มหัศจรรย์แห่งวากัฟรอมฏอน | บันทึกรอมฎอน 1441 (9)

ตอนเย็นวันที่ 26 รอมฎอน 1441 เวลาประมาณ 5 โมงเย็น มีหญิงอายุเลย 60 ปีขับมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆมาจอดหน้าบ้าน พร้อมควักเงิน 1,000 บาท ยื่นให้พลางกล่าวว่า จะบริจาควากัฟมาดีนะตุสสลาม

ผมจึงกล่าวขอบคุณและดุอาให้เมาะและครอบครัว พร้อมถามว่า เมาะรวบรวมเงินอย่างไร

เมาะยิ้มพลางตอบว่า ไม่ได้ออมอะไรหรอก เพียงแต่ทราบว่าตนได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ยังไม่ไปเบิก จึงไปขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านไปก่อน เกรงว่าพอได้เงินก้อน อาจจะถูกนำไปใช้อย่างอื่นจนไม่เหลือที่จะวากัฟ จึงรีบชิงทำความดีที่ไม่สิ้นสุดไปก่อน ถึงแม้จะต้องไปเครดิตกับเพื่อนบ้านก็ตาม

นับถือวิธีคิดและซาบซึ้งจิตใจอันงดงามของเมาะจริงๆ เมาะสตาร์ทรถเครื่องกลับบ้านไปนานแล้ว แต่ผมยังยืนแน่นิ่งดูเมาะจนลับตา พร้อมน้ำอุ่นๆที่ไหลออกมาโดยไม่รู้สึกตัว

เย็นนี้ เมาะให้บทเรียนหลายข้อที่คุ้มค่าเหลือเกิน

โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ไม่มีอะไรที่กลับตาลปัตรและพลิกผันไปมากกว่านี้อีกแล้ว | บันทึกรอมฎอน 1441 (8)

47 ปีที่แล้ว ประเทศอ่าวอาหรับทั้งคูเวต กาตาร์ บาห์เรน เอมิเรตส์ ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียที่มีกษัตริย์ไฟศอลเป็นผู้นำได้ออกโรงตอบโต้สหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนอิสราเอลกรณีใช้กองกำลังบุกยึดปาเลสไตน์ ด้วยการพร้อมใจกันยุติการส่งออกน้ำมันแก่สหรัฐฯและฮอลแลนด์ เพื่อแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างรัฐบาลอิยิปต์และซีเรียที่กำลังทำสงครามกับอิสราเอลที่ปะทุขึ้นเมื่อ 10 รอมฎอน 1394 (6/9/1973)

47 ปีคล้อยหลัง ทั้งประเทศที่เคยร่วมทำสงครามและประเทศบางประเทศที่เคยสนับสนุนทำสงครามกับอิสราเอล ได้ร่วมใจพากันจับมือกับสหรัฐฯและอิสราเอลเพื่อประกาศสงครามกับกลุ่มต่อต้านอิสราเอล และพากันชี้หน้าพวกเขาว่ามีอะกีดะฮ์ที่บิดเบือน แนวคิดที่สุดโต่ง และทัศนคติที่ไม่สร้างสรรค์

—————-
ไม่มีอะไรที่กลับตาลปัตรและพลิกผันไปมากกว่านี้อีกแล้ว

รอมฎอนนี้ไม่มีเธอ | บันทึกรอมฎอน 1441 (7)

รอมฎอนนี้ไม่มีเธอ

10 กว่าปีที่แล้วได้เข้าร่วมเอี้ยะติก้าฟครั้งแรกที่มัสยิดอัตตะอาวุนบางปู อ. ยะหริ่ง จ. ปัตตานี และได้เข้าร่วมปฏิบัติเรื่อยมาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นความผูกพันที่สร้างความประทับใจมากมาย

ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้หลักผู้ใหญ่ระดับตำนานของหมู่บ้านสืบสานเรื่องราวในอดีตตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงมัสยิดกลางปัตตานี ขบวนการต่อสู้ของกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพ การเผยแพร่อิสลามยุคเริ่มก่อตั้งมัจลิสอิลมีย์ทุกเช้าวันเสาร์ที่บราโอ การริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนตาดีกาพร้อมตำนานมัสยิดไม้อายุกว่า 300 ปี แนวคิดปลูกฐานสร้างมัสยิดใหญ่โตที่มีเสามหึมาชูตระหง่านนานเกือบ 20 ปี แม้กระทั่งวิถีชุมชนตามเทศกาลต่างๆที่เล่าขานมาอย่างมิรู้เบื่อ

ถึงแม้ไม่สามารถถ่ายทอดได้อย่างครบเครื่องสมบูรณ์ แต่ผมพยายามบันทึกความทรงจำนี้ผ่านลำนำอนาชีดทั้งเวอร์ชั่นภาษามลายูและไทย

ส่วนอนาชีดที่ 3 เป็นภาพสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของชาวบางปู ภายใต้การกำกับดูแลของมัสยิดอัตตะอาวุน อันหมายถึง การเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน

เนื้อหาอนาชีดทั้ง 3 เป็นเพียงรอยน้ำที่ติดอยู่กับเข็มที่จุ่มในทะเลแห่งอัตตะอาวุน

เพราะในความเป็นจริง มันจะพราวกว่าเนื้ออนาชีดไม่รู้กี่ร้อยพันเท่า

รอมฎอนปีนี้ ถึงแม้ไม่มีเธอ แต่จะพยายามเก็บเกี่ยวความทรงจำตราบนานเท่านาน


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ข่าวด่วน | บันทึกรอมฎอน 1441 (6)

ไวรัสตัวใหม่กำลังมาแรงใน 3 จว. แดนใต้
เริ่มก่อตัวแพร่เชื้ออย่างเร้าใจสุดๆ

ข่าวล่าสุดแจ้งว่า เฉพาะในเมืองยะลาระบาดหนักกว่า 5 จุดแล้ว
ในเมืองปัตตานียังไม่สามารถควบคุมได้
ส่วนในเมืองนราฯคาดว่าจะบานปลาย
ล่าสุดที่หาดใหญ่ผุดแล้ว 4 จุด ในวันเดียว
จังหวัดอื่นๆกำลังลุ้นระทึก

ปรากฏการณ์แชร์ลูกโซ่แห่งความดี
ที่มาช่วงรอมฎอน 1441 นี้
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
ไวรัสใหม่กำลังระบาด

“ตู้ปันสุข”
ภายใต้สโลแกน #หยิบแต่พอดี_ถ้าท่านมีก็แบ่งปัน


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

อาหารเหลือกิน | บันทึกรอมฎอน 1441 (5)

สิ่งหนึ่งที่มักเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในเดือนรอมฎอนคืออาหารเหลือกิน ที่กลายเป็นขยะในวันรุ่งขึ้น หากคิดเป็นเงินที่ครัวมุสลิมทิ้งอาหารเหลือกินวันละเพียง 5 บาทต่อวัน ถามว่าเราทิ้งเงินอย่างสูญเปล่าวันละกี่ล้านบาท หากคิดทั้งเดือนรอมฎอนแล้ว ตัวเลขจะสูงมากจนตกใจ

ลองคิดหยาบๆดูว่า เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มี 300,000 ครัวเรือน x 5 บาท x 30 วัน = 45,000,000 บาท
เงินจำนวนนี้สามารถสร้าง
1. บ้านสำหรับคนไร้บ้านราคาหลังละ 500,000 บาท ได้ 90 หลัง หรือ
2. สร้างมัสยิดงามๆ 9 หลังราคาหลังละ 5 ล้าน
3. สร้างอาคารเรียนตาดีกาอาคารละ 1 ล้าน จำนวน 45 หลัง หรือ
4. มอบทุนการศึกษาระดับ ป. ตรี สำหรับโครงการช้างเผือกในสาขาวิชาขาดแคลน คนละ 1 ล้านได้ถึง 45 ทุน หรือ
5. ฯลฯ

เราจะมีวิธีการจัดการอาหารเหลือกินนี้อย่างไร

โครงการ “ตู้ปันสุข” น่าจะแก้ได้ในระดับหนึ่ง

เชื่อว่าหากในแต่ละชุมชนจัด “ตู้ปันสุข” อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากยังสามารถจัดกิจกรรม “ชุมชนช่วยชุมชน” แล้ว เรายังแก้ปัญหา อาหารทิ้งในวันรุ่งขึ้นได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย

“ทำดี ทำได้ ไม่ต้องเดี๋ยว”
———————-
ปล. อาหารเหลือกินตรงนี้ ไม่ใช่เศษอาหารที่เราเหลือเก็บนะครับ แต่สำหรับบางคนเก็บอาหารเยอะแยะในห้องครัวหรือตู้เย็น ที่ไม่รู้จะคิดยังไงที่จะกินให้หมด แต่มันคืออาหารอันแสนเอร็ดอร่อยของคนบางครอบครัว


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ตู้ปันสุข 3 จังหวัดชายแดนใต้ | บันทึกรอมฎอน 1441 (4)

เท่าที่ทราบ รอมฏอนปีนี้ น่าจะเป็นรอมฎอนแรกที่มีการริเริ่มจัด “ตู้ปันสุข” ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้สโลแกน “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมี ใส่ตู้แบ่งปัน”

ขอขอบคุณองค์กรและบุคคลที่ริเริ่มจัดโครงการที่มีประโยชน์ยิ่งนี้ โดยเฉพาะทีมงาน IAC เครือข่ายองค์กรมุสลิมสู้ภัยโควิด-19 ถือเป็นการริเริ่มความดีงามในอิสลาม ที่สามารถเกิดผลบุญให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง และเป็นการสะสมผลบุญรวมกับคนที่ทำเป็นแบบอย่างหลังจากนั้นอีกด้วย ตามนัยหะดีษที่รายงานโดยมุสลิม/1017

ขอสนับสนุนกิจกรรม ”แชร์ลูกโซ่” ชนิดนี้ และอยากเชิญชวนให้แต่ละชุมชนนำไปปฏิบัติต่อโดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง เท่าที่มีความสามารถและสถานการณ์เอื้ออำนวย

ถือเป็นหนึ่งในโมเดล “ชุมชนช่วยชุมชน” Kampong bantu Kampong ที่แสนธรรมดาแต่ด้วยพลังใจอันแสนยิ่งใหญ่มาก

ทั้งผู้ยื่นมือให้และผู้ยื่นมือรับ ต่างก็ต้องมีพื้นฐานจิตสำนึกที่สำคัญมากๆไม่แพ้กันคือ “ความรู้สึกอยากแบ่งปัน”

جزاكم الله خيرا وندعوه سبحانه وتعالى أن يكتب هذه الأعمال في سجلات حسناتكم يوم القيامة

เอื้อเฟื้อภาพ Sukree Semmard


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

การเอี้ยะติก้าฟ ช่วง10 วันสุดท้าย | บันทึกรอมฎอน 1441 (3)

จำได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วทุกครั้งที่รอมฎอนมาถึง หนึ่งในเรื่องที่เป็นที่โจษจันของพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดคือ การเอี้ยะติก้าฟ ช่วง10 วันสุดท้าย

ชาวบ้านบอกว่าเป็นเรื่องแปลกพิสดาร มีบ้านอยู่ดีๆ แต่มานอนที่มัสยิด แถมอาจจะสร้างสิ่งสกปรกให้มัสยิดอีกด้วย บางหมู่บ้านเล่นแรงถึงขนาดประกาศเป็นเขตพื้นที่ปลอดเอี้ยะติก้าฟไปเลย ประมาณว่า สมัยนั้นทั่ว 3 จังหวัด มีมัสยิดที่จัดเอี้ยะติก้าฟไม่เกิน 10 แห่ง และทำกันอย่างมีข้อจำกัดพร้อมด้วยแรงกดดันมากมาย

ชาวบ้านทั่วไป เข้าใจว่า เอี้ยะติก้าฟ 10 วันสุดท้ายรอมฎอน เป็นการปฏิบัติตนของผู้รู้หรือคนระดับโต๊ะวาลีเท่านั้น ทำให้มีคนทำสุนนะฮ์นี้ในกลุ่มคนที่จำกัดมากๆ

ปัจจุบันเท่าที่ทราบ กระแสมองลบการเอี้ยะก้าฟ 10 วันสุดท้ายรอมฎอนเป็นเรื่องเก่าที่ถูกฝังในตำนานไปแล้ว ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยในอดีต ปัจจุบันกลายเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูสุนนะฮ์นี้อย่างขมักเขม้น หากไม่ใช่เพราะวิกฤตโควิด-19 ช่วงนี้ทั้งวิทยุชุมชน ทีวีช่องดำ หรือการไลฟ์สดตามโชเชียล คงมีการพูดถึงและรณรงค์เรื่องการเอี้ยะติก้าฟ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา แม้กระทั่งหน่วยงานด้านความมั่นคง คงมีการตระเตรียมความพร้อมเพื่อจัดเอี้ยะติก้าฟอย่างถ้วนหน้า

ไม่มีใครยกประเด็นการฟื้นฟูสุนนะฮ์นี้ ว่าเป็นงานเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพราะหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ต้องฟื้นฟูสุนนะฮ์นบีให้คงอยู่ควบคู่กับสังคมมุสลิมอยู่แล้ว

การละหมาดอีดบริเวณลานกว้างก็เช่นกัน

ไม่มีใครหรือกลุ่มไหน ที่จะสงวนสิทธิ์การปฎิบัติใช้สุนนะฮ์นี้ไว้แต่เพียงผู้เดียวหรอกครับ
และคนที่ยังไม่เคยปฏิบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องกระดากใจใดๆที่จะต้องทำ เพราะการฟื้นฟูสุนนะฮ์นบี เป็นหน้าที่ของทุกคนอยู่แล้ว

โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้คนทุกหมู่เหล่าต้องร่วมมือร่วมใจกันแสดงความสวามิภักดิ์และนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยการปฎิบัติตามสุนนะฮ์นบีโดยพร้อมเพรียงกัน

ไม่มีใครได้หน้าและเสียหน้ากรณีปฏิบัติตามสุนนะฮ์นบีหรอก

บางคน การปฏิบัติตามสุนนะฮ์ รู้สึกขมยิ่งกว่าอมบอระเพ็ด
แต่สำหรับบางคน มันคือความหวานฉ่ำยิ่งกว่าน้ำตาลโตนด

ขอให้เราเป็นบางคนในกลุ่มที่สองนี้ครับ


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

เช้าวันศุกร์ที่ 15 | บันทึกรอมฎอน 1441 (2)

บันทึก เช้าวันศุกร์ที่ 15 รอมฎอน 1441(2)

มีพี่น้องจากเทศบาลนครยะลาแจ้งว่า เช้านี้ที่ตลาดเสรี เงียบเหงาผิดปกติ สอบถามได้ความว่าแม่ค้าไม่กล้าออกจากบ้าน

พี่น้องจากเทศบาลปัตตานี บอกว่า เช้านี้ผิดสังเกตมากๆ ไม่มีผู้คนออกมาจ่ายตลาดเหมือนวันปกติ

ส่วนที่นราธิวาสไม่มีข้อมูล

แสดงว่า คำเตือนของบาบอที่ย้ำว่า ถึงแม้เป็นหะดีษปลอม แต่เพื่อความปลอดภัย อย่าออกจากบ้านก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ยังมีคนเชื่อจริง

แสดงว่า หะดีษปลอมที่รายงานโดยบาบอ มีคนเชื่อจริง

แสดงว่า สังคมยังตกเป็นเหยื่อการแพร่ระบาดของหะดีษปลอม

เพื่อเป็นการปกป้องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรามีหน่วยงานทางราชการ องค์กรศาสนา ออกแถลงการณ์มาตรการต่างๆฉบับแล้วฉบับเล่า

แต่การแพร่ระบาดของหะดีษปลอม
เรากลับไม่มีหน่วยงานไหน คอยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นหะดีษปลอม
บาบอก็ยังใช้เป็นทุนในการเผยแพร่ จนชาวบ้านหลงเชื่อระนาว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในโลกนี้
แต่การแพร่ระบาดของหะดีษปลอม จะส่งผลต่อชีวิตเราในวันอาคิเราะฮ์ และถูกตั้งข้อหาว่า เราโกหกใส่นบี อ้างว่านบีสอนนบีกล่าว ทั้งๆที่ไม่ใช่เป็นคำสอนของนบีด้วยประการทั้งปวง


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ฝันที่อยากให้เป็นจริง | บันทึกรอมฎอน 1441 (1)

ฝันที่อยากให้เป็นจริง

รายอฟิฏรีย์ปีนี้ เป็นไปได้ไหมว่าสำนักจุฬาราชมนตรี ออกแถลงการณ์ฉบับ ที่ 6 รณรงค์ให้พี่น้องร่วมละหมาดที่ลานกว้างทั่วประเทศ ด้วยเหตุผล

1. การละหมาดอีดที่ลานกว้างคือทางออกและแบบอย่างของนบีและชาวสะลัฟที่ปฏิบัติกันมากว่า 1,400 ปีมาแล้ว

2. แก้ปัญหาการแออัดในมัสยิด ที่มีพื้นที่จำกัดที่จะจัดแถวแบบทิ้งระยะห่าง 1.5 -2 ม. ตามเงื่อนไขของจุฬาราชมนตรี แค่อีดปกติ คนก็ล้นมัสยิดอยู่แล้ว

3. สามารถปฏิบัติตามสุนนะฮ์ด้วยการละหมาดอีดที่ลานกว้าง และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของจุฬาฯ (ทูอินวัน)

4. แม้สังคมส่วนใหญ่อาจลำบากใจที่จะปฏิบัติตามสุนนะฮ์กรณีละหมาดอีดที่ลานกว้าง แต่อาจสบายใจที่จะละหมาดอีดที่ลานกว้างเนื่องจากโควิด-19 ก็ได้

5. สังคมมุสลิมใน 3 จังหวัดเคยจัดละหมาดฮายัตระดับจังหวัดใหญ่โตมาแล้วหลายครั้ง คิดว่าหากจัดละหมาดอีด คงไม่มีปัญหาอะไร ที่สำคัญสามารถฟื้นฟูสุนนะฮ์นบีในสถานการณ์วิกฤตนี้

สถานการณ์ ข้อจำกัด ความสะดวก ความปลอดภัยและความพร้อม เอื้อที่สุดแล้วครับ
เพียงแต่สภาพอากาศคอยเป็นใจให้ก็แล้วกัน


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ตะกอนความคิดรอมฎอน

ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น

หลายคนโพสต์รูปคนละหมาดที่มัสยิดหะรอมด้วยวิธีทิ้งระยะห่าง เพื่อสนับสนุนความคิดของตนว่า “แล้วทำไมบ้านเราทำเช่นนี้บ้างไม่ได้”

ผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้ครับ
1. เท่าที่ทราบมา มาตรการนี้ใช้เฉพาะมัสยิดหะรอมที่มักกะฮ์และมัสยิดนบีที่มะดีนะฮ์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับมัสยิดอัลอักศอที่บัยตุลมักดิส เพื่อธำรงไว้ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอิสลามเท่านั้น

2. การละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นเหตุในภาวะฉุกเฉินที่มีการพิจารณาในทุกแง่มุมอย่างละเอียดรอบคอบและมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน ทั้งการควบคุมจำนวนคน การตรวจสุขภาพ และจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้ละหมาด ตามหลักชะรีอะฮ์ที่กำหนดว่า “ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น”
الضرورة تقدر بقدرها

3.หากมาตรการยืนแถวโดยทิ้งระยะห่างได้ผลจริง ทางการน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปละหมาดในมัสยิดอีกนับหมื่นคน ซึ่งเชื่อว่า พื้นที่มัสยิดอันกว้างใหญ่ทั้ง 3 แห่งนี้ น่าจะเพียงพอรองรับผู้คนมากมายโดยใช้วิธีดังกล่าว

4. เท่าที่ทราบ ทางการซาอุฯหรือสำนักกิจการมัสยิดอัลอักศอ อนุญาตให้ละหมาดอย่างมีข้อจำกัดใน 3 มัสยิดนี้เท่านั้น และยังไม่เปิดกว้างให้ละหมาดในระดับประเทศหรือแม้กระทั่งในมัสยิดทั่วนครมักกะฮ์หรือนครมะดีนะฮ์ ทั้งๆที่มีมัสยิดใหญ่โตมากมายและมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง

5. เท่าที่ทราบ ยังไม่เห็นปฏิกิริยาของประชาชนชาวซาอุฯ หรือชาวบัยตุลมักดิส ที่ไม่พอใจกับมาตรการนี้ ยังไม่เห็นชาวมุสลิมที่อาศัยบริเวเณ 3 มัสยิดอันทรงเกียรตินี้ ออกชุมนุมหน้าประตูมัสยิดพร้อมกดดันรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาให้อนุญาตละหมาดในมัสยิดตามปกติหรือใช้วิธีทิ้งระยะห่างตามที่ได้ปฏิบัติมา

6. เข้าใจความหึงหวงของพี่น้องที่จะปกป้องรักษาอัตลักษณ์ของอิสลามให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป และความรู้สึกนี้ไม่มีใครถือลิขสิทธิ์เพียงเฉพาะตนหรือกลุ่มตนเท่านั้น เพียงแต่อย่าให้เป็นเพราะความหึงหวงต่อศาสนา ทำให้พี่น้องต้องแสดงอาการวู่วามโวยวาย ใช้คำพูดที่ทิ่มแทงความรู้สึกของคนอีกหลายคนโดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่และผู้นำหรือคนเห็นต่าง หากมีความจำเป็นที่จะต้องพูดหรือแนะนำ ก็ควรเลือกสรรคำพูดที่ดีๆ ดึงดูดผู้คนไม่ใช่ขับไล่ไสส่ง นึกถึงผลประโยชน์ในภาพรวม ไม่ใช่คำนึงถึงผลพลอยได้อันฉาบฉวย เพราะมารยาทอันงดงาม คือส่วนหนึ่งที่สำคัญของอัตลักษณ์ในอิสลามเช่นกัน สัจธรรมเป็นของอัลลอฮ์ ผู้รู้มีหน้าที่เผยแพร่และเชิญชวน แต่เขาไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามแม้กระทั่งนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติและจำเริญจงมีแด่ท่าน) ที่อัลลอฮ์กำชับเตือนให้ท่านทราบว่า “ ท่านไม่มีอำนาจใดๆที่จะบีบบังคับให้พวกเขาปฏิบัติตาม” (อัลฆอชิยะฮ์/22) เพราะหน้าที่ของท่านคือชี้แนะและเชิญชวน อัลลอฮ์เท่านั้นเป็นผู้คิดบัญชีและให้การตอบแทน

เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ