่

สภายุโรปเพื่อการฟัตวาและวิจัย ( The European Council for Fatwa and Research ) ได้ออกคำฟัตวาในคราวประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 1-4 ชะอฺบาน 1441 ( 25-28/3/2020) กรณีละหมาดวันศุกร์ และละหมาดญะมาอะฮ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่าเป็นสิ่งที่อิสลามอนุญาตหรือไม่อย่างไร

ประเด็นคำถาม
การละหมาดวันศุกร์ผ่านระบบทางไกล โดยให้อิมามอ่านคุตบะฮ์ในมัสยิดตามปกติ โดยมีคนฟัง 1-2 คน ส่วนที่เหลือพวกเขาจะฟังที่บ้านของตนเอง จากนั้นก็ละหมาดวันศุกร์โดยตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ ถามว่าการละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นที่อนุมัติหรือไม่อย่างไร

คำชี้แจง

การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านโดยลำพังตามวิทยุ โทรทัศน์ ไลฟ์สดผ่านระบบออนไลน์ ไม่เป็นที่อนุญาต และถือว่าการละหมาดดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่สามารถทดแทนการละหมาดซุฮรีได้ ถือเป็นทัศนะที่เป็นข้อยุติขององค์กรและสำนักฟัตวาในปัจจุบัน และเป็นทัศนะของนักกฏหมายอิสลามโดยส่วนใหญ่ ที่ได้ออกทัศนะก่อนหน้านี้หลายสิบปีมาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากละหมาดวันศุกร์เป็นอิบาดะฮ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องทำตามแบบอย่างโดยเคร่งครัด ซึ่งมีรูปแบบตามศาสนากำหนดที่ชัดเจน โดยไม่สามารถเพิ่มเติม แก้ไขใดๆ ทั้งนี้ท่านนบีฯได้ทำเป็นแบบอย่างและได้ทิ้งร่องรอยทั้งคำพูด การกระทำที่ชัดเจน ตั้งแต่ศุกร์แรกที่ถูกบัญญัติ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตและได้มีการถ่ายทอดแบบอย่างดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงยุคปัจจุบัน โดยไม่มีการเพิ่มเติมแก้ไขใดๆ ในขณะที่การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามรูปแบบดังกล่าว ขัดแย้งกับต้นแบบของอิสลามการอุตริกรรมในลักษณะนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนบีและทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ ทัศนะนี้มีหลักฐานอันชัดเจนดังนี้

1. อัลลอฮ์กล่าวความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้” (อัลญุมุอะฮ์/9)
นักกฏหมายอิสลามได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์ ถือเป็นสิ่งวาญิบ และการละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เช่นเดียวกับหะดีษมากมายที่ส่งเสริมให้เดินทางไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ตั้งแต่เช้า โดยมีผลบุญลดหลั่นกันไป ประเด็นคือ หากละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ เราจะปฏิบัติสัญลักษณ์หนึ่งของวันศุกร์นี้ได้อย่างไร

2. การละหมาดวันศุกร์คือการละหมาดแทนที่ซุฮริ เพราะซุฮรีเป็นฟัรฎูดั้งเดิมซึ่งถูกบัญญัติไว้ในคืนอิสรออฺ ก่อนการบัญญัติละหมาดวันศุกร์ ดังนั้น เมื่อการละหมาดแทนไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ต้องกลับสู่สภาวะดั้งเดิมคือละหมาดซุฮรี

3. การละหมาดวันศุกร์ออนไลน์ที่บ้านถือเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของอิสลามและอาจนำไปสู่การยกเลิกละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮ์โดยปริยาย เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะหากฟัตวาว่า การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแบบออนไลน์ เป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้นการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในแต่ละวัน ก็เป็นที่อนุญาตเช่นกัน ทำให้บทบาทของมัสยิดเลือนหายไปในอนาคตผู้คนอาจสร้างมัสยิดอาคารเล็กๆที่จุแค่คนละหมาดเพียง 2-3 คนเท่านั้น เพราะแต่ละคนสามารถละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ได้

4. นักกฎหมายอิสลามได้กำหนดเงื่อนไขการละหมาดตามอิมาม คือการรวมตัวกันระหว่างอิมามและมะมูมในสถานที่เดียวกัน มะมูมสามารถรับรู้หรือมองเห็นความเคลื่อนไหวของอิมามได้ หากไม่มีเงื่อนไขนี้ การละหมาดเป็นโมฆะ อีกประการหนึ่งระหว่างอิมามกับมะมูมไม่มีสิ่งกีดขวางที่มีขนาดใหญ่ เช่นฝาผนัง แม่น้ำที่เรือเเล่นผ่านได้ หรือสิ่งกีดขวางที่มะมูมไม่สามารถเข้าถึงอิมามได้ยามต้องการ ซึ่งการละหมาดตามอิมามแบบออนไลน์นี้ไม่สามารถทำได้ในลักษณะนี้ จึงทำให้การละหมาดนี้เป็นโมฆะ

5. ในกรณีที่เราเห็นด้วยกับทัศนะที่อนุญาตละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เราสามารถอนุมานใช้หลักคิดในการสนับสนุนทัศนะนี้จากสองกรณีเท่านั้นคือ
1) กรณีภาวะฉุกเฉินและการได้รับการยกเว้น
2) กรณีอ้างบทบัญญัติดั้งเดิม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ถือเป็นโมฆะเพราะในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะการได้รับการยกเว้น เราไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะบทบัญญัติได้เสนอทางออกแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบว่าละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดแทนที่ซุฮรี ดังนั้นเมื่อมันไม่สามารถทำได้หรือมีเหตุสุดวิสัยที่จำเป็นต้องยกเลิก ก็ให้กลับสู่ภาวะดั้งเดิมนั่นคือละหมาดซุฮรี

ส่วนการอ้างบทบัญญัติดั้งเดิมนั้น อาจทำให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์วิกฤตนี้คลี่คลาย ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่นักกฏหมายอิสลามกล่าวถึง

สรุป การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เป็นการละหมาดที่โมฆะ ในบทบัญญัติอิสลาม ไม่สามารถใช้แทนละหมาดซุฮรีได้ และการละหมาดญะมาอะฮ์ในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นสิ่งโมฆะยิ่งกว่า

ดูเพิ่มเติม
https://www.e-cfr.org/%d8%a7%d9%84%d8%a8%d9%8a%d8%a7%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%ae%d8%aa%d8%a7%d9%85%d9%8a-%d9%84%d9%84%d8%af%d9%88%d8%b1%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%b7%d8%a7%d8%b1%d8%a6%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%ab%d9%84%d8%a7%d8%ab/?fbclid=IwAR0g5x85DsHCgdcT50xOrWb6XS8XgmBkLn-yL8mFLgRvkDcazq9TRKiQIro

เหตุการณ์งดละหมาดที่มัสยิดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 2)

○ บทความโดย บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า

● โศกนาฏกรรมแอมมาอุส

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง “ ภัยพิบัติแห่งเอมมาอูส” (หมู่บ้านในปาเลสไตน์ที่ตั้งอยู่ประมาณ 28 กม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจาฟฟาและถูกทำลายโดยชาวยิวในปี ค.ศ 1967) และระบาดไปทั่วแคว้นชาม ในปี ฮ.ศ.18/ค.ศ.639 ทำให้ซอฮาบะฮ์และตาบิอีนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิต จนกระทั่งคอลีฟะฮ์อุมัร บินค๊อตตอบ (เสียชีวิต ฮ.ศ.23/ค.ศ.643 ) สาบานว่าจะไม่ลิ้มรสไขมัน นมหรือเนื้อสัตว์ จนกว่าผู้คนจะมีชีวิตรอด ดังที่อิบนุอะษีร (เสียชีวิต ฮ.ศ.630 /ค.ศ.1232 )นักประวัติศาสตร์ รายงานในหนังสือของเขา “อัลกามิล ฟิตตารีค” แต่เรื่องราวเกี่ยวกับรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ เป็นสิ่งที่หายากมาก แต่ผู้เขียนพบเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุดจบของโศกนาฏกรรมแอมมาอูสตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือยุคโบราณ

อิหม่ามอะหมัด บินหัมบัล (เสียชีวิต ฮ.ศ.241 / ค.ศ.855 ) ในหนังสือ “อัลมุสนัด” รายงานหะดีษจากชัรห์ บินเฮาชับ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 112 / ค.ศ.730 ) ซึ่งเล่าจากพ่อเลี้ยงของเขาว่า “เขาได้เห็นกาฬโรคระบาดในแอมมาอูส ซึ่งมี อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ เป็นผู้ปกครอง เสียชีวิตเพราะโรคระบาดนี้ หลังจากคนผู้คนได้มอบอำนาจการนำแก่อัมร์ บินอาศ(เสียชีวิต ฮ.ศ.43 /663 ) เขาได้ยืนขึ้นแล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านทั้งหลาย ความเจ็บปวดนี้เมื่อมันเกิดขึ้น ก็จะลุกลามเหมือนไฟ ดังนั้นพวกท่านจงแยกย้ายกันออกไปอาศัยอยู่ตามภูเขา” บางสำนวนกล่าวว่า “พวกท่านจงแยกย้ายหนีจากมัน ออกไปอาศัยอยู่ตามภูเขาและลุ่มน้ำโอเอสิส” อบูวาษิละฮ์ อัลฮุซะลีย์ กล่าวขึ้นว่า “คนโกหก ตอนที่ฉันเป็นสาวกผู้ศรัทธาต่อท่านศาสนทูต ท่านยังเลวกว่าลานี้ของฉัน” (เขาตำหนิที่อัมร์เข้ารับอิสลามล่าช้า ) อัมร์จึงกล่าวว่า “ฉันจะไม่ตอบโต้ท่าน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เราจะไม่อยู่ที่นี่” แล้วท่านก็ออกไป ผู้คนจึงพากันแยกย้ายกันไป จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ให้โรคระบาดดังกล่าวหายไปในที่สุด ผู้เล่ากล่าวต่อว่า เมื่อความทราบไปถึงท่านอุมัรเกี่ยวกับนโยบายของอัมร์ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านอุมัรไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด “

ความจริงก็คือเรื่องเล่านี้ มีรายงานขัดแย้งกันว่า ผู้คนยอมรับความคิดเห็นดังกล่าวของอัมร์ บินอาศ หรือไม่ แต่การสิ้นสุดของภัยพิบัตินั้นเพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากกว่า และคำพูดที่ว่า “แยกย้ายกันไปอยู่ตามภูเขาสูง ตามเส้นทางในหลืบเขา หรือลุ่มน้ำโอเอสิส ” ปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นด้วยสายรายงานที่แตกต่างกัน ทั้งในตำรา “ตะห์ซีบ อัลอาษาร์” ของ อัตตอบารีย์ และในตำรา “อัศศอเหียะห์” ของอิบนุคุซัยมะฮ์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.311/ค.ศ.923) และอิบนุหิบบาน (เสียชีวิต ฮ.ศ.354/ค.ศ. 965)

ดังนั้นตามความรู้ของเรา อัมร์ บินอาศ ถือเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้มีการแยกกลุ่มเพื่อเผชิญหน้ากับโรคระบาด ไปอาศัยอยู่ตามยอดเขา และลุ่มน้ำโอเอสิส เพื่อป้องกันโรค ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีการละหมาดวันศุกร์ เพราะไม่มีหลักให้ปฏิบัตินอกจากในชุมชน หมู่บ้าน หรือในเมือง

ในแง่ของรายงานที่ขัดแย้งกันว่าผู้คนที่ใช้หรือปฏิเสธความเห็นของอัมร์ บินอาศ ผู้นำของพวกเขา เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสาวกของท่านนบี และตาบิอีนผู้ที่อยู่กับพวกเขา ได้ละทิ้งละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ อันเนื่องจากการเกิดโรคระบาด แต่เรามีหลักฐานการเรียกร้องให้งดตั้งแต่ยุคของพวกเขา

เหตุผลในการประท้วงความเห็นของอัมรจากอบูวาษิละฮ์ ซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่ง ไม่มีในรายงานอื่นๆนอกจากสายรายงานนี้ ในขณะที่สายรายงานอื่นๆระบุว่าผู้คัดค้านคือชุรอห์บีล บินหะซะนะฮ์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เสียชีวิตจากโรคระบาดในแอมมาอุส ความเห็นต่างเนื่องมาจาก ความเข้าใจว่า – และพระเจ้าทรงทราบดีที่สุด – ข้อห้ามตามหะดีษนั้นคือ การหลบหนีจากโรคระบาดทุกกรณี ในขณะที่อัมร์เข้าใจว่า ข้อห้ามตามหะดีษนั้นคือ การหลบหนีจากโรคระบาดไปยังอีกเมืองหนึ่งเพราะเกรงว่าภัยพิบัติจะติดต่อไปยังเมืองนั้น และมิได้ห้ามมิให้หนีจากที่นั่นไปยังที่ที่ไม่มีใครอาศัย เช่น ยอดเขา แหล่งน้ำโอไอสิส หรือหลืบเขา

● โรคระบาดในมักกะฮ์

ตำราประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวถึงการงดศาสนกิจที่มัสยิดต่างๆ หลายๆ ครั้งเนื่องจากโรคระบาด รวมถึงมัสยิดหะรอมมักกะห์เอง ก็ไม่ได้รอดพ้นจากเหตุการณ์นี้ ดังที่ฮาฟิซอิบนุหะญัร(ฮ.ศ.852/ค.ศ.1448 ) กล่าวไว้ในหนังสือ ‘إنباء الغُمْر بأبناء العمر โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.827 / ค.ศ.1423 ว่า

“และต้นปีนี้ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในนครมักกะห์ มีผู้เสียชีวิต 40 คนทุกวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอบีอุลเอาวัลเดือนเดียว มีมากถึง 1700 คน เล่ากันว่า อิหม่ามประจำมะกอมอิบรอฮีม ซึ่งถือมัซฮับชาฟิอีย์ มีผู้ร่วมละหมาดเพียง 2 คน และอิหม่ามมัซฮับอื่นๆ ที่เหลือ ไม่มีการละหมาดเพราะไม่มีผู้มาละหมาด

ผู้ตายเพียงเดือนเดียวที่มากถึง 1700 คน น่าจะเป็นเหตุผลทำให้การละหมาดในมัสยิดหะรอมเกือบงดโดยสิ้นเชิง

และไม่กี่ศตวรรษก่อนหน้านั้น อิบนุอะซารีย์ อัลมะรอคิชีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.695/ ค.ศ.1295 ) กล่าวในหนังสือالبيان المُغرب في أخبار الأندلس والمغرب ‘แถลงการณ์โมร็อกโกในข่าวของดาลูเซียและโมร็อกโก’ บอกเราว่า มีโรคระบาดครั้งใหญ่ในตูนีเซียในปี ฮ.ศ. 395/ค.ศ.1004 ทำให้เกิดสินค้าราคาแพง ขาดอาหารยังชีพ .. และคนมากมายเสียชีวิต มีทั้งคนรวยและยากจน ดังนั้นคุณจะไม่เห็นพฤติกรรมใดๆ ยกเว้น การรักษาหรือเยี่ยมคนป่วยหรือจัดการศพ และบรรดามัสยิดในเมืองกัยรอวาน ล้วนไร้ผู้คน “

● โรคระบาดในแอนดาลูเซีย

ในแอนดาลูเซียก็มีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้น อิหม่ามซะฮะบีย์พูดถึงในหนังสือ “ตารีคอิสลาม ‘ประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม” บันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.448/ ค.ศ.1056 เขากล่าวว่า

“ในปีนี้เกิดความแห้งแล้งครั้งยิ่งใหญ่รวมถึงโรคระบาดในเมือง Seville มีคนตายจำนวนมาก มัสยิดถูกปิดตายไม่มีผู้ละหมาด”

และอิหม่ามซะฮะบีย์ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ ในหนังสือ “ซิยัร อะลามนุบะลาอ์” บันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.448/ค.ศ.1056 ว่า

“ความแห้งแล้งครั้งยิ่งใหญ่ในแอนดาลูเซีย คอร์โดบาไม่เคยพบยุคแห่งความแห้งแล้งและโรคระบาดเหมือนในปีนี้ จนกระทั่งมัสยิดถูกปิดตาย ไม่มีผู้ละหมาด และปีนี้ถูกเรียกว่า “ปีแห่งความหิวโหย”

ในปีถัดไป ( ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 ) อิบนุอัลเจาซีย์ ได้ให้รายละเอียดที่น่ากลัวเกี่ยวกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายและคร่าชีวิตคนอย่างรวดเร็ว โรคระบาดนี้แพร่กระจายไปในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่า “เอเชียกลาง”คร่าชีวิตผู้คนประมาณสองล้านคน ต่อมาได้แพร่มายังด้านตะวันตกจนใกล้ถึงชายแดนอิรัก โดยอิบนุอัลเจาซีย์ กล่าวว่า “ในเดือนจุมาดัลอาคิเราะฮ์ ( ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 ) จดหมายจากจากพ่อค้าเอเชียกลางระบุว่า มีการแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ในดินแดนเหล่านี้ ในภูมิภาคนี้วันหนึ่งมีคนตายหมื่นแปดพันศพ และจำนวนคนที่ตายจนกระทั่งเวลาเขียนหนังสือนี้ มีจำนวน 1,650,000 ราย “!!

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3576
บทความต้นฉบับ https://bit.ly/2V6mJhF

เหตุการณ์งดละหมาดที่มัสยิดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1)

○ บทความโดย บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า

“มีโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ ผู้คนที่ผ่านไป พวกเขาเห็นแต่ตลาดที่ว่างเปล่า ถนนที่ว่างเปล่า และประตูที่ปิด และมัสยิดส่วนใหญ่ก็ว่างเปล่า” ด้วยคำพูดเหล่านี้ อิหม่ามอิบนุอัลเจาซีย์ (เสียชีวิต ค.ศ.1200 ) นักประวัติศาสตร์ อธิบายให้เห็นถึงการแพร่ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 และทำให้โลกในเวลานั้นและชีวิตของผู้คนเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เหมือนกับภาพของโลกอันเนื่องการระบาดของโควิด 19 ในวันนี้

การแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อรายละเอียดของโลกของเรามากที่สุด โลกหยุดการทำงาน ชะลอการศึกษา เลื่อนการเดินทาง ล้มเลิกแผนการที่วางไว้ และทำให้พวกเขาที่อยู่บ้านเดียวกันต้องกระจัดกระจายในขณะที่กักตัวอยู่ในบ้าน

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมไม่เห็นด้วยและไม่สับสนเกี่ยวกับสิ่งนี้ เหมือนกับความสับสนเกี่ยวกับปัญหารูปแบบการละหมาดของพวกเขา ทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ ที่พวกเขารวมตัวกันที่มัสยิดวันละ 5 ครั้ง

ในขณะที่รัฐบาลของประเทศอิสลามส่วนใหญ่เห็นด้วย – แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางการเมือง – แต่ก็เห็นพ้องกันในการปิดสถานที่ชุมนุมทั้งหมดรวมถึงมัสยิดและศาสนสถาน โดยความเห็นชอบของสภาฟิกฮ์และสภาฟัตวาจำนวนมาก ท่ามกลางการคัดค้านของนักฟิกฮ์และนักเผยแผ่ศาสนาจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นด้วยกับการถือว่าการปิดมัสยิดเป็นเรื่องกระทบกระเทือนหัวใจของชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของกะอฺบะห์และลานเตาวาฟที่ปราศจากผู้คนมาทำพิธีเตาวาฟ พิธีละหมาด สุหยุดหรือรุกั๊วะ

ทั้งนี้ หนังสือนิติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์อิสลาม ได้ถ่ายทอดข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ที่ยืนยันการงดละหมาด ทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการงดละหมาดในมัสยิดหะรอมมักกะฮ์และมาดีนะฮ์ ตลอดจนมัสยิดอักซอ

จุดประสงค์ของบทความนี้คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โดดเด่นที่สุดและตรวจสอบสาเหตุที่สำคัญที่สุดโดยไม่เน้นรายละเอียดของการถกเถียงในประเด็นหลักนิติศาสตร์อิสลาม

○ การงดไปมัสยิดในส่วนของปัจเจกบุคคล

ในระดับปัจเจกบุคคลชาวมุสลิม หนังสือกฎหมายอิสลามมากมายกล่าวถึงรายละเอียดกรณีอนุโลมงดไปมัสยิดและการขาดการเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ หากกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่น ๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลเกี่ยวกับโรคร้าย ความปลอดภัย ภัยธรรมชาติ หรือผลกระทบทางจิตใจ

หนังสือฟิกฮ์ในมัซฮับต่างๆ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในบรรดาบุคคลแรกสุดที่อธิบายเรื่องนี้ คือ อิหม่ามอัลชาฟีอีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.204/ค.ศ.819 ) ได้ขยายรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลต่างๆ ที่อนุโลมให้งดไปละหมาดวันศุกร์ได้ โดยหลักแล้วเป็นเหตุผลด้านสุขภาพอนามัย สิ่งที่ประหลาดที่สุดที่อิหม่ามพูดถึงคือ การงดไปละหมาดวันศุกร์เพราะกลัวอำนาจทางการเมือง

อิหม่ามอัลชาฟีอีย์กล่าวในหนังสือ “อัลอุมม์” ว่า

“إن كان خائفا إذا خرج إلى الجمعة أن يحبسه السلطان بغير حق كان له التخلف عن الجمعة”.
“ถ้าเขากลัวว่าถ้าออกไปรัฐจะกักขังเขาโดยไม่ชอบธรรม เขามีสิทธิงดไปละหมาดวันศุกร์”

ที่น่ารักกว่านั้น หนึ่งในเหตุผลงดไปละหมาดวันศุกร์ กรณีลูกหนี้ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้และกลัวว่าเจ้าหนี้จะคุกคามและกักขัง โดยอัลชาฟีอีย์ที่กล่าวว่าใน “อัลอุมม์” ว่า

وإن كان تغيّبه عن غريم لعُسرة وَسِعَه التخلّف عن الجمعة
“ลูกหนี้ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ มีสิทธิงดไปละหมาดวันศุกร์”

ในทางกลับกัน นักกฎหมายอิสลามอนุญาตให้เจ้าหนี้งดเว้นละหมาดญามาอะฮ์ได้ ถ้าเขากลัวการหายตัวไปของลูกหนี้และเสียสิทธิของเขา เนื่องจากอิหม่ามบัดรุดดีน อัลอัยนีย์ ( เสียชีวิต ฮ.ศ. 855/ค.ศ.1451 ) ในหนังสือ “อุมดะตุลกอรี ฟีชัรห์ ศอเหียะห์ อัลบุคอรีย์” วิเคราะห์บทบัญญัติจากหะดีษบทหนึ่งว่า

جواز التخلف عن الجماعة خوف فوات الغريم
“อนุญาตให้เจ้าหนี้งดเว้นละหมาดญามาอะฮ์ได้ ถ้าเขากลัวการหายตัวไปของลูกหนี้”

ปราชญ์จำนวนไม่น้อยอนุญาตให้งดการเข้าร่วมละหมาดที่มัสยิด เพราะกลัวความวุ่นวายทางการเมืองหรืออื่นๆ ดังที่อิหม่ามซะฮะบีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.748/ค.ศ.1347) รายงานใน “ซิยัรอะลามนุบะลาอ์” – จากมุตริบ บินอับดุลลอฮ์ อัชชุกัยรี (ฮ.ศ.95/ค.ศ.713 ) ว่า “เมื่อผู้คนเข่นฆ่ากัน ก็จงอยู่กับบ้าน ไม่ต้องไปละหมาดวันศุกร์หรือละหมาดญามาอะฮ์ร่วมกับผู้คนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”

บางที แนวปฏิบัติของอิหม่ามผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ในการงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ กรณีกลัวว่าจะได้รับอันตรายร้ายแรง เป็นพื้นฐานในการงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ไว้สำหรับทุกกรณีที่สามารถนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรง มีรายงานว่า ท่านอิหม่ามมาลิกปฏิบัติแนวนี้ โดยในบั้นปลายชีวิต ท่านละหมาดที่บ้านและไม่ได้ไปละหมาดที่มัสยิดนาบาวี เป็นเวลาถึง 18 ปี ดังที่อัลกุรตูบี ( ฮ.ศ. 672 ) ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “อัตตัซกิเราะฮ์”

ในทำนองเดียวกัน นักวิชาการบางคนกระทำในการประท้วงต่อต้านการบังคับใช้อำนาจของราชวงศ์อับบาสิด ในรัชสมัยของคอลีฟะฮ์อัลมะมูน ( ฮ.ศ.218/ค.ศ.833 ) ให้คนเชื่อว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก” ดังที่อิบนุอัยบัก อัดดะวาดะรีย์ (เสียชีวิตหลัง ฮ.ศ. 736/ค.ศ.1335 )กล่าวในหนังสือ كنز الدرر وجامع الغرر ว่า ในปี ฮ.ศ.218/ค.ศ. 833 เกิดวิฤติใหญ่ และเกิดทัศนะว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก-สิ่งที่อัลลอฮ์สร้างขึ้น” ผู้เห็นต่างถูกประหารชีวิต ทำให้อุลามาอ์และผู้นำศาสนาต่างพากันกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปละหมาดญามาอะฮ์ในมัสยิด และมีผู้ถูกฆ่าจำนวนมาก”

อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลหนึ่งหรือคนจำนวนเล็กน้อยละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ แตกต่างจากการปิดมัสยิดที่ประชาชนทุกคนต้องละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่านักฟิกฮ์ยุคก่อนๆ ไม่ได้วินิจถึงเรื่องนี้ แต่มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์อิสลาม ดังรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไป

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3578
บทความต้นฉบับ https://bit.ly/2V6mJhF

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ออกคู่มือการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน ในช่วง COVID-19

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ออกคู่มือการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตโคโรน่า (โควิด-19) ฉบับภาษามลายู อักษรรูมี

คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตโคโรน่า (โควิด-19) ฉบับภาษามลายู อักษรรูมี พิมพ์และเผยแพร่โดย สภาอุละมาอฺมาเลเซีย คำนิยมโดย Dato’ AL-Syeikh Hj. Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย

คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตไวรัส โคโรนา COVID-19

เป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สุดที่มุสลิมทุกคนต้องรีบหาเป็นเจ้าของพร้อมอ่านและศึกษา ท่ามกลางสังคมมนุษย์กำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือฉบับกระทัดรัดที่ได้สรุปเนื้อหาและประเด็นความรู้พร้อมทั้งเสนอวิธีปฏิบัติในการเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายครั้งนี้ตามคำสอนของอิสลามได้อย่างสร้างสรรค์และมีจินตนาการเห็นภาพได้ชัดเจน ใช้ภาษาที่เรียบง่ายด้วยฝีมือการแปลของทีมงานคุณภาพที่ได้แปลจากต้นฉบับเดิมในภาษามลายูอักขระยาวีตามความถนัดของผู้เขียน

ผู้เขียนและทีมงานได้เสียสละใช้เวลาอย่างคุ้มค่าช่วงกักตัวในบ้านผลิตผลงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ชิ้นนี้ ขออัลลอฮ์ตอบแทนด้วยความดีงามแก่ผู้เขียนและทีมงานทุกท่าน

وجزاكم الله خيرا وعافانا الله وإياكم من كل بلاء الدنيا وعذاب الآخرة سائلين المولى عز وجل أن يرفع عنا وباء كوويد ١٩ ويجعلنا جميعا سالمين معافين برحمتك يا أرحم الراحمين

ระหว่างอิบาดัตกับอาดัต

คิดจะทำอิบาดัต สิ่งแรกที่ต้องถาม คือ ใครสั่งให้ทำ และคำสั่งมีความถูกต้องแค่ไหน เพราะภาวะดั้งเดิมของอิบาดัต เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นสิ่งที่ปรากฏในชะรีอะฮ์ด้วยหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน

คิดจะทำอาดัต (เรื่องดุนยา) สิ่งแรกที่ต้องถาม คือ ชะรีอะฮ์ห้ามหรือไม่ เพราะภาวะดั้งเดิมของอาดัตเป็นสิ่งที่กระทำได้ ยกเว้นสิ่งที่ชะรีอะฮ์ห้ามด้วยหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน

อิสลามเข้มงวดเรื่องอิบาดัตและถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของอัลลอฮ์และรอซูลเท่านั้น แต่อิสลามให้อิสระสร้างสรรค์เรื่องดุนยาได้อย่างเต็มที่ ตราบใดไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม

ดังนั้นทุกคนต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของอิบาดัตและอาดัตให้ดี

เรื่องอิบาดัต เราต้องมอบหมายให้เป็นเรื่องของอัลลอฮ์และรอซูล เรามีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น เรื่องอาดัต อัลลอฮ์และรอซูลมอบหมายให้เราคิดค้น สร้างนวัตกรรมอย่างสุดความสามารถ ตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักการ

อย่าอุตริ คิดค้น สร้างนวัตกรรมในเรื่องอิบาดัต แต่กลับลอกเลียนเรื่องอาดัต โดยไม่คิดที่จะพัฒนาเลย

คนยุคก่อนเขาจะเลียนแบบเรื่องอิบาดัตอย่างเคร่งครัด และสร้างนวัตกรรมเรื่องอาดัตอย่างสุดความสามารถ พวกเขาจึงสามารถครองโลกนี้ได้

ยุคเรา คอยสร้างนวัตกรรมด้านอิบาดัต แต่กลับเฉื่อยชาด้านอาดัต เราจึงถอยหลังเข้าคลอง และถูกทิ้งห่างจากความเจริญ

ขอย้ำ อิบาดัตเป็นเรื่องอัลลอฮ์และรอซูลกำหนด ส่วนอาดัตเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนา

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ภักดีต่ออัลลอฮ์ที่เข้าใจวิถีของอัลลอฮ์

ในโลกใบนี้ ไม่มีพื้นที่ไหน ประเสริฐยิ่งกว่า มักกะฮ์ มะดีนะฮ์และอัลกุดส์
ในโลกนี้ไม่มีมัสยิดไหนที่ประเสริฐยิ่งกว่ามัสยิดหะรอม มัสยิดนบีและมัสยิดอัลอักศอ

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19
ทางการไม่อนุญาตเข้ามักกะฮ์ มะดีนะฮ์และอัลกุดส์
แม้กระทั่งคนทั่วไปก็ยังไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปใน 3 มัสยิดดังกล่าว
เพราะโรคระบาด เป็นวิถีของอัลลอฮ์ที่มีสาเหตุและวิธีป้องกันที่ชัดเจน

ผู้ใดที่ทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ที่ผิดวิสัยวิถีของอัลลอฮ์ เช่นไปละหมาดในดงเสือ ไปซิกิร์ในซ่องโจร
หากเขาโดนเสือขย้ำหรือโดนโจรรุมทำร้าย เขาอย่าไปตำหนิใครยกเว้นตัวเอง

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

อย่าตกขบวนคาราวานองค์ความรู้

ขอสื่อสารไปยังนักวิชาการมุสลิม(บางคน) กรณีวิกฤตโควิด 19
“ต้องเกาะติดคาราวานองค์ความรู้ให้ได้”

วิกฤตโควิด19 ครั้งนี้ เป็นเสมือนระฆังเตือนจากอัลลอฮ์ที่ต้องการตักเตือนบ่าวของพระองค์บางอย่าง แต่ ณ ตรงนี้ผู้เขียนขอเน้นบทบาทและหน้าที่ของนักวิชาการต่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการวางตัวของมุสลิมในวิกฤตโควิด 19 นี้ บางส่วนดังนี้

1. วิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้ ทุกคนทราบดีว่าเป็นวิกฤตโลกที่สร้างผลกระทบระดับโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจระดับของปัญหา พร้อมคำตอบและทางออก เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องเกาะติดคาราวานแห่งความรู้ระดับโลกให้เท่าทัน โดยเฉพาะการรู้จักใช้ประโยชน์กับการค้นคว้าศึกษาจากสื่อโซเชียลยุคปัจจุบัน ที่องค์ความรู้ใหม่ๆที่มีประโยชน์อเนกอนันต์ได้ไหลทะลักและแพร่กระจายไปทั่วมุมโลก จะเป็นนักวิชาการ ห้ามตกขบวนคาวารานความรู้ชุดนี้เป็นอันขาด

2. หน้าที่ของนักวิชาการและผู้รู้ในบ้านเราคือพยายามรวบรวมและเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง แล้วนำมาเล่าต่อให้ชาวบ้านฟังด้วยจรรยาบรรณและเต็มด้วยความรับผิดชอบ อย่าทะลึ่งทำความเข้าใจด้วยความรู้อันตื้นเขินและคับแคบของเรามาอธิบายปรากฏการณ์ระดับโลก เพราะวิกฤตระดับโลกต้องมีคณะผู้รู้ระดับโลกมาคลี่คลายและเสนอทางออก นักวิชาการบ้านเรามีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้เท่านั้น เพราะบทบัญญัติทางศาสนามีความถูกต้องเสมอ แต่ในบางครั้งความเข้าใจของนักวิชาการ ที่มีต่อตัวบทและบริบทอาจคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง

3. การวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรอบรู้ในภาพรวมของสิ่งนั้น “الحكم على الشيء فرع عن تصوره ” อัลลอฮฺได้กล่าวว่า فاسألوا أهل الذكر إن كنتم لا تعلمون ความว่า จงถามผู้รู้ หากเจ้าไม่รู้ (อันนะห์ลุ/43) ถึงแม้ผู้รู้ที่ประเสริฐที่สุดคือผู้รู้อัลกุรอาน แต่โองการนี้ยังหมายรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกด้วย ด้วยเหตุนี้อัลลอฮ์ใช้คำว่า أهل الذكر แต่ไม่ใช้คำว่า العلماء เพื่อสอนให้เราทราบว่า แต่ละแขนงวิชามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง พวกเขาเท่านั้นที่ควรให้คำตอบในแขนงวิชาที่พวกเขารอบรู้

โควิด19 เป็นวิกฤตใหม่ที่โลกใบนี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้นผู้ที่จะมาตัดสินชี้ชัดในรายละเอียด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านั้น ซึ่งวงการแพทย์เรียกว่า ภาควิชาระบาดวิทยา หรือวิทยาการระบาด ในขณะที่นักวิชาการมุสลิมหลังจากที่ได้เรียนรู้สภาพปัญหาอย่างครอบคลุมแล้ว เขาจะต้องนำมาเทียบเคียงและประยุกต์ใช้กับหลักชะรีอะฮ์ อาทิ หลักเจตนารมณ์พื้นฐานของชะรีอะฮ์ (مقاصد الشريعة )หลักเกาะวาอิดฟิกฮียะฮ์ (القواعد الفقهية )ที่มีรายละเอียดและข้อปลีกย่อยมากมาย นอกเหนือจากการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อบทบัญญัติในอัลกุรอาน หะดีษ และตำรับตำราของอุละมาอฺในทุกยุคทุกสมัย เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณากรณีวิกฤตโควิด 19 นี้ เพราะคำสอนของอิสลามที่ถูกต้อง ไม่เคยขัดแย้งกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ถูกต้อง อย่าอาศัยแค่หะดีษเพียงต้นเดียวหรือใช้หลักไวยากรณ์อาหรับมาพิจารณาแค่คำเดียว แล้วนำมาวินิจฉัยปรากฏการณ์วิกฤตระดับโลกในขณะนี้ (แถมยังอ่านหะดีษแบบผิดๆถูกๆ ด้วย แล้วดันทะลึ่งให้คำฟัตวา) ขอย้ำว่า อย่าใช้ตรรกะร้านน้ำชามาชี้ชัดประเด็นวิกฤตระดับโลกนี้

4. สำนักฟัตวา(ศาสนวินิจฉัย)ทั่วโลกอิสลามและโลกอาหรับ รวมทั้งสำนักจุฬาราชมนตรีของประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์แนวปฏิบัติของมุสลิมในวิกฤตโควิด 19 นี้อย่างชัดเจนและครอบคลุม การฟัตวาในแต่ละเรื่อง ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องจะต้องระดมสมองจากหลายฝ่าย มีการรวบรวมทัศนะต่างๆแล้วนำมาตกผลึกอย่างรอบคอบ เพราะพวกเขารู้ดีว่า การฟัตวาในสภาพวิกฤตินี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการปฎิบัติใช้ในสภาพปกติ ซึ่งหากดูผิวเผินแล้วอาจเป็นการย้อนแย้งและสวนทางกับคำสอนของอัลลอฮ์และรอซูลเลยทีเดียว ทั้งๆที่ในความเป็นจริง นี่คือความสวยงามของอิสลาม ที่มีทั้งความยืดหยุ่นและความหนักแน่น การผ่อนปรนและการบังคับใช้ ความง่ายดายและสลับซับซ้อนในตัวของมันเอง

5. ผู้เขียนสนับสนุน ชื่นชมและขอบคุณนักวิชาการมุสลิมทั้งระดับโลกและท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการวางตัวในสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 นี้ และระมัดระวังการชี้นำทางศาสนาโดยปราศจากความรอบรู้และความรอบคอบ ขอให้ทุกท่านทำหน้าที่นี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ พร้อมร่วมดุอาให้โลกผ่านวิกฤตินี้ ให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว

‏وما أريد إلا الإصلاح ما استطعت وما توفيقي إلا بالله عليه توكلت و إليه أنيب
‎اللهم يا رب أعنا على أن نتوب إليك توبة نصوحا وأن نكسب أفضل أسباب الوقاية الموفقة لمنع انتشار هذا الوباء القاتل وأن يلتزم مرضانا بأفضل العلاج ليتم الشفاء من عندك يا شافي ويا كافي اللهم بلغنا رمضان سالمين معافين مباركين صائمين قائمين وقد أذهبت عنا وعن العباد والبلاد هذا الوباء ذهابا لن يرجع أبدا وأنت على كل شيء قدير لا إله الا أنت سبحانك إني كنت من الظالمين وصلى الله على محمد وعلى آله وصحبه أجمعين والحمدلله رب العالمين