ตะกอนความคิด บทความ

อาหารเหลือกิน | บันทึกรอมฎอน 1441 (5)

สิ่งหนึ่งที่มักเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในเดือนรอมฎอนคืออาหารเหลือกิน ที่กลายเป็นขยะในวันรุ่งขึ้น หากคิดเป็นเงินที่ครัวมุสลิมทิ้งอาหารเหลือกินวันละเพียง 5 บาทต่อวัน ถามว่าเราทิ้งเงินอย่างสูญเปล่าวันละกี่ล้านบาท หากคิดทั้งเดือนรอมฎอนแล้ว ตัวเลขจะสูงมากจนตกใจ

ลองคิดหยาบๆดูว่า เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มี 300,000 ครัวเรือน x 5 บาท x 30 วัน = 45,000,000 บาท
เงินจำนวนนี้สามารถสร้าง
1. บ้านสำหรับคนไร้บ้านราคาหลังละ 500,000 บาท ได้ 90 หลัง หรือ
2. สร้างมัสยิดงามๆ 9 หลังราคาหลังละ 5 ล้าน
3. สร้างอาคารเรียนตาดีกาอาคารละ 1 ล้าน จำนวน 45 หลัง หรือ
4. มอบทุนการศึกษาระดับ ป. ตรี สำหรับโครงการช้างเผือกในสาขาวิชาขาดแคลน คนละ 1 ล้านได้ถึง 45 ทุน หรือ
5. ฯลฯ

เราจะมีวิธีการจัดการอาหารเหลือกินนี้อย่างไร

โครงการ “ตู้ปันสุข” น่าจะแก้ได้ในระดับหนึ่ง

เชื่อว่าหากในแต่ละชุมชนจัด “ตู้ปันสุข” อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากยังสามารถจัดกิจกรรม “ชุมชนช่วยชุมชน” แล้ว เรายังแก้ปัญหา อาหารทิ้งในวันรุ่งขึ้นได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย

“ทำดี ทำได้ ไม่ต้องเดี๋ยว”
———————-
ปล. อาหารเหลือกินตรงนี้ ไม่ใช่เศษอาหารที่เราเหลือเก็บนะครับ แต่สำหรับบางคนเก็บอาหารเยอะแยะในห้องครัวหรือตู้เย็น ที่ไม่รู้จะคิดยังไงที่จะกินให้หมด แต่มันคืออาหารอันแสนเอร็ดอร่อยของคนบางครอบครัว


โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ