สาระสันทนาการ เดินทาง/ท่องเที่ยว

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 6

Xinjiang ช่วงปลายสิงหาคม คือช่วงท้าย ๆ ของฤดูร้อนของที่นี่ หลังจากนี้อีกไม่กี่วัน ความหนาวเย็นและสีใบไม้ที่เปลี่ยนไปจะเริ่มมาทักทายผู้คนทั้งคนท้องถิ่นและบรรดาผู้มาเยือน

ก่อนการเดินทางมาที่นี่ เรื่องอุณหภูมิเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทีมเราให้ความสนใจ ข้อมูลจาก accuweather ช่วยไกด์เราระดับหนึ่งว่าถ้ามาที่นี่เราจะเจอสภาพอากาศเป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือ บางเมืองที่จะไปไม่สามารถค้นหาค่าอุณหภูมิได้ อาจจะเป็นเพราะโปรแกรมคร่าว ๆ ที่บริษัทเขียน มีการระบุชื่อสถานที่เป็นภาษาจีนแต่ใช้ข้อความภาษาไทย การแปลงจากคำไทยเป็นอังกฤษแล้วไปสืบค้นจึงกระทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะสำเนียงจีนและคำในภาษาอังกฤษจะอ่านต่างกัน เช่น Kanas อ่านว่า คานาสือ, Karamay อ่านว่า เคอลามาอี้ , Turpan อ่านว่า ทูรุฟาน เป็นต้น accuweather จึงค้นหาได้เฉพาะบางเมือง หรือแค่เป็นข้อมูลทั้งมณฑลในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ใกล้ ๆ กับช่วงเวลาที่จะเดินทาง แลนด์ท้องถิ่น (บริษัทจัดทัวร์ท้องถิ่นที่คอยให้บริการลูกทัวร์) แจ้งข้อมูลค่าอุณหภูมิทุกเมือง ทำให้รับทราบว่า ที่ที่เราจะไป อุณหภูมิมีการแกว่งในช่วงที่กว้างมาก ตั้งแต่ 6 องศา จนอาจจะถึง 39 องศาในบางเมือง และอาจร้อนกว่านี้ได้อีกหากเราเข้าไปในบริเวณที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดของประเทศจีน นั่นคือในบริเวณภูเขาเปลวเพลิง หรือ ฝอเยี่ยนซาน ที่วันนี้ปรอทวัดอุณหภูมิสูงถึง 60 องศา และที่นี่ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า เคยมีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 83 องศาทีเดียว

วันนี้ทีมเรากำลังจะออกจากโซนหนาวไปสู่โซนร้อน ณ เมืองทูรูฟาน ดินแดนที่มีสภาพแล้งฝน แต่ผลไม้ประเภทองุ่น แตงโม และเมล่อนขึ้นชื่อว่าหวานอร่อยมาก ความร้อนคงทำให้ระดับน้ำตาลในผลไม้ถูกกักเก็บเข้มข้น เหมือนแตงโมเทพา ที่จะหวานอร่อยก็ต้องซื้อหน้าร้อนเช่นเดียวกัน

แต่ละที่แต่ละเมืองของซินเจียงช่างห่างไกลกันมาก จึงไม่แปลกที่เวลาในโปรแกรมบางส่วนถูกใช้ในการเดินทางจากเมืองหนึ่งถึงเมืองหนึ่งยาวนานมาก บวกกับในเขตนี้มีการจำกัดความเร็วบัสอย่างเข้มงวด ทั้งกล้องบันทึกภาพตามจุดต่าง ๆ และการที่จะต้องผ่านด่านแต่ละด่านไม่เร็วกว่าเวลาที่กำหนดเป็นมาตรฐาน

วันนี้ก็เช่นกัน แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อวานที่เดินทางยาวนานกว่าวันนี้ สภาพภูมิประเทศจาก Kuytun ผ่าน Urumqi แล้วมา Turpan มีความสวยงามของเขาหินหัวโล้นเรียงรายซับซ้อนสูงต่ำ เหมือนที่นี่ไม่ใช่ประเทศจีนอย่างที่เคยเข้าใจ มันให้ความรู้สึกคล้ายเส้นทางจากเมกกะไปสู่ฏออีฟในประเทศซาอุดิอาระเบีย ยาวจรดไปถึงเมืองทูรุฟานที่สภาพภูเขายังคงเป็นภูเขาหินแต่เริ่มให้อารมณ์ความเป็นแกรนด์แคนยอนจากร่องรอยการกัดเซาะของสายลมแสงแดด และสีของภูเขาที่ดูร้อนฉานเป็นสีส้มแดง เราแวะใช้บริการห้องน้ำระหว่างทางเป็นระยะ รัฐบาลจีนคงทราบปัญหาห้องน้ำของชาติตัวเองดี จึงพยายามที่แก้ไขปัญหา แต่ความเคยชินของคนจีนกลับทำให้ปัญหากลายเป็นสิ่งปกติและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เราเห็นบ่อยเรื่องใช้ห้องน้ำแล้วไม่ราด อาจจะเพราะเขาไม่มีน้ำให้บริการในห้องทำภารกิจ พวกเราจึงต้องเตรียมน้ำใส่ขวดเข้าไปด้วยเสมอ ลำพังถ่ายเบาแล้วไม่ราด ก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าเจอทิ้งร่องรอยจากการปลดปล่อยความอัดอั้นอันโสมมไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนรอบหลังที่จะมาใช้บริการต่อ เป็นอะไรที่สุดจะรับไหวทีเดียว

บัสพาเรามาที่ภูเขาเปลวเพลิงตอนเกือบสี่โมงเย็น แต่ความร้อนที่สูงรอบ ๆ บริเวณทำให้พวกเราต้องรีบชมรีบถ่ายรูปแล้วออกจากบริเวณนี้ มิเช่นนั้น ไข่สองฟองที่สุภาพบุรุษสู้อุตส่าห์หิ้วมาติดตัวอาจสุกเกรียมกลางเนินเขานี้เป็นแน่

เราเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่ใฝ่ฝันบางอย่างมากขึ้น เมื่อบัสนำพาเราแวะสวนองุ่นอันเลื่องชื่อและมีโอกาสประเดิมสัมผัสวิถีอูยกูร์เล็ก ๆ ชิมลางไปก่อน เราได้พบกับคุณตาสูงวัย อายุเกินศตวรรษกับหลานสาวนัยตาคมที่ไร่องุ่นนั้น คุณตารับสลามทักทายอย่างอารมณ์ดี แม้เราไม่สามารถสื่อสารภาษาได้เข้าใจ แต่สิ่งที่คุณตาเปล่งบทสรรเสริญท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) ทำให้เรารู้สึกขนลุกซู่ในจิตวิญญาณสุดท้ายที่คนรุ่นหนึ่งจะส่งต่อยังรุ่นถัดไป เพราะมันคือมรดกและร่องรอยแห่งตัวตนของชาวอูยกูร์ที่จะยังคงสืบสานและรักษามันไว้ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการกลืนวัฒนธรรมและการกอบโกยทรัพยากรล้ำค่าทั้งน้ำมันใต้ดิน พลังงานกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม และความอุดมสมบูรณ์อื่นที่ที่นี่มีเพียบพร้อมไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่

จุดสุดท้ายของทริปวันนี้คือเมืองโบราณแห่งทูรุฟาน  ก่อนตะวันจะลาลับขอบฟ้า เมื่อเวลาเกือบสามทุ่มเมืองโบราณแห่งนี้เป็นหนึ่งในมรดกโลกตามประกาศของ UNESCO ด้านในมีนิทรรศการอันแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวทูรุฟาน  ท่ามกลางอากาศแห้งและร้อนที่สุดของจีน  แต่เหตุใดผักผลไม้จึงสามารถเพาะปลูกและให้ผลผลิตที่ดี  เป็นเพราะความสามารถของชาวชุมชนที่เรียนรู้กระบวนการขุดเจาะภูเขาหิมะอันไกลออกไป  แล้วมีสายน้ำไหลผ่านมาเลี้ยงคนในหมู่บ้านเบื้องล่าง  สามารถอยู่กับภูมิประเทศและภูมิอากาศอันร้อนแรงได้อย่างลงตัว  ที่นี่เองที่เราสามารถพบกับชาวอูยกูร์ ในอัตลักษณ์แบบอูยกูร์ที่หนาตากว่าหลายวันที่ผ่านมา

คืนนี้พักที่เมืองทูรุฟาน และจะเดินทางไปยัง Urumqi เมืองหลวงของซินเจียงแบบเจาะลึกวิถีอูยกูร์มากขึ้นในวันพรุ่งนี้

มากกว่าทิวทัศน์ที่งดงามอันเป็นสมบัติที่ไม่อาจประเมินค่าได้ของชาวซินเจียง อูยกูร์ ที่เราเฝ้าตามหาและต่อเติมความใฝ่ฝัน คือ #วิถีอูยกูร์ที่อาจหลงเหลือสุดท้าย ภายใต้ม่านไม้ไผ่แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ผืนนี้

———————-
#หมายเหตุทริป : ระหว่างทางไปเมืองโบราณทูรุฟานเราได้พบกับวิถีชีวิตอูยกูร์พอเป็นกระษัย เห็นมัสยิด เห็นคนเฒ่าคนแก่สวมหมวกแบบอูยกูร์ กับสุภาพสตรีที่คลุมศีรษะในแบบที่รัฐบาลพอผ่อนปรน ทั้งผู้เป็นเจ้าของถิ่นและผู้มาเยือนทักทายสลามกันอย่างเป็นพี่น้องกันในอิสลาม

เขียนโดย ลาตีฟี