รู้จักอุซเบกิสถานกับ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ตอนที่ 1

ผศ. ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

หลังปฏิบัติภารกิจผู้สังเกตการเลือกตั้งระหว่างประเทศเสร็จ ผมก็มีโอกาสได้พูดคุยและเดินทางไปยังสถานที่สำคัญ ๆ หลายเมือง ยิ่งทำให้เห็นความสวยงามของประเทศนี้ในหลายแง่มุมซึ่งน่าทึ่งมาก ส่วนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอุซเบกิสถานจะตามมาหลังปีใหม่ครับ แต่จะขอเล่าเกี่ยวกับความประทับใจสำหรับประเทศนี้เป็นข้อ ๆ เท่าที่นึกออกนะครับ เผื่อใครสนใจไปเที่ยว ส่วนผมตั้งใจจะไปอีกบ่อย ๆ

– อุซเบกิสถานตั้งอยู่ในเอเชียกลาง เป็นประเทศที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ สวยสดงดงามตระการตา

– ประชากรที่นี่ มีประมาณ 34 ล้านคน เป็นแหล่งรวมคนหลากเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ หน้าตาผสมผสานกันไปหมด จีน แขก ฝรั่ง เปอร์เซีย อาหรับ ฯลฯ อยู่ด้วยกันอย่างสันติ (มากๆ) ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติหรือเลือกปฎิบัติบนความแตกต่างทางศาสนา ภาษา ฯลฯ ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่น ๆ คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 88 นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมาเป็นคริสต์ และยิว ( ที่เมืองบุคคอรอ มียิวประมาณ 500 คน มี synagogue หรือโบสถ์ของตัวเอง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิสราเอลด้วย แต่ที่นี่อยู่กันอย่างปกติสุขร่วมกับชุมชนมุสลิมในเขตเมืองเก่า) คนพุทธแทบจะหาไม่เจอ ผมเจอครอบครัวหนึ่งมีเชื้อสายเกาหลี (เป็นอุซเบกเกาหลี แต่พูดเกาหลีไม่ได้ พูดได้แต่ภาษาอุซเบกกับภาษารัสเซีย) ก็นับถือศาสนาคริสต์

– ในปี 2018 อุซเบกิสถานถูกจัดอับดับโดย Gallup ให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับ 5 ของโลก เราอาจคุ้นชินกับประเทศที่มีคำว่า “สถาน ๆ” ทั้งหลาย ว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงและอันตราย แต่ที่นี่ปลอดภัยมาก ไม่มีอาชญากรรม มีคนต่างชาติหลายคนไปอยู่ที่นั้น แล้วชอบความสงบสุขเรียบร้อย ความปลอดภัย จนไม่กลับประเทศ หลายคนได้สัญชาติเลย มีคนต่างชาติคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น แล้วบอกผมว่าคนที่นี่ดีมากๆๆๆ ต่อให้คุณเอาเงินไปตั้งไว้ข้างถนนเป็นล้าน ก็ไม่มีใครมายุ่งกับมัน ในประเทศนี้แทบจะไม่มีข่าวอาชญากรรมเลย

– อุซเบกิสถานมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกหลายแห่ง แต่น่าแปลกว่าไม่มีเก็บค่าเข้าชม ทั้งที่ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวยอะไร ประเทศรวยๆ หรือหลายประเทศยังเก็บตังค่าเข้าทั้งนั้นเลย

– คนอุซเบกมีความภาคภูมิใจในศิลปะแขนงต่าง ๆ ของตัวเอง ทั้งสถาปัตกรรม การวาดลวดลายต่างๆ การเต้นรำ ร้องเพลง ฯลฯ การไม่เก็บค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ อาจเพราะต้องการเผยแพร่ความสวยสดงดงามของประเทศตัวเองให้กับทุกคนได้เห็นบนความเท่าเทียม ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าชมได้ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบสังคมนิยมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต

– อากาศดี หนาวมากในฤดูหนาว ฤดูร้อนก็ร้อนจัดในบางเมือง คนที่นั่นจะชอบอากาศช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน เพราะกำลังดีไม่ร้อนไม่หนาว

– รถไฟใต้ดินในทาชเค้นต์แต่ละสถานีมีสถาปัตกรรมไม่เหมือนกัน มีความงามคลาสสิคที่ให้บรรยากาศยุคสมัยโซเวียตและสงครามเย็นมาก บรรไดเลื่อนเป็นลายไม้เก่า ผมมีโอกาสโดยสารเพียงไม่กี่สถานี เสียดายมาก ค่าโดยสารก็ถูกมากน่าจะไม่ถึง 10 บาทตลอดสาย นั่งได้ทั้งวัน เปลี่ยนสายไปมาก็ได้ ไม่ต้องเสียตังเพิ่ม ค่าบริการสาธารณะต่าง ๆ ถือว่าถูกมาก เพราะเขายังมองว่ารัฐมีหน้าที่บริการและดูแลประชาชน ไม่ใช่ขูดรีดหรือเอื้อประโยชน์นายทุนนักธุรกิจ

ต่อ…ตอนที่ 2 ได้ที่ : https://www.theustaz.com/?p=1663

เขียนโดย Manoch Aree

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 6

Xinjiang ช่วงปลายสิงหาคม คือช่วงท้าย ๆ ของฤดูร้อนของที่นี่ หลังจากนี้อีกไม่กี่วัน ความหนาวเย็นและสีใบไม้ที่เปลี่ยนไปจะเริ่มมาทักทายผู้คนทั้งคนท้องถิ่นและบรรดาผู้มาเยือน

ก่อนการเดินทางมาที่นี่ เรื่องอุณหภูมิเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทีมเราให้ความสนใจ ข้อมูลจาก accuweather ช่วยไกด์เราระดับหนึ่งว่าถ้ามาที่นี่เราจะเจอสภาพอากาศเป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือ บางเมืองที่จะไปไม่สามารถค้นหาค่าอุณหภูมิได้ อาจจะเป็นเพราะโปรแกรมคร่าว ๆ ที่บริษัทเขียน มีการระบุชื่อสถานที่เป็นภาษาจีนแต่ใช้ข้อความภาษาไทย การแปลงจากคำไทยเป็นอังกฤษแล้วไปสืบค้นจึงกระทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะสำเนียงจีนและคำในภาษาอังกฤษจะอ่านต่างกัน เช่น Kanas อ่านว่า คานาสือ, Karamay อ่านว่า เคอลามาอี้ , Turpan อ่านว่า ทูรุฟาน เป็นต้น accuweather จึงค้นหาได้เฉพาะบางเมือง หรือแค่เป็นข้อมูลทั้งมณฑลในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ใกล้ ๆ กับช่วงเวลาที่จะเดินทาง แลนด์ท้องถิ่น (บริษัทจัดทัวร์ท้องถิ่นที่คอยให้บริการลูกทัวร์) แจ้งข้อมูลค่าอุณหภูมิทุกเมือง ทำให้รับทราบว่า ที่ที่เราจะไป อุณหภูมิมีการแกว่งในช่วงที่กว้างมาก ตั้งแต่ 6 องศา จนอาจจะถึง 39 องศาในบางเมือง และอาจร้อนกว่านี้ได้อีกหากเราเข้าไปในบริเวณที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดของประเทศจีน นั่นคือในบริเวณภูเขาเปลวเพลิง หรือ ฝอเยี่ยนซาน ที่วันนี้ปรอทวัดอุณหภูมิสูงถึง 60 องศา และที่นี่ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า เคยมีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 83 องศาทีเดียว

วันนี้ทีมเรากำลังจะออกจากโซนหนาวไปสู่โซนร้อน ณ เมืองทูรูฟาน ดินแดนที่มีสภาพแล้งฝน แต่ผลไม้ประเภทองุ่น แตงโม และเมล่อนขึ้นชื่อว่าหวานอร่อยมาก ความร้อนคงทำให้ระดับน้ำตาลในผลไม้ถูกกักเก็บเข้มข้น เหมือนแตงโมเทพา ที่จะหวานอร่อยก็ต้องซื้อหน้าร้อนเช่นเดียวกัน

แต่ละที่แต่ละเมืองของซินเจียงช่างห่างไกลกันมาก จึงไม่แปลกที่เวลาในโปรแกรมบางส่วนถูกใช้ในการเดินทางจากเมืองหนึ่งถึงเมืองหนึ่งยาวนานมาก บวกกับในเขตนี้มีการจำกัดความเร็วบัสอย่างเข้มงวด ทั้งกล้องบันทึกภาพตามจุดต่าง ๆ และการที่จะต้องผ่านด่านแต่ละด่านไม่เร็วกว่าเวลาที่กำหนดเป็นมาตรฐาน

วันนี้ก็เช่นกัน แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อวานที่เดินทางยาวนานกว่าวันนี้ สภาพภูมิประเทศจาก Kuytun ผ่าน Urumqi แล้วมา Turpan มีความสวยงามของเขาหินหัวโล้นเรียงรายซับซ้อนสูงต่ำ เหมือนที่นี่ไม่ใช่ประเทศจีนอย่างที่เคยเข้าใจ มันให้ความรู้สึกคล้ายเส้นทางจากเมกกะไปสู่ฏออีฟในประเทศซาอุดิอาระเบีย ยาวจรดไปถึงเมืองทูรุฟานที่สภาพภูเขายังคงเป็นภูเขาหินแต่เริ่มให้อารมณ์ความเป็นแกรนด์แคนยอนจากร่องรอยการกัดเซาะของสายลมแสงแดด และสีของภูเขาที่ดูร้อนฉานเป็นสีส้มแดง เราแวะใช้บริการห้องน้ำระหว่างทางเป็นระยะ รัฐบาลจีนคงทราบปัญหาห้องน้ำของชาติตัวเองดี จึงพยายามที่แก้ไขปัญหา แต่ความเคยชินของคนจีนกลับทำให้ปัญหากลายเป็นสิ่งปกติและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เราเห็นบ่อยเรื่องใช้ห้องน้ำแล้วไม่ราด อาจจะเพราะเขาไม่มีน้ำให้บริการในห้องทำภารกิจ พวกเราจึงต้องเตรียมน้ำใส่ขวดเข้าไปด้วยเสมอ ลำพังถ่ายเบาแล้วไม่ราด ก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าเจอทิ้งร่องรอยจากการปลดปล่อยความอัดอั้นอันโสมมไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนรอบหลังที่จะมาใช้บริการต่อ เป็นอะไรที่สุดจะรับไหวทีเดียว

บัสพาเรามาที่ภูเขาเปลวเพลิงตอนเกือบสี่โมงเย็น แต่ความร้อนที่สูงรอบ ๆ บริเวณทำให้พวกเราต้องรีบชมรีบถ่ายรูปแล้วออกจากบริเวณนี้ มิเช่นนั้น ไข่สองฟองที่สุภาพบุรุษสู้อุตส่าห์หิ้วมาติดตัวอาจสุกเกรียมกลางเนินเขานี้เป็นแน่

เราเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่ใฝ่ฝันบางอย่างมากขึ้น เมื่อบัสนำพาเราแวะสวนองุ่นอันเลื่องชื่อและมีโอกาสประเดิมสัมผัสวิถีอูยกูร์เล็ก ๆ ชิมลางไปก่อน เราได้พบกับคุณตาสูงวัย อายุเกินศตวรรษกับหลานสาวนัยตาคมที่ไร่องุ่นนั้น คุณตารับสลามทักทายอย่างอารมณ์ดี แม้เราไม่สามารถสื่อสารภาษาได้เข้าใจ แต่สิ่งที่คุณตาเปล่งบทสรรเสริญท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) ทำให้เรารู้สึกขนลุกซู่ในจิตวิญญาณสุดท้ายที่คนรุ่นหนึ่งจะส่งต่อยังรุ่นถัดไป เพราะมันคือมรดกและร่องรอยแห่งตัวตนของชาวอูยกูร์ที่จะยังคงสืบสานและรักษามันไว้ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการกลืนวัฒนธรรมและการกอบโกยทรัพยากรล้ำค่าทั้งน้ำมันใต้ดิน พลังงานกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม และความอุดมสมบูรณ์อื่นที่ที่นี่มีเพียบพร้อมไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่

จุดสุดท้ายของทริปวันนี้คือเมืองโบราณแห่งทูรุฟาน  ก่อนตะวันจะลาลับขอบฟ้า เมื่อเวลาเกือบสามทุ่มเมืองโบราณแห่งนี้เป็นหนึ่งในมรดกโลกตามประกาศของ UNESCO ด้านในมีนิทรรศการอันแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวทูรุฟาน  ท่ามกลางอากาศแห้งและร้อนที่สุดของจีน  แต่เหตุใดผักผลไม้จึงสามารถเพาะปลูกและให้ผลผลิตที่ดี  เป็นเพราะความสามารถของชาวชุมชนที่เรียนรู้กระบวนการขุดเจาะภูเขาหิมะอันไกลออกไป  แล้วมีสายน้ำไหลผ่านมาเลี้ยงคนในหมู่บ้านเบื้องล่าง  สามารถอยู่กับภูมิประเทศและภูมิอากาศอันร้อนแรงได้อย่างลงตัว  ที่นี่เองที่เราสามารถพบกับชาวอูยกูร์ ในอัตลักษณ์แบบอูยกูร์ที่หนาตากว่าหลายวันที่ผ่านมา

คืนนี้พักที่เมืองทูรุฟาน และจะเดินทางไปยัง Urumqi เมืองหลวงของซินเจียงแบบเจาะลึกวิถีอูยกูร์มากขึ้นในวันพรุ่งนี้

มากกว่าทิวทัศน์ที่งดงามอันเป็นสมบัติที่ไม่อาจประเมินค่าได้ของชาวซินเจียง อูยกูร์ ที่เราเฝ้าตามหาและต่อเติมความใฝ่ฝัน คือ #วิถีอูยกูร์ที่อาจหลงเหลือสุดท้าย ภายใต้ม่านไม้ไผ่แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ผืนนี้

———————-
#หมายเหตุทริป : ระหว่างทางไปเมืองโบราณทูรุฟานเราได้พบกับวิถีชีวิตอูยกูร์พอเป็นกระษัย เห็นมัสยิด เห็นคนเฒ่าคนแก่สวมหมวกแบบอูยกูร์ กับสุภาพสตรีที่คลุมศีรษะในแบบที่รัฐบาลพอผ่อนปรน ทั้งผู้เป็นเจ้าของถิ่นและผู้มาเยือนทักทายสลามกันอย่างเป็นพี่น้องกันในอิสลาม

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 5

เหตุการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่าตามหน้าสื่อโซเซียล (ช่วงเดินทาง สิงหาคม 2017 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์รัฐยะไข่แพร่กระจายในโลกโซเซียลพอดี) บั่นทอนอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดที่จะร้อยเรียงเรื่องเล่าบันทึกการเดินทางประจำวันในค่ำคืนนี้

เราลงจากเนินเขา อุทยานคานาสือ เดินทางระยะไกลหลายชั่วโมง เพื่อมาตั้งหลัก ณ เมืองใหม่ นาม Kuytun หรืออีกชื่อคือ ตู๋ซานจื่อ ใกล้ที่หมายตามโปรแกรมท่องเที่ยวในวันรุ่งขึ้น

ทางผ่านการนั่งรถจากเหนือสุดซินเจียงลงมาเมืองใหม่ บัสนำเรากลับทางเดิมที่เราไปเมื่อสองวันก่อน แต่ตอนนั้น วิวรายทางก่อนถึงคานาสือถูกความมืดอาบไล้จนมองไม่เห็นความมหัศจรรย์ระหว่างเส้นทางสู่เทือกเขาสูง การเดินทางกลับในวันนี้จึงทำให้เราสัมผัสอิ่มเอิบกับทิวทัศน์สองข้างทางที่แสนงดงาม อลังการงานรังสรรค์ ภูเขาสูงชัน สลับที่ราบทุ่งหญ้า และกระโจมชาวพื้นเมือง กับฝูงปศุสัตว์ที่ถูกปล่อยเสรีให้แทะเล็มหญ้าท่ามกลางสภาพอากาศและภูมิประเทศอันน่าหลงใหล มันคงเป็นปศุสัตว์ที่มีความสุขที่สุดแห่งหนึ่งในโลกใบนี้ทีเดียวก็เป็นได้ ขุนเขาและที่ราบอันกว้างใหญ่ ถูกถนนหนึ่งสายทอดยาวตัดแบ่งออกเป็นสองฟาก ความเวิ้งว้างของอาณาบริเวณ ความเบาบางของผู้คนอาศัยและสัญจร ทำให้ถนนสายนี้ดูมีมนต์ขลัง อยากยืนนิ่งๆอยู่กลางถนนสายนั้นแล้วเพ่งมองจุดหมายปลายทางสุดถนนออกไปให้นานเท่านาน

ตามโปรแกรมของวันนี้ เราจะแวะเพียงจุดเดียวคือธารน้ำห้าสี ที่เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางทะเลทรายโกบีอันยิ่งใหญ่พร้อมทั้งโอบล้อมด้วยธรรมชาติ เมื่อยามดวงอาทิตย์สาดส่องลำธาร ธารน้ำแห่งนี้จะปรากฏเป็นสายรุ้งห้าสี แต่ออกจะเสียดายที่สภาพอากาศวันนี้ไม่ค่อยเป็นใจ แดดแรงที่เราต้องการกลับถูกหมู่เมฆและเม็ดฝนบาง ๆ ลดทอนความสวยงามลงไป แต่เราก็ยังคงได้เดินชมดินผสมหินหลากสีรอบ ๆ แนวลำธารนั้น แผ่นดินที่ถูกสายน้ำและสายลมกัดเซาะ จนทิ้งร่องรอยคล้ายแกรนด์แคนยอนหลายสีสวยงาม

วันนี้ทีมพร้อมใจกันสวมเสื้อทีมสีเขียว ที่ผ่านความร่วมมือทั้งออกแบบโลโก้ การโหวตแบบ การติดต่อร้าน และการไปรับเพื่อแจกจ่ายจากสมาชิกร่วมทริปก่อนกำหนดโปรแกรมราวๆ 1 เดือน เรียกความสนใจจากจีนเจ้าของประเทศได้ระดับหนึ่งทีเดียว

ใช้เวลาที่ธารน้ำห้าสีพอหอมปากหอมคอ จึงได้เวลาอาหารเที่ยงและการเดินทางต่ออีกหลายชั่วโมง

ค่ำแล้ว รถนำเรามาถึงเขตเมืองใหม่ Kuytun คำถามแรกที่ทีมถามไกด์คือ ทำไมดูมืด ๆ ไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่าน ตึกรามบ้านช่องก็ดูใหม่ ๆ แต่พอเข้าไปในตัวเมืองที่ลึกขึ้น กลับเริ่มเห็นอาคารต่าง ๆ ประดับไฟดูทันสมัยงดงาม ไกด์บอกว่า ที่นี่คือเมืองใหม่ที่รัฐบาลจีนสร้างไว้ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้คนที่ต้องสัญจรผ่านทาง

เมืองใหม่ ที่ดูใหม่ แสงสีทันสมัย แต่สิ่งที่มองไม่เห็นอย่างหนึ่งคือ ป้ายไฟ ป้ายร้านยามค่ำคืน อักษรอาหรับมันหายไปไหน เหตุใดจึงหลงเหลือแต่ภาษาจีนโดดเด่นมาแต่ไกล ทั้งที่เส้นทางผ่านก่อนหน้านี้เราจะเห็นอักษรภาษาอาหรับปรากฎคู่กับอักษรจีนแทบจะเป็นการทั่วไป

หรือว่านี่คือ วัฒนธรรมความเป็นหนึ่งเดียวที่จีนแผ่นดินใหญ่กำลังยัดเยียดสู่แผ่นดินตะวันตกสุดของประเทศ รองรับการเคลื่อนย้ายของประชากรจีนจากส่วนกลางเพื่อเจือจางความเป็นอูยกูร์ออกไป

คล้าย ๆ การยึดครองแผ่นดินอย่างไร้ความชอบธรรมแล้วสร้างนิคมที่อยู่อาศัยบนเศษซากความสูญเสีย พร้อมเคลื่อนย้ายชนชาติยิวจากนานาประเทศสู่ดินแดนปาเลสไตน์  และอาจมีความหมายคล้าย ๆ การทำลายอัตลักษณ์-ตัวตน-และการคงอยู่ของมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในตอนนี้ 

#เพียงแต่วิธีการที่อาจต่างกัน

เขียนโดย ลาตีฟี

โยฮากับลา 10 ตัว

โยฮากับลา 10 ตัว

วันหนึ่งโยฮาซื้อลา 10 ตัว พอจ่ายเงินเรียบร้อย
ก็ขี่บนลาตัวหนึ่ง ส่วนอีก 9 ตัว ก็ต้อนให้เดินนำหน้ากลับบ้าน
ระหว่างทางเขาเอะใจว่าลาที่ซื้อมามีจำนวนครบ 10 ตัวหรือไม่
จึงนับทีละตัว โดยลืมนับตัวที่ตนขี่ เขาตกใจจึงลงจากลา แล้วนับใหม่
ปรากฎว่ามีครบ 10 ตัว
แต่พอนับใหม่ขณะขี่ลา ก็ยังขาดอีก 1 ตัว ทุกครั้ง
เขาจึงตัดสินใจเดิน พร้อมกล่าวแก่ตนเองว่า
หากฉันขี่ลา ฉันจะขาดทุนลาตัวหนึ่ง แต่ถ้าฉันเดิน ฉันได้ลาครบทั้ง 10 ตัว
งั้นฉันขอเดินดีกว่า ว่าแล้ว เขาก็เดินพาลาทั้ง 10 ตัว กลับบ้าน อย่างสบายอุรา

เรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง

จุดยืนของสุภาพบุรุษ

จุดยืนของสุภาพบุรุษ

มีเพื่อนถามอายุของโยฮา เขาตอบว่า 40 ปี
เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เพื่อนคนเดิมถามอายุเขาอีก
เขาตอบว่า 40 ปี ทำให้เพื่อนแปลกใจ จึงถามว่า
เพื่อน : ผมเคยถามอายุท่านเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ท่านตอบว่า 40 ปี วันนี้ท่านก็
ยังตอบเหมือนเดิม
โยฮา : อ๋อ ผมเป็นสุภาพบุรุษดีพอครับ พูดคำไหนคำนั้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เพื่อน : ????

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 4

สวยทุกมุม สวยทุกทาง สวยที่สุด

คงเป็นชื่อบันทึกเดินทาง Xinjiang ของวันนี้ที่ดูเหมาะสมที่สุด ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางเมื่อวานเพื่อมาพักเตรียมตัวชมความมหัศจรรย์ของ Kanas Lake (ทะเลสาบคานาสือ) และอุทยานแห่งชาติคานาสือ บนเทือกเขา Altay เหนือสุดของมณฑลซินเจียง ซึ่งถ้าเดินทางเหนือขึ้นไปอีกนิดจะจรดชายแดนคาซัคสถาน รัสเซีย และมองโกเลีย หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อรถบัสค่อย ๆ เคลื่อนออกจากโรงแรมที่พักมายังแนวเทือกเขาอัลไตอันยิ่งใหญ่

เฉพาะทะเลสาบด้านล่าง ก็อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4,500 ฟุต แล้ว ไม่นับรวมจุดสุดยอด (peak สุด) ของศาลาชมวิวบนยอดเขาสูง (fish observation tower, Kanas lake) ที่เราต้องนั่งบัสเล็กเลียบแนวโค้งบนเขาผ่านวิวทุ่งหญ้า ทิวสน ดอกไม้ป่า ลำธารน้ำสีเขียวเทอร์คอยซ์ (Turquoise) สุดใสสะอาด บ้านเรือนชั่วคราวของชนเผ่าเร่ร่อน “ฮาซาเค่อร์” (หรือชาวคาซัค)  และฝูงม้า ปศุสัตว์ แล้วเดินต่อขึ้นไปอีก 1,060 ขั้นบันได เพื่อรับชมภาพ bird eye views ด้านบนสุดของเขาที่บอกได้คำเดียวว่า 360 องศา ของวิว รวมตลอดทั้งบนสุดสู่วิวล่างสุด คือความงดงาม อิ่มตา อิ่มใจ ซึ่งถ้าจะบอกว่า #ทัวร์ห้าหมื่น #วิวห้าล้าน นี่ก็ยังคงน้อยไป ภาพประทับใจมันเกินจะบรรยายจริง ๆ มันเหมือนเอาบางส่วนของสวิตเซอร์แลนด์ บวกแคชเมียร์ ผสมฮัลสตัท ออสเตรีย และเจือลิคเก้นสไตน์ ประเทศเล็ก ๆ ติดสวิส รวมอยู่ในที่นี่ที่เดียวประมาณนั้น  สภาพอากาศที่เบาบางตามความสูงที่เราไต่สูงขึ้น ทำให้ต้องเดินจังหวะช้า ๆ ค่อย ๆ ให้ร่างกายปรับสภาพได้ สมาชิกหลายท่านขอเลี้ยวกลับโดยไม่ทันถึงจุดสุดยอด คงเป็นเพราะกำลังขากำลังเข่ามีปัญหาบ้าง จึงต้านทานไปถึงที่สุดไม่ไหว แต่ก็มั่นใจว่า ทุก ๆ ระดับที่ทุกคนสามารถไปถึง คือความสวยงามที่แตกต่างในแต่ละระดับจริง ๆ

คงเป็นเรื่องหนักใจทีเดียวว่า จะเอาภาพไหนมาลง เพื่อให้สามารถแทนคำบรรยายอันมากมายในมโนทัศน์ออกมาได้

วันนี้ทั้งวัน พวกเราใช้เวลาเจาะลึก ดื่มด่ำกับ Kanas lake จนถึงค่ำ มีโอกาสนั่งเรือล่องชมทะเลสาบ เปลี่ยนมุมมองจากบนยอดเขาสูงมองลงทะเลสาบ เป็นมองจากทะเลสาบสู่แนวเทือกเขาสูง

นับว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้มาทริปนี้ เพราะที่นี่ไม่ค่อยมีกรุ๊ปจากไทยมากนัก หรือแทบจะเรียกได้ว่า หายากมาก เจ้าหน้าที่ที่ดูแลที่นี่เป็นมุสลิมหลายท่าน ประเมินได้จากการทักทายในภาษาสากลหนึ่งเดียวของพวกเราที่อยู่ที่ไหนก็ใช้ประโยคเดียวกัน ชาวบ้านบางคนสวมหมวกกะปิเยาะห์แบบถัก สนใจวิ่งมาทักทายและกล่าวรับตอบสลาม อย่างอารมณ์ดี เจ้าหน้าที่บางคนสนใจขอแลกธนบัตรไทยกับเงินหยวน เพราะเขาไม่ค่อยได้เจอกรุ๊ปไทยมาที่นี่ จึงอยากเก็บมันไว้เป็นที่ระลึก

Kanas lake รัฐบาลจีนเปิดให้เข้าชมได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ กรกฎาคม สิงหาคม และไฮสุดที่ราวกลางกันยายนที่ใบไม้ทั้งเขาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเหลืองงดงามดั่งเอาสีมาแต่งแต้มผืนป่าทีเดียว และแน่นอนราคาทัวร์กันยายนก็จะแพงขึ้นกว่าเดือนสิงหาคมอีกประมาณ 10,000.- บาท เช่นเดียวกัน ไกด์เล่าว่า ปีนี้มีคนจีนมาเที่ยวที่นี่มากกว่าเดิม เพราะแผ่นดินไหว 7 กว่าริกเตอร์ เมื่อสิงหาคม 2017 สร้างความเสียหายแก่สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อยอดนิยมของชาวจีนอีกแห่ง นั่นคือ จิ๋ว จ้าย โกว จนทางการต้องประกาศปิดไม่มีกำหนด ผู้คนจึงพร้อมใจกันแห่มาเที่ยวชมคานาสือแทน (สำหรับเดือนอื่น ๆ ที่นี่ปิดบริการเนื่องจากความหนาวเย็นของหิมะที่ติดลบกว่า 40 องศา ซึ่งจัดว่าหนาวเย็นเข้ากระดูกทีเดียวเชียว)

พวกเรามีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมวัฒนธรรมชนเผ่าอีกบางเผ่า ที่ต้อนรับด้วยการแสดงดนตรี ร้องเพลง และการระบำนกอินทรีย์  ซึ่งชนเผ่าทาจิกจะมีวิถีร้องรำทำเพลงและการเริงระบำที่สัมพันธ์กับนกอินทรีย์  มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับนกอินทรีย์มากมาย  ที่ก่อนมา เราก็พบรีวิวเรื่องที่มาของเรื่องเล่าระบำนกอินทรีย์มาบ้างแล้ว มาดูของจริง จึงรู้ว่า เป็นการระบำที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาก 

ท้าย ๆ ของทริป เราได้แวะจุดชมวิวอีกสามสี่จุด ซึ่งทุกจุดล้วนงดงาม กว่าที่เคยอ่านพบในรีวิวด้วยซ้ำ เพราะองค์ประกอบทั้งหมดของฉาก มันขับให้ภาพโดดเด่นมีความหมายสุดประทับใจ  โดยเฉพาะช่วงโค้งของสายน้ำที่หากมองบนถนนที่ตัดเลียบเขาสูง  จะเห็นช่วงหนึ่งที่ดูคล้ายจันทร์เสี้ยว  งดงาม

บทสรุปเดินทางของวันนี้ คงต้องยืนยันด้วยประโยคเดิมอีกครั้ง

#พันครั้งที่ได้ยิน #ไม่เท่ากับหนึ่งครั้งที่ตาเห็น

เขียนโดย ลาตีฟี

การแข่งขันยิงธนู Napaya Archery Final Year 2019 @ Narathiwat

จังหวัดนราธิวาสจัดการแข่งขันยิงธนูสนามสุดท้ายแห่งปี ระหว่าง 14-15 ธันวาคม 2019 ณ อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว เขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส มีพลธนูทั้งในและต่างประเทศรวม 5 ชาติ ประลองฝีมือรวม 200 คน

นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Napaya Archery Final Year 2019 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2019 ณ อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว เขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส

กิจกรรมนี้ เป็นการรวมตัวของเหล่านักกีฬายิงธนูเทรดดี้จากทั่วประเทศไทยเเละต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ซึ่งมีทั้งประเภทรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี ประเภททั่วไปทั้งสุภาพสตรี เเละสุภาพบุรุษ รวมเกือบ 200 คน

การรวมพลนักแม่นธนูระดับนานาชาติครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายของการเเข่งขันยิงธนูเทรดดี้ในฤดูกาล 2019 หลังจากที่บรรดานักเเม่นธนูทั้งหลายได้เดินทางไปประลองฝีมือในสนามต่างๆ ทั้งในประเทศไทย(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กรุงเทพมหานคร ) เเละต่างประเทศ (มาเลเซีย จีน ตุรกี และสโลวะเกีย)

ในการจัดงานครั้งนี้ บริษัท นาปายา ครีเอชั่น จำกัด เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีเครือข่ายชมรมกีฬายิงธนูเทรดดี้เป็นเจ้าภาพร่วม

นายอัสมีรี แวเด็ง นายกเทศมนตรีตำบลกะลุวอเหนือ ประธานจัดงาน กล่าวว่า การเเข่งขันยิงธนู Napaya Archery Final Year 2019 สนามสุดท้ายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สร้างความสัมพันธ์ไมตรีที่งดงามของนักกีฬายิงธนูอาเซี่ยนและนานาชาติ ส่งเสริมและสร้างเเรงบันดาลใจด้านกีฬายิงธนูเเก่ผู้คนทั่วไป อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและยกระดับให้จังหวัดนราธิวาสเป็นอีกหนึ่งสนามระดับอาเซียน ที่เป็นชานชลาสุดท้ายประจำปีของผู้มีใจรักกีฬายิงธนูจากทั่วโลกอีกด้วย

รายงานข่าวโดย Abdulfattah Chapakiya

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 3

ซินเจียงไม่ได้มีเพียงอูยกูร์  แต่คือ แหล่งพลังงานอันมหาศาลที่แผ่นดินใหญ่จีนต้องครอบครอง

รถบัสขนาด 50 ที่นั่ง พาพวกเราออกจากโรงแรมที่พักเมืองเคอลามาอี้ (Karamay) มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดินทางที่จัดว่าเป็นหนึ่งใน Highlights ของทริปนี้ นั่นคือ หมู่บ้านคานาสือ (Kanas, قاناس) เพื่อเจาะรายละเอียดของ Kanas Lake ที่มีตอนหนึ่งของลำน้ำมองคล้ายจันทร์เสี้ยว

ระหว่างทาง เราผ่านจุดแวะน่าสนใจคือ แพะเมืองผีแห่งเมืองเคอลามาอี้ (Ghost City, Wuerhe (Urho), Karamay) ทีมเราผ่านจุดสแกนเข้าประตูตามปกติ ระหว่างที่กำลังรวมพลจะเข้าไปชมด้านใน ฮิญาบสิบกว่าผืนจากมุสลีมะห์ในทีมทั้งหมดถูกจับตาเพ่งเล็งจากกลุ่มชายชุดดำ สองสามนาย ในมือถือโล่และกระบองขนาดยาว เสื้อด้านหลังสกรีนข้อความ POLICE เข้ามาพูดคุย และบอกผ่านล่ามว่า ถ้าใส่แบบนี้จะเข้าชมด้านในไม่ได้ เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำเอาทีมใจเสียพอสมควร เราสอบถามถึงทางผ่อนปรน ล่ามอธิบายว่า ให้ปิดผมแต่เปิดคอ ซึ่งทีมก็ยังงงๆกับคำตอบ แต่สุดท้าย ตำรวจขอตรวจเข้มโดยให้เปิดผ้าคลุมเพื่อดูว่ามีอะไรซุกซ่อนใต้ผืนผ้าคลุมศีรษะนั้นหรือไม่ เราร้องขอผ่านล่ามว่า จะให้ตรวจได้แต่ขอให้เจ้าหน้าที่สุภาพสตรีเป็นคนตรวจค้นและขอเป็นมุมมิดชิดเฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น ซึ่งทางตำรวจยินยอมโดยดี มุสลีมะห์ทุกคนผ่านการเปิดผ้าคลุมจนครบ เราจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปรอรถนำเที่ยวในเขตอุทยานแพะเมืองผีได้

รถนำเที่ยวแวะจุดชมวิวน่าสนใจ 4 สถานี โดยรวมหากมองจากมุมการจัดการท่องเที่ยวถือว่าชาติจีนจัดการได้ค่อนข้างดี (ถ้าไม่นับรวมกับกรณีการตรวจค้นอันแสนวุ่นวาย)  แพะเมืองผีเมืองอู๋เฮ่อ เคอลามาอี้  อยู่ห่างจากเมืองเคอลามาอี้ประมาณ 100 กิโลเมตร  เป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีเนินเขาทรงแปลก ๆ มากมาย  ทั้งปราสาท  เต่า  นกอินทรีย์  ม้า  สิงโต  และอื่น ๆ  จากอิทธิพลการกัดเซาะของลมและน้ำ   เราได้มีโอกาสชมกระโจมและวิถีชีวิตในกระโจมของชาวท้องถิ่นที่ตั้งสาธิตในพื้นที่แห่งนี้  และบางท่านยังได้สัมผัสประสบการณ์การขี่อูฐ สัตว์พาหนะแห่งแพะเมืองผีอีกด้วย  หลังจากใช้เวลาพอสมควร  ทีมเราได้เวลาอาหารเที่ยง และเช่นเคยคือ เอาน้ำละหมาดเพื่อเตรียมละหมาดบนรถบัสเหมือนเช่นทุกวันที่ผ่านมา

เส้นทางจากเคอลามาอี้เพื่อไปสู่หมู่บ้านคานาสือ ใช้เวลาเดินทางอีก 6-7 ชั่วโมงทีเดียว ทั้งนี้เพราะบัสจะพาพวกเราผ่านเส้นทางในหุบเขาสูงแถบเทือกเขา Altay เหนือสุดของ Xinjiang ตลอดระยะทางจึงเป็นทิวทัศน์หน้าตาแปลกตา ตั้งแต่เนินเขาหิน เหมือนตะวันออกกลาง หุบเขาหิน สลับที่ราบ ผ่านทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ที่เวลานี้อาจไม่ใช่สีเขียวขจีดั่งที่เรารับรู้ เส้นทางบนเขาที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว ทำเอาหวาดเสียวได้ในระดับหนึ่ง รถต้องปีนขึ้นเขา ลงที่ราบ และปีนขึ้นลงอีกสองสามครั้ง เราผ่านหมู่บ้านในที่ราบที่มีเทือกเขา Altay โอบล้อม สองถึงสามที่ราบ กว่าจะถึงโรงแรมในหุบเขา ณ หมู่บ้านคานาสือ

ทั้งที่ ที่นี่ 21.00 น. ยังคงเห็นแสงอาทิตย์อยู่ แต่ความมืดที่มาเยือนหลังจากนั้น กลบเลือนทิวทัศน์อันน่ามหัศจรรย์ของเทือกเขาสูงสลับทุ่งปศุสัตว์ ทิวสน ต้นหญ้า และกระโจมของชาวท้องถิ่นไปจนหมดสิ้น

อิ่มหนำจากอาหารมื้อค่ำที่ทานกลางดึก (ถ้าเทียบกับวิถีการกินแบบบ้านเรา) ตบท้ายด้วยเมลอนพันธุ์คานาสือที่แสนหอมหวานและกรอบอร่อย ทำให้มื้อเย็นมื้อนี้เป็นมื้อสุดประทับใจอีกมื้อหนึ่ง  เท่านั้นยังไม่พอ  บริเวณนอกอาคารห้องอาหาร  มีจำหน่ายแกะย่างเสียบไม้  ในราคาที่จับต้องได้  ซึ่งไม่พลาดที่ทีมจะออกไปจับจ่ายซื้อชิม กินกันอย่างเอร็ดอร่อย

อากาศยามนี้มีความหนาวที่สัมผัสได้ ทุกคนต้องสวมเสื้อกันหนาวอีกชั้นปกคลุมร่างกาย พรุ่งนี้เช้า ถ้าตามพยากรณ์เดิมที่ไกด์ท้องถิ่นส่งข้อมูลในใบเตรียมตัวคือ 6 องศา ก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกตอนนั้นจะรู้สึกแค่ 6 หรือบวกลบแค่ไหน

ความอิ่มบวกกับความหนาวและความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทำให้เราต้องรีบกลับห้องพักสูงสองชั้น อาคารทรงยุโรป (ประเมินจากสภาพภายนอกเท่าที่แสงจะพอให้มองเห็น)

เรามีไฟฟ้าใช้ เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่อุปกรณ์ electronics ที่พกมา ขณะที่ชาวพื้นเมืองในกระโจมอาศัยหลบกายใต้ความมืดมิด ตัดขาดเรื่องราวจากโลกภายนอก เขาอาจไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าเหล่าผู้มาเยือนเช่นเราคือใครมาจากไหน

คืนนี้คงหลับอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อรอพบสิ่งยิ่งใหญ่ของการรังสรรค์จากองค์ผู้อภิบาลในวันรุ่งขึ้น

#บันทึก ณ โรงแรมเล็ก ๆ ในหมู่บ้านกลางหุบเขา นาม “คานาสือ”

—————————————
เรามาที่นี่ สิ่งหนึ่งเพื่อตามหาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของชาวซินเจียง อูยกูร์ แต่ต้องยอมรับว่า สามวันที่ผ่านมา เราแทบจะยังไม่เจอหรือเจอน้อยมาก

วัฒนธรรมอูยกูร์ถูกกลืนหายไป หรือเพราะความโหดร้ายของนโยบายกลืนวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทำให้คุณค่าที่เราตามหา ยังหาไม่เจอ

ป.ล.  ความเดิมจากตอนที่ 2  ที่บอกว่า ระหว่างทาง  เจอแท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ดินหลายสิบแท่น  พอมาถึงบริเวณแพะเมืองผี  ต้องเปลี่ยนจากหลายสิบแท่น  เป็นหลายร้อยพันแท่น  ไม่เพียงเท่านั้น  กังหันลมที่ติดตั้งมากมาย  เพื่อแปลงพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าก็มีเต็มพื้นที่กว้างอีกด้วย  ที่นี่จึงเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล นี่กระมังคือเหตุผลที่ทำให้อูยกูร์เป็นอย่างไรตามข่าวที่เรารับรู้มา

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 2

จากเมือง urumqi เมืองหลวงของมณฑลซินเจียง เรามุ่งหน้าต่อไปยังเป้าหมายเมือง Karamay (เคอลามาอี้, قاراماي) เมืองตอนเหนือของ urumqi ใกล้เทือกเขา Altay  ตลอดระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร

เราพบกับถนน 4 เลนสภาพดีมาก ถนนเรียบ ผ่านด่านตรวจบ้าง แต่ไม่ถี่เท่าสามจังหวัดภาคใต้ (ตำรวจที่นี่ดูเอาเรื่องเหมือนกันครับ ที่ด่านตรวจ อารมณ์คล้ายบ้านเราใส่ชุดพร้อมปฏิบัติการพิเศษ ในเมืองเคอลามาอี้ จะเห็นตำรวจเดินลาดตระเวนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เดินเรียงแถวเหมือนเป็นหุ่นยนต์ คนหน้ามีโล่ในมือ สองคนหลังถือไม้ตะบองยาว)  ในเขตปกครองตนเองซินเจียง  แถวลาดตระเวนตำรวจ 3 นายเดินเรียงทำนองนี้  พบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย  หากพบบุคคลผิดสังเกต  เช่นกรณีกรุ๊ปทัวร์ของเรา  ที่มีสตรีมุสลิมะห์สวมฮิญาบหลายผืน  ก็จะสอบถามข้อมูล มาสัมภาษณ์ผ่านไกด์ท้องถิ่นบ้าง  สองข้างทางสู่เมืองเคอลามาอี้คือทุ่งเกษตรกรรมหลากชนิด ทั้งข้าวโพด แตงโม ถั่ว และอื่น ๆ คณะของเราผ่านภูมิประเทศคล้ายยุโรป และบางส่วนเป็นทรายแห้งแล้ง มีต้นไม้แห้ง ๆ คล้ายแถวตะวันออกกลาง

สิ่งที่น่าสังเกตทำให้พอเป็นคำตอบได้ราง ๆ ว่าทำไมจีนแผ่นดินใหญ่จึงหวงแหนและกำหนดนโยบายเข้มงวดกับเขตปกครองตนเอง Xinjiang อาทิ นโยบาย Go West คือ แท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ดินหลายสิบแท่นที่เห็นตามรายทาง มันคือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มหาศาลในดินแดนแห่งนี้นี่เอง

เคอลาอี้มีสถานะเหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งทางตอนเหนือของเขตปกครองตนเองซินเจียง  ชื่อเคอลามาอี้มาจากสำเนียงภาษาอูยกูร์ ที่แปลว่า “Black oil” “น้ำมันดำ” ซึ่งหมายถึง ที่ตรงนี้คือ แหล่งน้ำมันใต้ดินลึก ลึกลงไปกว่า 5,000 เมตร  ภายหลังการค้นพบแหล่งน้ำมันครั้งแรกราวปี 1955 อุตสาหกรรมขุดเจาะและผลิตน้ำมันจากแหล่งน้ำมันใต้ดินในเมืองนี้จึงขยายตัวต่อมา  จนทำให้เคอลามาอี้กลายเป็นจังหวัดที่มี GDP per capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากร) สูงที่สุดจังหวัดหนึ่งในแผ่นดินจีนในปี 2008  (ข้อมูล Wikipedia)

แต่ที่น่าเศร้าใจคือ  จากแผ่นดินของชาวอูยกูร์แต่เดิม  ผลสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2010 พบว่าประชากรที่อาศัยในจังหวัดนี้ 80% เป็นจีนเชื้อสายฮั่น (จีนแผ่นดินใหญ่)  ขณะที่ชาวอูยกูร์ประชากรเหลือเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น  เราจึงไม่รู้ว่าอูยกูร์ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ซ่อนตัวอยู่ในดินแดนนี้ยังคงแสดงอัตลักษณ์ของตนเองได้เพียงใด  ที่แน่ ๆ คือ ร้านอาหารที่ป้ายเขียนว่า “ฮาลาล” มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบทุกร้าน

และแน่นอน เมื่อเดินทางมาถึงโรงแรมที่พัก พวกเราจึงต้องผ่านด่านสแกนสัมภาระอีกครั้ง 

มาเมืองจีนต้องทำใจสองอย่าง

  1. คนจีนชอบพูดเสียงดัง และมักตะโกนข้ามหัวเป็นเรื่องปกติ
  2. ห้องน้ำ เกือบเหมือนกันทุกที่ มีทั้งศิลปกรรมตกค้าง และ aroma induce vomiting ต้องกลั้นหายใจแล้วมุ่งหน้าทำภารกิจให้เสร็จอย่างรวดเร็ว

———————————

  • นโยบาย Go West : Go West Policy หรือนโยบายมุ่งสู่ตะวันตก แปลแบบที่เราเข้าใจคือ กลืนอูยกูร์ นั่นเอง ส่งความเจริญ ส่งคมนาคม ส่งทหาร และดูดกลับทรัพยากรสู่แผ่นดินใหญ่ กดขี่ประชาชน กักขังอิสรภาพและอัตลักษณ์ชาวอูยกูร์

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 1

Xinjiang : The Destiny of My Passion ซินเจียง : หนึ่งปลายทางแห่งความหลงใหล

24 Aug – 1 Sep 2017
HDY – BKK – Kunming – Urumqi (Xinjiang) – Karamay – Kanas lake (Altay) – Turpan – Nan Shan grassland – Tian Shan_Tian Chi

การเดินทางอันยาวนาน ผ่านการตรวจเข้มในหลายขั้นตอนทั้งจากสนามบินจุด transfer จนถึงสนามบินปลายทางเป็นการบินที่น่าเกรงขามระดับหนึ่ง เพราะกฎคือกฎ ถ่ายภาพบนเครื่องบินไม่ได้ มือถือจะเซ็ตเป็นไฟลท์โหมดไม่ได้ แอร์พูดย้ำด้วยเสียงดังฟังชัดและพูดช้า ๆ ว่า “Prohibit flight mode” (ห้ามใช้โหมดเครื่องบิน) คุณต้อง switch off (ปิด) โมบายโฟนสถานเดียว นั่งเครื่องสักพัก เริ่มรู้สึกมีชายแปลกหน้าที่นั่งมาหน้าสุด เริ่มเดินไปเดินมา จากหน้ามาหลัง และหลังไปหน้า ทำซ้ำเว้นระยะใกล้เคียงกัน เริ่มรู้สึกแปลกใจ เอะใจ ที่ชายร่างบึกบึนคอยตรวจตราไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ จากหัวมาหางเครื่อง สอดส่องสายตาอย่างละเอียดถี่ยิบ มีกล้องติดตามตัว ทำเอาเราต้องนั่งอย่างเกร็ง ๆ ตลอดห้าชั่วโมงจากคุณหมิงมาอูรุมูฉี และนี่คือการเริ่มต้นเดินทางในแผ่นดินตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศจีน ด้วยการมี air marshal นั่งประจำการอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกับสายการบินใดมาก่อน อย่างว่า เพราะที่นี่คือพื้นที่เปราะบางในแผ่นดินใหญ่จีน

อาหารที่ request คือ vegetarian (มังสวิรัติ) และเป็น vegetable (ผัก) ล้วน ๆ ทั้งที่เผลอเห็นมีกล่องปิดอาหารอื่น ๆ ว่า Muslim Meal ขณะที่สจ๊วตเดินลากรถเข็นอาหารมาแจก (ตอนประสานอาจมีความคลาดเคลื่อน) แต่โดยรวม Shangdung airline ร่างกระทัดรัดแต่ทักษะการบินฝ่าสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ขึ้นและลงนิ่มระดับอุ่นใจ

ถึงแล้ว Urumqi International Airport กับอากาศยามเที่ยงกำลังดี 24 องศา คงจะรอการค้นหาจุดหมายปลายทางในฝันในอีก 7 วันหลังจากนี้ แต่ตอนนี้ กินข้าวเที่ยงก่อน โอ๊ะโอ๋!!! เข้าร้านอาหารยังมีเครื่องสแกนกระเป๋าอีกต่างหาก แวะเข้าห้องน้ำระหว่างทางก็มิวายโดนสแกนอีก สแกนหนักจนคนที่นี่น่าจะชินเป็นปกติ ขณะที่เราที่คิดว่ามีประสบการณ์คล้าย ๆ กันแบบนี้เหมือนจะปกติ ยังรู้สึกว่านี่มันเกินกว่าปกติที่เราเคยเจอด้วยซ้ำ สุดยอด !!!

ไกด์บอกละหมาดข้างทางไม่ได้ ผิดกฎหมาย คงต้องละหมาดบนรถ ขึ้นรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย มิเช่นนั้นมีปัญหากับตำรวจ ห้ามถ่ายรูปตำรวจ มิเช่นนั้น จะอดเที่ยวและโดนยึดกล้อง เป็นคำบอกเล่าเชิงชี้แจงจากไกด์สาวท้องถิ่น ที่ทำเอาเราและทีมเริ่มตั้งคำถามว่า จะเจออะไรกันอีกใน 7 วันข้างหน้า

*air marshal บางประเทศเรียก Sky Marshal คือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนอากาศยานให้รอดพ้นจากผู้ก่อการร้ายและผู้ไม่หวังดี แต่ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างเข้มข้น

เขียนโดย ลาตีฟี